พระวิสุทธิมรรค


 หน้าแรก
 สารบาญ เล่ม ๑
 สารบาญ เล่ม ๒
 สารบาญ เล่ม ๓

อารัมภกถา-พุทธโฆสุปัตติ
วิจารณ์
ศีลนิเทศ
ธุดงคนิเทศ
สมาธินิเทศ
กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปปมัญญาพรหมวิหาร ๔
อรูปกัมมัฏฐาน ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา
จตุธาตุววัตถาน



แผนที่วิสุทธิมรรค


 พระไตรปิฎก
 ฉบับประชาชน
 ฉบับปฏิบัติ
 ลานพุทธศาสนา
 เสียงธรรม
 พจนานุกรมฉบับประมวลศัพท์
 ไทย-อังกฤษ
 อังกฤษ-ไทย
 ฉบับประมวลธรรม


  แวะเซ็นติชมหน่อยนะคะ



 
   เล่ม ๑ หน้า ๑๙

   แต่นี้จะสังวรรณนาในปิณฑปาติกังคธุดงค์สืบต่อไปมีเนื้อความว่า

   พระภิกษุละสมาทานปิณฑปาติกังคธุดงค์นั้น ย่อมสมาทานด้วยพระบาลีทั้งสองว่า “อติเรกลาภํ ปฏิกฺขิปามิ” ซึ่งแปลว่าข้าพระองค์จะห้ามเสียซึ่งอดิเรกลาภ แลสมาทานว่า “ปิณฺฑปาติกงฺคํ สมาทิยามิ” ซึ่งแปลว่าข้าพระองค์จะสมาทาน ถือเอาซึ่งปิณฑปาติกังคธุดงค์ สมาทานด้วยพระบาลีทั้งสองนี้ แต่อันใดอันหนึ่ง ก็ได้ชื่อว่าสมาทานแล้ว

   อนึ่ง พระภิกษุที่บิณฑบาตเป็นปกตินั้น อย่าพึงยินดีด้วยภัตรทั้ง ๑๔ ประการ

   คือสังฆภัตร ได้แก่ภัตรที่ทายกพึงถวายแก่พระสงฆ์ทั้งสิ้น ๑

   คืออุทเทสภัตร ได้แก่ภัตรที่ทายกเฉพาะพระภิกษุสองสามรูปแล้วจะพึงถวาย ๑

   คือนิมัตนภัตร ได้แก่ภัตรอันทายกนิมนต์พระภิกษุทั้งปวงก็ดีพระภิกษุสองสามรูปก็ดี เพื่อจะบริโภคในวันพรุ่งนี้แล้วแลพึงถวาย ๑

   คือสลากภัตร ได้แก่ภัตรอันบุคคลเขียนชื่อแห่งทายกทั้งหลายแล้ว แลพึงให้ด้วยสามารถแห่งสลากทั้งหลาย ที่พระภิิกษุถือเอาแล้ว ๑

