พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๑๘

   อาทานิ อรูปานนฺตรํ เอกสญฺญาติ เอวํ อุทิฏาย อาหาเรปฏิกูล สญฺญาย ภาวนานิทฺเทโส อนุปปฺตฺโต  บัดนี้ภาวนานิเทสแห่งอาหารปฏิกูลสัญญามาถึงแล้ว ข้าพระพุทธเจ้าชื่อว่าพุทธโฆษาจารย์ จะสำแดงพิธีแห่งอาหารปฏิกูลสัญญา แก้บทมาติกาคือ เอาสัญญาที่ข้าพระพุทธเจ้าสำแดงไว้โดยย่อนั้น จะวิสัชนาออกให้พิศดารในลำดับแห่งอรูปกรรมฐานทั้ง ๔ ประการ เหตุไฉนจึงได้ชื่อว่า วิสัชนาว่าธรรมชาติอันชื่อว่าอาหารนั้น ด้วยอรรถว่านำมาซึ่งวัตถุอันสมควรจะนำมาอธิบายว่า ธรรมชาติอันใดมีกิริยาอันนำมาเป็นธุระ มีกิริยาอันนำมาเป็นกิจธรรมชาติอันนั้น แลได้ชื่อว่าอาหาร  โส จตุพฺพิโธ ถ้าจะสำแดงโดยสรุป อาหารนั้นมี ๔ ประการ คือกวฬิงการาหารประการ ๑ ผัสสาหารประการ ๑ มโนสัญเจตนาหารประการ ๑ วิญญาณาหารประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกันดังนี้

   กวฬิงการาหารนั้นได้แก่ของบริโภคเป็นต้นว่า ข้าว น้ำ ขนม ของกินอันบุคคลกระทำเป็นคำแล้วแลกลืนกิน ผัสสาหารนั้นได้แก่ผัสสาเจตสิกอันมีลักษณะให้ถูกต้อง ซึ่งอารมณ์มโนสัญเจตนาหารนั้นได้แก่อกุศลจิต ๑๒ จิตโลกิยกุศลจิต ๑๗ จิตวิญญาณาหารนั้น ได้แก่ปฏิสนธิจิต   โก ปเนตฺถ กึ อาหรติ จึงมีคำปุจฉาว่าอาหาร ๔ ประการนั้นแต่ละสิ่ง ๆ นั้น มีพนักงานประมวลเอาสิ่งอันใดมานำเอาสิ่งอันใดมา วิสัชนาว่า กวฬิงการาหารนั้นนำมาซึ่งรูปกาย มีโอชะเป็นคำรบ ๘ ผัสสาหารนั้นนำมาซึ่งเวทนา ๓ คือ สุขเวทนาและทุกขเวทนา แลอุเบกขาเวทนา มโนสัญเจตนาหารนั้น นำมาซึ่งปฏิสนธิจิต ให้ประดิษฐานอยู่ในภพทั้ง ๓ วิญญาณาหารนั้น นำมาซึ่งกัมมัชชรูปแลเวทนาทิตยขันธ์ในขณะเมื่อตั้งปฏิสนธิ แลอาหาร ๔ ประการนี้ แต่ล้วนเป็นให้ต้องทุกข์ ต้องภัยต้องอุปัทอันตรายต่าง ๆ เป็นอเนกบรรยาย

   เมื่อสติปัญญาพิจารณาโดยละเอียดแล้ว แต่ละสิ่ง ๆ นั้นน่าสะดุ้งน่ากลัวหนักหนา สภาวะมีความรักความยินดีในการที่จะบริโภค อดกลั้นทนทานมิได้ลุอำนาจแก่รสตัณหา นี่แลได้ชื่อว่าภัยบังเกิดแต่ความยินดีในกวฬิงการาหาร ขึ้นชื่อว่ายินดีในกวฬิงการาหารนี้ มีภัยมากกว่ามากนัก เมื่อปราศจากสติปัญญาหาความพิจารณาบ่มิได้ ก็เพิกเฉยอยู่ อย่างประหนึ่งว่ามีความยินดีในอาหารนั้นหาภัยมิได้ต่อมีสติปัญญาพิจารณาละเอียดไป จึงจะเห็นว่าความยินดีในกวฬิงการาหารนั้น กอปรด้วยภัยอันพิลึกควรจะสะดุ้งตกประหม่า

   ผสฺสาหาเร อุปคมนฺ ภยํ  ฝ่ายผัสสาหารนั้นเล่า ก็กอปรด้วยภัยเหมือนกันกับกวฬิงการาหาร กิริยาที่เข้าไปใกล้นั้นแลเป็นภัยในผัสสาหารอธิบายว่า อาการที่มิได้สำรวมอินทรีย์ลุอำนาจแก่ความปรารถนา ยินดีในรูป เสียง กลิ่น รส แลสัมผัสในที่อันบ่มิควรจะดูจะฟัง สุด ดม แลลิ้มเลียสัมผัส นี้แลได้ชื่อว่าภัยบังเกิดแต่กิริยาที่เข้าไปผัสสาหาร เมื่อประมาทอยู่ไม่พิจารณาก็เห็นว่า ผัสสาหารนั้นหาภัย บ่มิได้เมื่อพิจารณา ให้ละเอียดก็ประกอบไปด้วยภัยอันพิลึก  มโนสญฺเจตนาหาเร อุปฺปตฺติ ภยํ  ฝ่ายมโนสัญเจตนาหารนั้นเล่า ก็ประกอบด้วยภัยอันพิลึกยิ่งขึ้นไปกว่าผัสสาหารนั่นร้อยเท่า กิริยาที่ให้บังเกิดภพนี้เป็นภัยในมโนสัญเจตนาหาร อธิยายว่าสัตว์ทั้งหลายอันจะเวียนว่ายอยู่ในกระแสชลาโลก โอฆสงสารนับชาติมากกว่ามากอเนกอนันต์ ทั้งนี้ก็อาศัยแก่มโนสัญเจตนาหารนั้น แลตกแห่งให้บังเกิดอาหารที่มโนสัญเจตนาหารกระทำให้เวียนเกิดอยู่ในภพ ให้ช้าถึงพระนิพพานนั้นน่ากลัวสุดกำลัง

   วิญฺญาณาหาเร ปฏิสนฺธิ ภยํ  กิริยาที่ตั้งปฏิสนธิในกำเนิดทั้ง ๔ นั้นแลเป็นภัยในวิญญาณาหารอธิบายว่าสัตว์ทั้งหลายได้ทุกข์ได้ยากได้ความลำบาก ก็อาศัยแก่วิญญาณาหารนั้นแลเป็นต้นเป็นเดิม นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงพิจารณาให้เห็นในภัยทั้ง ๔ ประการ โดยนัยดังพรรณนามานี้  กวฬิงฺการาหาโร ปุตฺตมํสูปเมน กวฬิงการาหารของบริโภคมีข้าวน้ำเป็นอาทินั้น นักปราชญ์พึงปลงปัญญาให้เห็นโดยอุปมาเหมือนด้วยเนื้อแห่งบุตร อาการซึ่งเสพกวฬิงการาหารนั้นพึงปลงปัญญาให้เห็นว่าเหมือนบริโภคเนื้อบุตร  กิร  ดังได้ยินมาผัวมีพ่อแม่ลูก ๓ คนพากันมาในมรรคากันดาร เมื่อสิ้นเสบียงอาหารแล้ว และยังข้ามทางกันดารไปมิพ้น ผัวเมีย ๒ คนก็จนใจ ขะขวนขวายหาอาหารสิ่งอื่น ๆ ก็หาไม่ได้ หิวโหยอิดโรยนักแล้วก็ฆ่าบุตรนั้นเสียกับทั้งรัก ขณะเมื่อดินเนื้อแห่งบุตรนั้นจะมีความยินดีปรีดาแต่สักหน่อยหาบ่มิได้จำเป็นจำกิน กินแต่พอให้มีแรงเดินข้ามทางกันดาร อันนี้แลมีฉันใด

