จุลลกาลิงคชาดก

   พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภการบรรพชาของปริพาชิกา ๔ คน จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ มีคำเริ่มต้นว่า วิวรถ อิมาส ทฺวาร ดังนี้.

    ได้ยินว่า ในนครเวสาลี มีกษัตริย์ลิจฉวีเจ็ดพันเจ็ดร้อยเจ็ดพระองค์ประทับอยู่ กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้นแม้ทั้งหมด ได้เป็นผู้มีพระดำริในการถามและการย้อนถาม.

    ครั้งนั้นนิครนถ์ผู้ฉลาดในวาทะห้าร้อย วาทะคนหนึ่งมาถึงพระนครเวสาลี กษัตริย์ลิจฉวีเหล่านั้นได้ทรงกระทำการสงเคราะห์นิครนถ์นั้น. นางนิครนถ์ผู้ฉลาดเท่าเทียมกันแม้อีกคนก็มาถึงพระนครเวสาลี. กษัตริย์ทั้งหลายจึงให้ชนทั้งสองแสดงวาทะโต้ตอบกัน. แม้ชนทั้งสองก็เป็นผู้ฉลาดเช่นเดียวกัน.

    ลำดับนั้น กษัตริย์ลิจฉวีทั้งหลายได้มีพระดำริว่า “บุตรที่เกิดขึ้นเพราะอาศัยคนทั้งสองนี้คงจักเป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม” จึงให้กระทำการวิวาหมงคลแก่ชนทั้งสองนั้น แล้วให้คนแม้ทั้งสองอยู่ร่วมกัน. ต่อมา เพราะอาศัยการอยู่ร่วมกันของนิครนถ์ทั้งสองนั้น จึงเกิดทาริกา ๔ คนและทารก ๑ คนโดยลำดับ.

    บิดา-มารดาได้ตั้งชื่อนางทาริกาทั้ง ๔ คนว่า นางสัจจา, นางโสภา, นางอธิวาทกา, นางปฏิจฉรา, และตั้งชื่อทารกว่า “สัจจกะ”. คนแม้ทั้ง ๕ นั้นถึงความเป็นผู้รู้เดียงสาแล้ว พากันเรียนวาทะพันวาทะ คือ จากมารดาห้าร้อยและจากบิดาห้าร้อย.

    มารดา-บิดาได้ให้โอวาทแก่นางทาริกาทั้ง ๔ อย่างนี้ว่า “ถ้าใคร ๆ เป็นคฤหัสถ์ ทำลายวาทะของพวกเจ้าได้ พวกเจ้าพึงยอมเป็นบาทบริจาริกา(ภรรยา)ของเขา ถ้าเป็นบรรพชิตจักทำลายได้ ก็ควรบวชในสำนักของบรรพชิตนั้น”.

    ในกาลต่อมา มารดาบิดาได้ทำกาลกิริยาตายไป. เมื่อมารดาบิดาทำกาลกิริยาตายไปแล้ว นิครนถ์น้องชายคนสุดท้องสั่งสอนศิลปะแก่กษัตริย์ลิจฉวีอยู่ในนครเวสาลีนั้นนั่นเอง ส่วนพี่สาวทั้ง ๔ ถือกิ่งหว้าเที่ยวสัญจรจากนครนี้ไปนครนั้นเพื่อต้องการโต้วาทะจนถึงพระนครสาวัตถี จึงปักกิ่งหว้าไว้ใกล้ประตูพระนครแล้วกล่าวแก่พวกเด็กๆว่า “ผู้ใดจะเป็นคฤหัสถ์หรือบรรพชิตก็ตาม สามารถยกสู้วาทะของพวกเราได้ ผู้นั้นจงเอาเท้าเกลี่ยกองฝุ่นนี้ให้กระจายแล้วเหยียบกิ่งหว้าด้วยเท้านั่นแหละ” แล้วพากันเข้าไปยังพระนครเพื่อต้องการภิกษาหาร.

