พระพุทธเจ้าเสด็จไป ทรงทรมานอาฬวกยักษ์

พระราชาแห่งเมืองอาฬวี

    ก็เพราะพระราชาพระนามว่า อาฬวกะ ทรงทิ้งนักฟ้อนและเครื่องอุปโภคต่าง ๆ เสด็จไปล่าเนื้อทุก ๆ ๗ วัน เพื่อป้องกันโจร เพื่อกีดกันปฏิราชา และเพื่อจะทำความพยายาม ในวันหนึ่ง ได้ทรงกระทำกติกากับพลกายว่า เนื้อหนีไปข้างผู้ใด เนื้อนั้นจะต้องเป็นภาระของผู้นั้นเท่านั้น ครั้งนั้น เนื้อได้หนีไปข้างพระราชาพระองค์นั้นแล พระราชาทรงสมบูรณ์ด้วยความ รวดเร็ว ทรงจับธนูติดตามเนื้อนั้นแต่พระองค์เดียว สิ้นทาง ๓ โยชน์ และ เนื้อทรายทั้งหลายมีกำลังรวดเร็ว ๓ โยชน์.     พระองค์ฆ่าเนื้อได้ตัวหนึ่งแล้วตัดเป็น ๒ ท่อน ผูกคล้องไว้ที่ปลายธนูใช้คันธนูแทนคานหาบเนื้อนั้นกลับสู่พระนคร ขณะที่เสด็จกลับสู่พระนครได้เข้าไปพักเหนื่อยที่โคนต้นไทรใหญ่ริมทาง และที่ต้นไทรนั้นมียักสิงสถิตอยู่ ถ้ามีคนเข้ามาในร่มเงาของต้นไทรนั้นก็จะต้องเป็นอาหารของยักษ์ทุกคน เมื่อยักษ์เห็นพระราาประทับนั่งที่โคนต้นไทรของตน จึงออกมาจับที่พระหัตถ์แล้วกล่าว่า “ ท่านต้องเป็นอาหารของเรา”

   พระราชาสะดุ้งพระทัยหวาดกลัวภัยอย่างที่สุด ไม่เห็นอุบายอย่างอื่นที่จะให้รอดพระชนม์ได้ จึงตรัสกับยักษ์ว่า “ ถ้าท่านปล่อยเราไป เราขอให้ปฏิญญาแก่ท่านว่าจะส่งมนุหนึ่งคนพร้อมด้วยคาถาดอาหารมาให้ท่านกินทุกวัน”

   ยักษ์ได้รับปฏิญาแล้วก็ปล่อยพระราชาไป ตั้งแต่วันนั้นพระราชาได้ส่งนักโทษในเรือนจำไปเป็นอาหารของยักษ์ทุกวัน จนนักโทษหมดเรือนจำ เมื่อไม่มีนักโทษส่งไปแล้วจึงรับสั่งให้จับคนแก่ไปให้ยักษ์วันละคนกระทั้งคนแก่ก็หมดไปทั้งเมือง จากนั้นรับสั่งให้จับเด็ก ๆ ส่งไปให้ยักษ์ ด้วยวิธีนี้ครอบครัวพ่อแม่ที่มีลูกหลานพากันอพยพหนีไปอยู่เมืองอื่นกันหมด

   แต่นั้นในวันหนึ่ง พวกอำมาตย์ค้นหาทั่วพระนคร ก็ไม่ได้ทารกแม้แต่คนเดียว จึงทูลแด่พระราชาว่า ข้าแต่พระสมมติเทพ ในพระนครไม่มีทารก เว้นแต่อาฬวกุมาร พระราชโอรสของพระองค์ในภายในบุรี พระราชาตรัสว่า บุตรของเราย่อมเป็นที่รักฉันใด ผู้เป็นที่รักยิ่งกว่าตน ย่อมไม่มีแก่สรรพโลก ฉันนั้น จงไปเถิด จงให้อาฬวกุมารแม้นั้นแล้ว รักษาชีวิตของเราไว้ ก็โดย สมัยนั้น พระราชมารดาของพระอาฬวกุมารทรงให้พระโอรสทรงสนานแล้ว ประดับตกแต่ง สวมเทริดที่ทำด้วยผ้าเปลือกไม้ ให้บรรทมบนพระเพลา ประทับนั่งอยู่แล้ว ราชบุรุษทั้งหลายไปในที่นั้น ด้วยคำสั่งของพระราชา ได้ มาเอาพระราชกุมารนั้น จากพระมารดานั้น ผู้กำลังทรงรำพันอยู่ พร้อมด้วย หญิงพี่เลี้ยง ๑๖,๐๐๐ คน หลีกไป ด้วยกล่าวว่า พระราชกุมารจะเป็นอาหารของยักษ์ในวันพรุ่งนี้.