   พระโยคาพจรกุลบุตรผู้เสพกวฬิงการาหารนั้น ก็พึงปลงปัญญาพิจารณาอาหารนั้นให้เห็นปรากฏเหมือนด้วยเนื้อแห่งบุตร อาการที่เสพกวฬิงการาหารนั้นพึงปลงปัญญาให้เห็นว่า เหมือนบริโภคเนื้อแห่งบุตร อย่าได้มีความยินดีในอาหารพึงเสพอาหารแต่ให้พอมีกำลังที่จะตั้งสติอารมณ์บำเพ็ญสมณธรรมเอาเยี่ยงผัวเมีย ๒ คน ที่จำเป็นจำกินเนื้อลูกแห่งตนแต่จะให้มีแรงจะได้ข้ามแก่งกันดารนั้น  ผสฺสาหาโร นิจมฺมคาวูปเมน  และผัสสาหารนั้นนักปราชญ์พึงปลงปัญญาให้เห็นโดยอุปมาว่าเหมือนดัวยโคอันหาหนังมิได้ อารมณ์ทั้ง ๕ มีรูปเป็นอาทิอันมากระทบประสาทนั้น นักปราชญ์พึงปลงปัญญาให้เห็นว่า นกตะกรุมและเหยี่ยวอันบินมาเพื่อประโยชน์จะสับจะเฉี่ยวจิกทึ้ง ดังได้ยินมา โคอันหาหนังมิได้มีหัวอันอาบไปด้วยบุพโพหิตลำบากเวทนาอยู่นั้นถ้าเหลือบเห็นตะกรุมและแร้งเห็นกาและเห็นเหยี่ยวบินมาแต่ไกล ก็ย่อมตระหนกตกใจเหลียวหน้าเหลียวหลัง เซซังเข้าไปในที่กำบังรักษาตัวกลัวนกตะกรุมและแร้งจะยื้อแย่งจะทึ้งจะลาก กลัวกาและเหยี่ยวจะสับจะเฉี่ยวจะจิกเจาะอันนี้แลมีฉันใด พระโยคาพจรกุลบุตรก็พึงตั้งสติสัมปชัญญะเป็นที่ปิดบังจักขวาทิอินทรีย์ รักษาตัวพึงกลัวแต่อารมณ์มีรูปเป็นต้นมากระทบประสาทนั้น ให้เหมือนประดุจโคหาหนังบ่มิได้กลัวแก่แร้งกา เป็นอาทินั้น

   มโนสญฺเจตนาหาโร องฺคารกาสูปเมน  มโนสัญเจตนาหาร คือกุศลากุศลกรรมอันเป็นเจ้าพนักงานตกแต่งให้เวียนเกิดอยู่ในภพทั้ง ๓ นั้น นักปราชญ์พึงปลงปัญญาให้เห็นโดยอุปมาเหมือนด้วยขุมถ่านเพลิง กิริยาที่เวียนเกิดอยู่ในภพนั้น พึงพิจารณาให้เห็นว่า เหมือนด้วยกิริยาที่สัตว์ทั้งหลายอยู่ในขุมถ่านเพลิงอันใหญ่ ธรรมดาว่าสัตว์อันตกอยู่ในขุมถ่านเพลิงอันใหญ่รุ่งเรืองเป็นเปลวนั้น ย่อมมีกรัชกายพุพองเปื่อยพังยุ่ยเป็นฝุ่นเป็นเถ้าหาบัญญัติมิได้แลมีฉันใด สัตว์ทั้งหลายที่เวียนเกิดอยู่ในภพนั้นก็พินาศฉิบหายด้วยชาติทุกข์เป็นอาทิ ถึงซึ่งภาวะหาบัญญัติมิได้ มีอุปไมยดังนี้ ผู้มีปัญญาพึงเกรงพึงกลัวแต่กิริยาที่จะบังเกิดในภพทั้ง ๓ ให้เหมือนกลัวภัยในขุมถ่านเพลิงนั้น

   วิญฺญาณาหาโร สตฺตูปเมน  และวิญญาณาหารคือปฏิสนธิวิญญาณทั้ง ๑๙ จิตนั้น นักปราชญ์พึงปลงปัญญาให้เห็นโดยอุปมาว่าเหมือนด้วยหอกอันใหญ่ กิริยาที่สัตว์ทั้งหลายปฏิสนธิในกำเนิดทั้ง ๔ ประการนั้น นักปราชญ์พึงปลงปัญญาให้เห็นว่า เหมือนด้วยกิริยาที่นักโทษที่ต้องหอกใหญ่แห่งนายเพชฌฆาตแต่อกตลอดหลัง นักโทษที่ต้องหอกใหญ่นั้นมีแต่ทุกข์เป็นเบื้องหน้า ฉันใดก็ดี สัตว์ที่ถือเอาปฏิสนธิในกำเนิดทั้ง ๔ นั้นจำเดิมแต่ตั้งปฏิสนธิแล้วก็มีแต่ความลำบากเวทนาเป็นเบื้องหน้า มีแต่มรณาเป็นเบื้องหน้า มีอุปไมยดังนั้น ผู้มีปัญญาเร่งเกรงกลัวเเต่ปฏิสนธิจงหนักหนาอย่าได้ไว้เนื้อเชื่อใจแก่ปฏิสนธินั้นเลย ปฏิสนธินี้มิใช่อื่นใช่ไกลคือดอกไม้แห่งกิเลสมาร มารนำเอามาล่อมาลวงสัตว์ว่ามาเถิด ๆ มาเถิดที่นี่เถิด มีความสุขมากจะได้เชยชมสมบัติเป็นบรมสุข ไปนิพพานนั้นสูญไปเปล่า ๆ หาได้เชยชมสมบัติอันใดอันหนึ่งไม่ กิเลสมารลวงสัตว์ทั้งปวงด้วยการทั้งปวงดังนี้

   สัตว์ที่เป็นพาลหาปัญญาบ่มิได้ก็สำคัญว่าจริง มาตรแม้นว่ามีศรัทธาทำบุญให้ทานก็ตั้งหน้าปรารถนามนุษย์สมบัติ จะได้ปรารถนาพระนิพพานสมบัติหาบ่มิได้ เข้าใจว่าพระนิพพานสูญไปเปล่า ๆ หาสนุกสบายไม่ตกหลงเล่ห์กลแห่งกิเลสมาร ๆ ลวงให้หลง แต่พอให้ปฏิสนธิลงเข้าข่ายเข้ารั้วแห่งตนเห็นว่าหนีไม่พ้นจากวิสัยแห่งตนแล้ว ทีนั้นกิเลสมารก็ปล่อยทหารพญามัจจุราชทั้ง ๒ คือ ชราทุกข์ และพยาธิทุกข์นั้นเข้าและเล็บทุบต่อยทีละน้อย ๆ ทวีขึ้น ๆ เททุ่มรุมรันจนยับเยินเฉินชุกตีจนลุกไม่ขึ้นแล้วภายหลังพญามัชจุราชก็มาฟาดฟันบั่นศีรษะให้ขาดสิ้นชีวิตอินทรีย์ ทั้งนี้ก็อาศัยแก่วิญญาณาหาร คือปฏิสนธิจิตนั้นแลเป็นต้นเป็นเดิม เหตุฉะนี้ผู้มีปัญญาเร่งเกรงกลัวแต่ปฏิสนธินั้นจนหนักหนา พึงแสวงหาพระนิพพานเป็นเบื้องหน้าอย่าได้หลงเล่ห์หลงกลแห่งกิเลสมาร และอาหาร ๔ ประการ มีนัยดังวิสัชนามานี้ นักปราชญ์พึงสัญนิษฐานว่า ในห้องพระกัมมัฏฐานอาหารปฏิกูลสัญญานี้ เฉพาะยกขึ้นวิสัชนาแต่กวฬิงการาหารสิ่งเดียว อาหาร ๓ ประการนั้นจะได้ยกขึ้น วิสัชนาในห้องพระกัมมัฏฐานอาหารปฏิกูลสัญญาหาบ่มิได้

