พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๒

   วิหารใหญ่ห้ามมิให้อยู่นั้นเป็นเหตุมีสงฆ์อยู่มาก ถ้าสงฆ์ทั้งปวงเกี่ยงเลี่ยงมันมิได้กระทำวัตตปฏิบัติกวาดแผ้วลานพระเจดีย์ และพระมหาโพธิ์มิได้ตั้งไว้ซึ่งน้ำใช้และน้ำฉันตนไปอยู่นั้น ถึงเวลาเช้าต้องกระทำวัตตปฏิบัติกวาดแผ้ว ตั้งไว้ซึ่งน้ำใช้แลน้ำฉัน ครั้นไม่กระทำก็จะเป็นวัตตเภทจะต้องอาบัติทุกกฏ

   ครั้นจะกระทำเล่ากระทำวัตตปฏิบัติกว่าจะสำเร็จนั้นเวลาก็จะสายไป ๆ เที่ยวบิณฑบาตนั้นจะมิได้จังหัน จะลำบากด้วยบิณฑบาตประการหนึ่ง วิหารใหญ่พระสงฆ์อยู่มากอื้ออึง จะจำริญพระกรรมฐานนั้นมิสู้สบาย จิตมักฟุ้งซ่าน วิหารที่เขาพึงจะสร้างใหม่นั้นเล่า ถ้าไปอยู่ก็จะต้องกระทำการ ครั้นนั่งเสียไม่กระทำเล่า ภิกษุทั้งปวงก็จะยกโทษจะว่ากล่าวได้ ครั้นจะกระทำการเล่าเหน็ดเหนื่อยลำบากกายอยู่แล้ว ก็มิอาจจำเริญพระกรรมฐานนั้นได้ อาศัยเหตุฉะนั้นอาวาสที่พึ่งจะสร้างใหม่นั้นอย่าพึงอยู่

   ถ้าสงฆ์ในอาวาสนั้นให้โอกาสว่า ท่านจงกระทำสมณธรรมตามสบายเถิด เราจะกระทำเองถ้าได้โอกาสฉะนี้แล้วก็พึงอยู่เถิด วิหารเก่าคร่ำคร่านั้นเล่าห้ามมิให้อยู่เป็นเหตุที่จะต้องกระทำการปฏิสังขรณ์ซ่อมแปลงกุฏิวิหารเสนาสนะ ครั้นกระทำการก็จะเสื่อมเสียจากพระกรรมฐาน วิหารอยู่ใกล้ทางห้ามมิให้อยู่นั้นอาศัยว่าวิหารนั้นเป็นที่ไปที่มาแห่งเจ้าภิกษุอาคันตุกะ เมื่อภิกษุอาคันตุกะมาถึงแล้ว ก็จะออกไปกระทำอาคันตุกะวัตร ถ้าเจ้ากูมามันเป็นเวลาวิกาลอาศัยจำวัดนั้นขัดสนอยู่ เสนาสนะอื่นนั้นไม่มี มีแต่เสนาสนะของตนก็จำจะให้อาคันตุกะ เมื่อให้เสนาสนะขอตนแล้ว แลไปอยู่ใต้ต้นร่มไม้ไปอยู่เหนือแผ่นหลังศิลาราบนั้นจะมิสู้สบาย

   อนึ่งจะเป็นกังวลอยู่ด้วย อาคันตุกะ จะมิได้ว่างที่จะจำเริญพระกรรมฐานแลวิหารที่อยู่ใกล้ตระพังศิลา ห้ามมิให้อยู่นั้นอาศัยว่าตระพังศิลาเป็นที่ประชุมชนทั้งหลายอันปราถนาน้ำ เสียงคนมาตักน้ำนั้นจะอื้ออึงอยู่จะมิสู้สบายประการหนึ่ง ถ้าภิกษุผู้ปรารถนาจะสุผ้าย้อมผ้าเห็นว่าอาวาสนั้นใกล้น้ำ ก็จะเริ่มกันมาสุผ้าย้อมผ้า มาแล้วก็ถามหาที่จะเคี่ยวน้ำย้อม ถามหาภาชนะอันใส่น้ำย้อมแลรางย้อมผ้า ครั้นเจ้ากูมาถามหา ก็จำจะบอกว่าอยู่ที่นั้น ๆ แต่เวียนบอกเวียนกล่าวอยู่นั้น ก็จะป่วยการที่จะจำเริญพระกรรมฐาน

