พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นตอชมหน่อนนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๘

   เมื่ออุคคหนิมิตปรากฏกลับคืนมา บังเกิดในสันดานดังนี้แล้ว พระโยคาพจรพึงยังน้ำจิตให้สัญจรไปในอุทธุมาตกปฏิกูลแล้วพึงพิจารณาให้เห็นอานิสงส์ว่า อาตมะจะยังฌานให้บังเกิดแล้วจะจำเริญพระวิปัสสนามีฌานเป็นที่ตั้ง พิจารณาฌานเป็นพระไตรลักษณ์แล้ว จะพ้นจากชาติชราแลมรณะเพราะพิธีทางปฏิบัติ อนึ่งพระโยคาพจรพิจารณาเห็นอานิสงส์ดังนี้ พึงรักษาอุคคหนิมิตไว้ให้มั่นคงอย่าให้อันตรธาน พึงทำการให้เหมือนคนยากรักษาดวงแก้ว ธรรมดาคนเข็ญใจได้ดวงแก้วอันมีราคาเป็นอันมากนั้น ย่อมมีความเคารพรักใคร่ชื่นชมโสมนัสในดวงแก้วด้วยสำคัญเข้าใจว่า แก้วดวงนี้บุคคลผู้อื่นจะได้พบได้เห็นเป็นอันยากยิ่งนักอาตมาได้ดวงแก้วนี้มาไว้ในเรือนเป็นบุญลาภล้ำเลิศประเสริฐ

  เข้าใจดังนี้แล้วก็มีความรักใคร่ในดวงแก้วยิ่งนัก รักษาไว้มั่นคงมิได้สูญหายไปได้ฉันใดก็ดี โยคาพจรบำเพ็ญพระกรรมฐานอันนี้ ก็พึงให้มีความรัก ความยินดี เหมือนคนเข็ญใจได้ดวงแก้วอันมีราคา โยคาพจรบำเพ็ญพระกรรมฐานอันนี้นี่ยาก พระกรรมฐานบ่อนอื่น ๆ บำเพ็ญง่ายแท้จริงโยคาพจรจำเริญจตุธาตุกรรมฐานนั้น ก็พึงพิจารณาฌามหาภูตรูป ๔ ของตนเอง โยคาพจรจำเริญอานาปานกรรมฐานเล่า ก็ตั้งสติไว้ที่ปลายนาสิกแลริมโอษฐ์ อันถูกลมถูกต้องเอาลมเป็นนิมิต พิจารณาลมนาสิกของตน โยคาพจรจำเริญกสิณกรรมฐานกระทำดวงกสิณทำดวงกสิณโดยใหญ่เท่ากับตะเเกรง โดยน้อยเท่าขอบขัน แล้วจำเริญภาวนาโดยอัธยาศัยไม่เร่งไม่รัด

   พระกรรมฐานอื่นคือ อนุสสติแลพรหมวิหารนั้นโยคาพจรได้ง่ายไม่พักลำบากกายใจ อันอุทธุมาตกกรรมฐานคงจะตั้งอยู่ก็แต่วันหนึ่งสองวัน เบื้องหน้าแต่นั้นก็กลายเป็นอื่นมีนีลกอสุภเป็นต้น เหตุดังนั้น พระกรรมฐานบ่อนอื่นจะเป็นของหายากยิ่งกว่าอุทธุมาตกกรรมฐานนี้หามิได้ เมื่อพระโยคาพจรสำคัญเข้าใจอุทธุมาตกอสุภเป็นดวงแก้วดังนี้แล้ว พึงให้มีความเคารพรักใคร่ในอุคคหนิมิตพึงรักษาอุคคหนิมิตไว้ อย่าให้อันตรธานหายจากสันดานได้ มีอุปมาเหมือนคนเข็นใจได้ดวงแก้วมีราคามาก แล้วรักษาไว้เป็นอันดีนั้น

