พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๑๐

   จักวินิจฉัยในธัมมานุสสติกรรมฐานต่อไป พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญซึ่งธัมมานุสสติกรรมฐาน พึงอาศัยเสนาสนะอันควรโดยนัยหนหลังแล้วระลึกถึงคุณแห่งพระสัทธรรมว่า   สฺวากฺขาโต ภควาตา ธมฺโม สนฺทิฏิโก อกาลิโก   ฯลฯ  วิญุญูหีติ   ในบท   สวากฺขาโต   นั้น สำแดงคุณแห่งพระปริยัติธรรม ที่จัดโดยพระธรรมขันธ์ ๘ หมื่น ๔ พัน   สนฺทิฏิโก   แล   อกาลิโล   ตลอดจน  เวทิตพฺโพ วิญุญูหิ   นั้น สำแดงซึ้งพระพุทธคุณแห่งพระนวโลกุตตรธรรมทั้ง ๙ ประการ

   ถ้าพระโยคาพจรระลึกถึงคุณแห่งพระปริยัติธรรมนั้นพึงให้ระลึกว่า   สฺวากฺขาโต ภควตา ธมฺโม   แปลว่า  ธมฺโม   อันว่าพระปริยัติธรรมนั้นถ้าจะจัดโดยปิฎกเป็นปิฎก ๓ ถ้าจะจัดโดยพระธรรมขันธ์ได้ ๘ หมื่น ๔ พัน พระธรรมขันธ์ ถ้าจะจัดโดยองค์มี ๙   ภควตา   อันสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า   สฺวากฺขาโต   ตรัสเทศนาไพเราะในเบื้องต้นในท่ามกลางในที่สุดกอปรด้วยอรรถแลพยัญชนะบริบูรณ์สำแดงศาสนาพรหมจรรย์ แลมรรคพรหมจารรย์มิได้เหลือเศษ พึงระลึกถึงคุณพระปริยัติธรรมด้วยบท   สฺวากฺขาโต ภควาตา ธมฺโม   อันมีอรรถาธิบายดังนี้ ฯ

   ถ้าจะระลึกคุณแห่งความพระนวโลกตตรธรรมนั้น พึงให้ระลึกว่า   สนฺทิฏิโก อกาลิโก เอหิปสฺสิโก โอปนยิโก ปจฺจตตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ   แปลว่า   ธมฺโม  อันว่าพระโลกุตตรธรรม ๙ ประการ คือพระอริยมรรค ๔ อริยมรรคผล ๔ พระนิพพาน ๑ เป็นคำรบ ๙  สนฺทิฏิโก   พระนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการนี้ พระอริยบุคคลทั้งปลายมีสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นต้น ชำระจิตสันดานแห่งตนให้สงบจากราคาทิกิเลสแล้ว ก็เห็นประจักษ์แจ้งด้วยปัญญาจักษุแห่งตนเอง นัยหนึ่งว่าพระนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการนี้   สนฺทิฏิโก   พระอริยบุคคลทั้งปวงรู้แท้เห็นด้วยปัจจเวกขณญาณ จะได้รู้ด้วยกินิยาที่เชื่อฟังบุคคลอื่นหามิได้ นัยหนึ่งว่าพระอริยบุคคลผู้ใดสำเร็จพระนวโลกุตตรธรรมนี้   สนฺทิฏิโก   ย่อมผจญเสียซึ่งกิเลสธรรมอันลามกให้พ่ายแพ้ด้วยปัญญา อันเกิดพร้อมด้วยอริยมรรคแลพระนวโลกุตตรธรรม ๙ ประการนั้น   อกาลิโก   ให้ผลหากำหนดกาลบ่มิได้