   คือปักขิกภัตร ได้แก่ภัตรอันทายกพึงให้ในวันหนึ่งในปักอันหนึ่ง ๑

   คืออุโปสถิกภัตร.....อันทายกพึงให้ในวันอุโบสถ ๑

   คือปาฏิปทิกภัตร.....อันทายกพึงให้ในวันค่ำหนึ่ง ๑

   คืออาคันตุกภัตร......อันทายกพึงให้แก่พระภิกษุทั้งหลายมีอาคันตุกภิกษุเป็นต้น ๑

   คือคมิกภัตร.....อันทายกพึงให้แก่พระภิกษุอันจะไป ๑

   คือคิลานภัตร....อันทายกพึงให้แก่ภิกษุไข้ ๑

   คือคิลานุปัฏฐากภัตร......อันทายกพึงให้แก่ พระภิกษุ อันอุปัฏฐากซึ่งภิกษุไข้ ๑

   คือวิหารภัตร.....อันทายกเฉพาะซึ่งวิหารแล้วแลพึงให้ ๑

   คือธุรภัทร.........อันทายกตั้งไว้ในเรือนอันใกล้แล้วแลพึงถวาย ๑

   คือวารภัตร........อันทายกทั้งหลาย มีทายกอยู่ในบ้านเป็นอาทิ พึงถวายโดยวาระ ๑

   รวมเป็นภัตร ๑๕ ประการด้วยกัน

   ห้ามมิให้พระภิกษุมีบิณฑบาตเป็นปกติยินดีด้วยภัตรทั้ง ๑๔ อย่าง ดังพรรณนามานี้

   อนึ่ง ถ้าแลว่าทายกผู้จะถวายภิกขาหาร ไม่กล่าวโดยนัยมีคำว่า “สงฺฆภตฺตํ คนหถ” พระผู้เป็นเจ้าจงถือเอาสังฆภัตรเป็นอาทิ กล่าวถ้อยคำว่า “อมฺหากํ เคเห สงฺโฆ” สงฆ์จะถือเอาภิกขาหารในเรือนแห่งข้าพเจ้า พระผู้เป็นเจ้าจงถือซึ่งภิกขจะ ทายกกล่าวดังนี้แล้วก็ถวายซึ่งภัตรทั้งหลายพระภิกษุมีบิณฑบาตเป็นธุดงควัตร จะยินดีภัตรทั้งปวงนั้นก็ควร เพราะเหตุว่าทายกกล่าวถ้อยคำอันเป็นปริยายในภิกขะ

   อนึ่งสลากอันปราศจากอามิส อันบังเกิดแต่สำนักสงฆ์ แลภัตรอันทายกทั้งหลายหุงในวิหาร เพื่อประโยชน์แก่สงฆ์นั้น ก็ควรแท้จริง เพราะเหตุว่าภัตรนั้น ชื่อว่าภิกขะอันทายกนำำไปแล้วด้วยเอื้อเฟื้อ

   วิธานแห่งปิณฑปาติกธุดงค์ บัณฑิตพึงรู้ดังกล่าวมาแล้ว

   อนึ่ง จะว่าโดยประเภทแห่งพระภิกษุที่มีบิณฑบาต เป็นปกตินั้นมีประเภท ๓ ประการ คืออุกฤษฏ์ แลมัชฌิมะ แลมุทุกะ

   ปิณฑปาติกภิกษุอันเป็นอุกฤษฏ์นั้น ย่อมไม่ถือเอาซึ่งภิกขะอันทายกนำมาแต่เบื้องหน้าแลนำมาแต่เบื้องหลัง

   อนึ่งอุกฤษฏ์ภิกษุนั้น ยืนอยู่ในที่เฉพาะหน้าประตูเรือน เมื่อชนทั้งหลายมารับเอาบาตรแล้วก็ให้บาตร

   อนึ่งอุกฤษฏ์ภิกษุนั้น ย่อมถือเอาซึ่งภิกขะอันทายกนำบาตรมา

   อนึ่งอุกฤษฏ์ภิกษุนั้น ย่อมถือเอาซึ่งภิกขะอันทายกนำบาตรมาจากเรือนแล้วแลให้ ในประเทศอันเป็นที่กลับมาจากโคจรคาม เพื่อประโยชน์แก่บริโภค

   อนึ่งทายกทั้งหลายกล่าวว่า พระผู้เป็นเจ้าจงอย่าเที่ยวไปเพื่อบิณฑบาตเลย ข้าพเจ้าทั้งหลายจะนำภิกขะมาถวายในวิหาร พระภิกษุนั้นรับคำนั่งอยู่แล้ว ในวันนั้นจะถือเอาภิกขะไม่ได้

   ปิณฑปาติกภิกษุเป็นมัชฌิมะ รับคำทายกทั้งหลายกล่าวอย่างนั้นนั่งอยู่แล้ว ในวันนั้นถือเอาภิกขะได้

