พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๒ หน้า ๑๒

  อุปสํหรณํ   อันจำแนกด้วยประการ ๗ ดุจนัยที่สำแดงมาฉะนั้น นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่ารวมเข้าเป็น ๑ จัดเป็นอาการคำรบ ๓ ในวิธีแห่งมรณานุสสิตภาวนา แลอาการเป็นคำรบ ๔ คือ กายพหุสาธารณ์นั้น ให้พระโยคาพจรระลึกว่า  อยํ กาโย   อันว่ารูปกายแห่งสรรพสัตว์เราท่านทั้งหลายนี้ เป็นสาธารณ์ทั่วไปแก่หมู่หนอนทั้ง ๘๐ ตระกูล  ฉวินิสฺสิตาปาณา   หนอนที่อาศัยอยู่ในผิวเนื้อก็ฟอนกัดกินผิวเนื้อ ที่อาศัยอยู่ในหนังก็ฟอนกัดกินหนัง ที่อาศัยอยู่เนื้อล่ำก็ฟอนกัดกินเนื้อล่ำ ที่อยู่ในเอ็นก็กัดกินเอ็น ที่อยู่ในอัฐิก็กัดอัฐิ ที่อยู่ในสมองก็กัดสมอง   ชายนฺติ ขียนฺติ  หนอนทั้งหลายนั้นเกิดในกาย แก่ในกาย ตายในกาย กระทำอุจจาระ ปัสสาวะในกาย กายแห่งเราท่านทั้งปวงนี้เป็นเครื่องประสูติแห่งหมู่หนอน เป็นศาลาไข้ เจ็บเป็นป่าช้าเป็นเว็จกุฏิเป็นร่างกาย อุจจาระปัสสาวะแห่งหมู่หนอนควรจะสังเวชเวทนา กายแห่งเราท่านทั้งหลายนี้บางทีหนอนกำเริบกล้าหนาขึ้น ฟอนกัดฟอนทึ้งเกินประมาณทนทานบ่มิได้ ตายเสียด้วยหนอนกำเริบก็มี ภายในกรัชชกายนี้ใช่จะมีแต่หมู่หนอนเบียดเบียนนั้นหามิได้

  โรคที่เบียดเบียนในการนี้เล่าก็มีมากกว่า   อเนกสตานํ  ถ้าคณนานั้นมากกว่าร้อยจำพวกอีก ไหนเหลือบยุงเป็นต้น จะเบียดเบียนในภายนอกนั้น ร่ายกายที่เป็นตกต้องแห่งอุปัทวะต่าง ๆ   ลกฺขิ อิว  อุปมาดุจป้อมเป้าหมายอันบุคคลตั้งไว้หนทาง ๔ แพร่ง เป็นที่ถูกต้องแห่งหอกใหญ่แลหอกซัดไม้ค้อนก้อนศิลาแลธนูหน้าไม้ปีนไฟทั้งปวง เหตุดังนั้นสมเด็จพระมหากรุณา จึงโปรดประทานพระธรรมเทศนาไว้ว่า   อิธ ภิกฺขเว ภิกฺขฺ ทิวเส นิกฺขนฺเต รตฺติยา ปตีหิ ตาย อิติปฏิสญฺจิกฺขิ   ภิกษุอันมีมรณสติในบวรพุทธศาสนานี้ในเมื่อเพลาอันล่วงไปแล้วแลย่างเข้าราตรีนั้น ก็มาพิจารณาถึงมรณภาพแห่งตนว่า   พหุกา โข เม ปจฺตยา มรณสฺส  เหตุที่จะให้อาตมาถึงแก่มรณะมากมายนักหนา อยู่ ๆ ฉะนี้ถ้ามีอสรพิษมาขบ มีแมลงป่องมาแทง มีตะขาบมากัด มรณะแลทุกขเวทนาก็จะมีแก่อาตมาเป็นอันตรายแก่อาตมา อาตมายืน ๆ อยู่ฉะนี้ฉวยพลาดล้มลงก็ดี จังหันที่อาตมาฉันในเพลาปุเรภัตรวันนี้ ถ้าเพลิงธาตุบ่มิอาจจะเผาให้ย่อยได้ก็ดี แต่เท่านี้มรณะก็จะมีแก่อาตมา จะเป็นอันตารยแก่อาตมา   ปิตฺติ วา เม กุปฺเปยฺย  มิฉะนั้นดีแห่งอาตมานี้กำเริบ เสมหะแห่งอาตมานี้กำเริบ ลมสันถวาตอันให้จุกเสียดเจ็บดังเชือกด้วยมีดนั้นกำเริบขึ้นก็ดี มรณะก็ดีจะมีแก่อาตมา

  ให้พระโยคาพจรผู้จำเริญมรณนุสสติกรรมฐานให้ระลึกถึงความตายโดยกายพหุสาธารณ์โดยนัยที่พรรณนา นาม แลอาการคำรบ ๕ ที่ว่าให้พิจารณาซึ่งความตายโดยอายุทุพพลนั้นคือให้ระลึกเห็นว่าอายุแห่งสรรพสัตว์ทั้งปวงนี้หากำลังบ่มิได้ทุพพลภาพยิ่งนัก   อสฺสาสุปุนิพฺพุธํ  ชีวิตแห่งสัตว์ทั้งปวงนี้เนื่องด้วยอัสสาสะปัสสาสะนั้น มิได้ประพฤติเสมออยู่ก็ยังมิได้ดับสูญก่อน ถ้าอัสสาสะปัสสาสะนั้นมิได้ประพฤติเสมอ คือหายใจออกไปแล้วลมนั้นขาดไปบ่มิได้กลับเข้าไปในกายก็ดี หายใจเข้าไปแล้วลมนั้นอัดอั้นมิได้กลับออกมาภายนอกก็ดี แต่เท่านี้ก็จะถึงซึ่งมรณะภาพความตาย อริยาบถทั้ง ๔ นี้เท่าเมื่อประพฤติเสมออยู่อายุนั้นก็ยังมิได้ดับสูญ ถ้าอิริยาบถนั้นประพฤติไม่เสมอ นั่งนักนอนนักยืนนักเที่ยวนัก ประพฤติอิริยาบถอันใดอันหนึ่งให้หนักนักแล้ว ก็เป็นเหตุที่จะให้อายุอายุสั้นพลันตาย