   ตํ อาหาเร ปฏิกูลสญฺญํ ภาเวตุกาเมน   พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญพระกัมมัฏฐานอันชื่อว่าอาหารปฏิกูลสัญญานั้น พึงเรียนเอาพิธีที่จะพิจารณาอาหารปฏิกูลนั้นให้ชำนิชำนาญ อย่าให้พลั้งให้พลาด มาตรแม้ว่าแต่บทอันหนึ่งอย่าให้ผิด  รโหคเตน  เข้าไปในที่สงัดอยู่แต่ผู้เดียวแล้วพึงพิจารณากวฬิงการาหารด้วยอาการปฏิกูล ๑๐ ประการ  คมนโต   คือปฏกูลในกิริยาที่เดินไปนั้นประการ ๑  ปริเยสนโต  คือปฏิกูลในกิริยาอันแสวงหานั้นประการ ๑ ปริโภคโต  คือปฏิกูลในกิริยาที่บริโภคนั้นประการ ๑  อาสยโต  คือปฏิกูลในประเทศที่อยู่แห่งอาหารนั้นประการ ๑   นิธานโต  คือปฏิกูลด้วยกิริยาอันสั่งสมอยู่นานนั้นประการ ๑   อปริปกฺกโต  คือปฏิกูลในกาลเมื่อยังมิได้ย่อยประการ ๑  ปริปกฺกฌค  คือปฏิกูลในกาลเมื่อย่อยออกแล้วประการ ๑  ผลโต  คือปฏิกูลโดยผลประการ ๑  นิสสนฺทโต คือปฏิกูลในกาลเมื่อไหลหลั่งออกมานั้นประการ ๑  สมฺมกฺขนฺโต  คือปฏิกูลด้วยกิริยาที่กระทำให้แปดเปื้อนนั้นประการ ๑ เป็น ๑๐ ประการด้วยกัน

   กถํ คมนโต  ข้อซึ่งให้พิจารณาปฏิกูลในกิริยาที่เดินไปนั้น จะให้พิจารณาเป็นประการใด วิสัชนาว่า ให้พระโยคาพจรกุลบุตรปลงปัญญาให้เห็นธรรมสังเวชว่า  มหานุภาเวน นาม สาสเน อาตมานี้ เป็นบรรพชิตบวชในพระบวรพุทธศาสนาแห่งสมเด็จพระมหากรุณาสัมมาสัมพุทธเจ้าอันมากด้วยพระเดชพระคุณมาก ด้วยศักดานุภาพล้ำเลิศประเสริฐ หาผู้จะเปรียบปานบ่มิได้ พุทฺธวจนสชฺฌายํ วา  อาตมานี้ บางคาบก็สังวัธยายพระพุทธวจนะอันเป็นพระไตรปิฏกสิ้นราตรียังรุ่ง บางคาบก็บำเพ็ญสมณธรรมจำเริญพระสมถกัมมัฏฐาน พระวิปัสสนากัมมัฏฐานตราบเท่าถึงเพลาพระสุริยอุทัยส่องแสงทิพากร

   กาลสฺเสววุฏฐาย เพลาเช้าลุกขากอาสน์แล้ว อาตมานี้ก็ไปสู่ลานพระเจดีย์ พระศรีมหาโพธิ์ กระทำวัตตปฏิบัติกวาดเสร็จแล้ว อาตมาก็ตั้งไว้ซึ่งน้ำใช้และน้ำฉัน กวาดแผ้วอาวาสบริเวณที่อยู่แห่งตนแล้วก็ขึ้นสู่อาสนะกระทำมนสิการระลึกพระกัมมัฏฐาน ๒๐ คนบ้าง ๓๐ คนบ้าง โดยอันสมควรแก่อัธยาศัย เสนาสนะที่กระทำเพียรแห่งอาตมานี้กอปรด้วยร่มไม้และสระน้ำ จะอาบจะฉันเป็นผาสุกภาพบ่มิได้ขัดเคืองด้วยอุทกังไม่มีมนุษย์หญิงชายละเล้าละลุ่ม สงบสงัดปราศจากโทษ สมควรที่จะบังเกิดวิเวกสุขเสนาสนะอันเป็นที่สนุกบรมสุขถึงเพียงนี้ ควรแลหรืออาตมาสละละเมิดเสียได้ ไม่เอื้อเฟื้ออาลัยฌานาทิวิเวกเอาบาตรและจีวรบ่ายหน้าเฉพาะบ้านไปเพื่อประโยชน์ด้วยอาหาร เปรียบต่อสุนัขจิ้งจอกอันบ่ายหน้าสู่ป่าช้า เพื่อประโยชน์จะกินกเฬวระซากอสุภะ ควรจะอนิจจังสังเวชนี้หนักหนา จำเดิมแต่อาตมาเฉพาะหน้าสู่บ้านและย่างเท้าลงจากเตียง และตั้งเหยียบเหนือบรรจถรณ์เครื่องลาดนั้น เท้าแห่งอาตมาก็จะแปดเปื้อนผลคุลีละอองเถ้าแปดเปื้อนไปด้วยมูตรและคูถแสลงสาบเป็นอาทิ เหม็นร้ายเหม็นกาจจำเดิมแต่ย่างบาทจากห้องในดำเนินออกไปถึงหน้ามุขกุฏินั้น เท้าแห่งอาตมาก็แปดเปื้อนด้วยลามก เป็นต้นว่าขี้นกขี้ค้างคาว ปฏิกูลยิ่งขึ้นไปกว่าภายในห้องนั้นเป็น ๒ เท่า ๓ เท่า

  ตโต เหฏิมตลํ   เมื่อออกจากหน้ามุขแล้วและลงไปถึงพื้นเบื้องต่ำ เท้าแห่งอาตมาก็แปดเปื้อนไปด้วยลามก เป็นต้นว่าขี้นกเค้าและขี้นกพิราบ โสโครกยิ่งขึ้นไปกว่าหน้ามุขนั้นเป็น ๒ เท่า ๓ เท่าอีกเล่า ยิ่งลงจากพื้นเบื้องต่ำแล้ว และดำเนินออกไปถึงบริเวณจังหวัดอาวาสกุฎินั้น ก็ยิ่งโสโครกปฏิกูลและพึงเกลียดโดยพิเศษมากขึ้นไปกว่าพื้นเบื้องต่ำนั้นหลายส่วนหลายเท่าในจังหวัดบริเวณนั้น โสโครกไปด้วยหยากเยื่อเชื้อฝอย ใบไม้เก่า ๆ อันลมพายุพัดให้ตกเรี่ยรายกระจายอยู่ในสถานที่ที่นั้น ๆ เดียรดาษกลาดเกลื่อน ไหนจะโสโครกด้วยมูตรและคูภเสมหะและเขฬะ อันภิกษุหนุ่มและสามเณรที่เป็นไข้ไปมิทันถ่ายลงไว้ถ่มลงไว้นั้นเล่าเหม็นเน่าเหม็นโขง น่ารังเกียจเกลียดอายหนักหนา

