พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะค่ะ



 
   เล่ม ๓ หน้า ๑๔

   “ตตฺรายํ อุปมา”  จึงมีคำอุปมาว่า ยังมีนายขมังธนูผู้หนึ่งปรารภเพื่อจะสำแดงซึ่งศิลปศาสตร์ จึงยังบุคคลให้ตั้งไว้ซึ่งแผ่นกระดานแล้วด้ายไม้แก่นประดู่ได้ร้อยชั้น ในประเทศที่ไกลประมาณ ๘ อุสุภ แล้วจึงเอาผ้าพันพักตร์แล้วก็สอดใส่ลูกปืน พาดสายให้มั่นกับคันธนูแล้วก็ยืนเบื้องบนจักรยนต์ อันมีอาการเหมือนจักรแห่งนายช่างหม้อ จึงมีบุรุษผู้หนึ่งช่วยผัดผันจักรยนต์นั้นให้เวียนไป แลนายขมังธนูนั้นมีปลายปืนเฉพาะหน้สู่แผ่นกระดาน ได้ร้อยชั้นแล้วกาลใดบุรุษผู้อื่นนั้นก็ตีไม้ให้สำคัญในกาลนั้น ฝ่ายนายขมังธนูก็มิได้ละเสียซึ่งสำคัญตีไม้นั้นแล้ว ก็ปล่อยลูปปืนไปต้องแผ่นกระดานทั้งร้อยชั้นนั้นแตกขะจัดขะจายทำลายลง แลพระโคตรภูญาณนั้นเปรียบดุจหนึ่งสำคัญคือตีไม้ พระอริยมรรคญาณเปรียบดุจหนึ่งนายขมังธนูกิริยาที่พระอริยมรรคมิได้ละเสียซึ่งสำคัญอันโคตรภูญาณให้เห็นแล้ว แลกระทำพระนิพพานเป็นอารมณ์ จึงทำลายเสียซึ่งกองกิเลส คือ โลภะ โทสะ โมหะ อันยังบ่มิทำลายแต่ก่อนนั้น เปรียบประดุจหนึ่งนายขมังธนูบ่มิได้ละเสียซึ่งสำคัญเสียงตีไม้นั้น แล้วแลวางปืนไปต้องแผ่นกระดานร้อยชั้นแตกทำลายลงนั้น

   “น เกวลญฺจ”  แลพระอริยมรรคนั้นจะสำเร็จกิจแต่ทำลายกองกิเลสมีโลภเป็นอาทิแต่เท่านั้นหามิได้ พระอริยมรรคนั้นให้สำเร็จกิจเป็นอันมาก คือยังห้วงสมุทรสาคร กล่าวคือสังสารวัฏฏทุกข์ อันหาที่สุดเบื้องบนบ่มิได้ให้เหือดแห้ง แลหับประตูจตุราบายภูมิทั้ง ๔ แลกระทำซึ่งอริยทรัพย์ ๗ ประการให้เฉพาะหน้า แลละเสียซึ่งหนทางผิด คือมิจาฉาทิฏฐิเป็นอาทิแลระงับเสียซึ่งเวรภัยทั้งปวง แล้วก็น้อมอาตมาแห่งพระโยคาพจรเจ้านั้นให้ถึงซึ่งสภาวะเป็นเป็นบุตร อันเกิดแต่พระอุระของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็ประพฤติเป็นไปเพื่อจะให้ได้ผลานิสงส์อื่นอีก เป็นเอนกอนันต์จะนับบ่มิได้

   “เอวํ อเนกานิสํสทายเกน”  อันว่าญาณอันสัมปยุตด้วยพระโสดาปัตติมรรค อันมีปกติให้ถึงซึ่งอานิสงส์เป็นอันมากดุจกล่าวมานี้แลชื่อว่าโสดาปัตติมรรคญาณเป็นปฐม

   ครั้นโสดาปัตติมรรคญาณเกิดขณะจิตเดียวดับแล้ว ลำดับนั้นพระโสดาปัตติผลจิต อันเป็นผลวิบากแห่งโสดาปัตติมรรคนั้นก็บังเกิด ๒ ขณะ ๓ ขณะ โดยอันควรแก่ทันธาภิญญาแลขิปปาภิญญา

   อธิบายว่าอนุโลมเกิด ๒ ขณะ ชวนะจิตเป็นคำรบ ๓ ชื่อว่าโคตรภูวชนะจิตเป็นคำรบ ๔ เป็นพระโสดาปัตติมรรคพระโสมดาปัตติผล จิตเกิด ๓ ขณะ พอครบชวนะจิต ๗ ขณะ ในชวนะวารวิถีอันหนึ่งดังนี้ได้ชื่อว่าขิปปาภิญญา

   ถ้าแลอนุโลมญาณเกิด ๓ ขณะ ชวนะโคตรภูจิตก็เป็นคำรบ ๔ พระโสดาปัตติมรรคเกิดเป็นคำรบ ๕ พระโสดาปัตติผลชวนะเกิด ๒ ขณะก็ครบชวนะจิต ๗ ขณะดังนี้ ชื่อว่าทันธาภิญญา

   เมื่อพระอริยผลเกิดในลำดับแห่งพระโสดาปัตติมรรคดังนี้ แล้วพระโยคาพจรเจ้านั้นก็ได้ชื่อว่าโสดาบัน เป็นอริยสาวกคำรบ ๒ แม้ว่ามีพระวิปัสสนาปัญญายังอ่อนตกอยู่ข้างประมาท ก็เที่ยวท่องเอาปฏิสนธิกำเนิดอยู่ในเทวโลกแลมนุษย์โลก ๗ ชาติ ก็อาจเพื่อจะกระทำให้สิ้นแห่งทุกข์ คือจะได้ซึ่งพระอรหัตต์เป็นคำรบ ๗ นั้น ผลปริโยสาเน ครั้นพระโสดาปัตติมผลเกิด ๒ ขณะ ๓ ขณะแล้ว จิตแห่งพระโยมคาพจรเจ้านั้นก็จะลงสู่ภวังค์ลำดับนั้นจึงมโนทวาราวัชชนจิตตัดกระแสภวังค์ บังเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์จะพิจารณาซึ่งพระอริยมรรคแล้วก็ดับไป ลำดับนั้นจึงกามาพจรชวนะจิต อันกอปรด้วยญาณเกิด ๗ ขณะ พิจารณาพระอริยมรรคว่า อาตมามาสู่อริยภูมิโดยหนทางนี้แล้วก็ลงสู่ภวังค์มโนทวาวัชชนะตัดกระแสภวังค์แลกามาพจรญาณสัมปยุตชวนะจิตเกิดอีก ๗ ขณะ พิจารณาพระอริยผลแลพิจารณาพระนิพพานพิจารณากองกิเลสที่ละเสีย แลพิจารณากองกิเลสอันเหลืออยู่เป็นส่วนที่พระอริยมรรคเบื้องบน จะพึงละเป็นปัจจเวกขณะชวนะวารห้าชวนะวิถีด้วยกัน