    ครั้งนั้น ท่านพระสารีบุตรกวาดที่ซึ่งยังไม่ได้กวาด ตักน้ำดื่มใส่หม้อเปล่า ปรนนิบัติภิกษุไข้ จึงเข้าไปบิณฑบาตในนครสาวัตถีเวลาสาย เห็นกิ่งหว้านั้นจึงถามได้ความแล้วให้พวกเด็กนั่นแหละล้มกิ่งหว้าเหยียบเสีย แล้วกล่าวแก่พวกเด็กว่า “พวกคนผู้วางกิ่งหว้านี้ไว้นั้น ทำภัตกิจกลับมาแล้ว จงพบเราที่ซุ้มประตูพระวิหารเชตวัน” สั่งแล้วก็เข้าไปยังพระนคร กระทำภัตกิจเสร็จแล้วได้ยืนอยู่ที่ซุ้มพระวิหาร.

    ฝ่ายนางปริพาชิกาเหล่านั้นเที่ยวภิกษาแล้วกลับมา เห็นกิ่งหว้าถูกเหยียบย่ำจึงกล่าวว่า “ใครเหยียบย่ำกิ่งหว้านี้” พวกเด็กว่า ‘พระสารีบุตรเถระเหยียบ’ และพูดว่า “ถ้าท่านทั้งหลายต้องการโต้วาทะ จงไปยังซุ้มพระวิหาร” จึงพากันกลับเข้าพระนครอีก ให้มหาชนประชุมกันแล้วไปยังซุ้มพระวิหาร ถามวาทะหนึ่งพันกะพระเถระ.

    พระเถระสามารถตอบคำถามของพวกนางได้ทั้งหมดแล้วถามกลับว่า “พวกท่านรู้อะไร ๆ อย่างอื่นอีกบ้าง ?”

    นางปริพาชิกาเหล่านั้นกล่าวว่า “ข้าแต่ท่าน พวกข้าพเจ้าไม่รู้อะไรอย่างอื่น.”

    พระเถระจึงพูดว่า “เราจะถามอะไร ๆ กะพวกท่านบ้าง”

    นางปริพาชิกาเหล่านั้นจึงว่า “ถามเถิดท่าน ถ้าพวกข้าพเจ้ารู้ จักกล่าวแก้.”

    พระเถระจึงถามว่า “(เอกํ นาม กึ) อะไรชื่อว่าหนึ่ง ?”

    นางปริพาชิกาเหล่านั้นหาทราบไม่.

    พระเถระจึงวิสัชนาให้ฟัง.

    นางปริพาชิกาเหล่านั้นจึงกล่าวว่า “ข้าแต่ท่าน ความปราชัยเป็นของพวกข้าพเจ้า ชัยชนะเป็นของท่าน”.

    พระเถระจึงถามว่า “บัดนี้ พวกท่านจักทำอย่างไร ?”

    นางปริพาชิกาทั้งสี่จึงตอบว่า “มารดาบิดาของพวกข้าพเจ้าได้ให้โอวาทนี้ไว้ว่า “ถ้าคฤหัสถ์ทำลายวาทะของพวกเจ้าได้จงยอมเป็นภริยาของเขา ถ้าบรรพชิตทำลายได้ก็จงพากันบวชในสำนักของบรรพชิตนั้น เพราะฉะนั้น ท่านโปรดให้บรรพชาแก่พวกข้าพเจ้าเถิด”.

    พระเถระกล่าวว่า “ดีแล้ว” จึงให้นางบวชในสำนักของพระอุบลวรรณาเถรี ไม่นานนัก ทั้งหมดก็ได้บรรลุพระอรหัต.

    อยู่มาวันหนึ่ง ภิกษุทั้งหลายนั่งประชุมสนทนากันในโรงธรรมสภาว่า “อาวุโสทั้งหลาย พระสารีบุตรเถระเป็นที่พึ่งอาศัยของปริพาชิกาทั้งสี่ ให้ทุกนางบรรลุพระอรหัต”.

