พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๖

   จักวินิจฉัยในอาโปกสิณสืบต่อไป พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญอาโปกสิณนั้น ถ้าเป็นกุลบุตรมีวาสนาบารมีเคยได้สร้างสมอาโปกสิณมาแต่ในเบื้องปุริมชาติก่อนนั้นแล้ว ถึงจะมิได้ตกแต่งกสิณเลยและดูแต่น้ำในสระโบกขรณี ดูน้ำในบ่อ ดูห้วงน้ำเค็มที่ขังอยู่ชายสมุทร ดูน้ำในสมุทรแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง ก็อาจได้สำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตนั้นด้วยง่ายดาย

   ถ้าแลกุลบุตรนั้นหาวาสนาบารมีมิได้ ไม่เคยสร้างสมแต่ก่อนเลยพึงจะได้บำเพ็ญในปัจจุบันชาตินี้ ก็พึงทำอาโปกสิณด้วยน้ำอันบริสุทธิ์ น้ำ ๔ ประการคือ น้ำสีดำ สีเหลือง สีแดง สีขาวนั้น เป็นน้ำกอปรด้วยกสิณโทษ อย่าเอามากระทำเป็นอาโปกสิณไม่ต้องด้วยบังคับ ให้เอาผ้าขาวขึงออกในที่แจ้ง สู้เอาน้ำฝนอันบริสุทธิ์มากระทำอาโปกสิณจึงจะต้องพระบาลี ถ้าไม่ได้น้ำฝนอย่างนั้น ได้น้ำฝนอย่างอื่นแต่ใสบริสุทธิ์เหมือนดังนั้นแล้วก็เอาเถิด ให้พระโยคาพจรเจ้าเอาน้ำใสบริสุทธิ์นั้นมาใส่ลงไปในบาตรให้เสมอขอบปาก

   ถ้ามิดังนั้นจะใส่น้ำนั้นลงในเต้า และภาชนะอันใดอันหนึ่งก็ตาม แต่ใส่ให้เสมอขอบปากอย่าให้บกให้พร่อง ตั้งไว้ในที่สงัดเป็นที่ลับที่กำบังในที่สุดแห่งวิหาร พึงตั้งเตียงทีเท้าสูงคืบ ๔ นิ้ว กระทำพิธีทั้งปวงตามนัยที่สำแดงแแล้วในปฐวีกสิณ ครั้นแล้วจึงนั่งขัดบัลลังก์เหนือเตียงห่างกสิณออกมา ๒ ศอกคืบ เมื่อพิจารณาเอาโปกสิณนั้นอย่าเพิ่งพิจารณาแยกสีอย่าพิจารณาแยกลักษณะที่ไหลซึมซาบ พึงรวมสีน้ำนั้นเข้ากันด้วยกันเป็นอันเดียวเล็งแลด้วยจักษุแล้ว ตั้งจิตไว้ในบัญญัติธรรมว่าสิ่งนี้คือ อาโปธาตุ แล้วถึงบริกรรมเถิด อาโป ๆ

   นามบัญญัติแห่งน้ำนั้นมากเป็นต้น ว่า อุทก วาริ สลิละ แต่ไม่ปรากฏเหมือนชื่อว่าอาโป ยกเอาแต่ชื่อว่าปรากฏนั้น ขึ้นกระทำกรรมเถิด อุคคหนิมิตในอาโปกสิณนี้ปรากฏดุจไหว ๆ กระเพื่อม ๆ อยู่ ถ้าน้ำนั้นกอปรด้วยกสิณโทษ คือเจือไปด้วยปูมเปือกและฟองนั้นก็ปรากฏในอุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏจากกสิณโทษ ปรากฏดุจพัดใบตาลแก้วมณีอันประดิษฐานไว้ในอากาศ ถ้ามิดังนั้นประดุจดวงแว่นแก้วอันบริสุทธิ์ เมื่อปฏิภาคนิมิตบังเกิดแล้ว พระโยคาพจรเจ้าก็กระทำปฏิภาคนิมิตนั้นเป็นอารมณ์ จำเริญไปว่าอาโป ๆ ก็จะถึงจตุตถฌานและปัญจฌานโดยนัยที่สำแดงแล้วในปฐวีกสิณ ฯ

