พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๗

   กสิณานฺนตรํ อุทิฎเฐสุ ปน อุทฺธุมาตกํ ฯลฯ ปน อุทฺธุมาตตฺตา อุทฺธุมาตกํ   ในลำดับกสิณนิเทศนั้น พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าผู้ตกแต่งพระคัมภีร์วินิจฉัยในอสุภกรรมฐาน ๑๐ คือ อุทธุมาตกอสุภ ๑   วินีลกอสุภ ๑  วิปุพพกอสุภ ๑  วิฉิททกอสุภ ๑  วิกขายิตกอสุภ ๑   วิกขิตตกอสุภ ๑   หตวิกขิตกอสุภ ๑  โลหิตกอสุภ ๑  ปุฬุวกอสุภ ๑  อัฏฐิกอสุภ ๑  เป็น ๑๐ ท่อนดังนี้

   อุทธุมาตกอสุภนั้น คือร่างกายผีอันพองขึ้นโดยลำดับ จำเดิมแต่วันสิ้นแห่งชีวิตพอบวมขึ้นบริบูรณ์ ไปด้วยลม   วินีลกอสุภนั้น คือร่างผีอันมีสีต่าง ๆ คือสีแดงสีขาวสีเขียวเจือกัน มีสีอันแดงในที่อันมีเนื้อมาก มีสีขาวในที่ประกอบด้วยหนอง มีสีอันเขียวโดยมากดุจคลุมไปด้วยผ้าสาฎกอันเขียว อาศัยที่มีเขียวโดยมากจึงชื่อว่าวินีลกอสุภ  วิปุพพกอสุภนั้น คือร่างผีอันมีน้ำเหลืองแลหนองอันไหลออกมาในที่อันปริแลเปื่อยพังออกนั้น  วิฉิททกอสุภนั้น คือร่างผีอันขาดเป็น ๒ ท่อน ท่อนกลาง มีกายขาดขจัดขจายจากกัน   วิกขายิตกอสุภนั้น คือซากผีอันสัตว์ทั้งปวงเป็นต้นว่าสุนัขบ้านจิ้งจอกกัดทึ้งยื้อแย่งโดยอาการต่าง ๆ แต่ข้างโน้นแลข้างนี้

  วิกขิตตกอสุภนั้น คือซากผีอันบุคคลทิ้งไว้ให้ตกเรี่ยรายอยู่ในที่นั้น ๆ มืออยู่ข้าง ๑ เท้าอยู่ข้าง ๑ ศีรษะอยู่ข้าง ๑  หตวิกตตกอสุภนั้น คือซากผีอันบุคคลผู้เป็นเวรสับฟันด้วยเครื่องศาสตราวุธในอังคาพยพใหญ่น้อยเป็นริ้วเป็นรอยกากบาท   โลหิตกอสุภนั้น คือร่างผีอันแปดเปื้อนด้วยโลหิต อันไหลเอิบอาบออกจากสรีรประเทศนั้น ๆ  ปุฬุวกอสุภนั้น คือร่างผีอันเต็มบริบูรณ์ด้วยกิมิชาติ หมู่หนอนเบียนบ่อนคลายอยู่ทั่วสรีรประเทศต่าง ๆ   อัฏฐิกอสุภนั้น คือซากผีมีแต่ร่างกระดูกทั้งสิ้นแลมีอยู่แต่กระดูกอันเดียวก็ได้ชื่อว่าอัฏฐิกอสุภ

   โยคาพจรกุลบุตรปรารถนาจะยังอุคคหนิมิต อันชื่อว่าอุทธุมาตกะให้บังเกิดในอุทธุมาตกนั้น แล้วจะจำเริญอุทธุมาตกฌานพึงเข้าไปสู่สำนักอาจารย์ ผู้จะให้พระกรรมฐานโดยนัยอันกล่าวแล้วในปฐวีกสิณพึงเรียนพระกรรมฐานในสำนักอาจารย์นั้น เมื่อพระอาจารย์จะบอกพิธีอันจะไป เพื่อประโยชน์จะถือเอาซึ่งอสุภนิมิตนั้น ให้บอกซึ่งกิริยาอันจะกำหนดซึ่งนิมิตโดยรอบคอบ ๑ ให้บอกซึ่งลักษณะอันจะถือเอาด้วยอุคคหนิมิต ๑๑ ประการนั้น ๑ ให้บอกซึ่งกิริยาอันพิจารณาหนทางอันจะไปแลมานั้น ๑ พึงบอกซึ่งวิธีทั้งปวงตราบเท่าถึงอัปปนาเป็นปริโยสานแก่ศิษย์ผู้จะเรียนจงถ้วนถี่ทุกประการ

   พระโยคาพจรเรียนพิธีทั้งปวงได้ชำนาญดีแล้ว ให้เข้าไปในเสนาสนะประกอบด้วยองค์ ๕ ประการดังพรรณนามาแล้วในกสิณนิเทศ พึงแสวงหานิมิตคือซากผีอันซึ่งพองขึ้นมานั้น ถ้าแลพระโยคาพจรได้ข่าวเขาบอกว่าร่างผีซึ่งพองขึ้นนั้น เขาทิ้งไว้แทบประตูบ้านอันมีชื่อโพ้นก็ดี ในปากป่าในหนทางก็ดี แถบเชิงเขาแลร่มไม้ในป่าช้าก็ดี อย่าพึงไปในขณะอันได้ฟังจะเกิดอันตรายในระหว่างการดุจบุคคลอันด่วน ๆ ลงไปสู่แม่น้ำนทีธาร อันเต็มบริบูรณ์โดยใช่ท่าแลเกิดอันตรายต่าง ๆ เป็นต้นว่าตกลงไปด้วยสามารถหาวิจารณปัญญามิได้ เหตุร่างอสุภนั้นพาลมฤคร้ายกาจหยาบช้าหวงแหนรักษาอยู่ก็ดี บางทีฝูงอมนุษย์สิ่งสู่อยู่ก็ดี จะกระทำอันตรายแก่ชีวิตแห่งพระโยคาพจรอันไปโดยด่วนแลมิได้พิจารณานั้น