  อธิบายว่า เมื่อพระอริยมรรคบังเกิดแล้วจะได้ทั้งสิ้น ๒ - ๓ วัน ๔ - ๕ วัน ก่อนแล้วจึงจะให้ผลมิได้ พระอริยมรรคบังเกิดแล้ว พระอริยผลก็บังเกิดมิได้เนิ่นช้า แลพระนวโลกุตตรธรรมนั้น   เอหิปสฺสิโก  ควรแก่   เอหิ   ปัสสิกวิธี อธิบายว่าพระอริยมรรคผู้ใดสำเร็จนวโลกุตตรธรรมนั้นอาจเรียกหาเชื้อเชิญบุคคลผู้อื่นว่า   เอหิ ปสฺส   ท่านจงมานี่มาดูซึ่งธรรมสิ่งนี้ ๆ อาจจะเรียกจะเชิญผู้อื่นดังนี้ได้ เหตุว่าพระโลกุตตรธรรมนั้นโดยมีจริงแท้ บริสุทธิประดุจดวงแก้วมณีอันวางไว้ในผ้ารัตตกัมพล

   มิฉะนั้นเปรียบประดุจจันทรมณฑลอันปราศจากเมฆ มีรัศมีงามบริสุทธิ์เลื่อนลอยอยู่ในอัมพรประเทศเวหาอาศัยเหตุนี้พระอริยบุคคลได้สำเร็จพระโลกุตตรธรรม อาจจะเรียกเชิญให้มาดูได้ดังนี้ พระนวโลกุตตรธรรมจึงเรียกว่า   เอหิปสฺสิโก  แลพระนวโลกุตตรธรรมนั้น   โอปนยิโก  ควรที่พระโยคาพจรจะน้อมมาไว้ในจิตแห่งตนด้วยสามารถจำเริญภาวนา แปลดังนี้ได้แก่มรรค ๔ ผล ๔ อันเป็นสังขตะโลกุตตรธรรม ถ้าแปลว่า   โอปนยิโก  ควรที่พระอริยเจ้าน้อมมาติดไว้ในจิตแห่งตนด้วยสามารถกระทำให้แจ้ง แปลดังนี้ได้แก่พระนิพพานอันเป็นสังขตะโลกุตตรธรรมนั้น   ปจฺจตฺตํ เวทิตพฺโพ วิญฺญูหิ  แลพระโลกุตตรธรรมนั้น นักปราชญ์ทั้งหลายมีอุคฆติตัญญูเป็นต้น จะพึงรู้พึงเห็นในตนเอง อธิบายว่าผู้ใดได้แล้วผู้นั้นก็รู้เห็นในจิตแห่งจิตตน ฯ

แปลในธรรมคุณยุติแต่เท่านี้

  เมื่อพระโยคาพจรระลึกซึ่งคุณธรรม มีสวากขาโตเป็นต้นฉะนี้   ราคะ   โทสะ   โมหะ  ก็จะบ่มิอาจที่จะครอบงำย่ำยีจิตสันดานได้ จิตของพระโยคาพจรนั้นก็จะซื่อตรงเป็นอันดี พระโยคาพจรนั้นจะข่มเสียได้ซึ่งนิวรณธรรมเป็นต้น ร่างกายแห่งบุคคลนั้นจะสมควรแก่การบูชาอุปมา ดุจเรือนพระเจดีย์ เมื่อจิตสงบลงตรงหน้าพระกรรมฐานแล้ว วิตกวิจารอันน้อมไปในพระธรรมคุณก็จะบังเกิด เมื่อวิตกวิจารบังเกิดแล้วปีติทั้ง ๕ ประการก็จะปรากฏในสันดาน เมื่อปีติเกิดแล้ว กายปัสสิทธิอันเป็นพนักงานระงับกายระงับจิตก็จะเกิด

   เมื่อปัสสิทธิทั้ง ๒ เกิดแล้วก็เป็นเหตุจะให้สุขกายสุขจิตบังเกิด เมื่อสุขเกิดแล้ว น้ำจิตของพระโยคาพจรก็ตั้งมั่นด้วยอุปจารสมาธิ อันจำเริญธัมมานุสสตินี้กำหนดให้ได้คุณแต่เพียงอุปจารฌาน มิอาจจะให้ถึงซึ่งอัปปนา อาศัยว่าน้ำจิตแห่งพระโยคาพจรที่ระลึกพระธรรมคุณนั้น ระลึกด้วยนัยต่าง ๆ ใช่อย่างเดียว อันพระธรรมคุณนี้ลึกล้ำยิ่งนักหยั่งปัญหาในพระธรรมคุณไม่มีที่สุด เพราะฉะนั้นผู้จำเริญธัมมานุสสติจึงได้เพียงอุปจารฌาน แล้วผู้จำเริญธัมมานุสสตินี้จะมีสันดานเคารพรักใคร่ในพระศาสนา ด้วยสำคัญว่าเราได้ประสบพระศาสดาผู้แสดงโอปนยิกธรรมผู้ประกอบด้วยคุณอันนี้ ที่ล่วงไปแล้วอย่างนี้แลจะมีความเคารพยำเกรงโดยยิ่งในพระธรรม แลจะถึงความไพบูลย์ด้วยคุณมีศรัทธาเป็นต้น

