พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  ขอลายเซ็นหน่อยค่ะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๔
   แลติรัจฉานกถานั้นมี ๓๒ ประการ   ราชกถา คือกล่าวถึงพระยามหากษัตริย์ว่ามีอานุภาพมากดังนี้ ๆ รูปโฉมงดงามดังนี้ ๆ รู้ศีลปศาสตร์วิเศษดังนี้ ๆ กล้าหาญในการศึกสงครามดังนี้ ๆ กล่าวเนื่องโดยโลกีย์เนื่องด้วยฆราวาสอย่างนี้ เป็นติรัจฉานกถาเป็นปฐมโจรกถากล่าวถึงโจรว่า โจรนั้น ๆ รูปร่างสูงต่ำดำขาวพีผอมอย่างนั้น ๆ ร้ายกาจกล้าหาญกระทำโจรกรรมสิ่งนั้น ๆ ได้ทรัพย์สิ่งของนั้น ๆ มาอันนี้เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๒   มหามตฺตกถา กล่าวถึงมหาอำมาตย์ว่าผู้นั้นสูงยศสูงศักดิ์ดังนี้ ๆ พระบรมมหากษัตริย์โปรดปรานีดังนี้ บริบูรณ์ด้วยบุตรภรรยาดังนี้ ๆ จัดเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๓   เสนากถา กล่าวถึงเสนาว่ายกทัพไปเป็นกระบวนศึก เสนาช้างตกแต่งอย่างนั้น เสนาม้าประดับประดาอย่างนั้น เสนารถแต่งดังนี้ เสนาบทจรถือสาตราวุธธนูหน้าไม้ปืนใหญ่ปืนน้อยดังนี้ ๆ จัดเป็นติรัจฉานดถาคำรบ ๔

  ภยกถา กล่าวถึงภัยอันตราย เป็นต้นว่าช้างร้ายที่นั้น ๆ มันแทงมันไล่ย่ำไล่เหยียบดังนั้น ๆ เสือร้ายป่านั้น มันด้อมมันมองคอยจับคอยฟัดหยิกข่วนคาบคั้นดังนั้น ๆ จัดเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๕    ยุทฺธกถา กล่าวถึงการสงครามนั้น ๆ เกิดฆ่าเกิดฟันเกิดรบเกิดตีกันดังนี้ ๆ จัดเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๖   อนฺนกถา กล่าวถึงข่าวว่าที่นั้นงามที่นั้นไม่งาม ที่โน้นเขากระทำได้มาก ที่นี้เขากระทำได้น้อย ไร่โน้นข้าวขาวไร่นี้ข้าวจ้าวไร่นั้นข้าวเหนียว ข้าวพรรณนั้น ๆ ฉันมีรส ข้าวพรรณนี้ ๆ ฉันไม่มีรส กล่าวถึงข้าวเป็นอาทิดังนี้ จัดเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๗   ปานกถา กล่าวถึงน้ำว่าน้ำที่นั้น ๆ ขุ่นเป็นเปือกตมเป็นน้ำใบไม้น้ำแร่น้ำพลวง น้ำที่นั้น ๆ เป็นน้ำใส่น้ำน่าอาบน่ากิน กล่าวถึงน้ำเป็นอาทิ ฉะนี้ จัดเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๘    วตฺถกถา กล่าวถึงนุ่งผ้านุ่งผ้าห่มโขมพัสตร์ กัปปาสิกพัสตร์ โกสัยพัสตร์ กัมพลพัสตร์ สาณพัสตร์จัดเป็นติรัจฉานคำรบ ๙   สยนกถา กล่าวถึงที่หลับที่นอน เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๐

