พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๑๖

   จักวินิจฉัยในพรหมวิหารสืบต่อไป  อนุสฺสติกฺมมฏฺานานนฺตรํ อุทิฏฺเสุ ปน เมตตฺตากรุณามุทิตาอุเปกขาติ อิเม จตูสุ พฺรหฺม วิหาเรสุ เมตฺตํ ภาเวตกาเมน ฯลฯ ปจฺจกฺขิตพฺโพ   แลพรหมวิหารที่สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้า ตรัสสำแดงไว้ในลำดับแห่งอนุสสตินั้นมี ๔ ประการ คือ เมตตาประการ ๑ กรุณาประการ ๑ มุทิตาประการ ๑ อุเบกขาประการ ๑ เป็น ๔ ประการด้วยกัน พระโยคาพจรผู้เป็นอาทิกัมมิกกุลบุตรแรกจะเล่าเรียน แลมีความปรารถนาจะจำเริญเมตตาพรหมวิหารนั้น ให้ตัดเสียซึ่งปลิโพธ (ความกังวล) ทั้ง ๑๐ ประการ มีอาวาสปลิโพธ (ความกังวลด้วยอาวาส) เป็นอาทิให้ขาดแล้ว พึงเข้าไปสู่สำนักอาจารย์อันเป็นกัลยาณมิตร เรียนเอาซึ่งพระกรรมฐานแล้ว เพลาเข้ากระทำภัตตกิจสำเร็จแล้ว พึงนั่งในเสนาสนะอันสงัดให้สบายแล้ว พึงพิจารณาให้เห็นโทษ ในโทโสพิจารณาให้เห็นอานิสงส์ในขันติ อันโทโสนี้โยคาพจรพึงละเสียได้ด้วยพระเมตตาภาวนา

   แลขันตินั้น พระโยคาพจรจะพึงถึงด้วยจิตแห่งตนแต่ทว่ามิได้เห็นโทษในโทโสแล้วก็มิอาจจะละเสียซึ่งโทโสนั้นได้ มิได้เห็นอานิสงส์ในกิริยาอันอดกลั้นได้แล้ว ก็บ่อาจจะละได้ซึ่งขันติ เหตุดังนั้นพระโยคาพจรพึงพิจารณาให้เห็นโทษในโทโสโดยพระสูตรเป็นต้นว่า   ทุฏฺโ โข อาวุโส โทเสน อภิภูโต ฯลฯ ปาณํปิ หนตีติ   ดูกรอาวุโสบุคคลอันโทโสประทุษร้ายมีสันดานอันโทโสครอบงำนั้น ย่อมฆ่าเสียซึ่งสัตว์ให้ถึงแก่มรณภาพสิ้นชีวิต ด้วยอำนาจแห่งโทโส โทโสนั้นย่อมกระทำให้บุคคลทั้งปวงเศร้าหมองเดือดร้อนทนทุกขเวทนาในจตุราบาย พึงพิจารณาซึ่งโทษแห่งโทโสด้วยปาระการดังนี้แล้ว พึงพิจาณาให้เห็นอานิสงส์แห่งขันติตามพระพุทธฎีกาโปรดประทานไว้ว่า   ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา นิพฺพานํ ฯลฯ ขนฺตฺยาภิยฺโยธ วิชฺชติ  แปลว่าขันติ อันว่ากิริยา อันอดใจนี้เป็นตปะคุณอันประเสริฐ บังเกิดเป็นเหตุที่จะเผาเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งปวงให้พินาศฉิบหาย สมเด็จพระพุทธเจ้าทั้งหลายเห็นปานดังพระตถาคตนี้ย่อมสรรเสริญขันติว่า เป็นทางพระนิพพานอันอุดมเที่ยงแท้ บุคคลผู้ใดมีอธิวาสขันติเป็นกำลัง บุคคลผู้นั้นตถาคตเรียกว่าเป็นขีณาสวพราหมณ์อันประเสริฐ

   เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาเห็นโทษแห่งโทโสเห็นอานิสงส์แห่งขันติดังนี้ แล้วก็พึงประกอบจิตไว้ในขันติมีอานิสงส์อันปรากฏแล้วข่มเสียซึ่งโทโสอันมีโทษอันตนเห็นแล้ว เมื่อแรกจะปรารภจำเริญซึ่งเมตตานั้น พึงให้รู้จักบุคคล ๔ จำพวกจะทำร้ายซึ่งเมตตาภาวนานั้น คือบุคคลอันมิได้เป็นที่รักแห่งตนจำพวก ๑ คือบุคคลอันมัธยัสถ์มิได้เป็นที่รักที่ชังแห่งตนจำพวก ๑ คือบุคคลอันเป็นเวรจำพวก ๑ คือบุคคล ๔ จำพวกนี้พระโยคาพระโยจรอย่าพึงจำเริญเมตตาไปถึงก่อน เหตุไฉนจึงมิให้จำเริญเมตตาในบุคคล ๔ จำพวกนี้ก่อน อธิบายว่า พระโยคาพจรจะตั้งซึ่งบุคคลอันมิได้เป็นที่รักไว้ในที่อันรักใคร่นั้นลำบากจิตยิ่งนัก อนึ่งจะเอาสหายที่รักนักไปตั้งไว้ในที่อันมิได้รักได้ชังนั้นก็จะเป็นอันลำบาก ถ้าทุกข์ร้อนอันใดมาตรว่าแต่น้อยแห่งสหายนั้นบังเกิดแล้ว ตนนั้นก็ย่อมถึงซึ่งอาการอันร่ำไรอาลัยถึง

