พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๒๐

   ทีนี้จะว่าด้วยสามัญวิคคหะสืบต่อไปเล่า นัยวิคคหะว่า  สลกฺขณธารณโต ทุกฺขฏานโต ทุกฺขาธานโต จ ธาตุ แปลว่าธรรมชาติ ๔ ประการ คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ได้นามบัญญัติชื่อว่าธาตุนั้น เพราะเหตุที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะแห่งตน ลักษณะที่แข็งกระด้าง ลักษณะที่ซุมซาบอาบเอิบลักษณะที่กระทำให้อบอุ่น ลักษณะที่ให้ไหวให้ติงนี่แลได้ชื่อว่าลักษณะแห่งตน แห่งดิน น้ำ ไฟ ลม ตกว่าดินนั้นทรงไว้ซึ่งลักษณะอันกระด้าง น้ำนั้นทรงไว้ลักษณะอันซึมซาบ ไฟนั้นทรงไว้ซึ่งลักษณะอันอบอุ่นอันร้อน ลมนั้นทรงไว้ซึ่งลักษณะอันไหวอันติง นี่แลได้ชื่อว่าลักษณะแห่งตนอาศัยเหตุที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะสำหรับตนดังนี้ ดิน น้ำ ไฟ ลม จึงได้นามบัญญัติชื่อว่าธาตุ นัยหนึ่ง ดิน น้ำ ไฟ ลม ได้นามบัญญัติชื่อว่าธาตุนั้น เหตุทรงไว้ซึ่งทุกข์ เพราะเหตุเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์ ถ้า ดิน น้ำ ไฟ ลม หาบ่มิได้ ไม่เกิดในรูปกายแล้ว ความทุกขเวทนามีประการต่าง ๆ นั้นจะบังเกิดแต่ที่ดังฤๅ นี่อาศัยเหตุที่มีดินน้ำไฟลมบังเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นกายความทุกขเวทนาจึงอากูลมูลมองหาสะสมอยู่เป็นอเนกอนันต์

   ตกว่าดินน้ำไฟลมนี้ทรงไว้ซึ่งทุกข์ เป็นที่ตั้งแห่งทุกข์จะนับจะประมาณบ่มิได้ อาศัยเหตุฉะนี้ ดินน้ำไฟลมจึงได้นามบัญญัติชื่อว่าธาตุ วิคคหะอย่างนี้เรียกว่าสามัญวิคคพะ เหระเหตุวิคคหะอันเดียวกัน ได้เนื้อความทั่วไปทั้ง ดิน น้ำ ไฟ ลม ทั้งสิ้น ๔ ประการ กิริยาที่พระโยคาพจรกระทำมนสิการกำหนดธาตุทั้ง ๔ ประการ โดยวิเศษวิคคหะแลสามัญวิคคหะดังนี้ จัดเป็นมนสิการอาการเป็นปฐม แลมนสิการอาการเป็นคำรบ ๒ คือ กลาปโตที่ให้กระทำมนสิการโดยกลาปนั้นเป็นประการใด อธิบายว่าในหมวดปฐวีธาตุ ๒๐ มีเกศาเป็นอาทิ มีมัตถลุงคังเป็นที่สุดนั้น แต่ละสิ่ง ๆ ล้วนกอปรด้วยสุทธกลาปทั้งสิ้น สุทธกลาปนั้นได้แก่ธรรมชาติ ๘ ประการ ประชุมกันคือปฐวีธาตุ อาโปธาตุ เตโชธาตุ วาโยธาตุ สีแลกลิ่นรสแลโอชา ๘ ประการประชุมกันเป็นหมวดแล้วเมื่อใด ก็เรียกว่าสุทธากลาปในกาลเมื่อนั้น ปฐวีธาตุ ๒๐ ประการนี้ แต่สิ่งหนึ่งจะได้ปราศจากสุทธกลาปก็หาบ่มิได้ ผมแต่ละเส้น ๆ ขนแต่ละเส้น ๆ เล็บแต่ละเล็บ ๆ ฟันแต่ละซี่ ๆ นั้น แต่ล้วนดิน น้ำ ไฟ ลม สีแลกลิ่น รสแลโอชา ชีวิตินทรีย์แลภาวรูปประชุมพร้อม จะได้ปราศจากดิน น้ำ ไฟ ลม สัแลกลิ่น รสแลโอชา ชีวิตินทรีย์แลภาวนารูปหาบ่มิได้

   ข้อซึ่งเรียกปฐวีธาตุนั้น เพราะเหตุธาตุดินมากกว่าธาตุทั้ง ๔ แท้จริงผมแลขน เล็บแลฟันทั้งปวงนี้ ใช่จะมีแต่ปฐวีธาตุสิ่งเดียวนั้นหาบ่มิได้ อาโปธาตุที่ซึมซาบอาบเอิบนั้นก็มีอยู่ เตโชธาตุที่กระทำให้อบอุ่นนั้นก็มีอยู่ วาโยธาตุที่พัดไปในต้นเส้นผมแลเส้นขน เล็บแลฟันนั้นก็มีอยู่ ตกว่าธาตุทั้ง ๔ นั้นก็มีพร้อม แต่หากว่าธาตุดินนั้นมากกว่าธาตุทั้ง ๓ สมเด็จพระมหากรุณาจึงยกเอาที่มากขึ้นตรัสเทศนาจัดเอาเส้นผมแลขนเล็บแลฟันเป็นอาทินั้นเป็นปฐวีธาตุหนังและเนื้อ เส้นแลอัฐิแลม้ามแลหัวใจ แลตับพังผืด แลพุงไส้ใหญ่และใส้น้อย อาหารใหม่แลอาหารเก่า แลสมองศีรษะนั้นก้ฒีดิน น้ำ ไฟ ลม สีแลกลิ่นรสโอชาเหมือนกันสิ้น ตกว่าธาตุทั้ง ๔ นี้มีพร้อมทุกสิ่ง แต่หากว่าดินนั้นมาก ดินนั้นมีภาษีมากว่าธาตุทั้ง ๓ สมเด็จพระผู้มีพระภาคตรัสพระสัทธรรมเทศนา ยกหนังแลเนื้อเป็นอาทินั้นขึ้นเป็นปฐวีธาตุ ๒๐ ประการ แลอาโปฐาตุ ๑๒ ประการ มีดีเป็นอาทิ มีมูตรเป็นที่สุดนั้น แต่ละสิ่ง ๆ ล้วนกอปรด้วย ดิน น้ำ ไฟ ลม สีแลกลิ่น รสแลโอชาเหมือนกันสิ้น ธาตุทั้ง ๔ ประการนั้นบริบูรณ์พร้อม จะได้เฉพาะมีแต่ธาตุน้ำสิ่งเดียวนั้นหาบ่มิได้ แต่หากว่าธาตุน้ำนั้นมีมาก

