นิทานอิงธรรม

รุกขธัมมชาดก

    ในสมัยหนึ่ง เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จประทับอยู่ ณ เชตวันมหาวิหาร ทรงทราบข่าวการทะเลาะกันระหว่างพระญาติของพระองค์เพราะปัญหาเรื่องแย่งน้ำกันทำการเกษตร จึงเสด็จไปเพื่อสั่งสอนพวกพระญาติทั้งหลายให้รู้จักรักสมานสามัคคีกันในหมู่ญาติ และตรัสกับพระญาติว่า

     “ มหาบพิตรทั้งหลาย ท่านทั้งหลายได้นามว่า เป็นญาติกัน ควรจะสมัครสมานบันเทิงกัน เพราะว่าเมื่อญาติทั้งหลายยังสามัคคีกันอยู่ หมู่ปัจจามิตรย่อมไม่ได้โอกาส ที่เป็นมนุษย์ยกไว้ก่อนเถิด แม้ต้นไม้ทั้งหลายอันหาเจตนาไม่ได้ ยังควรจะได้สามัคคีกัน
     เพราะในอดีตกาลที่ประเทศป่าหิมพานต์ มหาวาตภัยรุกรานป่ารัง แต่เพราะป่ารังนี้เกี่ยวพันธ์กันและกัน แน่นด้วยลำต้นกอพุ่มและเครือเถา ไม่อาจที่จะให้ต้นไม้แม้ต้นเดียวโค่นลงได้ พัดผ่านไปตามยอดเท่านั้น แต่ได้พัดเอาต้นไม้ต้นใหญ่ต้นหนึ่งที่ตั้งอยู่บนเนิน แม้จะสมบูรณ์ด้วยสาขาและค่าคบล้มลงที่พื้นดินถอนรากถอนโคนขึ้นเลย เพราะไม่เกี่ยวพันธ์ด้วยต้นไม้อื่น ๆ ด้วยเหตุนี้ จึงควรที่พวกท่านจะสามัคครสมานบันเทิงใจกัน”
และทรงเล่านิทานในอดีต เรื่องมีอยู่ว่า

    ในสมัยหนึ่ง เมื่อท้าวเวสสุวรรณองค์เก่าได้จุติ ท้าวเวสสุวรรณองค์ใหม่ก็ได้ประกาศข่าวไปยังหมู่เทวดาทั้งหลายว่า “ เทวดาทุกตนสามารถที่จะเลือกหาที่อยู่ที่ตนเองพอใจได้ ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้ในป่าหรือที่ไหนก็ได้ ” แต่ในเรื่องนี้จะพูดถึงเฉพาะพวกรุกขเทวดาเท่านั้น

    คราวนั้นพระโพธิสัตว์เจ้าเสวยพระชาติเป็นรุกขเทวดา ณ ป่ารังแห่งหนึ่งในเขตป่าหิมพานต์ ท่านบอกหมู่ญาติว่า “ เมื่อท่านทั้งหลายจับจองวิมานหรือที่อยู่ของตน จงอย่าจับจองต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ บนเนิน แต่จงจับจองอยู่รอบ ๆ ที่อยู่ที่เราจับจองไว้แล้วในป่ารังนี้ เถิด ” เหล่าเทวดาที่เป็นบัณฑิตก็ทำตามคำแนะนำของพระโพธิสัตว์จับจองที่อยู่ของตนล้อมรอบวิมานของพระโพธิสัตว์เจ้า ส่วนพวกเทวดาที่มิใช่บัณฑิตต่างพูดกันว่า

    “ พวกเทวดาที่เลือกวิมานของตนเองอยู่ในป่า ตามคำแนะนำของพระโพธิสัตว์ ไม่ฉลาดเอาเสียเลย เลือกอยู่ในป่าห่างไกลความเจริญ ลาภสักการะก็ไม่อุดมสมบูรณ์ ที่ตั้งวิมานก็ไม่สง่างาม ไม่เหมือนพวกเทวดาที่อยู่ตามหมู่บ้านหรือตามในเมือง เทวดาพวกนั้น นอกจากจะมีลาภยศอุดมสมบูรณ์แล้ว ประชาชนยังให้ความเคารพและไปถวายสักการะอยู่เป็นประจำ วิมานก็สง่างามเพราะตั้งอยู่ในที่โล่งแจ้งและโดดเด่น มองเห็นแต่ไกล ”

