พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  ขอลายเซ็นหน่อยค่ะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๕

   ที่ว่าให้ทำอินทรีย์ให้เสมอกันนั้น คือให้กระทำศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา นั้นเสมอกัน ถ้าศรัทธานั้นกล้ากว่า วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา ข่มวิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา อยู่แล้ว วิริยะก็จะมิอาจสามารถกระทำปัคคหกิจ คือบ่มิอาจค้ำชูจิตนั้นไว้ให้ยั่งยืนอยู่ในพิธีทางภาวนานั้นได้ สตินั่นจะมิอาจกระทำอุปฏฐานกิจ คือมิอาจบำรุงจิตให้ยึดเหน่วงอารมณ์แห่งพระกรรมฐานนั้นได้ สมาธินั้นก็จักมิอาจกระทำอวิกเขปนกิจ คือมิอาจดำรงจิตไว้ให้แน่เป็นหนึ่งได้ ปัญญานั้นเล่าก็จักมิอาจกระทำทัสสนกิจ คือมิอาจพิจารณาเห็นอารมณ์คือปฏิภาคนิมิตนั้นได้ เป็นทั้งนี้ก็อาศัยด้วยศรัทธานั้นกล้าหาญนัก

  วิริยะนั้นเล่าถ้ากล้าหาญข่มศรัทธา สติ สมาธิ ปัญญา อยู่แล้วศรัทธาจักมิอาจกระทำอธิโมกขกิจ คือมิอาจกระทำให้จิตนั้นมีศรัทธากล้าหาญมีกำลังข่มได้ สติแลสมาธิปัญญาก็จักมิอาจสามารถที่จะให้สำเร็จกิจแห่งตน ๆ ได้ อาศัยด้วยวิริยะกล้าหาญมีกำลังนัก สมาธินั้นเล่าถ้ามีกำลังข่มศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา อยู่แล้ว ศรัทธา วิริยะ สติ ปัญญา นั้นก็จะมิอาจสามารถสำเร็จกิจแห่งตน ๆ ได้ ทีนั้นความเกียจคร้านก็จะครอบงำย่ำยีได้เพราะเหตุว่าสมาธินั้นเป็นฝักฝ่ายโกสัชชะ ปัญญานั้นเล่าถ้ากล้าหาญข่มศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิอยู่เเล้ว ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ก็จะมิอาจสามารถให้สำเร็จกิจแห่งตน ๆ ได้ ทีนั้นก็จะเห็นผิดเป็นเกราฏิยปักข์มักโอ้อวดไปกลับหลังมิได้ใคร่จะได้ ดุจโรคอันเกิดขึ้นด้วยยาพิษแลรักษายากนัก

  แต่สติสิ่งเดียวนั้นถึงจะกล้าหาญมีกำลังมาก ก็มิได้เป็นโทษ สติย่อมรักษาไว้ซึ่งจิตมิให้ฟุ้งซ่านเกียจคร้านได้ ศรัทธากล้า วิริยะกล้าปัญญากล้า จิตจะตกไป ฝ่ายอุทธัจจะฟุ้งซ่านอยู่แล้ว สติก็รักษามิให้ฟุ้งซ่านกำเริบได้ สมาธิกล้า จิตจะตกไป ฝ่ายโกสัชชะจะเกียจคร้านอยู่แล้ว สติก็รักษาไว้มิให้เกียจคร้านได้สตินี้เปรียบประดุจดังว่า เกลือเจือไปในสูปพยัญชนะทั้งปวง ถ้ามิดังนั้นเปรียบประดุจดังมหาอำมาตย์ผู้ใหญ่ อันเอาใจใส่รอบครอบไปในราชกิจทั้งสิ้นทั้งปวง สติมากนี้ดีเสียอีก จะเป็นโทษนั้นหามิได้ แต่ศรัทธา วิริยะ สมาธิ ปัญญา ทั้ง ๔ นี้จำจะกระทำให้เสมอกันจึงจะดี