   มาลากถา กล่าวถึงดอกไม้สรรพต่าง ๆ ในน้ำแลบกเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๑   คนฺธกถา กล่าวถึงเครื่องหอมเครื่องลูบไล้ชโลมทาแต่บรรดาสุคันธชาติสรรพทั้งปวงนั้น เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๒   ญาตกถา กล่าวถึงญาติแห่งตนว่ากอปรไปด้วยสุรภาพแกล้วกล้าสามารถดังนั้น เคยขี่ยวดยานคานหามพากันเที่ยวเป็นดังนี้ ๆ เป็นอาทิจัดเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๓    ยานกถา กล่าวถึงยวดยานคานหามช้าง ม้ารถเกวียนมีประเภทต่าง ๆ  นั้น เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๔   คามกถา กล่าวถึงบ้านว่าบ้านตำบลนั้นตั้งอยู่เป็นอันดี บ้านนั้นตั้งมิดี บ้านโน้นข้าวแพง บ้านนั้นข้าวถูกชาวบ้านนั้น ๆ แกล้วกล้าสามารถเป็นอาทิดังนี้ จัดเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๕    นิคมกถา กล่าวถึงนิคมคือ กล่าวถึงบ้านใหญ่ดุจกล่าวแล้วในนามคาถานั้น เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๖   นครกถา กล่าวถึงชนบทดุจกล่าวมาแล้ว จัดเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๗    นครกถา กล่าวถึงเมืองนั้นตั้งชอบกล เมืองนั้นตั้งไม่ชอบกล เมืองนั้นข้าวแพง เมืองนั้นข้าวถูก คนในเมืองนั้นกล้าหาญ คนในเมืองนั้นมิได้กล้าหาญ กล่าวเป็นอาทิ ฉะนี้ เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๘    อิตฺถิกถา กล่าวถึงหญิงเป็นต้นว่ารูปงามโฉมงามน่ารักน่าใคร่ดังนี้ ๆ เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๑๙   สุรกถา กล่าวถึงคนกล้า กล้าช้างกล้าเสือกกล้าศึกสงครามเป็นอาทินั้น เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๒๐

   วิสิขากถา กล่าวถึงตรอกน้อยตรอกใหญ่ถนนหนทาง เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๒๑    กุมฺภทาสิกถา กล่าวถึงกุมภทาสี่ที่ตักน้ำ ว่ารูปงามฉลาดขับร้องเป็นอาทิ เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๒๒    ปุพฺพเปตกถา กล่าวถึงญาติที่ล่วงไปแล้วแต่ก่อน ๆ นั้น เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๒๓    นานตฺตกถา กล่าวต่าง ๆ แต่บรรดาที่หาประโยชน์บ่มิได้นั้น เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๒๔    โลกกฺขายกถา กล่าวถึงลัทธิโกหก อันพาลในโลกเจรจากันว่า แผ่นดินแผ่นฟ้านี้ท้าวมหาพรหมตกแต่ง คำที่ว่ากาเผือกนั้นบ่มิได้ผิด เพราะเหตุที่ว่ากระดูกมันขาว คำที่ว่านกยางแดงนั้นบ่มิได้ผิด เหตุว่าเลือดมันแดง กล่าวถึงลัทธิโกหกอันพาลในโลกเจรจากันเป็นอาทิฉะนี้ จัดเป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๒๕   สมฺทฺทกขายิกา กล่าวถึงมหาสมุทรว่ามหาสมุทรนี้ได้ชื่อว่าสาคร เหตุว่าพระราชบุตรแห่งพระยาสาครจัดแจงให้ขุด ให้ชื่อว่าสมุทร ๆ นั้นเพราะว่าพระยากำพระหัตถ์เข้า ให้ชนทั้งหลายรู้ว่าทะเลนี้พระยาให้ขุด กล่าวถึงสมุทรเป็นอาทิฉะนี้ เป็นติรัจฉานกถาคำรบ ๒๖    อิติภวาภวกถา กล่าวถึงภวะแลอภวะมี ๖ ประการ คือกล่าว สสฺตทิฏิ ว่าสัตว์โลกเที่ยงอยู่ไม่แปรปรวน คือกล่าว อุจฺเฉททิฏิ ว่าสัตว์โลกจุติแล้วก็สูญไป บ่มิได้ปฏิสนธิ ๑ คือกล่าวถึงเจริญสมบัติ ๑ คือกล่าวถึงเสื่อมจากสมบัติ ๑ คือกล่าวสรรเสริญสุขในเสพกาม ๑ คือกล่าวอัตตกิลมถานุโยค ประกอบความเพียรให้ลำบากกายเป็นฝ่ายปฏิบัติแห่งเดียรถีย์ ๑ เป็น ๖ ประการด้วยกัน ชื่อว่าอิติภาวภวกถา สิริเป็น ๓๒ ด้วยกันกับติรัจฉานกถา ๒๖ ที่กล่าวแล้วในก่อนนั้น

