พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๓

   จักวินิจฉัยในพิธีปฐวีกสิณนั้นก่อน พระโยคาพจรเจ้าผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร ปรารถนาจะบำเพ็ญพระกรรมฐานอันชื่อว่า ปฐวีกสิณนั้น เมื่อตัดสินเสียซึ่งปลิโพธอันน้อย มีต้นว่าปลงแลตัดซื่งผมแลเล็บยาวเสร็จแล้วหลีกออกจากบิณฑบาตสำเร็จภัตตกิจ ระงับกระวนกระวายอันบังเกิดแต่เหตุที่บริโภคอาหารแล้วนั้น เวลาปัจฉาภัตต์เข้าสู่ที่สงัดนั่งเป็นสุข เมื่อจะถือเอาอุคคหนิมิตในปฐวีธาตุนั้น

   จะพิจารณาดินที่ตกแต่งเป็นดวงกสิณนั้นเป็นอารมณ์ก็ตาม จะพิจารณาแผ่นปฐพีมีลานข้าวเป็นต้น ที่ตนมิได้ตกแต่งเป็นดวงกสิณนั้นเป็นอารมณ์ก็ตาม เมื่อพิจารณาดินที่มิได้ตกแต่งเป็นดวงกสิณนั้น พึงกำหนดให้มีที่สุดโดยกลมนั้น เท่าตะแกรงกว้างคืบ ๔ นิ้วเป็นอย่างใหญ่ เท่าขอบขันเป็นเป็นอย่างน้อย อย่ากำหนดให้ใหญ่กว่าตะแกรง อย่าให้เล็กกว่าขอบขัน

   เมื่อตั้งจิตพิจารณาไปหลับจักษุลงเห็นดินที่ตนกำหนดนั้น ปรากฏเหมือนที่ลืมจักษุแล้ว ก็ได้ชื่อว่าถือเอาอุคคหนิมิตนั้นเป็นอันดี เมื่อตั้งจิตไว้ได้แต่ภายในอุคคหนิมิต จิตมิได้เตร็ดแตร่ไปในภายนอกแล้ว ก็ได้ชื่อว่าทรงอุคคหนิมิตนั้นไว้เป็นอันดี ได้ชื่อว่าเป็นอุคคหนิมิตนั้นไว้เป็นอันดีเป็นปัจจัยที่จะให้ได้สำเร็จปฎิภาคนิมิต อันปรากฏงดงามดังแว่นแก้วล่วงพ้นจากสีดิน

   เมื่อปฏิบัติภาคนิมิตบังเกิดแล้วพึงตั้งจิตสำคัญปฏิบัติภาคนิมิตนั้นเป็นดวงแก้ว อาจจะทำให้สำเร็จคุณานิงสงส์เห็นประจักษ์ พึงเคารพรักใคร่ผูกพันจิตแห่งตนไว้ในปฏิบัติภาคนิมิตหมายมั่นว่า อาตมาจะพ้นจากชราแลมรณะด้วยปฏิบัติอันนี้เป็นแท้ เมื่อเสพปฏิบัติภาคนิมิตนั้นด้วยอุปจารสมาธิ จิตเสพเนือง ๆ ไปก็จะได้สำเร็จปฐมฌาน ทุติฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ปัจจมฌานโดยลำดับ ๆ แต่ทว่าจะได้สำเร็จโดยง่ายดังนี้

   แต่บุคคลที่มีวาสนาบารมีที่ได้สร้างมาแต่ก่อนแต่เบื้องพุทธชาตินั้นได้บวชในพระพุทธศาสนา ถ้ามิฉะนั้นได้บรรพชาเป็นดาบส ได้เจริญฌานสำเร็จกิจด้วยพิจารณา ปฐวีกสิณอุปนิสัยหนหลังติดตามมาในปัจจุบันชาตินี้ พิจารณาแต่แผ่นดินปฐพีในปริมณฑลแห่งลาน พิจารณาแต่ที่นาอันบุคคลไถก็ได้สำเร็จปฐวีกสิณ ยังฌานให้บังเกิดจำเดิมแต่ปฐมฌานขึ้นไปตราบเท่าถึงปัจมฌานได้ง่าย ๆ ด้วยสามารถอุปนิสัยหนหลัง