   วสฺสกาเล  เมื่อเทศกาลวัสสันตฤดูฝนตกหนักนั้น ก็เป็นเปือกเป็นตมต้องเหยียบต้องย่ำ เป็นทั้งนี้ก็เพราะอาศัยมีประโยชน์ด้วยอาหารนั้นเป็นเดิมอดอยู่มิได้ ต้องลุยไปในน้ำเน่าและอสุจิลามกน่าสมเพชเวทนา  ปฏิกุลตรา วิหารรจฺฉา ยิ่งออกไปถึงซอยตรอกวิหารนั้น ก็ยิ่งปฏิกูลลามากขึ้นไปกว่านั้นเป็นส่วนหลายเท่า เมื่ออาตมาดำเนินไปโดยลำดับยกมือขึ้นนมัสการพระเจดีย์พระศรีมหาโพธ์แล้ว อาตมาก็เข้าไปยืนในโรงวิตกลามกอันเป็นโรคสำหรับพระภิกษุถือบิณฑบาตสันโดษไปยืนวิตกว่า วันนี้อาตมาจะไปบิณฑบาตในบ้านนั้นสกุลนั้น ธรรมดาพระภิกษุผู้ถือบิณฑบาตสันโดษนั้นย่อมเฉพาะวิตกที่บิณฑบาต แต่ในขณะเมื่อยืนอยู่ในโรงวิตกเพลาเดียว นอกกว่านั้นก็ตั้งหน้าเฉพาะต่อพระกัมมัฏฐาน วิตกอยู่แต่ในพระกัมมัฏฐานจะได้วิตกอยู่ด้วยบิณฑบาตในเพลาอื่น ๆ นอกจากเพลาที่ยืนอยู่ในโรงวิตกนั้นหาบ่มิได้อาศัยเหตุฉะนี้ พระภิกษุผู้พิจารณาอาหารปฏิกูลนั้น พึงปลงธรรมสังเวชพิจารณาว่า เมื่ออาตมาเข้าไปยืนอยู่ในโรงวิตก ๆ ถึงบ้านสกุลที่จะไปบิณฑบาตนั้นแล อาตมาก็บ่ายหน้าออกจากวิหารละเสียซึ่งพระเจดีย์อันงามประดุจกองแก้วมุกดา ละเสียซึ่งไม้พระศรีมหาโพธิ์อันงามประดุจกำแห่งนกยูง ละเสียซึ่งเสนาสนะอันบริบูรณ์ด้วยสิริประดุจทิพยพิมาน ให้หลงแก่ประเทศที่รโหฐานสนุกสบายจะอยู่มิได้ จำเป็นจำไปเพราะเหตุมีประโยชน์ด้วยอาหาร

   คามมคฺคํ ปฏิปนฺเนน กาลเมื่อดำเนินไปในมรรคาอันจะเข้าไปสู่บ้าน บางคาบก็เหยียบเสี้ยนเหยียบหนาม บางคาบก็สะดุดตอไม้และหัวระแหง บางคาบก็เหยียบย่ำประเทศอันมีน้ำเป็นตมเป็นเปือก บางคาบก็ข้ามประเทศอันน้ำเซาะหักพังลง ลุ่ม ๆ ดอน ๆ ไม่ควรที่จะไปก็จะไปก็ไปได้ น่าสังเวชเวทนา ถึงกายอาตมานี้ก็โสโครกกายนี้เหมือนดังร่างอัฐิ สบงที่นุ่งนี้เหมือนผ้าปิด ฝีแผล รัดประคตพันสะเอวนี้เหมือนท่องผ้าพันแผลฝี จีวรที่ห่มนี้เหมือนผ้าที่ปกคลุมร่างอัฐิ บาตรที่ถือมาเพื่อจะบิณฑบาตนี้ เหมือนกระเบื้องสำหรับจะได้ใส่ยารักษาฝี ยิ่งพิจารณาให้ละเอียดก็ยิ่งพึงเหลียดพึงชังนี่นักหนา คามทฺวารสฺมึปิ ปาปุณนฺเตน   กาลเมื่ออาตมาไปถึงที่ใกล้ปนะตูบ้าน อาตมาก็ได้เห็นซากช้างซากม้าซากโคซากกระบือซากงูซากสุนัขซากมนุษย์ ทอดทิ้งกลิ้งอยู่เหม็นขื่นเหม็น อาเกียรณ์ไปด้วยแมลงวันและหมู่หนอนสุนัขเร้งกายื้อคร่าจิกสับเหม็นจับจมูกจับใจ แทบประหนึ่งว่าจะท้นจะราก ถึงนั้นก็ยอมอดกลั้นจำทนจำทาน เพราะเหตุจะใคร่ได้อาหารไปเลี้ยงชีวิต

  คามทฺวาเร ตฺวา   กาลเมื่อไปถึงประตูบ้านยืนอยู่แทบประตูบ้านนั้น ใคร่จะตรงเข้าไปบ้านได้ง่าย ๆ เมื่อไรต้องดูซ้ายดูขวา แลดูตรอกบ้านข้างโน้นข้างนี้เพื่อว่าช้างร้ายม้าร้ายมันอยู่ในตรอกนั้น เห็นแล้วจะได้หลีกจะได้เลี่ยงจะได้หลบได้หนีเสียแต่ห่าง ๆ ตกว่าต้องระวังเนื้อระวังตัวนี้ทุกแห่งทุกตำบล กว่าจะไปได้ถึงที่ภิกษาจารนี้ลำบากยากนักหนา อาการอันพิจารณากิริยาที่ตนลำบากเป็นด้วยเหตุด้วยอาการจำเดิมแต่ย่างเท้าลงจากเตียงตราบเท่าถึงประตูบ้านที่เที่ยวภิกขาจารนี้ ได้ชื่อว่าพิจารณาอาหารอาหารปฏิกูลในกิริยาที่เดินไป เพื่อประโยชน์ด้วยอาหาร  กถํ ปริเยสนโต แลข้อซึ่งว่าให้พิจารณาอาหารปฏิกูล ในกิริยาที่เที่ยวแสวงหาอาหารนั้นจะให้พิจารณาเป็นประการใด วิสัชนาว่า ให้พระโยคาพจรปลงปัญญาให้เห็นธรรมสังเวชว่า เมื่ออาตมาอดกลั้นทนทานที่เหม็น จำเดิมแต่แรกลงจากเตียงดำเนินไปตราบเท่าถึงประตูบ้านที่ภิกขาจารนั้นแล้ว  คามํ ปวิฏเน สงฺฆาฏิ ปารุปิเตน ในกาลเมื่อเข้าไปในบ้านนั้นอาตมาจะห่มผ้าอันตัดเป็นขันฑ์ผ้าห่มของอาตมานี้ฉีกตัดเป็นบั่น ๆ ท่อน ๆ และเย็บติด ๆ กัน ได้นามบัญญัติชื่อว่าผ้าสังฆาฏิ

  กปณเมนุสฺเสน วิย   เมื่อพิจารณาดูกายแห่งอาตมานี้ เหมือนคนกำพร้าจริง ๆ ดูผ้าห่มแห่งอาตมานี้เล่าก็เหมือนผ้าห่มคนกำพร้า ดูบาตรนี้เล่าก็เหมือนกระเบื้องเก่าที่คนกำพร้าถือเที่ยวภิกขาจาร อาการที่อาตมาเที่ยวไปในคามวิถีบ้านโดยลำดับ ๆ แห่งตระกูลนั้น จะได้แปลกกันกับอาการที่คนกำพร้าเที่ยวขอทานหาบ่มิได้  วสฺสกาเล  กาลเมื่อถึงวัสสันตฤดูฝนตกหนักเหยียบลงที่ไหนเป็นโคลนที่นั่น น้ำตมนั้นกระเด็นขึ้นเปื้อนแข้งขาผ้านุ่งผ้าห่ม ต้องหยิบชายจีวรขึ้นไว้ด้วยมือข้างหนึ่ง มือข้างหนึ่งนั้นถือบาตรลำบากยากกายนักหนาถึงเพียงนี้อาตมายังอุตสาหะไปเที่ยวได้ เป็นเหตุด้วยอาหาร  คิมฺหกาเล  เมื่อถึงเทศกาลฤดูร้อนนั้นเล่าตัวอาตมานี้อาเกียรณ์ไปด้วยผงธุลี ละอองธุลี ๆ นั้นปลิวจับศีรษะตราบเท่าถึงบาทาลมพัดผ่านฟุ้งเข้าหูเข้าตา ผ้านุ่งผ้าห่มนี้เต็มไปด้วยผงคุลีน่าสังเวชเวทนา