   เย็นแลร้อนนั้นเล่าถ้ามีอยู่เสมอ อายุก็ยังมิได้ดับสูญก่อน ถ้าเย็นแลร้อนนั้นประพฤติบ่มิได้เสมอเกินประมาณนักแล้ว อายุก็ขาดชีวิตินทรีย์ก็จะดับสูญ   พลสมฺปนฺโนปิ  แม้ว่าถึงบุคคลนั้นจะบริบูรณ์ด้วยกำลังก็ดี ถ้าธาตุอันใดอันหนึ่งกำเริบแล้วก็มีกายกระด้างเป็นโรคต่าง ๆ มีอติสารลมแดงเป็นต้น มีกายอันเหม็นเน่า เศร้าหมองร้อนกระวนกระวายทั่วสรรพางค์กาย บางทีมีที่ต่อกันเคลื่อนคลาดออกจากกัน ถึงซึ่งสิ้นชีวิตเพราธาตุกำเริบนั้นก็มี แลกวฬิงการาหารที่สรรพสัตว์ทั้งปวงบริโภคนี้เล่า ถ้าบริโภคพอควรอยู่แล้วอายุก็ตั้งอยู่ได้โดยปกติ ถ้าบริโภคเกินประมาณเพลิงธาตุสังหารให้ย่อยยับลงมิได้อายุก็ขาด อาหารนั้นถ้าไม่มีบริโภคเล่า ชีวิตินทรีย์นั้นก็ขาดบ่มิได้สืบต่อไปได้อาศัยเหตุฉะนี้ จึงว่าชีวิตินทรีย์เนื่องอยู่ด้วยอาหาร เนื่องไปด้วยอัสสาสะและอิริยาบถเย็นร้อน

  แลมหาภูตรูปทุพพลภาพหนักหมิ่นอยู่นักที่จะถึงมรณภาพ   เอวํ อายุทุพพฺพลโต มรณํ อนุสฺสริตพฺพํ   พระโยคาพจรผู้จำเริญมรณานุสสติกรรมฐานนั้น พึงระลึกถึงความตายโดยอายุทุพพลดุจนัยที่พรรณนามาฉะนี้ แลอาการเป็นคำรบ ๖ ซึ่งว่าให้ระลึกถึงความตายโดยอนิมิตนั้น คือให้ระลึกว่า   สตฺตานํ หิ วีวิตํ กาโล จ เทหนิกฺเขปนํ  คติสัตว์ทั้งหลายอันเกิดมาในโลกนี้ย่อมมีสภาวะกำหนดมิได้นั้น ๕ ประการ   ชีวิตํ  คือชีวิตนั้นก็หากำหนดมิได้ประการ ๑   พยาธิ   คือการป่วยไข้นั้นก็หากำหนดมิได้ประ ๑ กาเล   เพลาอันมรณะนั้นก็หากำหนดมิได้ประการ ๑  เทหนิกฺเขปนํ  ที่อันจะทิ้งไว้ซึ่งกเฬวระนี้ก็หากำหนดมิได้ประการ ๑ คติซึ่งจะไปภพเบื้องหน้านั้นก็หากำหนดมิได้ประการ ๑ เป็น ๕ ประการด้วยกัน   เอตฺตเกเนวชีวิตพฺพํ  อันจะกำหนดกฏหมายว่าข้าจะมีชีวิตอยู่เพียงนั้น ๆ ถ้ายังไม่ถึงเพียงนั้นข้ายังไม่ตายก่อน ต่อถึงเพียงนั้น ๆ ข้าถึงจะตาย จะกำหนดบ่มิได้

   กลฺลกาเลปิ สตฺตา มรนฺติ  สัตว์ทั้งหลายอันบังเกิดในครรภ์มารดานั้น แต่พอตั้งขึ้นเป็นกลละฉิบหายไปก็มีเป็นอัมพุทะฉิบหายไปก็มี บางคาบเป็นเปสิชิ้นเนื้อฉิบหายไปก็มี บางคาบเป็นฆนะเป็นแท่งเข้า แล้วฉิบหายไปก็มี บางคาบเป็นปัญจสาขาแล้วฉิบหายไปก็มี อยู่ได้ ๑, ๒, ๓ เดือนฉิบหายไปก็มี อยู่ได้ ๔, ๕, ๑๐ เดือนแล้วตายไปก็มี สัตว์บางจำพวกก็ตายในกาลเมื่อคลอดจากมาตุคัพโภทร บางจำพวกคลอดจากมาตุคัพโภทรแล้วอยู่ครู่ ๑ พัก ๑ ตายไปก็มี อยู่ได้แต่วัน ๑, ๒, ๓ วันแล้วตายไปก็มี ที่อยู่ได้ ๔, ๕, ๑๐ วันตายไปก็มี อยู่ได้ ๑, ๒, ๓ เดือนแล้วตายไปก็มี ที่อยู่ได้ ๔, ๕, ๑๐ เดือนแล้วตายไปก็มี อยู่ได้ ๑, ๒, ๓ ปีแล้วตายไปก็มี ที่อยู่ได้ ๑๐, ๒๐, ๓๐ ปี แล้วตายไปก็มี อันจะกำหนดชีวิตนี้ก็กำหมดบ่มิได้ แลพยาธิป่วยไข้นั้นก็กำหนดบ่มิได้เหมือนกัน ซึ่งกำหนดว่าเป็นโรคแต่เพียงนั้น ๆ ข้ายังไม่ตายก่อน ต่อโรคหนักหนาลงเพียงนั้น ๆ ข้าจึงจะตายจะกำหนดฉะนี้บ่มิได้

