มงคลที่ ๓๘
เขมัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง
จิตอันเกษม เป็นอุดมมงคล

    เขมัง นามะ จะตูหิ โยเคหิ เขมัง จิตตัง กะตะเมหิ จะตูหิ โยเคหิ กามะโยโค ภะโยโค ภะวะโยโค ทิฏฐิโยโค อวิชชาโยโค อะโหสีติ.

   บัดนี้ จักวิสัชนาในมงคลที่ ๓๘ ตามพระบาลีอรรถกถาว่า เขมัง นามะ จะตูหิ โยเคหิ เขมัง จิตตัง อธิบายความว่า บุคคลทั้งหลายได้กระทำจิตให้บริสุทธิ์ผ่องใส ไกลจากโยคะเครื่องประกอบในจิตทั้ง ๕ ได้แก่สิ่งอะไร แก้ว่า ได้แก่ กามโยคะ เครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ให้ยินดีอยู่ในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูป ๑ เสียง ๑ กลิ่น ๑ รส ๑ เครื่องสัมผัส ๑ ทั้ง ๕ นี้ จัดเป็นโยคะที่ ๑ ที่ ๒ ภวะโยคะ เครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลายให้ยินดีอยู่ในรูปภพและอรูปภพ ๑ ที่ ๓ ทิฏฐิโยคะ เครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลายให้ยินดีอยู่ในทิฏฐิความเห็นผิดในธรรมวินัยพุทธศาสนา ๑ ที่ ๔ อวิชชาโยคะ เครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ให้ตกอยู่ในอวิชชา โมหะ ความหลงไหลในสังขาร ๑ เป็น ๔

   โยคะ ๔ นี้ เป็นเครื่องประกอบจิตแห่งสัตว์ทั้งหลาย ให้ยินดีรักใคร่เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร ให้เกิดแก่ เจ็บตาย ร้องไห้เศร้าโศกโสกาอาลัยไม่มีที่สิ้นสุดทั้งทั้งมนุษย์ และเทวดามารพรหมและอบายภูมิทั้ง ๔ ที่มีมานี้โดยสังเขปกถา

   บัดนี้จักว่าให้พิจดารตามบาลีอรรถกถาว่า กาเมสุ วาโยเชตีติ กามะโยโค แปลว่า ธรรมชาติอันใดประกอบสัตว์ไว้ในกามทั้งหลาย ธรรมชาตินั้นเรียกว่า กามโยคะ อธิบายว่า กามโยคะ นั้นได้แก่ตัญหา อันมีลักษณะให้ปรารถนาซึ่งกามคุณ คือ กิเลสกามและวัตถุกาม กิเลสกามนั้น คือ ปรารถนาที่จะบังเกิดเป็นมนุษย์และเทพยดานางฟ้าให้มีรูปทรงโสภางดงาม เพื่อจะให้เกิดความยินดีรักใคร่ในรูปและเสียง กลิ่น รส ทั้งสัมผัสถูกต้องมาปรากฏ ให้เกิดกามฉันท ราคะหากย่ำยี เป็นที่ยินดี เสหน่หา จึงเรียกว่ากิเลส มีทั้วไปทุกรูปทุกนามแห่งปุถุชน แม้ถึงการก่อสร้างการกุศลก็ตั้งความปรารถนา ขอเป็นมนุษย์และเทพยดานางฟ้าตามอัชฌาสัย ดังนิทานเมื่อกาลก่อนเรื่องมาลาธารีนางเทพธิดา เรื่องของพระติสสะที่หวงแหนจีวรเมื่อทำลายขันธิ์แล้วได้เกิดเป็นตัวเล็น และเรื่องพระยาปายาสิ ฯลฯ เป็นต้น

    บัดนี้ได้ว่ามาถึงมงคลที่ ๓๘ ประการ ที่สมเด็จพระศาสดาจารย์สัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงตรัสเทศนาแก่เทพยดาที่ลงมาทูลถามเป็นเนื้อความ ข้อปฎิบัติแก่หมู่สัตว์ทั้งมนุษย์และเทพยดา เป็นมรรคาทางสวรรค์และทางพระนิพพาน ซึ่งจะข้ามโอฆะแอ่งกันดารให้พ้นทุกข์ เป็นบรมสุข คือ ไม่เกิด แก่ เจ็บตาย เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร ด้วยผลานิสงส์ที่ได้รับข้อปฎิบัติในมงคล ๓๘ ประการ ให้ตั้งมั่นอยู่ในขันธสันดานของอาตมาทุกทิวาราตรี ด้วยเดชะผลมงคลนี้ย่อมให้เกิดความเจริญสุขสวัสดีนิราศภัยทั้งชาตินี้และชาติหน้า