  ตํ ตํ เคหทฺวารํ ปตฺวา  เมื่อไปถึงประตูเรือนนั้น บางคาบก็ยืนเหยียบในประเทศที่เทน้ำซาวข้าว บางคาบก็ไปยืนในประเทศอันเปื้อนไปด้วยน้ำมูกน้ำลาย เปื้อนไปด้วยคูถสุนัข คูถสุกร บางคาบก็ไปยืนในที่น้ำครำ อันอาเกียรณ์ไปด้วยแมลงวันดำ แมลงวันเขียวแมลงวันทั้งหลายบินจับศีรษะจับผ้าจับบาตร  เกจิ เทนฺติ เกจิ น เทนฺติ  เจ้าของเรือนนั้นครั้นเห็นอาตมาไปยืนบิณฑบาต บางคนก็กระทำทาน บางคนก็ไม่ทำทาน บางทีก็ให้ บางทีก็ไม่ให้ กาลเมื่อให้นั้นบางคนก็ให้ข้าวสุกแรมคืนบูด ๆ แฉะ ๆ บางคนก็ให้ของกัดที่เก่า ๆ รา ๆ บางคนก็ให้ขนมบูดแกงบูดผักบูด  อทฺทมานา  กาลเมื่อหาศรัทธาบ่มิได้ไม่ทำทานแล้ว บางคนก็บอกว่าไปโปรดสัตว์ข้างหน้าเถิด บางคนก็เพิกเฉยนิ่งเสีย กระทำอย่างประหนึ่งว่าหาเห็นไม่ บางทีเห็นแล้วเมินเสียไม่มองดูหน้า บางคนก็กล่าวหยาบช้าว่า  คจฺฉ เรมุณฺฑก ดูกรคนศีรษะโกนโล้นร้ายไปเสียให้พ้นอย่ามายืนกีดขวางอยู่ที่นี่ตกว่าต้องทนสู้ทาน จำเดิมแต่เข้าสู่ประตูบ้านมาตราบเท่าจนออกจากบ้านทั้งนี้ก็มีประโยชน์ด้วยอาหาร

   คมนโต นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า อาการที่พระโยคาพจร ปลงธรรมสังเวชพิจารณากิริยาที่ตนลำบากเป็นเหตุด้วยอาหาร จำเดิมแต่ย่างเข้าประตูบ้านไปตราบเท่าถึงออกจากบ้าน นี่แลได้ชื่อว่พิจารณาปฏิกูลในกิริยาที่เที่ยวแสวงหา  กถํ ปริโภคโต แลข้อซึ่งว่าให้พระโยคาพจรปลงปัญญาพิจารณาอาหารปฏิกูล ในกิริยาที่ปริโภคนั้น จะให้พิจารณาเป็นประการใด วิสัชนาว่า ให้พระโยคาพจรปลงปัญหาให้เห็นธรรมสังเวชว่า เมื่ออาตมาเที่ยวแสวงหาอาหารโดยอาการปฏิกูลดุจพรรณนานั้น ได้จังหันพอเป็นยาปนมัตต์ ออกจากบ้านไปนั่งในประเทศอันเป็นสุขภายนอกบ้านนั้นแล้วถ้าอาตมายังบ่มิได้ลงมือฉันจังหันนั้นตัวยังมิได้จับได้ต้อง เห็นมนุษย์ที่เป็นอาคันตุกะเดินมา เห็นภิกษุที่ควรจะเป็นครูอาจารย์เดินมา และจะเรียกหาจะเชิญให้บริโภคจะนิมนต์ให้ฉันนั้นก็ยังสมควรอยู่เพราะเหตุว่า จังหันนั้นยังมิได้จับได้ต้อง ยังไม่เป็นอาหารปฏิกูลไปก่อน ถ้าได้ลงมือฉันอยู่แล้วได้จับได้ต้องแล้ว และจะนิมนต์ท่านผู้เป็นอาคันตุกะให้ฉันนั้นยังเป็นที่ละอายอยู่หาสมควรไม่ เหตุว่าจังหันที่ได้ลงมือฉัน ได้จับต้องแล้วนั้นเป็นอาหารปฏิกูล กาลเมื่ออาตมาลงมือฉัน แลปั้นอาหารเข้าเป็นก้อน ๆ เป็นคำ ๆ กระทำให้เสียพรรณ ปราศจากงามเห็นปานดังนั้น

   เมื่ออาตมาหยิบเอามาวางลงในปาก กระทำฟันเบื้องบนเป็นสาก กระทำฟันเบื้องต่ำเป็นครก กระทำลิ้นเป็นมือ กระหวัดกลับกลอกคำข้าวให้แหลกกออกด้วยครกแลสากคือฟันเบื้องบนเบื้องต่ำนั้น เมื่อพิจารณาให้ละเอียด น่าพึงเกลียดพึงชัง น่าอนิจจังสังเวชนี่นักหนา อาหารนั้น แต่พอตกถึงปลายลิ้นที่ชุ่มไปด้วยน้ำลายอันเหลวเข้าไปถึงกลางลิ้นก็นุ่มไปด้วยน้ำลายอันข้น มลทินอันติดอยู่ในทันตประเทศที่ไม้สีฟันสีไปถึงนั้นก็ติดฟันแปดเปื้อน กระทำให้อาหารนั้นเสียกลิ่นสีในขณะบัดเดี๋ยวใจ มาตรแม้ว่าเป็นอาหารประณีตกอปรด้วยเครื่องปรุงอันพิเศษเป็นประการใด ๆ ก็ดี ที่จะได้คงสีคงกลิ่นคงดีอยู่เป็นปกตินั้นหาบ่มิได้   ปรมเชคุจฺฉภาวํ อุปคจฺฉติ  อาหารนั้นถึงซึ่งภาวนาพึงเหลียดพึงชังประดุจรากสุนัขอันอยู่ในราง   อชฺโฌหริตพฺโพ  อาหารที่อยู่ในปากนี้ เราท่านทั้งปวงกล้ากลืนกินอยู่ได้นั้น อาศัยไม่เห็นด้วยจักษุไม่ปรากฏแก่จักษุ ถ้าปรากฏแก่จักษุแล้ว แต่สักคำเดียวก็บ่มิอาจที่จะกลืนเข้าไปได้  เอวํ ปริโภคโต ปฏิกุลตา ปจฺจเวกฺขิตพฺพา  พระโยคาพจรจึงปลงธรรมสังเวช พิจารณาอาหารปฏิกูลในกิริยาที่บริโภคโดยนัยดังพรรณฉะนี้

   กถํ อาสยโต  แลข้อซึ่งว่าให้พระโยคาพจรผู้มีปัญญา พิจารณาปฏิกูลในประเทศที่อยู่แห่งอาหารนั้นจะให้พิจารณาเป็นประการใด วิสัชนาว่าให้พระโยคาพจรปลงธรรมสังเวชพิจารณาว่า อาหารที่อาตมาบริโภคกอปรด้วยอาการปฏิกูลแลเห็นปานฉะนี้ เมื่อเข้าไปตั้งอยู่ในกระเพาะอาหารภายในอุทรประเทศนั้น ก็ยิ่งโสโครกยิ่งปฏิกูลมากขึ้นไปหลายส่วนหลายเท่า ประเทศที่อาหารตั้งอยู่นั้นนามบัญญัติชื่อว่า อาสยะ ต่างกันโดยประเภท ๔ ประการ คือ ปิตตาสยะประการ ๑ เสมหาสยะประการ ๑ บุพพาสยะประการ ๑ โลหิตสยะประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกันดังนี้ ที่อยู่แห่งอาการได้ชื่อว่าปิตตาสยะนั้นด้วยอรรถว่าเป็นที่ขังอยู่แห่งน้ำดี ได้ชื่อว่าเสมหาสยะนั้นด้วยอรรถว่าเป็นที่ขังอยู่แห่งน้ำหนองได้ชื่อว่าบุพพสายะนั้น