   แลกุลบุตรที่หาอุปนิสัยหนหลังมิได้นั้น พึงกระทำดวงกสิณด้วยดินแดงอันบริสุทธิ์ มีสีงาประดุจดังว่าพระอาทิตย์เมื่อแรกอุทัย กระทำให้ปราศจากสิณโทษ ๔ ประการ คืออย่าให้เอาดินเขียวเจือประการ ๑ อย่าเอาดินเหลืองเจือประการ ๑ อย่าเอาดินแดงเจือสีต่างมาเจือประการ ๑ อย่าเอาดินขาวเจือประการ ๑ พึงอ้อมหนีไปให้พ้นจากกสิณโทษ ๔ ปรการ ดังนี้ เมื่อกระทำดวงกสิณนั้น อย่ากระทำในท่ามกลางวิหารอันเป็นที่สัญจรแห่งบุคคลมีสามเณรเป็นต้น พึงกระทำในเงื้อมแลบรรณศาลาอันเป็นที่ลับที่กำบังในสุดแห่งวิหาร

   ดวงกสิณนั้นจะกระทำเป็นตัตรัฏฐะตั้งอยู่ในที่เดียวก็ตาม จะกระทำเป็นสังหาริมะยกไปไหนได้ก็ตาม ถ้าจะกระทำดวงกสิณที่เรียกว่าสังหาริมะยกไปไหนได้นั้น ให้เอาไม้ ๔ อันมากระทำเป็นแม่สะดึงแล้ว จะขึงด้วยผ้าก็ตาม ด้วยหนังด้วยลำเเพนก็ตามดินที่จะกระทำดวงกสิณ พึงชำระให้บริสุทธิ์ขยำให้ดี อย่าให้มีกรวดมีทรายเก็บรากไม้รากหญ้าเสียให้หมด เมื่อทาติดเข้ากับผ้าเป็นต้นที่ขึงไว้ในแม่สะดึงนั้น พึงกระทำให้เป็นวงกลมกว้าง ๑ คืบกับ ๔ นิ้ว ขัดให้ราบให้ดีแล้วปรารถนาจะนั่งภาวนาในที่ใดจึงยกไปวางลงในที่นั้น

   แลดวงกสิณที่ตั้งอยู่ในที่เดียวเรียกว่าตัตรัฏฐกะนั้น ถ้าจะกระทำให้ปักไม้ทอยลงกับพื้นปักราบรอบเป็นมณฑล มีอาการดังฝักบัว แล้วจึงเอาเครือลดามาถักเข้าที่ไม้ทอย เกี่ยวประสารเข้าให้มั่นแล้ว จึงเอาดินที่ขยำเป็นอันดี มีสีดังพระอาทิตย์เมื่อแรกขึ้นนั้นมาใส่ลงให้เต็มแล้ว กระทำให้เป็นวงกลมกว้าง ๑ คืบกับ ๔ นิ้วเหมือนกัน ถ้าดินสีอรุณนั้นน้อยไม่พอ จะเอาดินอื่นใส่ข้างล่างแล้ว จึงเอาดินสีอรุณใส่ข้างบนก็ได้ เมื่อจะขัดดวงกสิณนั้นให้ใช้เกียงศิลา อย่าให้ใช้เกรียงไม้ เหตุว่าเกรียงนั้น

   ถ้าเป็นไม้สดกอปรด้วยยาง ก็มักพาให้ดินสีอรุณนั้นเสียสีสันพรรณ ทำให้กสิณปริมณฑลนั้นมีสีเป็นวิสภาคด่างพร้อยแปลกประหลาดไป ไม่ต้องด้วยอย่าง ถ้าเกรียงไม้อันใดจะไม่พาให้ดินสีอรุณเสียสีสันพรรณ เกรียงไม้อันนั้นก็นับเข้าในเกรียงสิ้นควรใช้ได้มิได้เป็นกสิณโทษ พระโยคาวจรพึงกระทำกสิณมณฑลนั้นให้ราบเหมือนหน้ากลอง ปัดกวาดภูมิภาคนั้นให้ปราศจากหยากเยื่อเชื้อฝอยแล้ว จึงอาบน้ำชำระกายให้ปราศจากเหงื่อแลไคล

