มงคลที่ ๓๕
ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ ฯลฯ เอตัมมังคะละมุตตะมัง
ผู้ที่โลกธรรมถูกต้องแล้วมีจิตหวั่นไหว เป็นอุดมมงคล

    ผุฏฐัสสะ โลกะธัมเมหิ จิตตัง ยัสสะ นะ กัมปะติ อัฏฐะโลกะธัมมา ลาโก จะ อะลาโภ จะ ยะโส จะ อะยะโส จะ นินทา ปะสังสา จะ สุขัญจะ ทุกขัญจาติ.

    บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๓๕ ตามพระบาลีอรรถกถาว่า ผุฏฐัสสะ โลกกะธัมเมหิ แปลว่า โลกธรรม ๘ ประการ มาครอบงำจิตสันดานของท่านผู้ใด จิตของท่านผู้นั้นไม่หวั่นไหวในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ จัดเป็นมงคลอันประเสริฐโดยวิเศษ

    ถามว่า โลกธรรมทั้ง ๘ นั้น ได้แก่อะไร แก้ว่า ได้แก่ลาภ ๑ ยศ ๑ ความสรรเสริฐ ๑ ความสุข ๑ ความเสื่อมลาภ ๑ เสื่อมยศ ๑ ความนินทรา ๑ ความทุกข์ ๑ ทั้ง ๘ นี้เรียกว่าโลกธรรม ด้วยพระพุทธองค์ตรัสว่า ภิกขะเว ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โลกธรม ๘ ประการ ย่อมเป็นของติดตามสัตว์ทั้งปวงอยู่ในโลกเป็นธรรมดาหาที่สุดมิได้ ใช่จะติดตามแต่ปุถุชนก็หาไม่ ถึงพระอริยเจ้าทั้งหลายมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น โลกธรรมทั้ง ๘ ก็ย่อมติดตาม

    ถามว่า โลกธรรมทั้ง ๘ ติดตามอย่างไร แก้ว่า พระพุทธเจ้ามีลาภมาก ตั้งแต่พระองค์ได้ตรัสรู้แล้วมา ทั้งมนุษย์และเทพยดาก็พร้อมกันน้อมนำซึ่งเครื่องสักการบูชา ที่สุดแต่ว่าเมื่อพระพุทธองค์จะเสด็จเข้าสู่พระนิำำพพาน เทพยดาในหมื่นจักรวาล ก็พากันนำมาซึ่งเครื่องสักการบูชาเป็นอันมาก มาบูชารอบพระแท่นที่พระพุทธองค์นิพพาน มีประมาณไกลได้โยชน์หนึ่งสูงเพียงภูเขา สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเห็นเครื่องสักการบูชาของเทพยดา พระองค์จึงทรงตรัสแก่พระอานนท์ว่า ดูก่อนอานนท์ตถาคตสร้างบารมีมา ๔ อสงไขย มิได้ปรารถนาซึ่งอามิสบูชา ดูก่อนอานนท์ บริษัททั้ง ๔ มีความยินดีจะบูชาแก่เราตถาคตแล้ว จงบูชาด้วยปฎิปัตติบูชา คือ ยกพระศาสนาและปฎิบัติธรรมวินัยใ้ห้บริบูรณ์เถิด

    อนึ่ง พระพุทธเจ้ามียศมาก คือ อานุภาพที่มีฤทธิ์มาก มีอำนาจเหาะเหินเดินอากาศและปฎิหาริย์ทรมานสัตว์ดิรัจฉาน และยักษ์มาร นาค ครุฑ มนุษย์ และเทพยดามหาพรหม ให้มีความยินดีรักใคร่ในพระศาสนา ละเสียซึ่งพยศอันร้ายที่หยาบคายทางกาย วาจา ใจ ให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยเป็นสัมมาทิฏฐิ จนได้สำเร็จมรรคผลพ้นจากทุกข์ถึงปรมัตถสุข คือ พระนิพพาน ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธเจ้า

    อนึ่ง พระพุทธเจ้าย่อมมีความสรรเสริฐทั่วไปทั้งมนุษย์และเทพยดา ตลอดถึงพรหมโลกด้วย ด้วยพระพุทธคุณชื่อว่า อะระหัง เป็นผู้สิ้นกิเลสอาสวะเครื่องกองสันดาน ไม่มีกิเลส ความโลภ โกรธ หลง ทรงพระคุณชื่อว่า สัมมาสัมพุทโธ มีพระปัญญา ตรัสรู้ซึ่งธรรมของจริง คือ อริยสัจทั้ง ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เห็นแจ้งประจักษ์ด้วยพระปัญญา มีความสรรเสร็ญทั้งมนษย์และเทพยดาดังวิสัชนานี้