   อนึ่งมัชฌิมภิกษุไม่รับภิกขะเพื่อประโยชน์จะบริโภคในวันพรุ่งนี้

   มุทุกภิกษุรับภิกขะในวันพรุ่งนี้ก็ได้ จะรับภิกขะในวันเป็นคำรบ ๓ ก็ได้

   “เต อุโคปิ เสริิวิหารสุขํ น ลภนฺติ” มัชฌิมภิกษุ แลทุมุกภิกษุทั้งสองนั้น ไม่ได้สุขที่จะอยู่ตามอำเภอใจ คือประพฤติเนื่องด้วยบุคคลผู้อื่น

   “อุกฏเว ลภติ” อุกฤษฏ์ภิกษุจำพวกเดียวได้ความสุข คือจะอยู่มิได้เนื่องด้วยบุคคลผู้อื่น

   “กิร” ดังได้สดับมา พระธรรมกถึกเถระเจ้าแสดงธรรมเทศนาอันประกอบด้วยอริยวังสสูตร ในบ้านอันหนึ่ง

   พระอุกฤษฏ์ภิกษุจึงกล่าวแก่พระมัชฌิมภิกษุ และพระมุทุกภิกษุทั้งสอง “อาวุโส” ดูกรท่านทั้งหลายผู้มีอายุ เรามาพากันไปเพื่อจะฟังพระธรรมเทศนา

   ในพระมัชฌิมภิกษุและพระมุทุกภิกษุทั้งสองนั้น พระมัชฌิมภิกษุรูปหนึ่งตอบว่า “ภนฺเต” ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพระองค์นี้ มนุษย์ผู้หนึ่งให้นั่งอยู่

   พระมุทุกภิกษุกล่าวคำตอบว่า ข้าพระองค์นี้รับภิกษาแต่มนุษย์ผู้หนึ่งเพื่อว่าจะบริโภคในวันพรุ่งนี้

   พระภิกษุทั้งสองรูปนั้น เสื่อมจากธรรมสวนะ ไม่ได้ไปฟังธรรมพระอุกฤษฏ์ภิกษุนั้น เพลาเช้าก็ไปเที่ยวเพื่อบิณฑบาต แล้วก็ไปฟังธรรม, เทศนา ได้เสวยซึ่งธรรมรส คือรสแห่งปราโมทย์เป็นอาทิ อันประกอบด้วยธรรม

   อนึ่ง ธุดงค์แห่งพระภิกษุทั้ง ๓ จำพวกนี้ ย่อมทำลายในขณะเมื่อตนยินดีในอติเรกลาภ มีสังฆภัตรเป็นอาทิ

   “อยเมตฺถ เภโท” การทำลายในปิณฑปาติกธุดงค์ บัณฑิตพึงรู้ดังกล่าวมานี้

   อนึ่ง อานิสงส์ในปิณฑปาติกธุดงค์นี้ บัณฑิตพึงรู้โดยนัยแห่งคำอันเราจะกล่าวดังนี้

   พระภิกษุมีปิณฑปาติกธุดงค์เป็นปกตินั้น ประกอบด้วยอานิสงส์ คือ สภาวะปฏิบัติสมควรแก่นิสัย เพราะเหตุพระบาลีองค์สมเด็จพระมหากรุณาตรัสเทศนาไว้ว่า “ปิณฺฑิยาโลปโภชนํ นิสฺสาย ปพฺพชฺชา” เป็นอาทิดังนี้

   แลจะมีอานิสงส์ คือจะตั้งอยู่ในอริยวงศ์เป็นคำรบ ๒

   แลจะมีอานิสงส์ คือมิได้ประพฤติเนื่องด้วยบุคคลผู้อื่น

   แลจะมีอานิสงส์ คือมีปัจจัยน้อย และมีปัจจัยด้วยง่าย ปัจจัยทั้งหลายนั้นก็หาโทษมิได้ มีปัจจัยอันพระผู้ทรงพระภาคสรรเสริญดังนี้

