พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๑๗

   พฺรหฺมวิหารนนฺตรํ อุทิฏเสุ ปน อรูเปสุ อากาสานญฺจายตนํ ภาเวตุกาโม ฯลฯ จตุตฺถฌานํอุปฺปาเทติ  เบื้องหน้าแต่นี้จะวิสัชนาในอรูปกัมมัฏฐาน ๔ ประการ อันพระพุทธโฆษาจารย์เจ้าผู้ตกแต่งคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคสำแดงไว้ ในลำดับแห่งพระจตุพรหมวิหาร ๔ ประการ แลอรูปกัมมัฏฐาน ๔ นั้น คืออากาสานัญจายนตนะ ๑ วิญญานัญจายตนะ ๑ อากิญจัญญายตนะ ๑ เนวสัญญานาสัญญายตนะ ๑ เป็น ๔ ด้วยกัน   อากาสานญฺจายตนํ ภาเวตุกาโม  พระโยคาพจรกุลบุตร ผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญอรูปกัมมัฏฐานนั้น ย่อมจำเริญอากาสานัญจายตนญาณนั้นก่อน เหตุว่าอรูปฌานนี้เป็นอารัมมณสมติกกมฌาน ได้สำเร็จล่วงอารมณ์ต่อ ๆ นั้น จะได้สำเริญรูปฌานเป็นปฐมนั้น เพราะเหตุว่าล่วงเสียซึ่งปฏิภาคนิมิต อันเป็นอารมณ์แห่งรูปาพจรจตุตถฌาน จะได้สำเร็จอรูปฌานคำรบ ๒ นั้น เพราะเหตุล่วงเสียซึ่งอากาศอันเป็นอรูปฌานเป็นปฐม จะได้สำเร็จอรูปฌานเป็นคำรบ ๓ นั้น เพราะเหตุที่ล่วงเสียซึ่งวิญญาณอันเป็นอารมณ์แห่งอรูปฌานเป็นคำรบ ๒ จะได้สำเร็จอรูปฌานเป็นคำรบ ๔ นั้น เพราะเหตุที่ล่วงเสียซึ่งนัตถิภาวะ (ความลับเป็นของไม่มี ) อันเป็นอารมณ์แห่งอรูปฌานเป็นคำรบ ๓ ตกว่าต้องจำเริญให้เป็นลำดับ ๆ ขึ้นไปดังนี้

   ที่จะล่วงเบื้องต้นเสียจะโดดขึ้นไปจำเริญเบื้องปลายนั้นจำเริญบ่มิได้ เหตุฉะนี้ พระโยคาพจรกุลบุตรผู้ปรารถนาจะจำเริญอรูปกัมมัฏฐานนั้น จึงจำเริญอรูปฌานเป็นปฐม อันชื่อว่าอากาสานัญจายตนฌานนั้นก่อนเหตุไฉนพระโยคาพจรจึงรักใครอรูปกัมมัฏฐาน พอใจจำเริญอรูปกัมมัฏฐาน   รูเป อาทีนวํ ทิสฺวา อธิบายว่าพระโยคาพจรพิจารณาเห็นโทษในรูปเหตุนั้น แม้ว่าสัตว์ทั้งปวงจะทะเลาะทุ่มเถียงกัน ชกต่อยตีโบยกันดัวยไม้น้อยและไม้ใหญ่ ไม้ยาวและไม้สั้นก็ดี จะทิ้มแทงกันด้วยศัตราวุธต่าง ๆ นั้นก็ดี จะเบียดเบียนกันได้ดังนี้ที่อาศัยแก่กรัชกาย ถ้าหากรัชกายบ่มิได้มีจิตเจตสิกไม่มีรูปแล้ว สภาวะชกต่อยตีรันทิ่มแทงฟาดฟันเบียดเบียนกันต่าง ๆ นั้นหามิได้

   อาพาธสหสฺสานํ  ถึงโรคาพยาธิป่วยไข้มีประการต่าง ๆ มากกว่ามาก มีโรคในตาในหูเป็นอาทินั้นก็ย่อมบังเกิดในกรัชกาย มีกรัชกายแล้วสรรพโรคต่าง ๆ ก็บังเกิดขึ้นเบียดเบียนให้ป่วยให้เจ็บให้ลำบากเวทนาสาหัสสากรรจ์ สุดที่จะพรรณนา ถ้าหารูปบ่มิได้แล้วโรคาพยาธิจะบังเกิดได้ที่ไหนเล่า ก็หาบ่มิได้ด้วยกัน พระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณาเห็นโทษด้วยประการฉะนี้ ปรารถนาที่จะให้พ้นรูป เหนื่อยหน่ายเกลียดกลัวแต่รูปนั้นมีกำลัง ประสงค์จะให้รูปนั้นดับสูญ จึงอุตสาหะพากเพียรพยายามจำเริญซึ่งอรูปกัมมัฏฐานทั้ง ๔ ประการ มีอากสานัญจายตนเป็นอาทิ มีเนวสัญญานาสัญญายตนฌานเป็นปริโยสานแรกเริ่มเดิมทีเมื่อจะจำเริญอากาสานัญจายตนฌานนั้น พระโยคาพจรเจ้าเข้าสู่รูปาพจรจตุตถฌานนั้นก่อน เมื่อเข้าสู่จตุตถฌานนั้นถือเอากสิณนิมิตเป็นอารมณ์ กสิณ ๙ ประการ คือ   ปวีกสิณ อาโปกสิณ เตโชกสิณ วาโยกสิณ นีลกกสิณ ปีตกสิณ โลหิตกสิณ โอทาตกสิณ อาโลกกสิณ ทั้ง ๙ ประการนี้ ตามแต่จะเลือกเอาสิ่งหนึ่งเถิด

   จะห้ามหามิได้ห้ามมิให้พิจารณาเอาอารมณ์แต่ปริจฉินนากาสกสิณสิ่งเดียวอากาสกสิณที่ตนกำหนดนั้นพระโยคาพจรพึงละเว้นเสีย เมื่อเข้าสู่รูปาพจรจตุตถฌานมีกสิณอันใดอันหนึ่งนับเข้าในกสิณ ๙ ประการนั้นเป็นอารมณ์แล้ว พระโยคาพจรพึงเพิกกสิณนั้นเสีย จะได้กำหนดกฏหมายในกสิณเอาใจใส่ในกสิณนั้นหามิได้เพิกเฉยบ่มิได้พิจารณาซึ่งกสิณนิมิต ตั้งจิตพิจารณาเอาอากาศเป็นอารมณ์ เพื่อพิจารณาเอาอากาศเป็นอารมณ์นั้นพิจารณาไป ๆ กสิณนิมิตในเดิมนั้นอันตรธานหาย อากาศเปล่าเท่าที่วงกสิณนั้นปรากฏในมโนทวารกาลใด พระโยคาพจรกุลบุตรก็พิจารณาเอาอากาศเป็นอารมณ์กระทำบริกรรมภาวนา  อนนฺโต อากาโส อนนฺโต อากาโส (อากาศไม่มีที่สุด ๆ) บริกรรมภาวนาไปร้อยคาบพันคาบหมื่นคาบแสนคาบ ตราบเท่าปฐมอรูปจิตจะบังเกิดในสันดาน ถ้าจะว่าที่แท้แต่อำนาจรูปาพจรจตุตถฌานนั้นก็อาจจะล่วงรูปเสียได้ ท่านผู้ใดสำเร็จรูปาจตุตถฌานนั้น ถ้าปรารถนาจะหนีให้พ้นรูป จะล่วงให้พ้นรูปก็อาจจะได้สำเร็จ แต่ทว่าท่านพิจารณาเห็นกสิณนิมิตที่เป็นอารมณ์แห่งรูปาพจรจตุตถฌานนั้น มีสัณฐานเหมือนด้วยรูป มีสีสันพรรณนั้น คล้ายกันกับรูป ก็มีความตระหนกตกใจกลัวแก่รูปนั้นเป็นกำลังปรารถนา จะล่วงเสียซึ่งนิมิตบ่มิขอเห็นซึ่งกสิณนิมิตที่เป็นอารมณ์แห่งรูป แห่งรูปาพจรจตุถฌาน  ยถา หิ ภิรุโก ปุริโส   เปรียบปานดุจบุรุษอันขลาดแต่อสรพิษนั้น ไปปะอสรพิษไล่ในกลางหนทางแล่นหนีอสรพิษไปด้วยกำลังอันเร็วเหลือบเห็นรอยขีดรอยเขียนเป็นรูปงู เห็นใบตาลอันบุคคลถักและพันเป็นรูปงู เห็นเส้นเชือกและเครือวัลย์ เห็นแผ่นดินแตกระแหง ก็มีความสะดุ้งตกประหม่าสำคัญว่างูบ่มิปรารถนาจะเล็งแลดูซึ่งรอยขีดเป็นต้นนั้น

   ฉันใดก็ดี พระโยคาพจรผู้พิจารณาเห็นกสิณนิมิตอันมีพรรณสัณฐานเหมือนด้วยรูปคล้าย ๆ กันกับรูปก็มีความตกประหม่าบ่มิปราถนาจะขอเห็นซึ่งกสิณนิมิตมีอุปไมย ดังนั้นถ้ามิดังนั้น เปรียบต่อบุรุษอันเป็นเวร ๆ นั้นตั้งใจคอยเบียดเบียนอยู่ ได้ไปอยู่บ้านอื่น ไปเห็นมนุษย์ที่เหมือนด้วยบุรุษอันเป็นเวรก็สะดุ้งตกใจ ไม่ปรารถนาที่จะขอเห็นถ้ามิดังนั้นเปรียบเหมือนบุรุษสุกรแถก เหลือบเห็นหม้อข้าวและตกใจวิ่งหนีหม้อข้าว ด้วยสำคัญว่าสุกร ถ้ามิดังนั้นเปรียบดังบุคคลผู้ขลาดผี แลเห็นใบตาลในที่มืดและแล่นหนีใบตาล ด้วยสำคัญว่าปีศาจฉันใดก็ดี พระโยคาพจรเห็นแต่ปฏิภาคนิมิตแห่งกสิณ อันมีพระสัณฐานเหมือนด้วยรูปปรากฏในมโนทวารก็มีความตกใจ มีอุปไมยดังนั้น

