ตอนที่ ๒๐
ปัญหาที่ ๒
ถามเรื่องปัญหา
ที่แก้ด้วยการพักไว้

                  พระเจ้ามิลินท์ตรัสถามว่า

    “ข้าแต่พระนาคเสน สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ว่า

    “ดูก่อนอานนท์ อาจริยมุฏฐิ คือกำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ไม่มีแก่พระตถาคตเจ้า”

   แต่ภายหลัง พระมาลุงกยบุตร ได้ทูลถามก็ไม่ทรงแก้ จึงว่าปัญหานี้ จักเป็นปัญหาที่เด็ดขาดลงไป   ๒ อย่าง ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่ง คือไม่ทรงแก้เพราะไม่รู้ หรือเพราะกระทำข้อลี้ลับไว้อย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่

   ข้าแต่พระนาคเสน ถ้าสมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ว่า กำมือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่มีแก่พระตถาคต ดังนี้เป็นคำจริงแล้ว การที่ไม่ทรงแก้นั้น ก็ต้องเป็นเพราะไม่ทรงล่วงรู้

   ถ้าทรงล่วงรู้แต่ไม่แก้ คำว่า “ กำลือแห่งอาจารย์ในธรรมทั้งหลาย ก็ต้องมีแก่พระตถาคต”

   ปัญหาข้อนี้เป็นอุภโตโกฏิ ละเอียดลึกซึ้งนัก ขอพระผู้เป็นเจ้าจงทำลายเสียซึ่งข่าย คือทิฏฐิเถิด”

    พระนาคเสนเถระถวายพระพรว่า

   “สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ได้ตรัสไว้อย่างนั้น แต่ที่ไม่ทรงแก้นั้น ไม่ใช่เพราะไม่ทรงล่วงรู้ ไม่ใช่เพราะกระทำให้เป็นข้อลี้ลับไว้ พระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ได้แสดงแก้ปัญหาไว้เป็น   ๔ ประการ คือ

           ๑.   เอกังสพยากรณ์ เมื่อมีผู้ถามก็แก้ออกไปที่เดียว
           ๒.   วิภัชชพยากรณ์ แยกแล้วจึงแก้
           ๓.   ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ย้อนถามแล้วจึงแก้
           ๔.   ฐปนีพยากรณ์ แก้ด้วยการงดไว้

ยกตัวอย่าง

   การแก้ว่า   “ สิ่งที่เป็นอนิจจัง   คือรูป   เวทนา   สัญญา   สังขาร   วิญญาณ”   เรียกว่า   เอกังสพยากรณ์

   การแก้ว่า “   รูป   เวทนา   สัญญา สังขาร   วิญญาณ   ไม่เที่ยง”   เรียก วิภัชชพยากรณ์

   การย้อถามว่า “ บุคคลย่อมรู้สิ่งทั้งปวงด้วยจักษุหรือ ? ” ถามดังนี้แล้วจึงแก้เรียกว่า ปฏิปุจฉาพยากรณ์

   คำถามอันหาประโยชน์มิได้ ไม่ควรจะกล่าวแก้ เช่นถามว่า โลกยั่งยืน หรือไม่ยั่งยืน โลกมีที่สุด หรือโลกไม่มีที่สุด โลกมีที่สุดก็มี ไม่มีที่สุดก็มี โลกมีที่สุดก็ไม่ใช่ ไม่มีที่สุดก็ไม่ใช่

   ชีพกับสรีระเป็นเดียวกัน ชีพกับสรีระเป็นอื่น พระตถาคตเจ้าตายแล้วเกิดก็มี ไม่เกิดก็มี เกิดอีกก็มี ไม่เกิดอีกก็มี จะว่าเกิดอีกก็ไม่ใช่ ไม่เกิดอีกก็ไม่ใช่ เป็นต้น

   ปัญหาทั้งหลายเหล่านี้ เรียกว่า ฐปนียปัญหา เหตุไรปัญหานั้นจึงเป็นฐปนียปัญหา

   เหตุว่าไม่มีที่จะให้ทรงแก้ปัญหานั้น เพราะการเปล่งพระวาจาอันไม่มีเหตุ ย่อมไม่มีแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย ขอถวายพระพร ”

   “ สาธุ ...พระนาคเสน โยมยอมรับว่าเป็นอย่างนั้น”

ฏีกามิลินท์

   คำว่า เอกังสพยากรณ์ ได้แก่มีผู้ถามว่า “ รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง” ก็ตอบออกไปทีเดียวว่า “ ไม่เที่ยง ”

   คำว่า วิภัชชพยากรณ์ ได้แก่แยกตอบเป็นอย่าง ๆ ไปว่า “ รูปก็ไม่เที่ยง เวทนาก็ไม่เที่ยง ” เป็นต้น

    ปฏิปุจฉาพยากรณ์ ได้แก่เมื่อมีผู้ถามว่า “ บุคคลรู้สิ่งทั้งปวงด้วยจักษุหรือ ” ก็ย้อนถามออกๆไปว่า “ หมายถึงจักษุอะไร ” เมื่อมีผู้ตอบว่า “ หมายถึงสมันตจักษุ ( ตาเนื้อ )” จึงแก้ว่า “ ถูก...บุคคลย่อมรู้สิ่งทั้งปวงด้วยจักษุ ”

อธิบาย

    ฐปนียพยากรณ์ ในฏีกาไม่ได้อธิบายไว้ จึงขออธิบายให้ฟังว่า ฐปนียพยากรณ์ อันแปลว่า แก้ด้วยการพักไว้นั้น คือเมื่อมีผู้ถามก็นิ่งเสียไม่ตอบ เพราะไม่มีประโยชน์อันใดในการตอบ

   อีกอย่างหนึ่ง ได้เคยตอบหรือเคยแสดงไว้ในที่อื่นมามากแล้ว เมื่อมีผู้ถามก็งดไม่ตอบ เพราะเห็นว่าได้เคยตอบ เคยอธิบาย เคยแสดงไว้ในที่อื่นมากแล้ว

   ปัญหาว่า โลกยั่งยืน หรือไม่ยั่งยืน เป็นต้น พระพุทธองค์ทรงเล็งเห็นว่า การตอบออกไป ก็ไม่เป็นไปเพื่อความหลุดพ้นอีกอย่างหนึ่ง พระพุทธองค์ ได้ทรงแสดงไว้พิศดารใน พรหมชาลสูตร แล้ว

   ด้วยเหตุทั้งสองอย่างนี้ เวลาพระมาลุงกยบุตรทูลถาม จึงไม่ทรงแก้ออกไปตรง ๆ ว่าเป็นอย่างไร เป็นแต่ทรงแสดงธรรมเพื่อพระมาลุงกยบุตร เข้าใจในทางธรรมตามเป็นจริงเท่านั้น