   

พระพุทธเจ้าเสด็จไป ทรงทรมานอาฬวกยักษ์

   ในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จลุกขึ้นในสมัยใกล้รุ่ง ทรงเข้ามหากรุณาสมาบัติ ในพระคันธกุฎีที่พระเชตวันมหาวิหาร เมื่อทรงตรวจดูโลกด้วยพุทธจักษุอีก ทรงเห็นอุปนิสัยของการบรรลุพระอนาคามิผล ของพระอาฬวกกุมาร การบรรลุโสดาบัน ของยักษ์ และในเวลาจบเทศนา สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ได้ดวงตาเห็นธรรม เพราะฉะนั้น เมื่อราตรีสว่างแล้ว ทรงทำปุเรภัตกิจ เสร็จแล้ว แต่ทรงทำปัจฉาภัตกิจยังไม่เสร็จเทียว เมื่อวันอุโบสถแห่งกาฬปักษ์เป็นไปอยู่ พระอาทิตย์ขึ้นแล้ว ทรงสเด็จพระองค์เดียว ทรงถือบาตรและจีวร เสด็จไปสิ้นทาง ๓ โยชน์จากกรุงสาวัตถี โดยเสด็จไปด้วยพระบาทนั่นแล เสด็จเข้าไปยังที่อยู่ของยักษ์นั้น ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์.

   ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ โคนต้นไทรซึ่งเป็นที่อยู่ ของอาฬวกยักษ์ หรือในที่อยู่เท่านั้น. ตอบว่า ในที่อยู่เท่านั้น ด้วยว่า ยักษ์ทั้งหลายย่อมเห็นที่อยู่ของตนโดยประการใด แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ประทับอยู่ โดยประการนั้น พระองค์ทรงไปในที่นั้น ประทับยืนอยู่ที่ประตูที่อยู่ ในกาลนั้น อาฬวกยักษ์ไปสู่สมาคม แห่งยักษ์ในหิมวันตประเทศ แต่นั้น ยักษ์ชื่อ คัทรภะ ผู้รักษาประตูของอาฬวกยักษ์ เข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า ไหว้แล้ว ทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาในวิกาลหรือ ?

   ภ. อย่างนั้น คัทรภะ เรามาแล้ว ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขอพักอยู่ใน(ภ. หมายถึงพระพุทธเจ้า) ที่อยู่ของอาฬวกยักษ์คืนหนึ่ง.

   ค. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่หนักใจ แต่ว่า ยักษ์นั้นร้ายกาจ หยาบคายไม่กระทำกิจมีการอภิวาทน์เป็นต้น แม้แก่มารดาและบิดา ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอย่าชอบพระทัยอยู่ในที่นี้เลย.

   ภ. ดูก่อนคัทรภะ เรารู้ว่ายักษ์นั้นร้ายกาจ แต่อันตรายไร ๆ จักไม่มี แก่เรา ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขอพักอยู่คืนหนึ่ง.

   คัทรภยักษ์ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าแม้ครั้งที่สองว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬวกยักษ์เป็นเช่นกับกระเบื้องเผาไฟ ย่อมไม่รู้ว่า มารดาบิดา หรือ สมณพราหมณ์ หรือ ธรรม ย่อมทำการควักดวงใจของพวกคนที่มาในที่นี้ออกทิ้งบ้าง ฉีกหัวใจบ้าง จับเท้าโยนไปที่ฝั่งสมุทรอื่น หรือจักรวาล อื่นบ้าง.

   แม้ในครั้งที่สอง พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เรารู้ คัทรภะ ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขอพักอยู่คืนหนึ่ง. แม้ในครั้งที่สาม คัทรภยักษ์ได้ทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อาฬวกยักษ์เป็นเช่นกับกระเบื้องเผาไฟ ย่อมไม่รู้ว่า มารดาบิดา หรือ สมณพราหมณ์ หรือ ธรรม ย่อมทำการควักดวงใจของพวกคน ที่มาในที่นี้ออกทิ้งบ้าง ฉีกหัวใจบ้าง จับเท้าโยนไปที่ฝั่งสมุทรอื่น หรือจักรวาล อื่นบ้าง. แม้ในครั้งที่สาม พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ตรัสว่า เรารู้ คัทรภะ ถ้าท่านไม่หนักใจ เราขอพักอยู่คืนหนึ่ง.

   ค. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ไม่หนักใจ แต่ยักษ์นั้นพึงฆ่า ข้าพระองค์ผู้ไม่บอกแก่ตนแล้วอนุญาต ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ จะบอกแก่ยักษ์นั้น.

   ภ. ดูก่อนคัทรภะ จงบอกตามสบายเถิด. คัทรภะทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์นั้นแล จงรู้ ดังนี้ อภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว หลีกไปมุ่งหน้าต่อหิมวันตประเทศ. แม้ประตูแห่งที่อยู่ก็เปิดเองแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.

   พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จเข้าภายในที่อยู่ ประทับนั่ง ณ รัตนบัลลังก์อันเป็นทิพย์ ซึ่งอาฬวกยักษ์นั่งเสวยสิริ ในวันทั้งหลายมีวันมงคลเป็นต้นที่กำหนดแล้ว ทรงเปล่งแสงสว่างแห่งทอง หญิงทั้งหลายของยักษ์เห็นพระผู้มี พระภาคเจ้านั้นแล้ว มาไหว้พระผู้มีพระภาคเจ้า นั่งแวดล้อม พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปกิรณกธรรมกถาแก่หญิงเหล่านั้นว่า ในครั้งก่อน พวกท่านได้ให้ทาน สมาทานศีล บูชาบุคคลอันควรบูชา จึงได้ถึงสมบัตินี้ แม้ในบัดนี้ ก็จงทำอย่างนั้นแล อย่าให้ความริษยาและความตระหนี่ครอบงำกะกันและกันอยู่เลย หญิงเหล่านั้นฟังพระสุรเสียงอันไพเราะของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ให้สาธุการ ถึงพันครั้ง นั่งแวดล้อมพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล.