   พระสกทาคามิบุคคลแลพระอนาคามิบุคคล ก็มีปัจเวกขณะชวนะวาระละ ๕ ๆ เหมือนกัน

   แต่พระขีณาสวะจำพวกเดียว ก็มีปัจจเวกขณะชวนวารแต่ ๔ คือ พิจารณามัคควาร ๑ พิจารณาพลวาร ๑ พิจารณาพระนิพพานวาร ๑ พิจารณากิเลสที่มละเสียวาร ๑ เป็นคำรบ ๑ ลดวารที่จะพิจารณาซึ่งกิเลสจึงคงแต่ ๔ วาร

   ปัจจเวกขณะแห่งพระโสดาบันบุคคล ๓ จำพวก ๆ ละ ๕ เป็นปัจจเวกขณะวาร ๑๔ แห่งพระขีณาสพ ๕ วาร เข้ากันเป็นปัจจเวกขณะวาร ๑๙ อันนี้ว่าโดยอุกฤษฏ์ สงเคราะห์เอาซึ่งปัจจเวกขณะวาร อันเต็มบริบูรณ์จึงเต็ม ๑๙ พระเสขบุคคลเจ้าบางพระองค์บ่มิได้พิจารณากิเลสอันละเสีย แลบ่มิได้พิจารณากิเลสอันเหลืออยู่ในสันดานก็มีบ้าง อาศัยเหตุบ่มิได้พิจารณาดังนี้ จึงท้าวมหานามสากยราชทูลถาม สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าว่ากิเลสธรรมดาฤๅซึ่งมีอยู่ภายในสันดาน อันข้าพระองค์บ่มิได้ละเสีย โลภะ โทสะ โมหะ จึงยังจิตแห่งข้าพระองค์ให้ฟุ้งซ่านในกาลบางคาบฉะนี้ เพราะธรรมดาดังฤๅ เนื้อความพิสดารอยุ่ในจุฬทุกขักขันธสูตร มัชฌิกนิกายมูลปัณณาสก์โน้น

   “เอวํ ปจฺจเวกฺขิตฺวา ปน โสตาปนฺโน อริยสาวโก”  พระอริยสาวกเจ้าผู้ถึงซึ่งพระโสดา เมื่อพิจารณาด้วยประการดังนี้แล้ว บางพระองค์ก็นั่งอยู่เหนืออาสนะนั้นแท้จริง ก็กระทำความเพียรสืบไป เพื่อจะยังกามราคะพยาบาทอันบาปให้เบาบาง ละจะได้ถึงซึ่งพระโลกุตตรภูมิเป็นคำรบ ๒ บางพระองค์ก็อยู่จำเนียรภายภาคหน้าจึงค่อยกระทำเพียรก็ดี เมื่อกระทำเพียรนั้นก็พิจารณาสังขารธรรมอันมีประเภท คือ แลเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ด้วยพระไตรลักษณญาณ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หยั่งลงสู่วิถีทางพระวิปัสสนา เมื่อปฏิบัติไปฉะนี้ถึงที่สุดสังขารุเบกขาญาณแล้ว จะขึ้นสู่มรรควิถีจึงจะมีอาวัชชนะตัดกระแสภวังค์แล้ว อนุโลมจิตเกิด ๒ ขณะ ๓ ขณะแล้ว โคตรภูญาณบังเกิด พระสกทาคามิมรรคก็บังเกิดในลำดับแห่งโคตรภูญาณนั้น ญาณอันสัมปยุตด้วยพระสกทาคมิมรรคจิตนั้นแลได้ชื่อว่าสกทาคามิมรรคญาณเป็นคำรบ ๒ พระสกทาคามิมรรคเกิดขณะจิต ๑ สำเร็จกิจกระทำซึ่งกามราคพยาบาทอันหยาบให้เบาบางแล้วดับลง ลำดับนั้นพระสกทาคามิผลจิตก็บังเกิด ๒ ขณะ ๓ ขณะโดยนัยดุจกล่าวแล้วพระโยาคาพจรเจ้านั้น ก็ได้ชื่อว่าพระอริยบุคคลเป็นคำรบ ๔ ชื่อว่าพระสกทาคามิบุคคล

   อธิบายว่า ถ้ายังบ่มิได้มรรคแลผลเบื้องบนในชาตินั้น จะจุติจากมนุษย์โลกนี้แล้วจะบังเกิดในกามพจรเทวโลก จุติจากเทวโลกแล้วจะกลับมาเอาปฏิสนธิในมนุษย์โลกนี้อีกคราวหนึ่ง จึงจะสำเร็จแก่พระอรหัตต์สิ้นสังขารทุกข์ทั้งปวง

   เมื่อพระสกทาคามิผลจิตเกิดแล้ว เบื้องหน้าแต่นั้นไปก็มีปัจจเวกขณะวารพิจารณามรรคเป็นอาทิ ดุจนัยดังกล่าวมาแล้ว   “เอวํ ปจฺจเวกฺ ขิตฺวา”  พระอริยสาวกชื่อว่าสกทาคามี เมื่อพิจารณาปัจจเวกขณะญาณดังนี้แล้ว นั่งอยู่เหนืออาสนะนั้นแท้จริง ก็กระทำความเพียรสืบต่อไป เพื่อจะมละเสียซึ่งกามราคพยาบาทให้หาเศษเหลือบ่มิได้ และจะให้ถึงซึ่งพระโลกุตตรภูมิเป็นคำรบ ๓

   บางพระองค์ก็ยับยั่งอยู่ จำเนียรภายภาคหน้าจึงกระทำความเพียรสืบต่อไปก็ดี เมื่อการกระทำความเพียรนั้นก็พิจารณาสังขารธรรมด้วยพระไตรลักษณ์ คือ อนัจจิง ทุกขัง อนัตตา หยั่งลงสู่วิถีทางลำดับแห่งพระวิสสนาปฏิบัติไปฉะนี้ ครั้นถึงที่สุดสังขารุเบกขาญาณแล้ว มโนทวาราวัชชนะตัดก็กระแสภวังค์ อนุโลมโคตรภูญาณก็บังเกิดเป็นลำดับกัน พระอนาคามิมรรคก็บังเกิดในลำดับแห่งโคตรภู ให้สำเร็จกิจอันมละเสียซึ่งกามราคาพายบาทอันหาเศษบ่มิได้ ญาณอันสัมปยุตด้วยพระอนาคามิมรรคนั้นแล ได้ชื่อว่าอนาคามิมรรคญาณเป็นคำรบ ๓ ครั้ง พระนาคามิมรรคผลจิตก็บังเกิด ๒ ขณะ ๓ ขณะ พระโยคาพจรเจ้านั้นก็เป็นพระอริยบุคคลคำรบ ๖ ชื่อว่าอนาคามีบุคคล