   เมื่อจะนั่งนั้นให้นั่งเหนือตั่งอันตบแต่งตั้งเป็นอันดี มีเท้าสูง ๒ คืบ ๔ นิ้ว นั่งให้ไกลจากกสิณมณฑลออกไป ๒ ศอกคืบ อย่าให้ใกล้นักอย่าให้ไกลนักแลสูงนักต่ำนักกว่ากำหนด ครั้นนั่งไกลนักดวงกสิณก็จะไม่ปรากฏ นั่งใกล้นักก็จะเป็นกสิณโทษ คือรอยมือแลรอยเกรียงก็จะปรากฏ เหตุฉะนี้จึงให้นั่งเป็นอย่างกลางไม่ใกล้ไม่ไกล มีกำหนดแห่งปริมณฑลกสิณ ๔ ศอกคืบเป็นประมาณแลกิริยาที่ตั้งกสิณมณฑลไว้เหนือพื้น แล้วแลนั่งเหนือตั่ง เท้า ๒ คืบ ๔ นั้ว นั้นเล่าก็เป็นอย่างกลางไม่สูงไม่ต่ำ

  ครั้นนั่งสูงดวงกสิณอยู่ต่ำก็จะต่ำก็จะต้องก้มลงดวงกสิณจะเจ็บคอ ครั้นนั่งต่ำนักดวงกสิณอยู่สูงก็จะต้องชะเง้อขึ้นดูดวงกสิณ จะต้องคุกเข่าลงกับพื้นจะเจ็บเข่า เหตุฉะนี้จึงให้ตั้งกสิณมณฑลลงไว้เหนือพื้น แล้วให้นั่งเหนือตั่ง เท้าสูงคืบ ๔ นิ้ว เป็นสถานกลาง อาการที่นั่งนั้นให้นั่งเป็นบัลลังก์สมาธิ ตั้งกายให้ตรงอย่าให้เอนให้น้อมจึงจะนั่งได้นานมิได้ลำบากกาย เส้นสายจะมิได้หดห่อรัดรึง

   เมื่อนั่งบัลลังก์สมาธิเฉพาะพักตร์ต่อดวงกสิณแล้ว   จึงพิจารณาโทษแห่งกามคุณว่า   อปฺปสฺสาทา กามา กามคุณนี้มีแต่จะกระทำให้เศร้าให้หมอง จะกระทำให้ผ่องใส่มาตรว่าหน่อยหนึ่งหาบ่มิได้   อฏฺิกงฺขลูปมา เบญจกามคุณนี้เปรียบเหมือนร่างอัฐิ ด้วยอรรถว่ามีความยินดีอันปราศจากไปในขณะไม่มั่นคงไม่ยั่งยืน   ตินุกูปมา ปัญจพิธกามคุณนี้เปรียบเหมือนด้วยคมแฝกคบคา ด้วยอรรถว่าเผาลนจิตสันดานสัตว์ทั้งปวง ให้เดือดร้อนหม่นไหม้อยู่เนือง ๆ บมิได้รู้แล้ว   องฺคาลสูกาปมา ปัญจกามคุณนี้เปรียบเหมือนหลุมถ่านเพลิงอันใหญ่ ด้วยอรรถว่าให้โทษอับหยาบช้า ให้ได้เสวยทุกข์เดือนร้อนยิ่งนัก ดูนี้น่าสะดุ้งน่ากลัวนี้สุดกำลัง

    สุปินกูปมา เบญจกามคุณทั้ง ๕ นี้เปรียบเหมือนความฝัน ด้วยอรรถว่าแปรปรวนไปเป็นอื่น ไม่ยั่งไม่ยืนไม่เที่ยงไม่เเท้ไม่สัตย์ไม่จริง   ยาจิตกูปมา ปัญจพิธกามคุณนี้เปรียบเหมือนของยืม ด้วยอรรถว่าประกอบไปใน อันมีกำหนดเท่านั้นเท่านี้ไม่มั่นคง   รุกฺขผลูปมา ปัญจกามคุณทั้ง ๕ นี้ มีแต่จะกระทำให้เกิดการพิบัติต่าง ๆ เป็นต้นว่าหักแลทำลายแห่งอวัยวะใหญ่น้อยทั้งปวง เปรียบเหมือนผลแห่งพฤกษาชาติอันบังเกิดแล้ว แลเป็นเหตุที่จะให้บุคคลทั้งปวงหักกิ่งก้านรานใบแห่งพฤกษาชาตินั้น