   ธาตุน้ำนั้นมีภาษีกว่าธาตุทั้ง ๓ สมเด็จพระมหากรุณาจึงยกเอาแต่ธาตุน้ำที่มีภาษีขึ้นตรัสเทศนา จัดเอาอาการ ๑๒ ประการ มีดีเป็นอาทิ มีมูตรเป็นปริโยสานนี้ เป็นอาโปธาตุ อาการที่กระทำมนสิการกำหนดกฏหมายกลาปโกฏฐาสในกรัชกาย ให้เห็นว่าประกอบด้วยกลาป คือประชุมดิน น้ำ ไฟ ลม สีแลกลิ่น แลรสโอชาบริบูรณ์พร้อม นี้แลได้ชื่อว่ามนสิการโดยกลาป จัดเป็นมนสิการอาการเป็นคำรบ ๓ นี้แลมนสิการเป็นคำรบ ๓ คือ   จฺณฺณโต ที่ว่าให้กระทำมนสิการโดยกิริยาที่เป็นจุณนั้นเป็นประการใด อธิบายว่า กรัชกายแห่งเราท่านทั้งปวงนี้ ถ้ามีประมาณเป็นปานกลางเหมือนอย่างกายมัชฌิมบุรุษ ไม่เล็กไม่ใหญ่นัก แลเราจะเอามาย่อยออกให้เป็นจุณนั้น  โทณมตฺตา  จะตวงได้ประมาณโทณะ ๑ คือ ๑๖ ทะนาน จุณ ๑๖ ทะนานนั้นมีอาโปธาตุซึมซาบอาบอิ่มอยู่ถึงก้นกับปฐวีธาตุ เตโชธาตุ   ปาลิตา  นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า เตโชธาตุนั้นพนักงานกระทำให้ร้อนให้อุ่น บำรุงรักษาปฐวีแลอาโปนั้นไว้ไม่ให้เปื่อยให้เน่า ให้จำเริญขึ้นไปเป็นอันดีโดยสิริสวัสดี   วาโยธาตุยา วิตฺถมฺภิตา  ฝ่ายวาโยธาตุนั้น เป็นพนักงานอุปถัมภ์ค้ำชูจะไหวจะติงจะสำเร็จอิริยาบททั้ง ๔ นั้น อาศัยแก่วาโยธาตุ ๆ เข้าอุดเข้าหนุนประคับประคองแล้ว เราท่านทั้งปวงซึ่งนั่งนอนยืนเที่ยวกระทำกิจการทั้งปวงได้สำเร็จมโนรถความปรารถนา

   เมื่อธาตุทั้ง ๔ ประชุมกับบำรุงรักษาอุปถัมภ์ค้ำชูกันเป็นอันดีแล้ว สมมติสัตว์ที่โลกโวหารเรียกว่าหญิงว่าชายว่าสัตว์ว่าบุคคลนั้น จึงบังเกิดมีเพราะมีธาตุทั้ง ๔ ประชุมกันเป็นหลักเป็นประธาน อันสรีรกายแห่งเราท่านทั้งหลาย จะปรากฏว่าน้อยว่าใหญ่ว่าต่ำกระด้างว่ามั่นว่าทนนั้นอาศัยแก่ปฐวีธาตุ ที่จะเป็นน้ำเป็นเยื่อปลั่งเปล่งเคร่งครัดชุ่มมันนั้นอาศัยแก่อาโปธาตุ  ปวี ปติฏฺิตา  อาโปธาตุนั้นตั้งอยู่ในปฐวีธาตุได้ปฐวีธาตุเป็นที่ตั้ง ได้เตโชธาตุเป็นอภิบาลรักษา ได้วาโยธาตุเป็นผู้อุปถัมภ์ จึงตั้งอยู่ได้เป็นอันดี มิได้รั่วมิได้ไหลออก กระทำสรีรกายประเทศนั้น ให้อิ่มอยู่เต็มเป็นอันดีมิได้บกมิได้พร่อง  อสิตปิตาทิปริปาจิตา   แลเตโชธาตุ ๔ ประการนี้  อุณฺห ลกฺขณา มีลักษณะให้อุ่นให้ร้อน บังเกิดมีอาการอันพุ่งขึ้นเป็นไอเป็นควัน เตโชธาตุนั้นตั้งอยู่ในปฐวีธาตุ ได้ปฐวีธาตุเป็นที่ตั้ง ได้อาโปธาตุเป็นผู้ช่วยสงเคราะห์ ได้วาโยธาตุเป็นผู้อุปถัมภ์ จึงเผาอาหารให้ย่อยออกเป็นอันดี กระทำสรีรประเทศนั้นอบอุ่นบริบูรณ์ด้วยสีสันพรรณเป็นน้ำเป็นนวล   นปูติภาวํ ทสฺเสติ  กายแห่งเราท่านทั้งหลายจะไม่สำแดงอาการอันเน่าเปื่อยพังนั้น อาศัยแก่เตโชธาตุเป็นผู้อภิบาลรักษา  องฺคมงฺคานฺสารีวาตา  แลวาโยธาตุที่พัดซ่านไปในอวัยวะน้อยใหญ่ทั้งปวง จำแนกออกโดยประเภทพิศดารเป็นวาโยถึง ๖ ประการ ทีอุทธังมาวาตเป็นอาทินั้น มีลักษณะให้สำเร็จกิจจำนรรจาพาทีให้ตั้งกายทรงกาย  ปวี ปติฏฺิตา วาโยธาตุ  นั้นตั้งอยู่ในปฐวีธาตุ ได้ปฐวีธาตุเป็นที่พึ่ง ได้อาโปธาตุเป็นผู้ช่วยสงเคราะห์ ได้เตโชธาตุเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชู แล้วก็ดำรงดายไว้มิให้กายนั้นล้มซวนซวดเซไปได้