    พระศาสดาเสด็จมาแล้วตรัสถามว่า “ภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ พวกเธอนั่งสนทนากันด้วยเรื่องอะไร” เมื่อภิกษุทั้งหลายกราบทูลให้ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนสารีบุตรก็ได้เป็นที่พึ่งอาศัยของปริพาชิกาเหล่านี้ แต่ในบัดนี้ได้ให้บรรพชาภิเษก ในปางก่อนได้ตั้งไว้ในตำแหน่งมเหสีของพระราชา” แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-

    ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้ากาลิงคราชครองราชสมบัติอยู่ในพระนครทันตปุระ แคว้นกาลิงครัฐ. พระราชาพระนามว่า “อัสสกะ” ครองราชสมบัติในนครโปตละ แคว้นอัสสกรัฐ. พระเจ้ากาลิงคะทรงสมบูรณ์ด้วยรี้พลและพาหนะ แม้พระองค์เองก็มีกำลังดังช้างสารไม่เห็นผู้จะต่อยุทธ์

    พระองค์เป็นผู้ประสงค์จะทรงกระทำการรบ จึงตรัสบอกแก่อำมาตย์ทั้งหลายว่า “เรามีความต้องการจะทำการรบ แต่ไม่เห็นผู้จะต่อยุทธ์ เราจะกระทำอย่างไร ?”.

    อำมาตย์ทั้งหลายจึงกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช มีอุบายอยู่อย่างหนึ่ง พระราชธิดาทั้ง ๔ ของพระองค์ทรงพระรูปโฉมอันอุดม พระองค์โปรดให้ประดับตกแต่งพระราชธิดาเหล่านั้นแล้วให้นั่งในราชยานอันมิดชิด แวดล้อมด้วยรี้พลแล้วให้เที่ยวไปยังคามนิคมและราชธานีทั้งหลาย โดยป่าวร้องว่า “พระราชาพระองค์ใดจักมีพระประสงค์จะรับเอาไว้เพื่อตน พวกเราจักทำการรบกับพระราชาพระองค์นั้น”.

    พระราชาจึงทรงให้กระทำอย่างนั้น. ในสถานที่พระราชธิดาเหล่านั้นเสด็จไปแล้วๆ พระราชาทั้งหลายไม่ยอมให้พระราชธิดาเหล่านั้นเข้าพระนคร เพราะความกลัวภัยพากันส่งเครื่องบรรณาการออกไป แล้วให้ประทับอยู่เฉพาะภายนอกพระนคร.

    พระราชธิดาเหล่านั้นเสด็จเที่ยวไปตลอดทั่วชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้ จนบรรลุถึงพระนครโปตละ แคว้นอัสสกรัฐ. ฝ่ายพระเจ้าอัสสกะก็ทรงให้ปิดประตูพระนครแล้วทรงส่งเครื่องบรรณาการออกไปถวาย.

    อำมาตย์ของพระเจ้าอัสสกะนั้น ชื่อว่านันทเสนเป็นบัณฑิตเฉลียวฉลาดในอุบาย. นันทเสนอำมาตย์นั้นคิดว่า “ข่าวว่า พระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคะราชเหล่านี้เสด็จเที่ยวไปทั่วชมพูทวีปก็ไม่ได้ผู้จะต่อยุทธ์ แม้เมื่อเป็นอย่างนี้ ชมพูทวีปก็ได้ชื่อว่าไม่มีนักรบ เราจักรบกับพระเจ้ากาลิงคราช”.