   อันดับนั้นโยคาพจรนั้นนั่งในที่สบาย กลางวันก็ดีให้ผูกจิตไว้ในนิมิตด้วยบริกรรมภาวนาว่า   อุทฺธุมาตกํ ปฏิกุลํ อุทฺธุมาตกํ ปฏิกุลํ   เอาวิตกชักมาซึ่งนิมิตพิจารณาเนือง ๆ แล้ว ๆ เล่า ๆ อันว่าปฏิภาคนิมิตก็บังเกิดแก่โยคาพจร อุคคหนิมิตกับปฏิภาคนิมิตมีเหตุต่างกัน อุคคหนิมิตนั้นปรากฏสภาคเห็นเป็นอันพึงเกลียดพึงกลัว แลแปลกประหลาดยิ่งนัก แลปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏดุจบุรุษมีกายอันพ่วงพี บริโภคอาหารตราบเท่ามีประโยชน์แล้วแลนอนอยู่เมื่อโยคาพจรได้ปฏิภาคนิมิตนั้นแล้ว

   อันว่านิวรณกรรม ๕ ประการ ก็ปราศจากสันดานโดยวิขัมภนปหาน พร้อมกันกับโยคาพจรได้ปฏิภาคนิมิต แลนิวรณณธรรม ๙ ประการนั้นคือ กามฉันทนิวรณ์ ๑ พยาบาทนิวรณ์ ๑ ถีนมิทธนิวรณ์ ๑ อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ๑ วิจิกิจฉานิวรณ์เป็น ๕ นิวรณ์คือ กามฉันทะฉิบหายจากสันดานโดยวิขัมภนปหานเหตุโยคาพจรมิได้กระทำไว้ในใจ ซึ่งกามคุณอันเป็นภายนอก แลพยาบาทนิวรณ์นั้นปราศจากสันดานโยคาพจร เหตุโยคาจพจรสละเสียซึ่งอาฆาตอันมีความรักเป็นมูลเหตุ เปรียบดุจบุคคลอันละโลหิตเสียแล้วก็ปราศจากหนอง แลถีนมิทธนิวรณ์นั้นปราศจากสันดานพระโยคาพจร เหตุปรารภรำพึงเพียงเคร่งครัดยิ่งนัก แลอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์นั้นปราศจากสันดาน เหตุโยคาพจรประกอบเนือง ๆ ในธรรมอันเป็นที่ระงับ แลมิได้กระทำให้กำเริบร้อน แลวิจิกิจฉานิวรณ์นั้นคือความสงสัยในสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ อันเป็นผู้แสดงซึ่งปฏิบัติแลวิธีทางปฏิบัติ แลผลแห่งปฏิบัติคือโลกิยผลแลโลกุตตรผลนั้นปราศจากสันดาน

   เพราะเหตุเห็นประจักษ์แจ้งในภาวนาวิเศษอันตนได้นิวรณธรรม ๕ ประการนี้ ดับพร้อมกันก็บังเกิดปรากฏแห่งปฏิภาคนิมิตอันว่าองค์ฌาน ๔ ประการนี้ คือวิตกอันยกอารมณ์ขึ้นสู่จิต ๑ คือวิจาร มีกิริยาอันให้สำเร็จ คือพิจารณาปฏิภาคนิมิต ๑ คือปีติบังเกิดแต่เหตุคือปฏิภาคนิมิต อันพระโยคาพจรได้ ๑ คือสุขอันมีปัสสัทธิยุคล คือกายปัสสิทธิแลจิตปัสสัทธิเป็นเหตุ ด้วยว่าโยคาพจรมีจิตกอปรด้วยปีติแล้ว ปัสสัทธิก็บังเกิดแก่โยคาพจร ๑ คือเอกัคคตามีสุขเป็นเหตุ ด้วยสภาวะ โยคาพจรเป็นสุขแล้วจึงมีสมาธิจิต ๑ องค์ฌานทั้ง ๕ ประการนี้บังเกิดปรากฏในปฏิภาคนิมิตอันอุปจารฌานนั้น บังเกิดเป็นรูปเปรียบแห่งปฐมฌาน ก็ว่าอัปปนาฌานคือปฐมฌานก็ดี แลกิริยาที่ถึงซึ่งชำนาญในปฐมฌานก็ดี เบื้องหน้าแต่อุปจารฌานนี้ นักปราชญ์พึงรู้โดยนัยดังกล่าวแล้วในปฐมวีกสิณนั้นเถิด