   อนึ่งจะเอาบุคคลอันมัธยัสถ์มาตั้งไว้ที่อันเป็นที่รักเล่า ก็ลำบากที่จะกระทำได้ อนึ่งระลึกไปถึงบุคคลอันเป็นเวรแก่ตนนั้น ความเกิดก็จะบังเกิดเหตุมีสิ่งประทุษร้ายแก่ตนไว้ในก่อนเมตตาที่พระโยคาพจรจำเริญไปนั้นมิอาจจะตั้งได้ เหตุดังนั้น จึงห้ามมิให้จำเริญซึ่งเมตตาไปถึงบุคคล ๔ จำพวกนั้นก่อน อนึ่งอย่าจำเริญเมตตาไปเฉพาะมาตุคาม อย่าจำเริญไปในคนตาย ถ้าพระโยคาพจรปรารภซึ่งมาตาคามแล้ว แลจำเริญเมตตาไปโดยเฉพาะมาตุคามนั้น ฉันทราคะ ก็จะบังเกิดประดุจบุตรแห่งมหาอำมาตย์ผู้หนึ่ง มหาเถรผู้เป็นอาจารย์บอกว่าให้จำเริญเมตตาไปในบุคคลที่รัก แลบุตรอำมาตย์นั้นมีภรรยาเป็นที่รัก ก็จะจำเริญซึ่งเมตตาไปเฉพาะต่อภรรยาแห่งตน เมื่อจำเริญไปดังนั้น จิตก็มืดคลุ้มไปด้วยราคะอันบังเกิดขึ้น แลบุตรอำมาตย์นั้นจะไปหาภรรยาแห่งตน บ่มิอาจซึ่งจะกำหนดปนะตูได้ ก็กระทำภิตติยุทธ์ คือรบกับฝาสิ้นราตรียังรุ่งบ่มิอาจจำเริญซึ่งเมตตากรรมฐานได้

   เหตุดังนั้นจึงห้ามมิให้จำเริญซึ่งเมตตาไปในมาตุคามโดยส่วนอันเฉพาะแลบุคคลอันตายนั้น ถ้าพระโยคาพจรแผ่เมตตาไปถึง เมตตาภาวนาแห่งพระโยคาพจรนั้น ก็จะมิได้ถึงอุปจารฌานแล อัปปนาฌานเหตุดังนั้น จึงห้ามมิให้จำเริญเมตตาไปในคนที่ตาย อาศัยเหตุฉะนี้พระโยคาพจรผู้จำเริญเมตตานั้นพึงตั้งเมตตาจิตลงในอาตมาก่อนว่า   อหํ สุขิโต โหมิ นิทุกฺโข โหมิ อเวโร โหมิ อพฺยาปชฺโฌ โหมิ อนีโฆ โหมิ สุขี อตฺตนํ ปริหรามิ   แปลเนื้อความว่า  อหํ อันว่าข้า   สุขิโต เป็นสุข นิทุกฺโข   หาทุกข์มิได้ โหมิ   จงมี ในบทคำรบ ๒ นั้นว่า  อหํ  อันว่าข้า  อเวโร หาเวรมิได้ อพฺยาปชฺโฌ หาพยาบาทมิได้ อนีโฆ หาทุกข์บ่มิได้  จงรักษาบัดนี้  อตฺตานํ ซึ่งตน  สุขี ให้เป็นสุข ให้พระโยคาจรจำเริญเมตตาในตนดังนี้จงเนือง ๆ ก่อน ซึ่งว่าให้จำเริญเมตตาในตนเอง   อหํ สุขิโต โหมิ  เป็นต้นดังนี้ด้วย สามารถจะให้กระซึ่งตนเป็นพยาน จะให้เห็นอธิบายว่า อาตมานี้มีความปรารถนาแต่ความเกลียดหน่ายทุกข์ฉันใด สัตว์หมู่อื่นก็ปรารถนาความสุขปฏิกูลเกลียดในความทุกข์ เหมือนกันกับอาตมาดังนี้