    นันทเสนอำมาตย์นั้นจึงไปยังประตูพระนครเรียกคนรักษาประตูมา เพื่อจะให้เขาเปิดประตูแก่พระราชธิดาเหล่านั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๑ ว่า:-

    ท่านทั้งหลายจงเปิดประตูถวาย เพื่อให้พระราชธิดาเหล่านั้นเสด็จเข้าภายในพระนคร ซึ่งพระนครนี้ข้าพเจ้าชื่อว่านันทเสนผู้เป็นอำมาตย์ดุจราชสีห์ของพระเจ้าอรุณราชผู้อันอาจารย์สั่งสอนไว้อย่างดีได้จัดการรักษาไว้ดีแล้ว.

    ครั้นอำมาตย์นันทเสนนั้นกล่าวอย่างนี้แล้ว จึงให้เปิดประตูรับพระราชธิดาทั้ง ๔ นั้นไปถวายพระเจ้าอัสสกะแล้วกราบทูลว่า “พระองค์อย่าทรงเกรงกลัวเลย เมื่อมีการรบกัน ข้าพระองค์จักรับอาสา พระองค์โปรดทรงกระทำพระราชธิดาผู้ทรงพระรูปโฉมอันเลอเลิศเหล่านี้ให้เป็นพระอัครมเหสีเถิด” แล้วให้ประทานอภิเษกแก่พระราชธิดาเหล่านั้น แล้วส่งราชบุรุษผู้มากับพระราชธิดาเหล่านั้นกลับไปด้วยพูดว่า “ท่านทั้งหลายจงกราบทูลพระราชาของท่าน”.

    ราชบุรุษเหล่านั้นไปกราบทูลให้พระเจ้ากาลิงคราชทรงทราบ. พระเจ้ากาลิงคราชทรงดำริว่า “พระเจ้าอัสสกะนั้นชะรอยจะไม่ทราบกำลังของเราแน่นอน” จึงเสด็จออกด้วยกองทัพใหญ่ในขณะนั้นทันที. นันทเสนอำมาตย์ทราบการเสด็จของพระเจ้ากาลิงคราชจึงส่งสาส์นไปว่า “ขอพระเจ้ากาลิงคราชจงอยู่เฉพาะแต่ในรัฐสีมาของพระองค์ อย่าล่วงล้ำรัฐสีมาแห่งพระราชาของข้าพระองค์เข้ามา การสู้รบจักมีระหว่างแคว้นทั้งสอง”. พระเจ้ากาลิงคราชทรงสดับสาส์นแล้วได้ทรงหยุดกองทัพไว้เฉพาะปลายพระราชอาณาเขตของพระองค์ ฝ่ายพระเจ้าอัสสกราชก็ได้ทรงหยุดกองทัพเฉพาะปลายราชอาณาเขตของพระองค์เหมือนกัน.

    ครั้งนั้น พระโพธิสัตว์บวชเป็นฤาษีอยู่ที่บรรณศาลาระหว่างอาณาเขตของพระราชาทั้งสองนั้น. พระเจ้ากาลิงคราชทรงพระดำริว่า “ธรรมดาสมณะทั้งหลายย่อมจะรู้อะไรๆดี ใครจักมีชัยชนะหรือความปราชัยจักมีแก่ใคร เราจักถามพระดาบสดู” แล้วจึงเข้าไปหาพระโพธิสัตว์ด้วยเพศที่ใครๆไม่รู้จัก(ปลอมตัวไป) ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่ง กระทำปฏิสันถารแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ พระเจ้ากาลิงคะกับพระเจ้าอัสสกะประสงค์จะรบกัน พากันตั้งทัพยันอยู่เฉพาะในรัฐสีมาของตนๆ ในพระราชาทั้งของพระองค์นั้น ใครจักมีชัยชนะ ? ใครจักปราชัยพ่ายแพ้ ?”.

    พระดาบสโพธิสัตว์กราบทูลว่า “ท่านผู้มีบุญมาก อาตมภาพไม่ทราบว่า พระองค์โน้นชนะ พระองค์โน้นพ่ายแพ้ แต่ท้าวสักกเทวราชเสด็จมาที่นี้ อาตมภาพถามท้าวสักกเทวราชนั้นแล้วจักบอกให้ทราบ พรุ่งนี้ท่านมาฟังเอาเถิด”.

