มงคลที่ ๒๓
นิวาโต เอตัมมังคะละมุตตะมัง
ความเจียมตน เป็นอุดมมงคล

    นิวาโต นามะ นีจะมะนะตา นิวาตะวุตติ กายะวาจายะ สะมันนาคะโต ปุคละโล นีหะฏะทิฏฐิ ปาทะปุญฉะนะโจฬะกะสะทิโส โหตีติ.

    ณ บัดนี้ จักได้วิสัชนาในนิวาโต จัดเป็นมงคลที่ ๒๓ ตามบาลี อรรถกถาว่า นิวาโต นาม แปลว่า บุคคลใดในโลกนี้ประพฤติตนเป็นคนต่ำ กายต่ำ วาจาต่ำ คือ พิจารณาเห็นโทษในมานะทิฏฐิ ความถือตัวตน สัตว์บุคคล และถือชาติตระกูลยศศักดิ์ แล้วก็ละเสียซึ่งทิฏฐิมานะไม่ถือตัว ตน สัตว์ บุคคล ทำตนให้ต่ำ กายวาจาเหมือนผ้าเช็ดเท้า จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ

    อธิบายว่า ความประพฤติตน ต่ำกาย ต่ำวาจาเหมือนโคอุสุภราชมีเขาอันหลุดเสีย หรือเหมือนงูพิษที่เขี้ยวหลุดเสีย หรือเหมือนพญาครุฑอันปีกหักเสีย ไม่มีอำนาจที่จะแกล้วกล้าอาจหาญ จึงเรียกว่านิวาโต ด้วยไม่มีฤทธิ์ คือ ห้าวหาญมานะทิฏฐินั้นน้อยเบาบางจากสันดาน

    ถามว่า มานะ ทิฏฐิทั้ง ๒ นี้ เกิดด้วยอะไร แก้ว่า มานะเกิดด้วยชาติตระกูล เกิดด้วยลาภและยศ และบริวาร ทิฎฐิเกิดด้วยไม่คบนักปราชญ์ และไม่ฟังธรรมของนักปราชญ์ มานะเกิดด้วยชาตินั้น คือ เกิดเป็นกษัตริย์ตั้งแต่วันเสวยสมบัติมา มีอานุภาพมากกว่าคนทั้งปวง ๑ มานะเกิดด้วยตระกูลนั้น คือ เกิดในตระกูลสูงมีกษัตริย์เป็นต้น ๑

    อธิบายว่า ผู้มีชาติ อาศัยชาติให้เกิดมานะ ผู้มียศอาศัยตระกูลให้เกิดมานะ ผู้มีลาภ อาศัยบริวารให้เกิดมานะ ผู้มียศ อาศัยยศให้เกิดมานะ ผู้มีบริวาร อาศัยบริวารให้เกิดมานะ ถามว่า อาศัยบริวารให้เกิดมานะแล้วจะได้อาศัยอะไรเล่าจึงจะละมานะได้ แก้ว่า ให้อาศัยซึ่งธรรม คือ ปัญญาพิจารณาชาติ ตระกูล ลาภ ยศ บริวาร เหล่านี้ให้เห็นว่าไม่เที่ยง มีแล้วก็แปรปรวนยักย้ายเป็นอย่างอื่นไป หรือพิจารณาซึ่งชาติเป็นต้น ให้เห็นเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา จนเกิดนิพพิทาความเบื่อหน่าย จึงจะคลายจากมานะลงได้

    ถามว่า มานะมีอาการอย่างไร แก้ว่า มีอาการทำจิตให้สูงขึ้นด้วยจิตที่อาศัยชาติตระกูลเป็นต้น ทำตนไม่ให้อ่อนน้อมซึ่ง กาย วาจา แก่ผู้ใดผู้หนึ่งที่มีชาติตระกูลอันต่ำ

    อนึ่ง มานะทำกายและจิตให้สูงขึ้น ด้วยทิฏฐิวิปลาสอาศัยชาติตระกูล ไม่ให้อ่อนน้อมแก่ผู้ใด ด้วย กาย วาจา คือ ควรจะอ่อนน้อมด้วยกายก็ไม่อ่อนน้อม คือ ควรจะอ่อนน้อมด้วยวาจาก็ไม่อ่อนน้อม เพราะบังเกิดพร้อมด้วยมานะทิฏฐิ จึงไม่อ่อนน้อมด้วยวาจาลงได้

    ถามว่า น้อมกายน้อมวาจาจะให้น้อมอย่างไร แก้ว่า น้อมลงซึ่งศรีษะ เรียกว่าน้อมกายด้วยอรรถกถาว่า ตะมะหัง สิระสา นะมามิ แปลว่า ข้าพเจ้าเคารพซึ่งท่านนั้นด้วยศรีษะ น้อมวาจานั้น คือ กล่าวคำอ่อนหวาน ควรเรียกพ่อ เรียกแม่ เรียกพี่ เรียกน้า เรียกป้า เรียกลุง ตามสมควรแก่รูปความประพฤติต่ำกาย ต่ำวาจาเรียกว่า นิวาโท เป็นเครื่องละมานะทิฏฐิให้เบาบางจากสันดานของปุถุชน แต่จะละให้ขาดนั้นยังไม่ได้ ด้วยมานะนี้ละได้แต่พระอรหันต์พวกเดียว อนึ่ง มานะทิฏฐิทั้งสองนี้เป็นเหตุให้เกิดความฉิบหาย ถ้าเกิดมานะทิฏฐิด้วยชาติก็ให้เกิดความฉิบหายด้วยชาติ ถ้าเกิดมานะทิฏฐิด้วยตระกูล ก็ให้เกิดความฉิบหายแต่งตระกูล เหมือนวิฑูฑภศากยราชในนิทานเรื่องเจ้าวงศ์ศากยะและเรื่องสุนัขจิ้งจอกเป็นต้น...

            ย้อนกลับ         ปิดหน้านี้         ถัดไป