มงคลที่ ๓๔
นิพพานะสัจฉิกิริยา เอตัมมังคะละมุตตะมัง
การกระทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน เป็นอุดมมงคล

    นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ นิพพานะสังขาตัง นามะ ทุวิธัง เอตัง นิพพานัง ปะระมัง สุขัง เวทิตัพพันติ.

    บัดนี้ จะได้วิสัชนาในมงคลที่ ๓๔ ตามพระบาลีและอรรถกถาว่า นิพพานะสัจฉิกิริยา จะ แปลว่า บุคคลใดมากกระทำพระนิพพานความดับทุกข์ให้รู้แจ้งเห็นประจักษ์ขึ้นในสันดาน จัดเป็นมงคลความเจริญอันวิเศษเหตุดับเสียได้ซึ่งกองทุกข์

    พระนิพพานนั้นท่านเรียกว่า ความสุขอันประเสริฐเลิศกว่าความสุขทั้งปวง เป็นความสุขวิเศษใหญ่หลวงยิ่งกว่าสุขในมนุษย์สวรรค์ชั้นพรหมโลก เป็นที่ระงับโศกของหมู่สัตว์ เป็นที่สิ้นไปแห่งไตรวัฏฏ์ ทั้ง ๓ คือ กัมมะวัฏฏะ ได้แก่ กุศลและอกุศล ๑ กิเลสะวัฏฏะ ได้แก่ โลภะ โทสะ โมหะ ๑ วิปากะวัฏฏะ ได้แก่ ผลบุญและบาป ๑ พระนิพพานเป็น อสังขตธรรม ไม่มีธรรม คือ กุศลและอกุศลที่จะตกแต่งให้บังเกิดขึ้น

    พระนิพพานเป็นอสังขตธาตุ ไม่มีธาตุ ๔ คือ ดิน น้ำ ลง ไฟ ไม่มีธาตุ ๖ และ ธาตุ ๑๒ ธาตุ ๑๘ ที่จะประชุมแล้วและทรงไว้ พระนิพพานเป็นอสังขตปัจจัย ไม่มีปัจจัยประชุมแต่งให้มีขึ้น

    ถามว่า อะไรเรียกว่าปัจจัย แก้ว่าปัจจัยมี ๑๒ คือ อวิชชา ความไม่รู้เท่าทันในสังขารให้เกิดสังขาร ๑ สังขารให้เกิดวิญญาณ ๑ วิญญาณให้เกิดรูปนาม ๑ รูปนามให้เกิดอายตนะ ๑ อายตนะให้เกิดผัสสะ ๑ ผัสสะให้เกิดเวทนา ๑ เวทนาให้เกิดตัญหา ๑ ตัญหาให้เกิดอุปาทาน ๑ อุปาทานให้เกิดภพ ๑ ภพให้เกิดชาติ ๑ ชาติให้เกิดความแก่เจ็บไข้ ๑ ความแก่เจ็บไข้ให้เกิดความตาย และความเศร้าโศกโสกาอาลัย ๑ เป็นปัจจัย ๑๒ ดังนี้

    อนึ่ง พระนิพพานมีอรรถ ๕ ประการ อะชาติ ไม่มีความเกิด มีขันธ์ ๕ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ อะชะรา ไม่มีความชราชำรุดทรุดโทรม อะพะยาธิ ไม่มีความเจ็บไข้และโรคภัยต่าง ๆ อะมะตัง ไม่มีความตายแตกดับทำลาย นิพพะยังคะตา ถึงพระนิพพานแล้วก็ดับเสียซึ่งกองทุกข์ทั้งสิ้น