   แลจะย่ำยีเสียซึ่งความเกียจคร้าน คือจะถึงซึ่งความเพียร คือจะเที่ยวไปตามลำดับเรือน แลจะเลี้ยงชีวิตบริสุทธิ์

   แลจะยังเสขิยปฏิบัติให้บริบูรณ์ คือสภาวะจะได้เดินด้วยกายอันปกปิดดี มีระหว่างไม่มี แลไม่เลี้ยงบุคคลผู้อื่น และจะกระทำอนุเคราะห์แก่บุคคลผู้อื่น

   แลจะละเสียซึ่งมานะ แลจะห้ามเสียซึ่งความปรารถนาอยากในรส

   แลจะไม่ต้องอาบัติด้วยคณโภชนสิกขาบท แลปรัมปรโภชนสิกขาบท แลจาริตตสิกขาบททั้งหลาย เพราะเหตุไม่รับนิมนต์ แลประพฤติเป็นไปตามแห่งคุณทั้งหลาย มีอัปปิจฉาคุณ คือสภาวะมีปรารถนาน้อยเป็นอาทิ

   แลจะยังสัมมาปฏิบัติให้เจริญ อนุเคราะห์แก่ชนอันมีในภายหลัง

   พระพุทธโฆษาจารย์เจ้า พรรรณนาอานิสงส์พระภิกษุที่มีบิณฑบาตเป็นปกติดังนี้แล้ว จึงนิพนธ์พระคาถาสรรเสริญในอวสานที่สุดไว้ “ปิณฺฑิยาโลปสนฺตฏโ อปรายตฺตชีวิโก” แปลเนื้อความในพระคาถาว่า พระภิกษุมีบิณฑบาตเป็นปกติ ย่อมสันโดษยินดีในอันกลืนกินซึ่งอาหารอันประมวล แลเลี้ยงชีวิตไม่เนื่องด้วยผู้อื่น มีโลภในอาหารอันละเสียแล้ว อาจไปไม่ให้ขัดข้องในทิศทั้งสี่ แลบรรเทาความเกียจคร้าน “อาชีวสฺส วิสุชฺฌติ” อาชีวปาริสุทธิศีลของพระโยคาวจรภิกษุนี้ก็บริสุทธิ์ เหตุใดเหตุดังนั้น พระภิกษุในพระพุทธศาสนานี้ มีปัญญาอันงามก็อย่าพึงดูหมิ่นภิกขาจารการที่จะไปเที่ยวเพื่อภิกขา “เทวาปิหยนฺติตตาทิโน” เทพยดาแลมนุษย์ทั้งหลายย่อมปรารถนาจะเห็นแลจะไหว้เป็นอาิทิ ซึ่งพระภิกษุมีบิณฑบาตเป็นปกติอันเลี้ยงซึ่งตน ไม่เลี้ยงซึ่งบุคคลอื่น ปราศจากวิการเห็นปานดังนั้นเหมือนภิกษุนี้

   อนึ่งพระโยคาวจรภิกษุ จะได้อาศัยแก่ลาภแลยศแลคำสรรเสริญแห่งสัตว์โลกหามิได้

   สังวรรณนามาในสมาทาน แลวิธานแลประเภท แลทำลาย แลอานิสงส์ในปิณฑปาติกังคธุดงค์ ก็ยุติลงแต่เพียงนี้

   แต่นี้จะได้สังวรรณนาในสปทานจาริกธุดงค์ต่อไป

   มีเนื้อความว่า พระภิกษุจะสมาทานสปทานจาริกธุดงค์นั้น พึงสมาทานด้วยพระบาลีทั้งสอง

   คือสมาทานด้วยพระบาลี “โลลุปฺปจารํ ปฏิกฺขิปามิ” แปลว่าข้าพระองค์จะห้ามเสียซึ่งอันเป็นไปแห่งโลเล

