มงคลที่ ๑๙
อาระตี วิระตี ปาปา เอตัมมังคะละมุตตะมัง
การงดเว้นจากบาป เป็นอุดมมงคล

    อาระติ นามะ ปาเป อาทิง วะทัสสิโน มะนะสาเอวะ อะนะภิระตีติ ณ บัดนี้ จักได้วิสัชนาแก้ไข อาระตี วิระตี ปาปา จัดเป็นมงคลที่ ๑๙ ตามบาลี อรรถกถาว่า อาระตี วิระตี ปาปา แปลว่า บุคคลทั้งหลายใดที่ไม่ยินดีในการทำบาปทั้งหลาย คือ มาเห็นโทษในการทำบาปหยาบช้า แล้วไม่ทำการทำบาปด้วยกาย วาจา จิต ทำการสุจริตซึ่งนำมาซึ่งประโยชน์ในชาตินี้และชาติหน้า

   จัดเป็นมงคลอันประเสริฐ เรียกอาระตี มีความยินดีที่จะเว้นจากบาป บุคคลที่เว้นจากบาปนั้น อาศัยองค์ปัญญาที่จะพิจารณาเห็นโทษ คือ โทษชาตินี้และชาติหน้า โทษชาตินี้นั้น คือ เห็นว่านักปราชญ์ทั้งหลายที่เป็นมนุษย์และเทพยดา ยังเป็นปุถุชนหรือเป็นพระอริยเจ้าก็ดี ย่อมติเตียนซึ่งคนทั้งหลายที่ทำบาปในที่ลับและในที่แจ้ง

   อนึ่ง เห็นว่าชาติที่เกิดเป็นมนุษย์เป็นชาติอันบริสุทธิ์ไม่ควรทำบาป หรือเห็นว่าอายุของเราแก่ชราไม่ควรทำบาป หรือเห็นว่าตระกูลของเราไม่ควรทำบาป ถ้าเราทำบาปแล้วตระกูลของเราก็จะเสื่อมไป หรือคิดว่าเราทำบาปแล้วก็จะเป็นโทษหลวง ต้องรับพระราชอาญาจองจำพันธนาติดอยู่ในเรือนจำให้ได้เสวยทุกข์ในชาตินี้ เห็นโทษในชาติหน้า คือ เห็นว่าทำบาปแล้วจะต้องไปทนทุกข์อยู่ใอบายทั้ง ๔ มีนรกเป็นต้น

   เมื่อพิจารณาเห็นโทษในชาตินี้ชาติหน้าแล้วจึงคิดยินดีละเว้นซึ่งบาปต่าง ๆ ทางกาย วาจา ใจ ไม่มีสันดาน สา วิระติ อันว่าความวิรัติการเว้นมี ๓ ประการ คือ สัมปัตตริวัติ ๑ สมาทานวิรัติ ๑ สมุจเฉทวิรัติ ๑ เป็น ๓

    สัมปัตตวิรัตินั้น คือ เว้นในที่เฉพาะหน้า เห็นสัตว์ควรจะฆ่าก็ไม่ฆ่า เห็นทรัพย์ควรจะลักก็ไม่ลัก เห็นหญิงควรทำกาเมสุมิจฉาจารก็ไม่ทำ ควรจะกล่าวมุสาวาทล่อลวงก็ไม่กล่าว ควรจะกินน้ำเมา คือ สุราเมรัยก็ไม่กิน ควรจะกล่าวด่าว่าด้วยคำหยาบด้วยความโกรธ ก็ไม่กล่าวโทษโกรธด่าคำหยาบ ควรจะโลภก็ไม่โลภ ควรจะหลงก็ไม่หลงซึ่งวัตถุที่บังเกิดขึ้นเฉพาะหน้า ด้วยขันติและเมตตาเป็นประธาน เรียกว่า สัมปัตตวิรัติ เว้นด้วยการเห็นพร้อม ได้แก่ บุคคลที่ยังไม่ได้สมาทานสิกขากบททั้ง ๕ มีปาณาติบาติเป็นต้น ดังเช่นนิทานกาลนานเรื่องจักกะนะอุบาสกนางกุลธิดาและนางกาลียักษีณี ฯลฯ

            ย้อนกลับ         ปิดหน้านี้         ถัดไป