   เมื่อเห็นอธิบายดังนี้แล้ว จิตแห่งพระโยคาพจรนั้น ก็ปรารถนาที่จะให้สัตว์หมู่อื่นมีความสุขความเจิรญเหตุดังนั้นจึงให้พระโยคาพจรตั้งเมตตาในตนก่อน เมื่อตั้งเมตตาในตนแล้วลำดับนั้นบุคคลผู้ใดที่เป็นที่รักที่ชอบใจแห่งตน แลเป็นที่สรรเสริญคือเป็นอาจารย์แห่งตนแลคนเสมอกับอาจารย์ด้วยศีลคุณเป็นต้นก็ดี แลอุปัชฌาย์แห่งตนแลมีคุณเสมอกับอุปัชฌาย์ด้วยศีลคุณเป็นต้นก็ดี ก็ให้พระโยคาพจรจำเริญเมตตาไปในบุคคลผู้นั้น ระลึกถึงคุณที่เคยให้ปันซึ่งสิ่งของแห่งตน แลเคยกล่าววาจาเป็นที่รักเป็นอาทิแก่ตนในกาลมิฉะนั้นพึงระลึกถึงซึ่งคุณมีสภาวะเป็นที่เคารพเป็นที่สรรเสริญ มีศีลคุณแลสุตคุณเป็นต้นแห่งบุคคลผู้นั้น เพื่อจะให้พระเมตตาเป็นไปด้วยง่าย พึงจำเริญซึ่งเมตตาพรหมวิหารไปในบุคคลผู้นั้นโดยนัยผู้นั้นเป็นต้นว่า   เอส สปฺปุริโส สุขิโต โหตุ นิทุกฺโข  แปลเป็นเนื้อความว่า  เอส สปฺปุริโส   อันว่าท่านผู้เป็นสัตบุรุษนั้น   สุขิโต  เป็นสุข  นิทุกฺโข   ปราศจากทุกข์  โหตุ จงมี เอาบทดังนี้เป็นบริกรรมภาวนา แล้วจำเริญไปจงเนือง ๆ

   เมื่อจำเริญเมตตาไปในอุปัชฌาย์ผู้สั่งสอนดังนี้แล้ว ลำดับนั้น ให้จำเริญเมตตาไปในบุคคลอันตนจะพึงรัก มีมารดาบิดาเป็นต้น ลำดับนั้น จึงแผ่เมตตาไปในบุคคลอันตนมิได้รักมิได้ชังเป็นแต่อย่างกลาง ลำดับนั้น จึงแผ่เมตตาไปในบุคคลผู้เป็นเวร เมื่อแผ่เมตตาไปในบุคคลอันเป็นเวรนั้นถึงน้ำจิตนั้นตั้งเมตตาลงมิได้ อาศัยว่าคิดแค้นอยู่ด้วยหนหลัง คิดขึ้นมาถึงความหลังแล้ว มีโทโสบังเกิดขึ้นมาไม่เมตตาลงได้ ก็พึงกลับระลึกถึงบุคคลอันเป็นที่รัก มีครูอุปัชฌาย์อาจารย์เป็นต้นก่อนแล้ว ภายหลังจึงแผ่เมตตาไปในบุคคลอันเป็นเวรนั้น ถ้าจิตยังมีโทโสอยู่ ก็พึงให้โอกาสความสั่งสอนแต่ตนว่า  อเร กุชฺฌรปุริส   ดูกรบุรุษมักโกรธท่านไม่ได้ฟังธรรมเทศนาบ้าง หรือประการใดจึงมาเป็นเช่นนี้ นี่แน่ท่านเอ๋ย สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ทรงพระกรุณาโปรดไว้ว่ามหาโจรอันร้ายกาจหยาบช้า ตัดเสียอวัยวะใหญ่น้อยของบุคคลผู้ใดด้วยเลื่อยอันคมกล้ากระทำให้ลำบากเวทนาแทบบรรดาตาย ถ้าบุคคลนั้นมีใจโกรธแก่โจรทั้งหลายอันทำแล้วแก่ตนแล้ว ผู้นั้นจะได้ชื่อว่ากระทำตามคำสั่งสอนแห่งพระตถาคตหามิได้ ผู้ใดแลโกรธตอบแก่บุคคลอันโกรธก่อน ผู้นั้นได้ชื่อว่าลามกกว่าบุคคลอันโกรธก่อน บุคคลผู้ใดเห็นโกรธแลมิได้โกรธตอบ อดสู้ทนกลั้นสู้บรรเทาเสียได้ ผู้นั้นได้ชื่อว่าชนะสงคราม อันใหญ่หลวงยากที่ผู้อื่นจะผจญได้ อันมิได้โกรธตอบนั้นได้ชื่อว่าประพฤติให้เป็นประโยชน์ตนประโยชน์ท่าน