    ท้าวสักกะเสด็จมาสู่ที่บำรุงพระโพธิสัตว์แล้วประทับนั่ง. ทีนั้นพระโพธิสัตว์จึงทูลถามเนื้อความกะท้าวสักกเทวราช ท้าวเธอจึงตรัสทำนายว่า “ข้าแต่ท่านผู้เจริญ พระเจ้ากาลิงคราชจักมีชัย พระเจ้าอัสสกะจักปราชัย อนึ่งบุรพนิมิตนี้จักปรากฏ”.

    ในวันรุ่งขึ้น พระเจ้ากาลิงคราชเสด็จมาถาม แม้พระโพธิสัตว์ก็ทูลแก่พระเจ้ากาลิงคราชนั้น. พระเจ้าถาลิงคราชไม่ตรัสถามเลยว่า “บุรพนิมิตชื่อไรจักปรากฏ” ทรงหลีกลาไปด้วยพระทัยยินดีว่า “ท่านว่าเราจักชนะ”.

    เรื่องนั้นได้แพร่ไปแล้ว พระเจ้าอัสสกะได้ทรงสดับเรื่องนั้นจึงรับสั่งให้เรียกอำมาตย์นันทเสนมาแล้วรับสั่งว่า “เขาว่าพระเจ้ากาลิงคราชจักชนะ เราจักพ่ายแพ้ เราควรจะทำอย่างไรกัน ?”

    นันทเสนอำมาตย์นั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช ใครจะทราบข้อนั้นได้ชัยชนะหรือความปราชัยจักเป็นของใคร ขอพระองค์อย่าทรงคิดไปเลย” ครั้นกราบทูลเอาพระทัยพระราชาแล้ว เข้าไปหาพระโพธิสัตว์ไหว้แล้วนั่ง ณ ส่วนข้างหนึ่งแล้วถามว่า “ท่านผู้เจริญ ใครจักชนะ ใครจักแพ้”

    พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “พระเจ้ากาลิงคะจักชนะ พระเจ้าอัสสกะจักแพ้” อำมาตย์นันทเสนถามว่า “ท่านผู้เจริญ บุรพนิมิตอะไรจักมีแก่ผู้ชนะ ? บุรพนิมิตอะไรจักมีแก่ผู้แพ้ ?”.

    พระโพธิสัตว์กล่าวว่า “ท่านผู้มีบุญมาก อารักขเทวดาของผู้ชนะจักเป็นโคผู้ขาวปลอด อารักขเทวดาของผู้แพ้จักเป็นโคผู้ดำปลอด อารักขเทวดาแม้ของทั้งสองฝ่ายรบกันแล้ว จักทำความมีชัยและปราชัยกัน”.

    นันทเสนอำมาตย์ได้ฟังดังนั้นจึงลุกขึ้นลาไป พาทหารใหญ่ประมาณพันคนผู้เป็นสหายของพระราชาขึ้นไปยังภูเขาในที่ไม่ไกลนักแล้วถามว่า “ผู้เจริญทั้งหลาย พวกท่านจักอาจเพื่อถวายชีวิตแก่พระราชาของพวกเราได้หรือไม่ ?”.

    ทหารใหญ่เหล่านั้นกล่าวว่า “พวกเราจักสามารถถวายได้”.

    นันทเสนอำมาตย์กล่าวว่า “ถ้าอย่างนั้นพวกท่านจงโดดลงไปในเหวนี้”.

    ทหารใหญ่เหล่านั้นได้เตรียมจะโดดลงเหว นันทเสนอำมาตย์จึงห้ามทหารใหญ่เหล่านั้นแล้วกล่าวว่า “อย่าโดดลงเหวนี้เลย ท่านทั้งหลายเป็นผู้มีขวัญดี ไม่ถอยหลัง จงช่วยกันรบเพื่อถวายชีวิตแก่พระราชาของเราทั้งหลายเถิด” ทหารใหญ่เหล่านั้นรับคำแล้ว.