จบอุทธุมาตกอสุภโดยสังเขปเท่านี้

   ในวินีลกรรมฐาน มีข้ออธิบายว่า ให้พระโยคาพจรพิจารณาซากอสุภมีสีเขียวเป็นอารมณ์ แลวินิจฉัยอธิบายในวินีลกอสุภกรรมฐานนี้ ก็เหมือนกันกับอุทธุมาตกอสุภกรรมฐาน จะแปลกประหลาดกัน แต่บริกรรมในอุทธุมาตกอสุภนั้นบริกรรมว่า   อุทฺมาตกํ ปฏิกุลํ อุทฺธุมาตกํ ปฏิกุลํ   ในวินีลกอสุภกรรมฐานนี้ไห้บริกรรมว่า  วินีลกํ ปฏิกุลํ วินีลกํ ปฏิกุลํ   ในวินีลกอสุภกรรมฐานนี้ อุคคหนิมิตมีสีอันด่างพร้อยถ้าปรากฏดังนี้ได้ชื่อว่าอุคคหนิมิตบังเกิด แลปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏด้วยสามารถอันหนาขึ้นแห่งสีใดสีหนึ่ง คือสีแดงสีขาวสีเขียวเจือกัน แลมีสีใดสีหนึ่งมากแผ่กลบสีทั้งปวง ถ้าปรากฏดังนี้ได้ชื่อว่าปฏิภาคนิมิตบังเกิด ฯ

จบวินีลกอสุภ

  ในวิปุพพกอสุภกรรมฐานนั้น ให้โยคาพจรพิจารณาซากอสุภอันมีน้ำหนองไหลเป็นอารมณ์ คือบริกรรมว่า   วิปุพฺพกํ ปฏิกุลํ วิปุพฺพกํ ปฏิกุลํ   ร้อยคาบพันคาบตราบเท่ากว่าจะได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตในวิปุพพกรรมฐานนี้ ปรากฏดุจมีหนองไหลอยู่มิขาด แลปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นร่างอสุภสงบแน่นิ่งอยู่มิได้หวาดไหว ซึ่งปรากฏดุจมีหนองอันไหลอยู่เหมือนอุคคหนิมิตนั้นหาบ่มิได้ ฯ

จบวิปุพพอสุภ

   ในวิฉิททกอสุภกรรมฐานนั้น มีข้ออธิบายว่า ให้โยคาพจรพิจารณาซากเฬวระแห่งข้าศึกแลโจร อันพระมหากษัตริย์ตรัสให้ตัดให้ฟัน มีศีรษะอันขาด มือขาด เท้าขาด แล้วกลิ้งอยู่ในที่สนามรบแลป่าช้า อันเป็นที่อาศัยแห่งโจรแลป่าช้า ถ้ามิฉะนั้นพึงพิจารณาซากอสุภแห่งมนุษย์ อันพาลฤค เป็นต้นว่าเสือโคร่งแลเสือเหลืองขบกัดให้ขาดเป็นท่อน ๆ ทอดทิ้งอยู่ในไพรสณฑ์ประเทศ เหตุดังนั้นเมื่อโยคาพจรไปสู่ที่พิจารณาซากอสุภนั้น

