มันธาตุราชา

   เมื่อสมเด็จพระบรมศาสดาประทับอยู่ที่พระเชตวนาราม ทรงปรารภภิกษุผู้มีความฝักใฝ่ใคร่จะสึกรูปหนึ่งให้เป็นต้นเหตุ แล้วจึงทรงแสดงชาดกนี้แก่ภิกษุทั้งหลายว่า

   “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อันความปรารถนา ในกามารมณ์ยากที่จะให้เพียงพอได้ เรื่องนี้นักปราชญ์ในปางก่อน ผู้มีอำนาจแผ่ไปในมนุษย์และสวรรค์ ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่อาจให้เพียงพอกับความปรารถนาในกามารมณ์ได้”

   ในต้นภัทรกัปนี้ที พระเจ้ามหาสมมุติราช พระองค์หนึ่ง ได้เสวยราชสมบัติเป็นพระบรมกษัตย์องค์แรกในโลก พระองค์มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า พระเจ้าโรชราช แล้วมีพระราชโอรสสืบราชสมบัติติดต่อกันดังนี้ คือ พระเจ้าวรโรชราช พระเจ้ากัลยาณบดี พระเจ้าอุโบสถราช พระเจ้าวรอุโบสถ และพระเจ้าวรอุโบสถนี้มีพระราชโอรสทรงพระนามว่า พระเจ้ามันธาตุราช

   พระเจ้ามันธาตุราชนั้น ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิราชบริบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีฤทธาภินิหารแผ่ไปในทวีปใหญ่ทั้ง ๔ มีทวีปน้อย ๒ พันเป็นบริวาร แต่ถึงอย่างนั้นพระองค์ก็ยังไม่พอพระราชประสงค์    วันหนึ่งพระองค์จึงทรงตบพระหัตถ์เบื้องซ้ายและเบื้องขวา เพื่อให้ห่าฝนแก้ว ๗ ประการ ตกลงมาจากอากาศดารดาษไปทั่วพื้นปฐพี จึงตรัสถามหมู่อำมาตย์ว่า ในที่ใดจะมีความสำราญยิ่งไปกว่านี้?”    “สวรรค์ชั้นจาตุมหาราชพระพุทธเจ้าข้า”

   พระองค์จึงเสด็จขึ้นทรงจักรแก้ว พร้อมด้วยหมู่อำมาตย์ ตามเสด็จขึ้นไปสู่ชั้นจาตุมหาราช เมื่อมหาราชทั้ง ๔ ได้ทราบ จึงพาหมู่เทพนิกรออกไปต้อนรับอย่างมโหฬารเชิญให้ผ่านสมบัติชั้นจาตุมหาราชอยู่ตลอดกาลนาน ถึงอย่างนั้นก็ยังไม่พอพระราชประสงค์อีก จึงตรัสถามท้าวมหาราชทั้ง ๔ ว่า    “ที่มีความสำราญยิ่งกว่านี้ ยังมีอีกหรือไม่?”

   ท้าวมหาราชทั้ง ๔ จึงกราบทูลว่า “ยังมีอีก คือ สวรรค์ชั้นดาวดึงส์”    พระองค์จึงทรงจักรแก้วพร้อมด้วยราชบริพาร บ่ายพระพักตร์สู่ดาวดึงส์เทวสถาน ท้าวมัฆวานเทวราชผู้เป็นใหญ่ จึงพาเทพบุตรเทพธิดาทั้งหลาย เสด็จออกไปต้อนรับแห่แหนเข้าสู่ดาวดึงส์    ส่วนขุนพลแก้วก็พาจักรแก้วกับบริวารกลับสู่มนุษย์โลก แล้วท้าวมัฆวานเทวราชจึงแบ่งทิพย์สมบัติในดาวดึงส์ ถวายพระเจ้ามันธาตุราชกึ่งหนึ่ง    จำเดิมแต่นั้นมาพระราชาทั้งสองพระองค์ คือ พระเจ้ามันธาตุราชกับท้าวมัฆวานเทวราชได้เสวยทิพย์สมบัติอยู่ในดาวดึงสืบต่อไปกำหนดนับได้ ๓ โกฎิ ๖ หมื่นปีในมนุษย์ ท้าวมัฆวานองค์ใหม่อุบติขึ้นแทนโดยอุบายนี่ล่วงไปได้ ๓๖ ชั่วพระอินทร์ ซึ่งเรียกท้าวมัฆวานเทวราช

