มงคลที่ ๔
ปฎิรูปะเทสะวาโส จะ เอตัมมังคะละมุตตะมัง
การอยู่ในประเทศอันสมควร เป็นอุดมมงคล

   บัดนี้ จะได้วิสัชนาในมงคลที่ ๔ ตามพระบาลีว่า ปะฎิรูปะเทสะวาโสนามะ จะตัสโส ปะริสา เย ปะเทเส พุทธะสาสะนัสสะ ปะติฎฐิเต ปะฎิวสันติ อธิบายความว่า บริษัททั้ง ๔ มีอยู่ในประเทศใด ย่อมเป็นที่ตั้งแห่งพระพุทธศาสนา ประเทศนั้นชื่อว่าปฎิรูปเทส เป็นประเทศอันสมควร จัดเป็นมงคลอันประเสริฐแท้จริง ปฎิรูปเทสนั้นท่านประสงค์เอามัชฌิมประเทศ มีสัณฐานดังตะโพน วัดกลมโดยรอบได้ ๙๐๐ โยชน์ ตั้งอยู่ในท่ามกลางแห่งแผ่นดิน เป็นที่บังเกิดแห่งพระอริยเจ้าทั้งหลาย มีสมเด็จพระพุทธเจ้าเป็นต้น

   มีพระยาบรมจักรพรรดิ์เป็นที่สุด ที่นั้นเป็นปฎิรูปเทสแท้ อีกนัยหนึ่งท่านว่า ประเทศใดที่มี พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ทรงไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา คำสั่งสอน อุบาสก อุบาสิกาให้รักษาศีล ๕ ศีล ๘ นับถืออุโบสถในวัน ๘ ค่ำ ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ให้ทำเนือง ๆ ไม่ขาดประเทศนั้นก็จัดเข้าในปฎิรูปเทส ความว่า บุคคลผู้ใดอยู่ในปฎิรูปเทส ย่อมได้อนุตตริยะ ๖ ประการ

   ที่ ๑ ทัสสนานุตตริยะ ความเห็นอันประเสริฐ คือ ได้เห็นพระพุทธเจ้าผู้บริสุทธิ์ฆ่ากิเลสตายทำลายกิเลสหลุด ถึงวิมุตติ ตรัสรู้ซึ่งพระอริยสัจทั้ง ๔ ด้วยพระองค์เอง หรือได้เห็นสาวกของพระพุทธเจ้าผู้ปฎบัติดี พร้อมด้วยศีลสมาธิปัญญา

    ที่ ๒ สะวะนานุตตริยะ ความได้ฟังอันประเสริฐ คือได้ฟังพระธรรมของพระพุทธเจ้า ที่พระองค์ทรงตรัสเทศนาเอง หรือได้ฟังธรรมของสาวกแห่งพระพุทธเจ้าเทศนา

    ที่ ๓ ลาภานุตตริยะ ความได้ลาภอันประเสริฐ คือ ได้ศรัทธาความเลื่อมใส ในคุณแห่งพระพุทธเจ้า หรือได้ความเชื่อความเลื่อมใส ในสาวกแห่งพระพุทธเจ้า

    ที่ ๔ สิกขานุตตริยะ ความได้ศึกษาอันประเสริฐ คือ ศึกษาในอธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ไตรสิกขาทั้ง ๓ ตามธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าที่ตรัสด้วยพระองค์เอง

   ที่ ๕ ปาริจะยานุตตริยะ ความบำรุงบำเรออันประเสริฐ คือบำรุงบำเรอซึ่งพระพุทธเจ้าผู้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เอง หรือบำรุงบำเรอซึ่งสางกของพระพุทธเจ้า

    ที่ ๖ อะนุสสะตานุตตริยะ ความระลึกอันประเสริฐ คือ ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้ามีพระอรหันต์เ้ป็นต้น หรือระลึึกถึงสาวกของพระพุทธเจ้า ๑ อนุตตริยะทั้ง ๖ นี้ ย่อมมีแก่บุคคลผู้อยู่ในปฎิรูปเทส...

            ย้อนกลับ         ปิดหน้านี้         ถัดไป