   พระโยคาพจรอันหน่ายรูปปรารถนาจะไปให้พ้นรูปนั้น เมื่อจำเริญรูปาพจรจตุตถฌานที่ตนได้ชำนาญเป็นอันดี พิจารณาเห็นโทษแห่งจตุตถฌานว่า รูปาพจรจตุตถฌานนี้กระทำที่เราเหนื่อยหน่ายเป็นอารมณ์ มีข้าศึกคือโสมนัสอันอยู่ใกล้หยาบว่าอรูปสมาบัติจะได้ละเอียดเหมือนอรูปสมาบัติหาบ่มิได้ เมื่อพิจารณาเห็นโทษแห่งรูปวพจรจตุตถฌานด้วยประการดังนี้ ก็สิ้นความรักใคร่ในรูปพจรจตุตถฌาน กำหนดเองแต่อากาศที่กสิณนิมิตถูกต้องเป็นอารมณ์ และอาการที่เพิกกสิณออกนั้นจะได้เหมือนอาการอันเพิงขึ้นซึ่งเสื่อลำเเพน และอาการอันแซะขนมปังนั้นหาบ่มิได้ อาการที่พระโยคาพจรเพิกเฉย บ่มิได้กำหนดเอากสิณรูปเป็นอารมณ์ ตั้งจิตเป็นกำหนดเอาแต่อากาศเป็นอารมณ์ กาลเมื่อกสิณรูปอันตรธานหาย อากาศมีประมาณเท่าวงกสิณที่ปรากฏแจ้งในมโนทวารนั้น ได้ชื่อว่ากสิณฆาตมากาศ บางคาบอาจารย์เรียกว่ากสิณผุฏฐากาศ บางคาบอาจารย์เรียกว่ากสิณวิวิตตากาศ และอากาศที่พระโยคาพจรเพิกกสิณเสียแล้วนั้น  ยตฺตกํ อิจฺฉติ  ถ้าพระโยคาพจรปรารถนาจงแผ่ออกใหญ่เท่าใด ก็ใหญ่ออกเท่านั้นสำเร็จโดยความปรารถนา ถึงจะแผ่ใหญ่ออกไปให้ตลอดออกไปถึงขอบจักรวาลเป็นกำหนดก็อาจแผ่ได้สำเร็จความปรารถนา และอากาศที่พระโยคาพจรเพิกเสียแล้วให้พระโยคาพจรพิจารณาเอาเป็นอารมณ์ กระทำบริกรรมภาวนาว่าอากาโส อากาโส จงเนือง ๆ ยกวิตกขึ้นในอากาศ ตั้งวิตกไว้ในอากาศ เมื่อวิตกอยู่ในอากาศนิมิต พิจารณาอากาศชนิดนั้นเนือง ๆ นิวรณธรรมก็จะสงบจากสันดาน เมื่อนิวรณธรรมสงบแล้วจิตจะตั้งได้เป็นอุปจารสมาธิแล้ว ให้พระโยคาพจรส้องเสพอากาศนิมิตนั้นจงเนือง ๆ อย่าได้เพิกได้เฉย พึงกระทำบริกรรมภาวนาว่าอากาโส จำเริญอากาศนิมิตนั้นไว้ให้มั่นในสันดาน

   ปฐมรูปาฌานอันชื่อว่าอากาสานัญจายตนะ จึงบังเกิดยึดหน่วงเอาอากาศนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่าปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อันเป็นรูปปาพจรนั้นบังเกิดขึ้น ถือเอากสิณนิมิตมีปฐวีกสิณเป็นต้นเป็นอารมณ์และมีฉันใด อากาสานัญจายตนฌานนี้ก็บังเกิดยึดหน่วงเอาอากาศนิมิตเป็นอารมณ์ มีอุปไมยดังนั้น ในปฐมวิถีแรกเริ่มเดิมที เมื่อจะได้สำเร็จอากาสานัญจายตนะนั้น อัปปนาจิตบังเกิด ขณะเดียวก็ตกภวังค์ อุเบกขาฌานสัมปยุตตกามาพจรชวนะที่รอง อัปปนานั้นบังเกิด ๓ ขณะบ้าง ๔ ขณะบ้าง โดยสมควรแก่วาสนาแห่งบุคคลอันเป็นทันธาภิญญาและขิปปาภิญญา ถ้าวาสนาบุคคลนั้นเป็นทันธาภิญญา อุเปกขาญาณสัมปยุตตกามาพจรชวนะก็บังเกิด ๔ ขณะ ขณะเป็นปฐมชื่อว่าบริกรรม ขณะเป็นคำรบ ๒ นั้นชื่อว่าอุปจาร ขณะเป็นคำรบ ๓ ชื่อว่าอนุโลม ขณะเป็นคำรบ ๔ ชื่อว่า โคตรภู เมื่อโคตรภูบังเกิดที่ ๔ แล้วอากาสานัญจายตนจิตก็บังเกิดที่ ๕ ที่ ๖ นั้นตกภวังค์ ถ้าวาสนาบุคคลนั้นเป็นขิปาภิญญา อุเปกขาญาณสัมปยุตตกามาพจรชวนะก็บังเกิด ๓ ขณะ ขณะเป็นปฐมชื่อว่าอุปจาร ขณะเป็นคำรบ ๒ ชื่อว่าอนุโลม ขณะเป็นคำรบ ๓ ชื่อว่าโคตรภู เมื่อโคตรภูบังเกิดที่ ๓ แล้ว อากาสานัญจายตนจิตก็บังเกิดที่ ๔ ที่ ๕ นั้นตกภวังค์ เป็นอรูปาพจร เป็นอัปปนาชวนะ และปฐมอัปปนา วิธีแห่งท่านที่มีวาสนาเป็นขิปปาภิญญานั้น ชวนะจิตบังเกิด ๔ ขณะ ขณะที่ ๑ นั้นเป็นเป็นกามาพจร ที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ นั้นก็เป็นกามาพจร ที่ ๕ นั้นเป็นอรูปาพจร เป็นอัปปนาจิต และข้อซึ่งอรูปเป็นปฐม ได้นามบัญญัติชื่อว่าอากาสานัญจายจตนะนั้น จะมีอธิบายเป็นประการใด อธิบายว่าอากาสานัญจายตนะศัพท์นี้ ถ้าจะแปลตัดออก ๓ บท อากาสะบท ๑ อนัญจะบท ๑ อายตนะบท ๑ อากาสะ แปลว่าช่องว่างอนัญจะนั้นเดิมเป็นอนันตะอยู่อาเทศ (แปลง) ตะเป็นจะ จึงเป็นอนัญจะ แปลว่าหาที่สุด คืออุทปาทิขณะบ่มิได้

   อายตนะนั้น แปลว่าที่อยู่ นักปราชญ์พึงรู้ซึ่งอรรถาธิบายตามนัยอันฎีกาจารย์วิสัชนา ไว้ในฎีกาพระอภิธรรมมัตถสังคหะว่า อากาศนั้นได้ชื่อว่าอนัญจะเพราะเหตุหาอุปาทิขณะและภวังค์ขณะบ่มิได้ อันธรรมดาว่าอากาศนี้ไม่รู้เกิดไม่รู้ทำลายอันหาที่สุดข้างอุปาทขณะแห่งอากาศว่า อากาศนี้บังเกิดแต่นั้นมาบังเกิดมในวันนั้นคืนนั้นปีนั้นเพลานั้น บังเกิดในครั้งนั้น ๆ จะหาที่สุดข้างอุปาทขณะดังนี้บ่มิได้ ประการหนึ่งจะหาที่สุดข้างทำลายแห่งอากาศว่า อากาศนี้จำทำลายไป ในวันนั้นคืนนั้นเดือนนั้นปีนั้นเพลานั้น จะหาที่สุดข้างทำลายดังนี้บ่มิได้ ตกว่าฝ่ายข้างบังเกิดก็ไม่มีที่สุด ฝ่ายข้างทำลายก็ไม่มีที่สุด อาศัยเหตุฉะนี้ อากาศนั้นถึงมาตรว่ามีน้อย มีประมาณเท่าวงกสิณก็ดี น้อยกว่าวงกสิณก็ดี ก็สมควรจะเรียกว่าอนัญจ ว่าหาที่สุดบ่มิได้ นักปราชญ์พึงเห็นอธิบายฉะนี้ อย่าพึงเห็นอธิบายว่า อากาศนั้น ต่อเมื่อใดแผ่ไปหาที่สุดบ่มิได้จึงจะได้ชื่อว่าอนัญจะ ถ้ายังมิได้แผ่ออกให้ใหญ่ให้กว้าง ยังน้อย ๆ อยู่แต่พอกำหนดได้นั้น จะได้ชื่อว่าอนัญจะหาบ่มิได้ อย่าพึงเห็นอธิบายดังนั้น พึงเข้าใจตามนัยแห่งฎีกาจารย์ ผู้ตกแต่งฎีกาพระอธิธรรมมัตถสังคหะ ดังพรรณนามานั้น เป็นใจความว่าปฐมรูปาฌานนั้นยึดหน่วงเอาอากาศนิมิต อันหาอุปาทขณะและภวังคขณะมิได้เป็นอารมณ์ อากาศนิมิตอันหาที่สุดคือ อุปาทขณะและภวังคขณะบ่มิได้นั้น เป็นที่ตั้งเล็งปฐมารูปาฌานเป็นที่ยึดที่หน่วงที่สำนักอาศัยแห่งปฐมารูปจิต เหตุดังนั้นปฐมารูปจิตนั้นจึงได้ชื่อว่าอากาสานัญจยตนฌาณ พึงรู้แจ้งโดยนัยอุปมาว่า ประดุจเกวียนและประตูช่องแห่งหน้าต่าง อันบุคคลปิดบังไว้ด้วยผ้าเขียวและผ้าขาวผ้าแดงและผ้าดำผืนใดผืนหนึ่งนั้นก็ดี ปากโอและปากขันปากหม้อและปากกระออม อันบุคคลหุ้มไว้ด้วยผ้าเขียวและผ้าขาวผ้าแดงผ้าดำอันใดอันหนึ่งนั้นก็ดี แต่บรรดาช่องอันบุคคลปิดป้องหุ้มไว้ด้วยผ้านั้น เมื่อผ้าสาฏกยังปิดยังปกยังห่อยังหุ้มเป็นปกติอยู่ บุรุษชายหญิงทั้งปวงแลไปก็เห็นแต่ผ้าที่ปิดที่บัง เห็นแต่ผ้าที่ห่อหุ้มจะได้แลเห็นช่องหา

   บ่มิได้ กาลเมื่อผ้าที่ปิดที่บังที่ห่อที่หุ้มนั้นปลิวไปด้วยกำลังลมก็ดี ตกลงด้วยวัตถุอันคืน มีไม้หนามเกี่ยวข้องก็ดี มีผู้ใดผู้หนึ่งมาเปิดเผยเลิกรื้อเสียก็ดี กาลเมื่อที่จะหาผ้าผิดปกหุ้มห่อมิได้แล้ว บุตรชายหญิงทั้งปวง แลไปก็เห็นช่องนั้นปรากฏเป็นอากาศเล่า อันนี้แลมีฉันใด ผ้าที่ปกปิดห่อหุ้มอยู่นั้น ดุจปริมณฑลแห่งกสิณที่เป็นอารมณ์แห่งรูปาพจรฌาน ประตูเกวียนประตูช่องห้องหน้าต่าง ปากโอแลปากขันปากหม้อและปากกระออม อันหาผ้าสาฎกจะปิดปาหุ้มห่อมิได้แลเห็นปรากฏอันอากาศเปล่า เป็นช่องเปล่าอยู่นั้น อุปไมยดุจอากาศที่มีกสิณอันเพิก แลเป็นอารมณ์แห่งปฐมารูปฌาน