   ประโยชน์ตนนั้นอย่างไร อธิบายว่าคนที่ไม่โกรธนั้น ย่อมมีหทัยวัตถุอันมิได้เดือดร้อนพลุ่งพล่านระส่ำระส่ายความสบายนั้นมีมาก เพราะมีสันดานอันเย็นแล้ว เป็นที่สรรเสริญแห่งบัณฑิตชาติผู้มีปัญญาจะเป็นที่รักใคร่แห่งสรรพเทวดามนุษย์ถ้วนหน้า โรคาไข้เจ็บนั้นมีโดยน้อย คนที่ผูกอาฆาตพยาบาทจองเวรแก่ตนนั้นก็มีโดยน้อย สีสันพรรณก็จะเป็นน้ำเป็นนวล ควรจะเป็นที่ทัศนากรแก่ตาโลกจะมิสู้แก่เร็ว เมื่อดับจิตนั้นก็จะได้สติ ตนแล้วก็จะได้ไปบังเกิดในสวรรค์ บุคคลผู้มิได้โกรธตอบแก่คนที่โกรธก่อนนั้นจะเป็นประโยชน์แก่ตนดังนี้ ที่ว่าจะเป็นประโยชน์แก่ผู้อื่นนั้น คือเขาโกรธตน ๆ ไม่โกรธแล้วเขาจะโกรธไปได้เป็นกระไร หน่อยหนึ่งโทโสแห่งเขาก็จะรำงับไป เมื่อโทโสอันไหม้อยู่ในสันดานแห่งเขารำงับไปแล้วเขาก็จะได้ความสบาย อย่างนี้แลได้ชื่อว่ากระทำให้ประโยชน์แก่ผู้อื่นให้พระโยคาพจรสั่งสอนอาตมาดังพรรณามานี้

   ถ้าโทโสยังไม่รำงับลงก็พึงสอนตนด้วยนัยอื่นว่า   อมฺโภ  ดุกรท่าน สมเด็จพระศาสดาจารย์ตรัสพระธรรมเทศนาไว้ว่า  ฉวาลาตํ อุภโต ปทิตฺตํ   ดุ้นฟืนอันบุคคลเผาผีมีไฟติดทั้งข้างโน้นข้างนี้มีกลางดุ้นเปลื้อนไปด้วยคูถนั้นไม่มีใครหยิบใครต้อง บ่มิได้สำเร็จกิจเป็นฟืนในบ้านในป่า สำหรับแต่จะทิ้งอยู่เปล่าหาประโยชน์มิได้ฉันใดก็ดีผู้ใดเห็นเขาโกรธแลโกรธตอบ ผู้นั้นก็จะได้ชื่อว่ากระทำตนให้หาคุณมิได้ มีอุปไมยดังนั้น เมื่อสั่งสอนตนด้วยประการดังนี้ถ้าแลโทโส ยังมิได้รำงับก็พึงพิจารณา เอาเยี่ยงอย่างสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้า เมื่อพระองค์ยังเป็นพระบรมโพธิสัตว์ แลกอปรด้วยขันตินั้น ให้ระลึกว่าครั้งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระบรมโพธิสัตว์เสวยพระชาติเป็นพระยาสีลวราชรักษาศีลบริสุทธิ์ อำมาตย์ผู้หนึ่งใจบาปหยาบช้าประทุษร้ายในพระราชเทวี จึงไปหาพระยาปัจจามิตรมาจับพระองค์กับอำมาตย์พันหนึ่งไปฝังเสียในป่าช้าผีดิบ ประมาณเพียงพระศอ ประสงค์จะปลงพระชมม์ให้สิ้นสูญ พระองค์ก็มิได้มีพระทัยประทุษร้ายตั้งขันติเป็นเบื้องหน้า

   ครั้นเพลากลางคืนสุนัขจิ้งจอกมาสู่ป่าช้าจะกินซากอสุภเข้าไปใกล้พระบรมโพธิสัตว์จะกินพระองค์ ๆ เองคางทับไว้ สุนัขจิ้งจอกคุ้ยดินลงไปจนพระองค์ขึ้นได้ ขุดอำมาตย์ขึ้นสิ้นทั้งพันเทพยดาก็พาพระองค์มาส่งถึงปราสาท พระองค์ก็มิได้ประทุษร้ายตั้งพระยาปัจจามิตรในที่เป็นมิตร อนึ่งพระองค์เสวยพระชาติเป็นขันติวาทีดาบท พระยากลาพุราชให้เฆี่ยนขับโบยตีทั้ง ๓ จำระ ๆ ละพัน ๆ แล้วมิหนำซ้ำให้ตัดมือตัดเท้า โดดลงมาถีบท่ามกลางอุระถึงเพียงนี้แล้ว พระองค์จะได้โกรธมาตรว่าหน่อยหนึ่งหามิได้กลับอวยชัยให้พรเสียอีก ใช่แต่เท่านั้น ควรจะอัศจรรย์ครั้งเมื่อเสวยพระชาติเป็นจุลธรรมบาลราชกุมาร เป็นราชโอรสพระเจ้ามหาปตาปราช ๆ นั้นคือพระเทวทัตต์ อาศัยเวรานุเวรให้ขัดให้เคืองพระทัย ให้ลงราชอาญาเฆี่ยนขันติโดยตัดมือเท้าบังคับให้ตัดพระเศียรเกล้า ขณะเมื่อนายเพชฌฆาตเขาจะตัดพระเศียรนั้นพระองค์ตั้งอธิวาสนขันติมิได้โกรธแก่พระบิดาแลนายเพชฌฆาตผู้จะฆ่า