วินิจฉัยในอาโปกสิณยุติแต่เพียงเท่านี้

   จักวินิฉัยในเตโชกสิณต่อไป พระโยคาพจรผู้ศรัทธาปรารถนาจะจำเริญเตโชกสิณนั้น พิจารณาเอานิมิตในเปลวเพลิงเป็นอารมณ์ ถ้าแลพระโยคาพจรนั้น มีวาสนาได้เคยจำเริญเตโชกสินมาในปุริมชาติปางก่อนนั้น ถึงแม้มิได้กระทำกสิณเลย แลดูแต่เปลวเพลิงอันในที่อันใดอันหนึ่งคือเปลวประทีปและเปลวเพลิงอันอยู่ในเตา ถ้ามิดังนั้นแลดูเปลวเพลิงในที่รมบาตรและเปลวเพลิงอันไหม้ป่า ก็อาจสำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตด้วยง่ายดาย

   และพระโยคาพจรที่เป็นอาทิกัมมิกุลบุตร พึงจะได้จำเริญในปัจจุบันชาตินี้ก็พึงกระทำเตโชกสิณ เมื่อจะกระทำนั้นให้เอาไม้แก่นที่สนิทนั้นมาผ่าตากไว้ให้แห้งรอนออกให้เป็นท่อน ๆ จึงนำฟืนนั้นไปสู่รุกขมูลและมณฑลประเทศอันใดอันหนึ่งอันเป็นประเทศสมควรแล้ว จึงเอาฟืนนั้นกระทำเป็นกองมีอาการดุจดังว่ารมบาตรจุดเพลิงเข้าให้รุ่งเรืองแล้ว จึงเอาเสื่อลำแพนมาเจาะให้เป็นช่องกลมกว้างประมาณคืบ ๔ นิ้ว จะเอาหนังก็ตามเอาผ้าก็ตามเจาะให้กว้างคืบ ๔ นิ้วเหมือนกันดังนั้น จึงเอาขึงออกไว้ในเบื้องหน้านั้น ตามพิธีที่กล่าวในปฐวีกสิณ

   เมื่อพิจารณานั้น อย่าพิจารณาไม้และหญ้าที่อยู่เบื้องหน้า เปลวเพลิงที่วับขึ้นไปในเบื้องบนนั้น ก็อย่าพิจารณาเอาเป็นอารมณ์ ให้พิจารณาเอาแต่เปลวเพลิงที่หนา ที่ทึบในท่ามกลางที่ปรากฏในช่องนั้นเป็นอารมณ์ อนึ่ง อย่าพิจารณาสีว่า เพลิงนี้สีเขียว สีเหลือง สีหมอง สีแดง อย่าพิจารณาลักษณะที่ร้อนพึงรวมสีกับเปลวที่ทึบนั้นเข้าด้วยกันเล็งแลดูด้วยจักษุ ด้วยอาการอันเสมอเหมือนอย่างพิจารณาปฐวีกสิณ ตั้งจิตไว้ในบัญญัติธรรมว่าอันนี้คือเตโชธาตุ กำหนดเอาแต่ที่หนาทึบนั้นเป็นประมาณแล้วพึงบริกรรมว่า เตโช ๆ

   นามบัญญัติแห่งเพลิงนั้นมีมาก มีอาทิคือ   ปาวก กณฺหวตฺตนี ชาตเวท หุตาสน   แต่ทว่านามบัญญัติที่เรียกว่าเตโชนี้แลปรากฏในโลก เหตุดังนั้นพระโยคาพจรพึงกระทำบริกรรมภาวนาว่า เตโช ๆ ร้อยครั้งพันครั้ง กว่าจะสำเร็จอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในเตโชกสิณนี้ ปรากฏดุจดังตัดเปลวเพลิงนั้นให้ขาดแล้วและตกลง ถ้าแลพระโยคาพจรมิได้กระทำกสิณและพิจารณาในเปลวเพลิงในเตาเป็นอาทินั้น

  กาลเมื่ออุคคหนิมิตบังเกิดนั้นกสิณโทษก็จะปรากฏ คือจะเห็นถ่านฟืนที่เพลิงติด จะเห็นกองถ่านเพลิงแลควันนั้นปรากฏในอุคคหนิมิตและปฏิภาคนิมิตมิได้หวั่นไหว ปรากฏแก่พระโยคาพจรนั้น เปรียบประดุจดังท่อนผ้ากัมพลแดงอันประดิษฐานอยู่ในอากาศ ถ้ามิดังนั้นเปรียบประดุจดังพัดใบตาลทองและเสาทองประดิษฐานอยู่ในอากาศ เมื่อปฏิบภาคนิมิตบังเกิดแล้ว พระโยคาพจรก็จะสำเร็จจตุตถฌาน ปัญจมฌาน เหมือนกันกับนัยที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณนั้น ณ