    อสิสูลูปมา เบญจพิธกามคุณนี้ เปรียบเหมือนด้วยคมดาบ ด้วยอรรถว่าสับแลแล่เถือขันธสันดาน ให้เจ็บปวดยวดยิ่งเหลือล้นพ้นประมาณ   สสฺติสูลูปมา เบญจกามคุณ ๕ ประการนี้ เปรียบเหมือนหอกใหญ่ แลหลาวใหญ่ ด้วยอรรถว่าร้อยสัตว์ทั้งปวงไว้ให้ดิ้นอยู่ในกองทุกข์ แสนยากลำบากเวทนา   สปฺปสิรูปมา เบญจกามคุณทั้งหลายนี้ เปรียบหมือนศีรษะแห่งอสรพิษด้วยอรรถว่าน่าครั่นน่าคร้ามน่าสดุ้งน่ากลัว น่าตระหนกตกประหม่าเป็นกำลัง   พหุปายาสา กามคุณนี้มากไปด้วยสะอื้นอาลัย มากไปด้วยทุกข์แลภัย

   พหุปริสฺสยา มีอันตรายอันเบียดเบียนมาก   คมฺมา เบญจกามคุณนี้ เป็นแห่งปุถุชน บ่มิได้ประเสริฐ บ่มิให้เป็นที่เกิดแห่งประโยชน์ตนแลประโยชน์ท่าน พระโยคาพจรจึงพิจารณาโทษแห่งปัญจกามคุณเป็นอาทิดังนี้แล้ว พึงตั้งจิตให้รักใคร่ในฌานธรรม อันเป็นอุบายที่จะยกตนออกจากปัญจพิธกามคุณ และจะล่วงเสียซึ่งกองทุกข์สิ้นทั้งปวง

   เมื่อระลึกตรึกถึงพระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ยังปรีดาปราโมทย์ให้บังเกิดด้วยกิริยาที่ระลึกถึงพระรัตนตรัยแล้ว พึงกระทำจิตให้มากไปด้วยเคารพรักใคร่ในพิธีทางปฏิบัติ อย่าดูถูกดูต่ำ สำคัญให้มั่นว่าปฏิบัติดังนี้ชื่อว่าเนกขัมมปฏิบัติ สมเด็จพระสรรเพชญ์เจ้าทั้งปวง แลพระปัจเจกโพธิ พระอริยสาวกในพระบวรพุทธศาสนานี้ แต่สักพระองค์เดียวจะได้สละละเมินเสียหาบ่มิได้ แต่ล้วนปฏิบัติดังนี้ทุก ๆ พระองค์

  ครั้นแล้วจึงตั้งจิตว่าอาตมาจะได้เสวยสุขเกิดแต่วิเวก จะได้เสพรสอันเกิดแต่วิเวก ด้วยปฏิบัติอันนี้โดยแท้ พึงตั้งจิตฉะนี้ยังอุตสาหะให้บังเกิดแล้ว จึงลืมจักษุขึ้นแลดูดวงกสิณ เมื่อเบิกจักษุขึ้นนั้น อย่าเบิกให้กว้างนักจะลำบากจักษุ อนึ่งมณฑลแห่งกสิณจะปรากฏแจ้งนัก อุคคหนิมิตจะไม่บังเกิดขึ้น ครั้นเบิกจักษุขึ้นน้อยนัก มณฑลแห่งกสิณก็จะไม่ปรากฏแจ้ง จิตที่จะถือเอากสิณนิมิตเป็นอารมณ์นั้นก็จะหดหู่ย่อหย่อนจะมีขวนขวายน้อย ตกไปในฝ่ายโกสัชชะเกีนจคร้านจะเสียที อุคคหนิมิตจะมิได้บังเกิดเหตุฉะนี้พึงลืมจักษุอาการอันเสมอ กระทำอาการให้เหมือนบุคคลส่องแว่นดูเงาหน้าแห่งตนปรากฏในพื้นแห่งแว่น

   กาลเมื่อแลดูกสิณมณฑลนั้นอย่าพิจารณาสี ว่านี้สีแดง ดังสีดวงพระอาทิตย์แรกขึ้น อย่าพิจารณาที่แข็งที่กระด้าง อย่าแยกพิจารณาดังนั้นเลยไม่ต้องการ ถ้าจะแยกออกพิจารณาแล้ว ดินที่ปั้นดวงกสิณนั้นจะแยกออกได้เป็น ๘ ประการ เพราะเหตุว่าดินนั้นจะเป็นปฐวีสิ่งเดียวหาบ่มิได้ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ สีแลกลิ่นรสแลโอชานั้น มีพร้อมอยู่ทั้ง ๘ ประการ แต่ทว่าปฐวีธาตุนั้นหนา