   อธิบายว่า ถ้ายังมิได้พระอรหัตต์ในชาตินั้น ครั้นจุติจากชาตินั้นแล้วก็จะได้บังเกิดในสุทธาวาส จักมิได้กลับมาเอาปฏิสนธิในกามโลกนี้เลยก็จะสำเร็จแก่พระอรหัตต์นิพพานในสุทธาวาส เมื่อพระอนาคามีผลผลดับแล้วจิตแห่งพระโยคาพจรเจ้านั้นก็ลงสู่ภวังค์อาวัชชนะจิต ก็ตัดกระแสภวังค์ขึ้นสู่วิธีปัจจเวกขณะชวนะวารพิจารณา พระอริยมรรคเป็นอาทิ ดุจนัยดังกล่าวแล้ว   “เอวํ ปจฺจเวกฺขิตฺวา”  พระอนาคามีอริยสาวกเจ้า เมื่อพิจารณาดังนี้แล้ว บางองค์ก็นั่งอยู่เหนืออาสนะนั้นแท้จริง กระทำความเพียรสืบต่อไป เพื่อจะมละเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการคือ รูปราคอันยินดีที่จะบังเกิดในรูปภพ ๑ คือ รูปราคอันยินดีที่จะบังเกิดในอรูปภพ ๑ คือ มานะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อวิชชา ๑ ให้หาเศษมิได้ แลจะให้ถึงซึ่งโลกุตตรภูมิเป็นคำรบ ๔ คือพระอรหัตตมรรค

   บางพระองค์ก็ยับยั้งอยู่จำเนียรนานไปภายภาคหน้า จึงปรารถนากระทำเพียรต่อไปก็มี พระอนาคามีอริยสาวกเจ้านั้น เมื่อกระทำเพียรก็พิจารณาสังขารธรรมด้วยปัญญา อันประกอบด้วยพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หยั่งลงสู่พระวิปัสสนาวิถีโดยลำดับตราบเท่าที่สุดแห่งสังขารุเบกขาญาณแล้ว ในเมื่ออนุโลมโคตรภูญาณทั้งหลายเกิดด้วยอาวัชชนะวารอันหนึ่งแล้ว ลำดับนั้นพระอรหัตตมรรคก็บังเกิดขึ้นขณะจิต ๑ ละเสียซึ่งสังโยชน์ ๕ ประการ ด้วยสมุจเฉทปหานแล้วก็ดับไป ญาณอันสัมปยุตด้วยพระอรหัตตมรรคนั้นก็ได้ชื่อว่า พระอรหัตตมรรคญาณเป็นคำรบ ๕ ลำดับนั้นพระอรหัตตผลจิต ก็บังเกิดขึ้น ๒ ขณะ ๓ ขณะ พระโยคาพจรเจ้านั้นก็เป็นองค์พระอริยบุคคลคำรบ ๘ ชื่อว่าพระอรหันตมหาขีณาสพ ทรงชื่ออาตมาภาพเป็นที่สุดเเห่งสังขารทุกข์แลมีภาระอันหนัก คือขันธ์แลกิเลสแลอภิสังขารอันปลงเสียแล้วแลมีประโยชน์แห่งตนคือพระอรหัตต์อันถึงแล้ว แลมีสังโยชน์ทั้งปวงอันประกอบสันดานไว้ในกำเนิดก็สิ้นแล้ว ก็พ้นจากสรรพกิเลสเหตุตรัสรู้ซึ่งอรรถแห่งธรรมทั้งปวงมีขันธ์เป็นอาทิ ด้วยโยนิโสมนสิการ แลเป็นเนื้อนาบุญเขตควรเพื่อจะรับซึ่งทักขิณาทาน แลอัญชลีกรรมแห่งสัตว์โลกกับทั้งเทวดาโลกทั้งปวงหาสิ่งเสมอมิได้ ด้วยบังเกิดแห่งพระอรหัตตผลจิตมีประมาณเท่านั้น

   ญาณอันเป็นไปในพระอริยมรรค มีพระโสดาปัตติมรรคเป็นต้นมีพระอรหัตตผลมรรคเป็นปริโยสาน เป็นญาณ ๔ ประการอันพระโยคาพจรพึงถึงโดยลำดับพรรณนามาฉะนี้แล ชื่อว่าญาณทัสสนวิสุทธิ

   “อิทานิ อิมิสฺสาเยว จตุตฺญาณทสฺสนวิสุทฺธิยา อนุภาว วิชชานนตฺถํ”  กาลบัดนี้ นักปราชญ์พึงรู้ว่าสภาวะ ๓ ประการ คือ สภาวะแห่งพระอริยมรรค มีพระโพธิปักขิยธรรมบริบูรณ์ประการ ๑ คือกิริยาอันออกจากสังขารธรรม คือสังขารนิมิตแลสังขารปวัตติ แลประกอบด้วยผลสองประการ ๑ คือพระอริยมรรคละเสียซึ่งธรรมอันจะพึงมละประการ ๑ คือกิจ ๔ มีปริญญากิจเป็นต้น ๑ เป็นประการ  “” วุตฺตานิ พระพุทธโฆษาจารย์เจ้ากล่าวไว้ เพื่อจะให้โยคาพจรกุลบุตรรู้ซึ่งอานุภาพแห่งจตุตถญาณทัสสนวิสุทธินี้ โดยสภาวะควรแก่มีในอภิสมัย กาลเมื่อตรัสรู้ซึ่งพระอริยมรรคนั้น

   “อิเม สตฺตตึส ธมฺมา”  ธรรมทั้งหลาย ๓๗ คือ สติปัฏฐาน ๔ คือสัมมัปปธาน ๔ คืออิทธิบาท ๔ คืออินทรีย์ ๕ คือพละ ๕ คือ โพชฌงค์ ๗ คือพระอริยมรรคมีองค์ ๘ เป็น ๓๗ ด้วยกัน ชื่อว่าพระโพธิปักขิยธรรม

   “ปกฺเข ภวนตา”  เหตุตั้งอยู่ในสภาวะเป็นคุณูปการแก่พระอริยมรรคจิต อันได้นามบัญญัติชื่อว่าโพธิ ด้วยอรรถว่าตรัสรู้

   “เตสุ โพธิปกฺขิเยสุ”  ล้ำพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการนั้นจะว่าแต่สติปัฏฐานนั้นก่อน

   “อุปฺปฏฺานํ”  อันว่าสติอันหยั่งลงเนือง ๆ ในอารมณ์มีรูปกายเป็นอาทิแล้ว แลตั้งมั่น ชื่อว่าสติปัฏฐาน มีประเภท ๔ ประการ

   “ปวตฺติโต”  เหตุประพฤิตเป็นไปด้วยกิจอันถือเอาซึ่งอาการว่าบ่มิงามในรูปกาย แลอาการว่าเป็นทุกข์ในกองเวทนา แลอาการว่าบ่มิเที่ยงในกองวิญญาณ แลอาการว่าใช่ตนไม่ใช่ตนไม่ใช่แก่นสารในธรรมทั้งหลายมีนิวรณธรรมเป็นอาทิในบุรพภาค แลให้สำเร็จปหานกิจอันมละเสียซึ่งวิปลาศ คือสำคัญว่างามเป็นสุขว่าเที่ยงว่าตน ในขณะเมื่อเป็นมรรคสติปัฏฐาน เหตุดังนั้นจึงเป็นพระสติปัฏฐาน ๔ ประการ

