มงคลที่ ๑
อะเสวะนา จะพาลานัง เอ ตัมมังคะละมุตตะมัง
การไม่คบคนพาล เป็นอุดมมงคล

   อะเสวะนา จะ พาลานัง อย่าคบหาสมาคมผูกสมัครรักใคร่ไปมาหาสู่ด้วยคนพาลจัดเป็นมงคลที่ ๑ ถามว่า คนอย่างไรจึงเรียกว่า คนพาล แก้ว่า คนที่ตัดเสียซึ่งประโยชน์ทั้ง ๒ คือ ประโยชน์ชาตินี้ ๑ ประโยชน์ชาติหน้า ๑ ตัดเสียซึ่งประโยชน์ชาตินี้ ๔ ประการ

    คือ เป็นคนขี้เกียจขี้คร้าน ไม่ทำกิจกรรมการงานและวิชาความรู้ที่จะนำมาซึ่งลาภผล ๑ ไม่รักษาทรัพย์ของตนด้วยอุบายแห่งปัญญา ๑ เลี้ยงชีวิตด้วยความประมาททรัพย์ คือ ทรัพย์น้อยกินมาก ๑ คบคนพาลสันดานเป็นบาป ๑ ตัดเสียซึ่งประโยชน์ชาติหน้า ๕ ประการ คือ ไม่มีศรัทธาเชื่อมั่นในคุณพระรัตนตรัย ๑ ไม่มีศีล ๕ ศีล ๘ เครื่องรักษากาย วาจา ๑ ไม่มีสุตะ การฟังธรรมเทศนา ๑ ไม่มีจาคะ การบริจากทานข้าวน้ำ ๑ ไม่มีปัญญาพิจารณาสังขาร ๑ ตัดเสียซึ่งประโยชน์ ๒ ประการ เรียกว่าคนพาล ฯ

  อีกครูทั้ง ๖ คือ ปูรณกัสสป ๑ มักขลิโคศาล ๑ นิคัณฐนาฏบุตร ๑ สญชัยเวลัฏฐบุตร ๑ ปกุทธกัจจายนะ ๑ อชิตเกสกัมพล ๑ เป็น ๖ นอกจากครูทั้ง ๕ มีพระเทวทัตและพระโกกลิก เป็นต้น ก็เรียกว่า คนพาลทั้งสิ้น อนึ่ง คนพาลมีอาการ ๓ คือ ลักษณะ ๑ นิมิต ๑ อปทาน ๓ ลักษณะนั้นได้แก่ มโนทุจริต ๑ คือ อภิชฌา ความเพิงเล็งของเขา ๑ พยาบาท ความผูกโกรธผูกเวรแช่งด่า ๑ มิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดจากพระพุทธศาสนา ๑ ฯ

    นิมิตนั้น ได้แก่ วจีทุจริต ๔ คือ มุสาวาท กล่าวล่อลวงอำพรางผู้อื่น ๑ เปสุวาท กล่าวส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าว ๑ ผรุสวาท กล่าวคำหยาบมีด่าพ่อแม่ เป็นต้น ๑ สัมผัปปลาปวาท กล่าวเรื่องราวไม่มีประโยชน์ ๑ อปทานนั้น ได้แก่ กายทุจริต ๓ คือ ฆ่าสัตว์มีชีวิตให้ตาย ๑ ลักของเขามาเป็นของตัวเอง ๑ ล่วงประเวณีในสตรีที่เขาหวง ๑

    อนึ่ง คนพาลย่อมมีชีวิตอยู่ด้วยโมหะอวิชชา ไม่แสวงหาประโยชน์ชาตินี้ ชาติหน้าและประโยชน์อย่างยิ่ง คือ พระนิพพาน เพราะเหตุฉะนั้น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสว่า การไม่คบคบพาลจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ ถ้าคบคนพาลแล้วก็เป็นอัปมงคล ให้เกิดความเสียหายในชาตินี้และชาติหน้า ฯ คบคนพาลเสียหายในชาตินี้....

            ย้อนกลับ         ปิดหน้านี้         ถัดไป