  ถ้าไปแทบประตูบ้านแลไปโดยท่าอาบน้ำแลปลายนาก็ดี จะไปพบวิสภาคารมณ์แล้ว คือรูปสตรีภาพอันอยู่แทบหนทางนั้น น้ำจิตก็จะเกิดกำหนัดในรูปสตรีภาพจะสำรวมจิตไว้มิได้ อนึ่งซากอุทธุมาตกนั้น ถ้าเป็นซากอสุภสตรีก็บ่มิเป็นที่สบายแห่งพระโยคาพจร เหตุกายบุรุษเป็นวิสภาคคือมิได้เป็นที่ชอบอารมณ์ ในที่จะจำเริญภาวนาแห่งสตรีภาพ กายแห่งสตรีภาพมิได้ชอบอารมณ์แห่งบุรุษ ซากเฬวระนั้นตายลงใหม่ ๆ ก็จะปรากฏแก่พระโยคาพจร โดยสุภารมณ์อันเหมาะงาม จะมิได้เป็นที่อนิจจังสังเวช

   เมื่อพระโยคาพจรเห็นซากเฬวระเป็นสุภารมณ์ข่มจิตไว้ ไม่หยุดแล้วก็จะเป็นอันตรายแก่ศาสนะพรหมจรรย์ ถ้าแลพระโยคาพจรมีสติตั้งอยู่ตักเตือนอาตมาว่า กิริยาที่จะมาสำรวมรักษาจิตไว้มิให้มีภัยในพรหมจรรย์แต่เพียงนั้นจะได้หนักจะได้ยากแก่ภิกษุผู้มีปัญญาอย่างอาตมานี้หามิได้ เมื่อมีสติตั้งอยู่ตักเตือนตนได้ดังนี้แล้วก็พึงไปเถิด เมื่อจะไปนั้นพึงให้บอกกล่าวร่ำลาแก่พระสงฆ์เถระ แลพระภิกษุองค์อื่นอันมีพาสนาอันปรากฏแล้วจึงไป

  เหตุว่าไปสู่ป่าช้านั้น ครั้นได้เห็นรูปแลได้ฟังเสียงผีแลราชสีห์แลเสือโคร่งเป็นอาทิแล้วจะเกิดการกำเริบน้ำจิต ๆ จะสงบอยู่มิได้อังคาพยพจะหวั่นไหว มิฉะนั้นขุกอาพาธอันบังเกิดขึ้น ท่านจะได้ช่วยรักษาบาตรแลจีวรในวิหารไว้มิให้เป็นอันตราย อนึ่งท่านจะได้ใช้ภิกษุหนุ่มแลสามเณรออกไปให้ช่วยปฏิบัติ อนึ่งมหาโจรที่กระทำกรรมแล้วก็ดี ปรารถนาจะกระทำโจรกรรมแต่ยังมิได้กระทำก็ดี มักสำคัญเข้าใจว่าป่าเป็นที่ปราศจากรักเกียจแก่คนทั้งปวง ๆ ไม่มีความสงสัยเข้าใจดังนี้แล้วก็มักมาประชุมกันอยู่ในป่าช้า เมื่อคนทั้งปวงเขาติดตามไป มหาโจรจวนตัวเข้าแล้ว ก็จะทิ้งห่อทรัพย์ไว้ในที่ใกล้แห่งพระภิกษุแล้วก็จะพากันหนีไป คนทั้งปวงก็จะจับเอาว่าเป็นโจรแลจะบียนโบยตีได้ความลำบาก

   พระมหาเถระแลภิกษุหนุ่มที่มีบุญวาสนานั้น ท่านจะได้ว่ากล่าวป้องกันว่าอย่าเบียดเบียนเจ้ากูรูปนี้เลย เจ้ากูรูปนี้ได้บอกกล่าวแก่เราแล้ว จึงไปด้วยการกรรมอันนี้ต่างหากจะได้ไปกระทำโจรกรรมฉกลักหามิได้ ท่านว่ากล่าวห้ามปรามดังนี้แล้วท่านก็จะกระทำให้เป็นสุนทรสิริสวัสดิ์สถาพร อันบอกกล่าวเสียก่อนแล้วจึงไปนั้นมีอานิสงส์ดังนี้ เหตุดังนั้น พระโยคาพจรบอกกล่าวไว้ให้เป็นพยานดังนี้แล้ว พึงให้มีความรักความยินดีชื่นชมโสมนัสในที่จะได้เห็นอสุภนิมิตนั้น ดุจขัตติยราชกุมารอันยินดี เสด็จไปที่อภิเษกมงคลสถาน มิฉะนั้นดุจบุคคลผู้เป็นทานาธิบดีอันชื่นชมยินดีไปสู่โรงทาน มิฉะนั้นดุจคนเข็นใจไปสู่ขุมทรัพย์