   ฝ่ายคัทรภะไปสู่หิมวันตประเทศบอกแก่อาฬวกยักษ์ว่า ข้าแต่ท่าน นิรทุกข์ เชิญท่านทราบเถิดว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่ง ณ วิมานของท่าน อาฬวกยักษ์นั้นได้ทำสัญญาแก่คัทรภะว่า จงนิ่ง เราจักไปทำสิ่งที่ควรทำ ได้ยิน ว่า อาฬวกยักษ์นั้นละอายแล้วด้วยมานะของบุรุษ เพราะฉะนั้น จึงห้ามว่า ใคร ๆ ในท่ามกลางบริษัทอย่าพึงได้ยิน.

   ในกาลนั้น สาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์ ตกลงกันว่า พวกเราไหว้ พระผู้มีพระภาคเจ้าที่พระเชตวันแล้ว จักไปสู่สมาคมแห่งยักษ์ พร้อมกับบริวารไปทางอากาศ ด้วยยานต่าง ๆ ก็ยักษ์ทั้งหลายไม่มีทางในอากาศทั้งปวง มีแต่ ทางในที่เป็นทางจรดวิมานทองทั้งหลายที่ตั้งบนอากาศ

   ส่วนวิมานของอาฬวกยักษ์ ตั้งอยู่บนดินแวดล้อมไปด้วยกำแพงที่รักษาดีแล้ว มีประตู ป้อม และ ซุ้มประตูที่จัดไว้เป็นอย่างดี ในเบื้องบนปกปิดด้วยข่ายสำริด เป็นเช่นกับหีบสูง ๓ โยชน์ ทางย่อมมีบนวิมานนั้น ยักษ์เหล่านั้นไม่สามารถเพื่อจะไปมาสู่ ประเทศนั้น จริงอยู่ ใคร ๆ ไม่สามารถเพื่อไปโดยส่วนเบื้องบนแห่งโอกาสที่ พระพุทธเจ้าทั้งหลายประทับ จนถึงภวัครพรหม ยักษ์เหล่านั้นนึกว่า นี้อะไรกัน เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ก็ลงมาดุจก้อนดินที่โยนไปในอากาศฉะนั้น ไหว้ แล้ว ฟังธรรม ทำประทักษิณ ทูลว่า

   ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า พวกข้า พระองค์จะไปสู่สมาคมของยักษ์ สรรเสริญวัตถุสามแล้ว ไปสู่สมาคมของยักษ์. อาฬวกยักษ์เห็นสาตาคิรยักษ์และเหมวตยักษ์เหล่านั้นแล้วกล่าวว่า ท่านจงนั่ง ในที่นี้ ถอยให้โอกาส ยักษ์ทั้งสองนั้นประกาศแก่อาฬวกยักษ์ว่า ดูก่อน อาฬวกะ การที่พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่อยู่ของท่านเป็นลาภของท่าน ไปเถิดอาวุโส จงเข้าไปนั่งใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้.

   พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่อยู่นั่นเทียวอย่างนี้แล หาได้ประทับ อยู่ที่โคนต้นไทร ซึ่งเป็นที่อยู่ของอาฬวกะไม่ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ในสมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ในที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ใกล้เมือง อาฬวี.

   ลำดับนั้นแล อาฬวกยักษ์ ฯลฯ ได้กล่าวคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้า ว่า จงออกไปเถิด สมณะ. ถามว่า ก็เพราะเหตุไร อาฬวกยักษ์นี้ จึงทูล อย่างนั่นเล่า ? ข้าพเจ้าจะตอบ เพราะความที่อาฬวกยักษ์ ประสงค์จะด่า ใน ข้อนี้ พึงทราบความสัมพันธ์จำเดิมแต่ต้นอย่างนี้ ก็อาฬวกยักษ์นี้เพราะสัทธา- กถาทำได้ยากแก่คนผู้ไม่มีศรัทธา ดุจกถามีศีลเป็นต้น ทำได้ยากแก่คนทั้งหลาย มีคนทุศีลเป็นต้น เพราะฉะนั้น ได้ฟังการสรรเสริญพระผู้มีพระภาคเจ้าจาก สำนักของยักษ์เหล่านั้นแล้ว เป็นผู้มีดวงหทัยเดือดพล่านด้วยความโกรธในภาย ในดุจก้อนเกลือที่ใส่ลงในไฟ ฉะนั้น จึงพูดว่า ผู้ที่เข้าไปยังที่อยู่ของข้าพเจ้าที่ ชื่อว่า พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น คือ ใคร ?