    อนึ่ง พระพุทธเจ้ามีความสุขมากยิ่งกว่ามนุษย์ และเทพยดา มาร พรหม ด้วยสิ้นกิเลสความเศร้าหมองในสันดาน ไม่มีกิเลสจะเผาผลาญให้สันดานของพระองค์เร่าร้อน และเสวยสุขอยู่ในฌานสมาบัติและมรรคผลธรรมวิเศษที่พระองค์ได้ เป็นสุขใหญ่ไม่มีสุขอันใดที่จะยิ่งกว่า ด้วยพระองค์ดับอวิชชาตัณหามานะทิฏฐิอุปทานขาดจากสันดาน จะนั่ง นอน ยืน เดิน ก็เป็นสุขด้วยอิริยาบถทั้ง ๔

    เมื่อพระมหามุนีลาภยศและความสรรเสริญและความสุขดังนี้แล้ว ก็มีความเสื่อมไปในที่บางคราวบางสมัย ไม่คงที่ บางที่ก็เสื่อมลาภ บางทีก็เสื่อมยศ บางทีก็มีความติเตียนนินทรา บางทีก็ได้ความทุกขเวทนา ที่เสื่อมจากลาภนั้น เหมือนเมื่อครั้งพระพุทธองค์ไปอาศัยอยู่ในเวรัญชา มีพรหมณ์ผู้หนึ่งออกมาเฝ้า สมเด็จพระพุทธเจ้าตรัสเทศนาพรหมณ์ได้ฟังก็มีจิตใจศรัทธา จึงทูลอาราธนาให้พระองค์จะพรรษาอยู่ในประเทศนั้น

    ครั้งนั้นบังเกิดทุพภิกขาข้าวแพง พระยามารก็เข้ามาดลใจพรหมณ์กับคนทั้งหลายไม่ให้ทำการกุศล ถวายทานแก่พระพุทธเจ้าจนออกพรรษา สมเด็จพระศาสดาต้องบิณฑบาตถึงกุรุทวีป จึงได้อาหารมาเลี้ยงพระชนมชีพไว้จนออกพรรษา นี้ว่าด้วยพระองค์เสื่อมลาภ พระองค์เสื่อมยศและได้ทุกขเวทนานั้น ครั้งเมื่อพระองค์จะเสด็จดับขันธ์เข้าสู่พระนิพพาน จึงพาพระสงฆ์บริวารไปสู่เมืองกุสินารา เมื่อเสด็จไปในท่ามกลางมรรคาพระองค์ก็ทรงอาพาธเสวยมุกขเวทนา ก็ไม่ทำปาฎิหาริย์เหาะเหินเดินอากาศ ทนสู้อาพาธดำเนินไปตามมรรคา ทนสู้ทุกขเวทนามีความอยากน้ำเป็นกำลัง เสด็จเซซังไปถึงฝั่งคงคา ให้พระอานนท์ไปตักน้ำมานั้นก็ขุ่นข้น ต้องกลับไปตักอีกหนจึงได้น้ำมาถวาย เราท่านทั้งหลายควรพิจารณาให้เห็นพระอนิิจังสังเวช แต่พระพุทธเจ้าผู้วิเศษกว่ามนุษย์และเทพยดายังมีกองทุกขเวทนาเบียดเบียนพระกาย ดังบรรยายมาฉะนี้