   สันดานนั้นจะมากไปด้วยปรีดาปราโมทย์ อาจจะอดกลั้นได้ซึ่งทุกข์แลภัยอันมาถึงจิตนั้น จะสำคัญว่าได้อยู่ร่วมด้วยพระธรรมเจ้า ( คือสำคัญว่าพระธรรมสิงในสันดานตน ) ร่างกายบุคคลอันมีธัมมานุสสติกรรมฐานซับซาบอยู่นั้นควรจะเป็นบูชาของเทพยดาแลมุนษย์ เปรียบประหนึ่งเรือนพระเจดีย์ น้ำจิตของผู้นั้นจะน้อมไปเพื่อตรัสรู้อนุตตรธรรมจะกอปรด้วยหิริแลโอตัปปะ มิได้ประพฤติล่วงซึ่งวัตถุอันพระองค์บัญญัติไว้แม้ว่าวาสนายังอ่อนมิอาจสำเร็จฌานสมาบัติมรรคผล ก็จะมีสุคคติเป็นเบื้องหน้า เหตุฉะนี้นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นภัยในวัฏฏสงสาร อย่าพึงประมาทในธัมมานุสสติกรรมฐานอันมีคุณานิสงส์ดังกล่าวแล้ว ฯ

จบธัมมานุสสติเท่านี้

  จักวินิจฉัยในสังฆานุสสติสืบต่อไป  สงฺฆานุสฺสติ ภาเวตุกาเมน รโหคเตน ปฏิสลฺลีเนน ฯ ล ฯ สงฺคุณานุสฺสริตพฺพา   พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญสังฆานุสสติกรรมฐานนั้น พึงตั้งสติระลึกถึงคุณพระอริยสงฆ์ว่า   สุปฏิปนฺโน ภควาโต สาวกสงฺโฆ อุชุปฏิปนฺโน ภควาโต สาวกสงฺโฆ ฯ ล ฯ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โสกสฺสาติ   แปลในบทต้นว่า   สาวกสงฺโฆ   อันว่าพระสงฆ์สาวก   ภควาโต  แห่งสมเด็จพระผู้ทรงสวัสดิภาคย์  สุปฏิปนฺโน   ปฏิบัติเป็นอันดี ดำเนินขึ้นสู่สัมมาปฏิบัติ มิกลับจากพระนวโลกุตตรธรรม แลอนุโลมปฏิบัติอนุโลมตามพระนวโลกุตตรธรรม แลอปัจจนิกปฏิบัติมิได้เป็นข้าศึกแก่พระนวโลกุตตรธรรม แลปุพพภาคปฏิบัติอันเป็นส่วนเบื้องต้นแห่งพระนวโลกุตตรธรรม

  แลพระอริยสงฆ์สาวกนั้น  อุชุปฏิปนฺโน  ปฏิบัติซื่อปฏิบัติตรง แหวกเสียซึ่งลามกปฏิบัติทั้ง ๒ คือ อัตตกิลมภานุโยคแลกามสุขัลลิกานุโยค ปฏิบัติโดยมัชฌิมปฏิบัติ คือพระอัษฏางคิกมรรค ละเสียซึ่งคดอันประกอบในกายแลวาจาจิต   ญายปฏิปนฺโน  พระอริยสงฆ์สาวกนั้นปฏิบัติเพื่อได้ให้สำเร็จพระนิพพาน  สามีจิปฏิปนฺโน  ปฏิบัติควรแก่สามีกรรม   ยทิทํ จตฺตาริ ปริสยุคานิ พระอริยสงฆ์สาวกนั้นจัดเป็นคู่ได้ ๔ คู่ คือ โสดาปัตติมรรคบุคคลกับโสดาปัตติผลบุคคลคู่ ๑  พระสกทาคามิมรรคบุคคลกันพระสกทาคามิผลบุคคลคู่ ๑  พระอนาคามิมรรคบุคคลกับพระอนาคามิผลบุคคลคู่ ๑  พระอรหัตตมรรคบุคคลกับพระอรหันตบุคคลคู่ ๑  เป็น ๔ คู่ด้วยกัน