   วิหารอันกอปรด้วยใบไม้ควรจะบริโภคห้ามมิให้อยู่นั้น อาศัยว่าสตรีที่เก็บผักนั้น มาเก็บผักแล้จะขับจะร้องเล่นเสียง จะเย็นเข้าไปจับเอาดวงใจจะเป็นอันตรายแก่พระกรรมฐาน อาวาสกอปรด้วยไม้ต่าง ๆ นั้นเล่าห้ามมิให้อยู่เพราะเหตุว่า ดอกไม้เป็นที่ชอบใจของสตรี ๆ ปรารถนาดอกไม้มาเก็บดอกไม้แล้ว จะขับจะร้องได้ยินถึงโสตน้ำจิตก็จะประหวัดกำหนัดในเสียง จะเป็นอันตรายแก่พระกรรมฐานแลอาวาสกอปรด้วยต้นไม้มีผลเป็นต้นว่า มะม่วงแลขนุนหนังห้ามมิให้อยู่นั้นอาศัยว่าเมื่อเทศกาลไม้เป็นผลแล้วคนทั้งปวงชวนกันมาขอ ไม่ให้เขาก็จะโกรธเขาจะข่มเหงเอา ห้ามเขา ๆ ก็จะด่าว่าตามอัชฌาสัย แล้วเขาจะเพียรพยายามกระทำให้เจ้าภิกษุนั้นไปเสียจากอาวาส เหตุฉะนี้กุลบุตรผู้จะจำเริญพระกรรมฐาน อย่าพึงอยู่ในอาวาสกอปรด้วยผลไม้เห็นปานดังนี้ ฯ

   อนึ่ง อาวาสที่คนทั้งปวงพอใจไปมานั้นก็ห้ามไม่ให้อยู่ คืออาวาสเหมือนด้วยทักษิณาคีรีวิหาร แลเจติยคีรีวิหารบรรพตวิหาร ถ้าภิกษุองค์ใดไปแล้ว คนทั้งปวงก็สรรเสริญว่าเป็นพระอรหันต์ เกลื่อนกล่นกันมาไหว้มาบูชา ถ้าเรียนพระกรรมฐานแล้ว แลไปอยู่ในอาวาสเห็นปานดังนั้น คนทั้งปวงก็จะเกลื่อนกล่นกันไปไหว้ไปบูชาจะไม่สบายในที่จะจำเริญพระกรรมฐาน อาวาสอยู่ในเมืองเล่าห้ามมิให้อยู่นั้นอาศัยว่าหญิงชายชาวเมืองจะเวียนไปเวียนมา ถ้าภิกษุนั้นครั้นเห็นวิสภาคารมณ์ คือรูปสตรีนั้นเนือง ๆ แล้วก็จะกระสันเป็นทุกข์ด้วยกามราคดำกฤษณาการหนึ่งกุมภทาสีกระเดียดกระออมน้ำขึ้นท่านี้ลงท่านั้น มันเป็นคนชั่วเห็นเจ้าภิกษุแล้วไม่หลบไม่หลีกเจ้าภิกษุนั้นจะมิสู้สบายด้วยกุมภทาสีนี้ประการหนึ่ง ๆ