   ยักษ์เหล่านั้นเมื่อกล่าวโดยนัยมีอาทิว่า อาวุโส ท่านไม่รู้พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้เป็นศาสดาของพวกเรา ซึ่งดำรงอยู่ในดุสิตภพแล้ว ทรงตรวจดู มหาวิโลกน์ ๕ อย่าง ดอกหรือ จนถึงทรงประกาศธรรมจักรให้เป็นไป กล่าวถึงบุพนิมิต ๓๒ อย่าง ในกาลทั้งหลายมีปฏิสนธิเป็นต้นแล้ว เตือนว่า อาวุโสท่านไม่เห็นอัศจรรย์เหล่านี้ อาฬวกยักษ์นั้นแม้เห็นแล้ว ก็กล่าวว่า ไม่เห็นเพราะอำนาจแห่งความโกรธ ยักษ์ทั้งสองจึงกล่าวว่า อาวุโส อาฬวกะ ท่าน พึงเห็นหรือไม่ก็ตาม ประโยชน์อะไรด้วยท่านผู้เห็นอยู่ หรือ ไม่เห็น ท่านจักทำอะไรแก่พระศาสดาของพวกเรา ซึ่งท่านกระทบพระผู้มีพระภาคเจ้านั้นแล้วจะปรากฏเหมือนลูกโคที่เกิดในวันนั้น ปรากฏในที่ใกล้โคอุสภะตัวใหญ่ซึ่งมี

   เครื่องประดับที่หนอกโค ดุจลูกช้างอยู่ใกล้ช้างตกมัน ดุจสุนัขจิ้งจอกแก่ อยู่ ใกล้พญาเนื้อมีร่างสวยงาม ประดับด้วยขนคอห้อยลงมางดงาม ดุจลูกกาปีกหัก ใกล้พญาครุฑซึ่งมีร่างกายแผ่ไปถึง ๑๕๐ โยชน์ ฉะนั้น ท่านจงไป จงทำสิ่ง ที่ท่านจะพึงกระทำเถิด.

   เมื่อยักษ์ทั้งสองกล่าวอย่างนี้แล้ว อาฬวกยักษ์โกรธลุกขึ้นเหยียบพื้น มโนศิลา ด้วยเท้าเบื้องซ้าย เหยียบยอดภูเขาไกลาส ประมาณ ๖๐ โยชน์ ด้วยเท้าเบื้องขวา ด้วยกล่าวว่า บัดนี้ จงดูศาสดาของพวกท่านมีอานุภาพมาก หรือ เราเป็นผู้มีอานุภาพมากกันแน่ ยอดภูเขาไกลาสนั้นก็ปล่อยสะเก็ดออกมา ดุจก้อนเหล็กซึ่งถูกทุบด้วยแท่งเหล็กกระจายออกมา ฉะนั้น อาฬวกยักษ์นั้น ยืนอยู่ในที่นั้น ประกาศก้องว่า ฉัน คือ อาฬวกะ เสียงแผ่ไปในชมพูทวีปทั้งสิ้น.

   ได้ยินว่า เสียง ๔ ประเภทได้ยินในชมพูทวีปทั้งสิ้น คือ

   ๑. เสียงที่ปุณณกะ ยักขเสนาบดี ชนะพระเจ้าธนัญชัยโกรัพยะ ด้วย การพนัน ปรบมือประกาศก้องว่า เราชนะแล้ว.

   ๒. เสียงที่ท้าวสักกะ จอมทวยเทพ เมื่อพระศาสนาของพระผู้มี พระภาคเจ้าพระนามว่า กัสสป กำลังเสื่อม ทรงทำวิสสุกรรมเทพบุตร ให้เป็น สุนัข ให้ประกาศทั่วไปว่า เราจักกัดกินภิกษุชั่ว ภิกษุณีชั่ว อุบาสกอุบาสิกา และคนทั้งหลายที่เป็นอธรรมวาที.

   ๓. เสียงที่พระมหาบุรุษในเมื่อกษัตริย์ ๗ พระองค์ เข้ายึดพระนคร ได้แล้ว เพราะเหตุแห่งนางประภาวดี จึงได้ยกนางประภาวดีขึ้นคอช้างไปกับตน ออกจากพระนครแล้ว ประกาศก้องในกุสชาดกว่า ฉันนี้แหละ คือ สีหัสสรกุส มหาราช.

   ๔. เสียงที่อาฬวกยักษ์ยืนบนยอดเขาไกลาสประกาศว่า เรา คืออาฬวกะ.

    ก็ในกาลนั้น เสียงนั้นก็เป็นเช่นกับเสียงที่ยักษ์ยืนที่ประตู ๆ ในชมพูทวีปทั้งสิ้นประกาศก้อง และแม้หิมวันตประเทศ ซึ่งมีส่วนกว้างสามพันโยชน์ก็หวั่นไหวด้วยอานุภาพของยักษ์ อาฬวกยักษ์นั้นก่อลมหมุนให้ตั้งขึ้นด้วยคิดว่า เราจักให้สมณะหนีไปด้วยลมนั้นนั่นเทียว ลมอันต่างด้วยลมทางทิศตะวันออกเป็นต้นเหล่านั้น ตั้งขึ้นแล้ว ก็ทำลายยอดภูเขาทั้งหลาย ซึ่งมีประมาณกึ่งโยชน์๒ โยชน์ ๓ โยชน์ ถอนรากถอนโคนกอไม้และต้นไม้ในป่าเป็นต้น พุ่งตรง ไปยังอาฬวินคร ทำสถานที่ทั้งหลายมีโรงช้างเก่าเป็นต้นให้แหลกลาญ พัดผันหลังคาและอิฐให้ลอยละลิ่วไปในอากาศ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอธิษฐานว่า ขอภัยพิบัติจงอย่ามีแก่ใคร ๆ ลมเหล่านั้นพัดถึงพระทศพลแล้ว ไม่สามารถทำแม้ สักว่าชายจีวรให้หวั่นไหวได้.

