มิลินท ปัญหา
ธัมมวิโมกข์ฉบับรวมเล่ม
ตอนที่ ๑
คำนมัสการพระรัตนตรัย
ของพระติปีฎกจุฬาภัยเถระ
***************

    พระจริยาอันเป็นประโยชน์แก่โลกทั้งปวง ของพระสัมพัญญูพุทธเจ้าผู้แสวงหาคุณธรรมอันใหญ่พระองค์ใดมีอยู่ ข้าพเจ้าขอกราบไหว้สมเด็จพระบรมครูพระองค์นั้นซึ่งเป็นผู้มีอนุภาพอันเป็นอจินไตย ผู้เป็นนายกอันเลิศของโลก

    สมเด็จพระบรมโลกนาถศาสดาจารย์พระองค์ใด เป็นผู้ประกอบด้วยวิชชาจรณะ นำหมู่สัตว์ออกจากโลกด้วยธรรมะอันใด ข้าพระเจ้าขอกราบไหว้ธรรมอันนั้น ซึ่งเป็นธรรมอันสูงสุด เป็นธรรมะอันสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบูชา

    พระอริยะสงฆ์ใดเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณมีศีลคุณเป็นต้น เป็นผู้ตั้งอยู่ในมรรค 4 ผล 4 ข้าพเจ้าขอกราบไหว้พระอริยะสงฆ์นั้น ผู้เป็นนาบุญอันเยี่ยมของโลก

    บุญอันใดที่ข้าพเจ้าทำให้เกิดขึ้นด้วย การนอบน้อมพระรัตนตรัยอย่างนี้ ด้วยเดชแห่งบุญอันนั้น จงให้อันตรายหายไปจากข้าพเจ้าในที่ทั้งปวง จงให้ข้าพเจ้าเป็นผู้ปราศจากอันตราย

    มิลินทปกรณ์    คือคัมภีร์มิลินท์อันใดที่ประกอบด้วยปุจฉาพยากรณ์ทีอยู่ ขอท่านทั้งหลายจงฟังปัญหาทั้งหลายอันละเอียดลึกซึ้ง ที่มีอยู่ในคัมภีร์มิลินทปัญหานั้น เพราะการฟังมิลินทปัญหานั้น    จักทำให้เกิดประโยชน์สุข

 

พุทธพยา
กรณ์ในวันปรินิพพาน

    เมื่อครั้งสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กับเหล่าพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก เสด็จไปที่เมืองกุสินารามมหานคร ในเวลาที่เสด็จดับขันธปรินิพพาน พระพุทธองค์ทรงบรรทมบนบัลลังก์ หันพระเศียรไปทางทิศอุดร ในระหว่างนางรังทั้งคู่อันมีอยู่ในพระราชอุทยาน ของพวกมัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารา จึงตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

    "ภิกษุทั้งหลาย เราขอเตือนเธอทั้งหลายให้รู้ว่า สังขารทั้งปวงมีความสิ้นเสื่อมไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงทำกิจทั้งปวง ด้วยความไม่ประมาทเถิด

    ธรรมวินัยอันใด เราบัญญัติไว้แล้ว เมื่อเราล่วงลับไปแล้ว ธรรมวินัยนั้นแหละ จะเป็นครูของพวกเธอ

    เมื่อเราปรินิพพานแล้ว   พระมหากัสสป จะระลึกถึงถ่อยคำไม่ดีของ   สุภัททภิกขุ   ผู้บวชเมื่อแก่ แล้วจะกระ ทำสังคายนา เพื่อรักษาพระพุทธวจนะไว้มิให้คลาดเคลื่อน

    ต่อนั้นไปอีก    ๑๐๐ ปี   พระยสกากัณฑกบุตร ผู้ย่ำยีซึ่งถ้อยคำของพวก ภิกษุวัชชีบุตร จะได้กระทำ    สังคายนาครั้งที่ ๒

    ต่อไปได้ ๒๑๘ ปี พระโมคคัคลีบุตรติสสเถระ ผู้จะลบล้างลัทธิของพวกเดียรถีย์ภายนอก จักได้กระทำ    สังคายนาครั้งที่ ๓

    ต่อมาภายหลัง พระมหินทเถระ จะไปประดิษฐานศาสนาของเรา ลงไว้ที่ตามพปัณณิทวีป ( ลังกา )

    ต่อจากเราปรินิพพานไปล่วงได้   ๕๐๐ ปี จักมีพระราชาองค์หนึ่ง ชื่อว่า "มิลินท"์ ผู้ได้สร้างสมบุญบารมีไว้ดีแล้ว จะทำให้เกิดปัญหาอันละเอียดขึ้น ด้วยอานุภาพปัญญาของตน จะย่ำยีเสียซึ่งสมณพราหมณ์ทั้งหลายด้วยปัญหาอันละเอียด

    จะมีภิกษุองค์หนึ่ง ชื่อว่า "นาคเสน" ไปทำลายถ้อยคำของ มิลินทราชา ทำให้มิลินทราชาเกิดความร่าเริงยินดีด้วยอุปมาเป็นอเนก จะทำศาสนาของเราให้หมดเสี้ยนหนามหลักตอ จะทำศาสนาของเราให้ตั้งอยู่ตลอด ๕๐๐๐ พรรษา" ดังนี้