  ผิว่าซากอสุภอันตกอยู่ในทิศต่าง ๆ นั้น ปรากฏแก่โยคเทศคลองที่สว่างของจักษุแห่งพระโยคาพจร ด้วยอาวัชชนะพิจารณาครั้งเดียวก็เป็นบุญลาภอันดีนัก ถ้าแลซากอสุภนั้นมิได้สู่โยคเทศคลองที่สว่างแห่งจักษุ ด้วยพิจารณาครั้งเดียวก็อย่าพึงให้พระโยคาพจรถือเอาซากอสุภนั้นมาวางไว้ในที่อันเดียวกันด้วยมือแห่งตน เมื่อถูกต้องจับถือด้วยมือแห่งตนแล้วก็จะคุ้นจะเคยไป จะไม่รังเกลียดอายในซากอสุภนั้น

   เหตุดังนั้นพึงให้พระโยคาพจรใช้โยมวัดเเลสามเณรแลผู้ใดผู้หนึ่ง นำมาวางไว้ในที่อันเดียวกัน ถ้าหาผู้ใดผู้หนึ่งจะช่วยนำมามิได้ ก็พึงให้โยคาพจร เอาไม้เท้าแลไม้ส้าวคัดต้อนเข้าวางไว้ให้ห่างกันแต่ ๑ นิ้ว แล้วพึงกำหนดจิตจำเริญบริกรรมภาวนาว่า   วิฉิทฺทกํ ปฏิกุลํ วิฉิทฺทกํ ปฏิกุลํ   ร้อยคาบพันคาบ ตราบเท่าอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตจะบังเกิด อุคคหนิมิตในวิฉิททกกรรมฐานนี้ เป็นอสุภนิมิตปรากฏในละเวกหว่างวิถีจิต มีอาการอันขาดในท่ามกลางเหมือนอย่างอสุภนั้น แลปฎิภาคนิมิตนั้นปรากฏเหมือนอวัยวะบริบูรณ์ มิได้เป็นช่องเป็นหว่างอย่างอุคคหนิมิต ฯ

จบวิฉิททอสุภ

  ในวิกขายิตกอสุภนั้นมีข้ออธิบายว่า ให้พระโยคาพจรพิจารณาซากอสุภ อันสุนัขเป็นต้นกัดทึ้งยื้อคร่า แล้วกำหนดจิตบริกรรมภาวนาว่า   วิกฺขายิตกํ ปฏิกุลํ วิกฺขายิตกํ ปฏิกุลํ  ร้อยคาบพันคาบตราบเท่าอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตจะบังเกิด อุคคหนิมิตใดวิกขายิตกนี้ปรากฏเหมือนร่างอสุภอันสัตว์กัดกินกลิ้งอยู่ในที่นั้น ๆ แลปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏบริบูรณ์สิ้นทั้งร่างกาย ปรากฏเป็นที่สัตว์กัดกินนั้นหาบ่มิได้

จบวิกขายิตกอสุภ

   วิขิตตตกอสุภนั้น มีข้ออธิบายว่า ให้โยคาพจรใช้โยมวัดแลสามเณรแลผู้ใดผู้หนึ่ง ให้ประมวลมาซึ่งอสุภอันที่ตกเรี่ยรายอยู่ในที่ต่าง ๆ มาวางไว้ในที่อันเดียวกัน มิฉะนั้นให้ประมวลมาด้วยตนเอง วางไว้ในที่อันเดียวกันให้ห่างกันนิ้วหนึ่ง ๆ แล้วพึงกำหนดจิตจำเริญบริกรรมว่า   วิกฺขิตฺตกํ ปฏิกุลํ วิกฺขิตฺตกํ ปฏิกุลํ   จงเนือง ๆ อันว่าอุคคหนิมิตในวิกขิตตกกรรมฐานนี้ มีสภาวะปรากฏเป็นหว่าง ๆ เหมือนร่างอสุภนั้น แลปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นร่างกายบริบูรณ์จะได้มีช่องหว่างหามิได้ ฯ