   ติรัจฉาน ๓๒ ประการนี้รวมกันเข้าเป็น ๑ บุคคลเป็นเหตุอันมิได้เป็นที่สบายนั้นได้แก่บุคคลอันเป็นพาล พอใจแต่ที่จะเจรจาเป็นติรัจฉานกถา มากไปด้วยการบำรุงบำเรอกาย คบหาบุคคลเห็นปานฉะนี้ มีแต่จะเศร้าจะหมอง เปรียบประดุจเอาน้ำใส่ไประคนด้วยน้ำเปือกน้ำตม อับคบบุคคลเห็นปานฉะนี้ ถึงได้ฌานสมาบัติอยู่แล้ว ฌานนั้นก็จะเสื่อมสูญ จะป่วยกล่าวไปไยถึงปฏิภาคนิมิตนั้นเล่า จะสงสัยว่าไม่เสื่อมสูญ มีแต่จะเสื่อมจะสูญนั้นแลเป็นเบื้องหน้า และโภชนะมิได้เป็นที่สบายนั้น ประสงค์โภชนะที่ฉันแล้วแลกระทำให้เสียสติอารมณ์ อธิบายว่าโยคาวจรบางพระองค์นั้นมีความสบาย ด้วยโภชนะที่หวาน ๆ บางพระองค์มีความสบายฉันโภชนะที่เปรี้ยว ๆ ครั้นมีความสบายด้วยเปรี้ยวไปได้รับประทานหวาน มีความสบายด้วยหวานไปรับประทานที่เปรี้ยว ที่นั้นไม่มีความหมาย กายแลจิตนั้นกำเริบสมาธิที่ยังมิได้บังเกิดนั้นก็มิได้บังเกิดเลยที่แล้วก็เสื่อมสูญอันตรธานโภชนะที่ไม่ชอบอย่างนี้แล ได้ชื่อว่าโภชนะมิได้เป็นที่สบาย

   แลฤดูมิได้เป็นที่สบายนั้น ประสงค์เอาฤดูที่กระทำให้เสียสติอารมณ์ อธิบายว่าโยคาพจร บางพระองค์นั้นมักชอบเย็น บางพระองค์มักชอบร้อน ครั้นสบายด้วยร้อนไปต้องเย็น มีความสบายด้วยเย็นไปต้องร้อน ในที่นั้นก็ไม่มีความสบาย กายแลจิตนั้นก็ฟุ้งซ่าน สมาธิที่บังเกิดแล้วก็อันตรธาน ที่ยังมิได้บังเกิดนั้นก็ไม่บังเกิดเลย ฤดูที่ไม่ชอบอย่างนี้แลได้ชื่อว่าฤดูมิได้เป็นที่สบาย และอิริยาบถมิได้เป็นที่สบายนั้นได้แก่อิริยาบถอันกระทำให้เสียสติอารมณ์ อธิบายว่าโยคาพจรบางพระองค์นั้นชอบจงกรม บางพระองค์นั้นชอบยืน บางพระองค์นั้นชอบนอน เหตุฉะนี้ให้พระโยคาพจร พิจารณาอิริยาบถทั้ง ๔ นั้นอิริยาบถละ ๓ วัน อิริยาบถอันใดกระทำให้เสียสติอารมณ์ สมาธิที่เคยบังเกิดแล้วก็สูญไป ที่ยังมิได้บังเกิดนั้นก็ไม่บังเกิดเลย อิริยาบถมิได้ชอบอย่างนี้แลได้ชื่อว่าอิริยาบถมิได้เป็นที่สบาย เหตุอันมิได้เป็นที่สบายทั้ง ๗ ประการนี้

