มงคลที่ ๒๑
อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ เอตัมมังคะละมุตตะมัง
ความไม่ประมาทในธรรมทั้งหลาย เป็นอุดมมงคล

   อัปปะมาโท จะ ธัมเมสุ นามะ กะตะโม อัปปะมาโท สะติมา โหติ กุสะลานัง ธัมมานัง อุปาทายาตีติ.

   ณ บัดนี้ จักได้วิสัชนา อัปปะมาโท จัดเป็นมงคลที่ ๒๑ ตามพระบาลี อรรถกถา อัปปะมาโท จะ แปลว่า บุคคลใดไม่มีความประมาทในธรรมทั้งหลายจัดเป็นมงคลอันประเสริฐ

   ถามว่า ความไม่ประมาทนั้นได้แก่อะไร แก้ว่า ได้แก่สติที่ระลึกถึงซึ่งกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ยังไม่บังเกิดขึ้นให้เกิดขึ้นในสันดาน จึงเรียกว่าไม่ประมาท

   อธิบายว่า บุคคลที่มีสติอยู่ในกุศลธรรมทั้งหลาย ด้วยอิริยาบททั้ง ๔ คือ เดิน ยืน นั่ง นอน ทั้ง ๔ นี้ ไม่ละเสียซึ่งสติมีความระลึกอยู่เป็นนิตยกาล เหมือนนายประตูมีความตรวจตราระวังรักษาอยู่เป็นธรรมดา เห็นใครแปลกหน้าเข้ามาแล้วก็ห้ามไว้ไต่ถามดูให้รู้การ ถ้าไต่ถามได้ความแล้วก็ให้เขาเข้าไป ถ้าเหลวไหลก็ขับไล่ให้กลับไปเสีย

   อนึ่ง สติเหมือนนายคลังรักษาของหลวง ต้องตรวจตราอยู่ในกาลทั้งปวงทุกเวลา ด้วยของที่เข้ามาและจะใช้ออกไป จะหมดไปเท่าไร ยังอยู่เท่าไรก็ต้องกำหนดไว้ให้รู้ อนึ่ง สติเหมือนบุรุษที่ถือหางเสือ เรือจะตรงไปหรือเลี้ยวลดที่คดงอ หลีกหลักตอก็อาศัยแต่หางเสือ หรือจะให้เรือไปทิศใต้ทิศเหนือ อาศัยแต่หางเสือทั้งสิ้น อนึ่ง สติเป็นโสภณเจตสิกประคองจิตที่เป็นกุศลไว้ เหมือนพี่เลี้ยงแห่งทารกประคองทารกไว้มิให้ล้มไปฉะนั้น อนึ่ง สติเป็นผู้ตักเตือนซึ่งจิตให้ระลึกถึงธรรมทั้งหลาย ที่เป็นกุศลสุจริต ทางกายวาจาจิตให้ผ่องใสไกลจากกิเลส

   อนึ่ง ความไม่ประมาทมีองค์ ๕ คือ ให้มีสติระลึกถึงการกุศลสุจริตทั้ง ๓ คือ กาย วาจา ใจ อยู่เนือง ๆ อย่าให้ขาด ๑ ให้มีสติระลึกถึงความละเว้นทุจริตทั้ง ๓ มีกายทุจริตเป็นต้นเนือง ๆ อย่าให้ขาด ๑ ให้มีสติระลึกถึงกองทุกข์ในอบาย และกองทุกข์คือความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เวียนว่ายอยู่ในวัฏฏสงสารอยู่เนือง ๆ อย่าให้ขาด ๑

   ให้มีสติระลึกถึงกรรมฐานภาวนาที่จะละราคะ โทสะ โมหะ ให้ปราศจากสันดานอยู่เนือง ๆ อย่าให้ขาด ๑ เมื่อรักษาพร้อมด้วยองค์ ๕ ดังกล่าวนี้ เรียกว่าความไม่ประมาท ความไม่ประมาทนี้ พระพุทธเจ้ากล่าวคำสรรเสริญและตรัสเทศนาแก่ภิกษุทั้งหลาย เืมื่อพระองค์จะเข้าสู่พระนิพพานว่า อานันตะยามิ โว ภิกขะเว ขะยะวะยะธัมมา สังขารา อัปปะมาเทนะ สัมปาเทถะ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตเรียกท่านทั้งหลายมาเตือนว่า ท่านทั้งหลายจงถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาท อันว่าสังขารธรรมทั้งหลายย่อมมีความสิ้นและความเสื่อมไป

   อนึ่ง กุศลธรรมทั้งปวง ยอมประชุมลงด้วยความไม่ประมาท คือ มีสติทั้งสิ้น เปรียบเหมือนรอยเท้าแห่งสัตว์ทั้งปวง ยอมประชุมลงรอยเท้าช้างทั้งสิ้น อนึ่ง บุึคคลไม่มีความประมาทแล้ว ย่อมจะได้ซึ่งมรรคและผลยกตนให้พ้นจากตัญหา อันบุคคลใดไม่ประมาทอาจสามารถจะให้สำเร็จมรรคและผลได้ ดังเช่นนิทานเรื่องของพระจักขุบาลเถระ ฯลฯ เป็นต้น...

            ย้อนกลับ         ปิดหน้านี้         ถัดไป