   “ปธานํ”  ความเพียรอันยุติในกายแลจิต ชื่อว่าสัมมัปปธานด้วยอรรถว่างาม เหตุปราศจากสภาวะพึงเกลียดคือกิเลส แลอรรถว่าเป็นใหญ่เป็นประธานให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ

   คือเพียรพยายามละเสียซึ่งอกุศลธรรม อันบังเกิดแล้ว ๑

   คืออกุศลธรรมที่ยังมิได้บังเกิดก็เพียรบ่มิให้บังเกิดต่อไปได้ ๑

   คือเพียรให้บังเกิดแห่งอกุศลธรรมอันยังบ่มิได้บังเกิด ๑

   คือเพียรให้ถาวรภิยโยภาพแห่งกุศลธรรมอันบังเกิดแล้ว ๑

   คือเพียรให้สำเร็จกิจ ๔ ประการดังนี้ จึงเป็นสัมมัปปธาน ๔

   ในพระอิทธิบาท ๔ นั้น  “อิทฺธิ”  แปลว่าเป็นเหตุจำเริญ แลถึงซึ่งสภาวะเป็นอุกฤษฏ์ ได้แก่พระโลกุตตรมรรคทั้ง ๔ ธรรมทั้งหลาย มีฉันทะเป็นต้น ชื่อว่าอิทธิบาท ด้วยอรรถว่าเป็นประธานแลเป็นเหตุจะให้ได้ซึ่งอิทธิ คือพระโลกุตตรมรรคแลพระอิทธิบาทนั้นมีประเภท ๔ ประการ คือ ฉันทิทธิบาท ๑ วิริยิทธิบาท ๑ จิตติทธิบาท ๑ วิมังสิทธิบาท ๑

   พระโยคาพจรเจ้าเมื่อจำเริญภาวนากระทำซึ่งกุศลฉันทะ คือความปรารถนาจะเป็นใหญ่เป็นประธานให้สำเร็จแก่พระโลกุตตรมรรค แลฉันทะคือความปรารถนานั้น ได้ชื่อว่าฉันทิทธิบาท

   พระโยคาพจรเจ้ากระทำซึ่งวิริยะเป็นใหญ่เป็นประธาน จึงสำเร็จแก่พระโลกุตตรมรรค วิริยะนั้นได้ชื่อว่าวิริยิทธิบาท

   พระโยคาพจรเจ้ากระทำซึ่งกระทำจิตแลปัญญาเป็นใหญ่เป็นประธาน ให้สำเร็จแก่พระโลกุตตรมรรค จิตนั้นก็ได้ชื่อว่าจิตติทธิบาท ๔ ปัญญานั้นได้ชื่อว่าวิมังสิทธิบาท

   แลพระอิทธิบาททั้ง ๔ มีฉันทะเป็นอาทิดังกล่าวมานี้ เป็นพระโลกุตตรเเท้

   ประการหนึ่ง ธรรมทั้งหลายมีผัสสะเป็นอาทิ อันสัมปยุตด้วยพระโลกุตตรมรรค อันพระโยคาพจรได้ด้วยอำนาจแห่งฉันทาธิบดีวิริยาธิบดี จิตตาธิบดี วิมังสาธิบดี ก็ได้ชื่อว่าอิทธิบาท ด้วยอรรถว่าเป็นโกฏฐาส แห่งอิทธิ

   อนึ่งธรรมทั้ง ๔ ประการมีฉันทะเป็นอาทิ เมื่อเป็นอิทธิบาทนั้นก็คงเป็นอธิบดีด้วย อันลักษณะอธิบดี จะมีพร้อมกันทั้ง ๕ ในจิตตุปบาทอันเดียวกันหาบ่มิได้คงจะเป็นแต่สิ่งหนึ่ง คือฉันทะเป็นอิทธิบาทในจิต ตุปบาทใดแล้วก็ห้าม วิริยิทธิบาท จิตติทธิบาท วิมังสิทธิบาทในจิตตุปบาทนั้น วิริยะเป็นอิทธิบาทในจิตจิตตุปบาทอันใดแล้ว ก็เป็นอันห้าม ฉันทะ จิตตะ วิมังสา อิทธิบาท ในจิตตุปบาทนั้น จิตตะ แลวิมังสาก็ดี เป็นอิทธิบาทในจิตตุปบาทอันใด ก็เป็นอันห้ามอิทธิบาทอื่นในจิตตุปบาทนั้นคงเป็นอิทธิบาทได้แต่สิ่งเดียว จะเป็นอิทธิบาทพร้อมกันถึง ๒ ก็ดี, ๓ ก็ดี, ๔ ก็ดีในขณะจิตเดียวนั้นหาบ่มิได้เปรียบประดุจหนึ่งว่า ราชกุมาร ๔ พระองค์อันอยู่ในราชสมบัติอันเดียว จะครองราชสมบัติเป็นใหญ่พร้อมกันในกาลเดียวทั้ง ๔ พระองค์นั้นหาบ่มิได้ คงจะเป็นอธิบดีอิสรภาพพร้อมครอบครองสมบัติแต่พระองค์ ๑ พระราชกุมาร ๓ พระองค์นั้นก็เป็นผู้อุปถัมภ์ก็ช่วยให้สำเร็จกิจราชการและพระอิทธิบาททั้ง ๔ นี้ก็มีอาการเหมือนกันดังนั้น

   อินทรีย์ ๕ คือสัทธินทรีย์ ๑ คือวิยินทรีย์ ๑ คือสตินทรีย์ ๑ คือสมาธินทรีย ๑ คือปัญญินทรีย ๑ เป็น ๕ ประการด้วยกัน

   สัทธาเจตสิกให้สำเร็จ เป็นใหญ่ในสัมปยุตธรรม ด้วยสภาวะครอบงำซึ่งมิจฉาวิโมกข์ คือความเลื่อมใสหยั่งลงในที่ผิดจึงได้ชื่อว่าสัทธินทรีย์

   วิริยเจตสิกนี้สำเร็จกิจเป็นใหญ่ในที่จะครอบงำเสีย ซึ่งโกสัชชะปักษ์ คือกุศลจิตตุปบาท มีถีนมิทธะเป็นประธาน จึงได้ชื่อว่า วิริยินทรีย์

   เจกสิกให้สำเร็จกิจเป็นใหญ่ในที่จะครอบงำเสีย ซึ่งอกุศลธรรมอันประพฤติเป็นไปด้วยประมาทหลงลืมแลมีสติ จึงได้ชื่อว่าสตินทรีย์

   เอกัคคตาเจตสิกให้สำเร็จเป็นใหญ่ ในที่จะครอบงำอกุศล อันเป็นฝักฝ่ายให้ฟุ้งซ่าน คืออุทธัจจะ จึงได้ชื่อว่าสมาธินทรีย ์