   ใช่แต่เท่านั้น ครั้นเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระยาช้างฉัททันต์ นายพรานชื่อว่าโสอุดรยิงถูกพระนาภีด้วยลูกศรอันกำซาบไปด้วยยาพิษ ถึงเพียงนี้ พระองค์ก็มิได้ขัดมิได้เคืองแก่โสอุดรพรานป่า กลับยอมให้โสอุดรเลื่อยงางามด้วยรัศมีทั้ง ๖ ประการเสียอีก ใช่แต่เท่านั้น ครั้งหนึ่งเสวยพระชาติเป็นพญาพานรบุรุษผู้หนึ่งตกลงไปในข้างเขาขาดขึ้นมิได้ พระองค์แบกมาส่ง บุรุษนั้นปรารถนาจะเอามังสะพระองค์ไปเป็นเสบียง เอาศิลาต่อพระเศียรถึงเพียงนี้พระองค์ก็ไม่ขึงไม่โกรธ ใช่แต่เท่านั้น ครั้งเมื่อเสวยพระชาติเป็นพระยาภูริทัตนาคราช หมออาลัมภายกระทำให้ลำบากเวทนาพาไปเล่นในบ้านน้อยบ้านใหญ่ พระองค์จะได้ขึงโกรธมาตรว่าหน่อยหนึ่งหามิได้ ใช่แต่เท่านั้น ครั้งหนึ่งเสวยพระชาติเป็นพญาสังขบาลนาคราช ไปรักษาศีลอยู่บนจอมปลวกแทบฝั่งแม่น้ำ วันหนึ่งบุตรนายพราน ๑๖ คนจับเอาพระองค์ไปแทงถึง ๘ แห่งแล้วเอาไว้สอดเข้าคานหาม ๆ ไปเอาเชือกร้อยจมูกผูกไว้ เขาทำถึงเพียงนี้แล้วพระองค์ก็ไม่ขึ้งไม่โกรธไม่ทำร้ายแก่เขา

   พระโยคาพจรพิจารณาถึงเยี่ยงอย่างประเพณีมหาสัพพัญญูโพธิสัตว์ดังนี้แล้ว จิตที่ขัดข้องเคียดเเค้นในคนผู้เป็นเวรจะค่อยเบาบางบรรเทาลง เมื่อโทโสเสื่อมหายจากสันดานแล้ว เมตตาจิตของพระโยคาพจรก็จะเสมอในคน ๔ จำพวก   สีมสมฺเภโท กาตพฺโพ  อันดับนั้นพระโยคาพจรพึงจำเริญสีมสัมมสัมเภทเมตตา ๆ นั้น ว่าเมตตาเจือไปในแดนทั้ง ๔ นั้น คือตนของบุคคลผู้จำเริญเมตตานั้นจัดเป็นอัน ๑ บุคคลอันที่รักจัดเป็นแดนอีก ๑ บุคคลอันเป็นมัธยมอย่างกลางจัดเป็นแดนอัน ๑ บุคคลที่เป็นแดนอัน ๑ แดนทั้ง ๔ นี้พึงให้ระคนกันเป็นอันหนึ่งอันเดียว คือรักตนอย่างไรก็ให้รักผู้อื่นอย่างนั้น รักผู้อื่นอย่างไรก็ให้รักตนอย่างนั้น ประพฤติอย่างนี้จึงเป็นสัมมสัมเภทอธิบายว่าคนทั้ง ๔ คือตนของบุคคลผู้จำเริญเมตตา ๑ คนที่รัก ๑ คนไม่ขัง ๑ คนเป็นเวร ๑ ทั้ง ๔ นี้นั่งอยู่ในที่อันเดียวกันยังมีมหาโจรมากล่าวว่า   เอกํ อมฺหากํ เทถ  ท่านจงให้แก่คนแก่เราสักคน ๑ เราจะฆ่าเสียเอาเลือดคอไปกระทำพลีกรรมแก่เทวดา

   ผิว่าบุคคลนั้น รักผู้อื่นผู้จำเริญเมตตานั้น พึงคิดว่า  อสุกํ วา คณฺหนฺตุ   มหาโจรจงจับเอาคนนั้นเถิด ถ้าคิดดังนั้นก็ได้ชื่อว่าไม่กระทำสีมสัมเภท คือเจือกันแห่งแดนเหตุว่ารักตนหารักคนทั้ง ๓ ไม่ ผิว่าผู้จำเริญเมตตานั้นรำพึงคิดว่า   มํ คณฺหนฺตุ  มหาโจรจงจับเอาอาตมาอย่าได้จับเอาคนทั้ง ๓ นี้ แม้ถึงจะคิดอย่างนี้ก็ดี ก็มิได้ชื่อว่ากระทำสีมสัมเภท เหตุรักแต่คนทั้ง ๓ หารักตนเองไม่ กาลใดแลบุคคลผู้จำเริญเมตตานั้น มิได้เห็นซึ่งบุคคลที่ตนจะพึงให้แก่มหาโจรแต่สักคนหนึ่งในระหว่างคนทั้ง ๔ นั้นจิตประพฤติเป็นอันเสมออยู่ในคนทั้ง ๔ นั้น คือตน แลคนทั้ง ๓ ดังนี้แลได้ชื่อว่าพระโยคาพจรกระทำสีมสัมเภท