   เมื่อพระโยคาพจรจะไปเยี่ยมป่าช้านั้น เพื่อจะข่มขี่น้ำจิตของตนให้พ้นจากนิวรณโทษทั้ง ๕ ประการนั้น พึงตีระฆังประชุมฆ์ทั้งปวงให้พร้อมกันแล้วจึงไป เมื่อจะไปนั้นพึงให้พระกรรมฐานเป็นประธานให้ไปแต่องค์เดียว อย่ามีเพื่อนเป็น ๒ อย่าได้ละเสียซึ่งมูลกรรมฐานเดิม มีพุทธานุสสติเป็นต้นที่ตนคอยบำเพ็ญมาก่อน ด้วยอาโภคจิตว่าอาตมะไปบัดนี้ เพื่อจะถือเอาซึ่งอุทธุมาตกอสุภกรรมฐาน ให้กระทำมูลกรรมฐานไว้ในใจแล้ว พึงให้ถือเอาไม้เท้าเพื่อจะป้องกันเสียซึ่งอันตรายอันเกิดแต่สุนัขในป่าช้าเป็นต้น   พึงตั้งสติให้มั่นในมูลกรรมฐาน พึงสำรวมอินทรีย์ ๖ ให้สงัดไว้ภายใน อย่าทำน้ำใจไว้ภายนอก เมื่อจะออกจากวิหารนั้นพึงกำหนดประตูว่า อาตมะออกจากประตูอันมีชื่อโพ้น

  อนึ่ง พึงให้กำหนดหนทางที่ตนไปนั้นว่า หนทางอันนี้ตรงไปข้างทิศตะวันตก ทิศเหนือทิศใต้ตรงไปสู่อนุทิศแห่งทิศใหญ่ ๆ นั้น อนึ่งพึงสังเกตกำหนดว่า หนทางอันนี้มาถึงที่นี้แวะไปข้างข้างซ้ายมาถึงที่นี้แวะไปข้างขวา ก้อนศิลาอยู่ข้างนี้ จอมปลวกอยู่ข้างนี้ ต้นไม้กอไม้เครือเถาวัลย์ข้าง ๆ นี้ สังเกตกำหนดดังนี้แล้ว พึงไปสู่พิจารณาอุทธมาตกอสุภนิมิต เมื่อจะไปนั้นอย่าไปใต้ลม กลิ่นซากเฬวระจะสัมผัสฆานประสาทแล้วจะพึงยังสมองศีรษะให้กำเริบ มิฉะนั้นจะยังอาหารให้เกิดการกำเริบออกจากปาก มิฉะนั้นจะพึงให้เกิดวิปฏิสารเดือดร้อน ว่าอาตมะมาสู่ที่กเฬวระเห็นปานดังนี้พึงให้พระโยคาพจรเว้นทางใต้ลมเสีย แล้วให้ไปเหนือลม

   ผิว่าหนทางข้างเหนือลมนั้นเดินไม่ได้ ด้วยมีภูเขาแลก้อนศิลาใหญ่แลรั้วแลหนามนั้นกำบังอยู่ในระหว่างหนทางข้างเหนือลมนั้น เป็นเปือกตมเป็นน้ำเป็นโคลนอยู่ ก็พึงให้พระโยคาพจรเอามุมจีวรปิดนาสิกเสียแล้วพึงไปเถิด เมื่อไปถึงแล้วอย่าเพิ่งเล็งแลอสุภนิมิตพึงให้กำหนดเสียก่อน คือพระโยคาพจรยืนอยู่ทิศบางแห่งนั้นซากอสุภไม่ถนัด น้ำจิตไม่ควรภาวนากรรม ก็ให้เว้นเสียอย่ายืนอยู่ในทิศอันั้น ให้ไปยืนอยู่ในที่ได้เห็นซากอสุภถนัด

  น้ำจิตจะได้ควรแก่กรรมฐานภาวนา และอย่ายืนในที่ใต้ลมกลิ่นอสุภจะเบียดเบียน จิตจะฟุ้งซ่านไปในอารมณ์ต่าง ๆ อย่ายืนข้างเหนือฝูง อมุนษย์ที่สิ่งอยู่ในซากอสุภนั้นจะโกรธแล้วจะกระทำความฉิบหายให้ต่าง ๆ พึงให้พระโยคาพจรหลีกเลี่ยงเสียสักหน่อย อย่ายืนข้างเหนือลมยิ่งนัก อนึ่งเมื่อจะยืนนั้นอย่าให้ใกล้นัก อย่ายืนให้ชิดเท้านักชิดศีรษะนัก เพราะว่าพระโยคาพจรยืนไกลซากอสุภมิได้ปรากฏประจักษ์แจ้ง ยืนใกล้นักเกิดภัยอันตรายยืนชิดเท้าชิดศีรษะนัก   จะมิได้พิจารณาเห็นอสุภสิ้นทั้งหลาย เหตุดังนั้นพระโยคาพจรอย่ายืนให้ใกล้นัก พึงยืนในที่ท่ามกลางแห่งตัวอสุภอันเป็นที่สบายเมื่อยืนอยู่ดังนี้

   ผิว่าก้อนศิลามีอยู่ริมรูปอสุภนิมิต แลก้อนศิลานั้นปรากฏแก่จักษุของพระโยคาพจร ก็ให้พระโยคาพจรสังเกตกำหนดให้รู้ตระหนักว่า ก้อนศิลาอยู่ตรงนี้ อสุภนิมิตอยู่ตรงนี้ สิ่งนี้คือก้อนศิลา สิ่งนี้คืออสุภนิมิต อนึ่งผิว่าจอมปลวกอยู่ใกล้ซากอสุภ ก็พึงให้พระโยคาพจรกำหนดให้รู้ตระหนัก ว่าจอมปลวกอันนี้สูงต่ำเล็กใหญ่และดำขาวยาวสั้นกลมเป็นปริมณฑล แล้วพึงให้กำหนดสืบไปว่าจอมปลวกอยู่ตรงนี้ อสุภนิมิตนี้ สิ่งนี้คือจอมปลวก สิ่งนี้คืออสุภนิมิต