   เมื่อวาโยธาตุจำพวก ๑ ตั้งกายทรงกายไว้แล้ว วาโยธาตุจำพวก ๑ ก็เข้าอุดหนุน สำแดงกายวิญญัติไหวกายอันยุติในอิริยาบถให้นั่งนอนยืนเที่ยว กลับกลอกคู้เข้าแลเหยียดออกซึ่งหัตถ์แลบาท โดยอันควรแก่จิตประสงค์ สรีรยนต์ที่โลกทั้งหลายสมมติเรียกว่าหญิงว่าชาย เจ้านั่นเจ้านี่ นางนั่นนางนี่ตามประเพณีโลกวิสัยนี้มิใช่อื่นเลย คือธาตุทั้ง ๔ นี้เอง หญิงก็แล้วด้วยธาตุทั้ง ๔ ชายก็แล้วด้วยธาตุทั้ง ๔ เมื่อมีปัญญาพิจารณาโดยละเอียด สรีระนี้เหมือนด้วยรูปหุ่น อันบุคคลร้อยไว้ด้วยสายยนต์  พาลวญฺจนํ   สรีรยนต์นี้ ย่อมล่อลวงคนหาปัญญามิได้ ให้ลุ่มให้หลงสำแดงลีลาอาการนั้นต่าง ๆ ถ้าปราศจากปัญญาแล้ว ก็พิศวงงงงวยสติสมประดี สำคัญว่างดงามว่าประณีตบรรจง ที่แท้นั้นธาตุทั้ง ๔ ทีเดียว ถ้าจะย่อยออกเป็นจุณก็ตวงได้ ๑๖ ทะนาน จะเป็นเครื่องเปื่อยเครื่องเน่าเครื่องถมแผ่นดิน จะมีแก่นมีสารแต่สักหน่อยหนึ่งหาบ่มิได้ พระโยคาพจรกุลบุตร อันกระทำมนสิการกำหนดกฏหมายโดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้แล ได้ชื่อว่กระทำมนสิการ โดยกิริยาที่กระทำให้เป็นจุณ จัดเป็นมนสิการอาการคำรบ ๓ แลมนสิการอาการคำรบ ๔ คือ  ลกฺขณาทิโต ที่ว่าให้พิจารณาธาตุทั้ง ๔ โดยลักษณะแลกิจแลผลนั้นเป็นประการใด ธาตุทั้ง ๔ ประการนี้ มีสิ่งดังฤๅเป็นกิจมีสิ่งดังฤๅเป็นผล อธิบายว่าปฐวีธาตุนั้น  กกฺขลตฺตลกฺขโณ มีกิริยาที่แข็งที่หยาบที่กระด้างนั้นเป็นลักษณะ สุดแท้แต่ว่าธาตุสิ่งใดเป็นธาตุอันแข็งกระด้างเป็นธาตุหยาบ ควรจะต้องควรจะถือควรจะหยิบจะยกได้ ธาตุสิ่งนั้นแลได้ชื่อว่าปฐวีธาตุ

   ตกว่าลักษณะอันที่กระด้างนั่นแลเป็นลักษณะแห่งปฐวีธาตุ  ปติฏฺานรสา  ถ้าจะว่าในกิจนั้น กิริยาที่เป็นที่ตั้งแห่งธาตุทั้ง ๓ เป็นที่พำนักแห่งธาตุทั้ง ๓ นั่นแลเป็นกิจแห่งปฐวีธาตุ   สมฺปฏิจฺฉนฺนปจฺจุปฏฺานา ถ้าจะว่าโดยผลนั้นกิริยาที่รับรองไว้ซึ่งธาตุทั้ง ๓ นั้นแลเป็นผลแห่งปฐวีธาตุ  ปกฺขรณกฺขณา  แลอาโปธาตุมีกิริยาหลั่งไหลซึบซาบอาบเอิบเป็นลักษณะ  พฺรูหนรสา ถ้าจะว่าโดยกิจนั้น อาโปธาตุมีกิจอันกระทำให้เปล่งปลั่งเคร่งครัด ให้เจริญสดชื่นชุ่มมัน สงฺคหปจฺจุปฏฺานา อุณฺหลกฺขณา  แลเตโชนั้น ถ้าจะว่าโดยลักษณะมีลักษณะให้อุ่นให้ร้อน   ปริปาจนรสา  ถ้าจะว่าด้วยกิจมีกิจอันกระทำให้อาหารยับย่อยละเอียดลง มทฺมวานุปฺปาทานปจฺจุปฏฺานา  ถ้าจะว่าด้วยผลนั้น เตโชธาตุมีกิริยาอันให้ซึ่งสภาวะอ่อนน้อมแก่กายเป็นผล อธิบายว่ากรัชกายแห่งเราท่านทั้งหลาย จะอ่อนน้อมโดยสะดวกอาศัยแก่ เตโชธาตุ ถ้าเตโชธาตุดับตัวเย็นแล้ว กายก็แข็งกระด้าง อย่างประหนึ่งท่อนไม้และท่อนฟืน กิริยาที่กระทำให้กายอ่อนนี้แลเป็นผลแห่งเตโชธาตุแลวาโยธาตุนั้น   วิตฺถฺภนลกฺขณา มีกิริยาอันหนุนค้ำชูให้ตั้งกายทรงกายได้เป็นลักษณะ   สมุทีรณรสา  ถ้าจะว่าด้วยกิจ วาโยธาตุนั้นมีกิจอันกระทำให้หวั่นไหว ให้ยกเท้าให้กลับเนื้อกลับตัวได้ให้จำนรรจาพาที