  สัตว์บางจำพวกก็ตายด้วยจักษุโรคโสตโรค บางจำพวกก็ตายด้วยฆานโรค ชิวหาโรคกายโรคศีรษะโรคก็มีประการต่าง ๆ ตายด้วยโรคอันเป็นปิตตสมุฏฐานก็มี ตายด้วยโรคอันเป็นเสมหะสมุฏฐานก็มี วาตสมุฏฐานก็มี ที่จะกำหนดพยาธินี้กำหนดบ่มิได้ เพลาตายนั้นจะกำหนดก็บ่มิได้ สัตว์จำพวกนั้นตายในเวลาเช้า บางจำพวกนั้นตายในเวลาเที่ยงเวลาเย็น บางจำพวกตายในปฐมยาม มัชฌิมยามที่กำหนดเพลามรณะนั้นกำหนดบ่มิได้ แลที่ทอดทิ้งไว้ซึ่งกเฬวระซากอสุภนั้นก็กำหนดบ่มิได้ ซึ่งกำหนดว่าข้าจะตายที่นั้น ๆ ข้าจะตายในบ้านของข้าเรือนของข้าจะกำหนดฉะนี้ กำหนดบ่มิได้สัตว์บางจำพวกเกิดในบ้าน เมื่อจะตายออกไปตายนอกบ้าน บางจำพวกเกิดนอกบ้านเข้าไปตายในบ้าน บางจำพวกอยู่ในบ้านนี้เมืองนี้ ไปตายบ้านโน้นเมืองโน้น อยู่บ้านโน้นเมืองโน้น มาทิ้งกเฬวระไว้ที่บ้านนี้เมืองนี้ ที่อยู่ในน้ำขึ้นมาตายบนบกที่อยู่บนบกลงไปตายในน้ำ ซึ่งจะกำหนดที่ตายนั้นกำหนดบ่มิได้ คติที่จะไปในภพเบื้องหน้านั้นเล่าที่จะกำหนดว่า ข้าตายจากที่นี้แล้วจะไปบังเกิดในที่นั้น ๆ บ้านนั้นตำบลนั้น ก็กำหนดฉะนี้บ่มิได้

   เทวโลกโต จุตา มนุสฺเสสุ นิพฺพตฺตนฺติ   สัตว์บางจำพวกนั้นจุติจากเทวโลก ลงมาเกิดในมนุษย์โลก บางจำพวกนั้นจุติจากมนุษย์โลกขึ้นไปบังเกิดในเทวโลก บางทีก็ไปบังเกิดในรูปภพตลอดอรูปภพ บางทีก็ไปบังเกิดในดิรัจฉานกำเนิด แลเปรตวิสัย แลอสุรกาย แลนรกตามกุศลกรรม แลอกุศลกรรมจะเวียนไปอยู่ในภพทั้ง ๕ มีอุปมาดังโคอันเทียมเข้าไปในแอกยนต์ ธรรมดาว่าโคอันเทียมเข้าในแอกยนต์นั้น ย่อมยกเท้าเดินหันเวียนวงไปโดยรอบแห่งเสาเกียดบ่มิได้ไปพ้นจากรอยดำเนินแห่งตน แลมีอุปมาฉันใด สัตว์ทั้งปวงก็เวียนวนอยู่ใตนคติทั้ง ๕ คือ   นิรยคติ เปตคติ ติรจฺฉานคติ มนุสฺสคติ เทวคติ   มิได้ไปพ้นจากคติทั้ง ๕ มีอุปไมยดังนั้น

  พระโยคาพจรพึงพิจารณาถึงความมรณะโดยอนิมิต มีนัยดังพรรณนามานี้ แลอาการเป็นคำรบ ๗ ที่ว่าให้พระโยคาพจรระลึกถึงความตายโดยอัทธานปริจเฉทนั้น คือให้ระลึกว่า ทนุสฺสานํ ชีวิตสฺส นาม เอตรหิ ปริตฺโต อทฺธา   ชีวิตแห่งมนุษย์ในกาลบัดนี้น้อยนัก ที่อายุยืนทีเดียวนั้นอยู่ได้มากกว่าร้อยปีบ้าง แต่เพียงร้อยปีบ้าง น้อยกว่าร้อยปีบ้าง ถึงร้อยปีนั้นมีโดยน้อย ก็มีแต่ถอยลงมาเหตุดังนั้นสมเด็จพระสรรเพชญ์พุทธเจ้า จึงโปรดประทานพระธรรมเทศนาว่า  อปฺปมายู ํ มนุสฺสานํ หิเลยฺย นํ สุฏปริโส จเรยฺยาทิตฺตสีโสว นตฺลิ มจฺจุสฺส นาคโม   ดูก่อนสงฆ์ทั้งปวง บุคคลผู้เป็นสัปบุรุษนั้น เมื่อรู้แจ้งว่าอายุแห่งมนุษย์นี้น้อย ก็พึงประพฤติดูหมิ่นซึ่งอายุแห่งตนอย่ามัวเมาด้วยอายุ อย่าถือว่าอายุนั้นยืน พึงอุตสาหะในสุจริตธรรมขวนขวายที่จะให้ได้สำเร็จพระนิพพานอันเป็นที่ระงับทุกข์ กระทำการให้เหมือนบุคคลที่มีศีรษะแห่งอาตมา พึงอุตสาหคิดธรรมสังเวชถึงความตาย เกิดมาเป็นสัตว์เป็นบุคคลแล้ว แลพญามัจจุราชจะไม่มาถึงนั้น ไม่มีเลยเป็นอันขาด