    พระพุทธเจ้าได้รับความติเตียนนินทานั้น ครั้นเมื่อพราหมณ์ผู้หนึ่งนำมาซึ่งบุตรสาว ชื่อว่า คันทีมีรูปอันงาม มีอายุได้ ๑๖ ปี เป็นที่รักน่ารักใคร่มามอบถวายให้แก่พระพุทธองค์เพื่อประโยชน์จะให้เป็นบริจาริกา ด้วยวาจาว่า ดูก่อนสมณะ ธิดาของข้านี้เป็นที่ยินดี มหาชนเป็นอันมากมีความอยากได้เป็นประมาณ แต่ตัวข้านี้มิได้มีความชอบใจที่จะยกให้แก่มหาชนเหล่านั้น ข้าชอบใจแต่ตัวท่านเห็นสมควรจะเลี้ยงธิดาของข้าพเจ้าได้ ข้าจึงมอบธิดาให้แก่ท่าน ตัง สุตตะวา สัตถา สมเด็จพระศาสดาเมื่อได้ฟังวาจาพราหมณ์กล่าวดังนั้น พระองค์จึงตรัสตอบว่า ดูก่อนพราหมณ์ เราตถาคตมิได้มีความยินดีในธิดาของท่านด้วยเหตุรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ด้วยเหตุตถาคตมีน้ำฝาด คือ ราคะอันคายทิ้งเสีย ดังเขฬะที่ถ่มทิ้งเสียในพื้นปฐพี จึงไม่มีความยินดีในธิดาของท่าน ธิดาของท่านเต็มไปด้วยมูตรคูถ และเขฬะ สา ตัง สุตตะวา

    ฝ่ายนางมาคันทีที่เป็นบุตรีแห่งพราหมณ์นั้น ได้ฟังพระพุทธองค์ทรงตรัสติเตียนซึ่งกามคุณทั้ง ๕ ก็มีความโกรธโกรธาผูกอาฆาตแก่พระโลกนาถศาสดา แล้วนางจึงกล่าวติเตียนนินทาพระศาสดามีประการต่าง ๆ ครั้นกาลล่วงนานไปนางมาคันทีได้เป็นมเหสีพระเจ้าอุเทนราช นางมาคันทีก็จ้างคนทั้งหลายให้ด่าพระพุทธเจ้าว่า อ้ายอูฐอ้ายลาเป็นต้น พระพุทธองค์พาพระสงฆ์ำไปบิณฑบาตถึงไหน ก็พากันไปด่าถึงนั้น พระอานนท์จึงทูลพระพุทธองค์ให้หนีไปอยู่ในประเทศอื่น พระพุทธองค์จึงทรงตรัสถามว่า ดูก่อนอานนท์ จะให้หนีไปอยู่ที่ไหนเล่า พระอานนท์จึงทูลว่า ไปอยู่เมืองอื่นที่เขาไม่ด่า พระพุทธองค์จึงตรัสถามว่า ถ้าเมืองอื่น ๆ เขาด่าแล้วจะไปอยู่ที่ไหนเล่า พระอานนท์ก็จนใจไมอาจทูลต่อไปในเบื้องหน้า สมเด็จพระศาสดาจึงตรัสว่า ดูก่อนอานนท์ เหตุเกิดในที่ใดควรตั้งมั่นขันติความอดใจให้ระงับเสียซึ่งเหตุนั้น ๆ จึงจะสมควร จะเป็นผู้ใจร้อนใจด่วนไม่สมควรแก่สมณะ ข้าพเจ้ากล่าวมาทั้งนี้ เพื่อจะให้เห็นว่าโลกธรรมทั้ง ๘ ย่อมมีทั่วไปแก่พระอริยเจ้าทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าเป็นต้น และปุถุชนทั้งปวงที่เป็นคฤหัสถ์และบรรพชิต

    โลกธรรม ๘ นี้เป็นของเนื่องติดตามซึ่งโลก ถามว่า โลกธรรมทั้ง ๘ มีทั้วไปแก่ปุถุชนและพระอริยเจ้าแล้ว ปุถุชนกับพระอริยเจ้าจะไม่เหมือนกันหรือ แก้ว่า ไม่เหมือนกัน พระอริยเจ้าท่านรู้เท่าทันในสังขาร ท่านไม่หลงรักหลงชังในสังขาร เพราะฉะนั้น โลกธรรมทั้ง ๘ ประการ จึงไม่ครอบงำจิตสันดานท่านได้ ปุถุชนเป็นคนไม่รู้เท่าทันในสังขาร ด้วยอวิชชาหอห้มในสันดาน หลงรักในสังขาร หลงชังในสังขาร เพราะฉะนั้น โลกธรรมทั้ง ๘ ประการ จึงครอบงำจิตสันดานได้

    ถามว่า พระอริยะเจ้ารู้เท่าทันสังขารนั้นอย่างไร แก้ว่า ท่านรู้เท่าทันสังขารด้วยองค์ปัญญาพิจรณาเห็นโลกธรรม ๘ ประการ คือ มีลาภ มียศ มีความสรรเสริญ มีความสุขก็ดี เหล่านี้ เป็นของไม่เที่ยง ย่อมมีความแปรปรวนแตกดับล่วงลับไป เป็นธรรมดาไม่ตั้งมั่นยั่งยืนคงทนอยู่ได้ตามใจปรารถนา

    หรือความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ ได้รับความติเตียนนินทา และได้รับความทุกขเวทนาก็ดี เหล่านี้ ก็เป็นของไม่เที่ยงแท้ ย่อมแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ไม่ตั้งมั่นถาวรคงที่อยู่ได้เหมือนใจหมาย ย่อมมีความกลับกลายไปต่าง ๆ นานา ท่านเห็นด้วยปัญญาอย่างนี้ จึงไม่มีึความยินดีและความเสียใจในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ

    เวลาเมื่อได้ลาภได้ยศได้รับความสรรเสริญ ได้รับความสุขกายสุขใจก็ไม่หลงยินดีรักใคร่เป็นไปกับอุปทานความถือมั่น หรือเมื่อเวลาเสื่อมลาภเสื่อมยศได้รับความนินทาและมีทุกขเวทนา ก็ไม่เศร้าโศกโสกาด้วยปัญญารู้เื่ท่าทันสังขาร โลกธรรม ๘ ประการ ก็ไม่ครอบงำสันดานของท่านได้ จึงจะชักนิทานเรื่องของพระอนุรุทธ์เถระเจ้ามาสาธกไว้ให้เป็นแบบอย่างตามทางแห่งพระอริยเ้จ้า ซึ่งท่านไม่มีหวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ เป็นฉะนี้

    กิระ ดังได้ยินมาว่า ครั้งนั้น พระอนุรุทธ์องค์อรหันต์ท่านตัดกิเลสขาดจากสันดาน ท่านเดินมาตามมรรคาอันไกลจะไปสู่เมืองสาวัตถีมหานคร ครั้นเดินมาถึงท่ามกลางมรรคา ก็เวลาจวนจะใกล้ค่ำ พระผู้เป็นเจ้าจึงเข้าไปอาศัยโรงพักหน้าบ้านแห่งหญิงหม้าย

    สา ทิสสะวา หญิงหม้ายนั้นเห็นพระอนุรุทธ์เถระนั้นรูปงามก็มีความชอบใจ อยากได้ไว้เป็นภัสดาสามี จึงลงมานิมนต์ พระอนุรุทธ์เถระให้ไปจำวัดบนหอนั่ง ไม่ช้าหญิงหม้าย ก็ออกมาพูดจาประเล้าประโลมพระเถระเจ้า ด้วยถ้อยคำที่นำมาซึ่งความรักใคร่ ตั้งแต่เวลาพลบค่ำจนใกล้รุ่ง จิตของพระอนุรุทธ์เถระ ก็ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ หญิงหม้ายก็มีความละอายขึ้นในใจ ยกมือทั้งสองขึ้นไว้และขอขมาโทษ พระอนุรุทธ์เถระก็ยกโทษให้หญิงหม้ายหลีกไปในกาลครั้งนั้น

    ข้าพเจ้าชักนิทานมาครั้งนี้ เพื่อจะให้เห็นว่า พระอริยเจ้าท่านรู้เท่าัทันในสังขาร ท่านไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม ๘ ประการ ดังวิสัชนามาฉะนี้

    แต่ปุถุชนที่เป็นโลกีย์ ย่อมหวั่นไหวอยู่ในโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ เพราะไม่มีปัญญาพิจารณาให้รู้เท่าทันในสังขาร ด้วยตัวอวิชชายังหุ้มห่ออยู่ในสันดาน เมื่อได้ลาภยศได้รับความสรรเสริญและได้รับความสุขกายสุขใจ ก็มีความโสมนัสยินดีว่า ลาภและยศนี้เป็นของ ๆ เราเที่ยงแท้ไม่แปรผัน หรือความสรรเสริญและความสุขด้วยความสุขนั้นเป็นของ ๆ เราเที่ยงแท้ไม่แปรปรวน ทำจิตให้ร่าเริงบันเทิงใจด้วยความอยากได้ และความยินดี จิตที่เป็นไปทั้งนี้ก็เพราะไม่รู้เท่าทันในสังขาร คือ ลาภยศและความสรรเสริญความสุข เป็นของไม่เที่ยงแท้ย่อมแปรผัน เพราะเหตุนั้น เวลาที่เสื่อมลาภเสื่อมยศได้รับความติเตียนนินทา และได้รับความทุกขเวทนาที่เกิดแต่กายแต่ใจ ปุถุชนจึงร้องไห้เศร้าโศกโสกาปริเทวนาการ ด้วยความที่ไม่รู้เท่าทันในสังขาร ว่าไม่เที่ยงและมีความแปรปรวน