   กาลเมื่อบุรุษชายหญิงทั้งหลายแลไปเห็นแต่ผ้าสาฏกที่ปกปิดห่อหุ้ม บ่มิได้แลเห็นช่องแห่งประตูเกวียนเป็นอาทินั้น มีอุปไมยดังพระโยคาพจรกุลบุตรอันเข้าสู่รูปาพจรฌาน มีปฏิภาคนิมิตแห่งภูตาทิกสิณเป็นอารมณ์ ยังมิได้อากาศเป็นอารมณ์ได้ก่อน กาลเมื่อผ้าสาฏกปราศจากไปมิได้ปิดปังห่อหุ้มอยู่เหมือนอย่างแต่ก่อน บุรุษชายหญิงทั้งหลายแลไปมิได้เห็นผ้าสาฏกเห็นแต่ประตูเกวียนเป็นอาทิ ปรากฏเป็นอากาศเปล่า เป็นช่องเปล่าอยู่นั้น มีอุปไมยดังพระโยคาพจรอันหน่ายจากรูป เพิกกสิณเสียแล้วแลพิจารณาเอาอากาศเป็นอารมณ์ ตราบเท่าได้สำเร็จปฐมรูปฌาน อันมีนามบัญญัติชื่อว่าอากาสานัญจายตนฌาน เมื่อพระโยคาพจรกุลบุตรได้สำเร็จกิจในภาวนาวิธีมีประมาณเท่านี้ เกลียดหน่ายชิงชัง ซึ่งรูปสัญญาระงับเสียซึ่งสัญญาให้ปราศจากขันธสันดานละเสียซึ่งปฏิฆสัญญา ปราศจากมนสิการในนานัตตสัญญา บ่มิได้กระทำมนสิการในนานัตตสัญญาแล้วกาลใดก็ได้ชื่อว่าพร้อมเพรียงด้วยอากาสานัญจยตนฌานในกาลนั้น

   แท้จริงอรูปฌานนี้มีคุณค่ามากกว่าว่ามากรำงับดับเสียได้ซึ่งรูปสัญญา ละเสียได้ซึ่งปฏิฆสัญญา แลนานัตตสัญญา รูปสัญญานั้นได้แก่รูปาพจร ๒๕ แลกสิณทั้ง ๓ เหตุ ว่าเว้นจากอากาสกสิณ ปฏิฆสัญญานั้นได้แก่ทวิปัญจวิญญาณ ๑๐ จิต แท้จริงทวิปัญจวิญาณ ๑๕ นี้ ได้ชื่อว่าปฏิฆสัญญา ด้วยอรรถว่าบังเกิดในปัญจทวารวิถี เพราะเหตุที่อารมณ์มากระทบประสาท แลนานัตตสัญญานั้นได้แก่จิต ๔๔ จิต คือกามาพจรกุศล ๘ จิต อกุศล ๑๒ จิต กามาพจรกุศลวิบาก ๑๑ จิต อกุศลวิบาก ๒ จิต กามาพจรกิริยา ๑๑ จิต สิริ ๔๔ จิต นี่แลได้ชื่อว่านานัตตสัญญาด้วยอรรถว่ามีชาติอันต่าง ๆ เป็นกุศลชาติบ้าง เป็นอกุศลชาติบ้าง เป็นอัพยากฤตชาติบ้าง นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า พระโยคาพจรจะได้สำเร็จอรูปฌานนั้น อาศัยเหตุที่ละรูปาพจรเสียได้อาศัยเหตุที่ละกสิณ ๙ ประการเสียได้ ถ้ายังละรูปาพจรจิตเสียมิได้ยังละกสิณ ๙ ประการเสียมิได้ตราบใด ก็ยังมิได้สำเร็จอรูปฌานตราบนั้น ต่อเมื่อใดละรูปาพจรจิตเสียได้ ละกสิณ ๙ ประการเสียได้แล้ว จึงอาจสำเร็จอรูปพจรฌานแต่ปฏิฆสัญญา คือทวิปัญญาญาณ ๑๐ จิต แลนานัตตสัญญา คือกามาพจร ๔๔ จิต นอกจากทวิปัญญาจวิญญาณนั้น เมื่อถึงยังมิได้สำเร็จอรูปฌานก่อน ได่แก่ฌานเบื้องต่ำ คือรูปาพจรฌานก็อาจจะล่วงได้อาจจะระงับเสียได้ด้วยอำนาจรูปาพจรฌาน

   แท้จริงท่านที่เข้าสู่สมาบัติยับยั้งอยู่ในสมาบัตินั้นจะได้แลเห็นรูปด้วยจักษุ จะได้ฟังเสียงด้วยโสตะ จะได้สูดกลิ่นด้วยฆานะ จะได้เสพรสด้วยชิวหา จะได้เสพสัมผัสด้วยกายนั้น หาบ่มิได้ จิตสันดานอันประพฤติเป็นไปในปัญญทวารวิถีนั้นบ่มิได้ มีแก่ท่านที่ยับยั้งอยู่ในทานสมาบัติ อันธรรมดาว่าเข้าสู่สมาบัติยับยั้งอยู่ในสมาบัตินั้น จิตสันดานเป็นแต่มโนทวารวิถีสิ่งเดียว จิตประพฤติเป็นไปในทวารวิถีนั้น จะได้เป็นกามาพจรจิตก็หาบ่มิได้ จิตที่เป็นกามาพจรนั้นบ่มิได้รู้ มีในสันดานแห่งท่านที่ยับยั้งอยู่ในสมาบัติ กาลเมื่ออยู่ในสมาบัติ ใครจะไปจะมาในที่ใกล้ก็ไม่รู้ไม่เห็น ใครจะเจรจาก็ไม่ได้ยิน ถึงจะโห่ร้องตีฆ้องกลองใกล้โสตนั้น ก็ไม่ได้ยินแต่รูปแต่เสียงสียังไม่เห็นไม่ได้ยินแล้ว ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงกลิ่นแลรสสัมผัสนั้นเล่าบ่มิได้รู้เลยเป็นอันขาด จิตนั้นแน่แน่วแยู่ในปฏิภาคนิมิต ซึ่งเป็นอารมณ์แห่งฌาน อยู่ในสมาบัตินั้นระงับจากกามฉันท์ แลพยาบาท ระงับจากอุทธัจจะแลกุกกุจจะ ระงับจากวิจิกิจฉาแลอวิชชา ระงับจากถีนะมิทธะ จิตที่เป็นกามาพจรนั้นบ่มิได้รู้มีเหตุฉะนี้ จึงเห็นแท้ว่าจำเดิมเเต่กาลเมื่อได้สำเร็จรูปฌานนั้น ก็อาจจะล่วงปฏิฆสัญญาแลนานัติตสัญญาเสียได้ เว้นแต่รูปสัญญานั้นแลรูปฌานจะละเสียมิได้

   เออก็เหตุไฉนปฏิฆสัญญาแลนานัตตสัญญาที่สละเสียได้แล้ว แต่ในรูปาพจรนั้น สมเด็จพระพุทธองค์จึงยกขึ้นตรัสเทศนาว่าอรูปฌานสละละได้เล่า อรูปฌานสิเฉพาะแต่รูปสัญญาต่างหากดังฤๅ พระองค์มาตรัสเทศนาว่า ละปฏิฆสัญญาแลนานัตตสัญญาด้วยเล่าอาศัยเหตุผลเป็นประการใด มีคำพระพุทธโฆษาจารย์ผู้ตกแต่งพระคัมภีร์วิสัชนาว่าข้อซึ่งมีพระพุทธฎีกาตรัสว่าอรูปฌานสละเสียได้ซึ่งปฏิฆสัญญาแลนานัตตสัญญานั้น ว่าด้วยสามารถสรรเสริญคุณแห่งอรูปฌาน ปรารถนาจะให้กุลบุตรทั้งปวงมีอุตสาหะจำเริญอรูปฌานจึงตรัสสสรรเสริญดังนี้ เปรียบเหมือนพระพุทธฎีกาที่ตรัสสรรเสริญจตุตถฌานว่าละสุขละทุกข์ ที่แท้นั้นละทุกข์เสียได้แต่ในปฐมฌานครั้นย่างเข้าตติยฌานก็จะสุขเสียได้จตุตถฌานนี้ บังเกิดในกาลเมื่อละทุกข์ละสุขได้แล้ว กิจที่จะละทุกข์ละสุขนั้นจะละได้เป็นพนักงานแห่งจตุตถฌานหามิได้ พระพุทธฎีกาที่ตรัสสรรเสริญว่าจตุตถฌานละทุกข์ละสุขนั้น ตรัสด้วยสามารถสรรเสริญจตุตถฌานปรารถนาจะให้กุลบุตรทั้งปวงมีความอุตสาหะจำเริญจตุตถฌาน จึงสรรเสริญดังนี้แลฉันใด

   ข้อซึ่งตรัสเทศนาว่า อรูปฌานสละละปฏิฆสัญญาแลนานัตตสัญญานั้นก็ตรัสสรรเสริญด้วยสามารถ ให้กุลบุตรมีความสุตสาหะจำเริญอรูปฌาน มีอุปไมมยดังนั้น ถ้ามิดังนั้นเปรียบเหมือนพระพุทธฎีกาที่ตรัสสรรเสริญพระอนาคามิมรรคว่า ละอกุศลเป็นต้นว่าสักกายทิฏฐินั้น ที่แท้ก็ละเสียได้แก่ในขณะแห่งพระโสดาปัตติมรรคนั้นแล้ว ตรัสสรรเสริญด้วยสามารถให้กุลบุตรอุตสาหะจำเริญพระอนาคามิมรรคอันนี้แลฉันใด พระพุทธองค์ตรัสสรรเสริญอรูปฌาน ก็อุปไมยดังนี้   สงฺเขปโต  ถ้าจะว่าโดยย่อแต่พอให้เห็นว่าง่ายในคุณแห่งอรูปสมาบัตินั้น นักปราชญ์พึงรู้ว่าอรูปสมาบัติละจิตแลแจตสิกเป็นรูปาพจรเสียได้ นี่แลเรียกว่าละเสียซึ่งรูปสัญญาข้อซึ่งอรูปสมาบัติห่างไกลจากกามาพจรจิต สลัดจิตแลเจตสิกอันเป็นกามาพจรเสียให้ไกลจากสันดานนั้น ได้ชื่อว่าละปฏิฆสัญญา