   คนเป็นผู้ใหญ่มีชื่อเสียงนั้นมักไปมากันในท่ามกลางวิหารแล้ว ก็นั่งพักสำราญตามสบายจะละลุ่มละล้าอยู่ เจ้าภิกษุนั้นจะมิได้สบายที่จะจำเริญพระกรรมฐาน เหตุฉะนี้จึงห้ามมิให้อยู่ในอาวาสใกล้เมืองแลอาวาสใกล้ที่ไม้ที่ฟืนเล่า ก็ห้ามมิให้อยู่อาศัยว่าคนที่ปรารถนาว่าจะทำเรือนโรงที่นั้น ๆ จะไปตัดไม้ฟันไม้ในอาวาสไม่ให้ก็จะโกรธคนที่ปรารถนาฟืนนั้นเล่าก็จะไปเก็บฟืน คนนั้นไปคนนี้มาวุ่น ๆ วาย ๆ ก็จะไม่สบายในที่จำเริญพระกรรมฐาน อาวาสอยู่ใกล้นา ๆ ล้อมรอบนั้นเล่าห้ามมิให้อยู่นั้น อาศัยว่าชาวนาจะเข้ามาทำลานนวดข้าวท่ามกลางแลอาวาสจะอื้ออึง จะไม่สบายอย่างนี้ประการหนึ่ง

   บางทีโยมวัดนั้นเลี้ยงโคแลเลี้ยงกระบือไว้ ปล่อยออกไปกินข้าวในนาชาวบ้าน ๆ กับโยมวัดจะขัดเคืองกันจะด่ากันมากล่าวในสำนักสงฆ์ไม่ตกลง ก็จะพากันไปถึงสำนักพระยาแลมหาอำมาตย์ ทั้งคฤหัสถ์แลภิกษุจะไม่สบายอย่างนี้ประการหนึ่ง เหตุนี้จึงห้ามมิให้อยู่ในอาวาสมีนาล้อมรอบ แลวิหารที่มีวิสภาคบุคคลอยู่นั้น คือภิกษุในอาวาสทุ่มเถียงเกี่ยงเลี่ยงคอยเอาผิดกันเป็นข้าศึกกันอยู่ แลห้ามมิให้เจ้าภิกษุที่จะจำเริญพระกรรมฐานอยู่นั้น เหตุจะพลอยขุ่นข้องด้วยวิวาทจะไม่สบายที่จำจำเริญพระกรรมฐาน

  อาวาสอยู่ใกล้ทางนั้นเล่าห้ามมิให้อยู่ อาศัยด้วยว่าคนไปด้วยเรือแพนาวาคนไปคนนั้นมากมีเสียงอันอื้ออึง จะไม่สบายที่จะจำเริญพระกรรมฐาน แลอาวาสอยู่ใกล้ประจันตประเทศนั้นเล่าห้ามมิให้อยู่นั้นอาศัยว่าคนในประจันตประเทศนั้น มิได้เลื่อมใสในพระรัตนตรัยไปอยู่ที่นั้นจะลำบากด้วยบิณฑบาต แลอาวาสอยู่แดนต่อแดนนั้นเล่าห้ามมิให้อยู่นั้น อาศัยว่าประเทศที่นั้น บางทีพระยาช้างนี้เห็นว่าไปขึ้นอยู่ข้างโน้นก็ให้ยกทัพไปตี ฝ่ายว่าพระยาช้างโน้นเห็นว่าขึ้นอยู่ข้างนี้ ก็ให้ยกมาตีอีกเล่าจะวุ่นไปด้วยการทัพการศึก จะไม่สบายในที่จะจำเริญพระกรรมฐานประการหนึ่ง เจ้าภิกษุไปอยู่ในประเทศแดนต่อแดนนั้น พอว่ามีธุระมีจะเที่ยวไปข้างโน้นก็ดีข้างนี้ก็ดี ราชบุรุษมาพบประสบเข้าก็จะว่าเป็นบุรุษสอดแนมเอาเหตุเอาผล จะเบียดจะเบียนให้ได้ความลำบาก เหตุฉะนี้จึงห้ามมิให้อยู่ในอาวาสในแดนประเทศแดนต่อแดนนั้น