   แลพึงสมาทานด้วยพระบาลีว่า “สปาทานจาริกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่า ข้าพระองค์จะถือเอาด้วยดีซึ่งอันประพฤติเป็นไปด้วยมิได้ขาดอย่างนี้เป็นอันสมาทานเหมือนกัน

   อนึ่ง พระภิกษุที่มีสมาทานจาริกเป็นปกตินั้น “คามทฺวาเร ตฺวา” ยืนอยู่้แทนประตูบ้านแล้ว พึงกำหนดที่จะหาอันตรายมิได้ “ยสฺลา รจฺฉาย วา คาเม วา” อันตรายจะมีในตรอกอันใด แลจะมีในบ้านอันใด ก็พึงละเสียซึ่งตรอกอันนั้น แลบ้านอันนั้น พึงเที่ยวไปในตรอกอันอื่นแลบ้านอันอื่น

   เมื่อไม่ได้วัตถุอันหนึ่งในประตูบ้านแลตรอกแลบ้าน กระทำสำคัญว่า ไม่มีบ้านแล้ว ก็พึงไปในบ้านอื่น

   เมื่อได้วัตถุในบ้านใด จะละเสียซึ่งบ้านนั้นแล้วไปก็ไม่ควร

   อนึ่ง พระภิกษุที่มีสปทานจาริกเป็นปกตินี้ พึงเข้าไปสู่โคจรคามในเพลาเช้าโดยพิเศษ เมื่อประพฤติดังนี้แล้ว ก็สามารถอาจละเสียซึ่งอันมิได้สบายแล้วแลจะไปในที่อันอื่น

   อนึ่ง ถ้าว่ามนุษย์ทั้งหลาย ทำบุญทำทานในวิหารของพระภิกษุสมาทานจาริกนี้ก็ดี หรือมาพบในท่ามกลางมรรคาก็ดี เขาถือเอาบาตรแล้ว แลถวายบิณฑบาตอย่างนี้ก็ควร

   อนึ่ง ก็ควรพระภิกษุสปาทานจาริกนี้เดินไปในบ้านนั้น จะไม่ได้ภิกขาก็ดี จะได้น้อยก็ดีในบ้านนั้น ก็พึงเที่ยวไปโดยลำดับบ้าน

   “อทมสฺส วิธานํ” วิธานแห่งสปทานจาริกธุดงค์บัณฑิตพึงรู้ดังนี้

   อนึ่ง จะว่าโดยประเภทแห่งภิกษุสปาทานจาริกธุดงค์นี้มีประเภท ๓ ประการ คือ อุกฤษฏ์ แลมัชฌิมะ แลมุทุกะ

   อุกฤษฏ์ภิกษุนั้นไม่รับซึ่งภิกขาอันทายก นำมาแต่เบื้องหน้า แห่งตนอันเดินไปในสถล แลไม่รับซึ่งภิกขาอันทายกนำมาแต่เบื้องหลังแห่งตนอันเดินไปในสถล แลไม่รับซึ่งภิกขาอันทายกนำมาในที่กลับมาจากโคจรคามเพื่อประโยชน์จะบริโภคแล้วก็ถวาย

   อนึ่งอุกฤษฏ์ภิกษุนั้น ย่อมสละซึ่งบาตรแทบประตูเรือนแห่งบุคคลผู้อื่น

   แท้จริงในสปทานจาริกธุดงค์นี้ พระภิกษุรูปใดปฏิบัติได้เหมือนพระมหากัสสปเถระเจ้านั้น ย่อมจะปรากฏมี

   อนึ่ง พระสปทานจาริกภิกษุ อันเป็นมัชฌิมะนั้น ถือเอาซึ่งภิกขาอันทายกนำมาแต่เบื้องหน้า แลนำแต่เบื้องหลัง จะถือเอาซึ่งภิกขาที่ทายกนำมาในที่กลับมาจากโคจรคาม เพื่อจะบริโภคแลสละซึ่งบาตรแทบประตูเรือนแห่งบุคคลผู้อื่น