   พระโยคาพจรจึงสละเสียพึงเสพซึ่งสบาย ๘ ประการคืออาวาสอันเป็นที่สบายประการ ๑ โคจรคาม อันเป็นที่สบายประการ ๑   สปฺปายกถา กล่าวถ้อยคำเป็นที่สบายประการ ๑ บุคคลเป็นที่สบายประการ ๑ โภชนะเป็นที่สบายประการ ๑ ฤดูที่เป็นที่สบายประการ ๑ อิริยาบถเป็นที่สบายประการ ๑ สิริเป็นที่สบาย ๗ ประการด้วยกัน อาวาสสบายนั้นได้แก่อาวาสอันชอบอัชฌาสัย อยู่ในอาวาสอันใดบำเพ็ญภาวนาเป็นที่ผาสุกภาพ อุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตที่ยังมิได้บังเกิดนั้นก็บังเกิดขึ้น ที่บังเกิดแล้วก็ถาวรตั้งมั่นมิได้เสื่อมสูญ สติแน่จิตตั้งมั่น อาวาสอันชอบด้วยฌัชฌาสัยอย่างนี้แล ได้ชื่อว่าอาวาสสบายเหมือนอย่างกุฎีที่มีชื่อจุลนาคเสนในลังกาทวีปนั้น พระภิกษุบำเพ็ญพระกรรมฐาน ในที่นั้นได้บรรลุพระอรหันต์คณนาได้ ๕๐๐ พระองค์ ที่ได้สำเร็จพระศาสดาพระสกิทาคาในที่อื่น ๆ แล้วแลมาได้พระอรหันต์ในที่นั้นจะนับคณาบ่มิได้ แลวิหารอื่น ๆ มีจิตบรรพตวิหารเป็นอาทิ

   แต่บรรดาที่พระโยคาพจรสำนักอาศัยกระทำเพียงได้สำเร็จมรรคแลผลธรรมวิเศษเหมือนอย่างที่กุฎีที่เร้นชื่อว่าจุลนาคเสนนี้ ก็ได้ชื่อว่าอาวาสเป็นที่สบายสิ้นทั้งนั้นแลโคจรคามเป็นที่สบายนั้น ได้แก่โคจรคามที่ตั้งอยู่ในทิศอุดร ถ้ามิดังนั้นตั้งในทิศทักษิณ เมื่อภิกษุไปบิณฑบาทก็ดี กลับมาแต่บิณฑบาทก็ดี แสงพระอาทิตย์จะได้ส่องหน้าหาบ่มิได้ โคจรคามนั้นอยู่ภายใน ๓ พันชั่วธนู คือ ๑๕๐ เส้น ข้าวถูก บิณฑบาทง่าย แล สปฺปายกถา