  ศรัทธานี้ถ้ากล้าหาญมีกำลังปัญญาน้อย ก็น่าที่จะเลื่อมใสในอันใช่ฐานะภายนอกพระศาสนา ปัญญานั้นเล่าถ้าว่ามีกำลังศรัทธากล้าศรัทธาน้อยก็จะเห็นผิดเป็นเกราฏิยปักข์ไป เมื่อใดปัญญาแลศรัทธากล้าเสมอกันแล้ว จึงจะเลื่อมใสในพระรตนัตยาทิคุณ ๓ ประการ มีพระพุทธคุณเป็นต้น สมาธินั้นเล่าถ้ากล้าหาญวิริยะน้อย ความเกียจคร้านก็จะครอบงำย่ำยี ถ้าวิรยะกล้าสมาธิน้อยจิตฟุ้งซ่านกำเริบไปเมือใดวิริยะดับสมาธินั้นเสมอให้เสมอกัน จึงจะดีในการที่จะเจริญพระกรรมฐาน

   เหตุฉะนี้กุลบุตรผู้เรียนพระกรรมฐาน พึงกระทำให้ศรัทธากับปัญญานั้นเสมอกัน ประกอบวิริยะกลับสมาธินั้นให้เสมอกัน เมื่อม้าทั้ง ๔ คือ ศรัทธา ปัญญา วิริยะ สมาธิ เดินดีเสมอกันอยู่แล้ว ราชรถกล่าวคือจิตก็จะไปได้ถึงที่เกษม คืออัปปนาอันเที่ยงแท้ ถ้าศรัทธา ปัญญา วิริยะ สมาธิ ทั้ง ๔ นี้ไม่เสมอกันจะมิได้อัปปนาฌานเลย จะเป็นดังนั้นหรือท่านว่าไว้อีกนัยหนึ่งว่า  อปิจ สมาธิกมฺมิกสฺส พลวตีปิ สทฺธา วฏฏติ ว่าภิกษุผู้เรียนสมณกรรมฐานนี้ ถึงศรัทธาจะกล้าหาญก็ควรอยู่ เพราะเหตุว่าศรัทธานั้นเมื่อบังเกิดกล้าหาญเชื่อแท้ในพระกรรมฐาน หยั่งลงในพระกรรมฐานเป็นมั่นแล้ว  อปฺปนํ ปาปฺณิสฺสติ ก็อาจให้ถึงซึ่งอัปปนาฌานโดยประสงค์ผู้เรียกวิปัสสนานั้น ถ้าปัญญากล้าหาญ มีกำลังก็ควรอยู่ ปัญญาที่กล้านั้นจะได้ตรัสรู้ซึ่งอนิจจลักษณะ ทุกขลักษณะ อนัตตลักษณะด้วยเร็วพลัน ท่านว่าไว้เป็นกอปรนัยออกมาฉะนี้ ที่ว่าเห็นจิตควรจะยกย่องก็ให้ยกย่องนั้นคือขณะเมื่อนั่งจิตในพระกรรมฐานภาวนานั้น

   ถ้าเห็นว่าจิตนั้นหดห่อท้อถอยตกไปฝักฝ่ายโกสัชชะเกียจคร้านแท้แล้ว ก็พึงเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์แลวิริยสัมโพชฌงค์ แลปีติสัมโพชฌงค์ ๓ นี้ ตามแต่จะเจริญโพชฌงค์อันใดอันหนึ่งพึงกระทำให้จิตอันหดห่อนั้นเฟื่องฟูขึ้นก่อน แล้วจึงจะเจริญพระกรรมฐานภาวนาสืบต่อไป ในกาลเมื่อจิตหดห่อนั้นอย่าพึงเจริญปัสสิทธิสัมโพชฌงค์ แลสมาธิสัมโพชฌงค์ แลอุเบกขาสัมโพชฌงค์จิตจะหดห่อหนักไป เปรียบดังชายอันก่อเพลิงอันน้อย เพลิงน้อยจะดับอยู่แล้วถ้าเอาหญ้าสดมูลโคสดฟืนสดมาใส่เข้า กวาดเอาฝุ่นมามูลเข้า เพลิงนั้นก็จะดับไป ถ้าเห็นเพลิงนั้นน้อยอยู่แล้วแลเอามูลโคแห้ง ๆ มาติดเข้าเอาหญ้าแห้งมาวางลง เอาฟืนแห้งมาเกรียงออกใส่เข้าไว้อุตสาห์เป่าไปด้วยลมปากเพลิงนั้นก็จะติครุ่งเรืองเป็นแท้ อันนี้แลฉันใด