   สมเด็จพระบรมโลกนาถโปรดประทานพระธรรมเทศนา มีอรรถาธิบายดังพรรรณนามาฉะนี้แล้ว พระพุทธองค์เจ้าจึงเทศนาอลังกตสูตรสืบต่อไป   ภูตปุพฺพํ ภิกฺขเว อรโก นาม สตฺถา อโหสิ  ดูกรภิกษุทั้งปวงแต่ก่อนโพ้นพระตถาคตเสวยพระชาติเป็นครูชื่อ อรกะ สำแดงธรรมแก่พราหมณ์ผู้หนึ่งชื่อว่าอลังกตพราหมณ์ ในพระธรรมเทศนานั้น มีใจความว่าชีวิตแห่งสัตว์ทั้งปวง บ่มิได้อยู่นาน ดุจหยาดน้ำค้างอันติดอยู่ในปลายหญ้าแลเร็วที่จะเหือดแห้งไปด้วยแสงอาทิตย์ ถ้ามิดังนั้นดุจต่อมน้ำ อันเกิดขึ้นด้วยกำลังแห่งกระแสน้ำกระทบกันแลเร็วที่จะแตกจะทำลายไป ถ้ามิดังนั้นชีวิตแห่งสัตว์ทั้งปวงนี้เร็วที่จะดับสูญดุจรอยขีดน้ำ แลเร็วที่จะอันตรธาน ถ้ามิดังนั้นเปรียบประดุจแม่น้ำไหลลงมาแต่ธารแห่งภูเขา และมีกระแสอันเชี่ยวพัดเอาจอกแหนแลสิ่งสรรพวัตถุทั้งปวงไปเป็นเร็วพลัน

   ถ้ามิดังนั้น ดุจฟองเขฬะอันวุรุษผู้มีกำลังประมาลเข้าแล้ว แลบ้วนลงในที่สุดแห่งน้ำแลอันตรธานสาบสูญไปเป็นอันเร็วพลัน ถ้ามิดังนั้นดุจชิ้นเนื้ออันบุคคลทิ้งลงกระทะเหล็กอันเพลิงไหม้สิ้นวันหนึ่งยังค่ำแลเร็วที่จะเป็นฝุ่นเป็นเถ้าไป ความตายนี้มารออยู่ใกล้ ๆ คอยที่จะสังหารชีวิตสัตว์ ดุจพราหมณ์อันคอยอยู่ที่ลงฆ่าโคบูชายัญ  ชีวิตํ มนุสฺสานํ ปริตฺตํ   ชีวิตแห่งมนุษย์ในกาลทุกวันนี้น้อยนัก มากไปด้วยความทุกข์ความยาก มากไปด้วยความโศกความเศร้า สะอื้นอาลัยทั้งปวง บุคคลผู้เป็นบัญฑิตชาติอย่าได้ประมาทเลย พึงอุตสาหะกระทำการกุศลประพฤติซึ่งศาสนพรหมจรรย์   นตฺถิชาตสฺส อมรณํ   อันเกิดมาแล้วก็มีความตายเป็นที่สุด

   มีพระพุทธฎีกาตรัสเทศนาอลังกตสูตรมีความเปรียบชีวิตสัตว์ ด้วยอุปมา ๗ ประการ ดุจนัยที่พรรณนามาฉะนี้แล้ว   อปรํปิ อาห  สมเด็จพระพุธองค์เจ้าก็มีพระพุทธฎีกาตรัสพระธรรมเทศนาอันอื่นสืบต่อไปเล่าว่า  โยจายํ ภิกฺขเว ภิกฺขุ เอวํ มรณสฺสตึ ภาเวติ อโห วตาหํ รตฺตินฺทิวํ ชีเวยฺยํ ภควโต สาสนํ มนสิกเรยฺยํ พหุ ํ วต เม กตํ อสฺส   ดูก่อนภิกษุทั้งปวง ภิกษุในบวรพุทธซาสนา ที่มีศรัทธาจำเริญมรณานุสสตินั้นองค์ใดแลกระทำมนสิการว่า   อโห วต   ดังเราปรารถนาดังเราวิตก อาตมานี้ถ้ามีชีวิตอยู่สิ้นทั้งกลางวันแลกลางคืน อาตมาก็จะมนสิการตามคำสิ่งสอนแห่งสมเด็จพระผู้มีพระภาค อันเป็นเหตุที่จะนำมาซึ่งปฏิเวธธรรม คืออริยมรรคอริยผล อาตมาจะประพฤติบรรพชิตกิจ อันเป็นปนะโยชน์แก่ตนนั้นให้มากอยู่ในขันธสันดาน ตราบเท่ากำหนดชีวิตอันอาตมาประพฤติเป็นไปในวันหนึ่งคืนหนึ่งนั้น ดูกรภิกษุทั้งปวง ภิกษุรูปใดมีมรณสติระลึกเห็นความตาย มีกำหนดชีวิตวันหนึ่งกับคืนหนึ่งด้วยประการฉะนี้ ตถาคตตรัสว่า ภิกษุรูปนั้นจำเริญมรณานุสสติยังอ่อนอยู่ ยังช้าอยู่ประกอบด้วยความประมาท