   ถ้อยคำอันเป็นที่สบายนั้นได้แก่ กถาวัตถุ ๑๐ ประการ   อปฺปิจฺฉตา คือกล่าวถึงมักน้อยประการ ๑   สนฺตุฎฐิ กล่าวถึงสันโดษประการ ๑  ปวิเวโก กล่าวถึงวิเวกมีกายวิเวกมีกายวิเวกเป็นอาทิประการ ๑   อสํสคฺโค กล่าวถึงปฏิบัติที่บ่มิได้ระคนอยู่ด้วยหมู่คณะประการ ๑   วิริยารมฺโภ กล่าวถึงพิธีที่ปรารถความเพียรประการ ๑   สีลกถา กล่าวถึงศีลประการ ๑   สมาธิกถา กล่าวถึงสมาธิกรรมฐานประการ ๑   ปญฺญากถา กล่าวถึงปัญญากรรมฐาน   วิมุตฺติกถา กล่าวถึงอรหันตผล วิมุตติประการ ๑  วิมุตฺติญานทสฺสนกถา กล่าวถึงปัจจาเวกขณญาณประการ ๑ สิริเป็นกถาวัตถุ ๑๐ ประการ กถาวัตถุ ๑๐ ประการนี้แลเรียกว่าสัปปายกถา ว่าเป็นถ้อยคำอันนำมาซึ่งความสบายแก่ภิกษุผู้เจริญพระกรรมฐาน ๆ พึงกล่าวแต่พอควรแก่ประการ แลบุคคลอันเป็นที่สบายนั้น ได้แก่บุคคลอันบริบูรณ์ด้วยศีลาทิคุณ มิได้พอใจเจรจาเป็นติรัจฉานกถา มีแต่จะแนะจะนำกระทำให้เป็นประโยชน์ จิตที่ยังมิได้ตั้งมั่นก็จะตั้งมั่น จิตที่ตั้งมั่นแล้วก็จักตั้งมั่นโดยพิเศษ แลโภชนะอันเป็นที่สบายนั้น ได้แก่โภชนะอันเป็นที่อาศัยแห่งพระโยคาพจร ๆ ฉันโภชนะอันใดแลมีความสุข จิตที่ยังมิได้ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น ที่ตั้งมั่นแล้วก็ตั้งมั่นโดยพิเศษ

   โภชนะสิ่งนั้นเรียกว่าโภชนะสบาย แลอุตุสัปปายนั้นได้แก่ร้อนแลเย็นอันเป็นที่ชอบอัชฌาสัย โยคาพจรเจ้าเสพร้อนแลเย็นสิ่งใดแลบังเกิดความสุขจิตที่ยังมิได้ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น ที่ตั้งมั่นแล้วก็ตั้งมั่นโดยพิเศษ ร้อนแลเย็นสิ่งนั้นแลได้ชื่อว่าอุตุสัปปาย แลอิริยาบถสัปปายนั้นได้แก่อิริยาบถอันให้บังเกิดความสุขโยคาพจร โยคาพจรเสพอิริยาบถอันใด จิตที่ยังมิได้ตั้งมั่นก็ตั้งมั่น ที่ตั้งมั่นแล้วก็ตั้งมั่นโดยพิเศษ อิริยาบถอันนั้นแลได้ชื่อว่าอิริยาบถสัปปาย พระโยคาพจรเจ้าปฏิบัติในรักขนาพิธีเว้นเสียซึ่งอัปปาย ๗ ประการ เสพซึ่งสัปปาย ๗ ประการ มีนัยดังสำเเดงมาดังนี้ก็อาจจะรักษาปฏิภาคนิมิตนั้นไว้ได้ เมื่อเสพปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นไปด้วยอุปาจารสมาธิจิต บางพระองค์ก็สำเร็จอัปปนาสมาธิบ่มิได้เนิ่นช้า