    ครั้นเมื่อสงครามประชิดกัน พระเจ้ากาลิงคราชทรงวางพระทัยว่า ‘นัยว่าเราจักชนะ’ แม้หมู่พลนิกายของพระองค์ก็พากันวางใจว่า ‘เขาว่าพวกเราจักมีชัยชนะ’ จึงไม่ทำการเตรียมตัว เป็นพรรคเป็นพวกพากันหลีกไปตามความชอบใจ แม้ในเวลาจะทำการฝึกซ้อมก็ไม่ทำ.

    ฝ่ายพระราชาทั้งสองพระองค์เสด็จขึ้นทรงม้าเข้าไปหากันและกันด้วยหมายมั่นว่า ‘จักต่อยุทธ’. อารักขเทวดาของพระราชาทั้งสองออกไปข้างหน้า อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะเป็นโคผู้ขาวปลอด อารักขเทวดาของพระเจ้าอัสสกะเป็นโคผู้ดำปลอด. โคผู้แม้เหล่านั้นแสดงอาการต่อสู้เข้าไปหากันและกัน ก็โคผู้เหล่านั้นย่อมปรากฏเฉพาะแก่พระราชาทั้งสองพระองค์เท่านั้น ไม่ปรากฏแก่คนอื่น.

    อำมาตย์นันทเสนทูลถามพระเจ้าอัสสกะว่า “ข้าแต่มหาราช อารักขเทวดาปรากฏแก่พระองค์แล้วหรือยัง ?”.

    พระเจ้าอัสสกะตรัสว่า “เออปรากฏ”.

    นันทเสน “ปรากฏโดยอาการอย่างไร ?”.

    พระเจ้าอัสสกะ “อารักขเทวดาขอพระเจ้ากาลิงคะปรากฏเป็นโคผู้ขาวปลอด อารักขเทวดาของเราปรากฏเป็นโคผู้ดำปลอด”.

    นันทเสนอำมาตย์กราบทูลว่า “ข้าแต่มหาราช พระองค์อย่าทรงเกรงกลัวเลย พวกเราจักชนะ พระเจ้ากาลิงคะจักพ่ายแพ้ พระองค์จงเสด็จลุกจากหลังม้า ทรงถือพระแสงหอกนี้ เอาพระหัตถ์ซ้ายแตะด้านท้องม้าสินธพที่ศึกษาดีแล้วรีบไปพร้อมกับบุรุษพันคนนี้ เอาหอกประหารอารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะให้ล้มลง ต่อแต่นั้นพวกข้าพระองค์ประมาณหนึ่งพัน จักประหารด้วยหอกพันเล่ม เมื่อทำอย่างนี้อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะจักฉิบหาย จากนั้นพระเจ้ากาลิงคะจักพ่ายแพ้ พวกเราจักชนะ”

    พระราชาทรงรับว่า “ได้” แล้วเสด็จไปเอาหอกแทงตามสัญญาที่นันทเสนอำมาตย์ถวายไว้ ฝ่ายอำมาตย์ทั้งหลายก็แทงด้วยหอกพันเล่ม.

    อารักขเทวดาของพระเจ้ากาลิงคะก็ถึงแก่ความตาย ณ ที่นั้นนั่นเอง.

    ทันใดนั้น พระเจ้ากาลิงคะก็ทรงพ่ายแพ้เสด็จหนีไป.

    อำมาตย์ทั้งหลายพันคนเห็นพระเจ้ากาลิงคะเสด็จหนีไปก็พากันโห่ร้องว่า “พระเจ้ากาลิงคราชหนี”.