วินิจฉัยในเตโชกสิณยุติเพียงเท่านี้

   จักวินิจฉัยในวาโยกสิณสืบต่อไป พระโยคาพจรกุลบุตรมีศรัทธาปรารถนาจะเจริญวาโยกสิณนั้น พึงถือเอาวาโยกสิณนิมิตเป็นอารมณ์ อาการที่จะถือเอาวาโยนิมิตนั้นจะถือเอาด้วยสามารถได้เห็นก็ได้ จะถือเอาด้วยสามารถถูกต้องก็ได้ อาการที่จะถือเอาวาโยกสิณด้วยสามารถได้เห็นนั้นเป็นประการใด อธิบายว่า อาการที่เห็นลมพัดต้องปลายอ้อยและปลายไผ่ เห็นลมอันพัดต้องปลายไม้และปลายผมและถือเอาเป็นอารมณ์นั้น ได้ชื่อว่าถือเอาวาโยกสิณด้วยสามารถได้เห็น แลอาการที่ถือเอาวาโยกสิณด้วยสามารถถูกต้องนั้น คือให้กำหนดลมที่พัดมาต้องกายแห่งตน

   เหตุดังนั้นโยคาพจรผู้ปรารถนาจะจำเริญวาโยกสิณนั้น พึงเล็งเห็นดูซึ่งปลายอ้อยแลปลายไผ่แลปลายไม้ ที่มีใบอันทึบมิได้ห่าง ซึ่งตั้งอยู่ในที่เสมอศีรษะอันลมพัดต้อง ถ้ามิดังนั้นพึงเล็งแลดูซึ่งผมแห่งบุรุษอันหนาแลยาวประมาณ ๔ นิ้ว อันลมพัดต้อง เมื่อเห็นลมพัดต้องปลายอ้อยปลายไผ่ปลายไม้ปลายผมอันใดอันหนึ่งก็พึงตั้งสติไว้ว่าลมพัดต้องในที่อันนี้ ๆ ถ้ามิดังนั้นลมที่พัดเข้ามาโดยช่องหน้าต่างแลฝาถูกต้องกายเเห่งพระโยคาพจรในที่อันใด

   พระโยคาพจรเจ้าพึงตั้งสติไว้ในที่อันนั้นแล้วก็พึงกระทำบริกรรมว่า วาโย ๆ เถิดมามบัญญัติชื่อว่าวาโยนี้ปรากฏในโลก เหตุดังนั้นพระโยคาพจรเจ้าจึงกระทำบริกรรมภาวนา ว่าวาโย ๆ ร้อยครั้งพันครั้งกว่าจะสำเร็จอุคคหมินิต แลปฏิภาคนิมิตนั้น อุคคนิมิตในวาโยธาตุนี้บังเกิดไหว ๆ ปรากฏดุจว่าไอแห่งข้าวปายาสอันบุคคลพึงปลงลงจากเตา แลปฏิภาคนิมิตนั้นสงบอยู่เป็นอันดีจะได้หวั่นไหวหามิได้ เมื่ออุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตบังเกิดแล้วพระโยคาพจรเจ้าก็จะสำเร็จจตุตถฌานแลปัญจมฌาน ดุจกล่าวแล้วในปฐวีกสิณ ฯ

วินิจฉัยในวาโยกสิณยุติแต่เพียงนี้

  จักวินิจฉัยในนีลกสิณสืบต่อไป พระโยคาพจรผู้ศรัทธาปรารถนาจะจำเริญนิลกสิณนั้น พึงพิจารณาเอานิมิตสิ่งอันเขียวเป็นอารมณ์ พระโยคาพจรที่มีวาสนา เคยจำเริญนีลกสิณมาแต่ปุริมภพปางก่อนนั้น แลดูแต่ดอกไม้สีเขียวผ้าเขียว มิฉะนั้นเล็งแลดูวรรณธาตุอันใดอันหนึ่งที่มีสีเขียว อุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตก็บังเกิด แลพระโยคาพจรที่เป็นอาทิกัมมิกบุคคลพึงจะได้จำเริญนีลกสิณในปัจจุบันชาตินี้ พึงจะให้เอาดอกไม้สีเขียวเป็นต้นว่า ดอกนีลุบลแลดอกอัญชันนั้นมาประดับลงในผอบ มิฉะนั้นประดับลงในฝากล่องแต่พอให้เสมอขอบปากเป็นอันดี