    แต่นั้น อาฬวกยักษ์ก็ทำฝนห่าใหญ่ให้ตกลง ด้วยคิดว่า เราจักให้น้ำท่วมให้สมณะตาย ฝนทั้งหลายอันต่างด้วยก้อนเมฆ ตั้งร้อยตั้งพันเป็นต้นก่อตัวขึ้นแล้วก็ตกลงมา ด้วยความเร็วของกระแสน้ำฝน แผ่นดินก็เป็นช่อง ๆต่อแต่นั้น มหาเมฆก็มาเบื้องบนของราวป่า ก็ไม่อาจที่จะทำแม้สักว่า หยาดน้ำค้างให้เปียกที่จีวรของพระทศพลได้. ต่อแต่นั้น อาฬวกยักษ์ก็ทำฝนแผ่นหินให้ตกลงมา ยอดเขาใหญ่ ๆพ่นควันลุกโพลงมาทางอากาศ ถึงพระทศพลแล้ว ก็กลายเป็นดอกไม้ทิพย์และพวงดอกไม้ทิพย์ แต่นั้น ก็ทำฝนเครื่องประหารให้ตกลงมา อาวุธทั้งหลายที่มีคมข้างเดียว ที่มีคม ๒ ข้าง มีดาบหอกและมีดโกนเป็นต้น ก็พุ่งควันลุกโพลงมาทางอากาศ ถึงพระทศพลแล้ว ก็กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ ต่อแต่นั้นก็ทำฝนถ่านเพลิงตกลงมา ถ่านเพลิงมีสีดังดอกทองกวาว ก็มาทางอากาศได้กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ตกเรี่ยรายอยู่ที่ใกล้พระบาทของพระทศพล

   ต่อแต่นั้นก็ทำฝนเถ้ารึงตรลบขึ้นมาทางอากาศ ก็กลายเป็นจุณจันทน์ตกลงที่บาทมูลของพระทศพล ต่อแต่นั้น ก็ทำฝนทรายให้ตกลงมา ทรายละเอียดอย่างยิ่ง พ่นควันลุกโพลงมาทางอากาศ กลายเป็นดอกไม้ทิพย์ตกลงที่บาทมูลของพระทศพล ต่อแต่นั้น ก็ทำฝนเปือกตมตกลงมา ฝนเปือกตมนั้นพ่นควันลุกโพลงมาทางอากาศ กลายเป็นของหอมอันเป็นทิพย์ตกลงที่บาทมูลของพระทศพล

   ต่อแต่นั้น ก็บันดาลให้เกิดความมืดมนอันธการ ด้วยหวังว่า เราจะทำให้สมณะกลัวแล้วหนีไป ความมืดมนนั้น เป็นเช่นกับความมืดมนที่ประกอบด้วยองค์ ๔ ถึงพระทศพลแล้วก็อันตรธานไป ดุจถูกกำจัดด้วยแสงพระอาทิตย์ ฉะนั้น.

   ยักษ์เมื่อไม่อาจเพื่อจะให้พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จหนีไป ด้วยลมฝนฝนหิน ฝนเครื่องประหาร ฝนถ่านเพลิง ฝนเถ้ารึง ฝนทราย ฝนเปือกตมและความมืดมน ๘ อย่าง อย่างนี้แล้ว ตนเองจึงเข้าไปหาพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเสนาประกอบด้วยองค์ ๔ เกลื่อนกล่นไปด้วยหมู่ภูตผี ซึ่งมีรูปเป็นอเนกประการ มีมือถือเครื่องประหารนานาชนิด คณะภูตเหล่านั้นกระทำสิ่งแปลก ๆเป็นอเนกประการ เป็นดุจมาเบื้องบนของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยคำพูดว่า ท่านทั้งหลายจงจับ จงฆ่าเสีย.

   อีกอย่างหนึ่ง ภูตเหล่านั้นก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปใกล้ชิดพระผู้มีพระภาคเจ้าได้เลย ดุจแมลงวันไม่อาจเข้าใกล้ก้อนเหล็ก ที่กระเด็นออก แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ มารที่โพธิมณฑลกลับไปในขณะที่ตนมาเท่านั้น ฉันใด ภูตพวกนี้ไม่กลับเหมือนอย่างนั้น ได้กระทำความวุ่นวายต่าง ๆ อยู่ประมาณครึ่งคืน อาฬวกยักษ์เมื่อไม่อาจทำพระผู้มีพระภาคเจ้า ให้หวั่นไหวได้ แม้ด้วยเหตุว่าการแสดงสิ่งที่น่าสะพรึงกลัว อันมีเป็นอเนกประการ ในเมื่อครึ่งคืนล่วงไป แล้วอย่างนี้ จึงคิดว่า ไฉนหนอ เราจะพึงปล่อยทุสสาวุธ ซึ่งใครไม่พึงชนะได้.

