มงคลที่ ๒๖
กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง เอตัมมังคะละมุตตะมัง
การฟังธรรมตามกาล เป็นอุดมมงคล

    กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง นามะ ยัสสะมิง กาเล โหติ อุทธัจจะสะหะคะตัง จิตตัง โหติ กามะวิตักกาทีนัง วา อัญญะตะเรนะ อะภิภูตันติ.

   บัดนี้ จักได้วิสัชนาในมงคลที่ ๒๖ ตามพระบาลีและอรรถกถาว่า กาเลนะ ธัมมัสสะวะนัง แปลว่า บุคคลใดได้ฟังธรรมเทศนาของพระสัมมาสัมะพุทธเจ้าเนือง ๆ ตามกาล จัดว่ามงคลอันประเสริฐ

   การฟังธรรมนั้น คือ วันขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนหนึ่ง ๔ วัน หรือเดือนหนึ่ง ๘ วัน คือ วันขึ้น ๔ ค่ำ ขึ้น ๘ ค่ำ ขึ้น ๑๔ ค่ำ ขึ้น ๑๕ ค่ำ แรม ๕ ค่ำ แรม ๘ ค่ำ แรม ๑ ค่ำ แรม ๑๕ ค่ำ เดือนหนึ่ง ๘ วัน ฟังธรรม

   ถามว่า การฟังธรรมนั้นเืพื่อประโยชน์อะไร แก้ว่า เพื่อประโยชน์จะให้เกิดความศรัทธาเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัย ๑ เพื่อจะให้เกิดความสังเวชสลดใจในสังขาร ๑ ความศรัทธาและความสังเวชทั้ง ๒ นี้ ท่านเรียกว่า เป็นบุญ เป็นกุศล เป็นเครื่องชำระจิตของสัตว์ทั้งหลายให้บริสุทธิ์พ้นจากอบายความเศร้าหมองในใจ

   ถามว่า ความเศร้าหมองในใจได้แก่อะไร แก้ว่า ได้แก่กามวิตก ๑ วิหังสาวิตก ๑ พยาบาทวิตก ๑ ทั้ง ๓ นี้ เกิดแต่อกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ ทำจิตใจให้เศร้าหมอง จึงได้ฟังธรรม เพื่อกำจัดวิตกทั้ง ๓ มีกามวิตกนั้น คือ ความตรึกตรองในกามคุณทั้ง ๕ คือ รูปดี เสียงดี กลิ่นดี รสดี สัมผัสดี ให้เกิดความโสมนัสยินดีรักใคร่ เกิดกามฉันทราคะหากครอบงำทำจิตให้เศร้าหมอง กามคุณมี ๒ คือ กิเลสกาม ได้แก่รูป เสียง กลิ่น รส เครื่องสัมผัส ๑ พัศดุกาม ได้แก่ เงินททองข้าวของเครื่องใช้สอย ๑ ความตรึกตรองอยู่ในกามคุณทั้ง ๒ นี้ เรียกว่ากามวิตก ทำให้จิตเศร้าหมอง ๑ วิหิงสาวิตกนั้น ได้แก่ความตรึกตรองที่จะเบียดเบียนสัตว์ทั้งหลายให้ได้รับความลำบาก หรือให้ปราศจากลาภยศความสรรเสริญ วิหิงสาวิตกนี้ ก็ทำให้จิตเศร้าหมอง ๑

   พยาบาทวิตกนั้นได้แก่ ความตรึกตรองที่จะทำให้สัตว์ทั้งหลายเสียหายด้วยกาย จึงคิดฆ่าและแช่งด่า พยาบาทวิตกก็ทำให้จิตเศร้าหมอง ๑ ความวิตกทั้ง ๓ กามวิตกมีสัตว์และสังขารเป็นอารมณ์ วิหิงสาวิตกมีสัตว์เป็นอารมณ์อย่างเดียวพยาบาทวิตกมีสัตว์บ้าง มีสังขารเป็นอารมณ์

    การฟังธรรมเป็นเครื่องระงับวิตกทั้ง ๓ มีกามวิตกเป็นต้น และเป็นเหตุให้เกิดศรัทธาความเลื่อมใสในคุณพระรัตนตรัยและทาน ศีล ภาวนา และให้เกิดความสังเวชสลดใจในสังขารและอกุศลกรรม ที่จะชักนำสัตว์ให้ไปสู่อบายทาง ๔ มีนรก เป็นต้น และให้เกิดหิริ ความละอายบาป โอตตัปปะ ความสะดุ้งกลัวต่อบาป ก็อาศัยแก่การฟังธรรม

   การฟังธรรมจะนำมาซึ่งคุณ ๕ ประการ คือ ธรรมอันใดที่ตนยังไม่เคยฟังก็จะได้ฟัง ๑ หรือธรรมที่ตนได้เคยฟังแล้วมาได้ฟังเข้าอีกจะมีปัญญารู้ธรรมจำได้ ๑ หรือมีความสงสัย ครั้นมาฟังธรรมก็สิ้นความสงสัยในสันดาน ๑ จะทำความเห็นให้ตรงต่อพระศาสนา ๑ จิตจะเห็นซึ่งพระธรรมว่าเป็นของส่องสว่างให้ทางปัญญา ๑ เป็น ๕ ดังนี้

   ยังมีอานิสงส์แห่งการฟังธรรมอีก ๔ คือ จะยังพระพุทธศาสนาให้รุ่งเรืองเจริญไปข้างหน้าช้านาน ๑ ตายแล้วจักไปสู่สุคติ คือ มนุษย์และสวรรค์ชั้น ฉกามา ๑ จะได้ตรัสรู้มรรคและผล ๑ จะเป็นพหูสูตรรู้พระธรรมมาก ๑ รวมเป็น ๔ อนึ่ง การฟังพระธรรม ย่อมให้เกิดเป็นนิสัยแก่ผู้ฟังทั้งมนุษย์และเทวดา และสัตว์ดิรัจฉาน ดังวัตถุนิทานเรื่องแม่ไก่ฟังธรรม-เรื่องงูเหลือม-ค้างคาว๕๐๐ – ฯลฯ เป็นต้น..

            ย้อนกลับ         ปิดหน้านี้         ถัดไป