  อนึ่งอย่าให้เกสรแลก้านนั้นปรากฏให้เห็นแต่กลีบสิ่งเดียว ถ้ามิดังนั้นให้เอาผ้าเขียวมาม้วนเข้าใส่ให้เต็มผอบแลฝากล่อง เสมอขอบปากอย่างนั้นก็ได้ จะเอาผ้าเขียวขึงลงที่ขอบปากผอบปากฝากล่อง กระทำให้เหมือนดังหน้ากล่องอย่างนั้นก็ได้ จะเอาพัสดุที่สีเขียวมีเป็นต้นว่าเขียวขี้ทอง และเขียวใบไม้แลอัณชันอันใดอันหนึ่งมาเป็นดวงกสิณเหมือนอย่างปฐวีกสิณนั้นก็ได้ ดวงแห่งนีลกสิณนั้น ถ้าจะกระทำเป็นสังหาริมะ ก็พึงกระทำตามวิธีในปฐวีกสิณนั้น ถ้าจะทำเป็นตัตรัฏฏฐกะนั้น ให้ปั้นติดเข้ากับผ้า ถ้าเห็นว่าสีแห่งผ้านั้นคล้ายกับกับดวงกสิณ ก็ให้เอาพัสดุอันใดอันหนึ่งที่มีสีอันแปลกนั้นเข้าบังเข้าตัดให้ปริมณฑลกสิณนั้น ปรากฏแจ้งออกให้ได้

   เมื่อกระทำดวงกสิณสำเร็จดังนั้นแล้ว ก็พึงนั่งตามพิธีที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณ เล็งแลดูปริมณฑลนีลกสิณนั้น แล้วก็พึงบริกรรมว่า นีลัง ๆ ร้อยครั้งพันครั้งกว่าจะสำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในนีลกสิณนี้มีโทษอันปรากฏ อธิบายว่า ถ้ากสิณนั้นทำด้วยดอกไม้ก็เห็นเกสรแลก้านหว่างกลีบนั้น ปรากฏแลปฏิภาคนั้นเพิกพ้นจากมณฑลแห่งกสิณปรากฏดุจดังว่า พัดใบตาลแก้วมณีอันประดิษฐานอยู่ในอากาศ เมื่อปฏิภาคนิมิตบังเกิดแล้ว อุปจารฌานแลอัปปนาฌานก็จะบังเกิดเหมือนกล่าวในปฐวีกสิณ ฯ

วินิจฉัยในนีลกสิณยุติแต่เพียงนี้

  จักวินิจฉัยในปีติกสิณสืบต่อไป ในปีตกสิณนี้ คือพระโยคาพจรพิจารณาดอกไม้ที่มีสีเหลืองผ้าที่สีหลือง ธาตุอันใดอันหนึ่งที่สีเหลืองเป็นอารมณ์ แลได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต ถ้าพระโยคาพจรนั้นมีวาสนาได้เคยจำเริญปีตกสิณมาแต่ชาติก่อนแล้ว ก็ไม่พักกระทำดวงกสิณเลย เล็งแลดูแต่ดอกไม้อันพิจิตรไปด้วยดอกไม้อันเหลือง มิฉะนั้นเล็งแลดูแต่ดอกไม้เหลืองอันบุคคลนำมาคาดไว้บูชา

   มิฉะนั้นเล็งแลดูแต่ผ้าเหลืองแลวรรณธาตุสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีสีเหลือง ๆ นั้นก็ได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตด้วยง่ายดายแลพระโยคาพจรที่เป็นอาทิกัมมิกบุคคล มิได้เคยจำเริญปีตกสิณมาแต่ก่อน พึงจำเริญในปัจจุบันชาตินี้ ก็พึงกระทำปริมณฑลกสิณด้วยสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีสีเหลือง จะกระทำด้วยดอกไม้สีเหลืองมีดอกกรรณิกาทองเป็นต้นก็ได้ จะกระทำด้วยผ้าสีอันเหลืองก็ได้จะกระทำด้วยวรรณธาตุอันใดอันหนึ่งที่มีสีเหลือง ๆ นั้นก็ได้

   พิธีที่กระทำมณฑลก็เหมือนกันกับนีลกสิณ ต่างกันแต่บริกรรมในปีตกสิณนี้ให้บริกรรมว่าปีตกัง ๆ กว่าจะสำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตนั้น ลักษณะแห่งอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตนั้น ก็ปรากฏเหมือนกับนีลกสิณ ต่างกันแต่สี ฯ

