พระถังซำจั๋ง

     ผู้อัญเชิญพระไตรปิฏกจากอินเดีย

   

     ทุกคนคงจะชื่นชมเรื่อง “ ไซอิ๋ว” เทพแห่งนิยายชาวบ้านอันลือลั่นของชาวจีนที่กล่าวถึงการผจญภัยของภิกษุจีนรูปหนึ่งพร้อมด้วยศิษย์อีก ๓ คน ผู้ร่วมเดินทางไปอัญเชิญพระไตรปิฎกจากชมพูทวีป ผ่านดินแดนอันตรายเต็มไปด้วยภูตผีปิศาจ แต่ละด่านผ่านไปด้วยความสามารถของเห้งเจียเทพวานรผู้รู้มากไปด้วยอิทธิฤทธิ์ ร่วมด้วยช่วยกันคือตือโป้ยก่ายปิศาจหน้าสุกรที่กลับใจ และซัวเจ๋ง อสูรอัปลักษณ์ ที่คอยคุ้มครองปกป้องพระอาจารย์เพียงคนเดียวคือ “ พระถังซำจั๋ง”

     พระถังซำจังรูปนี้ไม่ได้เป็นเพียงแต่ตัวละครในนิทานเท่านั้น หากเเต่มีตัวตนจริงอยู่ในโลกนี้ด้วย พระถังซำจั๋งมีฉายาทางพระว่า “ เฮียนจาง” เป็นพระภิกษุจีนรูปหนึ่งในสมัยราชวงศ์ของฮ้องเต้ถังไท่จง คำว่า “ ซำจั๋ง” แปลว่าพระไตรปิฏก ถ้าเรียกให้ถูกต้องควรเป็น “ ถังซำจั๋งฮวบซือ” ซึ่งฮวบซือนี้แปลว่าธรรมาจารย์ รวมแปลได้ว่า “ พระธรรมาจารย์ผู้แปลพระไตรปิฏกในราชวงศ์ถัง”

     เดิม พระถังซำจั๋งชื่ออี๋ กำเนิดในสกุลตั้น แต่เยาว์ท่านมีความเฉลียวฉลาด และคุณสมบัติที่ประเสริฐผิดกับเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน คือ เมื่ออายุได้ ๘ ปี โยมบิดาได้นั่งสอน “ คัมภีร์กตัญญู” ถึงตอนที่ลูกศิษย์ลุกขึ้นจากที่นั่งเพื่อแสดงความเคารพต่ออาจารย์ ท่านก็ลุกขึ้นยืนแสดงความเคารพทันที ยังความสงสัยใหห้กับโยมบิดายิ่งนัก ถึงถามว่าเหตุใดจึงต้องทำเช่นนั้น ท่านก็ตอบว่าเมื่อศิษย์ต้องลุกขึ้นเคารพครู ผู้เป็นบุตรก็ต้องยืนเคารพ บิดามีมารดาปลาบปลื้มเป็นอย่างมาก

     พออายุได้ ๑๐ ขวบ พี่ชายคนที่ ๒ ของท่านที่บวชเป็นพระที่วัดจิ้งสือเห็นว่าท่านมีบุคลิกใฝ่ธรรมะและปัญญาดี พอที่จะบวชเป็นพระได้ จึงชวนพาไปพักอยู่ในวัดด้วยกัน เด็กน้อยได้รับฟังธรรมเทศนาอันศักดิ์สิทธิ์อยู่เสมอจนซึมซาบเข้าไปในดวงใจอันบริสุทธิ์อย่างแนบแน่น เจ้าหนูอี๋ชอบศึกษาพุทธธรรมยินดีรับฟังธรรมะจากพระชั้นผู้ใหญ่เรื่อยมา ท่านไม่นิยมคบค้ากับเด็กรุ่นเดียวกัน เนื่องจากเห็นว่าพวกเด็กเหล่านั้น ชอบวิ่งเล่นเที่ยวตามย่านตลาด ซึ่งท่านให้ความเห็นว่าเป็นเรื่องไร้สาระเป็นมารยาทที่นักปราชญ์โบราณไม่ทำกัน