   เมื่อจำเริญพระเมตตาเป็นสีมสัมเภทดังนี้แล้ว พึงแผ่เมตตาเป็น ๓ สถานด้วยสามารถ อโนทิศ โอทิศ ทิสาผรณะ คือแผ่เมตตามิได้เฉพาะก็ดี เฉพาะก็ดี แผ่ทั่วทิศทั้ง ๑๐ ก็ดี มีเมตตาจิตให้เป็นประโยชน์แก่สรรพสัตว์ทั้งปวงเบื้องบนถึงภวัคคพรหมเป็นที่สุด เบื้องต่ำตลอดอเวจีนรก โดยปริมณฑลทั่วอนันตสัตว์อันอยู่ในอนันตจักรวาล พระโยคาพจรแผ่เมตตาเป็นอโนทิศนั้นด้วยอาการทั้ง ๕ ว่า  สพฺเพ สตฺตา อเวรา โหนฺตุ อพฺยาปชฺญา โหนฺตุ อนีฆา โหนฺตุ สุขี อัตฺตานํ ปริหรนฺตุ สพฺเพ ปาณา สพฺเพ ภูตา สพฺเพ ปุคฺคลา สพฺเพ อตฺตภาวปริจาปนฺนา อเวรา โหนตุ ฯลฯ ปริหรนฺตุ แปลเนื้อความว่า   สพฺเพ สตฺตาอันว่าสัตว์ทั้งหลายอันยังข้องอยู่ในรูปปาทิขันธ์ด้วยฉันทราคะ  อเวรา โหนฺตุจงอย่ามีเวรแก่กัน อพฺยาปชฺฌา โหนฺตุจงอย่ามีพยาบาทแก่กัน  อนีฆา โหนตุ จงอย่ามีอุปัทวทุกข์ในกาย  สุขี อตตานํ ปริหรนฺตุ จงนำให้พ้นจากทุกข์รักษาตนให้เป็นสุขทุกอิริยาบถเถิด อย่างนี้เป็นอาการอัน ๑

   สพฺเพ ปาณา อันว่าสัตว์อันมีชีวิตอยู่ด้วยอัสสาสะ ปัสสาสะมีปัญจขันธ์บริบูรณ์ทั้งปวงบทประกอบเหมือนกันเป็นอาการอัน ๑   สพฺเพ ภูตาอันว่าสัตว์ทั้งหลายอันเกิดในจตุโวการภพมีขันธ์ ๕ ประการ คือรูปพรหม แลสัตว์อันเกิดในเอกโวการภพมีขันธ์ ๑ คือสัญญีสัตว์เป็นอาการอัน ๑   สพฺเพ ปุคฺคลาอันว่าสัตว์อันจะไปสู่นรกทั้งปวงเป็นอาการ ๑  สพฺเพ อตฺตภาวปริยาปนฺนา อันว่าสัตว์อันนับเข้าในอาตมาภาพ เหตุอาศัยขันธ์ทั้ง ๕ แลบัญญัติว่าอาตมาภาพนั้น จึงเอาบทอเวราเป็นต้นนั้นประกอบด้วยเป็นอาการอันเป็น ๑ เป็น ๕ ด้วยกัน

   ในอโนทิศนั้นแลแผ่เมตตาไปในอโนทิศนั้นคือเฉพาะเป็นส่วนว่าหญิงชายมีอาการ ๗ ว่า สพฺเพ อิตฺถิโย อเวรา โหนฺตุ ฯลฯ สุขี อตฺตานํ ปริหรนฺตุ สพฺเพ ปุริสา สพฺเพ อริยา สพฺเพ อนริยา สพฺเพ เทวา สพฺเพ มนุสฺสา สพฺเพ วินิปาติกา อเวรา โหนฺตุ ฯลฯ ปริหรนฺตํ สพฺเพ อิตฺถิโย นั้น  แปลว่าบุรุษทั้งหลายทั้งปวง  สพฺเพ ปุริสานั้น แปลว่าบุรุษทั้งหลายทั้งปวง   สพฺเพ อริยา แปลว่าพระอริยเจ้าทั้งหลายทั้งปวง   สพฺเพ อนริยาแปลว่าไม่ใช่พระอริยเจ้า คือปุถุชนทั้งหลายทั้งปวง  สพฺเพ เทวา แปลว่าเทวดาทั้งหลายทั้งปวง สพฺเพ มนุสฺสา แปลว่ามนุษย์ทั้งหลายทั้งปวง   สพฺเพ วินิปาติกาแปลว่าอสุรกายทั้งหลายทั้งปวงจึงใส่อเวราเป็นต้นเข้าทุกบท ๆ เป็นอาการ ๗ ด้วยกัน