   ได้ยินว่า อาวุธที่ประเสริฐที่สุดในโลกมี ๔ อย่าง คือ วชิราวุธของท้าวสักกะ คทาวุธ ของท้าวเวสวัณ นยนาวุธ ของพระยายม ทุสสาวุธของอาฬวกยักษ์.

   ก็ผิว่า ท้าวสักกะทรงพิโรธแล้ว พึงประหารวชิราวุธบนยอดเขาสิเนรุไซร้ วชิราวุธนั้นก็จะพึงชำแรกภูเขาสิเนรุ ซึ่งสูงหนึ่งแสนหกหมื่นแปดพันโยชน์ ลงไปถึงข้างล่าง. คทาที่ท้าวเวสวัณปล่อยในกาลที่ตนยังเป็นปุถุชน ทำลายศีรษะของพวกยักษ์หลายพันแล้ว กลับมาสู่กำมือตั้งอยู่อีก.

    ครั้นเมื่อพระยายมพิโรธแล้ว สักว่ามองดูด้วยนยนาวุธ กุมภัณฑ์หลายพันก็จะลุกเป็นไฟพินาศ ดุจหญ้าและใบไม้บนกระเบื้องร้อน ฉะนั้น.

   อาฬวกยักษ์โกรธ ถ้าพึงปล่อยทุสสาวุธในอากาศไซร้ ฝนก็ไม่พึงตกตลอด ๑๒ ปี ถ้าปล่อยในแผ่นดินไซร้ วัตถุมีต้นไม้และหญ้าทั้งปวงเป็นต้นก็จะเหี่ยวแห้งไม่งอกอีก ภายใน ๑๒ ปี ถ้าพึงปล่อยในสมุทรไซร้ น้ำทั้งหมด ก็พึงเหือดแห้งดุจหยาดน้ำ ในกระเบื้องร้อน ฉะนั้น ถ้าจะพึงปล่อยในภูเขาเช่นกับเขาสิเนรุไซร้ ภูเขาก็จะเป็นท่อนน้อยท่อนใหญ่ กระจัดกระจายไป.

   อาฬวกยักษ์นั้น ปล่อยทุสสาวุธอันมีอานุภาพอย่างนี้ จับยกชูขึ้นปวงเทวดาในหมื่นโลกธาตุโดยมาก ก็รีบมาประชุมกันด้วยคิดว่า วันนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจักทรมานอาฬวกะ พวกเราจักฟังธรรมในที่นั้น เทวดาทั้งหลาย แม้ใคร่จะเห็นการรบ ก็ประชุมกัน อากาศแม้ทั้งสิ้นก็เต็มด้วยทวยเทพด้วยประการฉะนี้ อาฬวกยักษ์ท่องเที่ยวเบื้องบน ในที่ใกล้พระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วปล่อยวัตถาวุธ วัตถาวุธนั้นทำเสียงดังน่าสะพรึงกลัวในอากาศ ดุจอสนิจักร พ่นควัน ลูกโพลง มาถึงพระผู้มีพระภาคเจ้า ก็กลายเป็นผ้าเช็ดพระบาทตกอยู่ที่บาทมูล เพื่อจะย่ำยีมานะของยักษ์ อาฬวกยักษ์เห็นเหตุนั้นแล้วก็หมดเดชหมดมานะ ดุจโคอุสภะตัวใหญ่ที่มีเขาขาดแล้ว ดุจงูที่ถูกถอนเขี้ยวเสียแล้ว

   ฉะนั้น เป็นผู้มีธง คือ มานะที่ถูกนำออกเสียแล้ว คิดว่า แม้ทุสสาวุธไม่ทำให้สมณะกลัวได้ เหตุอะไรหนอแล ได้เห็นเหตุนี้ว่า สมณะประกอบด้วยเมตตาวิหารธรรม เอาเถอะ เราจะทำให้สมณะนั้นโกรธแล้ว จักพรากเสียจาก เมตตา

   

อาฬวกยักษ์ทูลถามปัญหาพระพุทธองค์

    อาฬวกยักษ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่าจงออกไปเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่าดีละท่าน แล้วได้เสด็จออกไป อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า จงเข้ามาเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดีละท่าน แล้วได้ เสด็จเข้าไป แม้ครั้งที่ ๒... แม้ครั้งที่ ๓ ... แม้ครั้งที่ ๔ อาฬวกยักษ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า จงออกไปเถิดสมณะ พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรท่าน เราจักไม่ออกไปละท่านจงกระทำกิจที่ท่านจะพึงกระทำเถิด ฯ

   อา. ดูกรสมณะ ข้าพเจ้าจะถามปัญหากะท่าน ถ้าว่าท่านจักไม่พยากรณ์แก่ข้าพเจ้าไซร้ ข้าพเจ้าจะควักดวงจิตของท่านออกโยนทิ้ง จักฉีกหัวใจของท่านหรือจักจับที่เท้าทั้งสอง ของท่านแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคา ฯ

   พ. เรายังไม่มองเห็นบุคคลผู้ที่จะพึงควักดวงจิตของเราออกโยนทิ้ง จะพึงฉีกหัวใจของเรา หรือจะพึงจับที่เท้าทั้งสองแล้วขว้างไปที่ฝั่งแม่น้ำคงคาได้ ในโลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก ในหมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์เทวดาและมนุษย์ ดูกรท่าน ก็และท่านหวังจะถามปัญหาก็จงถามเถิด ฯ