   อุปไมยดังโยคาพจรผู้เจริญพระกรรมฐานภาวนา ๆ นั้นเมื่อเห็นว่าจิตหดห่ออยู่แล้ว แลเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จิตนั้นก็จะหดห่อหนักไป อุปมาดังเพลิงน้อยอันจะดับอยู่แล้ว แลชายเอามูลโคสดหญ้าสดมาใส่ลงแลดับไปนั้น ถ้าเห็นว่าจิตหดห่ออยู่แล้ว แลเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ จิตที่หดห่อนั้นก็จะเฟื่องฟูขึ้น อุปมาดังชายเห็นเพลิงน้อยแล้ว แลเอามูลโคแห้งหญ้าแห้งฟืนแห้งมาใส่ลงเป่าไป ๆ แลได้กองเพลิงอันใหญ่รุ่งเรืองนั้น

   ที่ว่าจิตควรจะข่มก็พึงข่มนั้นอธิบายว่า ถ้าจิตฟุ้งซ่านด้วยสามารถศรัทธากล้า วิริยะกล้า ปัญญากล้า เห็นว่าฟุ้งซ่านกำเริบร้อน ก็พึงเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌ.ค์ พระโพชฌงค์ทั้ง ๓ นี้ ตามแต่จะเจริญโพชฌงค์อันใดอันหนึ่ง แลปีติสัมโพชฌงค์ จิตจะฟุ้งซ่านมากไป กระทำอาการให้เหมือนชายอันจะดับกองเพลิงอันใหญ่ ๆ นั้น ก็ขนเอาหญ้าสด ๆ มูลโคสด ๆ ฟืนสด ๆ มาทุ่มลง ๆ เพลิงนั้นก็จะดับไปอันควรแก่อัชฌชสัย ถ้าแลปรารถนาจะดับกองเพลิงอันใหญ่ แลขนเอาหญ้าแห้งมูลโคแห้งฟืนแห้งมาทุ่มลง ๆ แล้วเพลิงนั้นก็จะหนักไป ๆ ฉันใดก็ดี พระโยคาพจรผู้เจริฐพระกรรมฐานภาวนานี้

   ถ้าเห็นจิตฟุ้งซ่านอยู่แล้วแลเจริญธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์จิตนั้นก็กำเริบหนักไป ถ้าว่าจิตฟุ้งซ่านอยู่แล้ว แลเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์ จิตนั้นก็จะสงบสงัดระงับลง เปรียบประดุจชายอันจะดับกองเพลิงอันใหญ่ ขนเอาโคมัยแลหญ้าแลไม้ที่สด ๆ มาทุ่มลง ๆ แลเปลวเพลิงดับไปนั้นแลคำที่ว่าจิตควรจะให้ชื่นก็กระทำให้ชื่นนั้น ขณะเมื่อจิตสังเวชสลดอยู่เป็นเหตุด้วยพิจารณา สังเวควัตถุ ๓ ประการคือ ชาติทุกข์ ชราทุกข์ พยาธิทุกข์ มรณทุกข์ อดีตทุกข์ อนาคตวัฏฏทุกข์ ปัจจุบันนาหารปริเยฏฐิตทุกข์นั้น พระโยคาพจรเจ้าเห็นว่าจิตนั้นสลดไปก็ถึงระลึกถึง พุทธคุณ ธัมมคุณ สังฆคุณ พึงกระทำจิตนั้นให้ผ่องใสบริสุทธิ์ให้ชื่นอยู่ ด้วยระลึกถึงพระรตนัตยาธิคุณอย่างนี้แลได้ชื่อว่ากระทำน้ำจิตที่สมควรจะให้ชื่นนั้นให้ชื่นชมโสมนัส

   ที่ว่าจิตควรจะเพ่งดูก็ให้พึงเพ่งดูนั้น คือขณะเมื่อจิตประพฤติเป็นอันดี ตามกรรมฐานวิถีอยู่แล้ว พระโยคาพจรถึงประพฤติมัธยัสถ์เพ่งดูซึ่งจิต อันประพฤติเสมอไล่ตามสมถวิถีนั้น กระทำอาการให้เหมือนนายสาารถีอันขับรถ เห็นพาชีเดินเสมออยู่แล้วแลไม่ตีไม่ต้อนคอยแต่ดู ๆ ที่ว่าให้เว้นซึ่งบุคคลอันมีจิตมิได้ตั้งมั่นคือให้ละเสียซึ่งบุคคลอันมิได้ปฏิบัติข่มฌาน มีจิตอันฟุ้งซ่านกำเริบอยู่ด้วยอารมณ์ต่าง ๆ ขวนขวายที่จะกระทำการต่าง ๆ นั้น พึงสละเสียให้ไกลอย่าได้คบหาสมาคม พึงสมาคมด้วยบุคคลอันมีจิตตั้งมั่น ๆ นั้น ได้แก่บุคคลผู้ปฏิบัติในฌาน มักเข้าไปหาสู่สมาคมด้วยท่านที่ได้สมาธิจิต คนจำพวกนี้แลได้ชื่อว่าบุคคลมีจิตอันตั้งมั่น ๆ นี้ สมควรที่พระโยคาพจรจะพึงคบหาสมาคม