   ปัญญาเจตสิกให้สำเร็จเป็นใหญ่ ในสัปปยุตธรรมด้วยสภาวะครอบงำเสียซึ่งความหลง จึงได้ชื่อว่าปัญญินทรีย์ ก็มีด้วยประการฉะนี้

   พละธรรม ๕ ประการนั้น ก็ใช่อื่น คือ สัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญานั้น ชื่อว่าพละ ด้วยสภาวะมิได้หวาดไหว แลสภาวะถาวรตั้งมั่นในสัมปยุตธรรมทั้งปวง

   “สตฺตา ธมฺมา”  ธรรมทั้งหลาย ๗ มีสติเป็นต้น มีอุเบกขาเป็นปริยโยสาน ได้นามบัญญัติชื่อว่าโพชฌงค์ ด้วยสภาวะเป็นองค์แห่งพระอริยสาวกผู้อื่นจากนิทรา คือกิเลสอันครอบงำในสันดาน แลตรัสซึ่งจตุราริยสัจจ์ แลกระทำซึ่งพระนิพพานให้แจ้ง

  

   ข้อความพิสดารในพระสัตตโพชฌงค์ ก็มีนัยอันกล่าวในอัปปนาโกสลกถานั้นแล้ว

   “อฏฺมฺธมา”  ธรรมทั้งหลาย ๘ มีสัมมาทิฏฐิเป็นต้นมีสัมมาสมาธิเป็นปริโยสาน ได้นามบัญญัติชื่อว่ามัคคังคะองค์แห่งพระอริยมรรคด้วยสภาวะเป็นเหตุออกจากวัฏฏทุกข์ ข้อความพิสดารมีในหนหลังแล้ว

   แลพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ซึ่งพรรณนามาฉะนี้ เมื่อพระโยคาพจรเจ้า ยังเจริญโลกียวิปัสสนาอยู่ในบุรพภาคนั้น ก็ได้ในขณะจิตต่าง ๆ

   คือ กายยานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เฉพาะได้เมื่อพระโยคาพจรเจ้าพิจารณาซึ่งกายด้วยอาการ ๑๔ มีพระอานาปานสติเป็นต้น

   เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เฉพาะไว้เมื่อพระโยคาพจรเจ้าพิจารณาเวทนาซึ่งอาการ ๕ มีสุขเวทนาเป็นอาทิ

   จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ก็เฉพาะได้เมื่อพิจารณาซึ่งจิตด้วยอาการ ๑๘ มีจิตอันกอปรด้วยราคาเป็นอาทิ

   ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนั้น ก็เฉพาะได้เมื่อพิจารณาซึ่งธรรมทั้งหลาย ๕ มีนิวรณ์เป็นอาทิ

   พระสติปัฏฐาน ๔ ประการ พระโยคาพจรเจ้าในขณะจิตต่าง ๆ ด้วยประการดังนี้

   พระสัมมัปปธาน ๔ ก็ได้ในจิตต่าง ๆ พระสัมมัปปธานเป็นปฐมนั้นเฉพาะได้กาลเมื่อพระโยคาพจรเห็นอกุศลธรรมอันใด อันมิได้เคยบังเกิดแก่ตนในอาตมาภาพ แลบังเกิดมีแก่บุคคลผู้อื่น ก็มนสิการในใจว่าอาตมาจะปฏิบัติเพื่อจะมิให้บังเกิดแก่อกุศลธรรมดังนั้น แล้วก็จะพยายามเพื่อจะมิให้อกุศลธรรมบังเกิดได้

   สัมมัปปธานเป็นคำรบ ๒ ก็ได้เมื่อพระโยคาพจรเจ้ารู้ว่าอกุศลธรรมอันประพฤติเป็นไปในสันดานแห่งตนแล้ว ก็เพียรเพื่อจะมละเสียซึ่งอกุศลธรรมนั้นจากสันดาน

   สัมมัปธานเป็นคำรบ ๓ นั้น ได้เมื่อพระโยคาพจรพยายามเพื่อจะยังฌานแลวิปัสสนาอันยังมิได้เคยบังคับในอาตมาภาพนี้ ก็ให้บังเกิดขึ้น

   สัมมัปปธานเป็นคำรบ ๔ นั้น ได้เมื่อพระโยคาพจรพยายามยังฌานแลวิปัสสนาอันบังเกิดแล้ว ก็ให้บังเกิดภิยโยภาพเนือง ๆ ไปมิให้เสื่อมจากสันดาน

   พระสัมมัปปธานทั้ง ๔ มีในจิตตุปบาทต่าง ๆ ในโลกิยวิปัสสนาดังนี้

   ฝ่าพระอิทธิบาททั้ง ๔ นั้น ก็ได้ในจิตต่าง ๆ เมื่อกระทำฉันทะเป็นอธิบดีแล้ว แลยังกุศลธรรมให้บังเกิดในจิตตุปปบาทอันใด จึงได้ฉันทิทธิบาทในจิตตุปบาทนั้น เมื่อกระทำวิริยจิตตะปัญญาเป็นอธิบดีแล้วยังกุศลธรรมให้บังเกิดในจิตตุปบาทใด ๆ จึงได้วิริยจิตตะวิมังสาจิตตุปบาทในอิทธิบาทนั้น ๆ

   ฝ่าพระอัษฏางคิกมรรคนั้นก็ดี เมื่อเกิดกับด้วยโลกิยจิตก็ได้ในจิตต่าง ๆ กัน

   คือพระโยคาพจรปรารภถึงมิจฉาวาจา คือวจีทุจริต ๔ ประการเป็นอารมณ์พิจารณาเห็นโทษแล้ว ก็เว้นเสียในจิตตุปบาทอันใดจึงเฉพาะใดสัมมาวาจาในจิตนั้น

   เมื่อพิจารณาเห็นโทษในมิจฉากัมมันตะ คือ กายทุจริต แลมิจฉา อาชีวะ แล้วก็เว้นเสียในจิตตุปบาทอันใด ก็เฉพาะได้สัมมากัมมันตะ แลสัมมาอาชีวะต่าง ๆ กันกับจิตตุปบาทนั้น ๆ

   โพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ จัดเป็นแผนกเอาพระสติปัฏฐานแลพระสัมมัปปธาน และพระอิทธิบาท แลพระสัมมาวาจาเป็นอาทิ ก็ดีบัณฑิตได้ในจิตต่าง ๆ ในกาลเมื่อประพฤติเป็นไปแห่งโลกิยวิปัสสนาด้วยอาการดังนี้

   “อิเมสํ ปน จตุนฺนํ ญาณานํ อุปฺปตฺติกาเล”  กาลเมื่อพระอริยมรรคญาณทั้ง ๔ บังเกิดนั้น อันว่าพระโพธิปักขิยธรรมทั้งปวงที่ควรจะได้นั้น ก็ได้พร้อมกันในขณะจิตเดียว เพราะเหตุมีอารมณ์อันเดียวกันคือยึดหน่วงเอาซึ่งพระนิพพานเป็นอารมณ์ก็ได้สำเร็จกิจกำจัดข้าศึกแห่งตน ๆ อาศัยเหตุนี้ พระอริยมรรคทั้ง ๕ ก็ประดับด้วยพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ บริบูรณ์โดยปริยาย

