พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๙

   แต่นี้จะวินิจฉัยในพระอนุสสติกรรมฐาน ๑๐ อันสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ ตรัสเทศนาไว้ในลำดับแห่งพระอสุภกรรมฐานนั้น อนุสสตินั้นได้แก่อันมีลักษณะให้ระลึกเนือง ๆ นัยหนึ่งว่าสติที่สมควรแก่กุลบุตรผู้บวชด้วยศรัทธานั้นชื่อว่าอนุสสติ เหตุว่าประพฤติเป็นไปในอันควรจะระลึกมีระลึกพระพุทธคุณเป็นต้น พระอนุสสติกรรมฐานนี้ ถ้าจะว่าโดยประเภทต่างออกเป็น ๑๐ ประการคือพุทธานุสสติ อันมีลักษณะปรารภรำพึงถึงพระพุทธคุณ เป็นอารมณ์เนือง ๆ นั้นประการ ๑ ธัมมานุสสติอันมีลักษณะปรารภรำพึงถึงพระธรรมคุณเป็นอารมณ์เนือง ๆ นั้นประการ ๑ สังฆานุสสติ อันมีลักษณะปรารภรำพึงถึงพระสังฆคุณเป็นอารมณ์เนือง ๆ นั้นประการ ๑

   สีลานุสสติ คือสติอันปรารภถึงศีลคุณเป็นอารมณ์เนือง ๆ นั้นประการ ๑ จาคานุสสติเป็นสติอันรำพึงกิจที่จะบริจาก จำแนกทานเนือง ๆ นั้นประการ ๑ เทวตานุสสติ คือสติอันรำพึงถึงเทพยดาตั้งทวยเทพยดาทั้งปวงไว้ในที่เป็นพยานแล้ว แลกลับรำพึงถึงคุณของตนมีศรัทธาเป็นอาทินั้นประการ ๑ มรณานุสสติ คือสติอันรำพึงถึงความตายเนือง ๆ นั้นประการ ๑ กายคตานุสสติ คือสติอันปรารภรำพึงไปในอาการ ๓๒ ( ทวตฺตึสาการ) มีผมเป็นต้นนั้นประการ ๑ อานาปานสติ คืออันปรารภรำพึงซึ่งลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์นั้นประการ ๑ อุปสมานุสสติ คือสติอันรำพึงปรารภเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นประการ ๑

   สิริเป็นอนุสสติ ๑๐ ประการด้วยกัน แต่จักสำแดงพิสดารในพุทธานุสสติกรรมฐานนั้นก่อน   พุทฺธานุสฺสติ ภาเวตุกาเมน   พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญพระกรรมฐานนี้พึงกระทำจิตให้ประกอบด้วยความเลื่อมใส ไม่หวั่นไหวในพระพุทธคุณเสพเสนาสนะที่สงัดสมควรแล้ว พึงนั่งบัลลังก์สมาธิตั้งกายให้ตรงแล้ว พึงรำลึกตรึกถึงพระคุณแห่งสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ด้วยบทว่า  อิติปิโส ภควา ฯลฯ พุทฺโธ ภควาติ   มิฉะนั้นจะระลึกว่า  โส ภควา อิติปิ อรหํ โส ภควา อิติปิ สมฺมาสมฺพุทฺโธ โส ภควา อิติปิ วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน โส ภควา อิติปิ สุคโต โส ภควา อิติปิ โลกวิทู โส ภควา อิติปิ อนุตฺตโร โส ภควา อิติปิ ปุริสทมฺมสารถิ โส ภควา อิติปิ สตฺถาเทวมนฺสฺสานํ โส ภควา อิติปิ พุทฺโธ ภควา อิติปิ ภควา   ดังนี้ก็ได้