   ลำดับนั้น อาฬวกยักษ์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคด้วยคาถาว่า อะไรเล่าเป็นทรัพย์เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้อะไรเล่าที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้อะไรเล่าเป็นรส ยังประโยชน์ให้สำเร็จ กว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลาย ได้กล่าวชีวิตของบุคคลผู้เป็นอยู่อย่างไรว่าประเสริฐที่สุด ฯ

   

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบด้วยพระคาถาว่า

   ศรัทธาเป็นทรัพย์ เครื่องปลื้มใจอันประเสริฐที่สุดของบุรุษในโลกนี้ ธรรม ที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้ สัจจะแลเป็นรสยังประโยชน์ให้สำเร็จกว่ารสทั้งหลาย นักปราชญ์ทั้งหลายกล่าวชีวิตของ บุคคลผู้เป็นอยู่ด้วยปัญญาว่าประเสริฐที่สุด ฯ"

   บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้อย่างไร บุคคลย่อมข้ามอรรณพได้อย่างไร บุคคลย่อมล่วงทุกข์ได้อย่างไร ย่อมบริสุทธิ์ได้อย่างไร ฯ

   บุคคลย่อมข้ามโอฆะได้ด้วยศรัทธา ย่อมข้ามอรรณพได้ด้วยความไม่ประมาท ย่อมล่วงทุกข์ได้ด้วยความเพียร ย่อมบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา ฯ

   บุคคลย่อมได้ปัญญาอย่างไร ย่อมหาทรัพย์ได้อย่างไร ย่อมได้ชื่อเสียงอย่างไร ย่อมผูกมิตรทั้งหลายไว้ได้อย่างไร บุคคลละจากโลกนี้ไปสู่โลกอื่นแล้ว ย่อมไม่เศร้าโศกอย่างไร ฯ

   บุคคลเชื่อธรรมของพระอรหันต์ทั้งหลาย เพื่อบรรลุนิพพานเป็นผู้ไม่ประมาท มีปัญญาเป็นเครื่องสอดส่อง ฟังอยู่ด้วยดีย่อมได้ปัญญา

   บุคคลผู้มีธุระ กระทำสมควร มีความหมั่นย่อมหาทรัพย์ได้ บุคคลย่อมได้ชื่อเสียงด้วยสัจจะ ผู้ให้ย่อมผูกมิตรไว้ได้ ผู้ใดมีศรัทธาอยู่ครองเรือนมีธรรม ๔ ประการนี้ คือ สัจจะ ธรรมะ ธิติ จาคะ ผู้นั้นแลละจากโลกนี้ไปแล้วย่อมไม่เศร้าโศก ถ้าว่าเหตุแห่งการได้ชื่อเสียงยิ่งไปกว่าสัจจะก็ดี เหตุแห่งถารได้ปัญญายิ่งไปกว่าทมะก็ดี เหตุแห่งการผูกมิตรยิ่งไปกว่าจาคะก็ดี เหตุแห่งการหาทรัพย์ได้ยิ่งไปกว่าขันติก็ดี มีอยู่ในโลกนี้ไซร้ เชิญท่านถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากแม้เหล่าอื่นดูเถิด ฯ

   บัดนี้ ข้าพระองค์จะพึงถามสมณพราหมณ์เป็นอันมากทำไมเล่า วันนี้ข้าพระองค์ทราบชัดประโยชน์อันเป็นไปในภพหน้า พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่เมืองอาฬวี เพื่อประทับอยู่ เพื่อประโยชน์แก่ข้าพระองค์หนอ วันนี้ ข้าพระองค์ทราบชัดพระทักขิไณยบุคคลผู้เลิศ ที่บุคคลถวายทานแล้วเป็นทานมีผลมาก ข้าพระองค์จักนอบน้อม พระสัมพุทธเจ้า และความที่พระธรรมเป็นธรรมดี เที่ยวไปจากบ้านสู่บ้านจากเมืองสู่เมือง ฯ ครั้งนั้น อาฬวกยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผล

   วันรุ่งขึ้น เมื่ออรุณขึ้น เวลานำถาดอาหารไป พวกราชบุรุษไม่เห็นเด็ก ที่ควรจะจับทั่วพระนคร จึงกราบทูลแด่พระราชา พระราชาตรัสว่า พ่อเอ๋ย เด็กมีอยู่ในที่ไม่ควร จะจับได้มิใช่หรือ. พวกเขากราบทูลว่าอย่างนั้น พระเจ้าข้า วันนี้มีราชโอรสประสูติในราชสกุล พระเจ้าข้า

   จึงตรัสว่า พ่อจงเอาไป เมื่อเรายังมีชีวิตอยู่จักได้ลูกอีก จงส่งเด็กนั้นไปพร้อมกับถาดอาหาร. เมื่อพระเทวีกันแสงคร่ำครวญอยู่ ราชบุรุษเหล่านั้น ก็พาเด็กไปถึงที่อยู่ของ อาฬวกยักษ์พร้อมด้วยถาดอาหารกล่าวว่า เชิญเถิดเจ้าจงรับส่วนของเจ้าไป. อาฬวกยักษ์ฟังคำของบุรุษเหล่านั้นแล้ว ก็ รู้สึกละอาย เพราะตนเป็นพระอริยสาวกแล้ว ได้แต่นั่งก้มหน้า.