    อนึ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรัสแก่ภิกษุว่า อัตถิ ภิกขะเว ตะทายะนัง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อายตนะมีชื่อว่า อสังขตธรรม อสังขตธาตุ อสังขตปัจจัย ไม่มีธรรมอันใดที่จะตกเเต่งให้บังเกิดขึ้น ไม่มีนามรูป ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ ไม่มีธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ วิญญาณ อากาศ เป็นที่ดับ ๗ ประการที่เป็นโลกีย์ ให้ขาดเป็นสมุจเฉทปหาน เป็นธรรมฐิตีญาณเฉฬังคุเปกขา

    นิพพานัง ปะระนัง สุขัง พระนิพพานเป็นปรมัตถสุข เป็นสุขอย่างยิ่งอย่างเลิศ ไม่เกิดความทุกข์ คือ ปฎิสนธิในภพทั้ง ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ ไม่มีชาติ ชรา พยาธิ มรณะภัย นิพพานัง ปะระมัง สุญญัง พระนิพพานเป็นที่สูญอย่างยิ่ง สูญจากภพทั้ง ๓ ขันธ์ ๕ ขันธ์ ๔ ขันธ์ ๑ สูญจากอายตนะภายใน ๖ ภายนอก ๖ สูญจากธาตุและอินทรีย์ทั้งหลาย สูญจากความเวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสาร สูญจากอวิชชา ตัญหา มานะ ทิฏฐิ อุปาทาน สูญจากสังโยชน์ ๑๐ ประการ คือ

   สังกายทิฏฐิ ความเห็นว่ากายนี้เป็นตัวตน สัตว์บุคคล ๑    วิจิกิจฉา ความสงสัยในกุศลและอกุศล ๑    สีลัมพพะตะ คือ ข้อปฎิบัตินอกศาสนา ๑    กามะฉันทะ ความรักใคร่ในกามคุณ คือ กิเลสกามและวัตถุกาม ๑    พะยาปาทะ โกรธ ผูกเวรอาฆาตแช่งสัตว์อื่นให้พินาศไปด้วยภัยทั้งปวง ๑    รูปราคะ ความยินดีด้วยธรรมที่มีรูป ๑    อะรูปราคะ ความยินดีอยู่ในธรรมที่ไม่มีรูป ๑    มานะ ความถือตัวถือตน ถือชาติตระกูล ๑    อุทธัจจะ ความฟุ้งซ่านรำคาญในใจ ๑

    อะวิชชา คือ โมหะปิดตัวปัญญาไม่พิจารณาเห็นสังขารว่าเป็นอนิจจัง ทุกขขัง อนัตตา ๑

    ถามว่า พระนิพพานนั้นมีกี่อย่าง แก้ว่า ในบาลีมี ๒ คือ อุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ อุปาทิเสสนิพพานธาตุนั้นได้แก่ ความดับกิเลสในจิตและเจตสิกให้ขาดขันธสันดาน ด้วยพระอริยมรรคญาณ คือ อรหัต ตัดอาสวะกิเลสเครื่องดองขันธสันดาน ให้ขาดเป็นสมุจเฉทปหาน เหมือนฟ้าผ่ายอดตาลให้ขาดไป ไม่ให้เจริญงอกงามขึ้นได้ในเบื้องหน้า เรียกว่า อุปาทิเสสนิพพานธาตุ

    อาสวะนั้นมี ๔ ประการ คือ กามาสะวา เครื่องดอง ได่แก่ กามคุณทั้ง ๒ คือ กิเลสกาม รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ๑ วัตถุกาม มีข้าวของเงินทองเป็นต้น ๑ ภาวะสะวา เครื่องดอง ได้แก่ภพ ๓ มีกามภพเป็นต้น ๑ ทิฏฐาสะวา เครื่องดอง ได้แก่ ทิฏฐิ ความเห็นวิปาลาสจากธรรมวินัยพุทธศาสนา เหมือนอย่างภิกษุทั้งหลายไปเจริญสมณธรรมในอรัญราวป่า ดังเช่นนิทานเรื่องภิกษุสำคัญว่าตนได้มรรคผลเป็นต้น....

            ย้อนกลับ         ปิดหน้านี้         ถัดไป