   ตทธิมุตฺตตา ประการหนึ่งให้มีใจเคารพในอัปปนาสมาธิ พึงกระทำน้ำจิตนั้นให้ง้อมให้เงื้อมไปในอัปปนาสมาธิ สิริเป็นอัปปนาโกศล ๑๐ ประการด้วยกัน แลพระโยคาพจรผู้กระทำความเพียรในกรรมฐานภาวนานั้น ให้กระทำเพียงแค่อย่างกลาง อย่าให้กล้านักอย่าให้อ่อนนัก ครั้นกระทำความเพียรกล้านักจิตก็จะฟุ้งซ่านกำเริบระส่ำระสาย ครั้นกระทำความเพียรอ่อนนัก ความเกียจคร้านก็จะครอบงำย่ำยีสันดานได้กระทำเพียรแต่อย่างกลางนั้นแลดี มีอุปมาดุจแมลงผึ้ง ๓ จำพวก

   แมลงผึ้งจำพวกหนึ่งนั้นมิได้ฉลาดรู้ว่า ดอกไม้ในประเทศโพ้นบานอยู่แล้วบินให้เร็วนักก็เกินไป ครั้นรู้ตัวว่าเกินแล้วกลับมา ละอองเกสรก็สิ้นเสียด้วยแมลงผึ้งจำพวกอื่น ตนก็ชวดได้ละอองเกสร ยังแมลงผึ้งจำพวกหนึ่งนั้นเล่าก็ไม่ฉลาด เมื่อจะไปเอาชาติดเกสรนั้นบินช้านัก ละอองเกสรก็สิ้นเสียแล้วด้วยแมลงจำพวกอื่น ตนก็ชวดได้ละอองเกสรนั้น

   แมลงผึ้งจำพวกหนึ่งนั้นฉลาด เมื่อจะเอาชาตินวลละอองเกสรนั้น บินไปไม่ช้านักไม่เร็วนัก ก็คลึงเคล้าเอาเกสรเรณูนวลได้ดังความปรารถนา อันนี้แลมีฉันใด พระโยคาพจรที่กระทำความเพียรกล้านักแลอ่อนนักนั้น ก็มิได้สำเร็จฌานสมาบัติดังความปรารถนา มีอุปมาเหมือนแมลงผึ้ง ๒ จำพวกที่มิได้ฉลาด บินเร็วนักแลช้านักแลมิได้ละอองเกสรนั้น พระโยคาพจรที่กระทำเพียรเป็นปานกลาง แลได้สำเร็จกิจอัปนาฌานนั้น มีอุปไมย เหมือนแมลงผึ้งที่ฉลาดบินไม่เร็วนักไม่ช้านัก แลได้ละอองเกสรสำเร็จดังความปรารถนานั้น

  ถ้ามิดังนั้นเปรียบต่อศิษย์ ๓ คนอันขีดใบบัวที่ลอยน้ำ อาจารย์ว่าผู้ใดเอามีดขีดลงให้ใบบัวนี้เป็นรอย อย่าให้ใบบัวนี้ขาดอย่าให้จมลงในน้ำ กระทำได้ดังนี้แล้วจะได้ลาภของสิ่งนั้น ๆ แลศิษย์ ๒ คนนั้นไม่ฉลาด คนหนึ่งขีดหนักไปใบบัวก็จมไป คนหนึ่งนั้นกลัวใบบัวขาดก็มิอาจกดคมมีดลงได้ ศิษย์ ๒ คนก็หาได้ลาภสักการไม่ ศิษย์คนหนึ่งนั้นฉลาดขีดไม่หนักไม่เบานั้น ใบบัวนั้นก็เป็นรอยแล้วก็ไม่ขาดไม่จมลงในน้ำ