   ปฐวีธาตุนั้นก็ได้นามบัญญัติชื่อว่าดิน ถึงจะแยกออกพิจารณาได้ดังนั้นก็ดี เมื่อไม่ต้องการแล้วก็อย่าพึงแยกออกเลย พึงยกเอาแต่ที่หนาที่มากนั้นขึ้น มนสิการกำหนดว่า สิ่งนี้เป็นดินเท่านั้นเถิด แต่สีนั้นโยคาพจรจะละเสียมิได้เพราะเหตุว่าสีกับดวงนั้นเนื่องกัน ดูดวงกสิณเป็นอันดูสี เหตุฉะนี้พระโยคาพจรจึงรวบรวมดวงกับสีนั้นเข้าด้วยกัน เบิกจักษุเล็งแลดูดวงแลสีนั้นหร้อมกันแล้ว จึงตั้งจิตไว้ในบัญญัติธรรม กำหนดว่าสิ่งนี้เป็นดิน แล้วจึงบริกรรมว่า   ปฐวี ปฐวี ร้อยครั้งพันครั้งบริกรรมไปกว่าจะได้สำเร็จ อุคคหนิมิต

   ดินนี้จะเรียกมคธภาษาว่าปฐวีแต่เท่านี้หามิได้ นามบัญญัติแห่งดินนั้นมีมาก ชื่อว่ามหิ ชื่อว่าเมธนี ชื่อว่าภูมิ ชื่อว่าพสุธา ชื่อว่าพสุนทรา แต่ทว่า ชื่อทั้งนี้ไม่ปรากฏแจ้งในโลกเหมือนชื่อปฐวี ๆ นี้ปรากฏแจ้งในโลก เหตุฉะนี้พระโยคพจรจึงยกเอาชื่อที่ปรากฏ คือปฐวีมากระทำบริกรรมเถิด กาลเมื่อเล็งแลดูดวงกสิณแลบริกรรมว่า   ปฐวี ปฐวี นั้น อย่าลืมอยู่เป็นนิตย์ ลืมดูอยู่สักหน่อยแล้วพึงหลับลงเล่าหลับลงอยู่สักหน่อยหนึ่งแล้ว พึงอย่าลืมขึ้นเล่า ปฏิบัติดังนี้ไปกว่าจะได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลกสิณนิมิต อันเป็นที่ตั้งจิตเป็นที่น้าวหน่วง จิตแห่งพระโยคาวจรในกาลเมื่อจำเริญกรรมนั้น ได้ชื่อว่าบริกรรมนิมิตกิริยาที่จะจำเริญบริกรรมว่า   ปฐวี ปฐวี นั้นได้ชื่อว่ากรรมภาวนา

   เมื่อพระโยคาพจรเจ้า ตั้งจิตไว้ในกสิณนิมิตบริกรรมว่า   ปฐวี ปฐวี นั้นถ้ากสิณนิมิตมาปรากฏในมโนวารหลับจักษุ แลเห็นกสิณมณฑลนั้นเปรียบประดุจเห็นด้วยจักษุแล้วกาลใด ก็ได้ชื่อว่าอุคคหนิมิตมาปรากฏแจ้งในสันดาน ได้ชื่อว่าสำเร็จกิจแห่งอุคคนิมิตในกาลนั้น เมื่อได้อุคคนิมิตในกาลนั้นอย่านั่งอยู่ที่นั้นเลย กลับมานั่งในที่ตนตามสบายเถิด ฯ

   อนึ่ง ให้พระโยพจรหารองเท้าชั้นเดียวไว้สักครู่หนึ่ง ไม้ธารกรสักอันหนึ่ง กาลเมื่อสมาธิอ่อน ๆ ปราศจากสันดานด้วยเหตุสิ่งใดสิ่งหนึ่งอันมิได้เป็นที่สบายแลอุคคหนิมิตอันตรธานหายไปนั้น จะได้ใส่รองเท้าถือไม้ธารกรนั้น ไปพิจารณาดวงกสิณเหมือนอย่างเคยกระทำในบุพพภาค ครั้นไม่มีรองเท้าใส่ ก็ต้องขวนขวายไปชำระเท้าจะป่วยการ เหตุฉะนี้จึงให้หารองเท้าไว้ใส่สำหรับจะได้กันกิริยาที่ป่วยการ ชำระเท้าหาไม้ธารกรไว้สำหรับจะได้กันอันตราย