วินิจฉัยในปีตกสิณยุติแต่เพียงนี้

   จักวินิจฉัยในโลหิตกสิณสืบต่อไป ในโลหิตกสิณนั้น พระโยคาพจรพิจารณาดอกไม้แลผ้าแลวรรณธาตุ สิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีสีแดงเป็นอารมณ์พระโยคาพจรที่มีวาสนาได้เคยจำเริญโลกหิตกสิณมาแต่ชาติก่อนนั้น เล็งแลดูดอกไม้ในกอแลดอกไม้อันบุคคลดาดบนอาสนะสักการบูชา เป็นต้นว่าดอกชบาแลดอกหงอนไก่ แต่บรรดาดอกไม้ทีสีอันแดงนั้นพิจารณาเอาเป็นอารมณ์ก็สำเร็จอุคคหมินิตแลปฏภาคนิมิต ถ้ามิดังนั้น ได้เห็นแต่ผ้าสีแดงแลวรรณธาตุอันใดอันหนึ่งที่มีสีอันแดง ก็สำเร็จอุคคหมินิตแปฏภาคนิมิต เพราะเหตุว่าวาสนาได้เคยบำเพ็ญมาก่อน

   และพระโยคาพจรที่เป็นอาทิกัมมิกบุคคลพึงจะบำเพ็ญในปัจจุบันชาตินี้ ก็พึงกระทำซึ่งโลหิตกสิณจึงจะควรด้วยภาวนาพิธี โลหิตกสิณนั้นให้กระทำด้วยดอกไม้แดงเป็นต้นว่าดอกชบาแลดอกหงอนไก่ แลดอกว่านทางช้าง ถ้ามิฉะนั้นให้กระทำด้วยผ้าแดงแลวรรณธาตุอันใดอันหนึ่งที่มีสีอันแดง พึงกระทำตามพิธีที่กล่าวแล้วในนีลกสิณ ต่างแต่บริกรรมจำเริญโลหิตกสิณนี้ให้บริกรรมว่าโลหิตกัง ๆ ร้อยครั้งพันครั้งกว่าจะสำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตนั้น ลักษณะแห่งอุคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตนั้น ก็ปรากฏเหมือนกันกับนีลกสิณต่างกันแต่สี อุปจารฌานแลอัปปนาฌานก็จะบังเกิดเหมือนกล่าวแล้วในปฐวีกสิณ ฯ

วินิจฉัยในโลหิตกสิณยุติแต่เพียงนี้

   จักวินิจฉัยโอทาตกสิณสืบต่อไป ในโอทาตกสิณนั้น คือพระโคพจรพิจารณาเอาสิ่งที่ขาวเป็นอารมณ์ พระโยคาพจรที่มีวาสนานั้นเล็งดูแต่ดอกไม้สีขาวที่อยู่ในกอ แลดอกไม้ขาวอันบุคคลดาดบนอาสนะสักการบูชาเป็นต้นว่าดอกมะลิ ถ้ามิดังนั้นเล็งแลดูผ้าขาว แลวรรณธาตุอันใดอันหนึ่งที่มีสีขาวนั้น อุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตก็บังเกิด บางทีแลดูปริมณฑลแห่งแผ่นดีบุกแลมณฑลแห่งแผ่นเงินแลมณฑลแห่งพระจันทร์ อุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตก็บังเกิด แลพระโยคาพจรที่เป็นอาทิกัมมิกบุคคลปรารถนาจะจำเริญโอทาตกสิณนั้น พึงกระมณฑลกสิณด้วยสิ่งอันขาว คือดอกไม้ขาวแลผ้าขาวแลวรรณธาตุที่ขาว ๆ พิธีกระทำนั้นก็เหมือนกันกับนีลกสิณ ต่างแต่บริกรรมในโอทาตกสิณนี้ให้บริกรรมว่า โอทาตัง ๆ ลักษณะแห่งอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตนั้น ก็ปรากฏเหมือนกับนีลกสิณ ต่างกันแต่สี ฯ