   แท้จริงสภาวะมีสันดานไกลจากปฏิฆสัญญา คือทวีปัญญาจวิญญาน ๑๐ จิตนั้น อย่างว่าถึง เมื่อเข้าสู่อรูปสมาบัตินั้นเลย โดยแต่อรูปภพอันเป็นที่บังเกิดแห่งอรูปวิบากนั้น ก็ไกลจากทวิปัญจวิญญาณ ๆ ทั้ง ๑๐ จิตนั้น จะได้มีอรูปภพหาบ่มิได้ แต่นานัตตสัญญา คือกามาพจรจิต ๔๔ จิตนอกจากทวิปัญจวิญญานนั้นแบ่งออกเป็น ๒ กอง ๆ หนึ่ง ๑๗ จิต กองหนึ่ง ๒๗ จิตกอง ๑๗ จิตนั้น คือมหาวิบาก ๘ สัมปฏิจฉันนะ ๒ สัตตีรณะ ๓ ปัญจทวาราวัชชนะ ๑ สหนะ ๑ ปฏิฆชวนะ ๒ ทั้ง ๑๗ นี้ จะได้มีในอรูปภพหามิได้ แต่กอง ๒๗ จิตนั้น คือมหากุศล ๘ มหากิริยา ๘ อกุศล ๑๐ มโนทวารวัชชนะ ๑ เป็น ๒๗ จิตด้วยกัน นี่แลมิได้มีในอรูปภพ

   อรูปพรหมที่เป็นปุถุชนนั้น ถ้าออกจากอรูปสมาบัติแล้วนานัตตสัญญา คือกามาพจร ๒๗ จิตนี้ ก็ได้ช่องได้โอกาสอาจจะบังเกิดได้ในสันดาน เว้นแต่อยู่ในสมาบัตินั้นแลนานานัตตาสัญญา ๒๗ จิตนี้บ่มิอาจจะบังเกิดได้ นักปราชญ์พึงสันษฐานว่าอรูปฌานเป็นปฐม ได้ชื่อว่าอากาสณัญจายตนะนั้น ด้วยอรรถว่ายึดหน่วงอากาศอันมีกสิณเพิกแล้วเป็นที่อยู่ที่พำนักอาศัย แท้จริงอากาศในที่พระโยคาพจรเพิกกสิณเสียแล้วนั้นเปรียบเหมือนทิพย์พิมานอันเป็นที่อยู่ที่พำนักแห่งเทพยดาทั้งปวง แลอากาศนั้นมิได้มีที่สุดฝ่ายข้างบังเกิด บ่มิได้มีที่สุดฝ่ายข้างทำลาย โดยนัยที่วิสัชชนาตามฎีกาอภิธรรมมัตถสังคหะ เหตุฉะนี้ปฐมรูปจิตที่ยึดที่หน่วงอากาศนิมิตเป็นอารมณ์นั้น จึงได้นามบัญญัติชื่อว่าอากาสนัญจาตนะ ด้วยประกาศฉะนี้ ฯ

วินิจฉัยในปฐมมารูปฌานโดยวิตถารยุติแต่เท่านี้

   จักวินิฉัยในอรูปเป็นคำรบ ๒ อันชื่อว่าวิญญาณัญจายตนะสืบต่อไป  วิญฺญาณญฺจายตนํ ภาเวตุกาเม  พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญวิญญาณัญจยตนะกรรมฐานนั้น พึงจำเริญปฐมารูปณานให้มีวสี ๕ ประการชำนิชำนาญเป็นอันดีแล้ว พึงพิจารณาให้เห็นโทษแห่งปฐมารูปฌานว่า  อาสนฺนฉรูปาวจรชฺฌานปจุจถิกา  ปฐมรูปฌานนี้มีข้าศึกคือรูปาพจรฌานอยู่ใกล้จะได้ละเอียด เหมือนวิญญาณัญจายตนฌานหาบ่มิได้เมื่อพิจารณาเห็นโทษแห่งปฐมารูปฌานดังนี้ ยังความรักความยินดีในปฐมารูปฌานนั้นให้สิ้นไปแล้ว พึงกระทำมนสิการกำหนดให้เห็นคุณแห่งวิญญาณัญจายตนฌานว่า วิญญาณัญจายตนาฌานนั้นละเอียกประณีตบรรจง กระทำจิตให้รักให้ใคร่ในวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว จึงละเสียซึ่งอากาศนิมิตที่เป็นอารมณ์แห่งปฐมารูปฌาน อย่าได้เอาใจใส่ในอากาศนิมิต พึงกำนดจิตยึดหน่วงเอาแต่ปฐมารูปวิญญาณ ที่อาศัยในอากาศนิมิตนั้นเป็นอารมณ์แล้วจึงกระทำบริกรรมภาวนาว่า  อนนฺตํ วิญฺญาณํ อนนฺตํ วิญฺญาณํ   วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จงเนือง ๆ ยกวิตกขึ้นในปฐมารูปวิญญาณกระทำปฐมารูปวิญญาณนั้นเป็นที่วิตกโดยวิเศษ

  เมื่อตั้งวิตกเฉพาะอยู่ในปฐมารูปวิญญาณนั้นเนือง ๆ อย่าได้เพิกเฉยอย่าได้มีขวนขวายอันน้อย พึงอุตสาหะบริกรรมภาวนา  อนนฺตํ วิญฺญาณํ อนนฺตํ วิญฺญาณํ   ร้อยคาบพันคาบแสนคาบ ตราบเท่าวิญญาณัญจายตนฌาน อันยึดหน่วงเอาปฐมารูปวิญญาณเป็นอารมณ์นั้นจะบังเกิด ปฐมารูปฌานนั้นยึดหน่วงเอาอากาศนิมิตเป็นอารมณ์แล้วบังเกิดด้วยประการฉันใด วิญญาณัตจายตนฌานที่ยึดหน่วงเอาปฐมารูปวิญญาณเป็นอารมณ์นี้ บังเกิดด้วยอาการอย่างนี้ อธิบายว่าในปฐมวิธี แรกเริ่มเดิมเมื่อจะได้สำเร็จวิญญาณัญจายตนฌานนั้น อัปปนาจิตบังเกิดขณะจิตหนึ่งก็ตกภวังค์ กามาพจรชวนะที่ได้สำเร็จกิจเป็นบริกรรมแลอุปจาร เป็นอนุโลม แลโคตรภูนั้น สัปยุตต์ด้วยอุเบกขาเวทนาบังเกิด ๓ ขณะบ้าง ๔ ขณะบ้าง ตามวาสนาบุคคลที่เป็นขิปปาภิญญาแลทันธาภิญญา   อากาสานญฺจายตนสมติกฺกมา นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่าพระโยคาพจรจะได้สำเร็จวิญญาณัญจายตนฌานนั้น เพราะเหตุว่าล่วงเสียซึ่งอากาศนิมิตอันเป็นอารมณ์แห่งปฐมรูปฌาน แล้วเลยยึดหน่วงเอาปฐมารูปวิญญาณเป็นอารมณ์

  ข้อซึ่งอรูปฌานเป็นคำรบ ๒ มีนามบัญญัติชื่อว่าวิญญาณณัญจายตนะนั้นจะมีอธิบายประการใด อธิบายว่าวิญญาณัตญจายตนะนี้ศัพท์นี้ถ้าจะแปลตัดออกเป็น ๓ บท วิญญาณบท ๑ อนันตะบท ๑ อายตนะบท ๑ เป็น ๓ บทดังนี้ วิญญาณนั้นแปลว่าจิต อนันตะนั้นแปลว่าหาที่สุดบ่มิได้ อายตนะนั้นแปลว่าที่อยู่ เมื่อสำเร็จรูปวิญญาณัญจายตนะนั้นท่านลบนะเสียตัวหนึ่ง อาเทศแปลง ตะ เป็น จะ นักปราชญ์พึงรู้โดยอธิบายว่า ปฐมรูปวิญญาณที่เป็นอารมณ์แห่งวิญญาณัญจายตนฌานนี้ ที่จะไม่มีที่สุดฝ่ายข้างบังเกิดฝ่ายข้างดับเหมือนอย่างอากาศนั่นหาบ่มิได้ ปฐมารูปวิญญาณนั้นรู้เกิดรู้ดับ เกิดเร็วดับเร็วประกอบด้วยอุปทาขณะ แลฐิติขณะแลภวังคขณะเหมือนกันกับจิตทั้งปวง แต่อาศัยเหตุที่ปฐมมรูปวิญญาณนี้แผ่อยู่ในอากาศนิมิต อันหาที่สุดฝ่ายเกิดดับบ่มิได้ก็พลอยได้ชื่อว่าอนันตะว่าหาที่สุดบ่มิได้ เหมือนกันกับอากาศ

   ตกว่าเอาอากาศนั้นมาเป็นชื่อแห่งตนเปรียบเหมือนม้าป่าอันชาวกัมโพชจับได้ตกอยู่ในเงื้อมมือแห่งชาวกัมโพชประพฤติตามอำนาจแห่งชาวกัมโพช แลได้นามบัญยัติชื่อว่ากัมโพช แลได้นามบัญญัติเชื่อว่ากัมโพช แลปฐมารูปวิญญาณนี้ เป็นที่ยึดหน่วงเป็นที่พำนักอาศัยแห่งปฐมารูปฌาน คำรบ ๒ เปรียบดุจทิพย์วิมารอันเป็นที่พำนักอาศัยแห่งเทพยดาทั้งปวง อาศัยเหตุที่ยึดหน่วงเอาปฐมารูปญาณที่แผ่ไปในอากาศอันหาอุปาทาทิขณะมิได้เป็นอารมณ์ อรูปฌานเป็นคำรบ ๒ นี้จึงได้นามบัญญัติชื่อว่า วิญญาณัญจายตนฌานด้วยประการดังนี้   มนสิการวเสน วา อนนฺตํ  นัยหนึ่งว่าอรูปฌานเป็นคำรบ ๒ ชื่อว่าวิญญาณัญจายตนนั้น ด้วยอรรถว่ายึดหน่วงเอาปฐมารูปเป็นอารมณ์แล้ว แลกระทำมนสิการว่า อนนฺตํ อนนฺตํ  แลข้อความอันวิเศษเป็นต้นว่าสำแดงอาการแห่งทุติยารูปฌานอันมีสภาวะเบื่อหน่ายกลัวซึ่งรูป สละละเสียได้ซึ่งรูปสัญญา แลปฏิฆสัญญา แลนานัตตสัญญานั้น ก็เหมือนกันกับนัยที่สำแดงแล้วในปฐมารูปฌานนั้น ฯ