   แลภิกษุอันมีสติระลึกเห็นความตายมีกำหนดแต่เช้าจนค่ำนั้นก็ดี ที่ระลึกเห็นความตายมีกำหนดเพียงเพลาฉันจังหันมื้อ ๑ นั้นก็ดี ที่ระลึกถึงความตายมีกำหนดเพียงเพลาฉันหังได้ ๔ , ๕ ปั้นนั้นก็ดี ภิกษุทั้งหลายนี้ตถาคตก็ตรัสว่ายังประกอบอยู่ด้วยความประมาท จำเริญมรณานุสสติเพื่อให้สิ้นอาวะนั้นยังอ่อนยังช้าอยู่มรณสติ นั้นยังมิได้กล้าหาญก่อน ภิกษุรูปใดจำเริญมรณานุสสติระลึกเห็นความตายทุกคำจังหันระลึกเห็นความตาย ทุกขณะลมอัสสาสะ ปัสสาสะ กระทำมนสิการว่าถ้าอาตมายังมีชีวิตอยู่สิ้นเพลากลืนจังหันคำ ๑ นี้ ยังมีชีวิตอยู่สิ้นเพลาอันระบายลมหายใจออกไปที ๑ นี้อาตมาก็จะมนสิการตามคำสั่งสอนแห่งสมเด็จพระบรมศาสดาจารย์เจ้า จะประพฤติบรรพชิตกิจอันเป็นประโยชน์แก่ตน ให้มากอยู่ในขันธสันดานแห่งอาตมา

  ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุอันเห็นความมรณะทุก ๆ คำจังหัน ทุก ๆ อัสสาสะ ปัสสาสะเห็นปานฉะนี้ พระตถาคตสรรเสริญว่ามีมรณสติอันกล้าหาญว่าประกอบด้วย พระอัปปมาทธรรมอันบริบูรณ์ ว่าว่องไว ที่จะได้สำเร็จอาสวขัย ขึ้นชื่อว่าอาการอันเป็นไปแห่งชีวิตนี้น้อยนัก ที่จะวิสสาสะกับชีวิตของอาตมาว่ายั่งยืนไปอยู่ อาตมายังไม่ถึงมรณภาพก่อนจะวิสสาสะไว้ใจบ่ได้ สมเด็จพระมหากรุณาพระพุทธฎีกาตรัสฉะนี้ นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า พระโยคาพจรผู้จำเริญมรณานุสสติภาวนานั้น พึงระลึกโดยอันทธานปริจเฉทตามนัยพระพุทธฎีกา ที่สมเด็จพระมหากรุณาธิคุณเจ้าตรัสพระธรรมเทศนา โดยวิธีพรรณนามาฉะนี้

  แลอาการเป็นคำรบ ๘ ซึ่งว่าให้พระโยคาพจรระลึกถึงความตายโดยขณะปริตตะนั้น คือให้พระโยคาพจรระลึกให้เห็นว่า  ปริตฺโต สตฺตานํ ชีวิตกฺขโณ เอกจิตฺตปฺปวตฺติมตฺ โตเยว   ชีวิตขณะแห่งสัตว์ทั้งปวงนี้น้อยนักประพฤติเป็นไปมาตรว่าขณะจิตอันหนึ่ง ซึ่งมีพระพุทธฎีกาตรัสด้วยนัยเป็นต้นว่าชีวิตแห่งสัตว์แห่งสัตว์ที่ยืนนานมีประมาณได้ร้อยปีนั้น ว่าด้วยสามารถชีวิตินทรีย์อันประพฤติเป็นไปมีด้วยภพละอัน ๆ ว่าโดยสมมติโวหาร ถ้าจะว่าโดยปรมัตถ์นั้น ถ้าว่าถึงภังคขณะแห่งจิตที่ใดก็ได้ชื่อว่ามรณะที่นั้นได้อุปปาทขณะแลฐิติขณะแห่งจิตนั้นได้ชื่อว่ามีชีวิตอยู่ ครั้นย่างเข้าภังคขณะแล้ว ก็ได้ชื่อว่าดับสูญหาชีวิตบ่มิได้ แต่ทว่ามรณะในภังคขณะนั้น พ้นวิสัยที่สัตว์ทั้งปวงจะหยั่งรู้หยั่งเห็น เหตุว่าขณะแห่งจิตอันประพฤติเป็นไปในสันดานแห่งเราท่านทั้งปวงนี้เร็วนัก ที่จะเอาสิ่งใดมาเปรียบเทียบนั้นอุปมาได้เป็นอันยาก

  ดุจพระพุทธฎีกาโปรดไว้  นาหํ ภิกฺขเว อญฺญํ เอกธมฺมํปิ ปสฺสามิ เอวํ ลหุปริวตฺตํ ยถยิทํ ภิกฺขเว จิตฺตํ  แปลว่าดูกรสงฆ์ทั้งปวง  ลหุปริวตฺตจิตฺติ   จิตนี้มีสภาวะพระพฤติเป็นอันเร็วยิ่งนัก ธรรมชาติอื่น ๆ ซึ่งจะว่องไวรวดเร็วเหมือนจิตนี้ พระตถาคตพิจารณาไม่เห็นสักสิ่งหนึ่งเลย   เสยฺยถาปิ ภิกฺขเว จตฺตาโร ทฬฺธมฺมา ธนุคฺคหา   ดูกรสงฆ์ทั้งหลาย นายขมังธนูทั้ง ๔ อันฝึกสอนเป็นอันดีในศิลปศาสตร์ธนูแม่นยำชำนิชำนาญนั้น ออกยืนอยู่ในทิศทั้ง ๔ ด้วยยิงลูกธนูไปพร้อมกัน ยิงไปคนละทิศ ๆ ลูกศรอันแล่นไปในทิศทั้ง ๔ ด้วยกำลังอันเร็วฉับพลันเห็นปานดังนั้น