  ศิษย์นั้นก็ได้ลาภสักการอันนี้แลมีฉันใด พระโยคาพจรที่กระทำความเพียรกล้านักอ่อนนักก็ไม่ได้ฌาน ที่กระทำเพียรเป็นปานกลางนั้นได้ฌานมีอุปไมยดังนี้ ถ้ามีดังนั้นเปรียบต่ออำมาตย์ ๓ คน พระมหากษัตริย์ตรัสว่า ถ้าผู้ใดนำเอาใยแมลงมุมมาได้ยาว ๔ วา จะได้พระราชทานทรัพย์ ๔ พัน อำมาตย์สองคนนั้นไม่ฉลาด คนหนึ่งนั้นฉุดคร่าเอามาโดยเร็ว ๆ พลัน ๆ ใยแมงมุมนั้นก็ขาดเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่หาได้ยาว ๔ วาไม่ คนหนึ่งนั้นก็กลัวจะขาดมิอาจจับต้องใยแมลงมุมนั้นได้ อำมาตย์ทั้ง ๒ นี้ก็มิได้ทรัพย์ อำมาตย์คนหนึ่งนั้นฉลาดกระทำเพียรพันเอาด้วยไม้ ด้วยอาการอันเสมอไม่ช้านักไม่เร็วนัก ก็ได้ใยแมลงมุมยาว ๔ วา ได้ทรัพย์ ๔ พันกหาปณะอันบรมมหากษัตริย์พระราชทาน

   ถ้ามิดังนั้นเปรียบด้วยนายสำเภา ๓ คนผู้หนึ่งกล้าหาญเกินประมาณ ปะลมพายุกล้าก็ไม่ซาใบเลย สำเภาก็จะเสียด้วยลมพายุกล้า คนหนึ่งนั้นปะแต่ลมอ่อน ๆ ก็ซาใบสำเภาหยุดอยู่มิได้แล่นไปถึงที่ควรแก่ปราถนา คนหนึ่งฉลาดเห็นลมอ่อนก็ชักใบตามเสา เห็นลมกล้าก็ซาใบเล่นสำเภาไปด้วยอาการอันเสมอ ก็ถึงประเทศควรแก่ปรารถนา

   ถ้ามิดังนั้นเปรียบเหมือนศิษย์ ๓ คนอาจารย์นั้นว่า ถ้าใครหล่อน้ำมันลงไปในปล้องไม้อย่าให้หกให้บ่า คนหนึ่งนั้นก็ไม่ฉลาดกลัวน้ำมันจะหกก็มิอาจเทน้ำมันนั้นลงได้ ศิษย์ทั้ง ๒ ก็บ่มิลาภสักการ ศิษย์ผู้หนึ่งนันฉลาดค่อยเทด้วยอันประโยคอันเสมอน้ำมันก็ไหลลงอันเป็นอันดี มิได้หกได้บ่าศิษย์ผู้นั้นก็ได้ลาภอันอาจารย์ให้สำเร็จโดยจิตประสงค์ อันนี้แลมีฉันใดพระโยคาพจรที่กระทำความเพียรกล้าหาญยิ่งนักนั้น จิตก็ตกไป ฝ่ายอุทธัจจะฟุ้งซ่านไปมิอาจได้สำเร็จฌานสมาบัติ ที่กระทำความเพียรอ่อนนั้นเล่า จิตก็ตกไปในฝ่ายโกสัชชะเกียจคร้านไป มิอาจได้สำเร็จฌานสมาบัติ พระโยคาพจรผู้กระทำความเพียรโดยประโยคอันเสมอ ก็ได้สำเร็จฌานสมาบัติมีอุปไมยเหมือนดังนั้น

   ในกาลเมื่อพระโยคาพจรเจ้ากระทำบรรลุถึงอัปปนาฌานนั้น ในอัปปนาวิธีกามาพจรชวนะบังเกิด ๓ ขณะบ้าง ๔ ขณะบ้าง ตามวาสนาที่เป็นทันธาภิญญาและขิปปาภิญญา ถ้ากุลบุตรนั้นมีวาสนาช้า จะเป็นทันธาภิญญากามาพจรชวนะก็บังเกิด ๔ ขณะถ้ากุลบุตรมีวาสนาเร็วจะเป็นขิปปภิญญากามาพจรชวนะ ก็บังเกิด ๓ ขณะ กามาพจรชวนะที่บังเกิด ๔ ขณะนั้น ขณะเป็นปฐมชื่อว่าบริกรรมชวนะขณะเป็นคำรบ ๒ ชื่อว่าอุปจารชวนะ ขณะเป็นคำรบ ๓ ชื่อว่าอนุโลมชวนะ ขณะเป็นคำรบ ๔ ชื่อว่าโคตรภูชวนะ และกามาพจรชวนะที่บังเกิด ๓ ขณะนั้น ขณะเป็นปฐมชื่อว่าอุปจราชวนะ ขณะเป็นคำรบ ๒ นั้นชื่อว่าอนุโลมชวนะ ขณะเป็นคำรบ ๓ นั้นชื่อว่าโคตรภูชวนะ ข้อซึ่งกามาพจรเป็นปฐมเรียกว่าบริกรรมชวนะนั้น