    เพราะฉะนั้น จึงกล่าวไว้ว่า ผู้ใดเกิดในตระกูลในเวลาล่วงได้ ๕๐๐ ปี จากปีที่พระพุทธเจ้าปริพพานแล้วนั้น ผู้นั้นจักได้ชื่อว่า " มิลินทราชา " เสวยราชย์อยู่ใน   สาคลนคร อันเป็นเมืองอุดม

    มิลินทราชานั้น จักได้ถามปัญหาต่อพระนาคเสน มีอุปมาเหมือนกับน้ำในแม่น้ำคงคาไหล ไปสู่มหาสมุทรสาครฉะนั้น

    พระองค์เป็นผู้มีถ้อยคำอันวิจิตร ได้เสด็จไปหาพระนาคเสน มีคบเพลิงจุดสว่างไสว แล้วถามปัญหาล้วนแต่ละเอียดลึกซึ้ง

    ขอท่านทั้งหลายจงตั้งใจไว้ด้วยดี ฟังปัญหาอันละเอียดในคัมถีร์มิลินทนั้นเถิด จะเกิดประโยชน์สุขแก่ท่านตลอดกาลนาน ดังนี้

 

พระนคร
ของพระเจ้ามิลินท์

    มีคำเล่าลือปรากฎมาว่า "เมืองสาคลนครของชาวโยนก เป็นเมืองที่งดงามด้วยธรรมชาติอันรื่นรมย์ อุทยานอันมีสระน้ำ สวนดอกไม้ผลไม้ ตกแต่งไว้อย่างดี มีหมู่นกมากมายอาศัยอยู่

    ป้อมปราการก็แข็งแรง ปราศจากข้าศึกมารบกวน ถนนหนทางภายในพระนครเกลื่อนกล่นไปด้วยช้างม้าอันคล่องแคล่วอีกทั้งหมู่สัตรีล้วนมีรูปร่างสวยงาม ต่างเที่ยวสัญจรไปมา ทั้งเป็นที่พักพาอาศัยของสมณพราหมณ์ พ่อค้าสามัญชนต่าง ๆ

    เมืองสาคลนครนั้น สมบูรณ์ด้วยผ้าแก้วแหวนเงินทอง ยุ้งฉาง ของกินของใช้ มีตลาดร้านค้าเป็นที่ไปมาแห่งพ่อค้า

    ข้างนอกเมืองก็บริบูรณ์ด้วยพืชข้าวกล้า อุปมาเหมือนข้าวกล้าในอุตตรกุรุทวีป หรือไม่ก็เปรียบเหมือนกับ "อารกมัณฑาอุทยาน" อันสถิตอยู่ในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชฉะนั้น"

 

สรุป
หัวข้อปัญหา

    ท่านพรรณนามาถึงตอนนี้ แล้วจึงได้แยกเรื่องไว้    ๖ อย่าง คือ

           บุพพโยค    ๑               มิลินทปัญหา    ๑
           เมณฑกปัญหา    ๑        อนุมานปัญหา    ๑
          ลักขณปัญหา    ๑          อุปมากถาปัญหา    ๑

    ฉะนั้น ก่อนที่ท่านผู้อ่านจะพบกับเนื้อความดังต่อไปนี้ ผู้รวบรวมข้อสรุปหัว ข้อปัญหาให้ทราบไว้ก่อนดังนี้

     ๑    บุพพโยค คือเรื่องเบื้องต้นก่อนที่จะถาม ปัญหา
     ๒   มิลินทปัญหา เป็นปัญหาที่พระเจ้ามิลินท์ถาม ปัญหานี้มี ๗ วรรค
     ๓   นอกวรรค มีเพียงปัญหาเดียว คือโคตมีปัญหา
     ๔   เมณฑกปัญหา คือการถามปัญหาที่เป็นสองแง่ ปัญหาชุดนี้มี ๙ วรรค
     ๕    อุปมาปัญหา ว่าด้วยอุปมาต่าง ๆ ปัญหาชุดนี้สุดท้ายนี้มี    ๗ วรรค

    เมื่อจบการถามตอบปัญหาแล้วก็ได้เกิดเหตุอัศจรรย์ต่าง ๆ ต่อ มาพระเจ้ามิลินท์ได้ทรงสละราชสมบัติ    เมื่อทรงออกผนวชแล้วก็ได้สำเร็จพระอรหันต์ เป็นอันว่าท่านผู้อ่านก็ได้ทราบแล้วว่า ในเว็บนี้มีการจัดหมวดหมู่ไว้อย่างไรบ้างช่วยไห้ง่ายต่อการจดจำ จึงหวังว่าท่านทั้งหลายคงจะมีความอุตสาหะอ่านตั้งแต่ต้นจนจบ และพยายามทบทวนทำความเข้าใจในถ้อยคำของท่าน แล้วจะเกิดประโยชน์อย่างมหาศาล    ณ    โอกาสนี้ จึงขอเชิญท่านผู้อ่านทุกท่านพบกับเรื่องบุพพโยค    คือเรื่องเบื้องต้นได้ตั่งแต่บัดนี้.......

  

                                            ( ธัมมวีโมกข์ฉบับรวมเล่ม )

                                                    มิลินทปัญหา

                                                                โดย....วัฒนไชย