   อาวาสสอนประกอบด้วยวิสภาคารมณ์ คือกอปรด้วยสตรีภาพอยู่นั้นก็ดี อาวาสอันกอปรด้วยปีศาจร้ายกาจหยาบช้านั้นก็ดี ก็ห้ามมิให้เจ้าภิกษุผู้จำเริญพระกรรมฐานนั้นอยู่เหตุจะไม่สบายด้วยวิสภาคารมณ์แลปีศาจนั้น อาวาสอันหากัลยาณมิตรมิได้นั้นก็ห้ามมิให้อยู่ ปุจฉาว่า บุคคลจำพวกใดได้ชื่อว่ากัลยาณมิตรวิสัชนาว่าบุคคลที่เป็นอาจารย์แลอุปัชฌาย์ บุคคลมีพรรษาอายุคุณวุฒิเสมอด้วยอาจารย์แลอุปัชฌาย์นั้นก็ดี ได้ชื่อว่ากัลยาณมิตร ๆ นี้ถ้ามิได้มีในวิหารอันใด เจ้าภิกษุผู้เจริญพระกรรมฐาน อย่าพึงอยู่ในวิหารอันนั้นเจ้าภิกษุผู้จะเรียนพระกรรมฐานนั้น พึงสละเสียซึ่งวิหารอันมิได้สมควร ๑๘ ประการดังพรรณนาฉะนี้แล้ว

   พึงอยู่ในวิหารอันกอปรด้วยองค์ ๕ ประการ นาติทู รํ นาจฺจาสนฺนํ คือมิสู้ไกลโคจรคามนั้นนักอยู่แต่ภายใน ๒   คาพยุตคือ ๒๐๐   เส้นมิสู้ใกล้นัก อยู่ภายนอก ๓๕   เส้นพอไปพอมา กลางวันมิได้มีคนไปละเล้าละลุ่มนัก กลางคืนก็สงัดมิได้ยินเสียงคนเจรจา ๑ เหลือบแลยุงงูเล็กและใหญ่มีโดยน้อย แดดก็มิสู้จัดนัก ลมก็มิสู้พัดนัก มีที่บังอยู่บ้าง มิสู้ลำบากด้วยร้อนนักแลเย็นนักนั้น ๑ ได้จีวรบิณฑบาตเสนาสนะแลยาอันจะระงับความไข้ด้วยง่าย มิสู้ลำบากนักนั้น ๑

   ภิกษุผู้เป็นมหาเถระเป็นพหูสุตทรง ทรงซึ่งวินัยแลมาติกาสมควรที่จะไปสู่หาไต่ถามอรรถธรรมนั้นก็มี ในวิหารนั้น ๑ ครั้นมีความสงสัยเข้าไปไต่ถามท่านก็จะบรรเทาความสงสัยอยู่ให้ปราศจากสันดาน ที่อันใดลึกท่านก็กระทำให้ตื่นขึ้น ที่ไม่แจ้งนั้นท่านคัดข้อขึ้นว่ากล่าวชี้แจงให้แจ้ง ท่านอนุเคราะห์ฉะนี้ ๑ สิริเป็นองค์ ๕ ประการฉะนี้

   วิหารอันใดกอปรด้วยองค์ ๕ ประการดังนี้ เจ้าภิกษุผู้จะเรียนพระกรรมฐานนั้น พึงอยู่ในอาวาสอันนั้น กาลเมื่อจะไปสู่สำนักแห่งอาจารย์ผู้บอกพระกรรมฐานนั้น อย่าใส่รองเท้าอย่ากั้นร่มอย่าให้อันเตวาสิกถือบาตถือจีวร คือกระบอกน้ำมันน้ำผึ้งน้ำอ้อยแวดล้อมไป พึงถือเอาบาตรแลจีวรด้วยตนเอง เมื่อไปในระหว่างหนทางถ้าแวะเข้าสู่วิหารอันนั้น ไม้สีฟันอันเป็นกัปปิยะนั้นพึงหาไปแต่กลางทาง

