นันโทปนันทนาคราช

      ได้ยินว่า ในสมัยหนึ่ง อนาถบิณฑิกคฤหบดีฟังพระธรรมเทศนาแห่งพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วกราบทูลนิมนต์ว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ วันพรุ่งนี้ขอพระองค์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ทรงรับภิกษาในเรือนข้าพระองค์เถิด" แล้วกลับไป

      พระผู้มีพระภาคทรงรับนิมนต์แล้ว ทรงใช้เวลากลางวันของวันนั้น อีกทั้งส่วนราตรีกาลให้ล่วงไปด้วยพุทธกิจอื่น ๆแล้ว ถึงใกล้รุ่งจึงทรงตรวจดูหมื่นโลกธาตุ ครั้งนั้นนันโทปนันทนาคราชาสู่คลองพุทธจักษุในทางแห่งพระญาณของพระองค์ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงคำนึกดูว่า "นาคราชผู้นี้มาสู่คลองในทางแห่งญาณของเรา อุปนิสัยของเขามีอยู่หรือนาค" ก็ทรงเห็นว่า "นาคราชนี้เป็นมิจฉาทิฐิไม่เสื่อมใสในพระไตรรัตน์" จึงทรงรำพึงต่อไปว่า "ใครเล่าหนอ จะพึงเปลื้องนาคราชนี้จากมิจฉาทิฐิได้" ก็ได้ทรงเห็นพระมหาโมคคัลลานเถระ (ว่าจะสามารถทำอย่างนั้นได้) ต่อนั้น ครั้นราตรีรุ่งสว่างทรงชำระพระกายแล้ว จึงตรัสเรียกท่านอานนท์ว่า "อานนท์ เธอจงบอกแก่ภิกษุ ๕๐๐ รูปว่า ตถาคตจะไปจาริกในเทวโลก"

      พอดีวันนั้น พวกนาคราชได้จัดแต่งที่กินเลี้ยงสำหรับนันโทปนันทนาคราช นาคราชนั้นมีเศวตรฉัตรทิพกั้น มีเหล่าระบำ ๓ พวก และนาคบริษัทแวดล้อม นั่งชมข้าวน้ำต่างอย่างที่เขาจัดลงในภาชนะทิพย์ทั้งหลาย อยู่บนรัตนบัลลังก์ทิพย์ ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทำอย่างที่นาคราชมองเห็น เสด็จมุ่งไปดาวดึงสเทวโลกพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ รูป ผ่านไปทางเบื้องบนเพดานของนาคราชนั้นทีเดียวก็แลสมัยนั้น ความเห็นชั่วเช่นนี้เกิดขึ้นแก่นันโทปนันทนาคราชว่า "ชิชะ พวกสมณะหัวโล้นนี่ เข้า ๆ ออก ๆ ภพดาวดึงส์ของพวกเทวดา โดยทำอำนาจเหนือพวกเราทุกทีไป ทีนี้ข้า ฯ จะต้องไม่ให้สมณะพวกนี้โปรยละอองตีนลงบนหัวพวกเราได้อีกต่อไปละ" ว่าแล้วก็ลุกจากบัลลังก์ไปยังเชิงเขาสิเนรุ ละอัตภาพนั้นเสีย นิรมิตเป็นนาคใหญ่พิลึกพันโอบเขาสิเนรุด้วยขนด ๗ รอบ ทำดังพานขึ้นเบื้องบนเขาสิเนรุ แล้วกุมเอาภพดาวดึงส์ไว้ด้วยพังพานอันคว่ำลง ถึงกับมองไม่เห็นภพดาวดึงส์