   อฏ ปุริส ปุคฺคลา  ถ้าแยกคู่ออกนั้นเป็นปริสบุคคล ๘ จำพวก  เอส ภควาโต สาวกสงฺโฆ   พระอริยสาวกแห่งสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ ผู้ทรงพระสวัสดิภาคย์ที่จัดเป็น ๔ คู่ เป็นปุริสบุคคล ๘ จำพวกดังนี้  อาหุเนยฺโย  ควรจะรับซึ่งจตุปัจจัยอันเฉพาะบุคคลผู้มีศีลนำมาแต่ไกลแล้ว แลน้อมเข้าถวาย  ปาหุเนยฺโย  แม้อาคันตุกทานอันบุคคลทั้งหลายตกแต่งไว้เฉพาะญาติแลมิตร อันเป็นที่รักที่ชอบใจอันมาแต่ทิศต่าง ๆ นั้นทายกนำมาถวาย ก็สมควรที่พระอริยสงฆ์จะพึงรับ

  แลบุคคลที่ไปมาสู่โลกทั้งหลายสมมุติเรียกว่าแขกนั้น ผู้ใดผู้หนึ่งจะประเสริฐกว่าแขก คือพระอริยสงฆ์นี้หามิได้ พระอริยสงฆ์สาวกนั้น  ทกฺขิเณยฺโย   ควรจะรับซึ่งทานอันบุคคลเชื่อซึ่งกรรมแลผลแล้ว แลให้  อญฺชลีกรณีโย   ควรแก่อัญชลียกรรม อันสัตว์โลกยกพระพุ่มหัตถ์ประนมมือเหนือเศียรเกล้าแล้วแลกระทำ  อนุตฺตรํ ปุญฺญกฺเขตฺตํ โลกสฺส  เป็นเนื้อนาบุญอันประเสริฐหาเขตอื่นจะเปรียบมิได้ แห่งสรรพสัตว์ในโลกนี้ แลพระโยคาพจรผู้ระลึกถึงคุณแห่งพระอริยสงฆ์ โดยนิยมดังนี้ย่อมจะได้คุณานิสงส์ต่าง ๆ ดุจดังพรรณนาแล้วในพุทธนานุสสติธัมมานุสสติกรรมฐานนั้น

  เหตุฉะนี้ นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพิจารณาเห็นภัยในวัฏฏสงสารอย่าพึงประมาทละลืมเสียซึ่งสังฆานุสสติกรรมฐาน พึงอุตสาหะระลึกเนือง ๆ อย่าให้เสียทีที่พบพระพุทธศาสนา แลพระโยคาพจรผู้มีศรัทธาจำเริญธัมมานุสสติ สังฆานุสสติกรรมฐานนั้น มีกำหนดจะให้ได้สำเร็จแต่อุปจารสมาธิ บ่มิอาจดำเนินขึ้นสู่ภูมิแห่งอัปปนาได้เหตุว่าพระธรรมคุณ พระสังฆคุณนั้นลึกล้ำคัมภีร์ภาพยิ่งนัก พระโยคาพจรหยั่งจิตกิริยา อันระลึกซึ่งพระธรรมคุณและพระสังฆคุณนั้นโดยนัยต่าง ๆ ไม่มีที่หยุดยั้งไม่มีที่ตั้ง เหตุดังนี้จึงมิได้ถึงซึ่งอัปปนาสมาธิ ได้เพียงอุปจารสมาธิ ฯ