   แม้บุรุษที่มีกำลังอันรวดเร็วยิ่งกว่าลมพัดเล่นไปในทิศข้างตะวันออก ฉวยเอาลูกศรในทิศข้างตะวันออกนั้นได้แล้วกลับแล่นมาข้างทิศตะวันตกฉวยได้ลูกศรข้างตะวันตกนี้ เล่าแล้วก็แล่นไปข้างฝ่ายเหนือฝ่ายใต้ ฉวยเอาลูกศรได้ในอากาศทั้ง ๔ ทิศลูกศรทั้ง ๔ ทิศนั้นบ่มิได้ตกถึงพื้น ปถพี เอวรูโป ปุริสเวโค   กำลังบุรุษอันว่องไวรวดเร็วยิ่งกว่าลมเห็นปานดังนี้ จะเอามาเปรียบความเร็วแห่งจิตนี้ก็มิอาจจะได้   จนฺทิมสุริยานํ ชโว  ถึงเร็วแห่งพระจันทร์มณฑลเร็วแห่งพระสุริยมณฑลเร็วแห่งเทวดาที่แล่นหนีหน้าจันทรมณฑลนั้นได้ก็ดี จะเอามาเปรียบด้วยรวดเร็วแห่งจิตนี้ ก็มิอาจเปรียบได้   อุปมาปิ น สุกรา  ดูกรสงฆ์ทั้งปวง ขึ้นชื่อว่าเร็วแห่งจิตนี้ที่จะเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง อุปมานั้นอุปมาบ่มิได้ด้วยง่าย มีพระพุทธฎีกาตรัสแก่สงฆ์ทั้งปวงด้วย

  ประการฉะนี้ นักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า จิตอันประพฤติเป็นไปในสันดานเกิดแล้วดับ ๆ แล้วเกิด เป็นขณะ ๆ กันนั้น จะได้ว่างได้เว้นจะได้ห่างกันหาบ่มิได้ เนื่องกันบ่มิได้ขาด ดุจกระแสน้ำอันไหลหลั่งถั่งไปบ่มิได้ขาดสายขึ้นสู่วิถีแล้วลงภวังค์เล่าลงสู่ภวังค์แล้วขึ้นสู่วิถีแล้ว จิตดวงนี้ดับดวงนั้นเกิดเป็นลำดับเวียนกันไป ดุจกงรถอันหันเวียนไปนั้นนักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า ชีวิตแห่งสัตว์นี้เมื่อว่าโดยปรมัตถ์นั้น มีกำหนดในขณะจิตอันหนึ่ง   ตสฺมึ นิรุตฺตมตฺเต  แต่พอขณะจิตนั้นดับลงอันหนึ่ง สัตว์นั้นก็ได้ชื่อว่าตายครั้งหนึ่ง ดับ ๒ , ๓ ขณะก็ได้ชื่อว่าตาย ๒ , ๓ ครั้งดับร้อยขณะพันขณะจิตก็ได้ชื่อว่าตายร้อยครั้งพันครั้ง ดับนับขณะไม่ถ้วนได้ชื่อว่าตายทุก ๆ ขณะจิตที่ดับ

  ว่าฉะนี้สมกันกับอรรถปัญหา ที่สมเด็จพระพุทธองค์ตรัสพระธรรมเทศนาในพระอภิธรรมว่า   อตีเต จิตฺตกฺขเณ ชีวิตฺถ น ชีวติ น ชีวิสฺสติ อนาคเต จิตฺตกฺขเณ น ชีวิตฺถ น ชีวิติ น ชีวิสฺสติ   ว่าสัตว์อันมีชีวิตในขณะจิตอันเป็นอดีตนั้นบ่มิได้มีชีวิตในปัจจุบัน บ่มิได้มีชีวิตในอนาคต สัตว์อันมีชีวิตในขณะจิตเป็นอนาคตนั้นก็บ่มิได้มีชีวิตในอดีตบ่มิได้มีชีวิตในปัจจุบัน สัตว์มีชีวิตในขณะจิตเป็นปัจจุบัน ก็บ่มิได้มีชีวิตในอดีต บ่มิได้มีชีวิตในอนาคต อรรถปริศนาอันนี้ สมเด็จพระสัพพัญญูเจ้าตรัสเทศนาไว้ว่าจะให้เห็นอธิบายว่า ถ้าจะว่าโดยปรมัตถ์สัตว์อันมีชีวิตอยู่ในกาลทั้ง ๓   คืออดีต   อนาคต   ปัจจุบัน   นั้นมีขณะได้ละ ๓ ๆ   คืออุปปาทขณะประการ ๑   ฐิติขณะประการ ๑   ภังคขณะประการ ๑   มีขณะ ๓ ฉะนี้เหมือนกันสิ้นทุกขณะจิตจะได้แปลกกันหาบ่มิได้ แลขณะจิตแต่ละขณะ ๆ นั้น มีนามแลรูปเป็นสหชาติ เกิดพร้อมเป็นแผนก ๆ นี้ ดุจบาทพระคาถาอันสมเด็จพระพุทธองค์เจ้าตรัสพระธรรมเทศนาว่า