   มิฉะนั้นจะระลึกแค่บทใดบทหนึ่ง เป็นต้นว่าอรหังนั้นก็ได้อรรถาธิบายในบทอรหังนั้นว่า   โส ภควา   อันว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น   อรหํ   ทรงพระนามชื่อว่าอรหัง ด้วยอรรถว่าพระองค์ไกลจากข้าศึกคือกิเลส นัยหนึ่งว่าพระองค์หักเสียซึ่งกำกงแห่งสังสารจักรจึงทรงพระนามชื่อว่า   อรหัง   นัยหนึ่งว่าพระองค์ควรจะรับซึ่งจตุปัจจัยทั้ง ๔ มีจีวรเป็นอาทิแลสักการบูชาวิเศษแห่งสัตว์โลก จึงทรงพระนามชื่อว่าอรหัง นัยหนึ่งว่าพระองค์มิได้กระทำบาปในที่ลับจึงทรงพระนามชื่อว่าอรหัง แท้จริงสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์นั้นสถิตอยู่ในที่อันไกลเสียยิ่งนักจากกิเลสธรรมทั้งปวง

   สวาสนานํ กิเลสานํ วิทฺธํสิตตฺตา   ราคาทิกิเลสกับทั้งวาสนานั้น พระพุทธองค์ขจัดเสียแล้วด้วยพระแสงแก้ว คืออริยมรรคฌาณ เหตุดังนั้นจึงทรงพระนามชื่อว่าอรหัง ซึ่งพระองค์หักเสียซึ่งกำกงแห่งสังขารจักรนั้นเป็นประการใด อธิบายว่าสังขารจักรนั้น ได้แก่สังสารวัฏอันมีที่สุดเบื้องต้นมิได้ปรากฏอันสัตว์ทั้งหลายเวียนเกิดเวียนตาย สังขารจักรนี้มีอวิชชาแลภพ แลตัณหาเป็นดุมมีสังขารทั้ง ๓ คือบุญญาภิสังขาร อบุญญาภิสังขาร เป็นกำมีชราแลมรณะเป็นกง อันปัจจัยแห่งตนมีเหตุปัจจัยเป็นต้น ร้อยเข้าด้วยเพลาคืออาวสวสมุทัย ประกอบเข้าในรถถือภพทั้ง ๓ มีกามภพเป็นอาทิขับเข็นไปสิ้นกาลช้านาน มีที่สุดเบื้องต้นมิได้ปรากฏ

  สมเด็จพระผู้มีพระภาคนั้นพระองค์เสด็จสถิตเหนือปฐพีกล่าวคือศีลด้วยพระบาท คือพระวิริยในควงพระมหาโพธิแล้ว จึงทรงพระแสงแก้วคือพระอริยมรรคฌาณ อันกระทำให้สิ้นกรรมสิ้นภพสิ้นชาติด้วยพระหัตถ์ คือศรัทธาฟาดฟันเสียซึ่งกำแห่งสังสารจักรทั้งปวง ให้ขาดขจัดขจายมิให้คืนคุมติดกันเข้าได้ เหตุดังนั้นจึงทรงพระนามชื่อว่าอรหัง นัยหนึ่งสังสารจักรนั้นจัดเอาอวิชชาเป็นดุม เหตุอวิชชานั้นเป็นมูลเหตุให้บังเกิดรูปเป็นธรรม ชราแลมรณะนั้นจัดเป็นกงแห่งสังขารจักร เหตุว่าชราธรรมแลมรณะธรรมนี้ บังเกิดเป็นที่สุดแห่งภพชาติ เกิดมาแล้วก็มีชราแลมรณะเป็นที่สุดทุกรูปทุกนาม แลธรรม ๑๐ ประการ คือสังขาร แลวิญญาณ นามรูปแลฉฬยตนะ   แลผัสสะ   แลเวทนา   แลตัญหา   แลอุปาทาน  แลภพ   แลชาติทั้ง ๑๐ ประการนี้จัดเป็นกำแห่งสังสารจักร เหตุว่าธรรม ๑๐ ประการนี้ มีอวิชชาเป็นเบื้องต้น มีชราแลมรณะเป็นเบื้องปลาย