      ครั้งนั้น ท่านรัฐบาลได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ในกาลก่อนข้าพระองค์ยืน ณ ที่ตรงนี้ ย่อมมองเห็นเขาสิเนรุ เห็นบริภัณฑ์เขาที่ล้อมรอบ เขาสิเนรุ เห็นภพดาวดึงส์ เห็นปราสาทไพชยนต์ เห็นธงบนยอดปราสาทไพชยนต์, ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุ อะไรหนอเป็นปัจจัย บัดเดี๋ยวนี้ข้าพระองค์มองไม่เห็นเขาสิเนรุ ฯลฯ ไม่เห็นธงบนยอดปราสาทไพชยนต์" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอกว่า "ดูกรรัฐบาล นี่คือนาคราชชื่อนันโทปนันทะ ขัดเคืองท่านทั้งหลาย พันโอบเขาสิเนรุด้วยขนดถึง ๗ รอบแล้วบังข้างบนเสียด้วยพังพาน (จึง) ทำให้มืดอยู่" ท่านรัฐบาลกราบทูลอาสาว่าจะทรมานนาคราชนั้น แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าไม่ทรงอนุญาต ลำดับนั้นภิกษุทั้งปวงเช่นท่านภัททิยะ ท่านราหุลเป็นต้นลุกขึ้น (ทูลอาสา) โดยลำดับพระผู้มีพระภาคเจ้าก็หาทรงอนุญาตไม่ ในที่สุด พระมหาโมคคัลลานเถระกราบทูลอาสาว่า "ข้าพระองค์ขอทรมานเอง" พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงอนุญาตว่า "ทรมานเถิด โมคคัลลานะ"

      พระเถระก็ละอัตภาพ (เดิม) เสียแล้วนิมิตเป็นเพศนาคราชใหญ่ (ยิ่งกว่านันโทปนันทนาคราช) พันโอบ (ตัว) นันโทปนันทะไว้ด้วยขนดถึง ๑๔ รอบ ตั้งพังพานของตนไว้เหนือพังพานนันโทปนันทะนั้นแล้วบีบ (รัด) เข้ากับเขาสิเนรุ นาคราชบังหวนควันขึ้น (รมพระเถระ) ฝ่ายพระเถระจึงว่า "มิใช่ควันจะมีอยู่แต่ในร่างกายของเจ้าผู้เดียว ของข้า ฯ ก็มีเหมือนกัน" แล้วบังหวนควันขึ้น (บ้าง) ควันของนาคราชไม่เบียดเบียนพระเถระ แต่ควันของพระเถระเบียดเบียนนาคราช

      ลำดับนั้นนาคราชบันดลไฟขึ้นลนพระเถระ ฝ่ายพระเถระจึงว่า "มิใช่ไฟจะมีอยู่แต่ในร่างกายของเจ้าผู้เดียว ของข้า ฯ ก็มีเหมือนกัน " แล้วบันดลไฟขึ้น (บ้าง) ไฟของนาคราชไม่ทำพระเถระให้ลำบาก แต่ไฟของเถระทำนาคราชให้ลำบาก นาคราชคิดว่า "คนผู้นี้บีบรัดเราเข้ากันเขาสิเนรุไว้แล้ว ทั้งบังหวนควัน ทั้งบันดลไฟเอาทำเราให้ลำบาก" (จำเราจะแสร้งพูดจาด้วยโดยดีให้ตายใจ) จึงแสร้งถามขึ้นว่า "พ่อคุณ ท่านเป็นใคร" พระเถระบอกว่า "เราคือโมคคัลลานะ อย่างไรละ นันทะ"

      นาคราชลวงว่า "พระคุณท่านเจ้าข้า ขอพระคุณท่านโปรดดำรงความเป็นภิกษุตามเดิมเถิด "

      พระเถระก็ละอัตภาพนาคนั้นเสีย แล้วนิรมิตเป็นอัตภาพอันละเอียดเข้าทางช่องหูขวาของนาคราชนั้น แล้วออกทางช่องหูซ้าย เข้าทางช่องหูซ้ายออกทางช่องหูขวา โดยนัยเดียวกันนั้นเข้าทางช่องจมูกขวาออกทางช่องจมูกซ้าย เข้าทางช่องจมูกซ้ายออกทางช่องจมูกขวา พอนาคราชอ้าปากขึ้น พระเถระก็เข้าทางปากเดินจงกรมไปทางตะวันออก และทางตะวันตก*อยู่ภายในท้องของนาคราช

      พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเตือนา "โมคคัลลานะ จงใส่ใจไว้นะว่านาคนั่นมีฤทธิ์มาก"

      พระเถระ (อยู่ในท้องนาค) กราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อิทธิบาท ๔ ข้าพระองค์ได้เจริญทำให้มาก ทำให้เป็นดุจยานที่เทียมแล้ว ทำให้เป็นดุจของใช้ที่จัดเตรียมไว้ เฝ้าตั้งไว้มิให้เสื่อม ช่ำชองทำได้ทันที ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อย่าว่าแต่นันโทปนันทะ (ผู้เดียวเลย) ข้าพระองค์จะพึงทรมานนาคราชเช่นนันโทปนันทะนี้ตั้งร้อยตั้งพันตั้งแสนก็ได้"