   เมื่อพิจารณาดวงกสิณเหมือนอย่างที่เคยกระทำในบุพพภาค ได้อุคคนิมิตกลับคืนมาเหมือนอย่างแต่ก่อน ก็พึงกลับสู่อาวาสมานั่งในที่อยู่แห่งตนให้เป็นสุขเถิด พึงเอาวิตกนั้นเป็นผู้คร่าจิตยกจิตเข้าไว้ในอุคคนิมิต กำหนดกฏหมายจงเนือง ๆ ดำริตริตรึกอยู่ในอุคคหนิมิตนั้นให้มากโดยพิเศษ เมื่อปฏิบัติดังนี้ก็จะข่มขี่นิวรณธรรมลงได้โดยลำดับ ๆ กิเลสก็จะระงับสงบสงัดจากสันดาน สมาธิก็กล้าหาญดำเนินขึ้นภูมิ พระอุปจารสมาธิ ปฏิภาคนิมิตก็จะบังเกิด แลอุคคนิมิตกับปฏภาคนิมิตจะแปลกกันประการใด มีข้อวิสัชนาว่า อุคคหนิมิต ยังกอปรไปด้วยกสิณโทษ คือเห็นปรากฏเป็นสีดิน ดินอย่างไรก็ปรากฏอย่างนั้น แลปฏินิมิตนั้นปรากฏประดุจปริมณฑลแห่งแว่นอันบุคคลถอดออกจากฝัก

   ถ้ามิดังนั้นเปรียบประดุจโภชนะสังข์ อันบุคคลชำระเป็นอันดี ถ้ามิดังนั้นเปรียบประดุจมณฑลพระจันทร์แย้มออกจากกลีบพลาหก ถ้ามิดังนั้นเปรียบด้วยเวลาหกที่หน้าเมฆอันผ่องยิ่งในหมู่เมฆทั้งหลาย ถ้าจะว่าโดยแท้ว่าโดยอรรถอันสุขุมภาพนั้นปฏิภาคนิมิตนี้จะว่ามีสีพรรณก็ว่าไม่ได้ จะว่ามีสัณฐานประมาณใหญ่น้อยก็ว่าไม่ได้ เหตุว่า ธรรมชาติอันมีสัณฐานนั้นเข้าในรูปธรรม ๆ บุคคลทั้งหลายพึงเห็นด้วยจักษุประสาท จะพึงรู้จัก จักษุวิญญานธรรมชาติอันมีสัณฐานนี้ ได้ชื่อว่าโอฬาริกรูป เป็นรูปอย่างหยาบ ได้ชื่อว่าสัมมสนูปครูอันควรจะพิจารณากอปรด้วยไตรพิธลักษณะทั้ง ๓ คือ   อุปาทะ   ฐิติ   ภังคะ ครอบงำย่ำยีอยู่เป็นนิจกาล เพราะเหตุที่นับในรูปธรรม

   อันปฏิภาคนิมิตไม่เป็นดังนั้น ปฏิภาคนิมิตนี้ บุคคลทั้งหลายบ่มิพึงเห็นด้วยจักษุประสาท บ่มิพึงรู้ด้วยจักษุวิญญาณประสาท บ่มิพึงรู้ด้วยจักษุวิญญาณ ไตรพิธลักษณะทั้ง ๓ มี อุปาทะเป็นอาทิ ก็บ่มิได้ครอบงำย่ำยีปฏิภาคนิมิต ๆ นี้ เฉพาะปรากฏแก่พระโยคาพจรอันได้สมาธิจิต เฉพาะปรากฏแต่ในมโนทวารวิถีปฏิภาคนิมิตนี้บังเกิดแก่ภาวนาสัญญา จะได้นับเข้าในรูปธรรมหามิได้อาศัยเหตุฉะนี้