วินิจฉัยในทุติยารูปกรรมฐานยุติเพียงนี้

   อากิญฺจญฺญายตนํ ภาเวตุกาเมน   พระโยคาพจรกุลบุตรซึ่งมีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญอากิญจัญญายตนกรรมฐานนี้ พึงจำเริญทุติยารูปฌานให้มีวสี ๕ ประการให้มีชำนิชำนาญอันดีแล้ว จึงพิจารณาให้เห็นทุติยารูปฌานว่า  อาสนฺนากาสานญฺจายตนปจฺจตฺถิกาทุติยารูปฌาน   นี้ มีข้าศึกคืออากาสานัญจายตนฌานอันอยู่ใกล้ จะได้ละเอียดเหมือนอากิญจัญญายตนฌานหาบ่มิได้เพื่อพิจารณา ให้เห็นโทษแห่งทุติยารูปฌานดังนี้ ยังความรักความยินดีในทุติยารูปฌานให้สิ้นแล้ว พึงกระทำมนสิการกำหนดให้เห็นคุณแห่งอากิญจัญญายตนฌานว่า อากิญจัญญายตนฌานนั้นละเอียดประณีตบรรจง กระทำจิตให้รักให้ใคร่ในอากิญจัญญายตนฌานแล้ว จึงละเสียซึ่งปฐมมารูปวิญญาณ ที่เป็นอารมณ์แห่งวิญญาณัญจายตนฌาน อย่าได้เอาใจใส่ในปฐมมารูปวิญญาณ พึงกำหนดจิตว่า ปฐมมารูปวิญญาณหามีในที่อันนี้ไม่ ที่อันนี้เปล่าจากปฐมารูปวิญญาณ สงัดจากรูปปฐมาวิญญาณ

  เมื่อกำหนดจิตฉะนี้แล้ว ก็พึงกระทำบริกรรมภาวนาว่า   นตฺถิ กิญฺจิ นตฺถิ กิญจิ  อะไรไม่มี ๆ ถ้ามิดังนั้นให้บริกรรมว่า  สุญฺญํ สุญฺญํ  เปล่า ๆ ถ้ามิดังนั้นให้บริกรรมว่า   วิจิตฺติ วิวิตฺติ  ว่าง ๆ จงเนือง ๆ ยกวิตกขึ้นว่าปฐมารูปวิญญาณหามีไม่ ตั้งวิตกไว้ว่าปฐมารูปวิญญาณบ่ได้มี กระทำที่ไม่มีแห่งปฐมารูปวิญญาณนั้นเป็นข้อวิเศษเนือง ๆ อยู่แล้ว นิวรณธรรมทั้งปวงก็จะสงบจากสันดาน เมื่อนิวรณธรรมสงบแล้ว จิตก็จะตั้งได้เป็นอุปจารสมาธิ เมื่อจิตเป็นอุปจารสมาธิแล้วให้พระโยคาพจรส้องเสพนัตถิภาวนานิมิตจงเนือง ๆ อย่าได้ละเสีย พึงอุตสาหะทำบริกรรมว่า นตฺถิ กิญฺจิ นตฺถิ กิญฺจิ   ร้อบคาบพันคาบ กว่าจิตจะแน่ลงไปเป็นอัปปนาในอารมณ์ที่สำคัญมั่นหมายว่าปฐมารูปวิญญาณ บ่มิได้มีนั้นนักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่าอรูปฌานเป็นปฐมนั้น จิตแน่เป็นหนึ่งลงในปริมณฑลในอากาศที่เพิกกสิณเสียแล้ว ในอรูปฌานเป็นคำรบ ๒ นั้นจิตแน่เป็นหนึ่งลงในอารมณ์ที่ละเมินปริมณฑลอากาศนั้นเสียแล้ว แลสำคัญมั่นว่าปฐมารูปวิญญาณนั้น มีเป็นแท้แผ่อยู่ในปริมณฑลอากาศ ในรูปฌานเป็นคำรบ ๓ นี้ จิตแน่เป็นหนึ่งลงในอารมณ์ที่สำคัญมั่นว่าปฐมารูปวิญญาณไม่มีปริมณฑลแห่งอากาศนี้ จะมีปฐมารูปวิญญาณแผ่อยู่ในที่อันนี้หาบ่มิได้ ตกว่าอากาศก็มีเป็นพื้นอยู่นั่นแลแต่ทว่าละเสียหากำหนดเป็นอารมณ์ไม่ ที่จะกำหนดว่านี่แลคือจะกำหนดว่าปฐมารูปวิญญาณมีอยู่แผ่ในที่อันนี้

  ฝ่ายตติยารูปนั้น กำหนดว่าปฐมารูปวิญญาณหามีไม่ หาแผ่อยู่ในที่อันนี้ไม่ ตกว่าทุติยารูปจิตนั้นเป็นหนึ่งอยู่ในอารมณ์ที่สำคัญมั่นว่า ปฐมารูปวิญญาณแผ่อยู่ในที่อันนี้ ฝ่ายตติยารูปนั้นเป็นหนึ่งอยู่ในอารมณ์ที่สำคัญมั่นว่าปฐมารูปวิญญาณหามีในที่อันนี้ไม่ ยถา นาม ปุริโส มณฺฑปาสาลาทีสุ ภิกฺขุสงฺฆํ ทิสฺวา   เปรียบเสมือนบุรุษผู้หนึ่ง แลเห็นพระภิกษุสงฆ์ทั้งปวง อันมีธุระด้วยสังฆกิจอันใดอันหนึ่ง มาประชุมกันในมณฑลแลศาลาใหญ่น้อยอันใดอันหนึ่ง บุรุษนั้นก็กระทำมณสิการกำหนดจิตว่าพระสงฆ์ประชุมกัน ๆ กำหนดแต่เท่านั้น จะได้กำหนดว่าที่อันพระสงฆ์ประชุมนี้เป็นมณฑลเป็นที่โรงฉัน เป็นศาลายาวแลกว้างมีประมาณเท่านั้น มีเสาแลพื้นแลฝาแลที่มุงอย่างนั้น ๆ จะได้กำหนดดังนี้หาบ่มิได้

  ตกว่าที่อันพระสงฆ์ประชุมนั้นมิได้เอาใจใส่ให้รู้ว่า พระสงฆ์มาประชุมกันในที่อันนี้ ๆ เอาใจใส่แต่เท่านั้น ครั้นพระสงฆ์ทั้งปวงมาประชุมกันกระทำสังฆกิจ สิ้นธุระแล้วแลลุกไป บุรุษนั้นกลับแลไปในภายหลังเห็นที่อันนั้นเปล่าอยู่ไม่มีพระสงฆ์ บุรุษนั้นกำหนดว่าพระสงฆ์ไม่มีในที่อันนี้แล้ว ที่อันนี้เปล่าแล้ว บุรุษนั้นกำหนดจิตแต่เท่านี้กำหนดเอาแต่ที่ไม่มีพระสงฆ์นั้นแล เป็นอารมณ์แลมีฉันใดที่อันพระสงฆ์ประชุมนั้น มีอุปไมยดังอากาศนิมิตที่เพิกกสิณเสียแล้ว แลเป็นอารมณ์แห่งปฐมารูปวิญญาณ พระภิกษุทั้งปวงที่มาประชุมกันนั้น เปรียบต่อปฐมารูปวิญญาณที่เป็นอารมณ์แห่งอรูปฌานเป็นคำรบ ๒ กิริยาที่ภิกษุลุกไปสิ้นไปแล้วแลเปล่าอยู่นั้น เปรียบต่อจากอากาศที่เปล่า ที่สูญที่ไม่มี ปฐมารูปวิญญาณอันเป็นอารมณ์แห่งรูปฌานเป็นคำรบ ๓ กาลเมื่อบุรุษเห็นพระสงฆ์ประชุมกัน แลเอาใจใส่กำหนดแต่องค์พระสงฆ์มิได้เอาใจใส่ดูเสนาสนะที่พระสงฆ์นั่งนั้นเปรียบเหมือนทุติยารูปจิตอันละเสียซึ่งอากาศนิมิตแล้ว แลยึดหน่วงเอาปฐมารูปวิญญาณเป็นอารมณ์ กาลเมื่อบุรุษแลไปไม่เห็นพระสงฆ์ เห็นแต่ที่เปล่าอยู่ แลกำหนดในใจว่าพระสงฆ์ไปหมดแล้ว ไม่มีพระสงฆ์แล้ว อันนี้มีอุปไมยดังตติยารูปจิตอันกำหนดอารมณ์ว่าเป็นปฐมารูปวิญญาณบ่มิได้มี ๆ

  แลอรูปฌานเป็นคำรบ ๓ นี้ ได้นามบัญญัติชื่อว่าอากิญจัญญายตนนั้น จะมีอรรถธิบายเป็นประการใด อธิบายว่าอากิญจัญญายตนศัพท์นี้ ถ้าจะแปลตัดออกเป็น ๓ บท นะ บท ๑ กิญจนะ ๑ อายตนะ บท ๑ เป็น ๓ บทนี้นะนั้นแปลว่าบ่มิได้ กิญจนะนั้นแปลว่าเหลืออยู่ อายตนนั้นแปลว่าที่อยู่อาเทศ แผลง นะ เป็น อะ เมื่อสำเร็จรูปเป็นอากิญจัญญายตนะนั้น อธิบายว่านัตถิภาวนานี้เป็นอารมณ์แห่งตติยารูปฌานนั้น จะได้มีปฐมารูปวิญญาณเหลืออยู่มาตรว่าภังคขณะนั้นก็หาบ่มิได้ อารมณ์ที่สำคัญมั่นว่าปฐมารูปวิญญาณไม่มีนี่แลเป็นที่ยึดที่หน่วงที่สำนักที่อาศัยแห่งตติยารูปฌาน เปรียบประดุจทิพยวิมาณอันเป็นที่อยู่แห่งเทพบุตรแลเทพธิดาทั้งปวง

   ตกว่าอารมณ์ที่สำคัญมั่นว่าปฐมารูปวิญญาณไม่มีนั้น ตติยารูปจิตกำหนดเอาเป็นที่ยึดหน่วงเหตุฉะนี้ ตติรูปจิตนั้น จึงได้นามบัญญัติชื่อว่าอากิญจัญญายตนฌานด้วยประการฉะนี้ ตกว่าพระโยคาพจรกุลบุตรจะได้สำเร็จอากิญจัญญายตนฌานนั้น ด้วยสามารถที่ล่วงทุติยารูปจิตได้ประการ ๑ ล่วงปฐมารูปที่เป็นอารมณ์แห่งทุติยารูปจิตนั้นได้ประการ ๑ ล่วงเป็น ๒ สถานดังนี้ จึงได้สำเร็จอากิญจัญญายตนฌาน แลข้อความอันเศษเป็นต้นว่าสำแดงคุณานิสงส์แห่งตติยารูปฌานว่า หน่ายจากรูปละเสียได้จากรูปสัญญา แลปฏิสัญญานานัตตสัญญานั้นก็เหมือนกันกับนัยที่สำแดงแต่ต้น ในปฐมารูปฌานนิเทศนั้น ฯ