   นัยหนึ่งว่าสมเด็จพระพุทธองค์นั้น เป็นทักขิไณยบุคคลอันเลิศควรจะรับซึ่งจตุปัจจัยทั้ง ๔ แลสักการบูชาอันวิเศษ เป็นที่บูชาแห่งเทพามนุษย์สมณะ แลพราหมณาจารย์ทั้งปวงแต่บรรดามีในโลกนี้ เหตุดังนั้นจึงทรงพระนามชื่อว่าอรหัง นัยหนึ่งว่าสมเด็จพระพุทธองค์มิได้กระทำบาปในที่ลับ เหมือนอย่างสามัญสัตว์ทั้งปวงที่เป็นพาลสำคัญตนว่าเป็นนักปราชญ์ เหตุดังนั้นจึงทรงพระนามชื่อว่าอรหัง นัยหนึ่งว่าสมเด็จพระศาสดาจารย์เจ้านั้นไกลจากคนชั่วคนอสัปบุรุษ อยู่ใกล้คนดีคนสัปบุรุษคนที่เป็นอสัปบุรษมีน้ำใจเป็นบาปหยาบช้า ตั้งหน้าแต่ที่จะกระทำการ อันเป็นอกุศลมิได้ทรมานกายแลจิตแห่งตนให้เจริญเป็นกุศลขึ้นได้ มากไปด้วย   โลภะ   โทสะ  โมหะ   มิได้ฉลาดในธรรมอันพระอริยเจ้าสั่งสอน ปฏิบัติผิดคลองธรรมแห่งพระอริยเจ้าหญิงชายจำพวกนี้ แม้ถึงจะเกิดพบพระพระพุทธองค์ จะยึดมุมผ้าสังฆาฏิอยู่ก็ดีก็ได้ชื่อว่าอยู่ไกล มิได้พบได้เห็นพระพุทธองค์ ๆ ไกลจากคนชั่ว คนอสัปบุรุษเหล่านี้ เหตุดังนั้นจึงทรงพระนามชื่อว่าอรหัง

   แลคนที่เป็นสัปบุรุษ มีความเพียรทรมานจิตอันเป็นบาปให้เบาบาง จะรักษาศีล ๆ นั้นก็วิเศษขึ้น  ด้วยอัฏฐศีล   ทสศีล   ภิกษุศีล   วิเศษขึ้นด้วยจำเริญภาวนาพิจารณาพระไตรลักษณ์เป็นอาทิ ตั้งอยู่ในพระอัปปมาทธรรม มิได้ลืมสติระลึกถึงพระพุทธาธิคุณ ภาวนาพระไตรลักษณ์ทุกอิริยบถ นั่งนอนยืนเที่ยวทุกขณะที่ระบายลมอัสสาสะ   ปัสสาสะ   หญิงชายจำพวกนี้จะอยู่ไกลร้อยโยชน์พันโยชน์ก็ดี เกิดมาไม่ทันก็ดี ก็ได้ชื่อว่าอยู่ใกล้ ได้ชื่อว่าพบเห็นสมเด็จพระพุทธองค์เป็นนิจกาล สมเด็จพระองค์เจ้าอยู่ใกล้สัปบุรุษเห็นปานดังนี้ จึงทรงพระนามชื่อว่าอรหัง ฯ