   อนึ่งผิว่าต้นไม้มีใกล้ซากอสุภ ก็พึงให้พระโยคาพจรกำหนดให้แน่ ว่าไม้นี้เป็นไม้โพไทรไม้เต่าร้างไม่เลียบ สูงต่ำดำขาวเล็กใหญ่อย่างนี้ ๆ แล้วให้กำหนดต่อไปว่า ไม่อยู่ตรงนี้ ซากอสุภอยู่ตรงนี้ สิ่งนี้ต้นไม้สิ่งนี้คือซากอสุภนิมิต ผิว่ากอไม้อยู่ใกล้ซากอสุภก็พึงกำหนดให้รู้ว่า กอไม้อันนี้เป็นกอไม้เหยี่ยว อันนี้เป็นกอชบา อันนี้เป็นกอว่านช้าง กอนี้สูง กอนี้ต่ำ กอนี้เล็ก กอนี้ใหญ่ แล้วให้พึงกำหนดต่อไปว่ากอไม้อยู่ตรงนี้ อสุภนิมิตอยู่ตรงนี้ อนึ่งผิว่าเครือเถาอยู่ใกล้ซากอสุภ ก็พึงให้พระโยคาพจรกำหนดให้แน่ว่าเครือเถานี้เป็นเครือฟักเป็นเครือถั่วทอง เป็นเครือเถาหญ้านาง เป็นเครือเถากระพังโหม แล้วพึงกำหนดสืบต่อไปว่า เครือเถาอยู่ตรงนี้ อสุภนิมิตอยู่ตรงนี้ สิ่งนี้เป็นเครือเถา สิ่งนี้เป็นอสุภนิมิต พระโยคาพจรกำหนดดังนี้แล้ว

   อันดับนั้นพึงให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยอาการ ๖ คือถือโดยสี ๑ โดยเพศ ๑ โดยสัณฐาน ๑ โดยทิศ ๑ โดยที่ตั้ง ๑ โดยกำหนด ๑ เป็นอาการ ๖ ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยสีนั้น คือให้กำหนดว่าซากอสุภ อันนี้เป็นร่างกายของคนดำ อันนี้เป็นร่างกายของคนขาว อันนี้เป็นร่างกายของคนที่มีผิวหนังอันพร้อยลาย ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยเพศนั้น อย่าพึงกำหนดร่างกายอันเป็นเพศสตรี อันนี้เป็นเพศบุรุษ พึงให้กำหนดแต่ว่าซากอสุภอันนี้เป็นร่างกายแห่งบุคคลอันตั้งอยู่ในปฐมวัย อันร่างกายแห่งบุคคลอันตั้งอยู่มัชฌิมวัยอันนี้เป็นร่างกายแห่งบุคคลอันตั้งอยู่ในปัจฉิมวัย

   กำหนดโดยสัณฐานแห่งอุทธุมาตก ว่าสิ่งนี้เป็นสัณฐานศีรษะ สิ่งนี้เป็นสัณฐานคอ สิ่งนี้เป็นสัณฐานมือ สิ่งนี้เป็นสัณฐานท้อง สัณฐานนาภี สัณฐานสะเอว เป็นสัณฐานขา สิ่งนี้เป็นสัณฐานแข้ง สิ่งนี้เป็นสัณฐานเท้า กำหนดโดยทิศนั้นคือให้กำหนดว่า ในซากอสุภนี้มีทิศ ๒ ทิศ คือทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน ท่องกายเบื้องต่ำ ตั้งแต่นาภีลงมาเป็นทิศเบื้องต่ำ ท่อนกายบน ตั้งแต่นาภีขึ้นไปเป็นทิศเบื้องบน นัยหนึ่งพึงให้พระโยคาพจรกำหนดทิศที่ยืน แลทิศที่อยู่แห่งซากอสุภ ว่าอาตมายืนอยู่ในทิศอันนี้ ซากอสุภกลิ้งอยู่ในทิศอันนี้ ให้กำหนดทิศเป็น ๒ อย่างดังนี้

  ซึ่งว่าให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยที่ตั้งนั้น พึงให้กำหนดว่าซากอสุภที่กลิ้งอยู่นี้ มืออยู่ที่นี้ เท้าอยู่ที่นี้ ศีรษะอยู่ดังนี้ ท่ามกลางกายอยู่ที่นี้ นัยหนึ่งพึงให้กำหนดที่ยืนแห่งตน แลที่อยู่แห่งซากอสุภ ว่าอาตมายืนอยู่ที่นี้ ซากอสุภกลิ้งอยู่ที่นี้ พึงให้กำหนดที่ตั้งเป็น ๒ อย่างดังนี้ จงว่าให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยปริเฉทนั้น คือให้กำหนดว่าซากอสุภนี้กำหนดในเบื้องต่ำด้วยเท้า กำหนดในเบื้องบนด้วยปลายผม กำหนดโดยกว้างด้วยหนังเต็มไปด้วยเครื่องเน่า ๑๒ สิ่งสิ้นทั้งนั้น นัยหนึ่งว่าให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยปรเฉทนั้น คือให้กำหนดหัตถาทิอวัยวะสิ่งนี้เป็นมือสิ่งนี้เป็นศีรษะ สิ่งนี้เป็นกลางตัวเเห่งอุทธุมาตกอสุภนิมิต พระโยคาพจรพิจารณาที่เท่าใดว่าเป็นอุทธุมาตกะ ก็พึงให้กำหนดเอาที่เท่านั้นว่าหัตถาทิอวัยวะทั้งปวงนี้ก็คงจะพองขึ้นเห็นดังนี้ น่าเกลียดน่าหน่าย