   ถ้าพระโยคาพจรเจ้าพระองค์ใดปฏิบัติในรักขนาพิธีดังนี้แล้ว แลยังบ่มิได้สำเร็จพระอัปปนาสมาธิ ก็ให้พระโยคาพจรเจ้าพระองค์นั้นปฏิบัติตามพิธีแห่ง อัปปนาโกศล ๑๐ ประการ ให้บริบูรณ์ในสันดาน   วตฺถุวิสทตา คือกระทำให้วัตถุภายในภายนอกสละสลวยนั้นประการ ๑  นิมิตตฺตกุสลตา ให้ฉลาดในนิมิตนั้นประการ ๑ กระทำให้อินทรีย์เสมอกันประการ ๑ เห็นว่าจิตควรจะยกย่องก็พึงยกย่องประการ ๑ เห็นว่าจิตควรข่มก็พึงข่มเสียประการ ๑ เห็นว่าจิตควรจะเพ่งดูก็พึงเพ่งดูประการ ๑ พึงเว้นเสียซึ่งบุคคลที่มีจิตมิได้ตั้งมั่นประการ ๑ พึงเสพซึ่งบุคคลที่มีจิตตั้งมั่นประการ ๑ พึงรักใคร่ยินดีในอัปปนาสมาธินั้นประการ ๑ สิริเป็นอัปปนาโกศล ๑๐ ประการ ที่ว่าให้กระทำวัตถุภายในภายนอกให้สละสลวยนั้นจะให้ทำเป็นประการใด อธิบายว่ากระทำวัตถุภายในให้สละสลวยนั้น คือให้ปลงให้ตัดเสียซึ่งผมอันยาว ขนอันยาว เล็บอันยาว เมื่อจะเข้านั่งนั้น ให้อาบน้ำชำระกายให้ปราศจากเหงือและไคลก่อนจึงนั่งที่ว่ากระทำวัตถุภายในภายนอกให้สละสลวยนั้นคือ ให้สุผ้าย้อมผ้า อย่าให้ผ้านั้นเศร้าหมองเหม็นสาบเหม็นไอ เสนาสนะนั้นก็พึงปัดกวาดให้ปราศจากหยากเยื่อเชื้อฝอยทั้งปวง

   เมื่อวัตถุภายในแลภายนอกสละสลวยดีแล้ว ขณะเมื่อนั่นนั้นจิตแลเจตสิกก็จะสละสลวย ปัญญาก็จะสละสลวยจะรุ่งเรือง มีอุปมาดุชเปลวประทีปอันได้กระเบื้องดีน้ำมันดีไส้ดีแล้วแลรุ่งเรือง เมื่อปัญญาสละสลวยรุ่งเรืองบริสุทธิ์ดีแล้ว แลพิจารณาสังขาร ๆ ก็จะปรากฏแจ้งพระกรรมฐานก็ถึงซึ่งเจริญแลไพบูลย์ ถ้ากระทำวัตถุภายในภายนอกมิได้สละสลวย คือมิได้ชำระเสียซึ่งเล็บยาวผมยาวขนยาว ผ้านุ่งผ้าห่มก็ละไว้ให้เศร้าหมองเหม็นสาบเหม็นไอ เสนาสนะก็ไม่ปัดไม่กวาด เมื่อจะนั่งเล่าก็มิได้อาบน้ำชำระกายหมักเหงือหมักไคล เมื่อกระทำดังนั้นจิตแลเจตสิกจะมิได้สละสลวย ปัญญาก็มิได้สละสลวยจะมิได้รุ่งเรือง มีอุปมาดุจเปลวประทีบอันได้กระเบื้องชั่วน้ำมันไส้ชั่ว แลมิได้รุ่งเรืองนั้น ครั้นปัญญามิได้รุ่งเรือง มิได้บริสุทธิ์แล้ว แลพิจารณาสังขารจะมิได้ปรากฏแจ้ง พระกรรมฐานมิได้เจริญไพบูลย์

   เหตุฉะนี้กุลบุตรผู้จะเรียนพระกรรมฐานนั้นพึงกระทำวัตถุภายในภายนอกให้สละสลวย ที่ว่าให้ฉลาดในนิมิตนั้น คือให้ฉลาดที่จะยังนิมิต คือเอกัคคตาจิตอันมิได้บังเกิดนั้นให้บังเกิด นิมิตที่บังเกิดแล้วนั้นก็ให้ฉลาดที่จะรักษาไว้ อย่าให้อุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตที่ตนได้นั้นเสื่อมสูญเสีย

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com