  ชีวิตํ อตฺตภาโว จ สุขทุกฺขา จ เกวลา เอกจิตฺตสมายตฺตา ลหุโส วตฺตเต ขโณ เย นิรุทฺธา มรนฺตสฺส ติฏฺมานสฺส วาอิธ สพฺเพปิ สทิสา ขนฺธา คตา อุปปฏิสนฺธิยา   อธิบายใยบทพระคาถาว่า   สหชาตธรรม  คือชีวิตอัตตภาพแลสุขแลทุกข์ แลสหชาตธรรมอันเศษจากสุขแลทุกข์แลชีวิตินทรีย์นั้น ย่อมสัมปยุตต์ด้วยจิตแต่ละอัน ๆ อันมีเหมือนกันทุก ๆ ขณะจิต แลสหชาตธรรมทั้งหลายนั้น จะได้เจือจานกันนั้นหาบ่มิได้ เกิดพร้อมกันด้วยขณะจิตอันใด ก็เป็นแผนกแยกย้ายอยู่ตามขณะจิตอันนั้น แลขณะอันเกิดแห่งสหชาตธรรม คือสุขแลทุกข์แลชีวิตินทรีย์เป็นต้นนั้น ก็รวดเร็วว่องไวพร้อมกันกับขณะจิต

  เย นิรุทฺธา มรนฺตสฺส ติฏมานสฺส วา อิธ   แลขันธ์ทั้งหลายแห่งบุคคลอันตราย แลถึงซึ่งดับพร้อมด้วยจุติจิตกับขันธ์แห่งบุคคลอันบ่มิได้ตาย แลถึงซึ่งดับในภวังคขณะนอกจากจุตินั้นจะได้แปลกกันหาบ่มิได้  สพฺเพปิ สทิสา   เหมือนกันสิ้นทั้งปวง แต่ทว่าขันธ์ดับพร้อมด้วยจุติจิตนั้น มีปฏิสนธิเกิดตามลำดับคือปฏิสนธิจิตซึ่งถือเอาอารมณ์แห่งชวนะในมรณาสันนวิถีมีกรรม แลกรรมนิมิตเป็นอารมณ์นั้นบังเกิดในลำดับแห่งจุติจิต ก็ฝ่ายว่าขันธ์ซึ่งดับในภวังคขณะทั้งปวงนอกจากจุติจิตนั้น จะได้มีปฏิสนธิจิตนั้นเป็นลำดับหาบ่มิได้มีจิตอื่นนอกจากปฏิสนธิจิตเกิดเป็นลำดับ ตามสมควรแก่อารมณ์ซึ่งประพฤติเป็นไปในสันดานนักปราชญ์พึงสันนิษฐานว่า ในมรณาสันนวิถีที่จะใกล้ถึงแก่มรณะนั้นเมื่อยังอีก ๑๗ ขณะจิต

  แลจะถึงซึ่งจุติจิตแล้วแต่บรรดาขณะจิต ๑๗ ขณะเบื้องหลังแต่จุติจิตนั้น จะได้มีกัมมัชชรูปบังเกิดด้วยหาบ่มิได้แลกัมมัชชรูปซึ่งบังเกิดแต่ก่อนนั้น ก็ไปดับลงพร้อมกันกับจุติจิต ครั้นกัมมัชชรูปดับแล้ว ลำดับนั้นจิตตัชชรูปแลอาหาร รัชชรูปนั้นก็ดับไปตามกัน ยังอยู่แต่อุตุชรูปประพฤติเป็นไปในซากกเฬวระนั้น ตราบเท่ากว่าจะแหลกละเอียดด้วยอันตรธานสาบสูญไป อย่างนี้นี่เป็นธรรมแห่งขันธ์ดับพร้อมด้วยจุติจิต ฝ่ายว่าขันธ์ซึ่งดับในภวังคขณะทั้งปวง นอกจากจุติจิตนั้นรูปกลาปยังบังเกิดเนือง ๆ อยู่ยังบ่มิได้ขาด   ปทีโปวิย  ดุจเปลวประทีปแลกระแสน้ำไหลอันบ่มิได้ขาดจากกัน รูปที่บังเกิดขึ้นก่อน ๆ นั้น มีอายุถ้วน ๑๗ ขณะจิตแล้วก็ดับไป ๆ

  ที่มีอายุยังไม่กำหนดนั้น ก็ยังประพฤติเป็นไปในสันดานบังเกิดนั้นรอง ๆ กันไปบ่มิได้หยุดหย่อน ที่เกิด ๆ ขึ้นที่ดับ ๆ ไป รูปกลาปทั้งปวงบ่มิได้ขาดจากสันดานนักปราชญ์พึงสันนิษฐานแม้ว่ารูปกลาปบังเกิดติดเนื่องอยู่ก็ดี เมื่อขณะจิตดับลงนั้น จักได้ชื่อว่าถึงมรณะ   เอวํ ขณปริตฺตโต มรณํ อนุสฺสริตพํพํ  พระโยคาพจรผู้จำเริญมรณานุสสติภาวนานั้น พึงระลึกถึงความตายโดยขณะปริตตะ โดยนัยอันพระพุทธองค์ตรัสเทศนาดังพรรณนามาฉะนี้   อิติมิเมสํ  ถ้าพระโยคาพจรเจ้าระลึกได้แต่ในอันใดอันหนึ่ง แลกระทำมนสิการเนือง ๆ อยู่แล้วจิตอันมีพระกรรมฐานเป็นอารมณ์นั้น ก็ถึงซึ่งภาวนาเสวนะ จะกล้าหาญในการภาวนา สติที่มีมรณะเป็นอารมณ์นั้นก็จะตั้งอยู่เป็นอันดี บ่มิได้ว่างได้เว้น จะข่มซึ่งนิวรณธรรมทั้งปวงเสียได้ องค์ฌานก็จะบังเกิดปรากฏแต่ทว่าไม่ถึงอัปปนา จะได้อยู่แต่เพียงอุปจาระ