  อนึ่งพระโยคาพจรไม่ควรพิจารณาร่างกายสตรีภาพให้เป็นอุทธุมาตกะกรรมฐาน เหตุว่ากายสตรีภาพไม่ควรบุรุษจะพิจารณาเป็นพระกรรมฐาน ร่างกายแห่งบุรุษไม่ควรสตรีภาพจะพิจารณาเป็นพระกรรมฐาน ร่างกายแห่งบุรุษแลร่างกายแห่งสตรีภาพนี้เป็นวิสภาคแก่กัน อสุภรมณ์มิได้ปรากฏในรูปกายอันเป็นวิสภาค ๆ เป็นเหตุจะให้น้ำจิต กำเริบฟุ้งซ่านไปด้วยกิเลสมีราคะเป็นต้น ข้อหวงมีพระบาลีในอรรถกถามัชฌิมนิกายว่า   อุคฺฆาฏิตาปิ หิ อิตฺถิ ปุริสสฺส จิตฺตํ ปริยาทาย ติฏฐติ   เนื้อความว่าแท้จริงร่างกายแห่งสตรีภาพนั้น แม้ว่าจะเป็นอุทธุมาตกเท่าพองอยู่ก็ดี ก็อาจยังจิตแห่งบุรุษให้เหือดแห้งไปด้วยกามราคะได้ เหตุดังนี้ คือให้พระโยคาพจรถือเอาอุทธุมาตกนิมิตโดยอาการ ๖ แต่ร่างกายอันเป็นสภาพสิ่งเดียว พระโยคาพจรจำพวกใดได้เสพพระกรรมฐานแลรักษาธุดงค์เป็นต้น

   แต่ครั้งพระศาสนาพระพุทธเจ้าปางก่อน พระโยคาพจรจำพวกนั้นแต่พอเล็งแลดูอุทธุมาตกอสุภ ก็จะได้ปฏิภาคนิมิตโดยง่าย มิพักลำบาก ผิว่าพระโยคาพจรเล็งแลดูอุทธุมาตกอสุภแล้ว ปฏิภาคนิมิตได้ปรากฏ ก็พึงให้พิจารณาอุทธุมาตกนิมิตโดยอาการดังนี้แล้ว ปฏิภาคนิมิตยังไม่บังเกิดปรากฏ ก็พึงให้พระโยคาพจรพระองค์นั้น   ถืออุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยอาการ ๕ อีกเล่า อาการ ๕ นั้นคือให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยที่ต่อ ๑ โดยระหว่าง ๑ โดยที่ต่ำ ๑ โดยที่สูง ๑ โดยรอบคอบ ๑ เป็นอาการ ๕

  สิริทั้งใหม่ทั้งเก่าเข้าเป็น ๑๑ ซึ่งว่าให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยที่ต่อนั้น ให้พิจารณาเอาแต่ที่ต่อใหญ่อันปรากฏแลที่ต่อในร่างกายมีถึง ๑๘๐ คือ ที่ต่อน้อย ๑๖๖ ที่ต่อใหญ่ ๑๔ ที่ต่อน้อยนั้นเล็กละเอียดนักอย่าพึงพิจารณาเอาเป็นอารมณ์เลย ให้พิจารณาเองแต่ที่ต่อใหญ่อันปรากฏ คือ มือเบื้องขวามีที่ต่อ ๓ มือเบื้องซ้ายมีที่ต่อ ๓ เท้าซ้ายเท้าขวามีที่ต่อข้างละ ๔ คือมีที่ต่ออันละ ๑ สะเอวมีที่ต่ออัน ๑ เป็นที่ต่อใหญ่ ๑๔ แห่งดังนี้

  ชื่อว่าให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยระหว่างนั้น คือให้พพิจารณาโดยระหว่างทั้งปวง คือระหว่างแห่งมือเบื้องขวาแลข้างเบื้องขวา คือระหว่างมือเบื้องซ้ายแลเบื้องซ้าย คือท่ามกลางเท้าทั้ง ๒ คือนาภีเป็นที่ท่ามกลางแห่งท้องคือ ช่องแห่งหู (อิติศัพท์เป็นอรรถแห่งอาทิศัพท์สงเคราะห์เอาช่องจมูกเป็นต้นด้วยนั้น ) อธิบายว่าให้พระโยคาพจรกำหนดให้รู้แท้ว่า อทุธุมาตก อสุภนี้หลับตาลืมตาอ้าปากหุบปาก ซึ่งว่าให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยที่ต่ำนั้น คือให้พระโยคาพจรกำหนดที่ลุ่มที่ต่ำในอุทธุมาตก คือ หลุมคอ หลุมคอภายในปาก

  นัยหนึ่งว่าให้กำหนดเอาที่ยืนของตนว่า อาตมะยืนอยู่ในที่ต่ำ อุทธุมาตกอยู่ในที่สูง กำหนดที่ต่ำนั้นพึงกำหนดให้เป็น ๒ อย่าง ดังนี้ ซึ่งว่าให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนี้มีที่สูงนั้น คือให้พระโยคาพจรกำหนดว่า อุทธุมาตกอสุภนี้มีที่สูง ๓ แห่ง คือ เข่า ขา หน้าผาก นัยหนึ่งว่า ให้กำหนดที่ยืนของตน ว่าอาตมายืนอยู่ที่สูง ซากอสุภอยู่ในที่ต่ำ กำหนดที่สูงนั้นพึงให้กำหนดเป็น ๒ อย่างดังนี้

   ซึ่งว่าให้ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยรอบคอบนั้น คือให้พระโยคาพจรกำหนดอุทธุมาตกอสุภนั้นให้จงทั่ว เมื่อพระโยคาพจรหยั่งปัญญา ให้สัญจรไปในอุทธุมาตกอสุภ โดยอาการ ๕ ดังนี้แล้ว ที่อันใดในซากอสุภปรากฏโดยอาการเป็นอุทธุมาตก ก็พึงให้พระโยคาพจรตั้งจิตไว้ว่าที่อันนี้เป็นอุทธุมาตก ผิว่าที่อันใดอันหนึ่งมิได้ปรากฏโดยอาการเป็นอุทธุมาตกเลย ก็ให้พระโยคาพจรกำหนดเอากายเบื้องบนมีพื้นท้องเป็นที่สุด เหตุที่อันนั้นเน่าพองยิ่งกว่าที่ทั้งปวงแล้ว พึงตั้งจิตไว้ว่า ที่อันนี้เป็นอุทธุมาตก พระโยคาพจรพึงถือเอานิมิตในซากอสุภนั้นให้ดีด้วยสามารถอุทธุมาตกนิมิต มีพรรณเป็นต้น แลมีสันธิเป็นปริโยสานอันควรแก่กล่าวแล้ว พึงตั้งสติให้ดีแล้วพิจารณาเนือง ๆ

