คิดว่าท่านคงเคยเห็นใบเซียมซี หรืออาจจะเคยเขย่าเสี่ยงเซียมซีมาแล้ว
คำทำนายในใบเซียมซีย่อมได้ผลไม่ได้ผลบ้างแต่ใบเซียมซีธรรมะชุดนี้ รับประกันได้ผลทุกใบ ไม่เชื่อก็ลองเสี่ยงดูเถิดครับ
ใบที่ ๑ ให้ละความโลภ
ความโลภ คือ ความอยากได้
ต้องควบคุมความอยากได้ไม่ให้รุนแรงจนกระทั่ง
มุ่งเอาแต่ได้ฝ่ายเดียวโดยไม่คำนึงถึงความดีชั่วถูกผิด
อันความเจริญรุ่งเรืองหรือความมั่งมีนั้น
จะต้องมีความเพียรในการแสวงหาที่ถูกต้อง
ไม่ก่อทุกข์โทษภัยแก่ตนและผู้อื่น
ผู้เสี่ยงได้ใบนี้
ต้องพยายามละความโลภให้เต็มที่
เพียรพยายาม หาทรัพย์ในทางที่ถูกต้อง
ด้วยหลักธรรม ๔ ประการคือ
อุ ...... มีความขยันหมั่นเพียร
อา ..... รู้จักเก็บรักษา
กะ ..... คบแต่มิตรดี
สะ ..... เลี้ยงชีวิตเหมาะสมแก่ตน
แล้วท่านจะไม่ตกต่ำ มีแต่ความเจริญรุ่งเรืองตลอดไป
ใบที่ ๒ ให้แสวงหาบุญ ๑๐ ประการ
การสั่งสมบุญย่อมนำสุขมาให้ คนเราเกิดมาก็ด้วยอำนาจบุญ
ตายไปก็เพราะอำนาจบุญ แล้วก็ได้ไปเสวยบุญต่อ
ทรัพย์สมบัติบรรดาที่มีทั้งหลายในโลก
ไม่สามารถนำติดตัวไปได้เมื่อตาย มีแต่บุญเท่านั้นที่นำติดไปได้
ผู้เสี่ยงได้ใบนี้
ให้แสวงหาบุญโดยวิธี ๑๐ ประการนี้
๑. ด้วยการให้ปันสิ่งของ ที่เรียกว่า ทาน .....
๒. ด้วยการรักษาศีล หรือ ประพฤติดี...........
๓. ด้วยการฝึกจิตให้สงบและเกิดปัญญา ....
๔. ด้วยการมีความอ่อนน้อมไม่แข็งกระด้าง
๕. ด้วยการขวนขวายช่วยเหลือผู้อื่น ..........
๖. ด้วยการแบ่งส่วนบุญให้ผู้อื่น ................
๗. ด้วยการยินดีในความดีของผู้อื่น ...........
๘. ด้วยการฟังธรรมศึกษาธรรมหาความรู้....
๙. ด้วยการสอนธรรมให้ความรู้แก่ผู้อื่น .......
๑๐. ด้วยการทำความคิดเห็นให้ถูกต้อง ..........
แล้วท่านจะมีความสุขไปตลอดกาลนาน
ใบที่ ๓ ให้หลีกเลี่ยงมิตรเลว
การคบมิตรเลวนำไปสู่ความเสื่อม ให้ผลทันตาในชาตินี้
การเที่ยวไปคนเดียวยังดีเสียกว่าเอาคนเลวมาเป็นเพื่อน
ผู้เสี่ยงได้ใบนี้
ให้ระวังการคบมิตรที่เลว ๔ จำพวกคือ
๑. มิตรเลวที่ดีแต่พูด
--- ดีแต่อ้างเอาของที่หมดแล้วมาพูด
--- ดีแต่อ้างของที่ยังไม่มีมาพูด
--- สงเคราะห์ด้วยของที่มีค่าน้อยประโยชน์น้อย
--- เมื่อมีกิจให้ช่วยก็อ้างแต่ขัดข้อง
๒. มิตรเลวที่คอยประจบ
--- จะทำชั่วก็แสร้งว่าดีโดยไม่ห้าม
--- จะทำดีก็ว่าดีเพื่อต้องการเอาใจ
--- ต่อหน้าสรรเสริญ
--- ลับหลังนินทา
๓. มิตรเลวชวนให้ฉิบหาย
--- คอยเป็นเพื่อนดื่มน้ำเมา
--- คอยเป็นเพื่อนเที่ยวกลางคืน
--- คอยเป็นเพื่อนดูการเล่น
--- คอยเป็นเพื่อนเล่นการพนัน
๔. มิตรเลวคอยปอกลอก
--- คิดเอาแต่จะได้ทั้งหมดฝ่ายเดียว
--- ยอมเสียน้อย โดยหวังจะเอากลับให้มาก
--- ตัวมีภัย จึงมาช่วยทำกิจของเพื่อน
--- คบกันเพราะเห็นแก่ผลประโยชน์
หากท่านเป็นคนชอบสนุกสนาน มีเพื่อนมาก
ขอให้สำรวจตัวเองว่า ได้รับความเสียหายจากเพื่อนบ้างไหม
เพราะการได้คนชั่วเป็นเพื่อน เหมือนเดินทางมุ่งสู่อบาย
ใบที่ ๔ ให้ระวังเรื่องความเชื่อ
การเชื่อในสิ่งที่ดีย่อมนำซึ่งประโยชน์และความสุขมาให้
แต่การเชื่อสิ่งใดควรใช้ปัญญาไตร่ตรองก่อนจึงจะควร
ผู้เสี่ยงได้ใบนี้ ควรยึดหลักความเชื่อ ๑๐ ประการคือ
๑. อย่าเชื่อเพราะได้ยินได้ฟังมา
๒. อย่าเชื่อเพราะบอกสืบต่อกันมา
๓. อย่าเชื่อเพราะเป็นที่เล่าลือกัน
๔. อย่าเชื่อเพราะอ้างตำรา