จบวิกขิตตกอสุภ

  ในหตวิกตตกอสุภนั้นมีข้อวินิจฉัยอธิบาย ให้พระโยคาพจรประมวลมาเองก็ดี ใช้ผู้อื่นให้ประมวลมาก็ดี ซึ่งซากอสุภอันบุคคลผู้เป็นไพรีปัจจามิตร สับฟันมีอาการดังเท้ากากระทำให้ขาดเป็นท้อน ๆ ทิ้งไว้ในที่ทั้งปวงเป็นต้นว่าป่าชัฏแลป่าช้านั้น นำมาวางไว้ให้ห่าง ๆ กันละ ๑ นิ้ว ๆ แล้วพึงกำหนดจิตจำเริญบริกรรมว่า   หตวิกฺขิตตกํ ปฏิกุลํ หตวิกฺขิตฺตกํ ปฏิกุลํ   จงเนือง ๆ ตราบเท่าอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตมาบังเกิดในสันดาน อันว่าอุคคหนิมิตบังเกิดปรากฏนั้น ดุจรอยปากแผลอันบุคคลประหาร แลปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเต็มบริบูรณ์ จะได้เป็นช่องเป็นหว่างอย่างอุคคหนิมิตนั้นหามิได้ ฯ

จบหตวิกขิตตกอสุภ

   ในโลหิตกอสุภนั้น มีข้อวินิจฉัยอธิบายว่า ให้พระโยคาพจรพิจารณาดูซึ่งซากอสุภ อันบุคคลประหารในอวัยวะมีมือและเท้าเป็นอาทิให้ขาด มีโลหิตอันล้นไหลออกแลทิ้งไว้ในที่สนามรบเป็นต้นก็ดี แลอสุภมีโลหิตอันไหลออกจากปากแผลฝีแลต่อมเป็นต้นแตกออกก็ดี เมื่อเห็นอสุภนั้น พึงกำหนดพิจารณาเอาเป็นอารมณ์แล้วจึงจำเริญบริกรรมว่า   โลหิตกํ ปฏกุลํ โลหิตกํ ปฏิกุลํ   จงเนือง ๆ เป็นนิตย์ อันว่าอุคคหนิมิต ในโลหิตกอสุภนี้ เมื่อปรากฏในมโนทวารนั้นมีอาการอันไหวดุจผ้าแดงอันต้องลมแล้งแลไหว ๆ อยู่นั้นแลปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏเป็นอันดีจะได้ไหวได้ติงหามิได้ ฯ

จบโลหิตกอสุภ

   ในปุฬุวกอสุภนั้น มีอรรถาอธิบายว่า พระโยคาพจรพิจารณาซึ่งซากอสุภอันบุคคลทิ้งไว้สิ้น ๒ วัน ๓ วันแล้ว มีหนอนอันคลานคล่ำออกมาจากทวารทั้ง ๙ นั้น อนึ่งโสต จะพิจารณาในซากกเฬวระแห่งสัตว์ มีสุนัขบ้านสุนัขจิ้งจอกแลมนุษย์ แลโคกระบือช้างม้าแลงูเหลือมเป็นต้นอันมีหมู่หนอนประมาณทั่วกายแห่งสัตว์นั้น ๆ คลานคล่ำอยู่ดุจกอบแห่งข้าวสาลีอันขาวนั้นก็ได้ เมื่อโยคาพจรเห็นดังนั้นแล้ว พึงกำหนดจิตพิจารณาเอาเป็นอารมณ์แล้วจึงบริกรรมว่า  ปุฬุวกํ ปฏิกุลํ ปุฬุวกํ ปฏกุลํ   จงเนือง ๆ เถิด

   ถ้าพระโยคาพจรเจ้ามีอุปนิสัยสมควรอยู่แล้วแต่พิจารณาเห็นซากอสุภสัตว์ก็จะได้อุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตโดยง่าย มิพักลำบากดุจพระจุลปิณฑปาติกติสสเถระอันพิจารณาเห็นซากอสุภช้าง ในภายในเมืองอันชื่อว่ากาฬทีฑวาปี แลได้สำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตนั้น อันว่าอุคคหนิมิตในปุฬุวกกรรมฐานนี้ เมื่อปรากฏในมโนทวารนั้น มีอาการอันหวั่นไหว เหมือนหมู่หนอนอันสัญจรคลานคล่ำอยู่นั้น แลปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏสงบเป็นอันดี ดุจกองข้าวสาลีอันขาวนั้น ฯ