  เมื่อพระโยคาพจรพิจารณานั้น จะยืนก็ได้จะนั่งก็ได้ไม่มีกำหนด แต่ทว่าอย่าอยู่ให้ไกลนักใกล้นัก อยู่แต่พอประมาณ แล้วพิจารณาเห็นอานิสงส์ในอสุภกรรมฐานนั้น สำคัญว่าดวงแก้ว ตั้งไว้ซึ่งความเคารพรักใคร่จงหนัก ผูกจิตไว้ในอารมณ์ ถืออสุภนั้นให้มั่นด้วยดำริว่า อาตมาจะพ้นจากชราแลมรณะด้วยวิธีปฏิบัติอันนี้แล้ว ลืมจักษุขึ้นเล็งแลดูอสุภถือเอาเป็นนิมิตแล้ว พึงจำเริญบริกรรมภาวนาไปว่า   อุทฺธุมาตกํ ปฏิกุลํ อุทฺธุมาตกํ ปฏิกุลํ   ร้อยคาบพันคาบ

   ลืมจักษุขึ้นแล้วเล็งแลดูแล้วพึงหลับลงพิจารณาเล่า ควรจะลืมจึงจะลืมควรจะหลับจึงหลับ เมื่อพระโยคาพจรกระทำเนือง ๆ ดังนี้ ได้ชื่อว่าถือเอาอุคคหนิมิตเป็นอันดี ปุจฉาถามว่า ถือเอาอุคคหนิมิตเป็นอันดีนั้นในกาลใด วิสัชนาว่า เมื่อพระโยคาพจรลืมจักษุขึ้นเล็งแลดูแล้วหลับลงพิจารณาเล่า อันว่านิมิตคือซากอสุภนั้น เข้าไปปรากฏในละเวกหว่างวิถีจิตของพระโยคาพจรเหมือนเมื่อแลดู ด้วยจักษุ เป็นอันเดียวกันในกาลใด ก็ได้ชื่อว่าพระโยคาพจรถือเอาอุคคหนิมิตเป็นอันดี พิจารณาเป็นอันดีกำหนดเป็นอันดีดังนี้แล้ว

   ผิว่าพระโยคาพจรนั้นมิอาจถึงที่สุดสำเร็จแห่งภาวนา คือ ปฐมฌานในที่นั้น ก็พึงให้กลับมาสู่เสนาสนะ เมื่อจะกลับมานั้น พึงปฏิบัติให้เหมือนเมื่อแรกจะไปพิจารณาซากอสุภ ให้กลับมาแต่ผู้เดียวอย่ามีเพื่อ พึงให้กระทำอสุภกรรมฐานนั้นไว้ในใจ พึงตั้งจิตไว้ให้มั่น สำรวมอินทรีย์ไว้ให้สงบอยู่ภายใน อย่าทำน้ำใจอยู่ภายนอก เมื่อจะออกจากป่าช้านั้น พึงให้กำหนดหนทางกลับให้ตระหนักแน่ว่าหนทางอันนี้ไปข้างเหนือข้างใต้ตะวันตกตะวันออก หนทางอันนี้แวะไปซ้าย หนทางอันนี้แวะไปขวา มีก้อนศิลาแลจอมปลวกต้นไม้ แลกอไม้เครือเขาเถาวัลย์เป็นสำคัญอยู่ข้างนี้ ๆ พระโยคาพจรกำหนดหนทางแล้วกลับมาสู่เสนาสนะด้วยประการดังนี้แล้ว

   เมื่อจะจงกรมนั้นพึงให้จงกรมในประเทศพื้นแผ่นดิน อันจำเพาะหน้าต่อทิศที่อยู่แห่งอสุภนิมิต แม้จะนั่งภาวนาก็พึงปูอาสนะให้เฉพาะหน้าสู่ทิศที่อยู่แห่งอสุภนิมิตนั้น ถ้ามีแหวแลต้นไม้แลรั้วกีดขวางอยู่ พระโยคาพจรมิอาจจะเดินจงกรม มิอาจจะตกแต่งอาสนะที่นั่งให้จำเพาะสู่ทิศอันนั้นได้ เหตุไม่มีที่ว่างที่เปล่า ก็อย่าพึงให้พระโยคาพจรเล็งแลดูทิศที่อยุ่แห่งอสุภนิมิต พึงให้ตั้งจิตจำเพาะต่อทิศที่อยู่แห่งอสุภนิมิตแล้ว ก็พึงให้เดินจงกรมแลนั่งภาวนาในประเทศอันสมควรนั้นเถิด ฯ

   จักวินิจฉัยในเนื้อความ ๓ ข้อ คือ กำหนดในนิมิตโดยรอบคอบ ๑ คือ ถือเอาอุทธุมาตกอสุภนิมิตโดยอาการสิบเอ็ด ๑ คือพิจารณาหนทางอันไปแลมา ๑ เป็นเนื้อความ ๓ ข้อดังนี้ ซึ่งว่าให้พระโยคาจรกำหนดในที่นิมิตโดยรอบคอบนั้น มีคุณานิสงส์คืออุทธุมาตกอสุภนิมิตในเขลาเอันมีควรจะไป คือ เวลาสังวัธยายแลกำหนดนิมิตมีไม้เป็นต้นโดยรอบคอบแล้วลืมจักษุขึ้นเล็งแลดูซากอสุภ เพื่อจะถืออุคคหนิมิต