    จึงตกลงใจเลือกต้นไม้ใหญ่ที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองและหมู่บ้าน ตั้งแต่นั้นมาเทวดาที่เลือกวิมานใกล้หมู่บ้านก็อุดมสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะสมความตั้งใจทุกประการ แต่อยู่มาวันหนึ่ง พายุฝนได้พัดกระหน่ำอย่างรุนแรง เมื่อพัดไปถึงหมู่บ้าน ผลที่ได้รับคือ บ้านเรือนประชาชนบางส่วนพังเสียหายต้นไม้ที่ตั้งอยู่ใกล้ตัวเมืองหรือหมู่บ้านส่วนใหญ่หักโค่นล้ม เพราะต้นไม้เหล่านั้นเป็นต้นไม้ใหญ่ ไม่ลู่ลม ตั้งอยู่โดดเดี่ยว

    เมื่อลมฝนพัดมาก็ไม่มีที่บังลม ทำให้ไม่สามารถต้านลมได้ แต่เมื่อพัดไปถึงเขตป่ารังที่พวกเทวดาบัณฑิตเลือกเป็นวิมานของตน ตามคำแนะนำของพระโพธิสัตว์เจ้า ก็พัดผ่านไปโดยไม่ได้ทำความเสียหายให้กับต้นไม้ที่ตั้งอยู่ในป่ารังเลยแม้แต่ต้นเดียว เพราะต้นรังที่อยู่ในป่านั้น ถึงแม้จะไม่โดดเด่นเป็นสง่า แต่ตั้งอยู่หนาแน่น กิ่งก้านสาขาเกี่ยวพันธ์กัน ต้นเล็กค้ำต้นใหญ่ ต้นใหญ่บังลมให้ต้นที่เล็กกว่า ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันจึงปลอดภัยจากพายุฝน

    กล่าวถึงพวกเทวดาที่เลือกต้นไม้ใหญ่นั้นเป็นวิมานก็ไม่มีที่อยู่จึงพากันไปป่าพิมพานต์ที่พระโพธิสัตว์อยู่และเล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับวิมานของตนเองให้พระโพธิสัตว์ฟัง พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า “ ขึ้นชื่อว่าผู้ที่ไม่เชื่อถ้อยคำของหมู่บัณฑิต ย่อมถึงซึ่งความพินาศเหมือนกับพวกเทวดาที่ไม่เชื่อคำของเราจึงไม่มีที่อยู่ ” ฉะนี้

    ขึ้นชื่อว่า ญาติมีมากเป็นการดี คือเมื่อมีมากต่างถ้อยอาศัยกัน ผูกพันธ์กัน เป็นสิ่งประเสริฐ แม้จะมีภัยมาถึงก็สามารถที่จะช่วยเหลือกันและกันให้รอดพ้นจากอันตรายได้ แต่ถ้าไม่มีญาติหรือมีญาติแต่เป็นประเภทช่วยกิน มิใช่ประเภทช่วยเหลือเกื้อกูลก็จะเป็นเหมือนต้นไม้ใหญ่ที่มีกิ่งก้านสาขามาก แต่ไม่มีต้นไม้อื่นช่วยประคับประคอง มีแต่กาฝากที่คอยแย่งอาหารจากลำต้นกิ่งก้านสาขา ก็มีสิทธิ์ที่จะล้มได้ง่ายกว่าต้นไม้ที่ถึงจะต้นเล็ก แต่มีต้นอื่นช่วยประคับประคอง ถึงแม้จะหักโค่น บางครั้งก็ยังไม่ถึงพื้นเลยทีเดียวเพราะได้รับการประคับประคองจากต้นอื่น ๆ

    เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเล่าอดีตนิทานเสร็จ พระองค์ก็ตรัสย้ำในท้ายที่สุดว่า “ มหาบพิตรทั้งหลาย ฝูงญาติควรจะต้องได้ความสามัคคีกันก่อนอย่างนี้ทีเดียว เหตุนั้น ท่านทั้งหลายจงสมัครสมานปรองดองกันอยู่ด้วยต่างคนต่างเป็นที่รักกันตลอดไปเถิด....”

← ย้อนกลับ        ปิดหน้านี้          ถัดไป →