   เพราะเหตุเป็นต้นเป็นเดิมในวิถีอันให้สำเร็จอัปปนา เป็นผู้ตกแต่งอัปปนาก่อนชวนะ อันเป็นคำรบ ๒ คำรบ ๓ และคำรบ ๔ และกามาพจรชวนะอันเกิดที่ ๒ เรียกว่าอุปจารชวนะนั้น เพราะเหตุบังเกิดในที่ใกล้จะสำเร็จซึ่งฌานและชวนะที่ ๓ เรียกว่าอนุโลมชวนะนั้น เพราะเหตุประพฤติอนุโลมตามบริกรรมชวนะ และอุปจารชวนะอันบังเกิดในต้น นัยหนึ่งท่านว่าชวนะทั้ง ๓ นี้ อนุโลมตามเหตุให้ได้สำเร็จซึ่งฌานเบื้องหน้า เหตุดังนั้นจึงเรียกว่าอนุโลมชวนะ และชวนะที่ ๔ เรียกว่าโคตรภูชวนะนั้น เพราะเหตุครอบงำเสียซึ่งกามาพจรโคตรภูปกปิดเสียซึ่งกามาพจรชวนะ มิไห้บังเกิดสืบต่อไปได้

   โคตรภูชวนะนี้ถ้าบังเกิดที่ ๓ แล้ว ฌานก็บังเกิดที่ ๔ ที่ ๕ นั้นก็ตกภวังค์ ถ้าโคตรภูชวนะบังเกิดที่ ๔ แล้ว ฌานก็บังเกิดที่ ๕ ที่ ๖ นั้นเป็นภังค์ ฌานอันพระโยคาพจรแรกได้นั้น บังเกิดขณะเดียวแล้วก็ตกภวังค์ จะได้บังเกิดเป็น ๒ เป็น ๓ เป็น ๔ เป็น ๕ ขณะนั้นหามิได้ฌานที่พระโยคาพจรแรกได้นั้น ไม่ตั้งอยู่จนถึง ๓ ขณะเลยเป็นอันขาดต่อเมื่อได้แล้วเบื้องหน้านั้น ถ้าจะปรารถนาให้ตั้งอยู่สิ้นกาลเท่าใด ก็ตั้งอยู่สิ้นกาลเท่านั้น ที่จะกำหนดขณะจิตนั้นหามิได้

   ถ้ากุลบุตรนั้นมีวาสนาเป็นทันธาภิญญาตรัสรู้ช้า ฌานบังเกิดที่ ๕ ถ้ากุลบุตรเป็นขีปปาภิญญาวาสนาเเร็วตรัสรู้เร็ว ฌานบังเกิดที่ ๔ ฌานนั้นจะได้บังเกิดในขณะแห่งชวนะเป็นคำรบ ๖ คำรบ ๗ นั้นหามิได้ เหตุไฉนฌานจึงมิได้บังเกิดในที่ ๖ ที่ ๗ วิสัชนาว่า ฌานมิได้บังเกิดในที่ ๖ ที่ ๗ นั้น เหตุชวนะที่ ๖ ที่ ๗ นั้นใกล้ที่จะตกภวังค์ ครั้นใกล้อยู่ที่จะตกภวังค์แล้วฌานก็มิอาจบังเกิดขึ้นได้

   เปรียบต่อบุรุษอันบ่ายหน้าต่อเขาขาดแล้วเล่นไป ถ้าจะหยุดก็จำจะหยุดแต่ไกลจึงจะหยุดได้ ถ้าไม่รออยู่แต่ไกลแล่นไปที่ใกล้ยังอีก ๑-๒ วา ถึงเขาขาดขะหยุดที่ไหนได้ น่าที่จะชวนตกลงไปในเขาขาดฉันใด คือฌานอันจะบังเกิดนั้น ก็บังเกิดแต่ขณะแห่งชวนะเป็นคำรบ ๔ คำรบ ๕ ไกลกันแต่ภวังค์ ยังมีอีก ๑ ขณะ ๒ ขณะจะตกภวังค์แล้ว ฌานก็มิอาจบังเกิดได้ อุปไมยเหมือนดังนั้น