   ลำดับนั้น พระศาสดาตรัสกะเขาว่า อาฬวกะ บัดนี้ ท่านไม่มีกิจที่จะต้องละอาย แล้ว จงอุ้มเด็กใส่มือเรา. พวกราชบุรุษก็วางอาฬวกกุมารลงในมืออาฬวก ยักษ์ ๆ ก็อุ้มเด็ก วางไว้ในพระหัตถ์ของพระทศพล. ส่วนพระศาสดาทรงรับแล้ว ก็ทรงวางไว้ในมืออาฬวกยักษ์อีก. อาฬวกยักษ์อุ้มเด็กวางไว้ในมือ ของเหล่าราชบุรุษ. เพราะพระกุมารนั้นจากมือหนึ่งสู่อีกมือหนึ่งดังกล่าวมา นี้ จึงพากันขนานพระนามกุมารนั้นว่า หัตถกอาฬวกะ.

   ครั้งนั้น ราชบุรุษ เหล่านั้นดีใจ พาพระกุมารนั้นไปยังสำนักพระราชา. พระราชาทอดพระเนตรเห็นพระกุมารนั้น ทรงเข้าพระหฤทัยว่า วันนี้อาฬวกยักษ์ไม่รับ ถาดอาหาร จึงตรัสถามว่า เหตุไรพวกเจ้าจึงพากันมาอย่างนี้เล่า พ่อ.

    อาฬวกยักษ์นั้น เมื่อจะเข้าสู่ พระนคร ก็รู้สึกละอาย จะถอยกลับ พระศาสดาทรงแลดูแล้วตรัส ถามว่า ละอายหรืออาฬวกะ. เขาทูลว่า พระเจ้าข้า ชาวพระนครอาศัย ข้าพระองค์ ทั้งแม่ ทั้งลูก ทั้งเมีย จึงพากันตาย พวกเขาเห็นข้าพระองค์แล้ว จักประหารด้วยท่อนไม้บ้าง ก้อนดินบ้าง ธนูบ้าง เพราะเหตุนั้น ข้าพระองค์จึงจะถอยกลับ พระเจ้าข้า. พระศาสดาตรัสปลอบว่า อาฬวกะ ไม่มีดอก เมื่อท่านไปกับเราก็สิ้นภัย ไปกันเถิด ประทับหยุดยืนอยู่แนวป่าไม่ไกลพระนคร. แม้พระเจ้าอาฬวกะก็ทรงพาชาวพระนครออกไป ต้อนรับเสด็จพระศาสดา. พระศาสดาก็ทรงแสดงธรรมโปรดบริษัทที่มาถึง. จบเทศนา เหล่าสัตว์ ๘๔,๐๐๐ ก็พากันดื่มน้ำอมฤต.(บรรลุธรรม)

    ชาวเมือง อาฬวีเหล่านั้น พากันไปที่อยู่ของอาฬวกยักษ์ ณ แนวป่านั้นนั่นเอง จัด พลีกรรมกันทุกปี. แม้อาฬวกยักษ์ก็สงเคราะห์ชาวเมืองด้วยการจัดรักษา อย่างเป็นธรรม. อาฬวกกุมารแม้นั้น เจริญวัยแล้ว ฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้วก็แทงตลอดมรรคและผล ๓ มีอุบาสกผู้เป็นอริยสาวก ๕๐๐ คน ห้อมล้อมเที่ยวไปทุกเวลา. ต่อมาวันหนึ่ง เขาเข้าไปเฝ้าพระศาสดาพร้อมด้วยอุบาสก ๕๐๐ คน ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง.

   พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นเขามีวินัยอันดี จึงตรัสถามว่า อาฬวกะ เธอมีบริษัทมากสงเคราะห์กันอย่างไร. เขากราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อเขายินดีด้วยการให้ ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการให้ เมื่อ เขายินดีด้วยการพูดจาน่ารัก ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการพูดจาน่ารัก เมื่อเขายินดีให้ช่วยทำกิจที่เกิดขึ้นให้เสร็จสิ้น ข้าพระองค์ก็จะสงเคราะห์ ด้วยการช่วยทำกิจที่เกิดขึ้น ให้เสร็จสิ้นไป เมื่อเขายินดีด้วยการให้วางตนเสมอกัน ข้าพระองค์ก็สงเคราะห์ด้วยการวางตนเสมอกัน พระเจ้าข้า.

    เรื่องที่เกิดขึ้นอย่างนี้. ต่อมาภายหลังพระศาสดาประทับ ณ พระเชตวันวิหาร เมื่อทรงสถาปนาพวกอุบาสกไว้ในตำแหน่งต่าง ๆ จึงทรงสถาปนาหัตถกอาฬวกอุบาสกไว้ในตำแหน่งเอตทัคคะเป็นเลิศกว่าพวกอุบาสกผู้สงเคราะห์บริษัทด้วยสังคหวัตถุ ๔

← ย้อนกลับ        ปิดหน้านี้          ถัดไป →