   อภินิหารปจฺจุปฏฺานา  ถ้าจะว่าด้วยผลนั้น วาโยธาตุมีกิริยาอันนำไปซึ่งกายสู่ทิศานุทิศต่าง ๆ ให้กระทำการงานทั้งปวงได้ โดยควรแก่ประสงค์ กิริยาที่พระโยคาพจรกุลบุตรผู้มีปัญญา กระทำมนสิการกำหนดกฏหมายในลักษณะแลกิจแลผลแห่งธาตุทั้ง ๔ โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้ จัดเป็นมนสิการอาการคำรบ ๔ แลมนสิการอาการคำรบ ๕ ที่ว่าให้พิจารณาธาตุทั้ง ๔ โดยสุมุฏฐานนั้น เป็นประการใด อธิบายว่าอาการในกายแห่งสรรพสัตว์เราท่านทั้งปวงนี้ถ้าจะนับโดยอาการโกฏฐาสนั้น นับได้ปฐวีธาตุ ๒๐

  อาโปธาตุ ๑๒ เตโชธาตุ ๔ วาโยธาตุ ๖ ประการ สิริเข้าด้วยกันจึงเป็นอาการโกฏฐาส ๔๒ แลอาการโกฏฐาสทั้ง ๔ คือ น้ำตา ๑ มันเหลว ๑ น้ำมูก ๑ โกฏฐาสทั้ง ๔ นี้ มีสมุฏฐาน ๒ บางคาบบังเกิดแต่เพลิงธาตุ บางคาบเกิดแต่จิตเพลิงที่เผาอาหารให้ย่อยนั้น มีสมุฏฐานเดียวบังเกิดแต่กุศลากุศลกรรมสิ่งเดียว อสฺสาสปสฺสาส จิตฺตสมุฏานาว   แลลมระบายหายใจเข้าออกนั้น มีสมุฏฐานอันเดียวจะได้บังเกิดแต่กรรมแลเพลิงธาตุแลอาหารนั้น หาบ่มิได้  อวเสสาสพฺเพจตฺสมุฏานา แลอาการโกฏฐาสอันเศษนอกออกไปจากโกฏฐาสที่สำแดงมาแล้วนี้ ยังอีก ๓๒ อยู่ในส่วนแห่งปฐวรธาตุ ๑๘ อยู่ในส่วนอาฏปธาตุ ๖ อยู่ในส่วนแห่งเตโชธาตุ ๓ อยู่ในส่วนแห่งวาโยธาตุ ๕ เหล่านี้ล้วนแต่มีสมุฏฐาน ๔ บางคนนั้นเกิดแต่กุศลากุศลกรรม บางคาบบังเกิดแต่จิต บางคาบบังเกิดแต่เพลิงธาตุบางคาบบังเกิดแต่อาหาร

  เอวํ สมุฏานโต   พระโยคาพจรกุลบุตรอันกระทำมนสิการกำหนดกฏหมายธาตุ ๔ ประการ โดยนัยดังพรรณนามาฉะนี้ จัดเป็นมนสิการอาการเป็นคำรบ ๕ แลมนสิการอาการคำรบ ๖ ที่ว่าให้กระทำมนสิการโดยต่างกันแลเหมือนกันเป็นอันเดียวกันนั้น เป็นประการใด อธิบายว่าธาตุทั้ง ๔ นี้ ถ้าจะว่าโดยลักษณะก็มีลักษณะต่าง ๆ กัน ถ้าจะว่าโดยกิจก็มีกิจต่าง ๆ กัน ถ้าจะว่าโดยสมุฏฐานที่มีสมุฏฐานต่าง ๆ กัน จะได้เหมือนกันหามิได้ เมื่อมนสิการโดยลักษณะแลกิจแลผลมนสิการโดยสมุฏฐานนั้น เป็นแต่ละอย่าง อย่าง ๆ ต่าง ๆ กัน โดยนัยดังพรรณนามา ถ้ามนสิการโดยกิริยาที่เป็นมหาภูติ มนสิการโดยกิริยาที่เป็นธาตุ มนสิการกิริยาที่เป็นสังขารธรรม มนสิการโดยกิริยาที่เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตานั้น ธาตุทั้ง ๔ นี้จัดเป็นรูปเหมือนกัน เป็นมหาภูตรูปเหมือนกัน เป็นธาตุเหมือนกัน จะได้แปลกกันหาบ่มิได้ แท้จริงธาตุทั้ง ๔ ประการคือ ปฐวี ปาโป เตโช วาโยนี้ ได้นามบัญญัติชื่อว่ารูปเหมือนกันนั้นด้วยเหตุ ๕ ประการ

   มหนฺตปาตุภาวโต ได้ชื่อว่ามหาภูตรูป เพราะเหตุปรากฏใหญ่นั้นประการ ๔   มหาภูตสา มญฺญโต  ได้ชื่อว่ามหาภูต เพราะเหตุเหมือนด้วยภูตปีศาจนั้นประการ ๑  มหาปริหารโต  ได้ชื่อว่ามหาภูตเพราะเหตุที่ต้องพิทักษ์รักษาเป็นอันมากนั้นประการ ๑  มหาวิการโต  ได้ชื่อว่ามหาภูต เพราะเหตุที่มีวิการวิบัติเป็นอันมากนั้นประการ ๑ มหตฺตภูตตฺตา   ได้ชื่อว่ามหาภูต เพราะเหตุจะพึงกำหนดด้วยความเพียรเป็นอันมากประการ ๑ สิริเป็นเหตุ ๕ ประการด้วยกัน ข้อซึ่งว่าธาตุทั้ง ๔ ได้ชื่อว่ามหาภูต เพราะเหตุที่บังเกิดปรากฏใหญ่นั้นเป็นประการใด อธิบายว่าธาตุทั้ง ๔ นี้บังเกิดปรากฏในสันดาน ๒ ประการ คืออนุปาทินนสันดานประการ ๑ อุปาทินนสันดานประการ ๑ ที่ว่าปรากฏใหญ่ในอนุปาทินนสันดานนั้น ได้แก่ดิน น้ำ ลม ไฟ ไฟเป็นปกติ ๆ นี่แลเรียกว่าอนุปาทินนสันดาน