แปลพระนามเป็นปฐมคืออรหังยุติแต่เท่านี้

   แต่นี้จะแปลพระนามเป็นคำรบ ๒ - ๓ คือพระสัมมาสัมพุทโธแลวิชชาจารณสัมปันโนนั้นสืบต่อไป ในบทสัมมาสัมพุทโธนี้แปลว่า   โส ภควา   อันว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคนั้น   สมฺมาสมฺพุทฺโธ   ตรัสรู้พระจตุราริยสัจธรรมทั้ง ๔ ด้วยพระองค์เอง ด้วยอาการมิได้วิปริตเห็นแท้รู้แท้ไม่เคลือบไม่แคลง ตรัสรู้ประจักษ์แจ้งในพระบวรสันดานสมเด็จพระศาสดาจารย์นั้น   วิชฺชาจรณสมฺปนฺโน   ทรงซึ่งวิชชา ๘  แลจรณะ ๑๕ วิชชา ๘   นั้นได้แก่อภิญญาทั้ง ๖  วิปัสสนาญาณ ๑  มโนมยิทธิวิชชา ๑  เป็น ๘ ประการนี้  จรณะ ๑๕ นั้น คือศีลสังวร ๑  รักษาอินทรีย์ทั้ง ๖  เป็นอันดี ๑  รู้ประมาณในโภชนะ ๑  กอปรด้วยธรรมอันตื่นอยู่ในกุศล ๑  ศรัทธา ๑  สติ ๑  วิริยะ ๑  ปัญญา ๑  พาหุสัจจะ ๑  หิริ ๑  โอตตัปปะ ๑  ปฐมฌาน ๑  ทุติยฌาน ๑  ตติยฌาน ๑  จตุตถฌาน ๑  เป็น ๑๕ ประการดังนี้ พระองค์ทรงซึ่งวิชชา ๘   แลจรณะ ๑๕ ดังนี้ จึงทรงพระนามชื่อว่าวิชชาจะระณะสัมปันโน ฯ

แปลพระนามเป็นคำรบ ๒ - ๓ ก็ยุติแต่เท่านี้

   ในพระนามเป็นคำรบ ๔ นั้นสืบต่อไปว่า  โส ภควา   อันว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามชื่อว่าสุคโต เหตุพระองค์มีพระดำเนินงามเลิศ พระดำเนินของสมเด็จพระพุทธองค์นั้นงามบริสุทธิ์ปราศจากโทษ จึงมีโจทย์ว่าสิ่งดังฤๅเป็นดำเนินของสมเด็จพระพุทะองค์ วิสัชชนาว่าพระอริยมรรคทั้ง ๔ คือพระโสดาปัตติมรรค พระสกทาคามิมรรค พระอนาคามิมรรค พระอรหัตตมรรค นี้แลเป็นพระดำเนินแห่งสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์

   นัยหนึ่งว่าพระพุทธองค์เสด็จไปสู่ประเทศสุนทรสถาน คือ พระอนตมหานิพพานสิ้นสังขารทุกข์ เหตุฉะนี้จึงทรงพระนามชื่อว่าสุคโต นัยหนึ่งว่าพระองค์เสด็จไปเป็นอันดีมิได้กลับ อธิบายว่าพระองค์ละเสียซึ่งกิเลสเป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยพระโสดาปัตติมรรคญาณแล้ว พระพุทธองค์ก็มิได้กลับมาสู่กิเลสอันละแล้ว แลกิเลสซึ่งพระพุทธองค์ละเสียด้วยพระสิทาคามิมรรค พระอนาคามิมรรค พระอรหัตตมรรคนั้นเล่า พระองค์ก็ละเสียขาดเป็นสมุจเฉท พระองค์จะได้กลับสู่กิเลสอันละแล้วหามิได้เสด็จไปเป็นอันดีดังนี้ จึงได้พระนามว่าสุคโต นัยหนึ่งว่าทรงพระนามว่าสุคโตนั้น เหตุพระองค์กล่าวซึ่งพระวาจาอันควรในที่ควรจะพึงกล่าว ฯ

แปลพระนามเป็นคำรบ ๔ คือสุคโตยุติแต่เท่านี้

   แลพระนามเป็นคำรบ ๕ นั้น แปลว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคนั้นโลกวิทู รู้ซึ่งโลกด้วยประการทั้งปวง นัยหนึ่งว่าพระองค์ตรัสรู้ซึ่งโลก ๓ คือสังขารโลก แลสัตว์โลก แลโอกาสโลก สังขารโลกนั้นได้แก่กุศล อกุศล สัตว์โลกนั้นได้แก่สรรพสัตว์ อันมีอัธยาศัยต่าง ๆ โอกาสโลกนั้นได้แก่แผ่นดินแผ่นฟ้า สมเด็จพระศาสดาจารย์เจ้าตรัสรู้ในโลกทั้ง ๓ นี้ จึงทรงพระนามว่าโลกวิทู และพระนามคำรบ ๖ นั้นแปลว่า  โส ภควา  อันว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้านั้น   อนุตฺตโร   ประเสริฐโดยพระคุณทั้งปวง หาบุคคลจะประเสริฐเสมอมิได้