  มัชฌิมภิกษุนั้น จะนั่งคอยถ้าภิกขาไม่ได้ควร ย่อมอนุโลมตามอุกฤษฏ์ปิณฑปาติกภิกษุ

   มุทุกภิกษุนั้น จะนั่งคอยถ้าในวันนั้นก็ควร

   อนึ่ง เมื่อประพฤติเป็นไปด้วยสามารถแห่งโลก มาตรว่าบังเกิดขึ้นแก่พระภิกษุทั้ง ๓ นี้ ธุดงค์่ก็ทำลาย

   เภทะ กริยาทำลายสปทานจาริกธุดงค์ บัณฑิตพึงรู้ดังนี้

   “อยํ ปนานิสํโส” อนึ่งอานิสงส์พระภิกษุที่สปทานจาริกเป็นปกตินั้น องค์สมเด็จพระผู้ทรงพระภาคตรัสเทศนาสรรเสริญไว้ว่า “กุเลสุนิจฺจนวกตา” สปทานจาริกภิกษุนี้เป็นภิกษุอันใหม่อยู่สิ้นกาลเป็นนิจในสกุลทั้งหลาย แลเป็นภิกษุมิได้ขัดข้องในสกุล แลมีสภาวะเหมือนด้วยดวงจันทร์ แลละเสียซึ่งตระหนี่ในตระกูล แลมีความอนุเคราะห์เสมอกันคือมิได้เว้นสกุล แลสภาวะหามิได้แห่งโทษคือที่เข้าไปสู่สกุล แลมิได้ยินดีในอาหารคือมิได้รับบิณฑบาตแห่งทายก แลประพฤติเป็นไปตามแก่คุณทั้งหลาย มีปรารถนาน้อยเป็นประธานเพราะเหตุการณ์นั้น พระพุทธโฆษาจารย์เจ้า จึงนิพนธ์คาถาไว้ “จนฺทูปโม นิจฺจนโว กุเลสุ” แปลเนื้อความว่า พระภิกษุที่มีสปทานจาริกธุดงค์เป็นปกตินั้น มีจันทรพิมานเป็นอุปมาใหม่อยู่เป็นนิจในสกุลทั้งหลายปราศจากมัจฉริยะ อนุเคาาะห์เสมอในสกุลทั้งปวง พ้นจากลามกโทษที่เข้าไปสู่สกุล แลละเสียซึ่งประพฤติเป็นไปแห่งโลก เหตุใดเหตุดังนั้น พระภิกษุในพระพุทธศาสนาดำเนินด้วยญาณคติปรารถนาจะเที่ยวไปตามอำเภอน้ำใจ พึงทอดจักษุลงไปในที่ต่ำ เพ่งดูซึ่งที่มีชั่วแอกหนึ่งเป็นประมาณพึงประพฤติสปทานจาริกธุึดงค์

   สังวรรณนามาในสมาทานแลวิธานแลประเภทแลเภทะ แลอานิสงส์ในสปทานจาริกธุดงค์ ก็ยุติแต่เพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการดังนี้

   “เอกาสนิกงคํปิ นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามีติ อิเมสํ อญฺญตรวจเนน สมาทินฺนิ โหติ เตน ปน เอกาสนิเกน อาสนสาลายํ นิสีทนฺเตน เถราสเน อนิสีทิตฺวา อิทํ มยฺหํ ปาปฺณิสฺสตีติ ปฏิรูปํ อาสนํ สลฺลกฺเขตฺวา นิสีติตพฺพํ สจสฺส วิปุปกเต โภชเน อาจริโย วา อุปชฺฌาโย วา อาคจฺฉติ อุฏาย วตฺตํ กาตุ ํ วฏฺฏติ ติปิฏกจุฬาภยตฺเกโร อาห อาสนํ วา รกฺเขยฺย โภชนํ วา อยํ จ วิปฺปกตโภชโน ตสฺมา วตฺตํ กโรตุ โภชนํ ปนมา ภุญฺชตูติ