   อันว่าอุทธุมาตกอสุภนั้น ปรากฏดุจลุกขึ้นหลอกหลอนแล้วยืนอยู่ มิฉะนั้นปรากฏดุจหนึ่งว่าเข้าครอบงำพระโยคาพจร มิฉะนั้น ปรากฏดุจแล่นไล่ติดตามมา เมื่อพระโยคาพจรเห็นอารมณ์อันพึงกลัว แปลกประหลาดเหมือนภูตปีศาจดังนั้น ก็จะมีจิตกำเริบเป็นสัญญาวิปลาสปราศจากสมปฤดี ดุจคนขลาดผีแลบ้าผีสิงแล้วจะสะดุ้งตกใจ ให้กายเกิดกัมปนาทมีโลมชาติอันชูชันทั่วสรรพางค์

  เหตุพระกรรมฐานทั้ง ๓๘ ซึ่งจำแนกไว้ในพระบาลีนั้น พระกรรมฐานบ่อนใดบ่อนหนึ่ง ซึ่งจะมีอารมณ์อันพึงกลัวเหมือนอุทธุมาตกอสุภกรรมฐานนี้หามิได้ พระโยคาพจรจะจำเริญพระกรรมฐานบ่อนนี้มักฉิบหายจากฌาน เหตุว่าพระกรรมฐานบ่อนนี้มีอารมณ์อันพิลึกพึงกลัวยิ่งนัก เหตุดังนี้ พระโยคาพจรพึงหยุดยั้งตั้งสติให้มั่นกระทำอาโภคจิตเนือง ๆ ว่า ประเพณีซากอสุภซึ่งจะลุกขึ้นหลอกแล้วแล่นไล่ติดตามมานั้นไม่มีอย่าง ผิว่าก้อนศิลาแลเครือเขาแล่นไล่ติดตามมาได้ ซากอสุภก็จะพึงลุกขึ้นหลอกหลอนแล่นไล่ติดตามกันดังนั้น

   อนึ่ง ก้อนศิลาแลเครือเขาแล่นไล่ติดตามไม่ได้ ซากอสุภก็มิอาจจะแล่นไล่ติดตามได้เหมือนฉะนั้น อันว่าอาการอันเห็นปรากฏนี้ เกิดเพราะสัญญาอันกำหนดภาวนาจิต มีแต่มาตรว่าสัญญาแห่งท่าน ดูก่อนภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสาร อันนี้พระกรรมฐานปรากฏแก่ท่านแล้วอย่ากลัวเลย พระโยคาพจรกุลบุตรบรรเทาเสียซึ่งสะดุ้งตกใจ ยังปราสาทเลื่อมใสให้บังเกิดแล้ว พึงยังภาวนาจิตให้สัญจรไปในอุทธุมาตกนิมิตนั้นเถิด พระโยคาพจรก็จะสำเร็จภาวนาวิเศษ คือ ปฏิภาคอัปปนาปฐมฌานในเบื้องหน้า

  พระโยคาพจรกำหนดนิมิตโดยรอบคอบนั้นมีคุณานิสงส์ คือ มิได้เป็นที่หลงใหลแห่งน้ำจิตดังนี้ พระโยคาพจรยังนิมิตตคาหะ คือ ถือเอาอุทธุมาตกนิมิตโดยอาการ ๑๑ ให้สำเร็จแล้วก็จะได้คุณานิสงส์ คือ น้อมพระกรรมฐานมาผูกไว้ในจิต อุคคหนิมิตจะบังเกิดแก่พระโยคาพจร ก็เพราะที่ลืมจักษุขึ้นเล็งแลอุทธุมาตกอสุภ เมื่อพระโยคาพจรยังภาวนาจิตให้สัญจรไปในอุคคหนิมิต แล้วก็จะได้ซึ่งปฏิภาคนิมิต

  เมื่อยังภาวนาจิตให้สัญจรไปในปฏิภาคนิมิตแล้ว ก็จะได้สำเร็จอัปปนา คือ ปฐมฌาน พระโยคาพจรประดิษฐานอยู่ในอัปปนาคือ ปฐมฌานแล้วจะจำเริญพระวิปัสสนา พิจารณาองค์ฌานเป็นอนิจจังทุกขัง อนัตตาแล้ว ก็จะได้สำเร็จพระอรหัตตัดกิเลสขาด เข้าสู่พระปรินิพพานควรแก่การกำหนด พระโยคาพจรยังนิมิตคาหะ คือถือเอาอุทธุมาตกนิมิตให้สำเร็จโดยอาการ ๑๑ มีคุณานิสงส์ คือจะน้อมเอากระกรรมฐานมาผูกในจิตดังนี้ แลซึ่งว่าให้พระโยคาพจรพิจารณาทางอันไปแลจะมีคุณานิสงส์ คือ เป็นเหตุจะยังน้ำจิตให้ดำเนินไปสู่กรรมฐานวิถีนั้นคือ พระโยคาพจรจำพวกนี้ถือเอาซึ่งอุคคหนิมิตในอุทธุมาตกอสุภแล้วกลับมานั้น

   ผิว่ามีทายกพวกใดพวกหนึ่งมาพบเข้าในละเเวกหว่างหนทาง แล้วถามถึงดิถี วัน คืน ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้า วันนี้เป็นวันอะไร มิฉะนั้นเขาถามถึงปริศนามิฉะนั้น เขาปราศรัยสั่งสนทนาเป็นสุนทรกถา พระโยคาพจรจะนิ่งเสียด้วยอาโภคจิตคิดว่า ข้าเรียนพระกรรมฐานอยู่ต้องการอะไร ที่ข้าจะบอกจะกล่าวเจรจาตอบ จะนิ่งเสียด้วยอาโภคจิตดังนี้แล้ว จะเดินไปนั้นไม่สมควร ๆ จะบอกเนื้อความตามเหตุ ถ้าทายกเขาถามวันพึงบอกวัน ถามถึงปริศนาพึงแก้ปริศนา ผิว่าไม่รู้พึงบอกว่าไม่รู้