   พระองค์ครอบงำเสียซึ่งสัตว์โลกทั้งปวงด้วยศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ วิมุตติคุณ แลวิมุตติญาณทัสสนคุณ แต่บรรดาสัตว์ในไตรโลกธาตุนี้ ผู้ใดผู้หนึ่งจะมีคุณเปรียบด้วยพระคุณแห่งพระองค์นั้นหามิได้ เหตุดังนั้น จึงทรงพระนามชื่อว่า   อนุตฺตโร   แลพระนามคำรบ ๗ นั้น แปลว่า  โส ภควา  อันว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาค  ปริสทมฺมสาถิ   ทรมานซึ่งบุรุษอันมีวาสนาควรจะทรมาน คือติรัจฉานบุรุษมียาอปาละนาคราชเป็นต้น แลมุนษย์บุรุษมีสัจจนิครนถ์เป็นต้น แลอมนุษย์มีอาฬกยักษ์เป็นต้น แลหมู่อมรเทพยดามีอมรินทราธิราชเป็นต้น แลพรหมบริษัทมีผกาพรหมเป็นต้น

   พระพุทธองค์ทรงทรมานด้วยอุบายต่าง ๆ ให้เสียซึ่งพยศอันร้าย ให้ตั้งอยู่ในไตรสรณคมน์แลศีล บรรลุพระอริยมรรคอริยผล โดยอันควรแก่วาสนาบารมีแห่งตน ๆ ที่ได้สร้างสมอบรมมา เหตุดังนี้ จึงทรงพระนามชื่อว่าปุริสทัมมสารถิ แลพระนามเป็นคำรบ ๘ นั้นแปลว่า  โส ภควา  อันว่าสมเด็จพระผู้มีพระภาค  สตฺถา   เป็นครู   เทวมนุสฺสานํ   แห่งเทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลาย   อิติ   เพราะ  อิมินา ปกาเรน   ด้วยเหตุดังนี้ ๆ

  ในบทดังนี้ ในบทสัตถาเทวมนุสสานังนี้รวมเอาอรรถทั้ง ๑๐ คือ   สตฺถา   แปลว่าพระองค์สั่งสอนสัตว์ยุติในกาลทั้ง ๓ คือ อดีตกาล อนาคตกาล ปัจจุปันกาลประการ ๑   สตฺถา   แปลว่าเบียดเบียนเสียซึ่งกิเลสมีราคะเป็นต้นประการ ๑   สตฺถา   แปลว่ายังกิเลสให้ฉิบหายจากสันดานตนแลบุคคลผู้อื่นประการ ๑   สตฺถา   แปลว่าสั่งสอนสัตว์ด้วยอุบายแห่งฌาณทั้ง ๓ คือกามาพจรกุศลญาณเป็นที่ดำเนินสู่กามสุคติ ๑ คือรูปาพจรกุศลฐาณเป็นที่ดำเนินสู่รูปาพจรพรหมโลก ๑ คืออรูปาพจรกุศลญาณเป็นที่ดำเนินถึงอรูปภพประการ ๑   สตฺถา   แปลว่านำสัตว์เข้าสู่นิเสศน์สถานคือพระนิพพานประการ ๑   สตฺถา   แปลว่ามีอาวุธคมกล้า คือปัญญาประการ ๑   สตฺถา   แปลว่าสั่งสอนสัตว์ด้วยประโยชน์โดยสมควรประการ ๑   สตฺถา   แปลว่ายังสัตว์ให้ตั้งอยู่ในประโยชน์ในโลกนี้ แลโลกหน้าประการ ๑   สตฺถา   แปลว่าเหมือนดังนายสัตถวาหะพ่อค้าผู้ใหญ่ อันชักนำหมู่พ่อค้าทั้งปวงให้พ้นภัยในมรรคอันกันดารประการ ๑   สตฺถา   แปลว่ายังสัตว์ให้ข้ามชาติกันดาร  ชรากันดาร  พยาธิกันดาร  มรณกันดารประการ ๑ เป็นนัย ๑๐ ประการดังนี้ ฯ