วินิจฉัยในโอทาตกสิณยุติแต่เพียงนี้

   จักวินิจฉัยในอาโลกสิณสืบต่อไป พระโยคาพจรที่มีวาสนาได้จำเริญอาโลกสิณมาแต่ก่อน เล็งแลดูแต่แสงพระจันทร์พระอาทิตย์อันส่องเข้ามาโดยช่องฝาแลช่องหน้าต่างเป็นต้น ที่ปรากฏเป็นปริมณฑลเป็นวงกลมอยู่ที่ฝาแลพื้น ก็ได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตด้วยง่ายดาย บางคาบอยู่ในรุกขมูลร่มไม้มีใบอันทึบอยู่ในมณฑลอันมุงด้วยกิ่งไม้มีใบอันทึบแลเห็น พระอาทิตย์ พระจันทร์อันส่องลงมาปรากฏ เป็นปริมณฑลอยู่ในพื้นพสุธาก็ได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต เพราะเหตุที่มีวาสนาได้สร้างสมมาแต่ก่อน

   แลพระโยคาพจรที่เป็นอาทิกัมมิกบุคคลนั้น ถ้าจะจำเริญอาโลกสิณก็พึงพิจารณาจันทาโลกแลสุริยาโลก แสงพระจันทร์พระอาทิตย์ส่องมาโดยช่องฝาเป็นอาทิ แลปรากฏเป็นปริมณฑลอยู่ในฝาเป็นอารมณ์แล้วก็พึงบริกรรมว่าโอภาโส ๆ ถ้ามิฉะนั้นก็ให้บริกรรมว่าอาโลโก ๆ กว่าจะได้สำเร็จอุคคหนิมิต ถ้ายังมิอาจได้สำเร็จด้วยพิธีดังนี้ ก็พึงเอาหม้อมาเจาะเสียให้เป็นช่อง จึงเอาประทีปตามไว้ข้างใน ปิดปากหม้อเสียให้ดีผินช่องนั้นไว้เฉพาะริมฝา แสงสว่างที่ออกโดยช่องนั้นจะปรากฏเป็นปริมณฑลอยู่ในฝา พระโยคาพจรจึงนั่งตามพิธีปฐวีกสิณแล้ว พึงพิจารณาเอาปริมณฑลที่ปรากฏในริมฝานั้นเป็นอารมณ์ พึงบริกรรมว่าอาโลโก ๆ เถิด อันเจาะหม้อให้เป็นช่องตามประทีปในหม้อกระทำดังนี้ ปริมณฑลกสิณนั้นตั้งอยู่นาน ไม่แปรปรวนไปเร็ว ไม่หายเหมือนจันทาโลกแลสุริยาโลกแสงจันทร์พระอาทิตย์ที่ปรากฏโดยช่องฝาเป็นอาทิ

   เมื่อพระโยคาพจรกระทำบริกรรมว่าอาโลโก ๆ ร้อยครั้งพันครั้งกว่าจะสำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในอาโลกสิณนั้นปรากฏดุจดังมณฑล อันปรากฏในฝาแลพื้นแผ่นดิน ปฎิภาคนิมิตนั้นผ่องใสเป็นแท่งทึบ เปรียบประดุจเป็นกองแห่งแสงสว่าง แสงสว่างอย่างประหนึ่งว่ามาเป็นกองอยู่ในที่นั้น จตุตถฌานแลปัญฐมฌานจักบังเกิดนั้น ก็เหมือนกล่าวแล้วในปฐวีกสิณ ฯ

วินิจฉัยในอาโลกสิณยุติเพียงเท่านี้

   จักวินิจฉัยในอากาสกสิณสืบต่อไป ในอากาสกสิณนี้ คือพระโยคาพจรพิจารณาเอาอากาศเป็นอารมณ์ พระโยคาพจรที่มีวาสนานั้น เห็นแต่ช่องฝาแลช่องดาลเห็นแต่ช่องหน้าต่าง ก็ได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตด้วยง่าย มิได้ลำบากยากใจ พระโยคาพจรที่หาวาสนาหนหลังมิได้ถึงจะบำเพ็ญอากาสกสิณในปัจจุบันชาตินี้ ก็พึงกระทำอากาสกสิณสำหรับจะได้เป็นที่ตั้งจิต พึงตัดช่องฝามณฑปอันบุคคลมุงเป็นอันดีนั้นให้เป็นปริมณฑลกลมกำหนดโดยกว้างนั้นให้ได้ ๑ คืบกับ ๔ นิ้ว