   เมื่อฌานบังเกิดขึ้นในสันดานแล้ว ก็พึงกำหนดไว้ว่า อาตมาประพฤติอิริยาบทอย่างนี้ ๆ อยู่ในเสนาสนะอย่างนี้ ๆ ซ่องเสพโภชนาหารเป็นที่สบายอย่างนี้ ๆ จึงจะได้สำเร็จฌานสมาบัติ เอาเยี่ยงอย่างนายขมังธนูและคนครัว นายขมังธนูผู้ฉลาดตกแต่งสายและคันและลูกนั้นให้ดี ยิงไปที่ใด และถูกขนทรายจามรีแล้ว นายขมังธนูก็กำหนด อาตมายืนเหยียบพื้นอย่างนั้น ๆ โก่งธนูให้น้อมเพียงนั้น ๆ เสียงสายดังอย่างนั้น ๆ จึงยิงถูกขนทรายจามรี

   คนครัวที่ตกแต่งพระวรสุทธาโภชนาหารแห่งสมเด็จพระบรมกษัตริย์นั้นเล่า ถ้ามื้อใดแลชอบพระทัยแล้วก็กำหนดไว้ว่า เค็มเพียงนั้นผิดเพียงนั้นเปรี้ยวเพียงนั้นพอพระทัยพระมหากษัตริย์ อันนี้แลมีอุปมาฉันใด พระโยคาพจรที่ได้สำเร็จฌานสมาบัตินั้น ก็พึงกำหนดอิริยบถและเสนาสนะและอาหารเหมือนนายขมังธนูและคนครัวนั้น

   เหตุไฉนจึงให้กำหนดอิริยาบถและเสนาสนะแลอาหารนั้นไว้ ให้กำหนดได้นั้นด้วยสามารถจะได้สืบต่อเมื่อภายหน้าเกลือกจะมีความประมาทฌานเสื่อมไปแล้ว เมื่อจำเริญสืบต่อไปนั้นจะได้ประพฤติอิริยาบถเหมือนประพฤติมา แต่ก่อนจะได้เสพเสนาสนะโภชนะเหมือนแต่ก่อน ฌานที่เสื่อมสูญไปแล้วนั้นจะได้บังเกิดบริบูรณ์อยู่ในสันดาน

   เมื่อพระโยคาพจรเจ้าได้สำเร็จปฐมฌานแล้ว ก็พึงประพฤติปฐมฌานให้ชำนาญก่อน จึงจำเริญทุติยฌานสืบต่อไป พึงกระทำปฐมฌานด้วยวสีทั้ง ๕ คือ อาวัชชนวสี ๑ สมาปัชชนวสี ๑ อธิษฐานวสี ๑ วุฏฐานวสี ๑ ปัจจเวกขณวสี ๑ เป็น ๕ ด้วยกัน อาวัชชนวสีนั้น คือชำนาญในการพิจารณา ถ้าปรารถนาจะพิจารณาองค์ฌานที่ตนได้ ก็อาจสามารถพิจารณาได้ด้วยเร็วพลันมิได้เนิ่นช้าไปเบื้องหน้า

   แต่ชวนะ ๔ ชวนะ ๕ ภวังค์ ๒ และ ๓ อาจพิจารณาได้แต่ชวนะ ๔ ชวนะ ๕ ในภวังค์อันบังเกิด ๒ ขณะ ๓ ขณะนั้นได้ชื่อว่าอาวัชชนวสี และสมาปัชชวนวสีนั้นคือ ชำนาญในการที่จะเข้าสู่สมาบัติ อาจเข้าสู่สมาบัติได้ลำดับแห่งอาวัชชนจิตอันพิจารณาซึ่งอารมณ์ คือปฏิภาคนิมิตมิได้เนิ่นช้าไป เบื้องหน้าแต่ภวังค์ ๒ และ ๓ และอธิษฐานวสีนั้น คือชำนาญในการที่จะรักษาไว้มิให้ฌานจิตนั้นตกภวังค์ ตั้งฌานจิตไว้ได้โดยอันควรแก่กำหนดปรารถนา จะตั้งไว้เท่าใดก็ตั้งไว้ได้เท่านั้น และวุฏฐานวสีนั้น คือชำนาญในการจะออกจากฌาน กำหนดไว้ว่าถึงเวลาเพียงนั้นจะออกจากฌานก็ออกตามเวลากำหนดไม่คลาดเวลาที่กำหนดไว้