วินิจฉัยในตติยารูปกรรมฐานยุติแต่เพียงนี้

  แต่นี้จักวินิจฉัยในจตุตถารูปกรรมฐานสืบต่อไป เนวสญฺญานาสญฺญายตนํ ภาเวตุกาเมน   พระโยคาพจรกุลบุตรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญเนวสัญญานาสัญญายตนกรรมฐานนั้น พึงจำเริญตติยารูปฌานให้มีวสี ๕ ประการชำนิชำนาญเป็นอันดีแล้ว พึงพิจารณาให้เห็นโทษแห่งตติยารูปฌานว่า  อาสนฺนวิญฺญาณญฺจายตนปจฺจตฺถิกา  ตติยารูปฌานนี้มีข้าศึก คือวิญญาณัญจายตนฌานอันอยู่ใกล้อารมณ์แห่งตติยารูปฌานนี้ ย่อมเแล้วด้วยสัญญา ๆ นั้นยังหยาบยังเป็นโรคเป็นภัย ยังเป็นปมเป็นเปา ยังเป็นลูกศรเสียบแทงจิตสันดานอยู่จะได้ละเอียดเหมือนเนววัญญายตนฌานหาบ่มิได้ เมื่อพิจารณาให้เห็นโทษแห่งตติยารูปฌานให้สิ้นแล้ว พึงกระทำมนสิการกำหนดให้เป็นคุณานิสงส์แห่งเนวสัญญายตนฌานว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ละเอียดประณีตบรรจงยิ่งนัก มาตรแม้ว่ามีสัญญาอยู่ ก็เหมือนจะหาสัญญาบ่มิได้ พึงพิจารณาให้เห็นคุณานิสงส์ฉะนี้

  ยังความรักความยินดีให้บังเกิดในเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว จึงล่วงเสียซึ่งอารมณ์แห่งตติยารูปฌานอารมณ์ที่สำคัญว่าปฐมารูปฌาน ไม่มีนั้นพึงสละละเสียอย่าได้มนสิการกำหนดกฏหมายเพิกเฉยเสีย อย่ายึดอย่าหน่วงเอา อย่าผูกพันไว้ในสันดาน พึงกำหนดเอาแต่ตติยารูปฌานเป็นอารมณ์กระทำบริกรรมว่า สนฺตเมตํ ปณีตเมตํ   ตติยารูปจิตนี้ ละเอียดประณีตบรรจง บ่มิได้หยาบ ตกฺกาหตา วิตกฺกาหตา กาตพฺพา  พึงนำมาซึ่งตติยารูปวิญญาณด้วยวิตกโดยวิเศษวิตกวิจารเนือง ๆ อยู่แล้วนิมิตแห่งตติยารูปจิตก็จะบังเกิด นิวรรณธรรมก็สงบจากสันดาน เมื่อนิวรรณธรรมสงบแล้ว จิตก็จะตั้งได้เป็นอุปจารสมาธิแล้วให้พระโยคาพจรส้องเสพนิมิตแห่งตติยารูปจิตเนือง ๆ อย่าได้ละได้ลืมซึ่งอุตสาหะกระทำบริกรรมว่า  สนฺตเมตํ ปณีตเมตํ   ตติยารูปจิตนี้ละเอียด ตติยารูปจิตนี้ประณีต บริกรรมไป ๆ ร้อยคาบพันคาบหมื่นคาบแสนคาบ กว่าจิตจะแน่แน่วเป็นอัปปนาได้สำเร็จจตุตถารูปฌานอันชื่อว่าเนวสัญญานาสัญญายตนนั้น แท้จริงอรูปสมาบัติ ๔ นี้ นับเข้าในปัญจมฌาน กอปรด้วยองค์ ๒ คือเอกัคคตา แลอุเบกขา วิตก วิจารปีติสุข นั้นจะได้เป็นองค์แห่งอรูปสมาบัติหามิได้ แลข้อซึ่งว่าให้กระทำวิตกให้ตั้งวิตกไว้

   ข้อนี้นี่เฉพาะว่าบุรพภาคเบื้องต้น กาลเมื่อดำรงจิตในบุรพภาคนั้น จะทิ้งวิตกวิจารเสียบ่มิได้ จำจะมีวิจารเป็นเดิมก่อน เพราะเหตุว่าอรูปฌานนี้ล่วงอารมณ์กันทุกชั้น ๆ จะยืนอารมณ์ไว้อย่างเดียวกันอย่างรูปาพจรสมาบัตินั้นยืนไว้บ่มิได้ อันรูปสมาบัตินั้นถ้าเอากสิณสิ่งใดเป็นอารมณ์แล้ว จะตั้งกสิณนั้นให้ขึงไว้ไม่เปลี่ยนกสิณเลย จะเข้าฌานตั้งแต่ปฐมฌานขึ้นไป ให้ตลอดตราบเท่าถึงปัญจมฌานนั้นก็อาจเข้าได้เพราะเห็นว่าอรูปฌานนั้น อารมณ์ยืนไม่เปลี่ยน อารมณ์เหมือนรูปฌาน ๆ นี้ล่วงอารมณ์ไม่ยืน ต้องล่วงอารมณ์กันทุกชั้น ๆ เหตุดังนั้น ในบุพภาคแรกจำเริญอรูปสมาบัติทั้ง ๔ นี้จึงมิอาจละวิตกวิจารเสียได้ ต้องมีวิตกวิจารในบุรพภาคก่อน ต่อถึงอัปปนาจิตแล้วจึงปราศจากวิตกวิจาร คงมีองค์อยู่แต่ ๒ ประการคือ เอกัคคตากับอุเบกขา ในปฐมอัปปนาแรกได้จตุถารูปฌานนี้ จตุตถารูปจิตบังเกิดขณะ ๑ อุเบกขาญาณสัมปยุตกามาพจรชวนะที่ให้สำเร็จกิจเป็นบริกรรมแลอุปจาร เป็นอนุโลมแลโคตรภูนั้นบังเกิด ๓ ขณะบ้าง ๔ ขณะบ้างอย่างสำแดงมาแล้วแต่หลัง จตุตถารูปฌานนี้ ก็มีคุณานิสงส์ ละรูปสัญญาแลปฏิฆสัญญาแลนานัตตสัญญาเสียได้เหมือนกันกับอรูปฌานเบื้องต้น ที่สำแดงแล้วแต่เดิมทีแลจตุตถารูปฌานได้นามบัญญัติชื่อว่าเนวสัญญานั้นด้วยอรรถว่ามีสัญญาเวทนา แลสัมปยุตธรรมทั้งปวง อันละเอียดสิ้นทุกสิ่งทุกประการใช่จะละเอียดแต่สัญญาสิ่งเดียวนั้นหาบ่มิได้ ข้อซึ่งยกขึ้นว่าจตุตถารูปจิตมีสัญญาอันละเอียด ถ้ามาสัญญาก็เหมือนดุจหาสัญญาบ่มิได้

  ข้อนี้นี่ว่าด้วยสามารถประธานนัย ยกสัญญาขึ้นตั้งเป็นประธาน ที่แท้นั้นจะละเอียดแต่สัญญาสิ่งเดียวหาบ่มิได้ จิตก็จะละเอียดเจตสิกแต่บรรดาสัมปยุตด้วยจิตนั้นก็ละเอียด มีคำปุจฉาว่า  สนฺโต เจ มนสิ กโรติ กถํ สมติกฺกโมโหติ   ว่าด้วยพระโยคาพจรผู้จำเริญ จตุตถารูปฌานนั้น เมื่อกระทำมนสิการกำหนดกฏหมายอยู่ว่าตติยารูปจิตละเอียดตติยารูปจิตประณีตวิตกวิจารอยู่เนือง ๆ วิสัชนาว่า อสมาปชฺชิตุกามตาย   พระโยคาพจรกุลบุตรจะล่วงตติยารูปฌานเสียได้นั้น เพราะเหตุที่มิได้ปรารถนาที่จะเข้าสู่ตติยารูปฌาน เห็นว่าตติยารูปฌานละเอียด ตั้งจิตวิจารอยู่ในตติยารูปจิตก็จริงอยู่แลแต่ทว่าหาได้คิดว่าจะพิจารณาอารมณ์ แต่งตติยาจิตนั้นไม่ ที่จะได้คิดว่าอาตมาจะเข้าสู่ตติยารูปฌานอีก อาตมาจะอธิษฐานเอาตติยารูปฌานอีก อาตมาจะออกจากตติยารูปฌานอีกอาตมาจะพิจารณาติติยารูปฌานอีก จะได้คิดดังนี้หาบ่มิได้ อาศัยเหตุฉะนี้พระโยคาพจรนั้นจึงอาจล่วงเสียซึ่งตติยารูปฌานนั้นได้

   เออก็เหตุไฉนเมื่อเห็นตติยารูปฌานละเอียดประณีตบรรจงดีแล้วจึงล่วงละเสียไม่เข้าสู่ตติยารูปฌานเล่า ข้อซึ่งไม่เข้าสู่ตติยารูปฌานนั้นเพราะเหตุที่เห็นว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นละเอียดยิ่งกว่าตติยารูปประณีตกว่าตติยารูป จักรักใคร่ผูกพันอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ปรารถนาเนวสัญญานั้นเป็นเบื้องหน้า จึงล่วงเสียซึ่งตติยารูปฌานเปรียบปานดุจสมเด็จพระมหากษัตริย์ อันเสด็จสถิตเหนือคอช้างพระที่นั่งตัวประเสริฐ เสด็จโดยนครวิถีถนนหลวงด้วยพระเดชานุภาพเป็นอันมาก   ทนฺตการาทโย ทิสฺวา  ได้ทอดพระเนตรเห็นช่างทั้งหลายเป็นต้นว่าช่างไม้แลช่างงาอันเลื่อยงาผ่าเป็นซีกน้อยแลซีกใหญ่ กระทำเครื่องไม้แลเครื่องเงางามประหลาดต่าง ๆ ตามศีลปศาสตร์ตนเคยกระทำบรมกษัตริย์นั้นครั้นทอดพระเนตรเห็นก็ทรงพระโสมนัสปรีดาชมเชยว่า ช่างเหล่านี้ขยันนักหนาฝีมือดี ๆ กระทำการชำนิชำนาญควรจะเป็นครูเป็นอาจารย์สั่งสอน ลูกศิษย์ได้ตรัสชมฝีมือช่างทั้งปวงก็จริง แต่ทว่าพระองค์จะได้ปรารถนาที่จะละสมบัติเสียแล้วแลจะเป็นนายช่างเหมือนอย่างชนเหล่านั้นหาบ่มิได้เหตุใด เหตุว่าสมบัติประเสริฐเลิศกว่าศิลปศาสตร์ช่างทั้งปวงตกว่าชมฝีมือช่างนั้นชมนักชมหนา แต่น้ำพระทัยมิได้ปรารถนาที่จะเป็นช่าง อันนี้แลมีอุปมาฉันใด พระโยคาพจรผู้กระทำมนสิการว่าตติยารูปละเอียด ตติยารูปจิตประณีตนั้น มนสิการเอาเป็นนักเป็นหนาก็จริงแล แต่ทว่าจะได้ปรารถนาที่จะเข้าสู่ตติยารูปฌานอีกหาบ่มิได้ จิตนั้นรักใคร่ปรารถนาปรารภอยู่ในเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จึงจะล่วงเสียบ่มิได้เข้าสู่ตติยารูปฌาน เพราะเหตุเห็นว่าเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น มีอานิสงส์มากยิ่งกว่าตติยารูปฌาน มีอุปไมยดังพระมหากษัตริย์อันชมฝีมือช่าง แลมิได้ปรารถนาที่จะถอยพระองค์ลงเป็นช่างนั้น

  เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนี้ บางคาบสมเด็จพระพุทธองค์ตรัสเทศนาเรียกว่าสังขาราวเสสสมบัติเพราะเหตุว่าละเอียดด้วยแท้ มีสัญญาก็เหมือนดุจหาสัญญาบ่มิได้ ครั้นจะว่าไม่มีสัญญาเลยก็ว่าบ่มิได้ เพราะเหตุว่าสัญญาละเอียด ๆ นั้น ยังอยู่เปรียบเหมือนน้ำที่ยังร้อนอยู่นั้น จะว่าหาเตโชธาตุบ่มิได้ ปราศจากเตโชธาตุนั้นหาบ่มิได้ ไม่มีเตโชธาตุแล้ว ดังฤๅ น้ำจะร้อนเล่า เตโชธาตุนั้นมีอยู่เป็นแท้น้ำจึงร้อน แต่ทว่าเตโชธาตุนั้นละเอียดกว่าละเอียดที่จะเอามาใช้สอยกระทำการหุงต้มปิ้งจี่สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นใช้สอยบ่มิได้ สัญญาในจตุตถารูปสมาบัตินั้น ก็ละเอียดกว่าละเอียด พ้นวิสัยที่พระโยคาพจรจะพิจารณาเอาเป็นอารมณ์แห่งพระวิปัสสนานิพพิทาฌาณได้ มีอุปไมยดังนั้น แท้จริงพระโยคาพจรที่บำเพ็ญพระวิปัสสนากรรมฐานนั้น ถ้าไม่พิจารณานามขันธ์กองอื่นเลย จึงพึงพิจารณาแต่เนวสัญญานาสัญญายตนขันธ์กองเดียวนั้น บ่มิอาจจะยังวิปัสสนานิพพิทาญาณให้บังเกิดได้

   อันวิปัสสนานิพพิทาญาณจะบังเกิดให้เกลียดหน่ายในสังสารวัฏนั้นอาศัยแก่พิจารณานามขันธ์หยาบ ๆ อันจะพิจารณานามขันธ์ที่ละเอียด ๆ นั้น มิอาจจะยังความเกลียดหน่ายให้บังเกิดได้ ต่อเมื่อได้มีปัญญากล้าหาญเปรียบปานดุจดังพระสารีบุตรผู้เชี่ยวชาญในการที่จะพิจารณากลาปรูป จึงอาจที่จะพิจารณาเอาจตุตถารูปจิตเป็นอารมณ์แห่งวิปัสสนานิพพิทาฌาณได้   สุขุมตฺตํ คตา  สัญญาในเนวสัญญานาสัญญายตนจิตนั้น ถึงซึ่งภาวะละเอียดเปรียบเหมือนน้ำมันทาบาตรแลน้ำอันซับอยู่ในหนทาง กิระดังได้ยินมาสามเณรองค์หนึ่งเอาน้ำมันทาบาตรแล้วก็ตั้งไว้ ครั้นถึงเพลาฉันกระยาคู พระมหาเถระผู้เป็นชีต้นร้องเรียกจะเอาบาตร สามเณรก็ว่าบาตรติดน้ำมันอยู่ พระมหาเถระจึงว่ายกมาเถิด เราจะเทไว้ในกระบอกน้ำมัน สามเณรจึงว่าน้ำมันนั้นข้าพเจ้าทามาตรไว้แต่พอให้กันสนิม จะมีมากถึงได้เทใส่กระบอกไว้นั้นก็หาบ่มิได้ตกว่าน้ำมันนั้นสักแต่ว่ามี ฉันใดก็ดี สัญญาในเนวสัญญานาสัญญาตนจิตนั้นก็ละเอียดกว่าละเอียดสักแต่มี มีอุปไมยในเนวสัญญานาสัญญายตนจิตนั้นก็ละเอียดกว่าละเอียดสักแต่มี มีอุปไมยดังนั้น

  ยังมีสามเณรองค์ ๑ เล่าเดินทางไกลไปกับพระมหาเถระผู้เป็นอุปัชฌาย์ สามเณรนั้นเดินไปข้างหน้าไปพบน้ำซับอยู่ที่หนทาง จึงบอกแก่พระมหาเถระว่าทางเป็นน้ำพระเจ้าข้า ถอดรองเท้าเสียก่อนเถิด ดูกรเจ้าสามเณร ท่านจงเอาผ้าชุบอาบมาให้แก่เรา ๆ ร้อนนักหนา จะอาบน้ำเสียให้สบายคลายร้อน พระเจ้าข้าที่จะอาศัยอาบอาศัยฉันไม่ได้ น้ำน้อยแต่พอจะชุ่มรองเท้า ใส่รองเท้าไปนั้นรองเท้าจะชุ่ม ข้าพเจ้าจึงบอกให้ถอดรองเท้า ตกว่าน้ำนั้นสักแต่ว่ามีฉันใดสัญญาในเนวสัญญานาสัญญายตนจิตนั้นก็ละเอียดกว่าอะเอียดสักแต่ว่ามี มีอุปไมยดังนั้น

  แต่นี้จักวิสัชนาใน ปกิณกถาให้เห็นแจ้งว่าอรูปสมาบัติต่างออกเป็น ๔ ประการดังนี้ด้วยสามารถ อารมณ์อันต่างล่วงอารมณ์ต่อ ๆ กัน ปฐมารูปฌาณนั้นล่วงเสียซึ่งกสิณนิมิตพิจารณาแต่อาการที่มีกสิณเพิกแล้วเป็นอารมณ์ ทุติยารูปฌานนั้น ล่วงอากาศเสียพิจารณาแต่ปฐมารูปเป็นอารมณ์ตติยารูปฌานนั้น ล่วงตติยารูปเสียพิจารณาที่สูญเปล่า ที่ไม่มีปฐมารูปเป็นอารมณ์ จตุตถารูปฌานนั้น ล่วงสูญที่เปล่าที่ไม่มีแห่งปฐมารูปนั้นเสีย พิจารณาเอาแต่ตติยารูปจิตเป็นอารมณ์ ตกว่าอารมณ์นั้นต่างล่วงอารมณ์ต่อ ๆ กันฉะนั้น แต่องค์ฌานนั้นจะได้ล่วงกันหาบ่มิได้ อรูปฌานทั้ง ๔ นี้มีองค์ ๒ ประการ คือเอกัคคตากับอุเบกขาเหมือนกันสิ้นองค์แห่งอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ บ่มิได้แปลกกัน

  มีคำปุจฉาว่าอรูปฌานทั้ง ๔ นี้ เมื่อแลมีองค์ ๒ ประการเหมือนกันสิ้นไม่แปลกนั้น ทำไฉนจึงประณีตกว่ากันละเอียดกว่ากันเป็นนั้น ๆ ด้วยเหตุผลเป็นประการใด วิสัชนาว่าองค์ ๒ ประการเหมือนกันไม่แปลกกันก็จริง แต่ทว่าไม่แปลกกันแต่องค์อารมณ์นั้นแปลกกัน ประณีตกว่ากันเป็นชั้น ๆ ละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ เปรียบเหมือนพื้นปรางค์ปราสาททั้ง ๔ แลแผ่นผ้าสาฎก ๔ ผืนอันแปลกกันกิระดังได้ยินมา ยังมีปรางค์ปราสาทอันหนึ่งมีพื้นได้ ๔ ชั้น ๆ เบื้องต่ำนั้นบริบูรณ์ไปด้วยเบญจกามคุณ คือขับร้องรำฟ้อนดีดสีตีเป่าดุริยางค์ดนตรีทั้งปวงแต่ล้วนเป็นทิพย์ เตียงตั่งที่นั่งที่นอนผ้านุ่งผ้าห่มดอกไม้ของหอมโภชนาหารสรรพมีพร้อม แต่ล้วนแล้วด้วยเครื่องทิพย์บริบูรณ์นักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าไม่บริบูรณ์เหมือนชั้นคำรบ ๒ ๆ นั้น บริบูรณ์ยิ่งกว่ากัน ครั้นขึ้นไปถึงชั้นคำรบ ๓ นั้นก็ยิ่งมากยิ่งบริบูรณ์หนักขึ้นไปกว่าชั้นเป็นคำรบ ๒ ยิ่งขึ้นไปถึงชั้น ๔ ก็ยิ่งบริบูรณ์กว่าชั้น ๓ ได้ ๑๐๐ เท่า ๑๐๐๐ ทวี ตกว่าพื้นทั้ง ๔ แห่งปรางค์ปราสาทนั้นเท่ากัน หาแปลกกันไม่ แปลกกันแต่ปัญจกามคุณยิ่งกว่ากันด้วยเบญจกามคุณแลมีฉันใด อรูปฌานทั้ง ๔ นี้มีองค์ ๒ ประการเท่ากันหาแปลกกันไม่ แต่ทว่ายิ่งกว่ากันด้วยอารมณ์ละเอียดกว่ากันประณีตกว่ากันเป็นชั้น ๆ ด้วยสามารถมีอารมณ์ต่าง ๆ กันก็มีอุปไมยดังนี้

  กิระดังได้ยินมา ยังมีสตรีภาพ ๔ คนปั่นด้ายด้วยกันในที่อันเดียวกัน สตรีภาพผู้หนึ่งนั้นปั่นด้ายเส้นใหญ่ ผู้หนึ่งปั่นด้ายเส้นรวม ผู้หนึ่งปั่นด้ายเส้นเล็ก ผู้หนึ่งนั้นปั่นด้ายเส้นละเอียด ครั้นปั่นเสร็จแล้ว ก็เอาออกมาทอผ้าผืนเท่ากัน ครั้นตัดออกจากฟิมแล้ว เอามาวัดกันก็กว้างเท่ากันยาวเท่ากัน แต่เนื้อผ้าไม่เหมือนกันเนื้อดีกว่ากันเป็นชั้น ๆ แลฉันใด อรูปฌานทั้ง ๔ นั้นมีองค์ ๒ ประการเหมือนกันก็จริงแต่ยิ่งกว่ากันด้วยอารมณ์ละเอียดกว่ากันเป็นชั้น ๆ ด้วยสามารถมีอารมณ์อันต่าง ๆ กันนักปราชญ์พึงสัญนิษฐานว่าทุติยารูปฌานนั้นได้อาศัยพึ่งพิงยึดหน่วงปฐมารูปวิญญาณ