  ถ้ามิฉะนั้นจะเอาหนังเอาลำเเพนมาเจาะให้เป็นช่องกลมกว้างคืบ ๔ นิ้ว แล้วจะมาขึงไว้ในที่เฉพาะหน้าก็ตามมาเจาะให้เป็นช่องกลมกว้างคืบ ๔ นิ้ว แล้วจะมาขึงไว้ในที่เฉพาะหน้าก็ตามเมื่อกระทำช่องดังนั้นแล้ว ก็พึงกระทำพิธีทั้งปวง เหมือนดังพิธีที่กล่าวไว้ในปฐวีกสิณตั้งจิตไว้ในช่องนั้นแล้ว ก็พึงบริกรรมว่าอากาโส ๆ ร้อยครั้งพันครั้งมากกว่าร้อยครั้งพันครั้ง กว่าจะได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต

   อุคคหนิมิตในอากาสกสิณนี้ปรากฏเป็นช่อง เหมือนช่องที่พระโยคาพจรกระทำที่สุดแห่งช่องฝา แลที่สุดแห่งช่องหนังช่องลำเเพนนั้นก็ปรากฏอยู่ในอุคคหนิมิต ครั้นนิมิตดำเนินขึ้นถึงที่เป็นปฏิภาคแล้วก็ปรากฏแต่อากาสศเปล่าที่สุดแห่งช่องฝาช่องหนังลำแพนนั้นได้ปรากฏหามิได้ ปรากฏเป็นอากาศกลมอยู่เท่ากันกับมณฑลกสิณ แต่ทว่ามีพิเศษที่แผ่ออกได้เมื่อยังเป็นอุคคหนิมิตอยู่นั้นแผ่ออกมิได้ ต่อเป็นปฏิภาคนิมิตแล้วจึงแผ่ออกได้ พิธีที่จะตั้งเตียงแลนั้งบัลลังก์สมาธิหลับจักษุแลลืมจักษุ พิจารณาโทษกามคุณ แลอานิสงส์ฌานแลระลึกถึงพระรตนัตยาทิคุณนั้น พึงกระทำตามพิธีที่กล่าวแล้วในปฐวีกสิณนั้น ฯ

จบกสิณ ๑๐ แต่เท่านี้

  พระทศพลสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เป็นผู้รู้จริงเห็นจริงในสรรพไญยธรรมทั้งปวง ได้ทรงแสดงกสิณ ๑๐ อย่างทางสมถภาวนาวิธีอันเป็นเหตุจะให้บรรลุถึงจตุตถฌานแลปัญจมฌานในรูปาพจรภูมิโดยนัย ที่ได้รับรวมแสดงมานี้เป็นสำคัญ ฯ

  ก็แลเมื่อผู้โยคาพจรศึกษารอบรู้ในกสิณพิธี ตามกสิณภาวนานัยดังนี้แล้ว ต่อนั้นไปก็ควรจะศึกษาให้รู้ในปกิรณกพิธี ทางอิทธิฤทธิ์ต่าง ๆ อันจะได้อานุภาพกสิณที่บุคคลจำเริญให้เต็มที่ถึงจตุตถฌานนั้น ฯ

   ในกสิณทั้ง ๑๐ นี้ ส่วนปฐวีกสิณ เมื่อพระโยคาพจรจำเริญถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้ว ก็สามารถจะอธิษฐานจิตนฤมิตรูปสิ่งของต่าง ๆ เป็นต้นว่า นฤมิตคนเดียวให้เป็นคนมาก ให้คนมากเป็นคนเดียวได้ แลทำอากาศแลน้ำให้เป็นแผ่นดินแล้วเดินยืนนั่งนอนในที่นั้นได้ดังประสงค์ ฯ

  แลพระโตคาพจร อันจำเริญอาโปกสิณถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้วก็สามารถจะอษิษฐานจิต นฤมิตแผ่นดินให้เป็นน้ำแล้วดำผุดไปได้ในแผ่นดินแลทำฝนให้ตกลงได้ แลนฤมิตให้เป็นแม่น้ำห้วยหนองใหญ่น้อยเกิดขึ้นได้ แลทำพื้นที่รองภูเขาแลปราสาทเป็นต้น ให้เป็นน้ำแล้วโยคคลอนภูเขาเป็นต้นให้ไหวได้ดังประสงค์ ฯ