   แลพระนามเป็นคำรบ ๙ นั้นแปลว่า   โส ภควา  อันว่าพระผู้มีพระภาคนั้น   พุทฺโธ   ตรัสรู้ซึ่งพระจตุราริยสัจ ๔ ด้วยพระองค์ แลยังสัตว์หมู่อื่นให้ตรัสรู้ซึ่งพระจตุราริยสัจจ์ นัยหนึ่งว่าทรงพระนามชื่อว่าพุทโธนั้น เหตุมีพระบวรสันดานอบรมไปด้วยพระอรหัตตมัคคาญาณอันประเสริฐ อันเป็นต้นเหตุแห่งผลคือสัพพัญญุตญาณ อันรู้ไปในไญยธรรมทั้งปวงมิได้ขัดข้อง นัยหนึ่ง พุทโธ ศัพท์นี้รวมไว้ซึ่งอรรถถึง ๑๕ ประการ คือ   พุทฺโธ   แปลว่าตรัสรู้ซึ่งพระจตุราริยสัจ ๔ ประการ ๑   พุทฺโธ   แปลว่ายังสัตว์โลกอันมีบารมีสมควรจะตรัสรู้ให้ให้ตรัสรู้พระอริยสัจจธรรมประการ ๑

   พุทฺโธ   แปลว่ามีพระบวรพุทธสันดานทรงพระคุณคือสัพพัญญุตญาณ อันสามารถตรัสรู้ไปในไญยธรรมทั้งปวงประการ ๑   พุทฺโธ   แปลว่ามีพระบวรพุทธสันดานทรงพระคุณคือพระอรหัตตมัคคญาณ อันหักรานกองกิเลสเป็นสมุจเฉทปหานหาเศษมิได้ประการ ๑   พุทฺโธ   แปลว่าตรัสรู้พระจตุราริยสัจด้วยพระองค์เอง หาผู้จะบอกกล่าวมิได้ประการ ๑   พุทฺโธ   แปลว่าเบิกบานด้วยพระอรหัตตมัคคญาณเปรียบประดุจดอกประทุมชาติ อันบานใหม่ด้วยแสงพระสุริยเทพบุตร เหตุได้พระอรหัตต์แล้ว พระวิเศษญาณทั้งปวงมีอนาคามิมัคคญาณเป็นต้นเกิด พร้อมด้วยพระอรหัตตมัคคญาณนั้นประการ ๑  พุทฺโธ   แปลว่าสิ้นจากอาสวะทั้ง ๔ มีกามาสวะเป็นต้น มีอวิชชาสวะเป็นที่สุดประการ ๑  พุทฺโธ   แปลว่ามีพระบวรพุทธสันดานปราศจากกิเลส ๑๕๑๑ ประการ

   พุทฺโธ   แปลว่ามีพระบวรพุทธสันดานทรงพระคุณ คือปราศจากราคะประการ ๑   พุทฺโธ   แปลว่ามีพระบวรสันดานปราศจากโทสะประการ ๑   พุทฺโธ   แปลว่าพระบวรสันดานปราศจากโมหะประการ ๑   พุทฺโธ   แปลว่าตื่นจากหลับคือกิเลส เปรียบประดุจบุรุษตื่นขึ้นจากหลับประการ ๑   พุทฺโธ   แปลว่าเสด็จไปสู่พระนิพพาน โดยทางมัชฌิมปฏิบัติประการ ๑  พุทฺโธ   แปลว่าตรัสรู้ด้วยพระปรมาภิเษกสัมโพธิญาณแห่งพระองค์เอง หาผู้จะรู้บ่มิได้ประการ ๑  พุทฺโธ   แปลว่าพระองค์มีพระบวรพุทธสันดานได้ซึ่งพุทธิ คือพระอรหัตตมัคคญาณ เหตุประหารเสียซึ่งอพุทธิคืออวิชชาประการ ๑ เป็นนัย ๑๕ ประการดังนี้