   เมื่อไปถึงที่สำนักแห่งอาจารย์นั้นแล้ว อย่าไปยับยั้งหยุดพักระงับกายอยู่ในบริเวณอันอื่น เกลือกจะมีภิกษุที่ไม่ชอบกันกับอาจารย์อันอยู่ที่นั้น ๆ นี้ ๆ จะยังวิปฏิสารีให้บังเกิด จะยุยงให้กลับมาจากสถานที่นั้นจะเสียการ เหตุนี้เจ้าภิกษุผู้จำเริญพระกรรมฐานแล้วพึงตรงไปสู่สำนักอาจารย์ทีเดียว เมื่อไปถึงสำนักอาจารย์แล้ว ถ้าอาจารย์เป็นภิกษุหนุ่มพรรษาอ่อน ออกมาจะรับบาตรรับจีวร ก็อย่าพึงยินดีที่จะส่งบาตรส่งจีวรให้

   ถ้าอาจารย์นั้นเป็นมหาเถรผู้ใหญ่มีพรรษาอันแก่โดยพิเศษ เจ้าภิกษุนั้นนมัสการอาจารย์แล้วก็พึงยืนอยู่ในที่ควรข้างหนึ่ง อย่าเพ่อวางบาตรวางจีวรลงก่อน ต่ออาจารย์บอกวาจาว่า ดูก่อนอาวุโส ท่านจงวางบาตรจีวรไว้เถิด อาจารย์ออกวาจาฉะนี้แล้ว จึงวางบาตรจีวรลงไว้ ถ้าอาจารย์เตือนฉันอุทกังเจ้าภิกษุนั้นปรารถนาจะฉันก็พึงฉันโดยอันควรแก่อัชฌาสัย

   ถ้าอาจารย์เตือนให้ชำระเท้านั้นอย่าเพ่อชำระก่อน เกลือกน้ำนั้นจะเป็นน้ำอาจารย์ตักบมิควรที่เจ้าภิกษุผู้เป็นศิษย์จะนำมาชำระเท้า ถ้าอาจารย์บอกว่าน้ำนี้ข้าหาได้ตักไม่ ผู้อื่นตักต่างหาก อาจารย์บอกดังนั้นก็พึงตักเอาน้ำนั้นไปนั่งในที่อันกำบัง ถ้ามิดังนั้นพึงนั่งในที่แจ้งเป็นที่ลับจักษุแห่งอาจารย์ แล้วจึงชำระเท้าแห่งตน ถ้าอาจารย์นำเอากระบอกน้ำนั้นมาส่งให้ เจ้าภิกษุพึงกระทำเคารพลุกขึ้นรับรองด้วยมือทั้งสอง

   ครั้นจะไม่รับกระบอกน้ำมันอาจารย์ก็จะเสียใจว่าไม่บริโภคร่วมจะกินแหนงแคลงเสีย จะไม่สงเคราะห์บอกวิธีทางพระกรรมฐาน เหตุนี้จึงให้รับเอากระบอกน้ำมันนั้นมาโดยเคารพ ตั้งไว้ในที่อันควรแล้ว เมื่อจะทาน้ำมันนั้นอย่าทาเท้าเกลือกน้ำมันจะเป็นน้ำมันทาตัวแห่งอาจารย์ บมิควร

   ต่ออาจารย์บอกว่าน้ำมันนี้เป็นน้ำมันสำหรับรักษาอวัยวะสิ้นทั้งปวง ท่านจงทาเท้าเถิด อาจารย์อนุญาตดังนี้แล้ว เจ้าภิกษุผู้เป็นศิษย์เมื่อจะทาเท้านั้นพึงเอาน้ำมันทูนเหนือศีรษะก่อนจึงจะทาเท้า ครั้นทาน้ำมันเสร็จแล้วจึงบอกแก่อาจารย์ว่า ข้าแต่พระผู้เป็นเจ้ากระบอกน้ำมันนี้ข้าพเจ้าจะขอเอาไปเก็บไว้ ถ้าอาจารย์มารับเอากระบอกน้ำมันก็พึงส่งให้แก่อาจารย์