  และพระโยคาพจร อันจำเริญเตโชกสิณถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้วก็สามารถจะอษิฐานจิต นฤมิตให้บังเกิดควันกลุ่มแลเปลวไฟสว่างได้ แลทำในถ่านเพลิงให้ตกลงได้ แลปรารถนาจะเผาสิ่งใด ๆ ก็อาจกระทำให้เกิดไฟ เผาสิ่งนั้นให้ไหม้ได้ แลทำให้บังเกิดแสดงไฟสว่างแลเห็นรูปในที่ไกลที่ใกล้ดังว่าเห็นด้วยตาทิพย์ แลพระอรหันต์ท่านที่มีเตโชกสิณสมาบัติคราวเมื่อปรินิพพาน ท่านสามารถจำเริญให้เกิดเตโชธาตุเผาสรีรกายของท่านได้ดังประสงค์ ฯ

   แลพระโยคาพจร อันจำเริญวาโยกสิณถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้วก็สามารถจะอธิษฐานจิต แลกระทำให้เป็นตัวลอยไปตามลมหรือทวนลมได้แลทำให้ลมน้อยใหญ่เกิดได้ดังประสงค์ ฯ

  แลพระโยคาพจร อันจำเริญนีลกสิณถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้วก็สามารถจะอธิษฐานจิต นฤมิตให้รูปเขียว แลทำให้เกิดมืดเขียวคลุ้มแลทำสิ่งอื่น ๆ ที่สุกใสงามดีให้เสียสีได้ดังประสงค์ ฯ

  แลพระโยคาพจร อันจำเริญปีตกสิณถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้วก็สามารถอธิษฐานจิต นฤมิตรูปให้มีสีเหลือง แลทำสีอื่น ๆ ให้หม่นหมองให้เป็นสีผ่องใสเหลืองดีได้ดังประสงค์ ฯ

   พระโยคาพจร อันจำเริญโลหิตกสิณถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้วก็สามารถจะอธิษฐานจิต นฤมิตรูปให้มีสีแดง แลทำสีอื่นให้เป็นสีแดงได้ดังประสงค์ ฯ

   แลพระโยคาพจร อันจำเริญโอทาตกสิณถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้วก็สามารถจะอธิษฐานจิต นฤมิตรูปให้มีสีขาว แลทำง่วงเหงาให้ตั้งอยู่ไกล แลมืดมนให้คลายไป แลทำให้เป็นแสงสว่างแลเห็นรูปสิ่งของทั้วปวง ดังว่าเห็นด้วยตาทิพย์ได้ดังประสงค์ ฯ

   แลพระโยคาพจร อันจำเริญอาโลกกสิณถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้วก็สามารถจะอธิษฐานจิต นฤมิตรูปให้สว่างด้วยรัศมี แลง่วงเหงาให้ตั้งอยู่ไกล แลทำให้เกิดแสงสว่างแลเห็นรูปสิ่งของทั้งปวงดังว่าเห็นด้วยตาทิพย์ได้ดังประสงค์ ฯ

   แลพระโยคาพจร อันจำเริญอากาสกสิณถึงจตุตถฌานภูมิเต็มที่แล้วก็สามารถจะอธิษฐานจิต ทำที่ปกปิดมิดชิดให้เปิดเผย แลนฤมิตให้เกิดอากาศช่องว่างขึ้นภายในแผ่นดิน แลภายในภูเขา แล้วเข้าไปยืนเดินนั่งนอนได้ แลทะลุไปในที่กั้นกำลังได้ดังประสงค์ ฯ

   กสิณ ๑๐ นี้ วิธีที่จะอธิษฐานจิต นฤมิตให้เป็นอย่างหนึ่งอย่างใดนั้น เมื่อพระโยคาพจรจำเริญกสิณส่วนหนึ่งส่วนใด ได้เข้าถึงจตุตุฌาน ควรเป็นที่ตั้งอภิญญาแล้ว เมื่อจะอธิษฐานจิตต้องออกจากจตุตถฌานนั้น แล้วจึงยกเรื่องที่ตนประสงค์นั้นขึ้นเพ่งรำพึงอยู่ให้มั่น ครั้นแล้วจึงยกเรื่องที่ประสงค์นั้นขึ้นบริกรรม แล้วกลับเข้าถึงจตุตถฌานอีกขณะจิตหนึ่งแล้ว จึงออกจตุตถฌานอีก แล้วจึงอธิษฐานตั้งจิตทับลงว่า ของสิ่งนี้ ๆ จึงเป็นอย่างนี้ ๆ พอตั้งจิตอธิษฐานลง สิ่งที่ประสงค์นั้นก็เป็นขึ้นในขณะทันใดนั้น ฯ

จบกสิณ ๑๐ ประการแต่เพียงนี้
***********
  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com