   แลพระนามคำรบ ๑๐ คือ   ภควา  นั้นแปลได้ถึง ๘ นัย คือ   ภควา  นั้น   ภควา  แปลว่าสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์มีอิสริยยศประการ ๑   ภควา  แปลว่าควรจะรับซึ่งจตุปัจจัยทาน คือ จีวรแลบิณฑบาทแลเสนาสนะ แลศิลานปัจจัยประการ ๑   ภควา  แปลว่าแจกซึ่งแก้ว คือ พระสัทธรรมประการ ๑   ภควา  แปลว่าหักเสียซึ่งธรรมอันเป็นบาปมีราคะเป็นต้นประการ ๑   ภควา  แปลว่าพระพุทธองค์มีพระภาค คือ พระบารมีอันพระองค์สร้างสมมาช้านานประการ ๑   ภควา  แปลว่ามีบวรกายแลจิตอันเจริญด้วยภาวนาธรรมเป็นอันมากประการ ๑   ภควา  แปลว่าถึงซึ่งที่สุดแห่งภพ คือพระอมตมหานิพพานประการ ๑ เป็นนัย ๘ ประการดังนี้

   ใช่แต่เท่านั้น   ภควา  ศัพท์นี้ถ้าแปลตามปรมัตถนัยนั้นแปลได้ ๕ นัยคือ   ภควา  แปลว่ามีพระภาค คือบารมีธรรมประการ ๑   ภควา  แปลว่าหักเสียซึ่งกองกิเลสมีราคะเป็นต้นประการ ๑   ภควา  แปลว่ากอปรด้วยบุญสิริประการ ๑   ภควา  แปลว่าเสพซึ่งทิพย์พรหมวิหารประการ ๑   ภควา  แปลว่าคายเสียซึ่งกิริยาอันเวียนไปในไตรภพ บ่มิได้บังเกิดสืบไปในภพทั้ง ๓ ประการ ๑ เป็น ๕ นัยดังนี้ สิริแปลในบุรพนัย ๘ อปรนัย ๕ จึงเป็นแปลแห่งภควาศัพท์ ๑๓ นัยด้วยกันพระนามชื่อว่าภควานี้ สมเด็จพระชนนีมารดาจะถวายก็หามิได้ สมเด็จกรุงสิริสุทโธทนะผู้เป็นพระปิตุราช แลพระบรมวงศ์ศากยราช อันเป็นญาติทั้ง ๒ ฝ่าย ๆ ละ ๘ หมื่น ๆ จะถวายก็หามิได้ ใช่แต่เท่านั้นจะได้เป็นพระนามอันมเหสักขเทวราช มีท้าวสหัสสนัยบพิตรแลสันดุสิตเทวราชเป็นประธานถวายก็หามิได้ พระนามอันนี้เป็นคุณวิโมกขันติกนาม พระองค์ได้คราวเดียวกันกับพระสัพพัญญุตญาณเหนืออปราชิตบัลลังก์ ณ ควงไม้พระมหาโพธิ์