จบสังฆานุสสติกรรมฐานแต่เท่านี้

  จักวินิจฉัยในสีลานุสสติสืบต่อไป  สีลานุสฺสติ ภาเวตุกาเมน ฯ ล ฯ อตฺตโน สีลานิ อนุสสริตพฺพานิ พระโยคาพจรผู้มีศรัทธา ปรารถนาจะจำเริญสีลานุสสติกรรมฐานนั้น ถ้าเป็นคฤหัสถ์ก็พึงชำระศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ ประการให้บริสุทธิ์ ถ้าเป็นบรรพชิตพึงชำระศีล ๑๐ ศีล ๒๒๗ ให้บริสุทธิ์ ให้ตั้งอยู่ในอขัณฑศีลแลอฉิททศีล อสวลศีล แลอกัมมาสศีล นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า ศีลอันบุคคลรักษาบริสุทธิ์บริบูรณ์จะได้ขาดในเบื้องต้นเบื้องปลาย ประดุจผ้าสาฏกอันขาดในชายทั้ง ๒ ข้างนั้นหาบ่มิได้อย่างนี้ชื่อว่าอขัณฑศีล

  แลศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์เป็นอันดีจะได้ขาดในท่ามกลางเหมือนผ้าสาฏกอันทะลุในกลางผืนนี้หามิได้ อย่างนั้นชื่อว่าฉิททศีล แลศีลมิได้ขาด ๒ องค์ ๓ องค์โดยลำดับมา ๆ มิได้ต่างประดุจโคต่างอันมีสีแปลกประหลาดบังเกิดขึ้นในหลังแลท้อง มีสัณฐานกลมแลยาวเป็นต้นนั้นชื่อว่า อสวลศีล แลศีลอันมิได้ขาดในระหว่าง ๆ มิได้พร้อยประดุจโคอันลายพร้อย ๆ เป็นหยาด ๆ นั้น ชื่อว่าอกัมมาสศีลเมื่อพระโยคาพจรเจ้าชำระศีลแห่งตนให้บริสุทธิ์ดังนั้นแล้ว พึงเข้าไปสู่เสนาสนะอันสงัด ดุจกล่าวแล้วแต่หลัง

   พึงพิจารณาศีลแห่งตนด้วยสามารถคุณมีมิได้ขาดเป็นต้นว่า  อโห วตเม สีลานิ อขณฺฑานิ อฉิทฺทนิ อสวลานิ อกมฺมาสานิ ภุชฺชิสฺสานิ วิญฺญูปสตฺถานิ อปรามตฺถานิ สมาธิสํวตฺตนิกานิ   ดังอาตมาสรรเสริญ ศีลแห่งอาตมานี้มิได้ขาดในเบื้องต้นเบื้องปลายบ่มิได้ทำลายในท่ามกลาง บ่มิได้ด่างบ่มิได้พร้อย ศีลแห่งอาตมานี้เป็นไทย บ่มิได้เป็นทาสแห่งตัณหา ศีลแห่งอาตมานี้เป็นที่สรรเสริญแห่งนักปราชญ์ทั้งหลาย มีสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นประธาน ศีลอาตมานี้ตัณหาทิฏฐิมิได้ต้อง ประพฤติเป็นไปเพื่อจะให้สำเร็จอุปจารสมาธิ แลอัปปนาสมาธิ

  อนึ่งเป็นไปเพื่อมรรคสมาธิแลผลสมาธิ เมื่อพระโยคาพจรภิกษุผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารระลึกเนือง ๆ ถึงศีลแห่งตนโดยนัยดังกล่าวมานี้ก็จะมีจิตเคารพในสิกขาบท จะปราศจากอัตตนุวาทภัยคือได้ติเตียนเป็นต้นแม้ว่าจะเห็นโทษมาตรว่าหน่อยหนึ่ง ก็จะมีความสะดุ้งตกใจเป็นอันมากจะจำเริญด้วยคุณธรรมคือ ศรัทธา สติปัญญา จะมามากด้วยปรีดาปราโมทย์ แม้ว่าบ่มิอาจถึงพระอริยมรรค พระอริยมรรคในชาตินั้นก็จะมีสุคติเป็นเบื้องหน้า เหตุดังนั้นนักปราชญ์ผู้มีปรีชา อย่าพึงประมาทในสีลานุสสติกรรมฐานอันกอปรด้วยคุณานิสงส์เป็นอันมากดังที่ได้กล่าวมานี้ พึงจำเริญสาลานุสสติกรรมฐาน ระลึกถึงศีลแห่งตนจนเนืองนิตย์เถิด ฯ