   เมื่อสำแดงโดยอรรถสุขุมภาพเอาที่เที่ยงแท้ออกสำแดงนั้นปฏิภาคนิมิตนี้จะว่ามีสีก็ว่ามิได้ จะว่ามีสัณฐานก็ว่ามิได้ จะว่าได้เป็นแต่เปรียบเทียบแต่เทียบว่าเหมือนด้วยสิ่งนั้น ๆ ควรจะว่าได้แต่เพียงนี้ จำเดิมแต่ปฎิภาคนิมิตบังเกิดแล้ว นิวรณธรรมทั้งปวงมีกามฉันทนิวรณ์เป็นต้นนั้น ก็ได้ชื่อว่าพระโยคาพจรข่มเสียได้โดยแท้ กิเลสธรรมทั้งปวงก็ได้ชื่อว่าสงบสงัดแท้ จิตนั้นก็ได้ชื่อว่าตั้งมั่น เป็นอุปจารสมาธิแท้ได้ชื่อว่าสำเร็จกิจกามาพจรสมาธิภาวนาแต่เพียงนั้น แลปฏิภาคนิมิต

   อันพระโยคาพจรได้พร้อมด้วยอุปารสมาธิภาวนานั้น มิใช่ว่าได้ด้วยง่ายได้ยากยิ่งนัก เหตุฉะนี้เมื่อปฎิภาคนิมิตบังเกิดแล้ว ให้พระโยคาวจรมีเพียรจำเริญภาวนาภิยโยภาคครั้งเดียวนั้นอย่าคลายบัลลังก์เลย อันอุตสาหะถึงอัปปนาได้ด้วยบัลลังก์อันเดียวนั้น เป็นสุนทรสิริสวัสดิ์สถาพรยิ่งนัก ถ้ามิอาจเพียรให้ดำเนินขึ้นถึงภูมิพระอัปปนา ได้ก็ให้พระโยคาพจรมีสติอย่าได้ประมาท พึงอุตสาหะปฏิบัติในรักขนาพิธีพิทักษ์รักษาปฏิภาคนิมิตนั้นเปรียบประดุจ รักษาทารกในครรภ์ที่มีบุญจะได้เป็นบรมจักร แลรักขนาพิธีจะรักษาปฎิภาคนิมิตนั้น

   พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าวิสัชนาว่า พระโยคาพจรผู้จะรักษาปฏิภาคนิมิตนั้นให้เว้นเสียซึ่งเหตุอันมิได้เป็นที่สบาย ๗ ประการ คืออาวาสอันมิได้เป็นที่สบายประการ ๑ โคจรคามอันมิได้เป็นที่สบายประการ ๑ ติรัจฉานกถาประการ ๑ บุคคลอันมิได้เป็นที่สบายประการ ๑ โภชนะมิได้เป็นที่สบายประการ ๑ ฤดูมิได้เป็นที่สบายประการ ๑ อิริยาบถอันมิได้เป็นที่สบายประการ ๑ สิริเป็นเหตุอันมิได้เป็นที่สบาย ๗ ประการด้วยกัน

  อาวาสมิได้เป็นที่สบายนั้น พระโยคาพจรจะพึงรู้ด้วยสามารถกำหนดจิต อาวาสอันใดพระโยคาพจรไปอาศัยบำเพ็ญภาวนาอยู่ถึง ๓ วัน แล้วจิตไม่ตั้งมั่นลงได้เลย สตินั้นลอยมืดมนไปไม่พบไม่ปะอุคคหะแลปฏิภาคนิมิตที่เคยบังเกิดแต่ก่อนนั้น ก็สาบสูญไปไม่มีวี่แวว จิตที่เคยตั้งมั่นก็ไม่ตั้งมั่น สติที่เคยแน่นอนแต่ก่อนนั้นก็ลอยไปไม่เหมือนแต่ก่อน อาวาสอย่างนี้แลได้ชื่อว่าอาวาสมิได้สบายแลโคจรคามมิได้สบายนั้น คือบ้านที่พระโยคาพจรไปอาศัยบิณฑบาตนั้น มิได้อยู่ในทิศอุดร มิได้อยู่ในทิศทักษิณ ถ้าบ้านนั้นอยู่ข้างทิศตะวันตก

   เมื่อไปบิณฑบาตแล้วแลกลับมาสู่อาวาสนั้นแสงพระอาทิตย์ส่องหน้า ถ้ามิดังนั้นบ้านอยู่ข้างทิศตะวันออก เมื่อเวลาออกจากอาวาสไปเพื่อจะบิณฑบาตนั้น แสงพระอาทิตย์ส่องหน้าบ้านนั้นอยู่ไกลกว่า ๓ พันชั่วธนู อยู่ไกลกว่า ๑๕๐ เส้น ข้าวแพงบิณฑบาตได้ด้วยยาก โคจรคามอย่างนี้แลได้ชื่อว่าโคจรคามมิได้สบาย

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com