   วันแรกไปอยู่ในสำนักอาจารย์นั้น อย่าเพ่ออาราธนาอาจารย์ ให้บอกว่าพระกรรมฐานก่อน พึงเอาใจใส่ในที่จะกระทำวัตต์ปฏิบัติแก่อาจารย์ก่อนบุคคลผู้ใดกระทำการอุปัฏฐากแก่อาจารย์โดยปกติ ก็พึงอ้อนวอนบุคคลผู้นั้นขอช่องโอกาสที่จะปฏิบัติแก่อาจารย์ สเจ น เทติ ถ้าบุคคลผู้นั้นไม่ให้ก็พึงคอยหาช่องที่ว่าง ได้ช่องเมื่อใดก็พึงปฏิบัติเมื่อนั้น เมื่อจะปฏิบัติอาจารย์นั้นให้เหลาไม้สีฟันเป็น ๓ อย่าง ๆ ใหญ่อย่างกลางอย่างน้อย น้ำบ้วนปากแลน้ำสรงนั้น ก็พึงตั้งไว้เป็นสองภาชนะ น้ำร้อนภาชนะ ๑ น้ำเย็นภาชนะ ๑ ถ้าอาจารย์ใช้ไม้สีฟันอย่างไรสิ้นทั้ง ๓ วัน ใช้น้ำบ้วนปากแลน้ำสรงอย่างไร สิ้นทั้ง ๓ วัน ก็พึงปฏิบัติด้วยไม้สีฟันอย่างนั้นปฏิบัติด้วยน้ำบ้วนปากแลน้ำสรงอย่างนั้นเป็นนิจกาล

   ถ้าอาจารย์ใช้ไม่มีกำหนดไม้สีฟันนั้น ใช้อย่างใหญ่บ้างอย่างกลางบ้างอย่างน้อยบ้าง น้ำบ้วนปากแลน้ำสรงนั้น ใช้น้ำร้อนบ้างน้ำเย็นบ้างไม่มีกำหนดดังนี้ ก็พึงปฏิบัติอาจารย์นั้นด้วยไม้สีฟันแลน้ำบ้วนปากแลน้ำสรงโดยอันควรแก่หามาให้นั้นเถิด พึงกระทำวัตต์ปฏิบัติอาจารย์นั้น โดยนัยแห่งอาจริยวัตต์ที่นำแสดงไว้ในมหาขันธ์นั้น เมื่อปฏิบัติอาจารย์มีกำหนดนานถึง ๑๐ วัน ๑๔ วันล่วงแล้วจึงขอเรียนพระกรรมฐานในสำนักอาจารย์ อาจารย์นั้นก็พึงบอกพระกรรมฐานนั้นให้สมควรแก่จริตแห่งอันเตวาสิกแลประเภทแห่งจริตนั้น

   สำแดงโดยสังเขปมี ๖ ประการ คือราคจริตประการ ๑   โทสจริตประ ๑  โมหจริตประการ ๑   สัทธาจริตประการ ๑   พุทธจริตประการ ๑  วิตักกจริตประการ ๑   เป็น ๖  ประการด้วยกัน บุคคลอันเป็นราคจริตนั้นมีอัชฌาสัยมักโอ่โถงรักใคร่ที่งามที่ดี มีสันดานมากไปด้วยความกำหนัด ในปัญจพิธกามคุณ บุคคลอันเป็นโทสจริตนั้น มีอัชฌาสัยมากไปด้วยโทมนัสมักขัดแค้นกริ้วโกรธร้าย บุคคลอันเป็นโมหจริตนั้น มีอัชฌาสัย มักลุ่มมักหลงฟั่นเฟือนสติอารมณ์เป็นคนโลเลไม่ยั่งยืน

   บุคคลอันเป็นสัทธาจริตนั้น มีสันดานมักเชื่อฟังผู้อื่นมากไปด้วยความเลื่อมใสในพุทธาทิคุณ ยินดีในศีลทานการกุศลสุจริตต่าง ๆ บุคคลอันเป็นพุทธจริตนั้น มีอัชฌาสัยมากไปด้วยพินิจพิจารณาในคุณแลโทษบุญแลบาปมีปัญญาแหลม บุคคลที่เป็นวิตักกจริตนั้น มีอัชฌาสัยมากไปด้วยวิตกวิจารสันดานโว้เว้ลังเลไม่ยั่งยืน