   แลทิสาผรณะนั้นมีอาการ ๑๐ คือ   สพฺเพ ปุรตุถิมาย ทิสาย สตฺตา อเวรา ฯลฯ ปริหรนฺตุ สพฺเพ ปจฺฉิมาย ทิสาย สตฺตา สพฺเพ อุตฺตราย ทิสาย สพฺเพ ทกฺขิณาย ทิสาย สพฺเพ ปุรตฺถิมาย อนุทิสาย สพฺเพ ปจฺฉิมาย อนุทิสาย สพฺเพ อุตฺตราย อนุทิสาย สพฺเพ ทกฺขิณาย อนุทิสาย สพฺเพ เหฏฺิมาย ทิสาย สพฺเพ อุปริมาย ทิสาย สตฺตา อเวรา โหนฺตุ ฯลฯ ปริหรนฺตุ อธิบายเนื้อความว่า แผ่เมตตาไปแก่สัตว์อันอยู่ในทิศทั้ง ๑๐ เป็นอาการ ๑๐ ประการด้วยกัน อาการ ๕ อาการ ๗ อาการ ๑๐ ดังกล่าวมานี้ สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าตรัสเทศนาไว้

   สำหรับพระโยคาพจรอันได้ฌานแล้วแผ่เมตตาเป็น  เจโตวิมุตติ   พรหมวิหารอัปปนาฌานในกรุณาพรหมวิหารนั้น คือโยคาพจรได้เห็นแล้ว ซึ่งบุรุษอันเป็นกำพร้ามีรูปวิกลพึงเกลียดเป็นคนเข็ญใจได้ซึ่งความยากยิ่งนัก มีมือแลเท้าอันท่านตัดเสียมีแต่กระเบื้องขอทานวางไว้เฉพาะหน้า นอนอนาถอยู่ในศาลาแห่งคนยาก แลมีหมู่หนอนอันคลานคล่ำออกจากมือจากเท้า แลร้องไห้ร้องคราง เมื่อเห็นแล้วจงถือเอาซึ่งสัตว์นั้นเป็นนิมิต พึงแผ่ซึ่งกรุณาไปว่า  กิจฺฉาวตายํ สตฺโต อาปนฺโน อปฺเปวนาม อิมมฺหา ทุกฺขา มุญฺเจยฺย  เอาบทดังนี้เป็นบริกรรมภาวนาจำเริญไปลงเนือง ๆ แปลเป็นเนื้อความว่าดังเราสังเวช สัตว์ผู้นี้ถึงซึ่งความลำบากยิ่งนักแม้ไฉนพึงพ้นจากความทุกข์บัดนี้เถิด

   ถ้าจะแผ่ซึ่งกรุณาไปในสัตว์เป็นอันมาก ให้เอาบทดังบริกรรมภาวนาว่า   ทุกฺขา ปมุญฺจนฺตุ ปาณิโน   ดังนี้จงเนือง ๆ ถ้ามิได้ซึ่งคนอนาถาเห็นปานดังนั้น แม้บุคคลอันกอปรด้วยความสุข แต่ทว่าเป็นคนกระทำบาปหยาบช้า มีกายแลวาจาจิตทั้ง ๓ สถานนั้น นิราศจากกุศลธรรมสิ้น ให้โยคาพจรน้อมซึ่งคนดังนั้นมาเคียงข้าง ด้วยโทษในอนาคตแล้วพึงจำเริญซึ่งกรุณาไปว่า บุคคลผู้เป็นกำพร้า แต่ในมนุษย์โลกนี้กอปรด้วยความสุขเสวยซึ่งโภคสมบัติล้วนแล้วด้วยความสุข แต่ทว่ากายทวาร วจีทวาร มโนทวาร แห่งผู้นี้จะมีเป็นกุศลแต่อันเดียวก็หามิได้ แม้ดับชีวิตแล้วที่ไหนจะแคล้วอบายทั้ง ๔ ก็จะเสวยแต่ทุกขโทมนัสจะนับมิได้ ในอบายภูมิเที่ยงแท้เบื้องหน้าแต่นั้นโยคาพจรพึงจำเริญซึ่งกรุณานั้นไปแก่บุคคลอันเป็นที่รักแล้วให้จำเริญไปแก่คนอันมัธยัสถ์ไม่รักไม่ชัง ลำดับนับพึงจำเริญไปแก่บุคคลอันเป็นเวรแก่ตน แลวิธีอันจะระงับซึ่งเวรแลกระทำซึ่งสีมสัมเภทนั้น ก็เหมือนดังวิธีอันกล่าวแล้วในเมตตาพรหมวิหาร เมื่อโยคาพจรเสพซึ่งสมถนิมิตอันเป็นไปด้วยสามารถสีมสัมเภทนั้นแล้ว จะจำเริญซึ่งกรุณาไปก็จะถึงซึ่งอัปปนาฌาน โดยนัยดังกล่าวในเมตตาพรหมวิหาร ฯ