  พระอาจารย์เจ้าสำแดงแล้วแต่หลังในห้องแห่งพระพุทธานุสสติกรรมฐาน ท่านสำแดงปฐวี อาโป เตโช วาโยอันเป็นแกติ กำหนดแผ่นดินโดยหนา ๒ แสน ๔ หมื่นโยชน์ กำหนดน้ำรองแผ่นดินหนา ๔ แสน ๘ หมื่นโยชน์ กำหนดลมรองน้ำหนักหนา ๙ แสน ๖ หมื่นโยชน์ กำหนดโดยขวางนั้นแผ่นปฐพีแผ่ไปหาที่สุดบ่มิได้ เพราะเหตุว่าห้องจักรวาลมีมากกว่ามาก จะนับประมาณบ่มิได้ น้ำรองดินก็แผ่ไปหาที่สุดบ่มิได้ ลมรองน้ำก็แผ่ไปหาที่สุดบ่มิได้ เหมือนกันกับแผ่นดิน แลแตโชธาตุคือแสงพระสุริยเทพบุตร แลเปลวเพลิงที่แผ่อยู่ในโลกธาตุนี้ ก็หาที่สุดบ่มิได้เหมือนกัน ตกว่าธาตุทั้ง ๔ อันเป็นปกติ บ่มิได้นับเข้าสัตว์ในบุคคลที่แผ่ไปหาที่สุดบ่มิได้ นี่แลได้ชื่อว่าธาตุทั้ง ๔ บังเกิดปรากฏใหญ่ในอนุปาทินนสันดานแลธาตุทั้ง ๔ ที่นับเข้าในอนุปาทินนสันดาน จัดเป็นสัตว์เป็นบุคคล โดยในพุทธฏีกาโปรดไว้ว่าเต่าแลปลาในมหาสมุทรนี้โยชนสติกา บางจำพวกนั้นใหญ่ยาวได้ ๑๐๐ โยชน์ บางจำพวกก็ใหญ่ยาวได้ ๒๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ๗๐๐ โยชน์ ๘๐๐ โยชน์ ๙๐๐ โยชน์ ๑๐๐๐ โยชน์ก็มี ใช่แต่เท่านี้ ยักษ์แลคนธรรมพ์ นาคแลสุบรรณแลเทพยดาอินทร์พรหมทั้งปวง

  แต่บรรดาที่มีรูปกายอันใหญ่โตนั้น ก็มีมากกว่าจะนับจะประมาณบ่มิได้ ตัวเต่าตัวปลาที่ใหญ่ ๆ ตัวนาคตัวครุฑที่ใหญ่ ๆ รูปอินทร์พรหมที่ใหญ่ ๆ นั้น แต่ล้วนแล้วด้วยปฐวี อาฏป เตโช วาโยสิ้นด้วยกัน จะได้พ้นออกไปจากธาตุทั้ง ๔ นี้หาบ่มิได้ ธาตุทั้ง ๔ ที่จัดเป็นสัตว์เป็นบุคคล นี่แลได้ชื่อว่าปรากฏใหญ่ในอุปาทินนสันดานเป็นใจความว่าธาตุทั้ง ๔ นี้บังเกิดปรากฏใหญ่ในสันดาน ๒ ประการ คืออนุปาทินนสันดานแลอุปาทินนสันดาน โดยนัยพรรณนามา เหตุดังนี้จึงได้ชื่อว่ามหาภูต และข้อซึ่งธาตุทั้ง ๔ ได้ชื่อว่ามหาภูต เพราะเหตุเหมือนด้วยภูตปีศาจนั้นเป็นประการใด   มายากาโร อมณึเยว อุทกํ มณึ กตฺวา   อธิบายว่าภูติปีศาจที่เจ้าเล่ห์เจ้ามายานั้น ย่อมกระทำการโกหกล่อลวงให้คนทั้งปวงลุ่มหลงสำแดงน้ำที่ใส ๆ นั้นว่าแก้วผลึก วัตถุที่ไม่ใช่แก้วล่อลวงว่าแก้ว วัตถุที่ไม่ใช่ทองล่อลวงว่าทอง บางคาบเอาดินมาสำแดงให้เห็นเป็นทอง ตัวหาเป็นเทพยดาไม่สำแดงให้เห็นเป็นเทพยดา ตัวหาเป็นนกเป็นกาไม่สำแดงให้เห็นเป็นนกเป็นกา ภูตปีศาจเจ้าเล่ห์เจ้ามายาล่อลวงทั้งปวงให้ลุ่มหลงแลฉันใดธาตุทั้ง ๔ ประการนี้ ล่อลวงคนทั้งปวงลุ่มหลงมีอุปไมยดังนี้