   วาระนี้จะได้รับพระราชทานถวายวิสัชนาในเอกาสนิกธุดงค์ อันมีในธุดงค์นิเทศ ในปกรณ์ชื่อว่าวิสุทธิมรรค สืบอนุสนธิตามกระแสวาระพระบาลีมีเนื้อความว่า

   “เอกาสนิกงฺคํปิ” แม้อันว่าเอกาสนิกังคธุดงค์ องค์พระภิกษุจะสมาทาน ก็พึงสมาทานด้วยพระบาลีทั้ง ๒ คือสมาทานว่า “นานาสนโภชนํ ปฏิกฺขิปามิ” แปลว่าข้าพระองค์จะห้ามเสียซึ่งบริโภคโภชนะในอาสนะต่าง ๆ

   แลสมาทานด้วยพระบาลีว่า “เอกาสนิกงฺคํ สมาทิยามิ” แปลว่าข้าพระองค์จะสมาทานซึ่งเอกาสนิกกังคธุดงค์อันใดอันหนึ่งก็ได้ซึ่งว่าสมาทานแล้ว

   อนึ่ง เอกาสนิกภิกษุนั้น เมื่อนั่งอยู่ในศาลาอันเป็นที่บริโภคนั้นอย่านั่งในอาสนะพระมหาเถระ พึงกำหนดอาสนะพอสมควรด้วยมสิการกระทำไว้ในใจว่า อาสนะนี้จะถึงแก่เราแล้วพึงนั่งอยู่

   อนึ่ง เมื่อเอกาสนิกภิกษุนี้บริโภคยังค้างอยู่ พระเถระผู้เป็นอาจารย์แลเป็นพระอุปัชฌาย์มาในอาสนศาลา ก็พึงลุกขึ้นกระทำวัตรจึงจะควร

   พระติปิฎกจุฬาภยเถระกล่าวว่า อาสนะและโภชนะจะพึงรักษา

   มีอรรถรูปว่าอาสนะจะพึงรักษา พระภิกษุมีอาสนะอันหนึ่งเป็นปกติอันจะบริโภคมิได้ให้ธุดงค์จะทำลาย พระภิกษุบริโภคยังไม่แล้วตราบใดอย่าพึงลุกขึ้นจากอาสนะตราบนั้น

   โภชนะจะพึงรักษา พระภิกษุเมื่อจะบริโภคมิได้ให้ธุดงค์ทำลายภิกษุนั้น ยังไม่ปรารภเพื่อจะบริโภคตราบใด ก็พึงลุกขึ้นได้ตราบนั้น

   “อยํ จ วิปฺปกตโภชโน” แท้จริงพระเอกาสนิกภิกษุนี้ ยังบริโภคค้างอยู่ เพราะเหตุดังนั้น พระภิกษุจึงกระทำวัตรแก่พระเถระอันเป็นอาจารย์เป็นอาทิ จงอย่าบริโภคโภชนะ

   วิธานแห่งพระภิกษุมีเอกาสนิกธุดงค์เป็นอาทิ บัณฑิตพึงรู้ดังกล่าวมานี้

   อนึ่ง จะว่าโดยประเภทเอกาสนิกภิกษุนี้มีประเภท ๓ ประการ คือ อุกฤษฏ์ แลมัชฌิมะ แลมุทุกะ

   เอกาสนิกภิกษุอันเป็นอุกฤษฏ์นั้น ยังหัตถ์ให้หย่อนลงในภาชนะอันใด อันน้อยก็ดี อันมากก็ดี ก็มิได้เพื่อจะถือเอาซึ่งโภชนะอันอื่นจากโภชนะนั้น