   พระอริยผลทั้ง ๔ นั้น คงได้พระโพธิปักขิยธรรมบริบูรณ์ แต่ ๓๓ ประการ เว้นพระสัมมัปปธานทั้ง ๔ เพราะเหตุบ่มิได้มีพยายามสืบต่อไปแล้ว เป็นแต่ทิฏฐฐานธรรมสุขวิหาร ระงับหทัยสันดานให้เย็นดุจหนึ่งบุคคลเอากระออมน้ำมารดซ้ำในที่มีเพลิงอันดับแล้วนั้น อาศัยเหตุนี้แม้ว่าวิริยะเจตสิก คือสัมมาวายาโมมีในอริยผลจิตก็ดีก็บ่มิได้มีนามบัญญัติว่าเป็นองค์สัมมัปปธานด้วยประการดังนี้

   “เอวํ เอกจิตฺเต ลพฺภมาเนสุ เจเตสุ ”  ล้ำพระโพธิปักขิยธรรม ๒๗ ประการ อันได้ในจิตอันเดียวดังกล่าวมานี้  “เอากาวสติ”  สติตัวเดียวมีพระนิพพานเป็นอารมณ์ ก็ได้ชื่อว่าสติปัฏฐาน ๔ ด้วยสามารถให้สำเร็จกิจอันมละเสียซึ่งวิปลาส มีสำคัญว่างามในเป็นอาทิ

   “เอกเมว วิริยํ”  วิริยะตัวเดียว เอาพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้วก็ให้สำเร็จกิจ ๔ ประการ อันยังอกุศลบ่มิได้เคยบังเกิดก็มิให้บังเกิดเป็นอาทิก็ได้ชื่อว่าพระสัมมัปปธาน ๔ ในจิตอันเดียวกัน

   ฝ่ายพระโพธิปักขิยธรรมอันเศษ ๕ โกฏฐาส มีพระอิทธิบาทเป็นอาทินั้นคงตัว จะลดลงเจริญขึ้นอย่างโกฏฐานทั้งสอง คือพระสติปัฏฐานแลพระสัมมัปปธานนี้หาบ่มิได้

   นัยหนึ่งพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ นี้ ถ้าจะว่าโดยสภาวะธรรมมิได้ว่าด้วยประเภทที่สำเร็จกิจต่าง ๆ ก็คงแต่ ๑๔ คือสติ ๑ วิริยะ ๑ ฉันทะ ๑ จิตตะ ๑ ปัญญา ๑ สัทธา ๑ สมาธิ ๑ ปีติ ๑ ปัสสัทธิ ๑ อุเบกขา ๑ สัมมาสังกัปปโป ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันโต ๒ สัมมาอาชีโว ๑ เป็น ๑๒ ธรรมทั้งหลาย ๑๔ นี้ เมื่อจำแนกไปในประเภท ๓๗ นั้น เป็นไปด้วยอาการ ๖ โกฏฐาส

   คือธรรมทั้ง ๙ มีอาการหนึ่ง ๆ นั้น เป็นโกฏฐาส ๑

   คือธรรมอันหนึ่งตั้งอยู่ด้วยอาการ ๒ นั้น เป็นโกฏฐาส ๑

   “อถ จตุธา”  คือธรรมอันตั้งอยู่ด้วยอาการ ๔ เป็นโกฏฐาส ๑

   คือธรรมอันตั้งอยู่ด้วยอาการ ๕ เป็นโกฏฐาส ๑

   คือธรรมอันตั้งอยู่ด้วยอาการ ๘ เป็นโกฏฐาส ๑

   คือธรรมอันตั้งอยู่ด้วยอาการ ๙ เป็นโกฏฐาส ๑ เป็น ๖ โกฏฐาส ด้วยกัน

   ธรรมทั้งหลาย ๘ มีอาการหนึ่ง ๆ นั้น คือ ฉันทะ ๑ จิตตะ ๑ ปีติ ๑ ปัสสิทธิ ๑ อุเบกขา ๑ สัมมาสังกัปโป ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑ สัมมาอาชีวะ ๑

   แลธรรมทั้งหลาย ๙ นี้ คงตั้งอยู่ด้วยอาการหนึ่ง ๆ เหตุฉันทะนั้นตั้งอยู่ด้วยอาการเป็นแต่ฉันทิทธิบาทสิ่งเดียว จิตตะก็เป็นแต่จิตติทิทธิบาทสิ่งเดียว ปิติก็เป็นแต่ปิติสัมโพชฌงค์สิ่งเดียว ปัสสัทธิก็เป็นได้แต่ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์สิ่งเดียว อุเบกขาก็เป็นแต่อุเบกขาสัมโพชฌงค์สิ่งเดียว วาจาแลกัมมันตะ แลอาชีวะทั้ง ๓ นั้นก็ดี ก็ตั้งอยู่ด้วยอาการอันเป็นองค์อัษฏางคิกมรรค คือสัมมาวาจา แลสัมมากัมมันตะ แลสัมมาอาชีวะ สิ่งเดียว ๆ ธรรมทั้งหลาย ๙ นี้แลได้ชื่อว่าตั้งอยู่ด้วยอาการอันเดียวแท้บ่มิได้เจือไปในโกฏฐาสแห่งพระโพธิขิยธรรมกองอื่น ๆ เลย

   ธรรมอันหนึ่ง ตั้งอยู่ด้วยอาการ ๒ นั้น คือสัทธาสิ่งเดียวตั้งอยู่ด้วยอาการเป็นสัทธินทรีย์ ๑ เป็นสัทธาพละ ๑

   ธรรมสิ่งเดียวตั้งอยู่ด้วยอาการ ๔ นั้น คือสมาธิสิ่งเดียวเป็นได้ถึง ๔ อย่าง คือเป็นสมาธินทรีย์ ๑ เป็นสมาธิพละ ๑ เป็นสมาธิสัมโพชฌงค์ ๑ เป็นสัมมาสมาธิ ในองค์อัษฏางคิกมรรค ๑ เป็นอาการคำรบ ๓

   ธรรมอันหนึ่งตั้งอยู่ด้วยอการ ๕ นั้น คือปัญญาอันเดียวเป็นได้ถึง ๕ อย่าง คือเป็นวิมังสิทธิบาท ๑ เป็นปัญญินทรีย์ ๑ เป็นปัญญาพละ ๑ เป็นธรรมวิจยะสัมโพชฌงค์ ๑ เป็นสัมมาทิฏธิในองค์อัษฏางคิกมรร ๑ จึงเป็นอาการคำรบ ๕

   ธรรมอันหนึ่งตั้งอยู่ด้วยอาการ ๘ นั้น คือสติตัวเดียวเป็นสติปัฏฐานถึง ๔ อย่าง แล้วเป็นสตินทรีย์เป็นสติพละ เป็นสติสัมโพชฌงค์ เป็นอัษฏางคิกมรรค คือสัมมาสติ จึงเป็นอาการ ๘