จบสีลานุสสติกรรมฐานแต่เท่านี้

   จักวินิจฉัยใน จาคานุสสติกรรมฐานสืบต่อไป   จาคานุสฺสติภาเวตุกาเมน ฯลฯ จาโค อนุสฺสริตพฺโพ   พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญจาคานุสสติกรรมฐานนั้น พึงมีจิตรักใคร่ในจำแนกแจกทานให้เป็นนิตย์เป็นต้นเป็นเดิม นัยหนึ่งว่า เมื่อปรารถนาจะจำเริญจาคานุสสติกรรมฐานนั้น ให้ตั้งจิตของตนว่า จำเดิมแต่วันนี้ไปเมื่อปฏิคาหกผู้จะรับทานมี ถ้าอาตมาไม่ได้ให้ทานโดยกำหนดเป็นที่สุด แต่ข้าวคำหนึ่งก่อนแล้ว อาตมาก็จักมิได้บริโภคเลยเป็นอันขาด ในวันจะจำเริญจาคานุสสติกรรมฐานนั้น ให้พระโยคาพจรจำแนกแจกทานแก่ปฏิคาหก อันทรงซึ่งคุณอันวิเศษ แล้วพึงเอานิมิตในทางที่ตนให้ คือกำหนดอาการอันเป็นไปด้วยบริจากเจตนานั้น

   ครั้นแล้วเข้าสู่เสนาสนะอันสงัด มีนัยดังกล่าวแล้วแต่หนหลัง พึงระลึกซึ่งบริจากของตนด้วยสามารถกอปรด้วยคุณ มีปราศจากตระหนี่เป็นต้นด้วยพระบาลีว่า   ลาภา วต เม สุลทฺธํ วต เม โยหํ มจฺเฉรมลปริยุฏิตายปชาย วิคตมลมจฺเฉเรน เจตสา วิหรามิ มุตฺตจาโค ปยตปาณี โวสฺสคฺครโต ยาจโยโค ทานสํวิภาครโต  อรรถาธิบายในบาลีนี้ว่า บุญลาภแห่งทายกผู้บำเพ็ญทานนั้น สมเด็จพระผู้มีพระภาคย่อมตรัสสรรเสริญโดยการเป็นอันมาก บุญลาภนั้นได้ชื่อว่าเป็นของอาตมาบังเกิดแก่อาตมาประการ ๑

  ความสั่งสอนอันสมเด็จพระผู้มีพระภาคโปรดประทานไว้นั้นก็ดี กิริยาที่อาตมาได้บังเกิดมาเป็นมนุษย์ก็ดี   สุลทฺธํ วต  ได้ชื่อว่าอาตมาได้เป็นอันดียิ่งนัก เพราะเหตุว่า สัตว์โลกทั้งปวงมีสันดานมากไปด้วยมลทิน คือมัจฉริยะ ๆ ครอบงำไว้ แลอาตมาอยู่บัดนี้ด้วยปราศจากมลทินคือตระหนี่   มุตฺตจาโค  อาตมามีบริจากอันสละแล้ว  ปยตปาณี   มีมืออันล้างอยู่เป็นนิตย์ เพื่อประโยชน์จะคอยหยิบไทยทานโดยเคารพ   โวสฺสคฺครโต  อาตมานี้ควรแก่กิริยาอันยาจกมาขอ อธิบายว่าถ้ามียาจกมาขอสิ่งใดอาตมาก็จะให้สิ่งนั้น   ทานสํวิภาครโต  อาตมามีจิตยินดีในทานยินดีในการจำแนกอธิบายว่ากิริยาที่ให้สิ่งของอันตนแต่งไว้ เพื่อจะให้แก่ปฏิคาหกนั้นเรียกว่าทาน แลสิ่งของที่ตนจะบริโภคนั้น ถ้าหยิบออกให้เรียกสังวิภาค เมื่อพระโยคาพจรระลึกซึ่งบริจากแห่งตนโดยนิยมดังนี้ ก็จะมีคุณานิสงส์ดุจกล่าวแล้วในพุทธานุสสตินั้น