   อนีลาเนว หุตฺวา  แท้จริงธาตุ ๔ ประการนี้ตัวเองหาเขียวไม่ ยกเอาอุปาทานออกสำแดงให้เห็นว่าเขียว ตัวเองก็หาเหลืองไม่ ยกเอาอุปาทานออกสำแดงให้เห็นว่าแดง ให้เห็นว่าเหลือง ตัวเองหาแดงไม่ ยกเอาอุปาทานออกสำแดงให้เห็นว่าแดง ตัวเองหาขาวไม่ ยกเอาอุปทานรูปออกสำแดงให้เห็นว่าขาว ล่อลวงพาลชนให้ลุ่มหลงให้สำคัญว่างามว่าดี อาการที่ธาตุทั้ง ๔ ล่อลวงกันอาการที่ภูตปีศาลล่อลวงนั้นคล้าย ๆ กัน พอเสมอกัน เหตุนี้ สมเด็จพระมหากรุณาจึงตรัสเทศนาสำแดงนามบัญญัติแห่งธาตุทั้ง ๔ ชื่อว่ามหาภูต   ยํ คณฺหนฺติ เนวเต สํตสฺส อนฺโต น พหิ นัยหนึ่งสำแดงอุปมาว่า ภูตปีศาจนั้นถ้าสิงกายคนทรงผู้ใดแล้ว ที่ว่าจะตั้งอยู่ภายในแห่งคนทรงผู้ทนว่าบ่มิได้ จะว่าตั้งภายนอกการแห่งคนทรงก็หาบ่มิได้ ถ้าจะว่าอาศัยอยู่ที่กายแห่งคนทรง จะว่าเพียงนี้นี่พอจะว่าได้ อันนี้แลมีฉันใด ธาตุทั้ง ๔ ประการอันอาศัยซึ่งกันแลกัน แล้วแลประพฤติเป็นไปนี้ที่จะว่าธาตุสิ่งนั้น ๆ อยู่ภายนอกอยู่ภายในนั้นว่าบ่มิได้ มีอุปไมยดังนั้น ตกว่าอาการที่ธาตุทั้ง ๔ ประชุมกันอาศัยกัน เหมือนอาการที่ภูตแลปีศาจเข้าถือกายคนทรงนั้นจะได้แปลกกันหาบ่มิได้ อาศัยเหตุฉะนี้สมเด็จพระพุทธองค์จึงตรัสเทศนาเรียกธาตุทั้ง ๔ นี้ โดยนามบัญญัติว่ามหาภูต นัยหนึ่งสำแดงอุปมาว่า ยักขินีปรารถนาจะกินเนื้อมนุษย์เป็นภักษาหารนั้น ย่อมแปลงกายแห่งตนให้ปรากฏงดงามเปรียบประดุจเทพอัปสร บุรุษปัญญาบ่มิได้ ไม่พินิจพิจารณาผวาเข้าไป มีแต่จะเสียชีวิต กระทำตัวให้เป็นอาหารกิจแก่นางยักษ์ บ่มิเอาตัวรอดได้ นางยักษ์ขินีล่อลวงให้บุรุษทั้งปวงลุ่มหลง ให้อยู่ในอำนาจแลมีฉันใด ธาตุทั้ง ๔ ประการนี้

   ปฏิจฺฉาเทตฺวา   ก็ปิดป้องกำบังซึ่งปกติแห่งอาตมา ที่โสโครกพึงเกลียดที่เป็นอสุจินั้นปกปิดเสีย สำแดงให้เห็นว่างามว่าดี มีอุปไมยเหมือนยักษ์ขีนีแปลงตัวนั้นเที่ยงแท้ เหตุฉะนี้ สมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธองค์จึงตรัสเทศนานามบัญญัติแห่งธาตุทั้ง ๔ ชื่อว่ามหาภูต แลข้อซึ่งว่าธาตุทั้ง ๔ ได้ชื่อว่ามหาภูต เพราะเหตุที่ต้องพิทักษ์รักษาเป็นอันมากนั้นเป็นประการใด อธิบายว่าธาตุทั้ง ๔ ที่ประชุมกัน สมมติว่าเป็นรูปเป็นกายเป็นหญิงเป็นชายเป็นสัตว์เป็นบุคคลนี้ เราท่านทั้งปวงต้องเอาใจใส่ทะนุบำรุงต้องหาให้กินให้อยู่ หาให้นุ่งให้ห่ม ถึงเพลาร้อนต้องอาบน้ำชำระขัดสีบำรุงอยู่เป็นนิตยกาล จึงค่อยทุเลาเบาบาง ที่เหม็นโสโครกที่เป็นปฏิกูลพึงเกลียดพึงชัง ถ้าไม่ทะนุบำรุงแล้ว มิมากแต่สักเพลาเดียวก็จะถึงวิปริมามแปรปรวนจะเศร้าหมองเป็นที่รังเกียจเกลียดอายนี้เที่ยงแท้ ตกว่าต้องบำรุงรักษานี้สิ้นทั้งกลางวันกลางคืนไม่มีที่สุดลงเลย อาศัยเหตุที่เป็นธุระต้องพิทักษ์รักษาเป็นหนักเป็นหนาดังนี้

  ธาตุทั้ง ๔ จึงได้นามบัญญัติชื่อว่ามหาภูต และข้อซึ่งว่าธาตุทั้ง ๔ ได้ชื่อว่ามหาภูต เพราะเหตุที่มีวิการวิปริตเป็นอันมากนั้นเป็นประการใด อธิบายว่าธาตุทั้ง ๔ ที่เป็นอนุปาทินนะ คือ แผ่นดินและภูเขาป่าและมหาสมุทรมหานาทีและกุนนทีทั้งปวงนั้น ก็ย่อมถึงการวิปริตด้วยเพลิงประลัยกัลป์ น้ำประลัยกัลป์ ลมประลัยกัลป์ กำหนดเขตที่ฉิบหายนั้น ให้แสนโกฏิจักรวาลจะมั่นจะคงจะยั่งจะยืนนั้นหาบ่มิได้ ธาตุทั้ง ๔ ที่เป็นอุปาทินนะ คือสรีรกายแห่งสรรพสัตว์เราท่านทั้งปวงนี้เล่า  ปวี ธาตุปฺปโกเปน ถ้าถึงปฐวีธาตุกำเริบแล้ว ก็แข็งกระด้างอย่างประหนึ่งว่าอสรพิษอันชื่อว่ากัฏฐมุขมาขบ บุคคลอันกัฏฐมุขอสรพิษขบนั้น มีตัวแข็งกระด้าง แลมีฉันใด บุคคลอันมีปฐวีธาตุกำเริบนั้นก็มีกายอันแข็งกระด้างอย่างประหนึ่งว่าท่อนไม้ท่อนฟืน มีอุปไมยดังนั้น