   ในคัมภีร์พระวิสุทธิมรรคนี้ ท่านยกขึ้นว่าเป็นเนมิตตกนามแต่ภควาบทเดียว ในคัมภีร์นิเทศแลปฏิสัมภิทานั้น ท่านยกขึ้นว่าเป็นคุณเนมิตตกวิโมกขันตินาม ตั้งแต่พระอรหังตลอดจนภควา เมื่อพระโยคาพจรระลึกถึงพระคุณแห่งสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้าโดยนิยมดังกล่าวมานี้แล้ว   ราคะ  โทสะ โมหะ     ก็มิได้ครอบงำน้ำจิตแห่งพระโยคาพจร ฯ ก็ซื่อตรงเป็นอันดี นิวรณธรรมทั้ง ๕ มีกามฉันทนิวรณ์เป็นต้นก็สงบลง เมื่อจิตสงบลงตรงพระกรรมฐานแล้ววิตกวิจารอันน้อมไปในพระพุทธคุณก็จะบังเกิด เมื่อวิตกวิจารบังเกิดแล้งปีติทั้ง ๕ ประการ คือ  ขุททกาปีติ  ขณิกาปีติ  โอกกันติกาปีติ  อุพเพงคาปิติ  ผรณาปีติ  ก็จะบังเกิดในสันดาน เมื่อปีติบังเกิดเเล้ว กายปัสสัทธิ   จิตตปัสสัทธิ   อันเป็นพนักงานรำงับกายรำงับจิตก็จะบังเกิด เมื่อพระปัสสัทธิทั้ง ๒ บังเกิดแล้ว ก็เป็นเหตุจะให้สุข ๒ ประการ คือสุขในกาย   สุขในจิต นั้นบังเกิด เมื่อสุขบังเกิดแล้วน้ำจิตแห่งพระโยคาพจรก็จะตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ

   อันจำเริญพุทธานุสสตินี้กำหนดให้สำเร็จคุณธรรมแต่เพียงอุปจารฌาน บ่มิอาจให้ถึงซึ่งอัปปนาอาศัยว่าน้ำจิตแห่งพระโยคาพจร ที่จะลึกซึ่งพระพุทธคุณนั้น ระลึกด้วยนัยต่าง ๆ มิใช่แต่ในหนึ่งนัยเดียว อันพระพุทธคุณนี้ลึกล้ำคัมภีรภาพยิ่งนัก หยั่งปัญญาในพระพุทธคุณนั้น ไม่มีที่สุดไม่มีที่หยุดยั้งไม่มีที่ตั้ง เหตุฉะนี้พระโยคาพจรผู้จำเริญพุทธานุสสติ จึงคงได้แก่เพียงอุปจารฌาน แลท่านผู้จำเริญพุทธานุสสตินี้ จะมีสันดานกอปรด้วยรักใคร่ในสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์จะถึงซึ่งไพบูลย์ไปด้วยคุณธรรม คือ  ศรัทธา  สติ  ปัญญา   แลบุญสันดานนั้นจะมากไปด้วยปรีดาปราโมทย์ อาจอดกลั้นได้ซึ่งทุกข์แลภัยอันจะมาถึงจิตนั้น จักสำคัญว่าได้อยู่ร่วมด้วยสมเด็จพระผู้มีพระภาค

   ร่างกายแห่งบุคคลผู้มีพระพุทธานุสสติกรรมฐานซับซาบอยู่นั้น สมควรที่จะเป็นที่สักการแห่งหมู่เทพยดาแลมนุษย์ เปรียบประดุจเรือนเจดีย์ น้ำจิตแห่งบุคคลผู้นั้นจะน้อมไปในพุทธภูมิจะกอปรด้วยหิริโอตัปปะ มิได้ประพฤติล่วงซึ่งวัตถุอันพระพุทธองค์บัญญัติห้ามไว้ จะมีความกลัวแก่บาปละอายแก่บาป ดุจดังว่าเห็นสมควรพระพุทธองค์อยู่เฉพาะหน้าแห่งตน แม้ว่าวาสนายังอ่อนมิอาจสำเร็จฌานสมาบัติมรรคผล ก็มีสุคติภพเป็นเบื้องหน้าเหตุดังนั้นนักปราชญ์ผู้มีปัญญาอย่าพึงประมาท ในพุทธานุสสติกรรมฐานอันมีคุณานิสงส์เป็นอันมาก โดยนัยกล่าวมานี้ ฯ

จบพุทธานุสสติกรรมฐานแต่เท่านี้

ต่อ  
   
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com