   ด้วยอรรถว่าเป็นที่ขังอยู่แห่งโลหิตน้ำเลือดน้ำหนอง น้ำดีน้ำเสมหะนี้อย่าว่าแต่เราท่านที่เป็นสามัญ บุคคลนี้เลยสำมะหาแต่สมเด็จพระพุทธเจ้าประปัจเจกพุทธโพธิ์ บรมจักรพัตราธิราช ยังมีอาสนะอยู่สิ่ง ๑ ๆ (มิดีก็เสมหะ มิเสมหะก็บุพโพ มิบุพโพก็โลหิต จำมีอยู่สิ่ง ๑ ๆ ที่จะบริสุทธิ์ไปที่เดียวนั้นหาบ่มิได้ ที่อยู่แห่งอาหารของท่านผู้มีบุญที่เดียวยังว่าไม่บริสุทธิ์ ยังมีอาสยะอยู่สิ่ง ๑ ๆ ยังโสโครกอยู่ถึงเพียงนี้ ก็จะป่วยกล่าวไปไยถึงคนบุญน้อยนั้นเล่า คนบุญน้อยนี้มีอาสยะพร้อมทั้ง ๔ ประการ ที่อยู่แห่งอาหารของคนบุญน้อยนี้ อากูลด้วยน้ำดีน้ำเสมหะน้ำบุพโพโลหิตพร้อมทั้ง ๔ ประการ แต่ทว่าบางคาบนั้นน้ำดีมากกว่าเสมหะแลบุพโพโลหิต บางคาบเสมหะมากกว่าน้ำดีแลบุพโพโลหิต บางทีบุพโพมาก บางทีโลหิตมาก ถ้าน้ำดีมากอาหารนั้นก็โสโครกพึงเกลียดยิ่งนัก เปรียบดุจระคนด้วยน้ำมันมะซางอันข้น ถ้าเสมหะนั้นมาก อาหารนั้นก็พึงเกลียดโสโครกพึงเกลียดเปรียบประดุจระคนด้วยน้ำกากะทิงแลน้ำใบแตงหนู ถ้าบุพโพนั้นมากอาหารนั้นก็โสโครกพึงเกลียด เปรียบดุจระคนด้วยน้ำเปรียงบูดเปรียงเน่า ถ้าโลหิตนั้นมากอาหารนั้นก็โสโครกพึงเกลียด เปรียบดุจระคนด้วยน้ำย้อม พระโยคาพจรผู้มีปัญญาพึงปลงธรรมสังเวช พิจารณาอาหารปฏิกูลในประเทศที่อยู่แห่งอาหารด้วยประการฉะนี้

   กถํ นิธานโต ข้อซึ่งว่าให้พระโยคาพจรพิจารณาอาหารปฏิกูล ด้วยกิริยาที่สั่งสมอยู่นานนั้น จะให้พิจารณาประการใด วิสัชนาว่าให้พระโยคาพจรพิจารณาว่า  อาสเยน มกฺขิโต อาหารอันแปดเปื้อนไปด้วยน้ำดีน้ำเสมหะน้ำบุพโพโลหิตเป็นปานฉะนี้ เมื่อเข้าไปสู่อุทุรประเทศแล้วจะได้อยู่ในภาชนะเงิน ภาชนะทอง ภาชนะแก้ว หาบ่มิได้ อาหารนั้นตั้งอยู่ในประเทศแห่งไส้ใหญ่นั้นเก่านั้นใหม่ ย่อมออกแล้วบ้างยังบ่มิได้ย่อยบ้าง เหม็นเน่าเหม็นโขงสะสมอยู่ เปรียบประดุจคูถในเว็จกุฏีสะสมกันนั้นเก่านั้นใหม่ คูถในเว็จกุฏีนั้นสมสมอยู่ฉันใด อาหารอันตั้งอยู่ภายในไส้ก็สะสมนักมีอุปไมยดังนั้น แลอาการที่อาหารสะสมกันนั้น นักปราชญ์พึงกำหนดด้วยอายุบุคคล ถ้าบุคคลอายุได้ ๑๐ ปี อาหารก็พึงเกลียดเปรียบดุจอยู่ในหลุมคูถอันมิใช่ชำระเลยนานถึง ๑๐ ถ้าบุคคลนั้นอายุได้ ๒๐ ปี ๓๐ ผี ๔๐ ปี อาหารก็พึงเกลียดเปรียบประดุจอยู่ในหลุมคูถอันมิได้ชำระนานถึง ๒๐ ปี ๓๐ ปี ๔๐ ปี ถ้าบุคคลนั้นอายุได้ ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๗๐ ปี ๘๐ ปี อาหารนั้นก็พึงเกลียด เปรียบดุจอยู่ในหลุมคูถอันบ่มิได้ชำระเลยนานถึง ๕๐ ปี ๖๐ ปี ๘๐ ปี ๙๐ ปี ถ้าบุคคลนั้นอายุได้ ๑๐๐ ปี อาหารก็พึงเกลียดประดุจอยู่ในหลุมคูถอันมิไดชำระเลยนานถึง ๑๐๐ ปี พระโยคาพจรพึงปลงธรามสังเวช พิจารณาเอาหารปฏิกูลด้วยกิริยาที่สั่งสมอยู่นานโดยดังพรรณนามาฉะนี้

   กถํ อปริปกฺกโต ข้อหนึ่งว่าให้พิจารณาอาหารปฏิกูลในกาลเมื่อยังมิได้ย่อยนั้น จะให้พิจารณาเป็นประการใด วิสัชนาว่าให้พระโยคาพจรพิจรณาว่า  โส ปนายํ อาหาโร เอวรูเป โอกาเส นิธานมุปคโต อาหารนั้นเมื่อเข้าไปสั่งสมอยู่ในประเทศแห่งไส้ใหญ่อันเป็นที่โสโครกพึงเกลียดเห็นปานฉะนี้ อย่าว่าถึงเมื่อย่อยออกแล้วนั้นเลย แต่ยังมิได้ย่อยนั้นก็พึงเกลียดพึงชังนี่นักหนา เหตุว่าประเทศที่อยู่แห่งอาหารนั้นเป็นประเทศลามก ถ้าจะว่าฝ่ายข้างมืดก็มืดนัก ถ้าจะว่าข้างเหม็นหรือก็เหม็นนัก ดุจหลุมอันคนจัณฑาลขุดไว้แทบประตูบ้าน สารพัดจะสะสมสารพัดที่คนจัณฑาลทั้งปวงจะทิ้งจะเทลง หญ้าก็ทิ้งลงไปไม้ก็ทิ้งไป เสื่อลำแพนขาด ๆ ก็ทิ้งลง ซากมนุษย์ก็ทิ้งลงชั้นเก่าชั้นใหม่เมื่อยามแล้งนั้นถ้าอกาลเมฆตั้งขึ้น ยังฝนให้ตกลงสักห่า ๑ แต่พอน้ำเต็มหลุมแล้วแลแล้งไป น้ำในหลุมนั้นครั้นต้องแสงพระอาทิตย์ร้อนกล้าก็พัดขึ้นเป็นฟอง ปูดขึ้นเป็นปุ่มเปือกมีสีอันเขียว เหม็นร้ายเหม็นกาจอาเกียรณ์ด้วยหมู่มักขิกชาติ แมลงวันดำแมลงวันเขียวตอมอยู่เป็นเกลียวคลาดอยู่คละคล่ำ เป็นที่รังเกียจเกลียดหน่ายแห่งมหาชนทั้งปวง ๆ มิขอเห็นมิขอเข้าไปใกล้ อันนี้แลมีฉันใด อาหารที่บุคคลทั้งปวงกินเข้าไปใหม่ ๆ ยังมิทันที่จะยับจะย่อย ยังมิทันที่จะเป็นอาหารเก่านั้น ก็เกลือกกลั้วไปด้วยน้ำดีเสมหะน้ำบุพโพโลหิต อากูลมูลมองไปด้วยซากอสุภต่าง ๆ เป็นต้นว่าเนื้อเน่าปลาเน่าปนปะสะสมเหม็นขื่นเหม็นขมกลุ้มกลบตลบอยู่ทุกเช้าค่ำอาเกียรณ์ ด้วยหมู่หนอนพลุกพล่านคลาดคล่ำสัญจรเสือกสนไป ๆ มา ๆ