    เพราะฉะนั้น ขอท่านทั้งหลายที่เกิดมาประสบพบพระพุทธศาสนา คือ ข้อมงคลทั้ง ๓๘ ประการ พึงมีอุสาหะรักษาศีลเจริญภาวนาให้บริบูรณ์ในสันดานของตนเถิด จะเป็นบ่อเกิดบุญสัมปทาไปในอนาคตกาลเบื้องหน้าสิ้นกาลนาน

    ด้วยข้อมงคล ๓๘ ประการ เป็นพุทธภาษิตให้สัตว์ผู้มาปฎิบัติทางกายวาจาจิต ให้ได้ความสุจริตทั้งโลกนี้และโลกหน้า ทั่วทั้งมนุษย์และเทพยดานางฟ้า มาร พรหม เป็นมงคลอันอุดมสูงสุดในพระพุทธศาสนา พร้อมด้วยศีล สมาธิ ปัญญา ข้อปฎิบัติ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ บุรุษ สตรี ควรจะมีความยินดีรักษาข้อมงคลทั้ง ๓๘ ประการ ให้เป็นนิสัยปัจจัยแก่ทางมนุษย์ ทางสวรรค์ ทางพระนิพพาน ถึงยังเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารก็จะได้เสวยราชสมบัติในมนุษย์และเทพยดา ประเสริฐกว่าที่ไปบังเกิดในอบายภูมิ ถึงจะเกิด แก่ เจ็บ ตาย ก็ยังวิเศษเหตุที่ได้ให้ทานรักษาศีลเจริญภาวนาได้สดับฟังพระสัทธรรมเทศนา และบูชาพระรัตนตรัยให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสและความสังเวชเนื้อเขตบุญกุศล ซึ่งจะยกตนให้พ้นจากอบายภูมิทั้ง ๔ ผลานิสงส์ที่ได้ปฎิบัติข้อมงคลทั้ง ๓๘ ประการนี้ เป็นบุญนิธิขุมทองคือ

    กองบุญที่จะอุดหนุนให้ความสุขทั้ง ๓ ประการ คือ สุขที่จะให้ไปบังเกิดเป็นมนุษย์มีร่างกายบริสุทธิ์และทรัพย์กับบริวาร มีอายุยืนยาว นานตามอายุไขย ๑ ให้ได้สุขในสวรรค์สุราลัยในฉกามาทั้ง ๖ ชั้นฟ้าเทวสถาน พร้อมด้วยทิพยวิมานและนางฟ้าเป็นยศบริวาร ฟ้อนรำบำเรออยู่ให้เป็นสุข ๑ ให้ได้สุขในพระนิพพานดับสังขาร ที่ทำให้เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในกำเนิดภพทั้ง ๓ ก่อกองรูป นามขันธ์ ธาตุ อายตนะ อินทรีย์ ให้เกิดทุกขเวทนา ย่ำยีสิ้นกาลนาน เมื่อใดได้ถึงพระนิพพานจึงจะมีความสำรวญนิราศภัย ไม่ต้องเกิดแก่เจ็บตายทำลายสังขาร ไม่ต้องให้เศร้าโศกโสกา ปริเทวนาการร้องร่ำไห้อยู่ในโลก พระนิพพานเป็นที่สิ้นทุกข์โศกโรคา เป็นบรมสุขาหาความทุขข์ไม่มี ข้ามจตุโอฆะ โลกโลกีย์ ความเวียนว่าย พระนิพพาน เป็นอัจจันตนิโรธดับหมดไปไม่เชื่อที่จะเหลืออยู่โดยบัญญัติ จึงมีอรรถกถาว่า นิพพานัง ปะระนัง สุขัง พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่งอย่างเลิศ ไม่มีบ่อเกิดกองทุกข์เป็นบรมสุขนิราศภัยในสงสาร

    เราท่านทั้งหลายอยากจะไปนิพพานจงปฎิบัติในมงคล ๓๘ ประการให้บริบูรณ์ในสันดาน ดังประทานแสดงมาฉะนี้ ฯ วิสัชนามาในมงคล ๓๘ ประการ ตามบาลี อรรถกถาโวหาร โดยเนื้อความย่อ ๆ และพิศดาร ก็สมมติว่าจบลงเพียงเท่านี้ ขอความสุขสวัสดีจงมีแกท่านผู้สร้าง ผู้อ่าน ผู้ฟังทั้งหลาย ขอให้ท่านผู้สร้างและผู้ฟังทั้งหลาย มีปัญญาทรงพระไตรปิฎกยอยกพระพุทธศาสนา คำสั่งสอนของพระศาสดาให้ถาวรสิ้นกาลนาน ตราบเข้าสู้พระนิพพานในอนาคตกาลโน้น เทอญ ฯ ...

มังคะละสุตตัง นิฏฐิตัง
จบพระมงคลสูตรแปลแต่เท่านี้

            ย้อนกลับ         ปิดหน้านี้         กลับมงคลที่ ๑