  เหตุว่ามรณะซึ่งอารมณ์นั้นเป็นสภาวธรรม เป็นวัตถุที่จะให้บังเกิดสังเวชเมื่อถือเอามรณะเป็นอารมณ์แลระลึกเนือง ๆ มักนำมาซึ่งความสะดุ้งจิตในเบื้องหน้า ๆ เหตุดังนั้นภาวนาจิตอันประกอบด้วยมรณสตินั้น จึงมิอาจถึงอัปปนาได้ อยู่แต่เพียงอุปจาระ จึงมีคำปุจฉาสอดเข้ามาว่า โลกุตตรฌาน แลจตุตถารูปฌานก็มีอารมณ์เป็นสภาวธรรม ดังฤๅจึงตลอดขึ้นไปถึงอัปปนาเล่า มีคำรบว่า จริงอยู่ แลทุติยารูปฌานขึ้นเป็นอารมณ์เป็นสภาวธรรม จริงอยู่ซึ่งว่าโลกกุตตาฌานตลอดขึ้นไปถึงอัปปนานั้นด้วยภาวนาพิเศษ คือจำเริญวิสุทธิภาวนาขึ้นไปโดยลำดับ ๆ แม้อารมณ์เป็นสภาวธรรมก็ดีอานุภาพที่จำเริญวิสุทธิภาวนาเป็นลำดับ ๆ ขึ้นไปนั้นให้ผล ก็อาจจะตลอดขึ้นไปได้ถึงอัปปนาฌาน ซึ่งทุติยารูปฌานแลจตุตถารูปฌาน มีอารมณ์เป็นสภาวธรรมตลอดขึ้นไปได้ถึงอัปปนานั้น ด้วยสามารถเป็นอารัมมณมติกกมะภาวนา คือทุติยารูปนั้นล่วงเสีย ซึ่งอารมณ์แห่งปฐมารูปจตุตถารูปนั้นล่วงเสียซึ่งอารมณ์ตติยารูป

  เหตุฉะนี้แม้อารมณ์เป็นสภาวธรรมก็ดี ก็อาจจะถึงอัปปนาได้ด้วยอารัมมณสมติกกะภาวนาในมรณานุสสติ หาวิสุทธิภาวนา แลอารัมมณสติกกมะภาวนาบ่มิได้ เหตุฉะนี้พระโยคาพจรผู้จำเริญมรณานุสสตินั้น จึงได้อยู่แต่อุปจารฌานแลอุปจารฌานที่พระโยคาพจรเจ้าได้ ในที่จำเริญมารณานุสสตินั้น ก็ถึงซึ่งร้องเรียกว่า มรณานุสสติอุปจารฌาน ด้วยสามารถที่บังเกิดด้วย  มรณสติ อิมํ จ ปน มรณรสติมนุยุตฺโต ภิกฺขุ   บุคคลผู้เห็นภัยในวัฏฏสงสารเมื่อเพียรพยายามจำเริญมรณานุสสติภาวนานี้ ก็จะละเสียซึ่งความประมาท จะได้ซึ่งสัพพภเวสุอนภิรตสัญญา คือ จังบังเกิดความกระสันเป็นทุกข์ปราศจากที่จะอยู่ในภพทั้งปวง

    ชีวิตนิกนฺตึ ชหติ  จะละเสียได้ซึ่งความยินดีในชีวิต บ่มิได้รักชีวิต จะติฉินนินทาซึ่งการเป็นบาป จะมากไปด้วยสัลลเลขสันโดษคือมักน้อย ไม่สั่งสมซึ่งของบริโภค  ปริกฺขาเรสุ วิคตมจฺเฉโร   จะมีมลทินคือตระหนี่อันปราศจากสันดาน บ่มิได้รักใคร่ในเครืองบริขารทั้งปวง ก็จะถึงซึ่งคุ้นเคยในอนิจจสัญญา จะเห็นอนิจจังในรูปธรรม แล้วก็จะได้ทุกขสัญญา อนัตตสัญญาอันปรากฏด้วยสามารถระลึกตามอนิจจสัญญาเห็นอนิจจังแล้ว ก็จะเป็นคุณที่จะให้เห็นทุกขัง   เห็นอนัตตา   เมื่อเห็นพระไตรลักษณญานปรากฏแจ้งในสันดานแล้ว ถึงเมื่อจะตายก็มิได้กลัวตายจะได้สติอารมณ์ บ่มิได้ลุ่มหลงฟั่นเฟือนสติ แลบุคคลที่มิได้จำเริญมรณานุสสตินั้น

  ครั้นมาถึงมรณสมัยกาลเมื่อจะใกล้ตายแล้วก็ย่อมบังเกิดความสดุ้งตกใจกลัวความตายนั้นเป็นกำลัง ดุจบุคคลอันพาลมฤคราชร้ายครอบงำไว้จะกินเป็นภักษาหาร ถ้ามิฉะนั้นดุจบุคคลที่อยู่ในเงื้อมมือแห่งโจร แลเงื้อมมือแห่งนานเพชฌฆาต มีความสะดุ้งตกใจทั้งนี้อาศัยด้วยมิได้จำเริญมรณานุสสติ อันภาวะจำเริญมรณานุสสตินี้เป็นปัจจัยที่จะให้สำเร็จแก่พระนิพพาน ถ้ายังมิได้สำเร็จพระนิพพานในชาตินี้ เมื่อดับสูญทำลายขันธ์ขาดชีวิตินทรีย์ แล้วก็จะมีสุคติภพเบื้องหน้าเหตุดังนั้น พระโยคาพจรกุลบุตรผู้มีปรีชาเป็นอันดีอย่าประมาท พึงอุตสาหะจำเริญมรณานุสสติภาวนา อันประกอบด้วยคุณานิสงส์เป็นอันมาก ดุจพรรณามาฉะนี้สิ้นกาลทุกเมื่อเถิด ฯ

จบวินิจฉัยในมรณานุสสติโดยวิตถารยุติแต่เท่านี้

ต่อ  
  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::       :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com