      ฝ่ายนาคราชคิดแค้นว่า "เมื่อเข้าไป ข้า ฯ ไม่ (ทัน) เห็นก็ช่างก่อนเถิด เวลาออกมาทีนี้ละ ข้า ฯ จะต้องยัดแกเข้าซอกเขี้ยวขบเสียจงได้ " จึงแสร้งพูดอ้อนวอนว่า "นิมนต์ออกมาเถิด เจ้าข้า โปรดอย่าเดินไปมาอยู่ในท้องทำข้าพเจ้าให้ลำบากเลย" พระเถระก็ออกมายืนอยู่ข้างนอก นาคราชพอเห็นว่านี้คือท่าน ก็ปล่อยลมนาสวาต (คือพ่นลมออกทางจมูกอย่างแรง สามารถพัดเอาข้าศึกไปได้ ?) พระเถระเข้าจตุตถฌานทันที ลมนั้นไม่อาจทำแม้แต่เส้นขนของท่านให้ไหว นัยว่า ภิกษุนอกนั้นพึงอาจทำปาฏิหาริย์ทุกอย่างตั้งแต่ต้นมาได้แต่ถึงฐานะ (คือกรณีปล่อยลมนาสวาต) นี้เข้า จักไม่อาจเข้าสมาบัติเป็นขิปปนิสันติ (เข้าได้ฉับพลัน) อย่างนั้น เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงไม่ทรงอนุญาตการทรมานนาคราชแก่ภิกษุเหล่านั้น

      นาคราชคิดท้อใจว่า "เราไม่อาจทำแม้แต่เส้นขนขอสมณะผู้นี้ให้ไหวได้ด้วยลมนาสวาต สมณะนี้นี่มีฤทธิ์มากนะ" เมื่อเห็นว่าสู่ไม่ได้ก็กลัวหนีไป พระเถระจึงละอัตภาพนั้น แปลงเป็นรูปครุฑ แสดงสุบรรณวาต (ลมปีกครุฑ คือกระพือปีกทำให้เกิดลมอย่างแรงขึ้น) ติดตามนาคราช นาคราชเห็นว่าจะหนีไม้พ้น จึงละอัตภาพนั้นเสียแล้วจำแลงเพศเป็นมาณพ กล่าวขึ้นว่า "พระคุณเจ้าข้า ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นที่พึง" พลางกราบเท้าพระเถระ พระเถระเห็นนาคหมดพยศจึงว่า "นันทะ พระศาสดาก็เสด็จมาด้วย มาเราจักไปเฝ้ากัน”

      พระมหาโมคคัลลานะทรมานนาคราชทำให้หมดพิษแล้ว ก็พาไปสู่สำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้า นาคราชบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้ากล่าวว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ของถึงพระองค์เป็นที่พึ่ง" พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส (ประทานพร) ว่า "สุขี โหหิ นาคราช = จงเป็นสุขเถิด นาคราช" แล้วมีภิกษุสงฆ์แวดล้อมเสด็จไปสู่นิเวสน์ของอนาถบิณฑิกคฤหบดีอนาถบิณฑิกคฤหบดีกราบทูลถามว่า "ไฉนจึงได้เสด็จมาถึงจนสาย พระเจ้าข้า" ตรัส (เล่า) ว่า "โมคคัลลานะกับนันโทปนันทนาราชเกิดสงครามกันขึ้น" กราบทูลถามว่า "ใครชนะ ใครแพ้ พระเจ้าข้า "

      ตรัสบอกว่า "โมคคัลลานะชนะ นันโทปนันทะแพ้"

      อนาถบิณฑิกะจึงกราบทูลว่า "พระเข้าข้า ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์ (เสวย) ภัตตาหารของข้าพระองค์ โดยลำดับเดียว (คือไม่เว้น) ตลอด ๗ วันเถิด ข้าพระองค์จักทำสักการะแด่พระเถระสัก ๗ วัน" แล้วได้ทำมหาสักการะแก่ภิกษุ ๕๐๐ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขจนครบ ๗ วัน

← ย้อนกลับ        ปิดหน้านี้         ถัดไป →