   ในอัญฐิกอสุภนั้น มีอรรถธิบายว่าโยคาพจรพิจารณาซากอสุภอันมีร่างอัฐิทั้งสิ้น อันประกอบด้วยมังสะและโลหิต แลผูกรัดด้วยเส้นใหญ่น้อยก็ได้ อนึ่งจะพิจารณาท่อนอัฐิอันเดียวอันตกอยู่ในพื้นแผ่นดินก็ได้ เหตุดังนั้นโยคาพจรพึงไปสู่ที่เขาทิ้งอัฐิไว้โดยนัยก่อนแล้ว พึงกำหนดอัฐิกับทั้งอารมณ์ด้วยสามารถแห่งก้อนศิลาเป็นต้น

   อันอยู่โดยรอบคอบแล้วให้กำหนดโดยสภาวะเป็นปกติ ว่าสิ่งนี้เป็นกระดูก แลพึงถือเอาอัฐินิมิตโดยอาการ ๑๐ คือ สี ๑ เพศ ๑ สัณฐาน ๑ ทิศ ๑ ที่ตั้ง ๑ ที่กำหนด ๑ ที่ต่ำ ๑ ที่สูง ๑ ระหว่าง ๑ ที่ต่อ ๑ รอบคอบแห่งอัฐิ ๑ สิริเป็น ๑๑ ดังนี้อัฐินั้นมีสีขาว ครั้นเมื่อโยคาพจรพิจารณาจึงมิได้ปรากฏโดยปฏิกูล เหตุสีขาวอันนั้นเจือไป ข้าโอทาตกสิณ เหตุดังนั้นพระโยคาพจรผู้จำเริญอัฏฐิกรรมฐาน พึงพิจารณาให้เห็นว่าเป็นปฏิกูลพึงเกลียดว่าสิ่งนี้เป็นร่างอัฐิให้จงได้

   ซึ่งให้พิจารณาอัฐินิมิตโดยเพศนั้น คือพิจารณามือแลเท้า ศีรษะแลอกแขนแลสะเอว ขาแลแข้งแห่งร่างกายอัฐิซึ่งให้พิจารณาร่างอัฐิกนิมิตโดยสัณฐานนั้น คือให้พิจารณาอัฐิอันเล็กใหญ่ยาวสั้นกลมแลสี่เหลี่ยม ซึ่งให้พิจารณาโดยทิศแลโอกาสนั้น มีอรรถาธิบายดังพรรณนาแล้วในอุทธุมาตกกรรมฐานนั้น ซึ่งให้กำหนดโดยปริจเฉทนั้น คือ ให้กำหนดซึ่งที่สุดแห่งอัฐินั้น ๆ เมื่อโยคาพจรกำหนดซึ่งที่สุดแห่งอัฐิดังนี้แล้ว อันว่าเพศมีมือเป็นต้นอันได้ปรากฏในอัฐิอสุภนั้น ก็พึงให้โยคาพจรถือเอาซึ่งเพศมีมือเป็นต้นนั้นเป็นอารมณ์ แล้วพึงจำเริญบริกรรมให้สำเร็จอัปปนาฌานจงได้