   จริต ๖ ประการนี้ เมื่อจัดโดยมีสกนัยนั้น จำแนกแจกออกไปเป็นจริตถึง ๓๖   สำแดงแต่ ๖   ประการนี้โดยสังเขปสำแดงแต่มูลจริตมิได้สำแดงโดยมิสกนัย แลพระกรรมฐานที่เป็นจริยานุกูล อนุโลมตามอัชฌาสัยแห่งพระโยคาพจรนั้น นักปราชญ์พึงรู้ว่าพระกรรมฐาน ๑๑ คือ   อสุภ ๑๐  กายคตาสติ ๑   ทั้ง ๑๑ ประการนี้

   อนุกูลตามราคจริตเป็นที่สบายแห่งราคจริต คนเป็นราคจริตมักกำหนัดยินดีด้วยราคะนั้น สมควรจะจำเริญพระกรรมฐาน ๑๑ ประการนี้  พรหมวิหาร ๔   แลวรรณกสิณแดง ๔ เป็น ๘   พระกรรมฐานทั้ง ๘   นี้อนุกูลตามโทสจริต เป็นที่สบายแห่งโทสจริตแลอานาปาสติกรรมฐานนั้น เป็นที่สบายแห่งโมหจริตแลวิตกจริต คนมักลุ่มมักหลงคนมักวิตกวิจารนั้น สมควรที่จะจำเริญอานาปานสติกรรมฐานแลอนุสติ ๖ ประการ   คือพุทธานุสสติ   ธัมมานุสสติ  สังฆานุสสติ   สีลานุสสติ   จาคานุสสติ  เทวตานุสสติ   ทั้ง ๖ ประการนี้ สมควรที่บุคคลอัน อันเป็นสัทธาจริตจะจำเริญ แลมรณานุสสติ   อุปสมานุสสติ  อาหาเรปฏิกูลมัญญา   จตุธาตุวัตถาน ๔ ประการนี้

   เป็นที่สบายแห่งพุทธจริต คนอันกอปรด้วยปัญญามากนั้น ควรจะจำพระกรรมฐานทั้ง ๑๐ ประการ  คือ อรูป ๔  ภูตกสิน ๔  อาโปกสิน ๑  อากาสกสิณ ๑ นั้น  เป็นที่สบายแห่งจิตทั้งปวง จะได้เลือกจริตก็หามิได้ นักปราชญ์พึงสันนิษฐานเข้าใจว่ากรรมฐานคืออรูป ๔ ประการนั้น แม้ว่าจะเป็นที่สบายแห่งจริตทั้งปวงก็ดี

   อาทิกัมมิกบุคคลที่ไม่เคยบำเพ็ญพระกรรมฐานมาแต่ก่อน พึงจะฝึกสอนบำเพ็ญในปัจจุบันชาตินี้ บมิควรจะบำเพ็ญอรูปกรรมฐานทั้ง ๔ นี้ในเบื้องต้นอาทิกัมมิก บุคคลพึงเรียนกรรมฐานอันอื่นก่อน ได้พระกรรมฐานอันอื่นเป็นพื้นแล้ว จึงบำเพ็ญอรูปกรรมฐานภายหลัง แลกุลบุตรผู้จะเรียนกรรมฐานนั้น

   ถ้าเรียนในสำนักสมเด็จพระผู้มีพระภาค ก็พึงมอบเวนกายอาตมะแก่สมเด็จพระพุทธเจ้าว่า   อิมาหํ   ภควา   อตฺตภาวัง   ตุมฺหากํ ปริจฺจชามิ เนื้อความว่า ข้าแต่สมเด็จพระผู้มีพระภาคข้าพระองค์เสียสละ คือว่ามอบเวนซึ่งอาตมะภาพนี้แก่สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์ ถ้าจะเรียนในสำนักอาจารย์องค์ใดองค์หนึ่ง ก็พึงมอบเวนกายแก่อาจารย์   อิมาหํ   อนฺเต   อตฺตภาวํ   ตุมฺหากํ   ปริจฺจชามิ   เนื้อความว่า   ข้าแต่อาจารย์ผู้เจริญ   ข้าพเจ้าเสียสละ   คือว่ามอบกาย   ซึ่งอาตมะภาพนี้แก่ท่านอันมิได้มอบเวนแก่อาจารย์ก่อนนั่นย่อมจะเป็นโทษ