  ฝ่ายจตุตถารูปฌานนั้น ได้อาศัยยึดหน่วงตติยารูปวิญญาณ  อสุจิพหิมณฺฑเปลคฺโค   เปรียบเหมือนบุรษ ๔ คนยืนอยู่ที่มณฑป ยังมีมณฑปอันหนึ่งประดิษฐานอยู่ในประเทศอันอันลามกโสโครก บุรุษผู้หนึ่งเดินมาในสถานที่นั้น แลเห็นมณฑปก็ดีใจ สำคัญว่าจะได้สำนักอาศัยหลับนอนให้เป็นสุข ครั้นเข้าไปใกล้แลเห็นอสุจิก็มีความเกลียดความหน่าย บุรุษนั้นมิได้เข้าไปในมณฑปเอาแต่มือนั้นเข้ายึดเข้าหน่วงมณฑปแล้ว ก็ยืนโหนตัวอยู่ที่มณฑปอันนั้น ยังมีบุรุษอื่นอีกคนหนึ่งเล่า เดินมาในสถานที่นั้น ชายผู้นั้นแลเห็นบุรุษที่ยืนอยู่ก่อนยึดหน่วงเอามณฑปอยู่ดังนั้น ก็ดำริว่าบุรุษผู้นี้ ยืนแอบชายร่มชอบกลหนักหนาอาตมาจะไปยืนแอบบุรุษผู้นั้นอยู่ให้สบายใจสักหน่อย คิดแล้วชายผู้นั้นก็เข้าไปใกล้กอดรัดกรัชกายแห่งบุรุษผู้นั้นเข้าแล้ว ก็ยืนเป็น ๒ คนด้วยกัน ยังมีบุรุษผู้หนึ่งเดินมาถึงประเทศที่นั้นอีกคนหนึ่งเล่า แลเห็นอาการแห่งคนทั้ง ๒ นั้นก็ดำริว่าชนทั้ง ๒ นี้ยืนหาดีไม่ ผู้หนึ่งยืนยึดหน่วงมณฑปโหนตัวอยู่หาถนัดไม่ ผู้หนึ่งนั้นเห็นดีอย่างไรจึงเข้าไปยืนกอดยืนรัด บัดเดี๋ยวก็จะพากันพลันม้วนลงไปในโสโครกหาไม่ช้า อาตมานี้ไม่เข้าไปในสำหนักแห่งชายทั้ง ๒ คนนั้นแล้ว จะยืนอยู่ที่เปล่าภายนอกเถิด

  คิดแล้วบุรุษนั้นก็ยืนอยู่ที่เปล่าภายนอกพ้นจากประเทศที่ชาย ๒ คนยืน ยังมีบุรุษอื่นอีกคนหนึ่งเล่าเดินมาในสถานที่นั้น เห็นอาการอันยืนแห่งชนทั้ง ๒ ก็ดำริว่าชายทั้ง ๒ คนยืนภายในนั้น ใกล้จะตกลงในที่ลามก ชายผู้นั้นอยู่ในที่เปล่าภายนอกนี้แลยืนดีแล้ว อาตมาจะไปยืนอยู่ด้วยเถิด คิดแล้วบุรุษนั้นก็ไปยืนแอบแนบชิดรัดรึงกายแห่งชายที่ยืนภายนอกนั้น อันนี้แลมีอุปมาฉันใด อากาศที่พระโยคาพจรเพิกกสิณเสียแล้วนั้น มีอุปไมยดังมณฑปอันอยู่ในที่ประเทศลามกโสโครก ปฐมารูปฌานที่น่าเกลียดหน่ายจากรูป ยึดหน่วงเอาแต่อากาศที่มีกสิณเพิกเเล้วเป็นอารมณ์นั้น มีอุปไมยดังบุรุษอันมาถึงก่อนเกลียดอสุจิมิได้เข้าไปในมณฑป เอาแต่มือเข้ายึดหน่วงเอาแต่มณฑปแล้ว แลยืนโหนตัวอยู่ที่มณฑปนั้น แลทุติยารูปฌานที่ล่วงอากาศเสีย แลยึดหน่วงเอาแต่ปฐมารูปวิญญานเป็นอารมณ์นั้น มีอุปไมยดังบุรุษอันมาที่ ๒ เข้ารอบรัดบุรุษที่มาก่อน ยืนยึดหน่วงกรัชกายบุรุษที่มาเป็นปฐมแลตติยารูปฌานเป็นอารมณ์ที่ล่วงเสียซึ่งปฐมารูปวิญญาน ยึดหน่วงเอาที่สูญที่เปล่าที่ไม่มีปฐมารูป มีอุปไมยดังบุรุษอันมาที่ ๓ เห็นชายทั้ง ๒ คนยืนหาดีไม่ แลยืนอยู่ในที่เปล่าภายนอกพ้นจากประเทศที่บุรุษ ๒ ยืนแลจตุตถารูปฌานที่แอบเข้าเสียซึ่งที่สูญซึ่งที่สูญที่เปล่าแลหน่วงเอาตติยารูปวิญญานเป็นอารมณ์ มีอุปไมยดังบุรุษอันมาที่ ๔ เห็นว่าชายที่ยืนอยู่ภายนอกนั้น ยินดีแลเข้าอิง ยืนยึดหน่วงเอากรัชกายแห่งชายนั้นมีคำปุจฉาว่า

  พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญจตุตถารูปกรรมฐาน คือเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้นย่อมพิจารณาเห็นโทษแห่งตติยารูปฌานว่า   อาสนฺนวิญฺญาณญฺจายตนปจฺจตฺถิกา  ตติยารูปฌานนี้มีข้าศึก คือวิญญาณัญจายตนะอยู่ใกล้ จะได้ละเอียดเหมือนเวนสัญญานาสัญญายตนฌานหาบ่มิได้ เมื่อเห็นโทษแห่งตติยารูปฌานดังนี้เหตุไฉนจึงบริกรรมว่า  สนฺตเมตํ ปณีตเมตํ  มนสิการกำหนดกฏหมายว่า ตติยารูปวิญญานละเอียด ตติยารูปวิญญานประณีตบรรจงเล่าความหน้ากับความหลังไม่เหมือนกัน เดิมสิพิจารณาเห็นโทษ ติเตียนว่าเสียไม่ดีแล้ว เหตุไฉนเมื่อบริกรรม จึงชมว่าดีประณีตเล่า อาศัยเหตุผลเป็นประการใดวิสัชนาว่าเดิมนั้นเห็นว่าตติยารูปหยาบ เห็นว่าไม่ละเอียดเหมือนเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน จึงละล่วงเสีย ไม่พอใจเข้าสู่ตติยารูปฌานจิตนั้นปรารภปรารถนาที่จะเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ครั้นเมื่อจะดำรงจิตขึ้นสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น หามีอารมณ์อันใดอันหนึ่งจะเป็นที่ยึดหน่วงไม่ จนเข้าแล้วก็กลับหน่วงเอาตติยารูปเป็นอารมณ์ กลับชมว่าละเอียดในกาลเมื่อภายหลังเปรียบเหมือนข้าหลวงอันพิจารณาเห็นโทษแห่งพระมหากษัตริย์ แลบ่าวอันพิจารณาเห็นโทษแห่งนายว่านายหาศีลหาสัตย์บ่มิได้ กอปรด้วยกายสมาจาร แลวจีสมาจาร แลมโนสมาจารอันหยาบช้าทารุณ ติเตียนว่าเจ้านายเรานี้ไม่ดีกระทำความชั่วหยาบช้าดังนี้ ๆ เมื่อเห็นว่าไม่ดีแล้วจะหาที่พึ้งอื่นเลย ชั่ว ๆ ดี ๆ ก็จำเป็นเข้าไปสู่หาสมาคมแต่พอได้อาศัยเลี้ยงชีวิตอันนี้แลมีฉันใด พระโยคาพจรผู้จำเริญเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น

  เมื่อพิจารณาเห็นโทษแห่งตติยารูปจิตว่า ตติยารูปจิตนั้นหยาบแล้วจะหาอารมณ์ที่ละเอียดว่าตติยารูปจิตที่หาบ่มิได้ จนใจแล้วก็กลับยึดหน่วงเอาตติยารูปจิตเป็นอารมณ์ กลับชมว่าละเอียดประณีตบรรจงมีอุปไมยดังนั้น  อารุฬฺโห อารุฬฺโห ทีฆนิสฺเสณี ยถา  ถ้ามิดังนั้นเปรียบเหมือนบุคคลอันขึ้นบันไดที่ยาวขึ้นไป ๆ ไม่มีอันใดจะเป็นที่ยึดที่หน่วง เหลียวซ้ายแลขวาที่ยึดที่หน่วงบ่มิได้ ก็กลับยึดบันไดนั้นเอง ถ้ามิดังนั้น ปพฺพตญฺจ อารุฬฺโห   เปรียบเหมือนบุคคลอันขึ้นสู่มิสกบรรพต ขึ้นเขาอันแล้วไปด้วยศิลาเจือกันเมื่อขึ้นไป ๆ ไม่มีต้นไม้เครือเขาเถาวัลย์จะยึดจะหน่วงแล้ว บุคคลผู้นั้นก็ยึดหน่วงเอายอดแห่งภูเขานั้นเอาเป็นที่ดำรงกาย ถ้ามิดังนั้น   ยถา คิริมารุฬฺโห  เปรียบเหมือนบุคคลที่ขึ้นสู่เขาด้วยศิลา ธรรมดาว่าเขาศิลานี้มักกำชับดำเนินได้ด้วยลำพังกาย

  ถึงกระนั้นก็ดี เมื่อดำเนินสูงขึ้นไป ๆ ก็ได้อาศัยเท้าเข่าแห่งตน ได้อาศัยกรานเข่าแห่งตน อันนี้แลมีฉันใด พระโยคาพจรปรารถนาจะเข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น ก็ได้อาศัยยึดหน่วงตติยารูป ได้เท้าได้กรานได้ยึดได้หน่วง ตติยารูปวิญญาณจึงอาจจะเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ได้สำเร็จในรถความปรารถนามีอุปไมยดังนั้น ฯ

วินิจฉัยในอรูปกรรมฐานยุติเท่านี้

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com