    พระเจ้ากาลิงคะทรงกลัวต่อมรณภัยเสด็จหนีไป เมื่อจะทรงด่าพระดาบสนั้น จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-

    แน่ะดาบสโกง ท่านได้พูดไว้อย่างนี้ว่า ‘ชัยชนะจักมีแก่พวกพระเจ้ากาลิงคราชผู้สามารถย่ำยีบุคคลที่ใครๆย่ำยีไม่ได้ ความปราชัยจักมีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ’ ชนทั้งหลายผู้ซื่อตรงย่อมไม่พูดเท็จ.

    พระเจ้ากาลิงคราชนั้นเมื่อด่าพระดาบสอย่างนี้แล้ว ก็เสด็จหนีไปยังพระนครของพระองค์ ไม่อาจที่จะเหลียวมามองดู. แต่นั้นเมื่อล่วงไป ๒-๓ วัน ท้าวสักกะได้เสด็จมายังที่บำรุงของพระดาบส.

    พระดาบสเมื่อจะทูลกับท้าวเธอ จึงกล่าวคาถาที่ ๓ ว่า :-

    ข้าแต่ท้าวสักกะ เทวดาทั้งหลายยังประพฤติล่วงมุสาวาทอีกหรือ ? พระองค์ควรกระทำถ้อยคำให้จริงแต่แน่นอนมิใช่หรือ ? ข้าแต่ท้าวมัฆวาฬผู้เป็นใหญ่ในแผ่นดิน พระองค์ทรงอาศัยเหตุอะไรหรือจึงได้ตรัสมุสา.

    ท้าวสักกะทรงสดับดังนั้นจึงตรัสคาถาที่ ๔ ว่า :-

    ดูก่อนพราหมณ์ เมื่อชนทั้งหลายพูดกันอยู่ ท่านก็เคยได้ยินแล้วมิใช่หรือว่า ‘เทวดาทั้งหลายย่อมเกียดกันความพยายามของลูกผู้ชายไม่ได้ ความข่มใจ ความตั้งใจแน่วแน่ ความไม่แตกสามัคคีกัน ความไม่แก่งแย่งกัน การรุกในกาลควรรุก ความเพียรมั่นคง และความบากบั่นของลูกผู้ชาย (มีอยู่ในพวกพระเจ้าอัสสกะ) เพราะเหตุนั้นแหละ ชัยชนะจึงมีแก่พวกพระเจ้าอัสสกะ.     ก็แหละเมื่อพระเจ้ากาลิงคราชหนีไปแล้ว พระเจ้าอัสสกราชให้กวาดต้อนเชลยและยุทธภัณฑ์แล้วเสด็จไปยังพระนครของพระองค์.

    อำมาตย์นันทเสนส่งสาส์นไปถวายพระเจ้ากาลิงคราชว่า “พระองค์จงส่งส่วนทรัพย์มรดกไปถวายพระราชธิดาทั้ง ๔ พระองค์นี้ ถ้าไม่ทรงส่งไป พวกเราจักรู้กิจที่จะต้องทำในข้อนี้”.

    พระเจ้ากาลิงคราชได้ทรงสดับข่าวสาสน์นั้นแล้ว ทั้งกลัวทั้งสะดุ้งหวาดเสียว จึงส่งพระราชทรัพย์มรดกที่พระราชธิดาเหล่านั้นจะพึงได้ไปประทาน. จำเดิมแต่นั้นมา พระราชาทั้งสองก็อยู่อย่างสมัครสมานกัน พระศาสดาครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้วจึงทรงประชุมชาดกว่า “พระราชธิดาของพระเจ้ากาลิงคราชในกาลนั้น ได้เป็นภิกษุณีสาวเหล่านี้ในบัดนี้, อำมาตย์นันทเสนในครั้งนั้น ได้เป็นพระสารีบุตรในบัดนี้, ส่วนดาบสในครั้งนั้น ได้เป็นเราตถาคต” ฉะนี้แล.

   จบ อรรถกถาจุลลกาลิงคชาดก

← ย้อนกลับ        ปิดหน้านี้          ถัดไป →