   ธรรมอันหนึ่ง ตั้งอยู่ด้วยอาการ ๙ นั้น คือวิริยะตัวเดียวแจกเป็นพระสัมมามัปปธาน ๔ เป็นวิริยิทธิบาท ๑ เป็นวิริยินทรีย์ ๑ เป็นวิริยะพละ ๑ เป็นวิริยะสัมโพชฌงค์ ๑ เป็นองค์มรรคคือสัมมาวายาโม ๑ เป็นคำรบ ๘ ด้วยกัน

   เหตุใดเหตุดังนั้น พระพุทธโฆษาจารย์เจ้าผู้รจนา พระคัมภีร์วิสุทธิมรรคบั้นปลายนั้น จึงนิพนธ์บางพระคาถาไว้ในเบื้องปลาย

   “เอวํ จุทฺทเสว อสมฺภินฺนา โหนฺติ เต โพธิปกฺขิยา โกฏาสโต สตฺตวิธา สตฺตตึสเภทโต สกิจฺจนิปฺผาทนโต สรูเปน จ วุตฺติโต สพฺเพว อริยมคฺคสฺส สมฺภเว สมฺภเวนฺติ เต”  

   อธิบายในบาทพระคาถาว่า  “เต โพธิปกฺขิกา”  อันว่าพระโพธิปักขิยธรรม ๓๗ นั้น จัดเป็นสภาวะธรรมมิได้แจกเจือไปก็คงแต่ ๑๔ เมื่อสงเคราะห์เป็นโกฏฐาสสราสิได้ ๗ กอง คือพระสติปัฏฐาน ๔ เป็นกองต้น พระอัษฏางคิกมรรคเป็นปริโยสาน

   แจกออกเป็นประเภท อาการที่สำเร็จกิจแห่งตน ๆ โดยสารูปเรียกชื่อต่าง ๆ ออกจึงเป็นประเภท ๓๗ ประการ โดยนัยดังพรรรณนามาแล้วนั้น

   ว่ามาด้วยสภาวะบริบูรณ์ แห่งพระโพธิปักขิยธรรม ในญาณทัสสนวิสุทธิทั้ง ๔ นั้น นักปราชญ์พึงรู้ด้วยประการดังนี้

   แต่นี้จะวินิจฉัย ในวุฏฐานพละสมาโยคต่อไป

   วุฏฐานะ นั้นแปลว่าออกจากนิมิตแลปวัตติ นิมิตนั้นคือสังขารธรรมอันตัณหาสมุทัยหากตกแต่งจึงได้ชื่อว่านิมิต

   ตัณหาสมุทัย อันเป็นเหตุประพฤติเป็นไปแห่งสังขารธรรมนั้น ชื่อว่าปวัตติ กิริยาที่จะออกจากนิมิตแลปวัตตินี้ ต่อเมื่อพระอริยมรรคบังเกิดจึงออกได้

   แท้จริง เมื่อพระโยคาพจรยังจำเริญโลกิยวิปัสสนาปัญญาอยู่นั้นก็ยังบ่มิได้ออกจากนิมิตแลปวัตติ ยังมิได้ออกจากนิมิต เพราะเหตุยกสังขารนิมิตขึ้นสู่พระไตรลักษณ์ แล้วพิจารณายึดหน่วงเอาเป็นอารมณ์อยู่ยังบ่มิได้ออกจากตัณหาสมุทัยอันเป็นเหตุ ประพฤติเป็นไปแห่งสังขารนิมิตนั้น อาศัยเหตุฉะนี้โลกิยวิปัสสนาปัญญาก็ได้ชื่อว่า ยังบ่มิได้ออกจากภาคทั้ง ๒ คือสังขารนิมิตแลตัณหาปวัตติ ขณะเมื่อโคตรภูญาณบังเกิดก็ดีก็ยังบ่มิออกจากตัณหาปวัตติ เหตุโคตรภูญาณบ่มิได้ เป็นพนักงานที่จะตัดตัณหาสมุทัยให้ขาดได้ แต่ทว่าออกจากสังขารนิมิตได้เพราะเหตุละซึ่งอารมณ์คือสังขารนิมิตแล้ว ก็ยึดหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์เหตุดังนั้นพระโคตรภูญาณจึงได้ชื่อว่า เอกโตวุฏฐานคือออกจากภาคอันหนึ่ง

   ฝ่ายพระอริยมรรคญาณทั้ง ๔ นั้น ออกจากนิมิต ออกจากปวัตติ ออกจากนิมิต เพราะเหตุวางอารมณ์ คือสละสังขารเสียแล้ว และหน่วงเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์ ออกจากปวัตติ เพราะเหตุตัดตัวสมุทัยให้ขาดเป็นสมุจเฉทปหาน เหตุฉะนี้ พระอริยมรรคญาณทั้ง ๔ จึงได้ชื่อว่า อุภโตวุฏฐาน คือออกจากภาคที่ ๒ นั้น

วิสัชนาการจำแนกในวุฏฐานเป็นใจความแต่เท่านี้

   ทีนี้จะจำแนกในพละสมาโยค คือพระอริยมรรคอันประกอบด้วยกำลัง ๒ ประการ จึงออกจากนิมิตแลปวัตติได้

   กำลัง ๒ ประการนั้น คือพระสมถะพละ ๑ พระวิปัสสนาพละ ๑ สมถะพละนั้น คือสมาธิ วิปัสสนาพละนั้น คือปัญญา

   ในขณะเมื่อพระโลกุตตรมรรคญาณบังเกิดนั้น พระสมถะกับพระวิปัสสนามีกำลังเสมอกัน จะยิ่งหย่อนกว่ากันอย่างโลกิยะภาวนาหาบ่มิได้ แท้จริงกาลเมื่อพระโยคาพจร จำเริญโลกิยะสมาบัติทั้ง ๘ นั้น ยิ่งด้วยกำลังพระพระสมถะ กาลเมื่อพิจารณาสังขารธรรมด้วยอนิจจานุปัสสนาเป็นอาทินั้นยิ่งด้วยกำลังพระวิปัสสนา ครั้นถึงขณะเมื่ออริยมรรคญาณบังเกิดแล้วกำลัง ๒ ประการ มีพระนิพพานเป็นอารมณ์ เป็นเอกรสะมีกิจเสมอกันเหตุสภาวะบ่มิได้ล่วงซึ่งกัน เหตุดังนั้นอันว่ากิริยาอันประกอบด้วยพละ ๒ ประการ ก็มีในพระอริยมรรคทั้ง ๔ ด้วยประการฉะนี้