  อนึ่ง พึงปราศรัยสนทนาโดยปฏิสันถาร เมื่อพระโยคาพจรประกอบต่าง ๆ อย่างพรรณนามานี้ อุคคหมินิตที่พระโยคาพจรได้นั้น ยังไม่แม่นยำยังอ่อนอยู่ ก็จะเสื่อมเสียจากสันดาน พระโยคาพจร เมื่ออุคคหนิมิตเสื่อมสูญจากสันดานดังนี้ก็ดี แม้ว่าทีทายกมาถาม ดิถีขึ้นแรมก็พึงบอกให้แก่เขา ถ้าเขาถามปริศนาและโยคาพจรนั้นมิได้รู้ ก็พึงบอกแก่เขาว่า ข้าไม่รู้ ผิว่ารู้ก็ควรจะกล่าวแก้โดยเอกเทศ พึงให้ปราศรัยสนทนาตอบทายกโดยอันสมควร

   เห็นภิกษุอาคันตุกมาสู่สำนักแห่งตน ก็พึงให้กระทำปราศรัยสนทนาด้วยอาคันตุกภิกษุ อนึ่ง พึงให้พระโยคาพจรบำเพ็ญขุททกวัตรอันน้อยเป็นต้น คือเจติยังคณวัตร ปฏิบัติกวาดแผ้วเป็นต้นในลานพระเจดีย์ ๑ โพธิยังคณวัตร ปฏิบัติในลานพระมหาโพธิ ๑ อุโปสถาคารวัตร ปฏิบัติในโรงอุโบสถ ๑ โภชนาสาลาวัตร ปฏิบัติในโรงฉัน ขันตาฆราวัตร ปฏิบัติในโรงไฟ ๑ อาจาริยวัตรปฏิบัติแก่อาจารย์ ๑ อุปัชฌายวัตร ปฏิบัติพระอุปัชฌายะ ๑ อาคันตุกวัตร ปฏิบัติแก่ภิกษุแก่ภิกษุอาคันตุก ๑ คมิยะวัตร ปฏิบัติแก่ภิกษุเดินทาง ๑

   เมื่อพระโยคาพจรบำเพ็ญขุททกวัตรเป็นต้นดังนี้ อันว่าอุคคหนิมิตอันอ่อนแรกได้ ก็จะฉิบหายจากสันดานแห่งพระโยคาพจร แม้ว่าพระโยคาพจรจะปรารถนากลับคืนไป ถือเอานิมิตอันนั้นใหม่ ก็มิอาจจะไปสู่ประเทศป่าช้านั้นได้ เหตุว่าฝูงผีมนุษย์เนื้อร้ายหากหวงแหนพิทักษ์รักษาอยู่ อนึ่ง แม้พระโยคาพจรกลับไปสู่ป่าช้านั้นได้ก็ดี อุทธุมาตกอสุภนั้นก็อันตรธานเหตุอุทธุมาตกอสุภนั้นไม่ตั้งอยู่นาน ตั้งอยู่วันหนึ่งสองวันแล้วหายกลายเป็นซากอสุภอื่น มีวินีลกอสุภเป็นต้น

  พระโยคาพจรมิอาจพิจารณาเอาอุคคหนิมิตนั้นคืนได้ เหตุอารมณ์นั้นต่างไป แต่บรรดาพระกรรมฐานบ่อนใดบ่อนหนึ่ง จะได้ด้วยยากอย่างอุทธุมาตกอสุภกรรมฐานนี้หามิได้ เหตุดังนั้นเมื่ออุคคหนิมิตหายไป เพราะบอกดิถีวันขึ้นแรมแก่ทายกเป็นต้นด้วยประการดังนี้แล้ว พึงพิจารณามรรคาวิถีที่ตนไปแลมา ตราบเท่าถึงที่อันคู้เข้าซึ่งบัลลังก์สมาธิแล้วแลนั่งนั้น ว่าอาตมาะออกจากวิหารที่อยู่โดยประตูอันนี้ ได้ไปสู่หนทางจำเพาะหน้าสู่ทิศอันโน้น ไปถึงที่นั้น อาตมะแวะไปซ้าย ไปถึงที่นั้นอาตมะแวะไปขวา ไปถึงอันนั้นมีก้อนศิลาเป็นสำคัญ ถึงที่อันนั้นมีจอมปลวกแลต้นไม้กอไม้เครือเขาเถาวัลย์อันใดอันหนึ่งเป็นสำคัญ

  อาตมะไปโดยหนทางอันนั้นพบซากอสุภอยู่ที่โน้น ยืนอยู่ที่นั้นหันหน้าไปสู่ทิศอันโน้น แลพิจารณานิมิตโดยรอบคอบดังนี้ ถือเอาอสุภนิมิตดังนี้ ออกจากป่าโดยทิศชื่อโพ้นแล้วสำเร็จกิจสิ่งนั้น ๆ กลับมาโดยหนทางอันนี้ นั่งอุรุพันธาสน์อยู่ในที่นี้ เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาดังนี้ อุคคหนิมิตอันหายไปก็จะปรากฏกลับคืนดุจหนึ่งว่าตั้งอยู่จำเพาะหน้า พระกรรมฐานของพระโยคาพจรก็จะไต่ไปดำเนินไปสู่มนสิการวิถีโดยอาการก่อน พระโยคาพจรพิจารณาหนทางอันไปแลมานั้นมีคุณานิสงส์คือ เหตุจะยังน้ำจิตให้ไต่ไปสู่กรรมฐานวิถีดังพรรณนามานี้

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com