   ถ้าแลจะว่ามนุษย์ทั้งหลายรู้ว่าพระมหาเถระของเราบริโภคน้อยจะนำมาซึ่งวัตถุมีสัปปิเป็นต้นเข้าไปถวาย ภิกษุนั้นจะรับเพื่อเภสัชจึงจะควรถ้าจะรับเพื่ออาหารแล้วก็ไม่ควร

   เอกาสนิกภิกษุอันเป็นมัชฌิมะนั้น ภัตรในบาตรยังไม่สิ้นตราบใดก็ได้ เพื่อจะรับเอาซึ่งวัตถุอันอื่นตราบนั้น

   แท้จริงมัชฌิมะภิกษุนั้น ชื่อว่าโภชะเป็นที่สุด

   มุทุกภิกษุนั้น ไม่ลุกจากอาสนะตราบใด ก็ได้เพื่อจะบริโภคไปตราบนั้น

   แท้จริงมุทุกภิกษุนั้น ชื่อว่ามีน้ำเป็นที่สุด เพราะเหตุว่าไม่ถือเอาน้ำชำระบาตรตราบใด ก็ได้เพื่อจะบริโภคโภชนะตราบนั้น แลชื่อว่ามีอาสนะเป็นที่สุด เพราะเหตุว่าไม่ลุกขึ้นจากอาสนะตราบใดก็ได้เพื่อจะบริโภคตราบนั้น

   ธุดงค์แห่งภิกษุทั้งสามจำพวกนี้ ย่อมทำลายในขณะบริโภคโชนะในอาสนะต่าง ๆ

   “อยเมตฺถ เภโท” กิริยาทำลายในเอกาสนิกธุดงค์ บัณฑิตพึงรู้ดังกล่าวมานี้

   อนึ่ง อานิสงส์ของพระภิกษุที่มีเอกาสนิกธุดงค์ เป็นปกตินั้นว่า “อปฺปาพาธตา” คือจะมีอาพาธน้อย แลจะให้ปราศจากทุกข์อันบังเกิดแก่สรีระ เพราะเหตุบริโภคปัจจัยสิ้นวาระเป็นอันมาก แลจะประพฤติเบากาย แลจะมีกำลังกาย แลจะอยู่สบาย แลจะหาอาบัติมิได้ เพราะปัจจัยคืออนติริตโภชนะ แลจะบรรเทาเสียซึ่งความปรารถนาในรส แลจะเป็นไปตามคุณทั้งหลาย มีปรารถนาน้อยเป็นอาทิ

   พระพุทธโฆษาจารย์เจ้า นิพนธ์พระบาลีสรรเสริญเอกาสนิกธุดงค์ว่า “เอกาสนโภชเน รตํ น ยตึ โภชนปจฺจยา” โรคทั้งหลายมีโภชนะเป็นเหตุปัจจัย มิได้เบียดเบียนซึ่งพระยัติโยคาวจรภิกษุ ผู้ยินดีในเอกาสนิกธุดงค์ พระภิกษุนั้นปราศจากโลกในรสอาหารมิได้ยังโยคกรรม คือกระทำความเพียรแห่งตนให้เสื่อม เหตุใดเหตุนั้นพระโยคาวจรมีกมลจิตอันบริสุทธิ์พึงยังความยินดีให้บังเกิดในเอกาสนิกธุดงค์เป็นเหตุที่จะให้อยู่สบาย เป็นที่เข้าไปใกล้ เสพซึ่งความยินดีในสัลเลขอันบริสุทธิ์

   สังวรรณนาในสมาทานแลวิธานแลประเภท แลเภทะ คือทำลาย แลอานิสงส์ในเอกาสนิกธุดงค์ ก็ยุติแต่เพียงนี้


  
:: กลับด้านบน :: :: ย้อนกลับ ::     :: หน้าต่อไป ::


webmaster@larnbuddhism.com
23 June 2005 by 3 nang ©copyright 2005©larnbuddhism.com