   อาโปธาตุปฺปโกเปน  กาลเมื่ออาโปธาตุเกิดวิการกำเริบนั้นเล่า สรีรกายแห่งสรรพสัตว์เราท่านทั้งปวง ก็บังเกิดเปื่อยเน่าพังออกที่นั่นที่นี่เปรียบดุจต้องเขี้ยวอสรพิษอันชื่อว่าปูติมุข บุคคลอันปูติมุขอสรพิษขบ ต้องเขี้ยวปูติมุขอสรพิษนั้นมีตัวหวะเปื่อยเป็นรังหนอนเน่าพังออกไปแลมีฉันใด เมื่ออาโปธาตุวิการกำเริบแล้ว กายแห่งบุคคลทั้งปวงก็บังเกิดเป็นฝีกะอากปากหมู เป็นมะเร็งคุดทะราดเปื่อยพังออกไป ๆ มีอุปไมยดังนั้น เตโชธาตุปฺปโกเปน   กาลเมื่อเตโชธาตุเกิดวิการกำเริบนั้นเล่า สนฺตตฺโต ภวติ กาโย  สรีรกายแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวง ก็เกิดร้อนกระวนการวายกระหายน้ำ กายนั้นสุกไหม้เกรียมไปอย่างไปอย่างประหนึ่งต้องเขี้ยวแห่งอัคคิมุขอสรพิษ บุคคลนัยที่อัคคิอสรพิษขบนั้น มีกายอันสุกไหม้เกรียมไปสิ้นทั้งกรัชกาย เปรียบดุจเพลิงเผาแลมีฉันใด เมื่อเตโชธาตุเกิดวิการกำเริบแล้ว สรีรกายแห่งสรรพสัตว์เราท่านทั้งปวง ก็บังเกิดร้อนกระวนกระวายกระหายน้ำ กายนั้นสุกไม้เกรียมไปทั้งกรัชกาย มีอุปไมยดัจดังต้องเขี้ยวอสรพิษอันชื่ออัคคิมุขนั้น

  วาโยธาตุปฺปโกเปน  กาลเมื่อวาโยธาตุเกิดวิการกำเริบแล้ว อังคาพยพแห่งสรรพสัตว์เราท่านทั้งปวง ก็หักรานขาดออกเด็ดออกไปที่นั่นที่นี่ มีอุปไมยดุจต้องเขี้ยวแห่งสัตถุมุขอสรพิษนั้น ขึ้นชื่อว่าว่าธาตุทั้ง ๔ ย่อมมีสภาวะถึงวิการวิปริตเป็นอันมาก โดยนัยพรรณนามา เหตุดังนี้สมเด็จพระมหากรุณาจึงตรัสเทศนาสำแดงนามบัญญัติแห่งธาตุทั้ง ๔ นี้ ชื่อว่ามหาภูตก็มีด้วยประการนี้ ใช่แต่เท่านั้นธาตุทั้ง ๔ ได้ชื่อว่ามหาภูตนั้น เพราะเหตุพระโยคาพจรจะพึงกำหนดด้วยความเพียรเป็นอันมาก ตกว่านามบัญญัติชื่อมหาภูตนี้ ทั่วไปในปฐวี อาโป เตโช วาโย ทั้ง ๔ ประการ ดิน น้ำ ไฟ ลม ทั้ง ๔ นี้ได้ชื่อว่ามหาภูตเหมือนกัน จะได้แปลกกันหาบ่มิได้ประการ ๑ ดิน น้ำ ไฟ ลม ทั้ง ๔ ประการนี้ได้ชื่อว่าธาตุเหมือนกันเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน จะได้แปลกกันหาบ่มิได้ กิริยาที่พระโยคาพจรกระทำมนสิการกำหนดกฏหมาย เห็นว่าธาตุทั้ง ๔ มีลักษณะและกิจแลผลสมุฏฐานอันต่างกัน แต่ทว่าได้นามบัญญัติชื่อว่าธาตุ ชื่อว่าสังขารธรรมเหมือนกัน เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน อย่างนี้ได้ชื่อว่า  นานตฺเตกตฺตโต  มนสิการอาการโดยต่างกัน และเหมือนกันแห่งธาตุทั้ง ๔ จัดเป็นมนสิการอาการกำเริบเป็นคำรบ ๖ แลมนสิการเป็นคำรบ ๗ ที่ว่าให้กระทำมนสิการโดยกิริยาโดยกิริยาที่พรากจากกัน แลบ่มิพรากจากกันนั้นเป็นประการใด อธิบายว่าพระโยคาพจรกระทำมนสิการกำหนดโดยแผนกแยกธาตุทั้ง ๔ ออกเป็นปฐวี ๒๐ อาโป ๑๒ เตโช ๔ วาโย ๖ ครั้นแล้วประมวลเข้าเป็นมัดเป็นหมวด กระทำมนสิการว่า อาการในกายนี้แต่ล้วนประกอบไปด้วยกลาป มี ดิน น้ำ ไฟ ลม สี แลกลิ่น รส แลโอชา ภาวนารูปแลชีวิตินทรีย์เหมือนกันสิ้น

   ปวี อาโป เตโช วาโย วณฺโณ คนฺโธ รโส โอชา   นั้นจะได้พรากจากกันหาบ่มิได้ กิริยาที่กระทำมนสิการโดยแผนกแยกให้ต่างกันแล้ว และกลับมนสิการโดยหมวด โดยมิได้พรากจากกันได้ชื่อว่าวินิพโภคา วินิพโภคาจัดเป็นมนสิการอาการคำรบ ๗ และมนสิการอาการคำรบ ๘ คือ พิจารณาโดยสภาคและวิสภาคนั้นเป็นประการใด อธิบายว่าปฐวีธาตุและอาโปธาตุ ๒ ประการนั้นเป็นสภาคแก่กัน เหตุว่าเป็นธาตุหนักเหมือนกัน เตโชธาตุกับวาโยธาตุนั่นเล่าก็เป็นสภาคกัน เพราะเหตุว่าเป็นธาตุเบาเหมือนกัน และธาตุดินธาตุน้ำ ๒ ประการนั้น เป็นวิสภาคแปลกกันกับธาตุไฟและธาตุลม เพราะเหตุธาตุดินและธาตุน้ำนั้นหนัก ธาตุไฟและลมนั้นเบา กิริยาที่พระโยคาพจรเจ้ากระทำมนสิการกำหนดธาตุโดยแปลกกันและบ่มิได้แปลกกันดังนี้ จัดเป็นมนสิการอาการเป็นคำรบ ๙ คืออัชฌัตติกพาหิรวิเศษนั้น เป็นประการใด อธิบายว่าธาตุทั้ง ๔ ที่ให้สำเร็จกิจวิเศษเป็นที่อาศัยแห่ง จักขุนทรีย์ โสตินทรีย์ ฆานินทรีย์ ชิวหินทรีย์ เป็นวัตถุที่อาศัยแห่งวิญญาณนั้น ได้ชื่อว่าอัชฌัตติกวิเศษ ธาตุ ๔ อื่นจากธาตุที่เป็นอัชฌัตติกวิเศษนี้ จัดเป็นพาหิรวิเศษสิ้นทั้งปวง

  นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า อาการที่พระโยคาพจรมนสิการกำหนดธาตุโดยอัชฌัตติกวิเศษและพาหิรวิเศษดังนี้ จัดเป็นมนสิการอาการเป็นคำรบ ๙ และมนสิการอาการคำรบ ๑๐ ที่ว่าให้กำหนดธาตุทั้ง ๔ โดยสงเคราะห์นั้น เป็นประการใด อธิบายว่า กิริยาที่กำหนด   ปวี อาโป เตโช วาโย  ที่เป็นกรรมฐานเหมือนกันเข้าไว้ในหมวดอันเดียวกำหนด  ปวี อาโป เตโช วาโย ที่เป็นจิตสมุฏฐาน อุตุสมุฏฐาน อาหารสมุฏฐานเหมือนกันเข้าไว้เป็นหมวด ๆ กัน แก่บรรดาที่เป็นจิตสมุฏฐานเหมือนกันนั้นเอาไว้หมวด ๑ ที่เป็นอาหารสมุฏฐานเหมือนกันเอาไว้หมวด ๑ กำหนดอย่างนี้แลได้ชื่อว่ามนสิการโดยสงเคราะห์ จัดเป็นมนสิการเป็นคำรบ ๑๐ และมนสิการอาการคำรบ ๑๑ ที่ว่าให้กระทำมนสิการโดยปัจจัยนั้น เป็นประการใด อธิบายว่ากิริยาที่กระทำมนสิการอาการกำหนดว่า ปวี อาโป เตโช วาโย   ธาตุทั้ง ๔ นี้ถ้อยทีเป็นปัจจัยแก่กัน ถ้อยทีถ้อยอุปถัมภ์ค้ำชูกัน ถ้อยทีถ้อยทะนุบำรุงกันนี้แลชื่อว่ามนสิการโดยปัจจัยเป็นมนสิการอาการคำรบ ๑๑ และมนสิการอาการคำรบ ๑๒ คืออสัมนาหารนั้น เป็นประการใด อธิบายว่ากิริยาที่กำหนดว่าธาตุทั้ง ๔ นั้น จะได้รู้เนื้อรู้ตัวอาศัยกันแอบอิงพิงพึ่งกันนั้นหาบ่มิได้ เป็นปัจจัยแก่กันก็จริงแล แต่ทว่าหารู้ว่าเป็นปัจจัยแก่กันไม่

  พระโยคาพจรมนสิการกำหนดนี้แล ได้ชื่อว่ามนสิการโดยอสัมนาหาร จัดเป็นมนสิการอาการเป็นคำรบ ๑๒ และมนสิการอาการเป็นคำรบ ๑๓ คือ ปัจจัยวิภาคนั้น เป็นการใด อธิบายว่า ที่มนสิการกำหนดว่ากุศาลกุศลกรรมเป็นชนกปัจจัยและอัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัยแก่ธาตุในสมุฏฐานทั้ง ๓ เตโชธาตุเป็นปัจจัยแก่ธาตุแต่บรรดาที่เป็นอุตุสมุฏฐาน เป็นอัตถิปัจจัยและอวิคตปัจจัยแก่ธาตุในสมุฏฐานทั้ง ๓ เป็นอาหารสมุฏฐานแก่ธาตุที่เป็นอาหารสมุฏฐาน เป็นอาหารปัจจัยและอวิคตปัจจัยแก่ธาตุในสมุฏฐาน พระโยคาพจรกำหนดดังนี้แล ได้ชื่อว่ากำหนดโดยปัจจัยวิภาคจัดเป็นมนสิการอาการเป็นคำรบ ๑๓

  พระโยคาพจรกุลบุตรผู้จำเริญจตุธาตุววัตถาน เมื่อพิจารณาธาตุทั้ง ๔ โดยมนสิการแต่ละอัน ๆ โดยนัยดังพรรณนามานี้ ธาตุทั้งหลายก็จะปรากฏแจ้ง เมื่อธาตุปรากฏแล้วกระทำมนสิการไปเนือง ๆ ก็สำเร็จอุปจารสมาธิ พระกัมมัฏฐานอันนี้ได้นามบัญญัติว่าชื่อว่าจตุธาตุววัตถาน เพราะเหตุว่าบังเกิดด้วยอานุภาพแห่งปัญญาที่กำหนดธาตุทั้ง ๔ พระโยคาพจรกุลบุตรผู้ประกอบซึ่งจตุธาตุววัตถานนี้ ย่อมมีจิตอันหยั่งลงสู่สุญญตารมณ์ เห็นว่าร่างกายมีสภาวะสูญเปล่า แล้วก็เพิกเสียได้ซึ่งสัตตสัญญา คือสำคัญว่าสัตว์ เมื่อเพิกสัตตสัญญาเสียได้แล้วก็อาจจะอดกลั้นซึ่งภัยอันพิลึก อันเกิดแต่เนื้อร้ายและผีเสื้อเป็นอาทิ แล้วก็ปราศจากโสมนัสและโสมนัสในอิฏฐารมณ์ จะประกอบด้วยปัญญาเป็นอันมาก อาจจะสำเร็จแก่พระนิพพานเป็นที่สุด แม้ยังมิสำเร็จแก่พระนิพพาน ก็จะมีสุคติเป็นเบื้องหน้า นักปราชญ์ผู้มีปัญญาพึงอุตสาหะเสพซึ่งจตุธาตุววัตถาน อันมีอานุภาพเป็นอันมากดังพรรณนามาฉะนี้ ฯ

วินจิฉัยในจตุธาตุววัตถานยุติแต่เพียงเท่านี้

  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com