   ครั้นถึงพระอินทร์องค์ที่ ๓๗ พระเจ้ามันธาตุราชจึงทรงดำริว่า ต้องการอะไรที่เราจะเสวยทิพย์สมบัติให้เป็นสุขแต่เราผู้เดียว    ครั้นทรงพระดำริอย่างนี้แล้วก็ไม่สามารถจะปลงพระชนม์ท้าวมัฆวานเทวราชนั้นได้ จึงทรงเป็นทุกข์ในพระราชหฤทัย ทั้งชราภาพก็เบียดเบียนพระวรกาย จึงพลัดตกลงมาจากเทวโลกสู่พระราชอุทยานของพระองค์ ด้วยเหตุว่าธรรมดามนุษย์ย่อมไม่แตกกายทำลายขันธ์ในเทวโลก

   แต่เมื่อถึงพระราชอุทยานแล้ว ก็หาเป็นอันตรายไม่ นายอุทยานจึงนำความไปกราบทูลแก่ราชตระกูล ราชตระกูลก็พากันออกมาจัดที่บรรทมถวายในพระราชอุทยาน ในขณะนั้น อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า    “บัดนี้จักให้ข้าพระบาททั้งหลายทำอย่างไร?”

   พระบาทท้าวเธอตรัสตอบว่า     “ท่านทั้งหลาย จงประกาศให้มหาชนรู้ทั่วกันว่า เราได้เสวยสมบัติจักรพรรดิราชและทิพย์สมบัติ ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชและชั้นดาวดึงส์ อยู่ตลอดกาลนาน ก็ยังไม่เพียงพอแก่ความปรารถนาในกามารมณ์ จึงพลัดตกลงมาจากเทวสถาน มาอยู่ในพระราชอุทยานนี้ บัดนี้ได้เสด็จสวรรคตแล้ว"”    ครั้นตรัสดังนี้แล้ว ก็เสด็จไปตามยถากรรมของพระองค์ กำหนดนับพระชนมายุของพระองค์ได้ ๑ อสงไขย    ครั้นสมเด็จพระจอมไตรบรมศาสดาทรงนำมาซึ่งอดีตเทศนาอย่างนี้แล้ว จึงตรัสว่า

   “ยาวตา จันทิมสริยา ปริหรันติ ฯลฯ สัมมาสัมพุทธสาวโก...แปลว่า

   พระจันทร์และพระอาทิตย์ทั้งหลาย ย่อมหมุ่นเวียนรอบเขาสิเนรุราช เปล่งรัศมีโอภาสไปในทิศทั้งหลาย มีประมาณเท่าใด คนและสัตว์ทั้งสิ้นที่อาศัยอยู่ในแผ่นดินมีประมาณเท่านั้นล้วนแต่เป็นทาสของพระเจ้ามันธาตุราชสิ้น    แต่ถึงอย่างนั้น พระเจ้ามันธาตุราชก็ยังไม่พอพระราชประสงค์ ด้วยห่าฝนแก้ว ๗ ประการที่ทรงบันดาลให้ตกลงมาเพื่อสงเคราะห์ทาสทั้งหลายของพระองค์    บัณฑิตรู้แล้วว่า กามารมณ์ทั้งหลายเป็นของมีสุขน้อย มีทุกข์มาก จึงไม่ยินดีกามารมณ์อันเป็นทิพย์ สาวกแห่งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมยินดีแต่พระธรรมเครื่องสิ้นตัณหาเท่านั้น”

   ครั้นสมเด็จพระภควันต์บรมศาสดาโปรดประทานพระธรรมเทศนาอย่างนี้แล้ว จึงทรงแสดงอริยสัจสืบต่อไป ภิกษุผู้มีความกระสันอยากสึกนั้น ก็ได้สำเร็จพระโสดาปัตติผล ส่วนภิกษุทั้งหลายที่มาด้วยกัน ก็ได้บรรลุมรรคผลตามวาสนาบารมีของตน ๆ    แล้วสมเด็จพระทศพลจึงทรงประชุมชาดกว่า พระเจ้ามันธาตุราชบรมจักรพรรดิ ในครั้งนั้น คือ เราตถาคตในบัดนี้แล”

←ย้อนกลับ        ปิดหน้านี้         ถัดไป→