จบเมตตากรุณาพรหมวิหารแต่เพียงเท่านี้

   ในวิมุทิตาพรหมวิหารนั้น ให้พระโยคาพจรแผ่ซึ่งมุทิตาจิตอันชื่นชมไปในสหายนักเลงนั้นก่อน แลสหายเห็นปานนั้นเคยชื่นชมด้วยกัน เมื่อจะกล่าวซึ่งวาจานั้น สำรวจก่อนแล้วจึงเจรจากันต่อภายหลัง ถ้ามิดังนั้นพระโยคาพจรได้เห็น มิฉะนั้นได้ฟังข่าวแห่งบุคคลอันเป็นที่รักแห่งตนอันกอปรด้วยความสุขเสวยซึ่งอารมณ์อันเป็นสุขนั้น ให้ทำจิตให้ชื่นชมยินดีด้วยความสุขความสบายแห่งสหายนั้นแล้ว พึงแผ่มุทิตาไปว่า อโห วตายํ สตฺโต สาธุ อโห สฏฺฐุ ดังนี้จงเนือง ๆ แปลว่า  อโห วตดังเราชื่นชม  อยํ สตฺโต อันว่าสัตว์ผู้นี้ดียิ่งนัก ถ้าจะแผ่ไปซึ่งมุทิตาในสัตว์เป็นอันมาก ให้เอาบทดังนี้บริกรรมภาวนาว่า   สสมฺปตฺติโต มา วิคจฺฉนฺตุ จงเนือง ๆ ในลำดับนั้นจึงจำเริญมุทิตาไปในบุคคลอันมัธยัสถ์ แลบุคคลอันเป็นเวร แลวิธีอันจะบรรเทาซึ่งเวรแลกระทำซึ่งสีมสัมเภทนั้น มีนัยอันกล่าวแล้วในเมตตาพรหมวิหารนั้น ฯ

จบมุทิตาพรหมวิหารแต่เพียงเท่านี้

   โยคาพจรปรารถนาจะจำเริญอุเบกขาพรหมวิหารร ให้ออกจากตติยฌานอันตนได้ในเมตตาพรหมวิหาร แลกรุณาพรหมวิหาร แลมุทิตาพรหมวิหารนั้นแล้ว จึงบำเพ็ญซึ่งจิตไปให้เฉพาะต่อบุคคลอันมัธยัสถ์ไม่รักไม่ชัง พึงยังอุเบกขาจิตให้บังเกิดด้วยกรรมว่า  สตฺตา สตฺตา คตา วา กมฺมสฺสกา โหนตฺ  ดังนี้จงเนือง ๆ เมื่อุเบกขาจิตบังเกิดเป็นอันดี ในบุคคลอันมัธยัสถ์แล้ว ให้โยคาพจรแผ่ซึ่งอุเบกขาไปในบุคคลอันเป็นที่รักแล้ว จำเริญไปในสหายอันเป็นนักเลงแล้ว จำเริญไปในบุคคลอันเป็นเวรแล้วจึงกระทำสีมสัมเภทในบุคคลทั้ง ๔ จำพวก ด้วยสามารถตั้งจิตให้เสมอกันในบุคคลทั้ง ๔ จำพวกแล้ว พึงส้องเสพกระทำเนิง ๆ ซึ่งสีมสัมเภทนั้นเป็นนิมิต เมื่อจำเริญไปดังนี้เนือง ๆ อันว่าจตุตถฌานก็จะบังเกิดแก่โยคาพจรเจ้านั้นโดยนัยอธิบายอันกล่าวแล้วในปวีกสิณนั้น ฯ

จบอุเบกขาพรหมวิหารแต่เท่านี้

   แลโยคาพจรอันจำเริญซึ่งเมตตาพรหมวิหารนั้น จะได้ซึ่งอานิสงส์ ๑๑ ประการ สุขํ สุปติ คือจะหลับก็เป็นสุขดุจเข้าซึ่งสมาบัติ ๑ คือตื่นขึ้นก็เป็นสุข ๑ มีหน้าอันปราศจากวิการดุจดังว่าดอกบัวอันบาน ๑ จะนิมิตฝันก็มิได้เห็นซึ่งสุบินอันลามก ๑ จะเป็นที่รักแก่มนุษย์ จะเป็นที่รักแห่งเทวดาและฝูงผี ๑ ฝูงเทพยดาจะอภิบาลรักษา ๑ และผู้จำเริญเมตตานั้น เพลิงก็มิได้สังหาร จะมิได้เป็นอันตรายเพราะยาพิษ ศัสตราวุธอันบุคคลประหารก็มิได้เข้าไปในกาย ๑ คือจิตแห่งบุคคลผู้นั้นจะตั้งมั่นลงเป็นองค์สมาธิ ๑ คือมีพักตร์จะผ่องดังผลตาลอันหล่นจากขั้ว ๑ เมื่อกระทำกาลกิริยามิได้ฟั่นเฟือนสติ ๑ แม้จะมิได้ตรัสรู้มรรคผลในชาตินี้ ก็จะไปบังเกิดในพรหมโลก ๑ เป็น ๑๑ ประการด้วยกัน เหตุดังนั้น นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงหมั่นจำเริญซึ่งเมตตาพรหมวิหาร อันมีอานุภาพเป็นอันมากดังกล่าวมานี้ ฯ

วินิจฉัยในจตุพรหมวิหารยุติเท่านี้

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com