   และปัจจเวกขณะวสีนั้น คือชำนาญในการจะพิจารณา พึงสันนิษฐานตามนัยแห่งอาวัชชนวสีนั้นเถิด ท่านว่าไว้เป็นใจความว่า ชวนจิตอันบังเกิดในลำดับแห่งวัชชนจิตนั้นได้ชื่อว่าปัจจเวกขณชวนะนั้น ๆ ได้ชื่อว่าปัจจเวกขณวสี พระโยคาพจรอันได้ปฐมฌานด้วยวสี ๙ ประการฉะนี้แล้ว ภายหลังจึงจะอาจสามารถที่จะจำเริญทุติยฌานสืบต่อไป ถ้าไม่ชำนิชำนาญฌานมาก่อนแล้วแลจะจำเริญทุติยฌานสืบต่อไป ก็จะเสื่อมจากปฐมฌานและทุติฌานทั้ง ๒ ฝ่าย เหตุฉะนี้จึงห้ามไว้ว่า ถ้าไม่ชำนาญในปฐมฌานอย่าพึงจำเริญทุติยฌานก่อน ต่อเมื่อใดชำนาญในปฐมฌานวสี ๕ ประการแล้ว จึงสมควรที่จะจำเริญฌานสืบต่อไป ชำนาญในทุติยฌานแล้วจึงจำเริญตติยฌาน จตุตถฌาน ปัญจมฌานสืบต่อไปโดยลำดับ

   และปฐมฌานนั้นมีองค์ ๕ คือ วิตกอันมีลักษณะะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์แห่งตน มีปฏิภาคนิมิตแห่งปฐวีกสิณเป็นอาทินั้นจัดเป็นองค์ปฐม วิจาร มีลักษณะพิจารณาซึ่งอารมณ์แห่งฌาน มีปฏิภาคนิมิตแห่งปฐวีกสิณเป็นอาทินั้น จัดเป็นองค์คำรบ ๒ ปีติอันมีประเภท ๕ คือ ขุททกาปีติ อันให้หนังพองสยองเกล้าและน้ำตาไหล ๑ ขณะกาปีติอันปรากฏดุจสายฟ้า ๑ โอกกันติกาปีติอันให้ปรากฏเหมือนระลอกซัดต้อง ๑ อุพเพงคาปีติอันยังกายให้ลอยขึ้น ๑ ผรณาปีติอันให้เย็นซ่านซาบทั่วไปในกาย ๑ ปีติอันประเภท ๔ ดังนี้เป็น ๑ จัดเป็นคำรบ ๓ สุขอันมีลักษณะยังกายและจิตให้เป็นสุขนั้น จัดเป็นองค์แห่งปฐมฌานเป็นคำรบ ๔ เอกัคคตาอันมีลักษณะยังจิตให้เป็นหนึ่งในอารมณ์อันเดียวนั้น จัดเป็นองค์แห่งปฐมฌานเป็นคำรบ ๕ ทุติฌานนั้นมีองค์ ๓ คือปีติประการ ๑ สุขประการ ๑ เอกัคคตาประการ ๑ ตติยฌานมีองค์ ๒ คือสุข ๑ เอกัคคตา ๑ จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือเอกัคคตา ๑ อุเบกขา ๑ อันนี้จัดโดยจตุกนัย

   ถ้าจัดโดยปัญจกนัยนั้น ปฐมฌานมีองค์ ๕ เหมือนกัน ทุติยฌานมีองค์ ๔ เหตุเว้นแต่วิตก ตติยฌานมีองค์ ๓ คือปีติ ๑ สุข ๑ เอกัคคตา ๑ จตุตถฌานมีองค์ ๒ คือสุข ๑ เอกัคคตา ๑ ปัญจมฌานมีองค์ ๒ คือ เอกัคคตา ๑ อุเบกขา ๑ พระโยคาพจรผู้เจริญปฐวีกสิณนั้น อาจได้สำเร็จฌานสมาบัติโดยจตุกนัยและปัญจมนัยดังพรรณนามาฉะนี้ ฯ

วินิจฉัยในปฐวีกสิณยุติแต่เพียงเท่านี้
  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com