  ซึ่งว่าให้กำหนดโดยที่ต่ำแลที่สูงนั้น พึงให้กำหนดซึ่งที่ต่ำแลที่สูงแห่งอัฐินั้น ๆ อธิบายว่าให้พระโยคาพจรพิจารณาประเทศที่ตั้งแห่งอสุภว่า อาตมะอยู่ที่ต่ำอัฐิอยู่ในที่สูง อาตมะอยู่ที่สูงอัฐิอยู่ที่ต่ำ ซึ่งว่าให้โยคาพจรกำหนดโดยที่ต่อนั้น คือให้กำหนดซึ่งที่ต่อเเห่งอัฐิสองท่อน แต่บรรดาที่ต่อกันนั้น ซึ่งให้กำหนดโดยระหว่างนั้น คือให้กำหนดระหว่างแห่งอัฐินั้น ซึ่งให้กำหนดโดยรอบคอบแห่งอัฐินั้น ๆ คือให้พระโยคาพจรยังปัญญาให้สัญจรไปในร่างอัฐิทั้งสิ้นนั่นแล้ว พึงกำหนดโดยรอบคอบว่าอัฐิอันนี้อยู่ในที่นี้ ๆ เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาดังนี้แล้ว อุคคหนิมิตปฏิภาคนิมิตยังมิได้บังเกิด ก็พึงให้พระโยคาพจรตั้งจิตไว้ในกระดูกหน้าผากพระโยคาพจรถือเอานิมิตโดยอาการ ๑๑ โดยควรในปุฬุวกอสุภเป็นต้นเบื้องหน้าแต่อัฐิอสุภนี้เหมือนดังนั้นเถิด โยคาพจรบำเพ็ญพระอัฐิกรรมฐานนี้ จะพิจารณาร่างอัฐิทั้งนั้นก็ได้ จะพิจารณาร่างอันติดกันอยู่โดยน้อย หลุดจากกันโดยมากก็ได้ จะพิจารณาท่อนอัฐิอันเดียวก็ได้ ตามแต่จะเลือกพิจารณาเถิด

   เมื่อพระโยคาพจรถือเอานิมิตโดยอาการ ๑๑ ในอัฐิกอสุภ อันใดอันหนึ่งดังนี้แล้วพึงกำหนดจิตจำเริญบริกรรมว่า   อฏฺิกํ ปฏิกุลํ อฏฺิกํ ปฏิกุลํ   จงเนือง ๆ กว่าจะสำเร็จอุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิต อุคคหนิมิตแลปฏิภาคนิมิตในอัฐิอสุภกรรมฐานนี้เหมือนกันเป็นอันเดียว มิได้แปลกประหลาดกัน ซึ่งว่าอุคคหนิมิตเหมือนกันเป็นอันเดียวนั้น ควรแต่ในท่อนอัฐิอันเดียว พระโยคาพจรพิจารณาแต่ท่อนอัฐิอันเดียว

   นิมิตทั้ง ๒ จึงมิได้ต่างกัน ถ้าพระโยคาพจรพิจารณาร่างอัฐิทั้งสิ้น นินิตทั้ง ๒ นั้นก็ปรากฏต่างกัน อุคคหนิมิตนั้นปรากฏเป็นช่องเป็นหว่างอยู่ ปฏิภาคนิมิตนั้นปรากฏในมโนทวารเป็นร่างอัฐิอสุภบริบูรรณ์สิ้นทั้งนั้น จะเป็นช่องเป็นหว่างอย่างอุคคหนิมิตหามิได้ เมื่อพระโยคาพจรพิจารณาอัฐิกรรมฐานทั้งหลายนั้นอุคคหนิมิต ปรากฏพึงเกลียดพึงกลัว เพราะเป็นกระดูกแท้แลโยกโคลงหวั่นไหวปฏิภาคนิมิตบังเกิดแล้วไม่โยกโคลง หวั่นไหวแลเกลี้ยงเกลางดงาม จึงให้พระโยคาพจรมีความชื่นชมโสมนัส เหตุนิมิตนั้นเป็นที่จะนำมาซึ่งอุปจารแลอัปปนาแก่พระโยคาพจร ฯ

จบอัฏฐิกอสุภเท่านี้

  อสุภกรรมฐานทั้ง ๑๐ นี้ ท่านจัดไว้ว่าเป็นที่สบายของบุคคลที่เป็นราคจริตอันประพฤติมักมาก ด้วยความกำหนัดยินดีโดยธรรมดา เมื่อจะแยกออกเป็นส่วน ๆ แล้ว อสุภส่วนหนึ่ง ก็เป็นที่สบายของบุคคลราคจริตส่วน ๆ ตามที่ท่านได้แสดงไว้ว่า

  อุทธุมาตกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลราคจริต กำหนัดยินดีโดยทรวดทรงสัณฐาน เพราะในอสุภนี้ส่อแสดงให้เห็นว่าสรีรสัณฐานนี้ต้องถึงความวิปริตพองขึ้นโดยธรรมดา ๆ

   วินีลกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลราคจิรต มักกำหนัดยินดีโดยผิวพรรณ เพราะในอสุภนี้ส่อแสดงให้เห็นว่าผิวพรรณนี้ ต้องถึงวิปริตเขียวมองหม่นหมองไปโดยธรรมดา ฯ

   วิปุพพกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลราคจริต มักกำหนัดยินดีโดยสรีระอันปรนปรุงทาบทาด้วยเครื่องหอม เพราะในอสุภนี้ส่อแสดงให้เห็นว่าเครื่องหอมที่ทาบทาในกายนี้ ต้องถึงวิปริตเครื่องหอมกลับไปเป็นกลิ่นเหม็นไปโดยธรรมดา ฯ

   วิฉิททกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลราคจิรต มักกำหนัดยินดีโดยท่านกายอันเป็นแท่งทึบ เพราะในอสุภนี้ ส่อแสดงให้เห็นว่าภายในกายนี้ เป็นโพรงเป็นช่องอยู่โดยธรรมดา ฯ

  วิกขายิตกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลราคจริต มักกำหนัดยินดีโดยแท่งเนื้อที่เป็นปัจจัยแก่แก่กิเลสอันแรงกล้า มีแท่งเนื้อคือเต้านมเป็นต้น เพราะในอสุภนี้ ส่อแสดงให้เห็นว่าแท่งเนื้อเหล่านี้ต้องถึงความวิปจริตไปโดยธรรมดา ฯ

   วิขิตตกอสุภ เป็นที่สบายของคนราคจริต มักกำหนัดยินดีโดยลีลอาการกิริยาเยื้องกรายยกย่อง แห่งอวัยวะน้อยใหญ่ เพราะในอสุภนี้ ส่อแสดงให้เห็นอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวงนั้น ต้องซัดส่ายไปต่างกันโดยธรรมดา ฯ

  หตวิกขิตตกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลราคจิรต มักำหนัดยินดีในสรีรสมบัติ ที่ติดต่อพร้อมเพรียง เพราะในอสุภนี้ส่อแสดงให้เห็นว่าความติดต่อกายนี้ ต้องหลุดลุ่ยแตกหักไปโดยธรรม ฯ

  โลหิตกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลราคจริต มักกำหนัดยินดีโดยความงมงายกาย ที่บุคคลตกแต่งด้วยเครื่องประดับต่าง ๆ เพราะในอสุภนี้ส่อแสดงให้เห็นว่ากายที่ประดับให้งามนี้ เป็นปฏิกูลแปดเปื้อนด้วยน้ำเลือดโดยธรรมดา ฯ

   ปุฬุวกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลราคจริต มักกำหนัดยินดี โดยความที่ถือกายเป็นของแห่งเราแท้ เพราะในอสุภนี้ส่อแสดงว่ากายไม่เป็นของแห่งตน เป็นของสาธรารณ์ทั้วไปแก่หมู่หนอนทั้งหลายโดยธรรมดา ฯ

   อัฏฐิกอสุภ เป็นที่สบายของบุคคลราคจริต มักกำหนัดยินดีโดยกระดูกฟันสมบูรณ์ เพราะในอสุภนี้ ส่อแสดงให้เห็นว่ากระดูกฟันนี้เป็นปฏิกูลหลุดถอนไปโดยธรรมดา ฯ

จบอสุภ

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com