   คืออาจารย์นั่นจะมิได้ว่ากล่าวสั่งสอนตนก็จะละเลิกไป จะกระทำสิ่งใดก็กระทำเอาตาม อำเภอใจไม่ร่ำไม่ลาอาจารย์เห็นว่าเป็นคนไม่ดี แล้วก็จะมิได้สงเคราะห์ด้วยให้อามิสคือโภชนาหาร จะมิได้บอกอรรถธรรมให้กุลบุตรไม่ได้สงเคราะห์แต่สำนักอาจารย์แล้ว ก็จะจนมิพอใจที่จะเสียคนก็จะเสียคนไป มิพอที่จะสึกก็สึกไป อาศัยเหตุฉะนี้ จึงให้มอบแก่อาจารย์ เมื่อมอบเวนกายแก่อาจารย์แล้ว อาจารย์ก็จะไดว่ากล่าวสั่งสอน จะกระทำอันใดก็จะมิได้กระทำตามอำเภอใจ จะไปไหนก็จะมิได้ตามอำเภอใจ เมื่อว่าง่ายสอนง่ายประพฤติเนื่องอยู่ด้วยอาจารย์แล้ว อาจารย์ก็จะสงเคราะห์ด้วยอามิสแลสอนธรรม กุลบุตรนั้นได้สงเคราะห์ ๒ ประการ แต่สำนักอาจารย์แล้ว ก็จะจำเริญในพระศาสนา

   อนึ่งกุลบุตรผู้มีปัญญาจะเล่าเรียนพระกรรมฐานนั้น พึงกระทำสันดานให้บริบูรณ์ด้วยอัชฌาสัย ๖ คือโลภัชฌาสัย เห็นโทษในโลภมิได้โลภนั้น ๑ อโทสัชฌาสัย เห็นโทษในโทโสมิได้โกรธ ๑ อโมหัชฌาสัย เห็นโทษในโมหะมิได้ลุ่มหลงนัก ๑ เนกขัมมัชฌาสัย เห็นโทษในฆราวาส เห็นอานิสงส์แห่งบรรพชา ๑ ปริเวกกัชฌาสัย เห็นโทษในอันประชุมอยู่ด้วยหมู่ด้วยคณะ เห็นอานิสงส์แห่งอันอยู่ในสงบสงัดแต่ผู้เดียว ๑ นิสสรณัชฌาสัย เห็นโทษในภพ ยินดีในที่จะยกตนออกจากภพนั้น ๑ พึงกระทำสันดานให้บริบูรณ์ด้วยอัชฌาสัย ๖ ประการนี้

   แลพระกรรมฐานนั้นสำแดงโดยสังเขปมี ๒ ประการ  คือสมถกรรมฐาน ๑   วิปัสสนากรรมฐาน ๑   สมถกรรมฐานนั้นที่สำแดงโดยประเภทต่าง ๆ ออกเป็น ๔๐ ทัส  คือกสิณ ๑๐  อสุภ ๑๐  อนุสสติ ๑๐  อาหารปฏิกูลสัญญา ๑   จตุธาตุวัตถาน ๑  พรหมวิหาร ๔  อรูป ๔ สิริเป็น ๔๐  ทัศด้วยกัน   กสิณ ๑๐ ประการนั้นคือ ปถวีกสิน ๑  อาโปกสิณ ๑๐  ประการนั้นคือ   ปฐวีกสิณ ๑  อาโปกสิณ ๑  เตโชกสิณ ๑  วาโยกสิณ ๑  นีลกสิณ ๑ ปีตกสิณ ๑  โลหิตกสิณ ๑ โ อทตกสิณ ๑  อากาศกสิณ ๑   อาโลกสิณ ๑  สิริเป็นกสิณ ๑๐   กระการดังนี้

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com