  สพฺโพ เอกโต หุตฺวา   อาหารที่กินวันนี้ก็ดี ที่กินวันก่อน ๆ ก็ดีสิ้นทั้งปวงนั้นจะได้อยู่เป็นแผนก ๆ กันหาบ่มิได้ เกลือกกลั้วแปดปนระคนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว   เสมฺหปฏลปริโยนทฺโธ ชั้นเสมหะนั้นเข้าปกคลุมหุ้มห่อเพลิงธาตุนั้นรุมร้อนระรมเผา เดือดเป็นฟองฟอดปูดขึ้นเป็นปุ่มเปือก โสโครกพึงเกลียดนักหนา มีอุปไมยดุจหลุมแทบประตูบ้านจัณฑาล อันเต็มไปด้วยอสุจิลามกแลเป็นที่โสโครกพึงเกลียดนั้น  เอวํ ปริปกฺกโต ปฏิกุลตา เวทิตพฺโพ  พระโยคาพจรผู้มีปัญญาพึงพิจารณาอาหารปฏิกูล ในกาลเมื่ออาหารยังมิได้ย่อย โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้   กถํ ปริปกฺกโต ข้อซึ่งว่าให้พระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณาอาหารปฏิกูลในกาลเมื่อย่อยออกแล้วนั้น จะให้พิจารณาประการใด วิสัชนาว่า ให้พระโยคาพจรปลงธรรมสังเวชพิจารณาว่า   กายคฺคินา ปริปกฺโก สมาโน อาหารอันร้อนด้วยเพลิงธาตุ เดือดเป็นฟองแล้วย่อยออกประดุจบดด้วยศิลาบดนั้น ที่จะเป็นคุณอันใดอันหนึ่งเปรียบประดุจแร่เหล็กแร่ทองแดงแร่ดีบุกแร่น้ำเงินแร่ธรรมชาติ อันย่อยออกด้วยเพลิงแล้ว แลได้เนื้อเหล็กเนื้อทองแดงเนื้อดีบุกเนื้อเงินเนื้อทองนั้นหาบ่มิได้ อาหารที่ย่อยออกนั้น มีแต่จะเป็นเครื่องชั่วเครื่องเหม็นเครื่องลามก เพราะลงไปในอโธภาคแล้ว ส่วน ๑ ที่แบ่งไปเป็นมูตรนั้นก็ยังกระเพาะมูตรให้เต็มส่วน ๑ ที่แบ่งออกเป็นคูถนั้นลงไปอยู่ในที่สุดแห่งไส้ใหญ่ใต้นาภีแห่งเราท่านทั้งปวง ประเทศที่อยู่แห่งอาหารเก่านั้น มีสัณฐานดังกระบอกไม้ไผ่น้อย ประมาณโดยยาว ๘ องคุลี อันบุคคลเอาดินเหลืองใส่ลงไว้ให้เต็ม นี่หากว่าลับจักษุแลไม่เห็น จึงเพิกเฉยสบายอยู่หาเกลียดหาหน่ายไม่ ถ้าปรากฏแก่จักษุเห็นด้วยจุกษุนี้ จะเป็นที่รังเกียจอายหนักหนาหาที่สุดมิได้  เอวํ ปริปกฺกโต ปฏิกุลตา ปจฺจเวกฺ ขิตพฺพา พระโยคาพจรกุลบุตรผู้มีปัญญาพึงปลงธรรมสังเวช พิจารณาอาหารปฏิกูลในกาลเมื่อย่อยออกแล้วโดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้

  กถํ ผลโต  แลข้อซึ่งว่าให้พระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณาอาหารปฏิกูลโดยผลนั้น จะให้พิจารณาเป็นประการใด วิสัชนาว่า ให้พระโยคาพจรกุลบุตรผู้มีปัญญาปลงธรรมสังเวชพิจารณาว่า   สมฺมา ปริปจมาโน อาหารนี้ถ้าย่อยออกเป็นอันดี ก็ยังกุณปะโกฏฐาส (ส่วนซากศพ) เป็นต้นว่าเกศาแลโลมานขาทันตาเนื้อหนังแลเส้นสายทั้งปวง ให้ชุ่มชื่นให้จะเริญเป็นอันดี   อสมฺมา ปริจฺจมาโน อาหารนั้นถ้าย่อยออกมิดี ก็ยังร้อยแห่งโรคเป็นต้นว่า หิดด้านแลหิดเปื่อย มะเร็งแลคุดทะราด กลากแลเรื้อนมองคร่อ แลหืดหวัดแลไอ ลงใหญ่แลลงแดงให้บังเกิดได้ทุกขเวทนามีประการต่าง ๆ เพราะเหตุอาหารย่อยออกบ่มิดี   เอวํ ผลโต ปฏิกุลตา ปจฺจเวกฺขิตพฺพา พระโยคาพจรผู้มีปัญญา พึงพิจารณาอาหารปฏิกูลโดยผลดุจนัยดังพรรณนามาฉะนี้

  กถํ นิสฺสนฺทโต  ข้อซึ่งว่าให้พระโยคาพจรพิจารณาอาหารปฏิกูลในกาลเมื่อไหลหลั่งออกนั้น ให้พิจารณาเป็นประการใด วิสัชนาว่า ให้พระโยคาพจรกุลบุตรพิจารณาว่า   อชฺโฌหริยมาโนเปส เอเกน ทฺวาเรน ปวิสิตฺวา อาหารอันบุคคลกินนั้น เมื่อเข้าไปนั้นไปโดยทวารอัน ๑ เมื่อจะไหลออกนั้นไหลออกโดยทวารทั้ง ๙ ที่เป็นมูลหูนั้น ก็ไหลออกจากช่องหู ที่เป็นมูลตาก็ไหลจากช่องคลองตา ที่เป็นน้ำมูกน้ำลาย ก็ไหลออกจากช่องปากช่องจมูก ที่เป็นมูตรไหลออกจากทวารเบา ที่เป็นคูถก็ไหลออกโดยทวารหนัก   อชฺโฌหรณสมเย กาลเมื่อจะกลืนกินนั้น บุตรภรรยาพี่น้องมิตรสหายพวกพ้องล้อมกันเป็นพวก ๆ บริโภคเป็นเหล่า ๆ พร้อม ๆ กัน พร้อมยศพร้อมบริวาร   นิสฺสนฺทสมเย ปน  กาลเมื่อเป็นมูตรเป็นคูถแล้วแลไหลออกนั้น มีความละอายเข้าเร้นเข้าซ่อนแต่ผู้เดียว ลี้ลับแล้วจึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะ   ปมทิวเส ปริภุญฺชนฺโต  ในวันเป็นปฐม เมื่อบริโภคนั้น ชื่นชมยินดีบริโภค  อุทคฺคุทคฺโค   มีกายจิตอันสูงขึ้น บังเกิดปีติแลโสมนัส   นิสฺสทนฺโต ครั้นถึงกาลเมื่อจะไหลออก เมื่อจะถ่ายออกในวันเป็นคำรบ ๒ นั้น ต้องปิดจมูกชักหน้านิ่ว เกลียดหน่ายก้มหน้าต่ำตา  รตฺโต คิทฺโธ อิจฺฉิโต มุญฺฉิโต  ในวันเป็นปฐมเมื่อเพลาบริโภคนั้น มีความรักความปรารถนาในรสแห่งอาหารกำหนัดยินดี อารมณ์อันฟูขึ้นหลงด้วยรสอาหาร  อชฺโฌหริตฺวา ครั้นกลืนกินแล้วแต่พอแรมคืนอยู่ราตรีเดียว ย่างเข้าวันเป็นคำรบ ๒ เมื่อจะไหลออกถ่ายออกโดยอุจจารมรรคแลปัสสาวมรรค ก็มีความยินดีอันปราศจากอารมณ์เป็นทุกข์ ทั้งละอายทั้งเกลียดบังเกิดพร้อม

  เหตุดังนั้นโบราณาจารย์จึงกล่าวซึ่งบาทพระคาถาว่า อนฺนํ ปานํ ขาทนียญฺจ โภชนียญฺจ มหารหํ ฯลฯ เอกรตฺตึ ปริวาสา สพฺพํ ปภวติ ปูติกนฺติ  อธิบายว่า ข้าวแลน้ำของกัดแลของบริโภคสิ้นทั้งปวงนี้ มาตราแม้จะมีค่ามากเป็นประการใด ๆ ก็ดี ในกาลเมื่อบริโภคนั้น เข้าไปโดยทวารอันหนึ่งแล้ว ถึงทีเมื่อจะไหลออกก็ไหลออกโดยทวารทั้ง ๙ เหมือนกันสิ้น จะได้แปลกกัน หาบ่มิได้  ปสริวาโร กาลเมื่อบริโภคนั้นประกอบด้วยบริวารบริโภคพร้อม ๆ กัน กาลเมื่อจะถ่ายออกนั้น เข้าเร้นซ่อนลี้ลับในที่ปิดกำบัง แต่ผู้เดียว  อภินนฺทนฺโต การเมื่อบริโภคนั้นชื่นชมโสมนัส กาลเมื่อถ่ายออกนั้น เกลียดหน่ายชิงชังข้าวแลน้ำของกัดแลของบริโภคทั้งปวงนี้ มาตรแม้นว่ามีค่ามากเป็นประการใด ๆ ก็ดี  เอกตรตฺตึ ปริวาสา ถ้าล่วงราตรีแรมอยู่ราตรีหนึ่งแล้วก็บูดเน่าโสโครกพึงเกลียดชังนี่นักหนา ผู้มีปัญญาพิจารณาอาหารปฏิกูลโดยกิริยาที่ไหลออกดังพรรณามาฉะนี้