   ความยินดีที่จะบริจากทานนั้น จะวัฒนาการขึ้นไปกว่าเก่า อัธยาศัยนั้นจะปราศจากโลภจิต จักอนุโลกมตามเมตตา มิได้ย่อหย่อนที่จะบริจากทาน สันดานจะมากไปด้วยปรีดาปราโมทย์ แม้ถึงว่ามิสำเร็จพระอริยมรรคพระอริยผลในชาตินั้น ทำลายเบญขันธ์ก็จะมีสุคคติเป็นเบื้องหน้า เหตุฉะนี้นักปราชญ์ผู้มีปรีชาอย่าพึงประมาทในจาคานุสสติกรรมฐาน อันมีคุณานิสงส์ดังแสดงมานี้ ฯ

จบจาคานุสสติกรรมฐานแต่เท่านี้

   จักวินิจฉัยในเทวตานุสสติสืบต่อไป  เทวตานุสฺสติ ภาเวตุกาเมน ฯลฯ อนุสฺสริตพฺพา  พระโยคาพจรผู้มีศรัทธาปรารถนาจะจำเริญเทวตานุสสติกรรมฐานนั้น พึงประพฤติจิตสันดานให้กอปรด้วยคุณธรรม คือศรัทธาแลศีลแลสุตะแลจาคะแลปัญญาเข้าสู่ที่สงัดแล้ว พึงตั้งเทพยดาไว้ในที่เป็นพยาน ระลึกถึงเทพยดาอันกอปรด้วยคุณมีศรัทธาเป็นต้นว่า  สนฺติเทวา จาตุมหาราชิกา   เทพยดาอันอยู่ในชั้นจาตุมหาราชิกาดวงดึงษา   ยามาดุสิตา  นิมมานนรดี   ปรนิมมิตวสวดีนั้น ๆ ก็ดีเทพยดาอันอยู่ในพรหมโลกก็ดี เมื่อเป็นมนุษย์นั้นกอปรด้วยศรัทธา จุติจากมนุษย์แล้วจึงได้ขึ้นไปบังเกิดในสวรรค์เทวโลก แลศรัทธาของอาตมานี่ก็เหมือนศรัทธาแห่งเทพยดาเหล่านั้น

   อนึ่งเทพยดาทั้งปวงนั้นเมื่อเป็นมนุษย์กอปรด้วยศีลอุตสาหะ สดับฟังพระธรรมเทศนาและบริจากทาน กอปรด้วยสติปัญญาจุติจากอนุษย์แล้วจึงได้ขึ้นไปบังเกิดในเทวดา อาตมานี้กอปรด้วยศีล   สุตะ   จาตะ   จาคะ   ปัญญา   เหมือนด้วยเทพยดาเหล่านั้น เมื่อตั้งไว้ซึ่งเทพยดาในที่เป็นพยานดังนี้แล้ว ก็พึงระลึกถึงศรัทธาคุณ   ศีลคุณ   สุตคุณ   จากคุณ   ปัญญาคุณ   ของตนเนือง ๆ ตกว่าระลึกเอาศรัทธาทิคุณของเทพยาดาเป็นพยานก่อนแล้ว จึงจะระลึกถึงศรัทธาทิคุณของตนต่อภายหลัง พระโยคาพจรผู้ประกอบเนือง ๆ ซึ่งเทวตานุสสติกัมมัฏฐานดังนี้ จะเป็นที่รักแห่งเทพยาดาเป็นอันมากจะมีคุณานิสงส์เป็นอันมาก ดุจกล่าวแล้วในพุทธานุสสติกัมมัฏฐาน เหตุดังนั้นนักปราชญ์ผู้มีปรีชาพึงอุตสาหะจำเริญเทวดานุสสติกัมมัฏฐานจงเนือง ๆ เถิด ฯ

จบเทวตานุสสติกัมมัฏฐานแต่เท่านี้

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com