๕. อย่าเชื่อเพราะนึกเดาเอาเอง
๖. อย่าเชื่อเพราะการคาดคะเน
๗. อย่าเชื่อเพราะตรึกตามอาการ
๘. อย่าเชื่อเพราะสอดคล้องกับความคิดของตน
๙. อย่าเชื่อเพราะผู้พูดสมควรเชื่อ
๑๐. อย่าเชื่อเพราะนับถือเป็นครูของเรา
แล้วท่านจะได้ประโยชน์และความสุขตลอดกาลนาน
ใบที่ ๕ ให้แสวงหาอริยทรัพย์
การเดินทางย่อมต้องมีทรัพย์ไว้ใช้จ่ายติดตัว ทรัพย์มีประโยชน์
ช่วยเอื้อให้ไปถึงที่หมายได้เร็วขึ้น สะดวกสบายขึ้น
การเดินตามทาง อริยะมรรค ก็จำเป็นต้องมี อริยะทรัพย์
ผู้เสี่ยงได้ใบนี้
ให้แสวงหาอริยะทรัพย์ไว้เป็นทุนในการเดินทางคือ
๑. ศรัทธา..........เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ
๒. ศีล ...............รักษา กาย วาจา
๓. หิริ
..........ละอายต่อบาป
๔. โอตตัปปะ.....กลัวต่อบาป
๕. พาหุสัจจะ .... เรียนรู้ให้มาก
๖. จาคะ
..สละความสุขความเพลิดเพลินที่เป็นเครื่องเนิ่นช้า
๗. ปัญญา
.รู้ทันและเข้าใจมายาและกิเลสอุปสรรคต่างๆ
แล้วจะสนับสนุนให้ท่านได้เดินทางถึงที่หมาย และมีสุขตลอดกาลนาน
ใบที่ ๖ ให้มีคารวะธรรม
บัณฑิตย่อมต้องเลือกสิ่งที่ควรเคารพ ความเคารพคือการตระหนัก
การให้ความสำคัญในสิ่งนั้น
ผู้เสี่ยงได้ใบนี้ ควรมีคารวะต่อสิ่ง ๖ อย่างนี้ คือ
๑. พุทธคารวตา .............ตระหนักในพระพุทธเจ้า
๒. ธัมมคารวตา .............. ตระหนักในพระธรรม
๓. สังฆคารวตา ...............ตระหนักในพระสงฆ์
๔. สิกขาคารวตา .............ตระหนักในการศึกษา
๕. อัปปมาทคารวตา .....ตระหนักในความไม่ประมาท
๖. ปฏิสันถารคารวตา ..... ตระหนักในการดูแลเอาใจใส่ปฏิบัติธรรม
แล้วท่านจะได้ประโยชน์และความสุขตลอดกาลนาน
ใบที่ ๗ ให้บำเพ็ญธรรมสำหรับครองใจคน
มนุษย์ไม่สามารถอยู่แต่ผู้เดียวได้ตลอดกาล ย่อมต้องข้องเกี่ยวและ ต้องพึ่งพาอาศัยกันและกันจะมากบ้างน้อยบ้าง
ผู้เสี่ยงได้ใบนี้
พึงบำเพ็ญธรรมเพื่อยึดเหนี่ยวน้ำใจซึ่งกัน ๔ ข้อ คือ
๑. ทาน .....ให้ปันสิ่งของ ใช้ร่วมกันได้ ไม่หวงแหนไว้คนเดียว
๒. ปิยวาจา ...... พูดจาด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน มี คุณ ,ผม ,ท่าน ฯลฯ
๓. อัตถจริยา .... ทำสิ่งที่มีประโยชน์แก่กัน ช่วยเหลือกัน
๔. สมานัตตตา .. วางตัวให้เหมาะสมตามฐานะ เช่น รุ่นน้องกับรุ่นพี่
.......ลูกน้องกับเจ้านาย
แล้วท่านจะเป็นที่รักใคร่ และมีความสุขไปตลอดกาลนาน
ใบที่ ๘ ให้มีธรรมยึดเหนี่ยวใจ
คนเรามีความต้องการที่ยึดเหนี่ยว ต่างพากันแสวงหาสิ่งต่างๆมายึดเหนี่ยว ย่อมได้สิ่งถูกต้องบ้าง ไม่ถูกต้องบ้าง ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต
ผู้ที่เสี่ยงได้ใบนี้
ให้ยึดหลักธรรมสำหรับยึดเหนี่ยว ๔ ประการ คือ
๑. ปัญญา ..... ( ความรู้ชัด ) ...ให้ศึกษา ปฏิบัติจนเข้าใจ รู้เหตุ รู้ผล
...... รู้ขั้นตอน และหลักวิธีการ
๒. สัจจะ ...... ( ความตั้งใจจริง ) ...ทำสิ่งใดต้องทำอย่างจริงจัง
.......และทำให้สำเร็จผล ไม่ยอมท้อถอย
๓. จาคะ ...... ( ความสละ ) ... ยอมสละเวลา ทรัพย์ กำลังกาย เพื่อให้บรรลุ
.......ถึงความสำเร็จ
๔. อุปสมะ ... ( ความสงบ ) ... ต้องระงับความวุ่นวาย กระวนกระวายใจ
......อย่าให้มีความเดือดร้อนใจ
ธรรมนี้ควรอธิษฐานไว้ให้มีอยู่ในใจเสมอ
แล้วท่านจะประสบความสำเร็จ และมีแต่ความสุขตลอดกาลนาน