    อนึ่ง ปุถุชนย่อมหวั่นไหวอยู่ในโลกธรรม ๘ ประการ เมื่อเวลาที่พลัดพรากจากสัตว์และสังขาร คือ ลูก หลาน สามีภรรยา และหมู่ญาติทั้งหลาย ข้างซ้ายข้างขวามาพลัดพรากจากไป ก็เศร้าโศกโสกาอาลัยร่ำไรมีประการต่าง ๆ เพราะความไม่รู่เท่าทันในสังขาร อนึ่ง เวลาเมื่อเสียข้าวของเงินทอง และเรือกสวนไร่นาที่อยู่อาศัย ก็พากันเศร้าโศกร้องไห้ ปริเทวนาการ ก็เพราะความไม่รู้เท่าทันในสังขาร

    ถามว่า อะไรเรียกว่า สังขาร ในที่นี้ แก้ว่า สังขารมี ๒ อย่าง คือ อนุปาทินนกสังขาร ได้แก่ ของที่มีวิญญาณ มีมนุษย์และสัตว์เป็นต้น ๑ อนุปาทินนกสังขาร ได้แก่ ของที่ไม่มีวิญญาณ มีเงินและทองเรือกสวนไร่นา และแผ่นดินต้นไม้ภูเขาเป็นต้น ๑ สังขารทั้ง ๒ นี้ เป็นอนิจจังไม่เที่ยงแท้ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรจะพิจารณาด้วยปัญญาดังวิสัชนามาฉะนี้

    อนึ่ง นักปราชญ์ผู้มีปัญญา เมื่อได้ฟังพระสัทธรรมเทศนาก็พิจารณาซึ่งโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ คือ ได้ลาภก็ดี ได้ยศก็ดี ได้รับความสรรเสริญก็ดี ได้รับความสุขกายสุขใจก็ดี ของเหล่านี้ไม่เที่ยงแท้ย่อมแปรปรวน ไม่ควรจะถือเอาด้วยตัณหามานะทิฏฐิอุปาทาน อย่างนี้ชื่อว่า ความรู้เท่าทันในสังขารด้วยอุบายแห่งปัญญาของปุถุชน ถึงเสื่อมลาภเสื่อมยศได้รับความติเตียนนินทา ได้รับความทุกข์กายทุกข์ใจ ก็ไม่ต้องเศร้าโศกโสกาอาลัยร้องไห้ร่ำไร ปริเทวนาการ ด้วยมีปัญญาพิจารณารู้เท่าทันในสงขาร คือ โลกธรรมทั้ง ๘ ประการ เป็นของไม่เที่ยง มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา กิริยาว่า บุคคลผู้ใดมีจิตไม่หวั่นไหวไปด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ

    ท่านจัดเป็นมงคลอันประเสริฐเป็นบ่อเกิดบุญสัมปทา จะนำมาซึ่งความสุขในชาตินี้และชาติหน้าทั้ง ๒ ประการ ความสุขในชาตินี้ คือ จะไม่เศร้าโศกโสกาอาดูรเดือดร้อนแห้งใจ จะมีแต่ความโสมนัสเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยแก้วทั้ง ๓ ประการ ให้ทาน รักษาศีล ภาวนา ความสุขในชาติหน้า คือ จะได้เสวยอารมณ์ชมสมบัติในมนุษย์และสวรรค์ เป็นเทพบุตรเทพธิดาชั้นฉกามาเทวสถาน มีสุขสำราญอยู่ในวิมานแก้ว แล้วด้วยนางฟ้าเป็นบริวาร ด้วยอนุภาพที่มีปัญญารู้เท่าทันในสังขาร ไม่ทำจิตให้หวั่นไหวด้วยโลกธรรมทั้ง ๘ ประการ ดังรับประทานวิสัชนามาฉะนี้ ได้แสดงมาในธรรมทั้ง ๘ ประการ จัดเป็นมงคลที่ ๓๕ ก็จบลงเพียงเท่านี้...

            ย้อนกลับ         ปิดหน้านี้         ถัดไป