สิ้นใจความในพระสมาโยคแต่เท่านี้

   ลำดับนี้จะว่าด้วยปหาตัพพะธรรมต่อไป คือธรรมทั้งหลายอันพระอริยมรรคญาณทั้ง ๔

   จึงพึงมละเสียตามสมควรแกกำลังแท้จริง พระอริยมรรคทั้ง ๔ นั้น ให้สำเร็จกิจมละเสียซึ่งปัจจนิกธรรมทั้งหลาย ๑๘ กล่าวคือสังโยชน์ ๑ กิเลส ๑ มิจฉัตตะ ๑ โลกธรรม ๑ มัจฉริยะ ๑ วิปลาส ๑ คันถะ ๑ อคติ ๑ อาสวะ ๑ โอฆะ ๑ โยคะ ๑ นิวรณ์ ๑ ปรามาส ๑ อุปาทาน ๑ อนุสัย ๑ มนทิล ๑ อกุศลกรรมบถ ๑ อกุศลกรรมบถ ๑ อกุศลจิตตุปบาท ๑ สิริเป็น ๑๘ ชื่อว่าปัจจนิกธรรม

   อันว่าธรรมทั้งหลาย ๑๐ มีกามราคะเป็นอาทิ ชื่อว่าสังโยชน์ เหตุประกอบไว้ซึ่งขันธ์สันดานในปรโลก ให้เนื้องกันกับขันธสันดานในอิธโลก แลประกอบไว้ซึ่งกรรมด้วยผลแห่งกรรม แลประกอบไว้ซึ่งสัตว์กับด้วยสังขารทุกข์ จึงได้ชื่อว่าสังโยชน์

   ล้ำสังโยชน์ ๑๐ นั้นยกเอาแต่สังโยชน์ ๕ คือรูปราคสังโยชน์ ๑ อรูปราคสังโยชน์ ๑ มานสังโยชน์ ๑ อุทธัจจสังโยชน์ ๑ อวิชชาสังโยชน์ ๑ เป็นคำรบ ๕ ชื่อว่าอุทธัมภาคิยสังโยชน์ เหตุประกอบไว้ซึ่งขันธสันดานเป็นอาทิ อันบังเกิดในภาคเบื้องบน คือรูปภพอรูปภพ

   สังโยชน์อีก ๕ ประการ คือ สักกายทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ สี ลัมพัตตะปรามาส ๑ กามราคะ ๑ ปฆิฆะคือโทโส ๑ เป็นคำรบ ๕ ชื่อว่า อโธภาคิยสังโยชน์ เหตุประกอบไว้ซึ่งขันธสันดานเป็นอาทิอันบังเกิดในเบื้องต่ำ คือกามภพ

   ธรรมทั้งหลาย ๑๐ คือ โลภะ ๑ โทสะ ๑ โมหะ ๑ มานะ ๑ ทิฏฐิ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ถีนะ ๑ อุทธัจจะ ๑ อหิริกะ ๑ อโนตตัปปะ ๑ เป็น ๑๐ ประการด้วยกันชื่อว่ากิเลส เหตุเศร้าหมองด้วยตนเอง แลยังสัมปยุตธรรมให้เศร้าหมอง

   ธรรม ๑๐ ประการนี้ มีมิจฉาทิฏฐิเป็นต้น มีมิจฉาสมาธิเป็นปริโยสานกับทั้งมิจฉาวิมุตติหยั่งศรัทธาลงไปในที่ผิด แลมิจฉาญาณเป็นคำรบ ๑๐ ชื่อมิจฉัตตะ เหตุประพฤติเป็นไปในทางผิดเป็นกามสุขัลลิกานุโยค แลอัตตกิลมถานุโยค

   ธรรมทั้งหลาย ๘ คือ ลาภ ๑ อลาภะ หาลาภบ่มิได้ ๑ ยโส คือมียศ ๑ อยโส ๑ คือหายศบ่มิได้ ๑ คือความสุข ๑ คือความทุกข์ ๑ คือความนินทา ๑ คือความสรรเสริญ ๑ ธรรม ๘ ประการนี้ ชื่อว่าโลกธรรม เหตุว่าขันธาทิโลกประพฤติเป็นไปตราบใด ธรรม ๘ ประการนี้ ก็บ่ได้เสื่อมสูญตราบนั้น เทียรย่อมประพฤติตามซึ่งโลก ๆ ก็ประพฤติตามซึ่งธรรม ๘ ประการ ๆ จึงได้ชื่อว่าโลกธรรม

   ในที่นี้จะยกเอาธรรม ๒ ประการ คือโลภอันยินดีในลาภเป็นอาทิ ๑ คือโทสาอันเคียดแค้น เพราะหาลาภบ่มิได้เป็นอาทิ ๑ ชื่อว่าโลกธรรมคงแต่ ๒

   มิจฉริยะ ๕ นั้น คือ อาวาสมัจฉริยะ ความตระหนี่ในอาวาส ๑ คือ กุลมัจฉริยะ ความตระหนี่ในตระกูลโยมอุปัฏฐาก ๑ คือลาภมัจฉริยะความตระหนี่ในจตุปัจจัยลาภ ๑ คือธรรมมัจฉริยะ ความตระหนี่ในสรีระวรรณแลสัทธาธิคุณวรรณ ๑ เป็น ๕ ประการด้วยกัน

   ถ้าจะว่าใจความ ก็ได้แก่มัจฉริยะเจตสิกตัวเดียว เกิดกับโทสะจิตคิดแต่ว่าจะมิให้มีสิ่ง ๕ ประการ มีอาวาสเป็นต้น แก่บุคคลผู้อื่น ให้เป็นของอาตมาผู้เดียว ถ้าเห็นว่ามีทั่วไปแก่บุคคลผู้อื่นแล้วก็ให้อดกลั้นบ่มิได้

   วิปลาส ๓ ประการนั้น คือ สัญญาวิปลาส ๑ จิตวิปลาส ๑ ทิฏฐิวิปลาส ๑ ประพฤติเป็นไปโดยเห็นว่าเที่ยง ว่าสุข ว่าตัว ว่าตน ว่างาม ในวัตถุทั้งหลายอันบ่มิเที่ยงมิเป็นสุข ใช่ตน ใช่งาม

   ธรรม ๔ ประการ คืออภิชฌา ๑ พยาบาท ๑ คือสีลัพพัตตะปรามาส ๑ คืออิทังสัจจภินิเวส คือมั่นในคำของตนว่าสัตว์ว่าบุคคลนั้นมีจริง จะว่าอย่างอื่นนั้นผิดไป ๑

   แลธรรม ๕ ประการนี้มีชื่อว่าคันถะ เหตุว่าผูกพันรัดรึงตรึงไว้ซึ่งนามกายรูปกาย ในสังสารทุกข์หาที่สุดบ่มิได้

   อคตินั้นแจกออกด้วยอาการเป็น ๔ คือ ฉันทาคติ ๑ โทสาคติ ๑ โมหาคติ ๑ ภยาคติ ๑ เป็น ๔ ประการ ยกเอาใจความเป็นแต่ ๒ คือ กระทำซึ่งกิจอันบ่พึงกระทำ ด้วยรักษาโกรธด้วยหลงด้วยกลัว ๑ คือ มิได้กระทำซึ่งกิจอันควรจะพึงกระทำด้วยเป็นอาทิ ๑ เป็นใจความแต่ ๒ ประการเท่านี้ ชื่อว่าอคติ เหตุเป็นที่พระอริยเจ้าทั้งหลายบ่มิพึงดำเนินไป

ต่อ  

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com