  กถํ สมฺมกฺขนฺโต  แล้วข้อซึ่งพิจารณาอาหารปฏิกูลโดยกิริยาที่แปดเปื้อนนั้น จะให้พิจารณาเป็นประการใด วิสัชนาว่า ให้พระโยคาพจรกุลบุตรปลงธรรมสังเวชพิจารณาว่า  ปริโภคกาเล อาหารนั้นจำเดิมแต่แรก บุคคลทั้งปวงบริโภคก็เปื้อนมือเปื้อนปากเปื้อนลิ้นเปื้อนเพดาน กระทำมือแลปากแลลิ้นแลเพดานนั้นให้โสโครกพึงเกลียดพึงชัง บางคนต้องชำระมือแล้ว ๆ เล่า ๆ ต้องบ้วนปากแล้ว ๆ เล่า จึงจะหายเหม็นหายกลิ้น   ปริภุตฺโต สมาโน อาหารมื้อนี้เป็นบุคคลบริโภคแล้ว แลเข้าไปอยู่ในอุทรประเทศนั้น เพลิงธาตุอันซ่านอยู่ในสกลกายเผาให้ร้อน  เผณฺทฺเทหกํ ปูดขึ้นเป็นปุ้มเป็นเปือก เป็นฟองฟูดขึ้นมา จับซ่องหูซ่องตา ช่องจมูกแลเพดาน   ยถา นาม โอทเน ปจฺจมเน เปรียบปานดุจหม้อข้าว อันบุคคลหุงแลตั้งไว้บนเตา ครั้นเดือดพลุ่งขึ้นมาก็มีแกลบแลรำแลปลายข้าวอันล้นขึ้นติดปากหม้อแลฝาละมีแปดเปื้อน ฉันใดก็ดี อาหารที่เป็นฟองฟูดล้นขึ้นไปด้วยร้อนแห่งเพลิงธาตุนั้น เมื่อขึ้นมาจับอยู่ที่ฟัน ก็แปดเปื้อนเป็นมลทินแห่งฟัน เมื่อขึ้นมาจับลิ้นจับเพดาน ก็แปดเปื้อนตามช่องจมูกลิ้นแห่งเพดานให้สำเร็จกิจเป็นเขฬะแลเสมหะ เมื่อขึ้นมาจับช่องตาช่องจมูกก็แปดเปื้อนช่องหูช่องตาช่องจมูก ให้สำเร็จกิจเป็นขี้หูขี้ตาขี้จมูกน่าพึงเกลียดพึงชัง ที่เป็นมูตรเป็นคูถนั้นก็แปดเปื้อนทวารหนักทวารเบาแลทวารที่อาการแปดเปื้อนนั้น ถึงบุคคลจะล้างจะสีจะชำระอยู่ทุกวัน ๆ ก็ดี ที่จะบริสุทธิ์สะอาดเป็นที่จำเริญใจนั้นหาบ่มิได้ หตุ โถ ปุน อุทเกน โธวิตพฺโพ  มือที่ชำระอุจจารมรรคนั้น ต้องล้างน้ำ ๒ หน ๓ ทน ต้องสีด้วยโคมัย สีด้วยดินสอด้วยจุณของหอมจึงปราศจากปฏิกูล เอวํ สมฺมกฺขนฺโต ปฏิกุลตา ปจฺจเวกฺขิตพฺพา  พระโยคาพจรกุลบุตรผู้มีปัญญา พึงพิจารณาอาหารปฏิกูลโดยกิริยาที่แปดเปื้อนมีนัยพรรณนามาฉะนี้

   ตสฺเสวํ ทสหากาเรหิ เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาอาหารปฏิกูล ๑๐ ประการกระทำการปฏิกูลนั้น เป็นที่วิตกยกจิตขึ้นสู่อาการปฏิกูลโดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้ กวฬิงการาหารก็จะปรากฏโดยอาการปฏิกูล ตํ นิมิตฺตํ ปุนปฺปุนํ อาเสวติ  เมื่อปฏิกูลนิมิตปรากฏแล้ว ให้พระโยคาพจรส้องเสพจำเริญปฏิกูลนิมิตนั้นให้มากในสันดาน นิวรณธรรมก็สงบสงัด จิตก็จะตั้งมั่นเป็นอุปจารสมาธิที่จะถึงอัปปนานั้นไปบ่มิได้ถึง เพราะเหตุอารมณ์ที่พิจารณากวฬิงการาหารนั้นลึกโดยสภาวะธรรมสัญญานั้น ปรากฏด้วยสามารถถืออาการปฏิกูล เหตุดังนั้นพระกรรมฐานนี้ จึงถือซึ่งนามบัญญัติชื่อว่าอาหารปฏิกูลสัญญา มีแต่อุปจารสมาธิ หาอัปปนาสมาธิบ่มิได้ แลพระภิกษุผู้กระทำเพียรจำเริญพระกรรมฐานอาหารปฏิกูลนี้ ย่อมมีจิตอันหดหู่บ่มิได้ยินดีด้วยรสตัณหา บริโภคอาหารนั้นแต่พอจะได้ทรงกายไว้ บำเพ็ญสมณธรรมเพื่อยกตนออกจากทุกข์ เปรียบเหมือนชน ๒ คนผัวเมียอันเกลียดเนื้อลูก เสียมิได้จำเป็นจำบริโภคแต่พอจะให้มีแรงข้ามแก่งกันดาร เดชะด้วยอุบายที่เคยกำหนดกวฬิงการาหารนี้เป็นปัจจัย ก็จะกำหนดกฏหมายซึ่งราคะอันยุติในปัญจกามคุณนั้นได้ด้วยง่าย ไม่พักลำบากยากใจ

  ครั้นกำหนดราคะอันยุติในปัจกามคุณนั้นได้แล้ว อุบายนั้นก็จะเป็นปัจจัยให้กำหนดรูปขันธ์ กายคาสติก็จะบังเกิดบริบูรณ์ในสันดาน ด้วยสามารถพิจารณาในปฏิกูลทั้ง ๖ มีอปริปักกาทิปฏิกูลพิจารณาอาหารอันยังมิได้ย่อยนั้น เป็นต้นเป็นเดิมอันจำเริญพระกรรมฐานอันนี้ ได้ชื่อว่าปฏิบัติอนุโลมตามอสุภสัญญา อิมํ ปฏิปตฺตํ นิสฺสาย  พระโยคาพจรกุลบุตรผู้มีศัรทธานั้น อาศัยประพฤติปฏิบัติอันนี้อาจจะได้สำเร็จคุณานิสงส์ มีถึงซึ่งพระนิพพานอันเป็นอมฤตรส อันเป็นทีสุดในอาตมาภาพชาติ นี้เห็นประจักษ์แจ้งถ้าบารมียังอ่อนไม่ได้สำเร็จพระนิพพาน ครั้นทำลายเบญจขันธ์แล้วก็จะมีสวรรค์เป็นเบื้องหน้า เหตุฉะนี้ นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงอุตสาหะจำเริญอาหารปฏิกูลสัญญา อันกอปรด้วยอานิสงส์ดังพรรณนามานี้ ฯ

วินิจฉัยในอาหารปฏิกูลสัญญายุติแต่เท่านี้

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com